วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สิทธิฟ้องคดีปกครองของทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี




       สิทธิฟ้องคดีปกครองของทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย   เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เดียว เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบ้ติหน้าที่ราชการ และเกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้เป็นทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย ที่ควรจะรู้และเข้าใจ โดยผู้เขียนได้พบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่มีการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไว้ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางของผู้เป็นทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย จะนำมาเป็นแนวทางในการฟ้องคดีปกครอง ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ก็สามารถนำมาเป็นแนวทางในการต่อสู้คดีได้ โดยมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 245/2548 และคำสั่งที่ 353/2549 ดังนี้

        คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 245/2548 ผู้ฟ้องคดีเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ส. และอยู่ในระหว่างร้องขอต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอให้ศาลสั่งให้นาย ส. เป็นคนสาบสูญ เนื่องจาก นาย ส. ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือถึงแก่ความตาย หากผู้ฟ้องคดีมีหลักฐานหรือพิสูจน์ได้ว่า นาย ส.ถึงแก่ความตาย โดยความตายนั้นมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากได้ละทิ้งหน้าที่ราชการเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร คำสั่งลงโทษ นาย ส.ออกจากราชการย่อมเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองก็จะมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 รวมทั้งเงินสะสม เงินสมทบ หรือผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้น จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จากคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองหรือวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

        คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 353/2549 ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นภรรยาและบุตรของ นาย จ.ซึ่งถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่นาย จ.ได้ถึงแก่ความตายระหว่างที่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เห็นว่าการสอบสวนและการลงโทษ นาย จ.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่นาย จ.ออกจากราชการ และขอให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินบำนาญปกติที่ถูกชะลอการจ่าย และให้ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญตกทอดของนาย จ. จึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากคำสั่งลงโทษไล่นาย จ.ออกจากราชการ เนื่องจากไม่ได้รับเงินบำนาญปกติและเงินบำเหน็จตกทอดของ นาย จ. 

(คลิกโฆษณา)

        จากคำสั่งของศาลดังกล่าว แยกเป็นประเด็นที่จะศึกษาได้ดังนี้

        1. สิทธิที่จะฟ้องคดีปกครองของทายาท ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ตามหลักกฎหมายของผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีปกครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 

       2. การถูกดำเนินการทางวินัยในที่นี้ จะต้องสิ้นสุดจนมีคำสั่งลงโทษทางวินัยแล้ว  เนื่องจากการถูกสอบสวนทางวินัยนั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการสอบสวน คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ยังไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธิปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่มีผลเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นเพียงกระบวนการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งในที่นี้ก็คือ คำสั่งลงโทษทางวินัยนั่นเอง  โดยประเด็นนี้มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้หลายคดี เช่น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 737/2549  และที่ 126/2550 เป็นต้น ซึ่งตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เป็นคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการที่ทำให้ผู้ถูกลงโทษไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  รวมทั้งเงินสะสม เงินสมทบ หรือผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินดังกล่าว

      3.สิทธินั้นจะมาถึงทายาทได้ ผู้ถูกลงโทษทางวินัยผู้นั้น ต้องถึงแก่ความตายแล้ว โดยอาจเป็นกรณีผู้ถูกลงโทษได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการแล้ว ถึงแก่ความตาย หรือผู้ถูกลงโทษได้ตายระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงเวลาของการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย เช่น ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลตาม คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 353/2549   

     4.ต้องเป็นทายาทของผู้ถูกลงโทษทางวินัย ซึ่งคำว่า "ทายาท" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มีทายาท 2 ประเภท คือ ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" หรือทายาทโดยพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม" 

       ทายาทโดยธรรม  มีหกลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่งดังล่าว คือ (1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3)พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4)พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (5) ปู่ย่าตายาย (6) ลุงป้าน้าอา  และคู่สมรส(เฉพาะที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย) ที่ยังมีชีวิตก็เป็นทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกัน 

                                                                        (คลิกโฆษณา)

        ฉะนั้น เมื่อผู้นั้นถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ทำให้ผู้นั้นไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 รวมทั้งเงินสะสม เงินสมทบ หรือผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเมื่อผู้ถูกลงโทษได้ตายไป ทำให้ทายาทไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดด้วย  ซึ่งหากเห็นว่าคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีการฟ้องคดีปกครองแล้ว ศาลเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว ก็จะทำให้ผู้นั้นกลับมามีสิทธิประโยชน์จากทางราชการต่อไปจะทำให้ทายาทได้รับบำเหน็จตกทอดจากทางราชการต่อไป 

        สำหรับทายาทโดยพินัยกรรม จะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิฟ้องคดีปกครองในประเด็นนี้หรือไม่ ผู้เขียน ยังค้นหาแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในประเด็นนี้ไม่ได้ แต่มีความเห็นว่า ทายาทโดยพินัยกรรมจะมีสิทธิฟ้องคดีปกครองในประเด็นดังกล่าวได้หรือไม่ ต้องไปพิจารณาว่า พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ให้สิทธิทายาทโดยพินัยกรรม เป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดจากผู้ตายหรือไม่ 

