วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ฟ้องซ้ำ

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

ฟ้องซ้ำ

            ฟ้องซ้ำ เป็นบทบัญญัติกฎหมายห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน กล่าวคือ เหตุที่เป็นมูลคดีที่เกิดขึ้นจากกระทำในครั้งเดียวกัน ตัวบทที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 148 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความแพ่ง บัญญัติว่า "คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน  เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

            (1) เมื่อเป็นกระบวนพิจรณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
            (2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
            (3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยอายุความ"

            คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดเมื่อใดนั้น มีตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 147 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีความขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านเป็นต้นไป   คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ถ้าได้มีอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่่ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาหรือศาลชั้นต้น ซึ่งพิจารณาคดีเรื่องนั้นใหม่ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 132 คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้น ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ..."

            จากบทบัญญัติกฎหมาย คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จะถึงที่สุดได้มีหลายกรณี ซึ่งอาจถึงที่สุดได้ในชั้นศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์ ตามเงื่อนไขของบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ใช่จะถึงที่สุดชั้นศาลฎีกาเสมอไป

            ฟ้องซ้ำ จะต้องประกอบด้วย คู่ความเดียวกัน  ฟ้องเรื่องเดียวกัน ประเด็นที่ฟ้องเป็นประเด็นเดียวกับที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดได้วินิจฉัยไว้  และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 148 (1)-(4) มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา เช่น

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7476/2562 คำฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิม ซึ่งเมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมจนศาลมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว การที่คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวนเดิมกับที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมก่อนคดีในชั้นบังคับคดีนั้นจะถึงที่สุด และแก้ไขคำฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทในคดีเดิมแก่โจทก์เมื่อคดีในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมถึงที่สุดแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่การยื่นคำร้องหรือคำฟ้องในกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่จะเข้าข้อยกเว้น ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (1) แต่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีเดิมได้วินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม

advertisement


            คำพิพากษาศาลฎีกา 4726/2562 การที่โจทก์ได้สิทธิความเป็นเจ้าของรวมในที่ดินในฐานะผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 10 ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 10 โอนที่ดินส่วนของจำเลยที่ 10 แก่โจทก์ ย่อมหมายความว่า สิทธิในที่ดินของจำเลยที่ 10 มีอยู่ในขณะที่จะขายเป็นต้นไปเพียงใด โจทก์ย่อมรับโอนสิทธิของจำเลยที่ 10 มาเพียงนั้น ซึ่งรวมถึงหน้าที่ของจำเลยที่ 10 ในฐานะเจ้าของรวมที่ต้องจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 10 ครอบครองเป็นส่วนสัดให้แก่จำเลยที่ 1 และเจ้าของรวมคนอื่นตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ส.656/2549 ของศาลชั้นต้นด้วย ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้สืบสิทธิของจำเลยที่ 10 ที่ต้องผูกพันตามผลของคดีดังกล่าว
            การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินส่วนของจำเลยที่ 10 และถือเป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ส.656/2549 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 10 หยิบยกข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 10 มิได้ตกลงยินยอมให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันมากล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยทบทวนอีก ย่อมเป็นการซ้ำซ้อนกับข้อวินิจฉัยในคดีดังกล่าว และมีผลให้ขัดแย้งกับกระบวนการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้วในคดีดังกล่าว เป็นการรื้อร้องฟ้องในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปและถึงที่สุดแล้ว คดีโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ

            คำพิพากษาศาลฎีกา 4716/2561โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินทรัพย์มรดกระหว่าง ต. ผู้จัดการมรดกกับจำเลย โดยอาศัยข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีก่อน แม้อ้างเหตุเพิกถอนว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ก็ด้วยประสงค์ให้ที่ดินกลับสู่กองมรดก และนำมาแบ่งปันแก่โจทก์รวมทั้งทายาทอื่น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคดีนี้และคดีก่อนจึงเป็นข้ออ้างเดียวกัน คือ การโอนที่ดินระหว่าง ต. กับจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้คดีก่อนศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยเพราะขาดอายุความ แต่ก็ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดก การที่ ต. โอนที่ดินให้จำเลยมิใช่การปิดบังยักยอกทรัพย์มรดก และไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินแทนโจทก์ ย่อมถือได้ว่าคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องกันแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำ

            กรณีมีการแจ้งความดำเนินคดีอาญา พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน พนักงานอัยการยื่นฟ้องและมีคำขอให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคา โดยผู้เสียหายได้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ คำขอให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคา ถือเป็นคำขอทางแพ่ง คำขอนั้นถือเป็นคำฟ้องในคดีแพ่ง เมื่อคดีอาญายกฟ้องโดยศาลวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานองโจทก์มีข้อสังสัย เมื่อความรับผิดทางแพ่งเกิดขึ้นจากมูลกระทำความผิดอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญา โดยเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงเป็นฟ้องซ้อนได้  เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3390/2562 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสบคบกันหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเสนอขายฝากโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาขายฝากในราคา 1,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคาเพียง 500,000 บาท แล้วหลอกลวงโจทก์ว่าทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคา 1,500,000 บาท โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท โจทก์ร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกง โจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา ต่อมาคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองและพิพากษายกฟ้อง เท่ากับว่าได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงเท่ากับยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งไปแล้วด้วย ข้อเท็จจริงในคดีอาญานั้นจึงผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างถึงคดีอาญาดังกล่าวไว้ชัดเจน และขอติดตามเอาทรัพย์คืน 1,000,000 บาท ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงิน 1,000,000 บาท ไปจากโจทก์หรือไม่ จึงเป็นประเด็นเดียวกับคดีอาญาดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

advertisement



           กรณีไม่เป็นฟ้องซ้ำ เนื่องจากประเด็นแห่งคดีในคดีที่ยื่นฟ้อง ไม่ใช่ประเด็นเดียวกันกับคดีเดิมที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว เช่น 

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6411/2562 คดีก่อนโจทก์ถูกจำเลยฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้พิพากษาให้ขับไล่จำเลยหรือให้จำเลยรื้อถอนออกไป ดังนี้ ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกพันจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับโจทก์ในคดีนี้ ารที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทโดยไม่ได้มีประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

            คำพิพากษาศาลฎีกา 2854/2561 คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษาให้หย่า จึงจะมีการแบ่งสินสมรสว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และสินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นคดีก่อนจึงต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ ต้องแบ่ง จึงถือไม่ได้ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับสินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน

        คำพิพากษาศาลฎีกา7807/2559 ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เสียหายผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 44/1 ซึ่งถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง แต่ศาลพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนกระทำความผิดขับรถโดยประมาทด้วย ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์เป็นมารดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจในการจัดการแทนผู้ตายของโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตามประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีส่วนแพ่ง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน จึงไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

            เรื่องฟ้องซ้ำ ตามมาตรา 148 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่นำไปใช้กับการดำเนินคดีอาญา เนื่องจากในคดีอาญา มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)  ซึ่งบัญญัติว่า "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง" เมื่อเป็นคู่ความเดียว มูลคดีเกิดจากกระทำครั้งเดียวกัน ประเด็นที่ฟ้องมีประเด็นเดียวกันกับที่ศาลวินิจฉัย ซึ่งในคดีอาญา คำว่า "คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง หมายถึง คำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ได้มีการวินิจฉัยและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในศาลชั้นต้นแล้ว เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา3665-3666/2562 การปลอมหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนและการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารออกใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไม้พะยูงจำนวนและปริมาตรตามที่ระบุไว้ในหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และ จ. ในความผิดฐานร่วมกันนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้อง จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225


advertisement




        คดีอาญา กรณีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 5391/2562 ในคดีก่อน ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ในการกระทำอันเดียวกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์ ให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คำพิพากษายกฟ้องในคดีก่อนจึงเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไป ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)(การประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2562)

            คำพิพากษาศาลฎีกา 5069/2562 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่5069/2562 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน

            ปัญหาฟ้องซ้ำ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่คู่ความอีกฝ่ายสามารถยกขึ้นให้ศาลวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ที่บัญญัติว่า " เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งใหมีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านั้นแล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบี้องต้นในปัญหานั้น " 

            กรณีที่คู่ความไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในศาลชั้นต้น สามารถยกขึ้นกล่าวได้ในชั้นอุทธรณ์ ตามมาตรา 225 ที่บัญญัติว่า "ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบโดยศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการงินิจฉัยด้วย  ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาอันเกียวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใดๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องใหกระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ " ในชั้นศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247  เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3452/2562 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้อง และเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวและพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กล่าวแก้ปัญหาเรื่องอายุความ และฟ้องซ้ำในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ส่วนฟ้องซ้ำ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้มีการโต้แย้งในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกเป็นประเด็นในชั้นฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 (ฎีกาแสดงถึงฟ้องซ้ำ ศาลวินิจฉัยว่าเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน )

            คำพิพากษาศาลฎีกา 91/2562 ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ  (ฎีกานี้ แสดงถึงการที่คู่ความยกข้อกฎหมายในศาลวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 24)

advertisement




         กรณีข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความไม่ได้ยกขึ้นอ้าง แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล  ศาลเห็นเอง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามมาตรา 142 (5) ที่บัญญัติว่า "ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ "  เช่น

             คำพิพากษาศาลฎีกา 1747/2562   ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) (ฎีกานี้ แสดงถึง ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) )

