วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

สิทธิเรียกเงินคืนของราชการ กรณีทุจริต และกรณีรับไปโดยไม่มีสิทธิ

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


       (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังให้คนจัดทำ)                                   

        เรื่องที่จะเสนอในบทความนี้ จะเกี่ยวข้องกับกรณีที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้สิทธิเบิกเงินจากทางราชการโดยทุจริต และกรณีการได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ สิทธิเรียกเงินคืนของทางราชการ จะเป็นประการใดนั้น มีรายละเอียดดังนี้ 

        เบิกเงินจากราชการโดยทุจริต

        การใช้สิทธิเบิกเงินจากราชการโดยทุจริต ต้องเริ่มต้นที่มีเจตนาแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เจตนาในที่นี้ คือ รู้สำนึกในการกระทำว่าเป็นการทุจริต โดยประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น การที่ข้าราชการมีเจตนาทุจริต ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง  ซึ่งมีอัตราโทษไล่ออกจากราชการ   เช่น

        การเบิกค่าเช่าบ้านเท็จ มีมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2541 ลงมติเห็นชอบว่า เมื่อมีการตรวจสอบการใช้สิทธิแล้วพบว่า ข้าราชการรายใดใช้สิทธิเบิกไม่ถูกต้องขัดกับพระราชกฤษฏีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ ให้ถือว่าเป็นการทุจริต มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อสอบสวนแล้วพบว่ากระทำผิดจริงให้พิจารณาลงโทษไล่ออก โดยไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0204/ว61 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2541 ซึ่งในการเรียกเงินคืนนั้น ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0209.5/ว75 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2547 ให้ต้นสังกัดปฏิบัติตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และหากเกิดความเสียหายจะต้องมีการสอบสวนหาผู้ทีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังมีหนังสือ ที่ กค 0422.3/ว122 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2558 โดยระบุว่า "ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าใช้สิทธิโดยไม่ถูกต้อง เช่น นำเอกสารหลักฐานปลอมหรือหลักฐานเท็จมาใช้ในการเบิกค่าเช่าบ้านราชการ  พักอาศัยอยู่ในบ้านของบิดามารดาหรือบุคคลอื่นโดยไม่มีการเช่าจริง แต่เป็นการทำนิติกรรมอำพรางว่าเป็นการเช่าซึ่งโดยสภาพที่แท้จริงเป็นการอาศัย หรือไม่ได้พักอาศัยอยู่จริง เป็นปกติวิสัยในบ้านที่ตนใช้สิทธิ เป็นต้น ให้ต้นสังกัดชะลอการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านของข้าราชการรายนั้นไว้ก่อน 

        ในการเรียกเงินคืนให้ทางราชการปฏิบัติตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งบัญญัติว่า "การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการใช้เงินหรือให้ทรัพย์สิน หรือให้ประโยชน์อาจแบ่งแยกได้ ให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน 
        ความเชื่อโดยสุจริตตามวรรหนึ่ง จะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ใช้ประโยชน์อันเกิดจากคำสั่งทางปกครองหรือได้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินไปแล้วโดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หรือการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายเกินควรแก่กรณี
        ในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะอ้างความเชื่อโดยสุจริตไม่ได้
        (1) ผู้นั้นได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง หรือข่มขู่ หรือชักจูงโดยการให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมาย
        (2)ผู้นั้นได้ให้ข้อความซึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ
        (3)ผู้นั้นได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในขณะได้รับคำสั่งทางปกครองหรือการไม่รู้นั้นจะเป็นไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        ในกรณีที่เพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลัง การคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไป ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยถ้าเมื่อผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือควรได้รู้เช่นนั้น หากผู้นั้นมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ถือว่าผุู้นั้นตกอยู่ในฐานะไม่สุจริตตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป และในกรณีตามวรรคสาม ผู้นั้นต้องรับผิดในการคืนเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับไปเต็มจำนวน"