         ก็เป็นการนำเสนอเพียง "สิทธิในการฟ้องคดีปกครอง" เท่านั้น  ส่วนประเด็นว่าจะชนะคดีหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหาก  ก็ถือว่าพอสมควรแก่เนื้อหาในประเด็นนี้ครับ ถ้าท่านใดอ่านแล้ว มีข้อคิดเห็นหรือมีหลักกฎหมายที่จะนำมาเพิ่มเติมในประเด็นนี้ได้ก็สามารถให้ข้อมูลผู้เขียนได้ครับ

        




วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ต้นไม้หักโค่นล้มเป็นเหตุให้รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ เรียกค่าเสียหายจากผู้ที่รับผิดชอบได้

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


            ห่างหายจากการนำเสนอบทความทางกฎหมายไปช่วงหนี่ง มาเดือนนี้ตุลาคม 2564 สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิท 2019 เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ดีขึ้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังเป็นหลักหมื่น แต่ความตื่นตกใจกลัว เริ่มลดน้อยลง ประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น  แต่ก็มีการเสนอข่าวว่าคนที่รับวัคซีนไขว้แล้วเสียชีวิต ซึ่งจะมีสาเหตุจากการรับวัคซีนหรือไม่นั้นต้องติดตามข่าวกันต่อไป สรุปก็คือโรคติดเชื้อไวรัสโควิท 2019 ก็น่ากลัว การไปฉีควัคซีนป้องกันโควิทก็น่ากังวลสำหรับบางคนว่าจะมีผลข้างเคียงหรือไม่ 

            มาถึงเรื่องบทความสำหรับครั้งนี้ เสนอหัวข้อเรื่อง "ต้นไม้หักโค่นล้มเป็นเหตุให้รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ เรียกค่าเสียหายจากผู้ที่รับผิดชอบได้ " เป็นเรื่องจริงจากแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.2/2563 ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานราชการเป็นผู้ดูแลรักษาพันธุ์ไม้ตามถนน เมื่อต้นไม้หักโค่นล้มลง เป็นเหตุทำให้รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ฟ้องเรียกให้ผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ 

            ในคดีนี้ มีข้อเท็จจริงว่า ผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารปรับอากาศลำปางได้รับความเสียหายจากการที่กรมทางหลวง กระทำประมาทในการดูแลรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงสายถนนพหลโยธิน เป็นเหตุให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ข้างทาง บริเวณร่องถนน หักโค่นล้มขวางหน้ารถยนต์ที่กำลังแล่นอยู่บนเส้นทาง ในระยะ 10 เมตร โดยพนักงานขับรถยนต์ต้องห้ามล้อในระยะกระชั้นชิด ทำให้รถยนต์เสียหลักพุ่งตกลงข้างทางเป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย 

            ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงรวมถึงการดูแลรักษาพืชพันธุ์ต้นไม้ที่อยู่ในเขตทางหลวงและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในเขตทางหลวงตลอดจนการบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในเขตทางเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรมทางหลวง(อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 ประกอบกฎหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง) เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า แม้ในวันเกิดเหตุจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง แต่ปัจจัยที่ทำให้ต้นไม้หักโค่นลงมาจนทำให้เกิดอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าว เกิดจากฝนที่ตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้มีปริมาณน้ำขังสะสมอยู่ในบริเวณร่องกลางถนนเป็นจำนวนมากจนดินอ่อนตัวลงรากของต้นไม้ไม่สามารถยึดเกาะดินไว้ได้ เมื่อมีลมกระโชกแรงต้นไม้จึงหักโค่นล้มลงไปในบริเวณผิวทางจราจรทั้งสองด้านในระยะกระชั้นชิด จนเป็นเหตุทำให้รถยนต์เสียหลักพุ่งลงข้างทางได้รับความเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวกรมทางหลวงสามารถระมัดระวังป้องกันภัยได้โดยการจัดให้มีการตัดแต่งกิ่งต้นไม้และค้ำจุนต้นไม้ หรือตัดทำลายต้นไม้ที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงให้อยู่ในสภาพปลอดภัยในช่วงฤดูฝน เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เหตุอันจะให้ผลพิบัติที่ไม่สามารถป้องกันได้ อันถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กรมทางหลวงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด แม้กรมทางหลวงจะอ้างว่าได้ตรวจตราและบำรุงรักษาต้นไม้ รวมทั้งสภาพของดินเป็นพิเศษแล้ว แต่เห็นได้ชัดว่ายังหาเพียงพอที่จะป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ใช้ทางหลวงอื่นไม่ เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นจึงถือว่ากรมทางหลวง ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการดูแลรักษาบำรุงรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงเป็นเหตุทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ผู้ถูกฟ้องคดี(กรมทางหลวง) ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

            คดีดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิฟ้องหน่วยงานทางปกครอง จากการกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 

           ตามแนวคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว สามารถนำไปปรับใช้กับความเสียหายที่เกิดจากต้นไม้หักโค่นล้มที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของเอกชนได้ เช่น ต้นไม้ภายในโครงการหมู่บ้านที่มีนิติบุคคลดูแลอยู่ หรือต้นไม้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของบ้านหลังใดหลังหนึ่ง  ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้รับผิดชอบดูแลต้นไม้ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยแจ้งให้รับผิดชอบ หากไม่รับผิดชอบสามารถนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลแพ่งต่อไปได้  

           

ขอขอบคุณ     

        เอกสารแนวทางการปฏิบัติราชการ จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ประจำปี 2563 ของสำนักงานศาลปกครอง