วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566

รับราชการ(ครู) ให้ปลอดภัย (ตอนที่2)

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

            ก่อนอ่านบทความ คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังให้ผู้จัดทำ

            รับราชการ(ครู)ให้ปลอดภัย (ตอน2) นำเสนอเรื่องที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาจไม่ปลอดภัยต่อชีวิตรับราชการของครู หรืออาจจะทำให้สิ้นสุดเวลาในการประกอบวิชาชีพครู หรือรับราชการครูก็เป็นได้

            เรื่อง  การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง  ที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย สามารถค้นหาด้วย google ได้ จะพบภาพและข่าวที่เกี่ยวข้องกับครู ลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่าง จนทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบทางจิตใจ ทางกายได้รับบาดแผล หรืออาจสูญเสียชีวิต 

           การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง เป็นความผิดวินัย  เป็นการลงโทษที่ฝาฝืนระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2548 การที่นักเรียนได้รับบาดแผลทางกาย ได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจ หรือสูญเสียชีวิต ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อเด็กและผู้ปกครองของนักเรียน เสียหายต่อหน่วยงานทางการศึกษา ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ตามที่มีการเรียกร้อง ที่สำคัญ คือ ครูเป็นผู้ประกอบอาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อร่างกายจิตใจ ต่อความเจริญของนักเรียน ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพของครูที่มีต่อผู้รับบริการ ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกพัก หรือถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ  เนื่องจาก ครู เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีใบประกอบวิชาชีพ ต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตราฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพครูอย่างเคร่งครัด

           การที่ครูถูก พัก หรือถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ  มีผลทำให้ไม่สามารถทำการสอนได้ ฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษทางอาญา จำคุกและปรับ  เมื่อครูถูกพักและถุกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ ทำการสอนไม่ได้ มีผลต่อเงินเดือนและค่าตอบแทน เงินวิทยฐานะตามกฎหมาย ซึ่งถ้าเข้าข้อกฎหมาย จะต้องสั่งพักราชการผู้นั้น ตามระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2555 เพื่อไม่ต้องจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทน ค่าวิทยะฐานะในระหว่างการถูกพักใบประกอบวิชาชีพ  ซึ่งถ้าเป็นกรณีถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ จะมีผลทำให้ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ เป็นเวลา 5 ปี ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนไปตำแหน่งข้าราชการที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ภายใน 30 วัน เช่น ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในเวลา 30 วัน ไม่สามารถเปลี่ยนไปลงตำแหน่งอื่นได้ ตามกฎหมายจะต้องให้ครูผู้นั้นออกจากราชการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

            การจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนามคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ เป็นเป้าหมายของครูที่จะต้องทำให้ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง จึงไม่ใช่วิธีการจัดการศึกษาที่ถูกต้องตามข้อกฎหมายดังกล่าว  ครู นอกจากจะต้องให้ความรู้แล้ว วิธีการส่งเสริมความรู้ ต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก และร่างกายของนักเรียนด้วย จึงจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องสำหรับการจัดการเรียนการสอนของครู

            การให้นักเรียนมีความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรม เป็นสิ่งที่ครูควรทำควบคู่กันไป ให้เด็กนักเรียนมีความรู้ มีจิตสำนึกที่ดี ในระดับถึงจิตใต้สำนึก มีคุณธรรมโดยศึล 5 ถือเป็นธรรมของมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติ มีจริยธรรม รู้รับผิดชอบ ปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ใช่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งมีข่าวที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ในทุกวันนี้  ซึ่งตามข้อกฎหมาย  การใช้สิทธิอันมีแต่จะก่อให้เกิดความเดือนร้อน เสียหายแก่ผู้อื่น ถือว่าเป็นการใช้สิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย   การสอนให้นักเรียนไม่เห็นแต่ตัวคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่ครูควรทำอย่างยิ่ง มากกว่าที่จะสอนให้นักเรียนเป็นคนเก่งแต่ไม่ช่วยเหลือใคร ไม่ช่วยเหลือสังคม มองแต่ผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก  เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดต่อการพัฒนาประเทศ  จึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะฝากครูให้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ต่อไป

---------------------------------------------------

  
   

    

รับราชการ(ครู) ให้ปลอดภัย

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี




        ก่อนอ่านบทความ เพื่อส่งกำลังให้ผู้จัดทำ คลิกโฆษณาในบล๊อกให้ด้วยครับ

        บทความนี้ จะเน้นไปที่ข้าราชการครูผู้สอนเป็นหลัก  เนื่องจากการที่ข้าราชการครู ในตำแหน่งครูผู้สอน นอกจากจะต้องทำหน้าที่ในการสอนหนังสือให้กับนักเรียนแล้ว  การได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาในทำหน้าที่อื่นๆ  เช่น หน้าที่งานบริหารงานบุคคล ในเรื่อง การประเมิน การเลื่อนเงินเดือน อื่นๆ เป็นต้น หน้าที่่ด้านนโยบายและแผน  หน้าที่งานบริหารงานทั่วไป  และหน้าที่งานการเงินและพัสดุ

         จะกล่าวถึงการทำหน้าที่งานการเงินและพัสดุ  ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกชี้มูลกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือความผิดทางอาญา  ที่มีผลต่อชีวิตราชการมากที่สุด ถ้าเป็นครูบรรจุใหม่  ความรู้ความเข้าใจจะน้อย  จะทำตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการหรือมอบหมาย โดยแยกไม่ออกว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปฏิบัติแล้วตนเองมีความเสี่ยงต่อชีวิตราชการหรือ บางครั้ง บางโรงเรียน อาจถูกบังคับจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการ ถ้าไม่ได้ทำจะถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิ ถูกด่าว่า ถูกกลั่นแกล้งในการเลื่อนเงินเดือน หรือการประเมิน เป็นต้น ซึ่งมีกรณีตัวอย่างที่ ครูผู้บรรจุใหม่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลกระทำผิดวินัยและคดีอาญา กรณีเป็นคณะกรรมการที่ร่วมดำเนินการในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับสนามฟุตซอล 

         งานการเงินและพัสดุ ครูจะได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ  เจ้าหน้าที่การเงิน หัวหน้างาน ส่วนครูรายอื่น อาจถูกแต่งต้ังให้เป็นคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะ คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา คณะกรรมการควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ  ซึ่ง ครูที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จะต้องทำความเข้าใจแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวให้เข้าใจ ไม่อาจปฏิเสธการได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะกรณีนี้ ถือว่าผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ดำเนินการที่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย  ครูที่ปฏิเสธที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ถือว่าทำผิดวินัยในเรื่องขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และละทิ้งหน้าที่ราชการ

        งานที่เกี่ยวข้องการพัสดุ จะต้องศึกษาทำความเข้าใจพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หนังสือตอบข้อหารือ และแนวปฏิบัติต่างๆที่ออกมาตามกฎหมายดังกล่าวให้ชัดเจนก่อนปฏิบัติ ซึ่งในความเป็นจริง ครูที่ได้รับมอบหมายจะไม่ค่อยมีความรู่้ความเข้าใจมากนัก 

        กรณีซื้อของ แต่ไม่มีของ  จะมีประเด็นเกี่ยวข้องว่า ใช้เงินไหนจ่าย เงินงบประมาณราชการ หรือเงินรายได้สถานศึกษา  ถ้าไม่ใช่อาจเป็นเงินสวัสดิการของสถานศึกษา  