            คำพิพากษาศาลฎีกา 8840/2558 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งโจทก์ขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ จ. กับพวกตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นเป็นทรัพย์รายเดียวกัน โดยคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องให้ จ. กับพวกรับผิดตามสัญญากู้ยืมและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี แต่ จ. กับพวกไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนองในคดีดังกล่าวออกขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ จ. กับพวกยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล จำเลยในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวว่า จำเลยมิใช่บริวารของ จ. กับพวกและอ้างว่า จำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อนโจทก์ รวมทั้งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. ในอันที่จะบังคับให้ จ. ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลย จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ และมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ประกอบด้วยมาตรา 142 (1) โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีในชั้นบังคับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าวจึงถึงที่สุด จึงต้องฟังว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อน การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับในคดีก่อนนั่นเอง ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามไม่ให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

            ฟ้องซ้ำในคดีอาญา เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามมาตรา 195 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติว่า "ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น  ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม" 

           ในคดีอาญา กรณีที่คู่ความไม่ได้ยกข้อกฎหมายที่เกียวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นกล่าวอ้าง ศาลเห็นเอง ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 ซึ่งบัญญัติว่า " ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง "  
 
            คำพิพากษาศาลฎีกา 289/2560 โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
            โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้าย ณ. แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวว่า เป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่และปัญหาเรื่องฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

            คำพิพากษาศาลฎีกา 15572/2558 ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ แม้จำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
            โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์หาเงินมาชำระค่าขึ้นศาล เป็นการทิ้งฟ้องและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
            โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และฟ้องบังคับให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แม้ไม่ได้ทำหนังสือตั้งให้เป็นตัวแทนก็ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง
            โจทก์สืบพยานบุคคลว่าผู้มีชื่อในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและในโฉนดเป็นตัวแทนของโจทก์นั้น หาได้สืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือตามความหมายใน ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) นั้นไม่ แต่เป็นการสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงหาใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่ประการใด

            
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1930/2558 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ผู้คัดค้านทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ได้ยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 เป็นของผู้คัดค้านทั้งสามที่ได้รับมรดกมาจาก ก. ขอให้ผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้คัดค้านทั้งสาม ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสามและผู้ร้องตกลงกันได้โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาตามยอมเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ระบุให้มีการรังวัดเนื้อที่ดินในโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 ให้ได้เนื้อที่ครบตามหน้าโฉนด หากปรากฏว่ามีที่ดินเหลือจากการรังวัดให้ถือว่าส่วนที่เหลือเป็นที่ดินของผู้ร้อง คดีถึงที่สุด ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดที่ดินกับมีการปักหลักเขตเรียบร้อยแล้ว การที่ผู้ร้องมาร้องขอครอบครองปรปักษ์ เป็นคดีนี้ซึ่งเป็นที่ดินที่เดียวกับที่พิพาทและมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามในคดีนี้กับโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่ต้องพิจารณาในคดีนี้กับคดีดังกล่าวก็เป็นประเด็นเนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ซึ่งผู้ร้องในคดีนี้มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็มิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ให้แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องกลับหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาฎีกาว่า ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาตามยอม หาได้เป็นการกระทบกระเทือนการครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องไม่ คำร้องขอของผู้ร้องไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้น จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
advertisement


***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ฟ้องซ้อน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


ฟ้องซ้อน


             บทความนี้ จะนำเสนอข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่ง  ในเรื่อง ฟ้องซ้อน  เพื่อเป็นการทบทวนความรู้ความเข้าใจ และรวบรวมแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องไว้ในบทความ เป็นเรื่องที่เคยศึกษามาแล้ว แต่เมื่อไม่ได้ใช้ จึงจำหลักไม่ได้ จึงขอรวบรวมไว้ เพื่อสามารถนำไปใช้ได้ต่อไป และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ 

            การฟ้องคดีแพ่ง เริ่มต้นเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจก็ได้ เป็นบทเริ่มต้นของการดำเนินคดีแพ่ง ถ้ายังไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่ต้องใช้สิทธิทางศาล ถือว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินคดีแพ่งแต่อย่างใด 

           การฟ้องคดีแพ่ง ห้ามมิให้ฟ้อง พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเป็นครั้งแรกในศาลหรือโดยศาลอื่นนอกจากศาลชั้นต้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งเป็นอย่างอื่น เป็นบทกฎหมายจำกัดห้ามไว้ คดีแพ่งต้องเริ่มที่ศาลชั้นต้นเสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายเป็นอย่างอื่น