        จากกรณีเบิกค่าเช่าบ้านเท็จ โดยนำเอกสารหลักฐานปลอมหรือหลักฐานเท็จมาใช้ในการเบิกค่าเช่าบ้านราชการ  หรือพักอาศัยอยู่ในบ้านของบิดามารดาหรือบุคคลอื่นโดยไม่มีการเช่าจริง แต่เป็นการทำนิติกรรมอำพรางว่าเป็นการเช่า ซึ่งโดยสภาพที่แท้จริงเป็นการอาศัย หรือไม่ได้พักอาศัยอยู่จริง เป็นปกติวิสัยในบ้านที่ตนใช้สิทธิ ย่อมถือว่าผู้นั้นไม่สุจริต ไม่ถือเป็นลาภมิควรได้ แต่เป็นการได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องคืนเงินที่ได้รับไปเต็มจำนวน  สิทธิติดตามเอาเงินของทางราชการจากผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับ  ไม่มีกำหนดอายุความ เพราะราชการใช้สิทธิความเป็นเจ้าของเงิน ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

        
        การเบิกเงินจากราชการโดยไม่มีสิทธิ

        การเบิกเงินจากราชการโดยไม่มีสิทธิ อาจจะเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในระเบียบกฎหมายของเจ้าหน้าที่ และผู้อนุมัติ หรือมีข้อเท็จจริงปรากฎในภายหลังอนุมัติว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิเบิก ในกรณีนี้ ถ้าไม่มีเจตนาทุจริต เงินที่ผู้นั้นได้รับไป ไม่ใช่ลาภมิควรได้ เพราะราชการไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระผู้นั้น เงินที่ผู้นั้นได้รับไปต้องคืนเต็มจำนวน และหน่วยงานราชการมีสิทธิติดตามเอาคืนได้โดยไม่มีกำหนดอายุความ เพราะใช้สิทธิความเป็นเจ้าของเงิน ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

       กรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าใจว่ามีสิทธิเบิก หรือปิดบังข้อเท็จจริงบางเรื่อง แต่ในความเป็นจริงไม่มีสิทธิเบิกหรืออนุมัติให้เบิกผิดไปจากระเบียบกฎหมายที่กำหนดโดยสำคัญผิด เมื่อมีการตรวจสอบพบในภายหลัง จึงแจ้งให้ส่งเงินคืนเพราะถือว่าเป็นการได้ไปโดยมิชอบ ไม่ใช่นิติกรรมทางแพ่ง เงินที่ราชการจ่ายไปจึงไม่ใช่ลาภมิควรได้ เพราะไม่ใช่กรณีหน่วยราชการกระทำการชำระหนี้ให้ข้าราชการ  เงินที่ได้รับไปจึงต้องคืนเต็มจำนวน ซี่งหน่วยงานของรัฐใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของเงินนั้น จึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนได้ โดยไม่มีกำหนดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติว่า " ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่วยทรัพย์ของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย"

        จากที่กล่าวมีแนวคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

        คำพิพากษาศาลฏีกา7894/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดจ่ายให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิได้รับ การได้รับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยไปจากโจทก์จึงเป็นการรับโดยไม่ชอบซึ่งไม่ใช่กรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เพราะเป็นเรื่องจำเลยขอรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนี้ แม้เงินที่จำเลยจะได้รับไปจะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่เมื่อเป็นการได้มาโดยไม่ชอบก็ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปโดยสำคัญผิดย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)

        คำพิพากษาศาลฏีกา6915/2562 ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 กำหนดคำนิยามว่า การฝึกอบรม หมายความว่า การอบรม การประชุมทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ การฝึกศึกษา การดูงาน การฝึกงาน หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาจัดที่แน่นอน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร "กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง" อันเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น หลักสูตรนี้เป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผู้ฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายตามระเบียบดังกล่าวได้ จำเลยต้องคืนเงินที่เบิกไปแก่โจทก์ คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลย ซึ่งเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 และรับเงินไปจากโจทก์แล้วโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับหรือยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ คดีจึงไม่ขาดอายุความ


        คำพิพากษาศาลฏีกา7900/2561โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว เพราะขัดต่อ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งการที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่าจำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่โจทก์จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)


**************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     

                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/   

 


        




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น