        ถ้าเป็นเงินงบประมาณราชการหรือเงินรายได้สถานศึกษา  ซื้อของแต่ไม่มีของ  แต่เจ้าหน้าที่พัสดุทำเรื่องเสนอขอซื้อ ผ่านสายงานตามลำดับ มีการเสนอให้แต่งต้ังคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และผู้บริหารสถานศึกษาอนุมัติ และมีการส่งต่อให้ฝ่ายการเงินเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง โดยไม่ปรากฎตัวผู้รับจ้าง  โดยทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา กรณีนี้ ถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตทั้งหมด เพราะเป็นการร่วมกันเบิกจ่ายเงินงบประมาณราชการ เพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ไม่มีการซื้อจริง  

        กรณีดังกล่าว ถ้าครู ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้น ต้องมีการทำความเห็นโต้แย้งหรือคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษร  โดยครูต้องทำใจเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตน จากการไม่ปฏิบัติตามที่สั่ง กรณีซื้อของแต่ไม่มีของ  การที่เจ้าหน้าที่พัสดุ เจ้าหน้าที่การเงิน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ไม่ยอมดำเนินการไม่ลงลายมือชื่อให้ ไม่ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา  เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  การสั่งการให้เจ้าหน้าที่เบิกจ่ายเงิน หรือร่วมลงชื่อเบิกจ่ายเงินร่วมกับผู้บริหาร หรือเป็นกรณีให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ลงลายมือชื่อตรวจรับโดยไม่มีการตรวจรับสิ่งของ ไม่ต้องดูสิ่งของ ไม่เห็นสิ่งของ ถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามไม่ใช่การกระทำผิดวินัย แต่ถ้ายอมปฏิบัติตาม ยอมลงชื่อให้ จะกล่าวอ้างว่าไม่ได้ร่วมกระทำการทุจริตนั้น จะรับฟังไม่ได้ ถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำทุจริตด้วย
        
        กรณีการทุจริตโครงการอาหารกลางวัน นั้นมีหลายรูปแบบ  การหักเปอร์เซนต์จากผู้รับจ้างโดยไม่เต็มใจหรือเต็มใจ ซึ่งจะมีผลต่ออาหารที่ทำให้เด็กรับประทาน โดยอาหารกลางวันได้รับสนับสนุนงบประมาณจากราชการ มีตั้งแต่ หัวละ 21 บาทขึ้นไป ถ้ามีการหักเปอร์เซนต์จากผู้รับจ้าง ย่อมมีผลต่อคุณภาพและปริมาณของอาหาร ครูที่มีส่วนรับผิดชอบคือ ครูผู้เป็นหัวหน้าโครงการอาหารกลางวัน คณะกรรมการตรวจรับอาหารกลางวันในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่พัสดุ  ครูทำหน้าที่การเงิน หากลงลายมือชื่อรับรอง ถูกต้อง ครบถ้วนมีคุณค่าทางอาหารตามหลักโภชนาการ จะมีผลต่อการพิจารณาดำเนินการทางวินัยด้วย ถ้าปรากฎข้อเท็จจริงว่าาอาหารไม่มีคุณภาพ ไม่เพียงพอ 

        กรณีเบิกจ่ายอาหารกลางวัน ในวันที่ไม่มีการประกอบอาหารจริง โดยครูที่ทำหน้าที่พัสดุ การเงิน คณะกรรมการตรวจรับอาหารกลางวัน ผู้รับจ้างและผู้บริหาร  ร่วมกันลงชื่อในเอกสารครบถ้วนและเบิกจ่ายเงิน ถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการกระทำทุจริตทั้งสิ้น เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้า่ยแรง ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือที่ นร 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536  ให้ลงโทษไล่ออกจากราชการสถานเดียว ซึ่งทำให้ข้าราชการผู้นั้น ไม่ได้สิทธิรับบำเหน็จบำนาญ ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล และเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกและปรับ เมื่อถูกออกจากราชการ ถูกจำคุก ถือว่าเสียหายต่อครูผู้นั้นมาก

         การจัดซื้อจัดจ้าง  ผู้บังคับบัญชาจะเบิกจ่ายเงินได้ ต้องดำเนินการให้ครบทุกขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หนังสือตอบข้อหารือ และแนวปฏิบัติต่างๆ โดยต้องมีลายมือชื่อของครูที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าว  การที่ครูที่ทำหน้าที่การเงินร่วมลงลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินร่วมกับผู้บริหาร เพื่อเบิกจ่ายเงินจากบัญชีที่เป็นเงินของทางราชการ โดยไม่ปรากฎหลักฐานการจ่ายที่แท้จริง ถือว่าเป็นการร่วมกันทุจริตในการเบิกจ่ายเงินนั้น 

        ข้ออ้างของครูที่ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือ ต้องจำยอมทำตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง  นั้นย่อมฟังไม่ได้  เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาทำความเข้าใจก่อนที่จะดำเนินการ  

        ในบทบาทของผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องการการเงินและพัสดุ หรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการเงินและพัสดุ ไม่ใช่เรื่องที่เสี่ยง หากผู้ปฏิบัติศึกษาทำความเข้าใจ และปฏิบัติได้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย โดยต้องพิจารณาคำสั่งของผู้บังคับบัญชาว่าเป็นการสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น

        ผู้บังคับบัญชาสั่งแต่งต้ังให้เป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ  ถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่ถ้าสั่งให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ลงลายมือชื่อตรวจรับโดยไม่มีของ ไม่ต้องดูสิ่งของ หรือมีสิ่งของไม่ครบ ไม่ตรงรายการ คำสั่งนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โต้แย้งและไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาหรือละทิ้งหน้าที่  แต่ต้องโต้แย้งไว้เป็นลายลักษณะอักษร เพราะในความเป็นผู้บริหาร จะอ้างว่าสั่งการโดยชอบ แต่ครูไม่ปฏิบัติ จึงลงโทษทางวินัย  

        หรือเป็นกรณี ครูลงลายมือชื่อตรวจรับพัสดุ โดยไม่เต็มใจ ถูกบังคับ ถูกขู่เข็ญ ด่าว่าด้วยวาจา เมื่อเกิดกรณีสอบสวนทางวินัย  ผู้บริหารจะกล่าวอ้างว่าไม่ได้บังคับ ขู่เข็ญ ครูลงลายมือชื่อด้วยความเป็นเต็มใจ ผู้บริหารจึงเชื่อว่ามีการดำเนินการถูกต้อง จึงอนุมัติให้จ่ายเงิน ก็อาจจะเป็นเช่นนี้ได้ เป็นการกล่าวอ้างให้ตัวเองพ้นผิดวินัย โดยดึงครูที่ร่วมดำเนินการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  เปรียบเสมือนโยนความผิดให้เพื่อนโดยเข้าใจว่าตนเองจะพ้นผิด ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครพ้นผิด ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ผิดวินัยร่วมกันทุกคน
ฉะนั้นจึงต้องรู้ทัน ก่อนลงลายมือชื่อให้ 

        ที่นำเสนอในบทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเงินและพัสดุเท่านั้น ซึ่งยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดการกระทำผิด แต่อาจเป็นกรณีที่เตือนสติให้ครูบรรจุใหม่ได้เข้าใจและหลีกเลี่ยงการกะทำดังกล่าว  ดังนั้น ถ้าอ่านบทความนี้แล้ว ทำความเข้าใจ แยกแยะคำสั่งได้ว่า ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะทำให้เรารับราชการอย่างปลอดภัยจากการถูกต้องข้อกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ 

        ถ้าเราไม่ร่วมมือในการกระทำทุจริตและประพฤติไม่ชอบ  สักวันการทุจริตและประพฤติมิชอบจะลดน้อยลง (หมดไปนั้นยากเกินไปที่จะคิด)

 หมายเหตุ   ทุจริต  หมายถึง  การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
                   ประพฤติมิชอบ  หมายถึง  การปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย

-----------------------------------------------------------------
        





วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

หนี้ขาดอายุความ

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 


        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

        ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้  หนี้ จึงเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง ที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้   การที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นกฎหมายกำหนดไว้แล้วสำหรับหนี้ในแต่ละประเภท เช่น สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากร มีกำหนดอายุความสิบปี สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึันโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดหรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ มีกำหนดอายุความสิบปี สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระ เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ค่าเช่าทรัพย์ค้างชำระ เงินค้างจ่าย (เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู) มีกำหนดอายุความห้าปี เป็นต้น สำหรับหนี้หรือสิทธิเรียกร้องที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้  ให้มีกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิเรียกร้องสิบปี

      การใช้สิทธิเรียกร้อง  ทำได้โดยการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น  ถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

      อายุความย่อมมีเหตุที่จะสะดุดหยุดลงได้ ถ้ามีกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ภายในอายุความสิทธิเรียกร้องนั้น คือ ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้น  หรือเจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อต้ังหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ หรือเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา หรือเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่่างอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี 

      เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น จะไม่นับเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่  

คำพิพากษาศาลฎีกา 1482/2547

        การรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ จำเลยชำระหนี้ภายหลังขาดอายุความแล้วจึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่มีผลเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกร้องเงินที่ชำระไปคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกา 15643/2558

        หนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/32 เมื่อปรากฏว่าก่อนครบระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ เจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไปรวมกับหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้และลูกหนี้ร่วมรายอื่นเป็นคดีล้มละลาย จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) มีผลทำให้อายุความตามสิทธิเรียกร้องสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าลูกหนี้เคยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ วันที่ 30 สิงหาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีลูกหนี้ออกจากสารบบความ กรณีมิใช่คดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ที่จะให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 ดังนั้น การที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 หนี้ของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาหลังหักราคาขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้

      สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ  ไม่ใช่เหตุที่ทำให้หนี้ระงับ แต่เป็นเหตุให้ลูกหนี้ปฏิเสธไม่ชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ รวมถึงบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกันย่อมยกหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ได้  การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้ว ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด จะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ ซึ่งก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้นั้นเอง  

      หนี้ขาดอายุความ ไม่ต้องห้ามที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาล เนื่องจากปัญหาว่าหนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และหนี้ขาดอายุความ ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหนี้นั้นระงับไป  จึงเป็นหน้าที่ของลูกหนี้หรือจำเลย ที่จะยกข้อต่อสู้เรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพื่อให้ศาลพิจารณายกฟ้อง เนื่องจากในคดีแพ่ง ศาลไม่อาจหยิบยกประเด็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความขึ้นพิจารณาได้เอง  โดยต้องยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การตั้งแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น  ถ้าไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ การยกประเด็นเรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ จะติดปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า  เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์จะไม่พิจารณาประเด็นหนี้ขาดอายุความ ขึ้นพิจารณา

     เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีเรียกให้ชำระหนี้  ลูกหนี้หรือจำเลย จะต้องทำคำให้การแก้ฟ้องของโจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและคำฟ้อง ตามมาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยในคำให้การต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า ยอมรับข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ หรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ โดยยกเหตุแห่งการปฏิเสธขออ้างของโจทก์ให้ชัดเจน เพื่อโอกาสในการพิสูจน์ในชั้นสืบพยาน ถ้ามีเหตุหนี้ขาดอายุความ ต้องยกเหตุแห่งการขาดอายุความกล่าวไว้ให้ชัดเจนในคำให้การด้วย  ว่าสิทธิเรียกร้องเริ่มต้นเมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อใด 

คำพิพากษาศาลฎีกา 4857/2549


        สัญญาที่โจทก์รับซ่อมรถยนต์ของจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1)
        โจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จให้แก่ผู้ที่นำรถยนต์มาซ่อมแล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิของตนในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระสินจ้างได้นับตั้งแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์แต่ละคันให้แก่ผู้ที่นำมาซ่อม การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน จึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15
        โจทก์นำหนี้จำนวน 41 รายการ รวมเป็นเงิน 402,197 บาท ซึ่งโจทก์สามารถบังคับตามสิทธิของตนได้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 มาฟ้องในวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ซึ่งเกินกว่า 2 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนหนี้ค่าซ่อมรถอีก 11 รายการ จำนวน 47,500 บาท ปรากฏว่าในวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้บางส่วน หนี้ค่าซ่อมรถทั้ง 11 รายการ ยังไม่ขาดอายุความ อายุความสำหรับหนี้ดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับใหม่ และเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์ในส่วน 11 รายการนี้ จึงยังไม่ขาดอายุความ
        การรับสภาพหนี้อันจะเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจะต้องกระทำก่อนที่หนี้ขาดอายุความ เมื่อหนี้ค่าซ่อมรถจำนวน 402,197 บาท ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 การชำระหนี้บางส่วนของจำเลยในวันดังกล่าวจึงไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกา 5193-5208/2561

        โจทก์ทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาท คนเดิมค้างชำระตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังคงเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกา 7354/2546

        การให้บริการบัตรเครดิตของธนาคารโจทก์ โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมด้วย โจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของจำเลยแทนจำเลยไปก่อน แล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ2 ปี โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาใช้บัตรเครดิตเมื่อเดือนตุลาคม 2540 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์เป็นเงิน 500 บาท ภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็เพียงแต่ทำให้จำเลยเรียกเงินดังกล่าวคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยสละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24

คำพิพากษาศาลฎีกา 6959/2551


        จำเลยให้การตอนแรกว่าชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่กลับให้การตอนหลังว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ไม่เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง เนื่องจากการที่ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิดโดยเถียงว่าหนี้ขาดอายุความนั้นหาได้มีข้อจำกัดว่าลูกหนี้จะยกขึ้นต่อสู้ได้เฉพาะในกรณีที่ยังมิได้มีการชำระหนี้เท่านั้นไม่ การที่จำเลยให้การตัดฟ้องโจทก์ในตอนหลังว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ จึงไม่อาจแปลความหมายได้ว่า จำเลยยังมิได้ชำระหนี้ คำให้การของจำเลยจึงมิได้ขัดแย้งกันเอง

จำเลยให้การโดยระบุเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะมีการซื้อขายสินค้ากันเมื่อปี 2537 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อปี 2548 นั้น เป็นการต่อสู้เรื่องอายุความในกรณีผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกเอาค่าสินค้าตามที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ทั้งนี้โดยจำเลยไม่จำต้องอ้างมาตราในกฎหมายมาในคำให้การ เพราะเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมายเอง คำให้การของจำเลยจึงชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกา 15638/2558

        ผู้ร้องนำสืบเพียงการรับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องและการเป็นหนี้ค้างชำระของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และ ส. ลูกหนี้ที่ตายหลังจากผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาเท่านั้น มิได้นำสืบถึงมูลหนี้เดิมเพื่อให้รับฟังได้ว่าฝ่ายลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมในหนี้ประเภทใด และผิดนัดผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้เดิมเมื่อใดหรือชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อใด ซึ่งแม้หากนับอายุความตั้งแต่ขณะนั้นตามแต่กรณีจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ แต่ฝ่ายลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่า มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและจำนอง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฝ่ายลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมตั้งแต่ปี 2537 และโต้แย้งด้วยว่า การที่ฝ่ายลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งก็คือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เมื่อปี 2548 และปี 2549 เป็นการรับสภาพความรับผิดหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว อายุความมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตาม มาตรา 193/35 หนี้ตามคำร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้ว ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้านดังกล่าว คดีของผู้ร้องย่อมขาดอายุความตามที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบว่า เจ้าหนี้เดิมและผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากฝ่ายลูกหนี้ตั้งแต่เมื่อใดหรือมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าคดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความจึงต้องฟังว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้ที่ตายตาม พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และมาตรา 82