            คดีมีประเด็นข้อพิพาทที่มีคู่กรณี การเสนอข้อหาของตนให้ทำเป็นคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น  คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น การบรรยายฟ้องจึงต้องครบถ้วนตามที่กล่าว นอกจากนี้เมื่อยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะตรวจคำฟ้องที่ได้ยื่นต่อศาลหรือส่งให้คู่ความ ถ้าศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่เข้าใจหรือเขียนฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่มีรายการ ไม่มีมีลายมือชื่อ ไม่แนบเอกสารต่างๆตามที่กฎหมายต้องการ หรือมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วน ศาลจะมีคำสั่งให้คืนให้ไปทำมาใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน ภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขใดๆ ตลอดจนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ ถ้ามิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น (มาตรา 18) คำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องนี้ อยู่ในบังคับของการอุทธรณ์ฎีกาได้ โดยไม่ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา การอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนี้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป

            ในชั้นตรวจคำฟ้อง  ศาลมีอำนาจตรวจสอบว่า คำฟ้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา มีคำขอบังคับ มีการอ้างมาตรากฎหมายที่จะบังคับตามข้อหานั้นหรือไม่ โดยศาลมีอำนาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น  หรือมีคำสั่งให้คืนไป หรืออาจมีคำสั่งให้ยกเสีย(ยกฟ้อง) การไม่รับคำฟ้อง อาจจะเป็นกรณีเป็นฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ หรือกระบวนพิจารณาซ้ำ ก็เป็นไปได้ แต่ถ้ามีคำสั่งให้ยกเสีย(ยกฟ้อง) แสดงว่าศาลได้มีการพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีกับพยานหล้กฐานแล้ว เมื่อไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาล กฎหมายให้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้

            คำสั่งของศาลที่ไม่รับคำฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง หรือคืนคำฟ้องให้ทำมาใหม่  หรือยกฟ้อง  ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ โดยไม่ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา การอุทธรณ์อยู่ในบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี (มาตรา 227 ) หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น การฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา  การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฏีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ แล้วศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาไปยังศาลฎีกา และศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยคำร้องนั้น (มาตรา 247)

             เมื่อยื่นคำฟ้องแล้ว ศาลมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา (มาตรา 172 วรรคสาม) ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้ว  หรือกรณีศาลไม่รับคำฟ้องหรือคืนคำฟ้องมาให้ทำใหม่ หรือยกเสีย แต่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นอยู่ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ยังถือว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา  ถ้ามีการเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกันหรือต่อศาลชั้นต้นศาลอื่น โดยโจทก์คนเดียวกัน มีประเด็นในเรื่องเดียวกัน จะถือว่าเป็นฟ้องซ้อน กับคำฟ้องที่อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะ


advertisement


            ฟ้องซ้อน มีตัวบทที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 173 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า "นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้  (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น และ .."

            ประเด็นจะเป็นฟ้องซ้อน จึงประกอบด้วย โจทก์คนเดียวกัน ฟ้องเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว หรือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องหรือยกฟ้องข้างต้น  จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคำฟ้องเดิมที่อยู่ระหว่างพิจารณา  มีแนวคำพิพากษาฏีกา เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา 2222/2562 คดีสองสำนวนก่อนกับคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายฉบับเดียวกันในคราวเดียวกัน จึงมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดียวกัน แม้คดีนี้จะมีคำขอที่แตกต่างกันไปโดยอ้างข้อตกลงในสัญญาตัวแทนจำหน่ายว่าภายหลังเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยมีหน้าที่รับคืนสินค้าแต่จำเลยไม่รับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นคำขอที่สามารถขอได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว เพราะการเรียกค่าเสียหายเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเลยเลิกสัญญาฉบับเดียวกัน และจำเลยมีหนังสือแจ้งการไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายไปยังโจทก์ พร้อมกับแจ้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้โจทก์ส่งมอบสินค้าในคลังสินค้าคืนแก่จำเลยตามราคาที่สั่งซื้อไปถึงสองครั้งแต่โจทก์เพิกเฉยและกลับไปฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นสองคดีก่อน แสดงได้ชัดเจนว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องคืนสินค้ากันก่อนฟ้องสองคดีก่อน และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกในคดีนี้สามารถเรียกได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว หรือหากมีความเสียหายเพิ่งปรากฏภายหลังฟ้องสองคดีก่อน โจทก์ก็สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายในสองคดีก่อนได้ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันใหม่เป็นคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

