วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566

รับราชการ(ครู) ให้ปลอดภัย (ตอนที่2)

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

            ก่อนอ่านบทความ คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังให้ผู้จัดทำ

            รับราชการ(ครู)ให้ปลอดภัย (ตอน2) นำเสนอเรื่องที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาจไม่ปลอดภัยต่อชีวิตรับราชการของครู หรืออาจจะทำให้สิ้นสุดเวลาในการประกอบวิชาชีพครู หรือรับราชการครูก็เป็นได้

            เรื่อง  การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง  ที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย สามารถค้นหาด้วย google ได้ จะพบภาพและข่าวที่เกี่ยวข้องกับครู ลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่าง จนทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบทางจิตใจ ทางกายได้รับบาดแผล หรืออาจสูญเสียชีวิต 

           การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง เป็นความผิดวินัย  เป็นการลงโทษที่ฝาฝืนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2548 การที่นักเรียนได้รับบาดแผลทางกาย ได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจ หรือสูญเสียชีวิต ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อเด็กและผู้ปกครองของนักเรียน เสียหายต่อหน่วยงานทางการศึกษา ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ตามที่มีการเรียกร้อง ที่สำคัญ คือ ครูเป็นผู้ประกอบอาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อร่างกายจิตใจ ต่อความเจริญของนักเรียน ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพของครูที่มีต่อผู้รับบริการ ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกพัก หรือถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ  เนื่องจาก ครู เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีใบประกอบวิชาชีพ ต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตราฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพครูอย่างเคร่งครัด

           การที่ครูถูก พัก หรือถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ  มีผลทำให้ไม่สามารถทำการสอนได้ ฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษทางอาญา จำคุกและปรับ  เมื่อครูถูกพักและถุกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ ทำการสอนไม่ได้ มีผลต่อเงินเดือนและค่าตอบแทน เงินวิทยฐานะตามกฎหมาย ซึ่งถ้าเข้าข้อกฎหมาย จะต้องสั่งพักราชการผู้นั้น ตามระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2555 เพื่อไม่ต้องจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทน ค่าวิทยะฐานะในระหว่างการถูกพักใบประกอบวิชาชีพ  ซึ่งถ้าเป็นกรณีถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ จะมีผลทำให้ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ เป็นเวลา 5 ปี ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนไปตำแหน่งข้าราชการที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ภายใน 30 วัน เช่น ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในเวลา 30 วัน ไม่สามารถเปลี่ยนไปลงตำแหน่งอื่นได้ ตามกฎหมายจะต้องให้ครูผู้นั้นออกจากราชการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

            การจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนามคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ เป็นเป้าหมายของครูที่จะต้องทำให้ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง จึงไม่ใช่วิธีการจัดการศึกษาที่ถูกต้องตามข้อกฎหมายดังกล่าว  ครู นอกจากจะต้องให้ความรู้แล้ว วิธีการส่งเสริมความรู้ ต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก และร่างกายของนักเรียนด้วย จึงจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องสำหรับการจัดการเรียนการสอนของครู

            การให้นักเรียนมีความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรม เป็นสิ่งที่ครูควรทำควบคู่กันไป ให้เด็กนักเรียนมีความรู้ มีจิตสำนึกที่ดี ในระดับถึงจิตใต้สำนึก มีคุณธรรมโดยศึล 5 ถือเป็นธรรมของมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติ มีจริยธรรม รู้รับผิดชอบ ปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ใช่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งมีข่าวที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ในทุกวันนี้  ซึ่งตามข้อกฎหมาย  การใช้สิทธิอันมีแต่จะก่อให้เกิดความเดือนร้อน เสียหายแก่ผู้อื่น ถือว่าเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย   การสอนให้นักเรียนไม่เห็นแต่ตัวคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่ครูควรทำอย่างยิ่ง มากกว่าที่จะสอนให้นักเรียนเป็นคนเก่งแต่ไม่ช่วยเหลือใคร ไม่ช่วยเหลือสังคม มองแต่ผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก  เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดต่อการพัฒนาประเทศ  จึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะฝากครูให้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ต่อไป

---------------------------------------------------