คำพิพากษาศาลฎีกา 15158/2558

        เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมและจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง แต่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ดังกล่าวปรากฏว่า เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) และเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดเมื่อใด แม้เจ้าหนี้จะอ้างว่าในตอนที่รับโอนหนี้มาจากเจ้าหนี้เดิมจะไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระและเงินต้นน้อยกว่าสัญญาก็ตาม แต่พยานหลักฐานของเจ้าหนี้มีเพียงเอกสารการคำนวณภาระหนี้ของเจ้าหนี้ที่เจ้าหนี้จัดทำขึ้นเอง โดยไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้เดิมเมื่อใด อย่างไร การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดแรก (วันที่ 2 มีนาคม 2539) จึงชอบแล้ว เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2551 สิทธิเรียกร้องในหนี้กู้ยืมเงินจึงขาดอายุความแล้ว และการขาดอายุความในส่วนของหนี้กู้ยืมเงินถือว่าหนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความทั้งหมด มิใช่เพียงส่วนที่เกิน 5 ปี แต่ในส่วนหนี้จำนองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองบังคับจำนองได้แม้หนี้ที่ประกันขาดอายุความ แต่จะบังคับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้หนี้ประธานตามสัญญากู้ยืมเงินจะขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้ ซึ่งตามคำสั่งของศาลแพ่งในคดีที่เจ้าหนี้ไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ในต้นเงิน 427,449.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.3 ต่อปี แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงไม่เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์ดังกล่าวเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกา 2456/2551

        โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทบัตรเครดิตยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตร การที่จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่น โจทก์จำเป็นต้องชำระเงินแทนจำเลยไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยในภายหลัง จึงเป็นกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก โดยโจทก์เรียกค่าธรรมเนียมจากสมาชิก เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) มิใช่กรณีของลักษณะสัญญาพิเศษอันไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความจึงมีอายุความ 2 ปี

        จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2535 โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตภายในวันที่ 2 มกราคม 2536 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนด ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2536 เป็นต้นไป ครบกำหนดอายุความในวันที่ 3 มกราคม 2536 การที่โจทก์นำเงินจำนวน 4,326.42 บาท ของจำเลยมาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เป็นการนำเงินฝากจากบัญชีอื่นตามที่โจทก์และจำเลยได้เคยตกลงกันไว้มาหักชำระหนี้โดยที่จำเลยไม่ได้รู้เห็นด้วยจึงเป็นการกระทำของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลย อีกทั้งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 พ้นกำหนดเวลา 2 ปี จึงขาดอายุความ

       ในคดีล้มละลาย แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น  กรณีเจ้าหนี้นำมูลหนี้ที่ขาดอายุความแล้วมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย  แต่ปัญหาว่าหนี้ใดเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153      

คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 875/2536

        ปัญหาที่ว่ามูลหนี้ซึ่งเจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ขาดอายุความจึงนำมาขอรับชำระหนี้ไม่ได้นั้น แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาว่าหนี้ใดเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าส่งมอบคลังสินค้าที่เช่าให้เจ้าหนี้ผู้เช่ามีพื้นที่น้อยไปกว่าที่จำเลยที่ 1 มีคำเสนอให้เช่าและตามสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับค่าเช่าจากเจ้าหนี้ได้ตามส่วนพื้นที่ที่ให้เช่าตามความเป็นจริงเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 ประกอบมาตรา 466ส่วนค่าเช่าที่รับไว้เกินโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้รู้ในขณะชำระว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระในส่วนที่เกิน จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบเจ้าหนี้มีสิทธินำคดีไปฟ้องเรียกคืนในฐานเป็นลาภมิควรได้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่เจ้าหนี้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนค่าเช่าดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2528 ก็แสดงว่าเจ้าหนี้ได้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนนับแต่วันนั้นแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 28 กันยายน 2530 จึงเป็นการล่วงเลยระยะเวลา 1 ปี คดีขาดอายุความต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 419 แล้วเจ้าหนี้ไม่อาจนำมูลหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)

         กรณีที่ลูกหนี้ไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่ยอมรับชำระหนี้ที่ขาดอายุความนั้น ถือว่าได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียแล้ว ต้องชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงยอมรับกัน ไม่ว่าจะโดยคำพิพากษาตามยอม หรือทำสัญญายอมรับชำระหนี้ขึ้นใหม่ ให้ประกัน หรือได้มีการชำระหนี้ไปแล้ว ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอม มีอายุความ 10ปี  สิทธิเรียกร้องตามสัญญายอมรับชำระหนี้ที่ทำขึ้นใหม่ หรือการให้ประกัน มีอายุความ 2 ปี
    
        การสละประโยชน์แห่งอายุความของลูกหนี้ ไม่มีผลให้บุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกันต้องรับผิดตามที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ภายหลังที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  (บุคคุลภายนอกหรือผู้ค้ำประกันหลุดพ้น เมื่อหนี้ขาดอายุความ)    

คำพากษาศาลฎีกา 7155/2547


        สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิดตามมาตรา 193/35 ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกา 4313/2565

        ดังนี้ มูลหนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. หลังจากที่จําเลยพ้นจากการฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม แต่เป็นเรื่องของเวลาการชําระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่มูลหนี้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เมื่อมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เมื่อการฟื้นฟูกิจการของจําเลยเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลย จําเลยจึงหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/75 แต่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่มีบทบัญญัติระบุว่า การหลุดพ้นจากหนี้ทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ทั้งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. หนี้จะระงับสิ้นไปเมื่อได้มีการชําระหนี้ครบถ้วน ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ และหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่จําเลยหลุดพ้นจากการชําระหนี้คงมีผลเพียงว่า เจ้าหนี้หมดสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ และจําเลยไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เท่านั้น แม้จะฟังว่าหนี้ขาดอายุความ แต่การที่หนี้ขาดอายุความก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติระบุว่าให้หนี้ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น มูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลย ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้กับสัญญาจำนำหุ้นดังกล่าว จึงยังคงมีอยู่ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลยแล้ว ผู้บริหารของจําเลยย่อมมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจําเลยได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 (1) การที่จําเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ในหนี้ที่โจทก์ได้ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้ทำสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ จึงเป็นนิติกรรมที่จําเลยทำขึ้นด้วยความสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย จําเลยจึงต้องชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นตามฟ้องให้แก่โจทก์ จําเลยจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว สัญญาจำนำจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน ความรับผิดตามสัญญาจำนำหุ้นย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธาน ดังนี้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนำหุ้นจึงต้องบังคับตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกา 9121/2538

        กรณีที่จะต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35ต้องเป็นกรณีลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาหนี้ขาดอายุความภายหลังจากนั้นลูกหนี้จึงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยไม่เคยเป็นหนี้โจทก์มาก่อน การที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ขอชำระหนี้แทนบริษัท บ. ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 193/35 แต่กรณีเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากบริษัท บ.จำกัด มาเป็นจำเลย