            คำพิพากษาศาลฎีกา 879/2559 คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนให้ออกจากที่ดินพิพาท คดีทั้งสามอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องในทั้งสามคดีดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงถือว่าโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นจำเลยร่วมในทั้งสามคดีตามที่จำเลยแต่ละคดีขอให้ศาลมีหมายเรียก ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 4 ในฐานะจำเลยร่วมอาจถูกบังคับตามคำฟ้องได้ มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งสามคดีด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นคู่ความในทั้งสามคดีดังกล่าวแล้วเช่นกัน ดังนั้น คู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีทั้งสามจึงเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และจำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันกับคดีทั้งสามว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้กับคดีทั้งสามจึงมีอย่างเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 4 โจทก์คดีก่อนอาจเรียกค่าเสียหายอย่างที่เรียกคดีนี้ได้จากคดีก่อนอยู่แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ในระหว่างที่คดีทั้งสามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล อันเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันอีก ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

advertisement




            ประเด็นฟ้องซ้อนในคดีอาญา บทบัญญัติกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติให้คดีอาญาเรื่องเดียวกัน ผู้เสียหายอาจยื่นฟ้องคดีเอง หรือพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกันหรือศาลอื่น  คำฟ้องนั้นไม่เป็นฟ้องซ้อน ศาลมีอำนาจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันได้ แต่ถ้าผู้เสียหายคนเดียวกัน ฟ้องจำเลยคนเดียวกันในการกระทำความผิดครั้งเดียวกัน แต่ข้อหาในความผิดต่างกัน เป็นฟ้องซ้อนในคดีอาญาได้ โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้" จึงสามารถนำเรื่องฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง มาใช้บังคับได้ เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3131/2562 เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแห่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ในคดีก่อนเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ กระทำความผิดทั้งสองคดีในช่วงวันเวลาเดียวกัน อีกทั้งมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดทั้งสองคดีก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นำเอาข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นความลับที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องการทุจริตในมหาวิทยาลัย ว. ที่จำเลยจัดทำขึ้นไปเปิดเผยหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ แม้คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะบุคคลธรรมดาในฐานความผิดที่ยอมความได้ และคดีนี้โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิด ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในความผิดที่ยอมความไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้และการกระทำความผิดที่มีการฟ้องร้องทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากมูลเหตุเรื่องเดียวกันในช่วงวันเวลาเดียวกัน การวินิจฉัยความผิดทั้งสองคดีจึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอาญาและหลังจากนั้นได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้น โดยคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่นำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นสองคดีซ้อนกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3843/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และให้จำเลยทั้งสี่รับผิดทางแพ่งซึ่งมีมูลกระทำความผิดในทางอาญา ถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมากับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 40 จำเลยทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นจำเลยในคดีตั้งแต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และถือว่าคดีส่วนแพ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ออกไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์รื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสี่ปลูกไว้ได้เอง อันเป็นฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

           กรณีคำขอส่วนแพ่ง จากการกระทำความผิดทางอาญา ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คือ ความรับผิดทางแพ่งเกิดขึ้นจากการะทำความผิดอาญา ถ้าพนักงานอัยการมีคำขอแทนผู้เสียหายให้ผู้กระทำผิดคืนทรัพย์หรือราคาที่ผู้เสียหายได้สูญเสียไปเนื่องจากกระทำความผิดอาญาแล้ว ผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งและมีคำขอให้คืนทรัพย์หรือราคานั้นอีกไม่ได้ จะถือว่าเป็นฟ้องซ้อน  เพราะคำขอให้คืนทรัพย์หรือราคานั้น เป็นคำขอส่วนแพ่งบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีความแพ่ง แต่ถ้าฟ้องคดีแพ่งเพื่อให้ชดใช้ดอกเบี้ย หรือค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ไม่ซ้ำกับที่พนักงานอัยการขอ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจพนักงานอัยการมีคำขอในส่วนดอกเบี้ยและค่าสินไหมอย่างอื่นได้  แต่ผู้เสียหายไม่จำต้องฟ้องคดีแพ่งเป็นคดีใหม่ สามารถยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ ดอกเบี้่ย และค่าสินไหมทดแทนอื่น ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้  เช่น 

             คำพิพากษาศาลฎีกา 5830/2562 พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง กับมีคำขอให้คืนหรือใช้เงิน ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหาย อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน

             คำพิพากษาศาลฏีกา 8905/2561 ารร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)
        คำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง มีหน่วยงานผู้เสียหายเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง คำร้องจึงต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง ซึ่งต้องไม่ใช่จำนวนเงินที่อัยการได้เรียกร้องไปแล้ว เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 1885/2555 พนักงานอัยการมีคำขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้คืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่โจทก์ร่วมอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม
        ดอกเบี้ยของเงินจำนวน 43,150 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจะมีคำขอเรียกค่าดอกเบี้ยแทนโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 43,150 บาท ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้ ซึ่งตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าว

        คำพิพากษาศาลฏีกา 19035/2557 คดีนี้ผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แต่เป็นกรณีที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายเพียงเท่าจำนวนที่ผู้เสียหายเสียไปเท่านั้น ค่าเสียหายอย่างอื่นหรือดอกเบี้ยไม่อาจเรียกคืนแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 580,000 บาท แก่ผู้เสียหายซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้เสียหายเสียไปนั้น จึงขัดต่อมาตรา 43 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 
        คำพิพากษาศาลฎีกา 5400/2560 ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)

         คำพิพากษาศาลฎีกา 21502/2556 ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่จำเลยลักไปแทนโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยลักไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้อีก
        จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจึงต้องเป็นความเสียหายอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก เช่น ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหาย หรือความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ค่าเสียสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมต้องทำรั้วกำแพงใหม่ ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในที่ดินเพื่อก่อเหตุอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกับครอบครัว และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงมิใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลย

advertisement



            ปัญหาฟ้องซ้อน เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่คู่ความอีกฝ่ายสามารถยกขึ้นให้ศาลวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ที่บัญญัติว่า " เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งใหมีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านั้นแล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบี้องต้นในปัญหานั้น " 
            กรณีที่คู่ความไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในศาลชั้นต้น สามารถยกขึ้นกล่าวได้ในชั้นอุทธรณ์ฏีกา ตามมาตรา 225 ที่บัญญัติว่า "ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบโดยศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการงินิจฉัยด้วย  ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาอันเกียวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใดๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องใหกระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ " เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา 1579-1580/2558 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดว่าอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวน แม้ทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังที่โจทก์ระบุว่าเป็นโบราณวัตถุ 217 ชิ้น และสร้อยลูกปัดโบราณ 332 เส้น จะเป็นทรัพย์คนละอย่างกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก แต่เมื่อการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก จึงเป็นการกระทำในคราวเดียวอันเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำนวนหลังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

            คำพิพากษาศาลฎีกา 91/2562 ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ  (ฎีกานี้ แสดงถึงการที่คู่ความยกข้อกฎหมายในศาลวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 24)

         กรณีข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความไม่ได้ยกขึ้นอ้าง แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล  ศาลเห็นเอง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามมาตรา 142 (5) ที่บัญญัติว่า "ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ "  เช่น

             คำพิพากษาศาลฎีกา 1747/2562 จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกรบกวนและแย่งการครอบครอง โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดิน... ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การและฟ้องแย้งที่ระบุว่าที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของจำเลย จึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วจำเลยแย่งการครอบครองหรือที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หรือไม่ เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ขาดสิทธิฟ้องร้องไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) (ฎีกานี้ แสดงถึง ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) )


advertisement



คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ ที่ไม่เป็นฟ้องซ้อน  เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 975/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า ใบเบิกเงิน และใบกำกับสินค้าและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 845/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกซึ่งมาชำระค่าสินค้า แล้วไม่นำเงินที่รับชำระพร้อมใบเสร็จที่ออกส่งให้แก่ฝ่ายการเงินและไม่ได้นำไปตัดยอดหนี้ให้แก่สมาชิก ในคดีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการปลอมใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 6941/2560 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นจำเลยในคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุก ลักทรัพย์และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มีโจทก์เป็นผู้เสียหาย และมีคำขอให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 คืนหรือใช้ราคาดินแก่ผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย เป็นคำฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ 3 การฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมวดที่ 2 คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ลงโทษจำเลยที่ 5 เพียงคนเดียว ส่วนคำขอให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปนั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ไม่แน่ชัดว่ามีเพียงใด จึงให้ยกคำขอของโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ให้คืนหรือใช้ราคาดินในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอาญานั้นเอง มิใช่การฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
            จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ยังไม่เคยถูกฟ้องให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปจากที่ดินโจทก์มาก่อน จึงไม่มีกรณีต้องพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่
            โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขุดเอาหน้าดินของโจทก์ซึ่งมีสภาพเป็นดินลูกรังไปเพื่อใช้ในการถมก่อสร้างคันกั้นน้ำชื่อโครงการกระแสสินธุ์ในเขตโครงการชลประทาน และมีคำขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนดินหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ที่จะเรียกร้องจากผู้เอาทรัพย์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและติดตามเอาทรัพย์คืน และหากคืนไม่ได้ผู้ที่เอาทรัพย์นั้นไปก็ต้องชดใช้ราคา จึงเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์สินจากผู้ยึดถือโดยไม่มีสิทธิยึดถือ มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