        การฟ้องคดีตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/30

คำพิพากษาศาลฎีกา 5314/2544

        มูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีอายุความ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 การที่เจ้าหนี้ได้นำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายก่อนที่ตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับจะครบกำหนดอายุความ เป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้อง ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อให้จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายแต่อย่างเดียว ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173(เดิม) แม้ต่อมาเจ้าหนี้ได้ถอนฟ้องคดีล้มละลายอันเป็นผลให้ไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดลงตามมาตรา 174(เดิม) ก็ตาม แต่เมื่อพ้นกำหนดอายุความตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว ลูกหนี้ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมรับผิดชดใช้หนี้ต่อเจ้าหนี้ถือได้ว่าลูกหนี้ได้ละเสียซึ่งอายุความที่ครบบริบูรณ์และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันรับสภาพหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อนครบกำหนดอายุความซึ่งมีกำหนดเวลา 3 ปี เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

        สิทธิเรียกร้องที่มีต่อทรัพย์สินจำนอง จำนำ หรือถูกยึดหน่วงไว้เป็นประกัน (มีหลักทรัพย์ประกันการชำระหนี้) ผู้รับจำนอง จำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ยังมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ยึดถือไว้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยค้างย้อนหลังเกินห้าปีไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกา 1127/2563

        คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินและจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำที่นำมาเป็นประกันหนี้ของ ธ. หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่ ธ. ทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า ธ. นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและ ธ. ได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้น ธ. ไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้จะนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 มาจำนำเป็นประกันหนี้ของ ธ. ก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่ ธ. มีต่อเจ้าหนี้เดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับ ไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (2)เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้” ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธาน แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 748 (1)เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า ธ. ลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ


-----------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น เดือน  กรกฎาคม 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

กู้ยืมเงิน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

        กู้ยืมเงิน  เป็นเรื่องคุ้นเคยของคนที่มีเครดิตหรือเครดิตดี จะเครดิตดีเฉพาะก่อนยื่นเรื่องกู้หรือเปล่าอันนี้ก็ไม่รู้ ภายหลังกู้ยืมเงินได้รับเงินมาแล้ว ชำระเงินไม่ปกติ หรือไม่ส่งชำระเงินเลยก็สุดแล้วแต่ปัญหาของคนที่กู้ยืมเงิน  แต่คนให้กู้ยืมเงินก็ต้องติดตามทวงให้ชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจนครบ จึงมีประเด็นให้ทำความเข้าใจในหลายประเด็นทีเดียว 

        กู้ยืมเงิน เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง โดยการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ (ม.653ว1) 

คำพิพากษาศาลฏีกา 454/2562

        โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 โดยอาศัยสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่า สัญญาจำนองที่ดินเป็นนิติกรรมอำพราง การที่โจทก์และมารดาจำเลยซื้อขายบ้านที่ปลูกสร้างบนโฉนดเลขที่ 43392 และ 43393 ซึ่งมารดาจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 43393 ไปเป็นประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้รายอื่น โจทก์เกรงว่าระหว่างรอการไถ่ถอนที่ดินดังกล่าว มารดาจำเลยจะนำบ้านไปขายให้แก่บุคคลอื่น จึงให้จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ไว้เป็นประกันการชำระค่าที่ดินครึ่งหนึ่งก่อน ดังนี้ เท่ากับจำเลยรับว่าทำสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแก่โจทก์และยังไม่ชำระหนี้ตามฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นข้อต่อสู้ว่า เงินที่โจทก์ส่งมอบให้มารดาจำเลยนั้นเป็นการชำระค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ถือได้ว่าจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ ขึ้นใหม่ เพื่อสนับสนุนคำให้การของตน ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 เมื่อจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงตกเป็นฝ่ายแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฏีกา9652/2559 

      ตามฟ้องของโจทก์นอกจากบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 106,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นหลักฐานตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่แล้ว ยังได้บรรยายต่อไปว่า ในวันเดียวกันกับวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 เมื่อได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ก็ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 เป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ โดยแนบสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินมาท้ายฟ้องด้วย ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด จึงเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวปรากฏในคำฟ้องตั้งแต่บรรยายฟ้องแล้ว เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาที่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 106,000,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งยังมีข้อความในข้อ 5 ว่า ให้ถือสัญญานี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อผู้จำนองไว้ด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมชิ้นหนึ่งที่โจทก์ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้นอกเหนือจากหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ กรณีจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกา1335/2561

    เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย

     หลักฐานแห่งการกู้ยืม ต้องมีข้อความที่แสดงได้ว่า ผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้ยืม หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้ 

คำพิพากษาศาลฎีกา 4306/2565

        หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ นั้น ในหนังสือดังกล่าวต้องมีข้อความให้รับฟังได้ว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมหรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้อันเป็นสาระสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหรือเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีข้อความดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งมอบหรือโอนเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดจากการกู้ยืมกันเสมอไป อาจเป็นเรื่องการมอบหรือโอนเงินให้แก่กันด้วยมูลเหตุอย่างอื่นก็ได้ จากหลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีโจทก์แล้วโอนเข้าบัญชีจำเลยตามสำเนาเอกสารที่โจทก์อ้างหรือบันทึกคำเบิกความของจำเลยตามสำเนาเอกสารหมาย ล.5 หน้า 13 และหน้า 20 นั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเงิน 400,000 บาท ที่โจทก์โอนเข้าบัญชีจำเลยเป็นเงินที่จำเลยได้ยืมไปจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์แล้วจะใช้คืนให้ในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างจึงหาใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมมาแสดง โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 จ.3 แผ่นที่ 5 และ จ.4 แผ่นที่ 2 เพื่อให้ศาลรับฟังว่าการโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามฟ้องนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกา 10428/2551

        บันทึกเงินยืมมีข้อความว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2543 ข้าพเจ้า ส. ขอทำบันทึกว่าได้ยืมเงินและรับเงินยืมจาก พ. ไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท (สี่ล้านห้าแสนบาท) จริง และขอชำระเงินยืมดังกล่าวคืนแก่ พ. ผู้ให้ยืมเงินต่อไปนี้... เพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน... ซึ่งก็จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ 4,500,000 บาท ดังความในตอนท้ายที่มีลายมือชื่อของจำเลยว่าผู้ยืมและโจทก์ว่าผู้ให้ยืม บันทึกเงินยืมดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ จะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือมีเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว  (ม.653ว2)

คำพิพากษาศาลฎีกา 13390-13391/2558

        ป.พ.พ. มาตรา 326 บัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ว่า ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้ และเมื่อพิเคราะห์ตามปกติประเพณีในการชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมยึดถือใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากเจ้าหนี้เป็นหลักฐานว่าหนี้นั้นระงับสิ้นไป การกำหนดข้อสัญญาให้ต้องมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานในการชำระเงินจึงสอดคล้องกับความในมาตรา 326 ดังกล่าว และหลักปฏิบัติในการชำระหนี้โดยทั่วไป ประกอบกับมีข้อพิจารณาว่า การชำระค่าเช่าซื้อในคดีนี้คู่สัญญาตกลงให้ชำระด้วยเช็ค จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 321 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าถ้าชำระหนี้ด้วยออกตั๋วเงิน หนี้จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้ว ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 มีข้อความต่อไปอีกว่า หากชำระด้วยเช็ค ใบรับเช็คไม่ถือว่าเป็นใบเสร็จรับเงิน ข้อสัญญาโดยรวมจึงมุ่งหมายให้มีการชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์โดยต้องมีใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้เป็นหลักฐานในการรับชำระ ซึ่งเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายและชอบด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการชำระหนี้แล้ว จึงมิได้เป็นข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540

        การกู้ยืมเงิน ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ให้ลดลงเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี (ม.654)

        การกู้ยืมเงิน ห้ามคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่เมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงต้องทำเป็นหนังสือ  (ม.655)

        การทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงิน ให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ (ม.656ว1)

        ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม หนี้อันระงับไปเพราะการชำระหนี้นั้น ให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ  (ม.656ว2)

คำพิากษาศาลฏีกา2646/2551

        จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยมอบบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้ การที่โจทก์ใช้บัตรดังกล่าวถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก

        ข้อตกลงอย่างใดๆ ขัดกับข้อความที่กล่าวมานี้ เป็นโมฆะ  (ม.656ว3)

        กู้ยืมเงินเป็นสัญญา จึงมีคู่สัญญาสองฝ่าย มีลักษณะเป็นสัญญาตอบแทนที่ผู้ให้กู้ยืมส่งมอบเงินให้ผู้กู้ยืม(เจ้าหนี้) ถ้าไม่มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืม สัญญากู้ยืมไม่บริบูรณ์ และผู้กู้ยืม(ลูกหนี้) มีหนี้ที่จะต้องชำระคืนให้ครบพร้อมดอกเบี้ย  

        การชำระหนี้นั้น บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้ เว้นสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง หรือขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้ บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่  (ม.314) การชำระหนี้ต้องทำแก่ตัวเจ้าหนี้หรือบุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่ผู้ที่ไม่มีอำนาจชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็สมบูรณ์ (ม.315) การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้รับ ย่อมสมบูรณ์เพียงเท่าที่ตัวเจ้าหนี้ได้ลาภงอกขึ้นแต่การนั้น  (ม.317) จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ไม่อาจบังคับได้ (ม.320) ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงไว้ หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าเพื่อจะทำให้พอใจแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้ ถ้าชำระหนี้ด้วยออก ด้วยโอน หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า หนี้นั้นระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว (ม.321)

        ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ถ้ากรณีเป็นที่สงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้ (ม.203) ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและภายหลังเจ้าหนี้ให้คำเตือนแล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้  ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่ต้องเตือน วิธีเดียวกันนี้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้คำนวณนับได้โดยปฎิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว(ม.204) หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น  ห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด (ม.224) 

        เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้(เช่น ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่เกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้) เป็นอันปลดเปลี้องนับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้ (ม.330) ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่รับชำระหนี้ หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ หากผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ล้ว ย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ (ม.321 ) การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้(ม.323)คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อีกฝ่ายหนึ่งเลิกสัญญาเสียก็ได้(ม.387)

คำพิพากษาศาลฎีกา 2511/2563

         ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ข้อ 3 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และข้อ 4 ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาท จากข้อกำหนดดังกล่าวแสดงว่า ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาทและต้องดำเนินการขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว ดังนั้นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิยื่นขอประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนประกอบธุรกิจดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16 ซึ่งหาใช่เป็นความผิดเฉพาะนิติบุคคลที่ฝ่าฝืนตามที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการในการจัดหามาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้มีชื่อหลายรายกู้ยืมเงิน อันเป็นการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้เป็นนิติบุคคล และไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16


คำพิพากษาศาลฎีกา 6543/2562

        ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่ได้บัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แตกต่างกับกรณีกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองรับเงินของโจทก์ไว้ย่อมเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองจะตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถาม แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกา 2139/2562

         พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) บัญญัติให้การให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดยังคงเป็นความผิด เพียงแต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฉบับใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษให้สูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าว เพียงแต่กฎหมายใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม กรณีมิใช่การยกเลิกการกระทำอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้อ้างกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องมาด้วย จึงถือว่าเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6)


        กู้ยืมเงินไม่ได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน แต่ถ้าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง อายุความย่อมสะดุดหยุดลง(ม.193/14) แม้ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้กู้ยืมเงิน แต่ฟ้องให้รับผิดในฐานะที่รับสภาพหนี้ไว้ เช่น 

 คำพิพากษาศาลฏีกา 2340/2562 

         โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่ารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานการประชุมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ดังกล่าวได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ 6,100,000 บาท และตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 เดือน แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้อันเป็นลักษณะของการฟ้องโดยอาศัยมูลเหตุแห่งการรับสภาพหนี้ของจำเลยตามรายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นสำคัญ อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมใหญ่ในฐานะผู้ยืม โจทก์ก็ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้กู้ยืมเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 แต่เป็นการฟ้องเรียกหนี้ที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามรายงานการประชุมใหญ่ ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ และพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์
        เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยแถลงยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ไปจำนวนดังกล่าวจริง และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน โดยจำเลยหาได้โต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสำรองจ่ายที่จำเลยนำไปใช้ในกิจการของโจทก์ไม่ ประกอบกับจำเลยลงลายมือชื่อยอมรับความถูกต้องของสำเนารายงานการประชุมใหญ่โดยไม่ได้อิดเอื้อน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นลักษณะของการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ตามหลักเกณฑ์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) สำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามกฎหมาย
        แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ และการประชุมใหญ่ดังกล่าวมิใช่เป็นการประชุมคณะกรรมการของโจทก์โดยเป็นการประชุมผู้ถือหุ้น จำเลยก็ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้น อีกทั้งการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยก็ดี และการลงชื่อในสำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวก็ดี จำเลยกระทำไปในฐานะผู้ถือหุ้นและฐานะส่วนตัวในวาระเดียวกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำไว้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฏีกา6757/2560

        จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฏีกา2131/2560

        โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกา5162/2553

         ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้วว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น หาได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ ดังนี้ เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วก่อนฟ้องคดีย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนโจทก์จะปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องในการปิดอากรแสตมป์ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 113 หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการปิดอากรแสตมป์
        แม้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะระบุว่า ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่โจทก์และจำเลยตกลงเรียกดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเงินกันในอัตราร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผลเท่ากับไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่ในสัญญา แต่กรณีเป็นหนี้เงินโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ได้


        กรณีมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน เป็นมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นหนี้ที่เรียกร้องกันไม่ได้ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกา 3210/2565

        โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงินที่ค้างตามสัญญากู้ยืมเงิน จําเลยให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องมีมูลหนี้มาจากการที่จําเลยเป็นหนี้การพนันทายผลฟุตบอลกับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้ามือ จึงมีมูลหนี้อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินสืบเนื่องมาจากการที่จําเลยเป็นหนี้การพนันทายผลฟุตบอลแก่โจทก์ จึงหาก่อให้เกิดหนี้อันจะเรียกร้องกันได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 853 จําเลย จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว


------------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น เดือน  พฤษภาคม -กรกฎาคม 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566

หมิ่นประมาททางอาญา



         หมิ่นประมาท  ในคดีอาญา  ตัวบท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่องเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง  ผู้นั้นกระทำผิดหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   

         ความผิดหมิ่นประมาท เป็นคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว 

         การใส่ความ คือ การพูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง (คำพิพากษาศาลฎีกา3070/2656)


         ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานหมิ่นประมาท (คำพิพากษาศาลฎีกา 375/2562).

          จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง (คำพิพากษาศาลฎีกา 7301/2559)

          การที่จำเลยใช้คำ "อีเฒ่าหัวหงอก" และ "มึง" เป็นสรรพนามในการเรียกโจทก์ผู้เป็นมารดา ซึ่งไม่ปรากฏว่าโดยปกติบุคคลทั่วไปรวมถึงจำเลยใช้สรรพนามดังกล่าวแทนมารดา คำดังกล่าวไม่ได้มีความหมายว่ามารดา แต่มีความหมายเปรียบเปรยไปในทางไม่ให้ความเคารพและทำให้โจทก์ได้รับความอับอายอันเป็นการแสดงออกถึงการดูถูกเหยียดหยามโจทก์ สำหรับเนื้อหาแม้จะถือว่าเป็นการกระทบกระเทียบ แต่ก็ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเป็นไปในทางดูถูกเหยียดหยามโจทก์เช่นกัน การที่จำเลยด่าโจทก์ผู้เป็นมารดาด้วยถ้อยคำดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามและหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง เป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ถอนคืนการให้ได้(คำพิพากษาศาลฎีกา8752/2558)

         "ผู้อื่น" จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ

มเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใครหรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ(คำพิพากษาศาลฎีกา 5276/2562)

         "เจตนา"  รู้สำนึกในการกระทำว่าเป็นการใส่ความ โดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล หรือผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหมิ่นประมาท

         " น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลี่ยดชัง"  เป็นการใส่ความให้ร้ายผู้ร้อง ทั้งตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาไม่เชื่อว่าผู้ร้องจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะทำให้ผู้ร้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

คำพิพากษาศาลฎีกา3070/2656

        ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 จะต้องเป็นการใส่ความคือ การพูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “ไอ้สันดานหมา” คำว่า “สันดาน” หมายความถึงอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจมีสันดานดีหรือสันดานเลวก็ได้ แม้มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความให้ร้ายผู้ร้อง ทั้งตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาไม่เชื่อว่าผู้ร้องจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะทำให้ผู้ร้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่จำเลยกล่าวถ้อยคำนั้น น่าจะเป็นเพราะจำเลยไม่พอใจผู้ร้องที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ ส. ซึ่งเป็นหลานของจำเลยมาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้นพนักงานสอบสวนเรียกคู่กรณีและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นญาติไปไกล่เกลี่ย ผู้ร้องก็ยังคงยืนกรานให้ดำเนินคดี ส. ต่อไป โดยไม่เห็นแก่ความเป็นญาติ ย่อมทำให้จำเลยไม่พอใจผู้ร้องเพิ่มขึ้นไปอีก จึงเป็นการด่าผู้ร้องอันเนื่องมาจากความรู้สึกไม่พอใจผู้ร้อง ไม่ได้มีความมุ่งหมายถึงความประพฤติของผู้ร้องว่าเป็นคนมีอุปนิสัยที่ไม่ดีมาแต่กำเนิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิด ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกา 5276/2562

        การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาข้อความตามภาพถ่ายแล้ว แม้ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นอดีตทหารและเช่าที่ดินจาก บ. ซึ่งอยู่ติดสะพานข้ามแม่น้ำแคว เพื่อประกอบกิจการร้านอาหารชื่อ "พ." ซึ่งมีเพียงร้านเดียวในจังหวัดกาญจนบุรีและยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บ. ด้วย เมื่อได้อ่านข้อความตามภาพถ่ายดังกล่าวแล้วก็เข้าใจทันทีว่าบุคคลที่จำเลยกล่าวถึงนั้นหมายถึงโจทก์ และอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง คดีโจทก์จึงมีมูลเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326

           ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 นั้น ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์ กลุ่มโพสท์นิวส์ออนไลน์ มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าวเท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328

คำพิพากาษาศาลฎีกา 2778/2561

        พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า " (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน " โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า " (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา " กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากาษาศาลฎีกา1861/2561

        ป.อ. มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุ และพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วยแม้ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริต และต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท


คำพิพากาษาศาลฎีกา8827/2559

        ถ้อยคำปราศรัยของ ด. เป็นที่เข้าใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นการกล่าวปราศรัยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมว่า ด. หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มิได้เป็นการกล่าวขยายความให้มีความหมายนอกเหนือไปจากคำปราศรัยของ ด. การที่จำเลยกล่าวคำปราศรัยตามฟ้องนั้นก็เพื่อเรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแก่ ด. อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้บุคคลใดก้าวล่วงหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 70 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 112

คำพิพากษาศาลฏีกา 8803/2559
        จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า "กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที" และ "กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย..." และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า "เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา" เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6)

คำพิพากษาศาลฎีกา 6593/2559

        ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกา 10839/2557
 
        การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกา 3252/2543

       จำเลยแจ้งความต่อร้อยตำรวจโท อ. เพื่อเป็นหลักฐานหากจะมีข้อความบางส่วนเป็นเท็จหรือผิดความจริงไปบ้างก็ยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ร้อยตำรวจโท อ. ต้องทำการสอบสวนเนื่องจากไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ การแจ้งความของจำเลยจึงย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีเพื่อเอาผิดต่อจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานได้
       คำว่า "ใส่ความ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึงพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะกล่าวหาเรื่องร้ายประจานโจทก์ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ เมื่อจำเลยแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งข้อความอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนแม้เรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริง จำเลยก็ไม่อาจยกเอาเหตุกระทำเพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกา 79/2537

         โจทก์ร่วมถูกร้องเรียนว่ายักยอกเอาเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยซึ่งรักษาราชการแทนโจทก์ร่วมได้แจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ร่วม และได้พูดกับผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารว่า "ยักยอก ตามตัวไม่พบ" คำพูดดังกล่าวของจำเลยทำให้สมุห์บัญชีธนาคารเข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการและหนีไปจึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมแม้จำเลยกล่าวออกไปโดยถูกถามแต่จำเลยย่อมสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำว่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อีกทั้งปรากฏว่าสาเหตุที่มีการระงับการจ่ายเงินเดือนเพราะโจทก์ร่วมไม่ยอมลงชื่อในหลักฐานการจ่ายเงินเดือน หาใช่เพราะโจทก์ร่วมยักยอกและตามตัวไม่พบไม่ และจำเลยกับโจทก์ร่วมก็มีเหตุขัดแย้งไม่พอใจในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการกันอยู่ การกล่าวข้อความของจำเลยจึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต แต่มีเจตนาใส่ความโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยกระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 ซึ่งมิได้เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกา 2272/2527

         การปิดประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทนั้น เป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะมีการปลดป้ายประกาศออกไป ซึ่งถือได้ว่าการกระทำอันเป็นมูลแห่งความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ยุติลง อายุความย่อมจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการปลดป้ายประกาศออก ดังนั้นแม้จำเลยติดป้ายประกาศหมิ่นประมาทโจทก์ก่อนวันที่โจทก์ไปร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเกิน 3 เดือนแต่เมื่อโจทก์ร้องทุกข์และฟ้องคดีไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันปลดป้ายประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทออกคดีจึงไม่ขาดอายุความ
          จำเลยปิดประกาศภาพถ่ายโจทก์โดยมีข้อความภาษาอังกฤษกำกับแปลเป็นภาษาไทยว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลย 15,910 บาท ยังเรียกเก็บไม่ได้หรือยังไม่ได้ชำระ โดยจำเลยปิดประกาศดังกล่าวในสถานบริการของจำเลยซึ่งมีลูกค้าเข้าไปรับบริการ เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้าย เป็นการใส่ความโจทก์อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนแม้ว่าเรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริงก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

------------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น เดือน  มิถุนายน 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ละทิ้งหน้าที่ราชการ

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

        ละทิ้งหน้าที่ราชการ  เป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยในหน่วยงานราชการ ที่ต้องมีการตรวจสอบเหตุอันสมควรของการละทิ้ง เพื่อวินิจฉัยถึงการกระทำผิดวินัย การละทิ้งหน้าที่ราชการจะเป็นการกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรงหรืออย่างร้ายแรง ต้องพิจารณาว่าข้าราชการนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ พิจารณาเหตุแห่งการละทิ้งและความเสียหายกับทางราชการมาประกอบกัน และเมื่อเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่เหตุอันสมควรหรือขาดราชการ จะเป็นเหตุให้ต้องงดจ่ายเงินเดือนในวันละทิ้ง และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนเงินเดือนด้วย 

        ละทิ้งหน้าที่ราชการ ในส่วนของการมาหรือไม่มาปฏิบ้ติราชการ เช่น ไม่มาปฏิบัติราชการ โดยไม่แจ้งเหตุ ไม่ได้ลา หรือมาลงชื่อปฏิบัติราชการแล้ว แต่ตัวไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในหน่วยงานราชการนั้น เป็นต้น  การละทิ้งหน้าที่ราชการ ในส่วนของการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ แล้วไม่ปฎิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย ก็ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการเช่นเดียวกัน โดยถ้าไม่มีเหตุอันสมควร เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง แต่ถ้าเกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ย่อมเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

        การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  โดยถือเป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยได้ โดยจะงดการสอบสวนก็ได้ แต่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาหรือสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา เพื่อให้โอกาสให้ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานนั้นได้  เช่น ถ้าเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา จะเป็นความผิดตาม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง พ.ศ.2549 เป็นต้น

        การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่า 15 วัน นั้น สำนักงาน กพ.ได้เคยมีหนังสือตอบข้อหารือ ตามหนังสือสำนักงาน กพ.ที่ นร 0709.2/28 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 เรื่อง หารือแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535  โดยให้นับวันละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันทุกวัน โดยนับรวมวันหยุดราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างวันละทิ้งหน้าที่ราชการด้วย ดังนั้น หากละทิ้งหน้าที่ราชการตั้งแต่วันที่ 1 ไปจนถึงวันที่ 16 ของเดือนนั้นๆ  ก็จะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกิน 15 วันโดยนับรวมวันหยุดราชการเข้าไปด้วย 

        การลงโทษข้าราชการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่กลับมาอีกเลย มีมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536 เรื่อง ขอปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงบางกรณี  ให้พิจารณาลงโทษไล่ออกจากราชการ

       การออกคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ให้มีคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปถึงวันที่ละทิ้งวันแรกและไม่กลับมาอีกเลย ตามหนังสือตอบข้อหารือของสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 0709.1/235 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 เรื่อง หารือการออกคำสั่งไล่ออกจากราชการย้อนหลัง ถ้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2548 ข้อ 6 (2) ให้ไล่ออกย้อนหลังไปถึงวันที่ละทิ้งหน้าที่ราชการ 

       การละทิ้งหน้าที่ราชการ โดยไม่มีเหตุอันควรหรือหนีราชการ ห้ามมิให้จ่ายเงินเดือนในวันที่ละทิ้งหน้าที่ราชการหรือหนีราชการดังกล่าว ตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2535 ข้อ 16 

        ดังนั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งแล้วว่าข้าราชการละทิ้งหน้าที่ราชการในวันใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องห้ามมิให้จ่ายเงินเดือนในวันที่ละทิ้งตามกฎหมายดังกล่าว  ซึ่งหน่วยงานต้องรีบดำเนินการตรวจสอบเหตุอันสมควรของการละทิ้ง โดยอาจพิจารณาให้งดจ่ายเงินเดือนระหว่างที่ละทิ้งไว้เพื่อตรวจสอบเหตุอันสมควรของการละทิ้ง เนื่องจากว่ากว่าที่จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัยเสร็จสิ้น หากไม่มีการงดเบิกจ่ายเงินเดือนไว้ก่อน จะทำให้ต้องติดตามเงินเดือนหรือเงินอื่นๆที่จ่ายไปแล้วคืน  

        กรณีที่เป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่กลับมาอีกเลย หากมีการจ่ายเงินเดือนให้กับผู้ละทิ้งหน้าที่ราชการไปแล้ว ต้องติดตามเอาเงินคืน หากติดตามเอาเงินคืนมาไม่ได้ ต้องมีการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ เพื่อหาตัวเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินที่จ่ายไปแล้วคืนราชการต่อไป 

       ข้าราชการที่ละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร จะไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนในรอบนั้นๆ ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการประเภทต่างๆ เช่น ตามกฎ ก.พ.ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ.2552 ,กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2561 เป็นต้น

        กรณีข้าราชการขอลาออก โดยประสงค์ขอลาออกในวันที่ยื่นหนังสือลาออก แล้วไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการอีกเลย มีหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 0709.2/673 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2541 เรื่อง ขอหารือข้อราชการ โดยให้ถือว่าหนังสือขอลาออกจากราชการดังกล่าว เป็นหนังสือขอลาออกที่สมบูรณ์ ตามระเบียบ และผู้บังคับบัญชามีอำนาจอนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ขอลาออกได้ กรณีเช่นนี้ การที่ข้าราชการยื่่นหนังสือขอลาออกโดยประสงค์ขอลาออกในวันที่ยื่นหนังสือและไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการอีกเลยจึงไม่เป็นการกระทำผิดวินัยฐานละทิ้งหน้าที่ราชการ

------------------------------------------------------------------------------        

อ้างอิง

                ตอบข้อหารือเกี่ยวกับวินัยข้าราชการพลเรือนตาม พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2541-2545) | สำนักงาน ก.พ. (OCSC) ,สืบค้น 12 พฤษภาคม 2566,จาก https://www.ocsc.go.th/discipline/ตอบข้อหารือ-วินัยข้าราชการ/พรบ/2541-2545

               

วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566

เงินถูกดูดออกจากบัญชี แจ้งระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวได้

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

      มีกฎหมายใหม่ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เมื่อมีเหตุเงินถูกดูดออกจากบัญชี สามารถแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวได้ เพื่อการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย คือ พระราชกำหนดมาตราการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 

       และในพระราชกำหนดนี้ ได้บัญญัติความผิดของผู้เปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนเองหรือเพื่อกิจการของตนที่เกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพทสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน  หรือผู้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ผู้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ด้วย 

       เหตุผลในการประการใช้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนท่ัวไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมากและผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด ซึ่งแต่ละวันประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำผิดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

        ในพระราชกำหนดนี้ "อาชญากรรมทางเทคโนโลยี" หมายความว่า การกระทำหรือพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ 

       ในพระราชกำหนดนี้ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่พบเหตุสงสัยหรือได้รับแจ้ง ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินฯ  โดยให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมและแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไป พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลฯ เพื่อให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา หรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตรวจสอบ ถ้าปรากฎพยานหลักฐานอันควรเชื่อ ให้ดำเนินการตามกฎหมายภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับการทำธุรกรรม หรือแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ  หากไม่ปราฎพยานหลักฐานที่น่าเชื่อให้แจ้งผลการตรวจสอบ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจทราบ เพื่อยกเลิกการระงับการทำธุรรม หรือถ้าพ้นกำหนด 7 วัน แล้วไม่ได้รับแจ้ง ให้ยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น 

        ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากหรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ สามารถแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจว่าได้มีการทำธุรกรรมโดยบัญชีเงินฝากหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์และเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญกรรมทางเทคโนโลยี  เพื่อให้ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมุลฯ เพื้อให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที  และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง  โดยการร้องทุกข์ จะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักรหรือต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ได้ และจะร้องทุกข์โดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ 

        ความผิดของผู้เปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนเองหรือเพื่อกิจการของตนที่เกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพทสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน โดยประการที่่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาอื่นใด มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       ความผิดของผู้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาอื่นใด  มีโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       ความผิดของผู้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ มีโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       ในพระราชกำหนดนี้  ให้การเปิดเผย การแลกเปลี่ยน การเข้าถึง ตลอดจนการเก็บ การรวบรวมหรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ผู้ได้รับหรือครอบครองข้อมูลจะเปิดเผยให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบมิได้ 

----------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก  

            พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566