            คำพิพากษาศาลฎีกา 10431/2559 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมกับมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนต้องสูญเสียแก้วหูในส่วนของการได้ยินทั้งสองข้าง การหางานทำใหม่เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีบริษัทไหนต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน และขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีอายุมาก อันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ส่วนคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอันเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียง และไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีก่อน คำฟ้องคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างจึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อนข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ และคดีต้องมีการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างต่อไป เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1040/2559 คดีก่อนทั้งสองคดีกับคดีนี้โจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยทั้งสองในวันเดือนปีเดียวกันในการกระทำความผิดลักษณะเดียวกัน ใบกำกับภาษีที่ว่าปลอมหรือออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นของห้างเดียวกันกับในคดีนี้ และการใช้ใบกำกับภาษีนั้นมีการใช้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าใบกำกับภาษีของทั้งสามคดีเป็นฉบับเดียวกัน ทั้งจำเลยที่ 1 ของทุกคดี เป็นนิติบุคคลคนละคนกัน และ ป.รัษฎากร มาตรา 39 มิได้บัญญัติว่าจำเลยที่ 1 อีก 2 คดีที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นเครือเดียวกันถือว่าเป็นนิติบุคคลเดียวกัน มีแต่จำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ในทุกคดี ดังนั้น แม้คดีทั้งสองที่จำเลยทั้งสองอ้างดังกล่าวจะมีคำพิพากษาแล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว
            จำเลยที่2 ในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองดังกล่าว แม้จำเลยที่1จะเป็นนิติบุคคลคนละคนกันก็ตาม แต่ลักษณะแห่งคดีเป็นการนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้เครดิตภาษีในเดือนภาษีเดียวกัน และความผิดเป็นอย่างเดียวกัน คดีทั้งสามมีความเกี่ยวพันกันโดยอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้เมื่อโจทก์แยกฟ้องโดยศาลมิได้สั่งให้รวมการพิจารณาคดีด้วยกัน และโทษที่จะกำหนดลงโทษจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (7) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท ดังนั้น หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกกรรมแล้ว ก็ต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น การนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของสองคดีดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20 ปี


***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/



 

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายชู้ หญิงชู้

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

            เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้  สิทธิเรียกค่าทดแทน จากชายชู้ หญิงชู้ ถือเป็นกรณีที่เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวของความเป็นสามีภริยาที่สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการสมรสตามกฎหมาย หมายถึง จดทะเบียนสมรสกันแล้ว การแต่งงานโดยแจกการ์ดเชิญคนมาร่วม มีพิธีสมรส แต่ไม่มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ยังไม่ถือว่าเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการสิ้นสุดการสมรส จะมีได้เมื่อ หย่า ตาย หรือโดยคำพิพากษา(ให้เพิกถอน/ให้สิ้นสุด)การสมรส ดังนั้น เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว การสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่า จึงต้องจดทะเบียนหย่ากันให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะมีผลเป็นการสิ้นสุดการสมรส เช่น 

             คำพิพากษาศาลฎีกา 6553/2537 โจทก์กับสามีโจทก์เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การหย่านอกจากได้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนแล้วยังต้องจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1515 อีกด้วย การหย่าจึงจะสมบูรณ์ เมื่อโจทก์กับสามีโจทก์ยังไม่มีการจดทะเบียนหย่า โจทก์กับสามีโจทก์จึงยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ดังนั้น แม้จำเลยจะมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์ยอมหย่ากับสามีจำเลยจะไม่ดำเนิน คดีอาญากับโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผย ว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ในทำนองชู้สาวโจทก์ในฐานะภริยาจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง

            คำว่า "ชายชู้"(เป็นชู้กับภริยาคนอื่น)  ทำให้สามีของหญิงที่มีชู้กับชายอื่นมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นที่มาเป็นชู้ภริยาตนได้   คำว่า "ชายมีชู้ " (มีหญิงอื่นมาเป็นชู้) ทำให้หญิงที่เป็นภริยาของชาย ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาเป็นชู้กับชายสามีตนได้  ถ้าชายชู้ เป็นชายที่มีภริยาอยู่แล้ว เป็นชู้กับหญิงอื่นที่มีสามีอยู่แล้ว ภริยาของชายชู้ ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาเป็นชู้กับสามีตนได้ ขณะเดียวกันชายผู้เป็นสามีของหญิงที่มีชู้ ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นที่มาเป็นชู้กับหญิงซึ่งเป็นภริยาตนได้ เป็นสิทธิของคู่สมรสฝ่ายที่เสียหายจากการที่คู่สมรสของตนมีชู้ ที่นอกเหนือจากเหตุฟ้องหย่า  ก็วุ่นๆพอสมควร เรื่องชายหรือหญิงเป็นชู้ หรือมีชู้  

            คำว่า "หญิงชู้ " (เป็นชู้กับสามีคนอื่น) ทำให้ภริยาของชายที่มีหญิงอื่นมาเป็นชู้ ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้ คำว่า "หญิงมีชู้" ทำให้สามีของหญิงที่มีชู้ซึ่งเป็นภริยาตน ฟ้องเรียค่าทดแทนจากชายอื่นที่มาเป็นชู้ได้ 

           ชู้ เป็นเหตุให้คู่สมรสอีกฝ่ายฟ้องหย่าได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายมาตรา 1516 อนุมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า "สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ "

            แต่ในบทความนี้ จะเสนอประเด็นเกี่ยวกับ สิทธิเรียกค่าทดแทน กรณีชายชู้  และกรณีหญิงชู้  ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 1523 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า " สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" ข้อเท็จจริง ที่จะพิสูจน์ต้องชัดเจนเป็นไปตามตัวบทดังกล่าว 

            หญิงมีชู้ สิทธิที่ผู้เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะฟ้อง ชายชู้หรือชายอื่นที่มาเป็นชู้กับภริยาของตน เพื่อเรียกค่าทดแทนได้ โดยต้องพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่า "ชายอื่น ล่วงเกินภริยาของตน ไปในทำนองชู้สาว " ซึ่งคำว่า "ล่วงเกินไปในทำนองชู้สาว" นั้น มีความหมายขนาดไหนกัน  ไม่มีคำอธิบายความหมายไว้ จึงต้องอาศัยแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาเป็นแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

            ชายมีชู้ สิทธิที่ผู้ที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาเป็นชู้กับสามีตนได้ ต้องพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า  "หญิงอื่นแสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว " ซึ่งมีแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างกันโดยต้องมีพยานหลักฐานที่แสดงว่ามีการแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กัน ถ้ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว กันแบบลับ ปกปิดไม่ให้ใครรู้ ก็ไม่เข้าองค์ประกอบ 

           แนวคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว   เช่น  

           คำพิพากษาศาลฎีกา 964/2562 คำฟ้องโจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" จากพฤติการณ์ที่สามีโจทก์ไปพบจำเลยที่บ้านเช่าของจำเลยในช่วงเวลากลางคืนบ่อยครั้ง โดยขับรถมาเองหรือมาพร้อมกับจำเลยก็ตาม บางครั้งก็นอนพักค้างคืนที่บ้านจำเลยและกลับออกมาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น อีกทั้งสามีโจทก์ยังมีกุญแจที่ใช้เปิดประตูเข้าออกบ้านจำเลยได้เอง แม้ในยามกลางดึกซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยเข้านอนแล้วก็สามารถเข้าบ้านจำเลยโดยไม่ต้องรอให้จำเลยเปิดประตูบ้านให้ อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่าที่จะเป็นเพียงนายจ้างหรือลูกจ้างกันตามปกติธรรมดา การที่จำเลยเป็นหญิงที่แต่งงานมีสามีแล้ว ยินยอมให้สามีโจทก์ซึ่งเป็นชายอื่นเข้าออกบ้านจำเลยในเวลากลางคืนบ่อยครั้ง รวมทั้งให้มานอนค้างคืนที่บ้านแล้วออกจากบ้านไปช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น โดยบางครั้งมีการแต่งกายออกไปทำงานพร้อมกัน ย่อมทำให้เพื่อนบ้านหรือบุคคลอื่นที่พบเห็นถึงพฤติกรรมระหว่างจำเลยกับสามีโจทก์เข้าใจได้ว่า จำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการที่จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง

           คำพิพากษาศาลฎีกา 4261/2560 โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด
            
             คำพิพากษาศาลฎีกา 10842/2559 ทั้งก่อนและหลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีโจทก์เป็นภริยาแล้ว จำเลยยังติดต่อคบหาสมาคมกับ ท. และติดตาม ท. มาถึงสถานที่ทำงาน อยู่ในห้องทำงานของ ท. และมีเพศสัมพันธ์กันซึ่งมิใช่ที่รโหฐาน ปกปิดมิดชิดไม่มีผู้ใดล่วงรู้ เมื่อคนงานและเพื่อนร่วมงาน ท. ทราบว่า ท. มีภริยาแล้วและพบเห็นจำเลยกับ ท. มาที่บริษัท โดยจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยกับ ท. มีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ หลังจากจำเลยทราบว่า ท. มีภริยาแล้ว ย่อมทำให้วิญญูชนทั่วไปมีเหตุอันควรเชื่อและเข้าใจว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับ ท. มากกว่าที่จะรู้จักกันในฐานะลูกค้าหรือบุคคลธรรมดาที่รู้จักกันทั่วไป ข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ท. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แล้ว พฤติการณ์แห่งคดีที่ฟังยุติมาข้างต้นมิอาจแปลความว่า การกระทำของจำเลยมีลักษณะลักลอบมีเพศสัมพันธ์กับ ท. และพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยกับ ท.

             คำพิพากษาศาลฎีกา 1899/2559 โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนที่ล่วงเกินจำเลยที่ 1 ในทางชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 แต่ถูกจำเลยที่ 2 ข่มขืน จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันวางแผนทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 2 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์เข้าใจเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมไปในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และมิได้เป็นผู้ประพฤติชั่วและจะขออยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปคดีของจำเลยที่ 2 ประเด็นฟ้องหย่าจึงพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเห็นควรหยิบยกปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แก่โจทก์หรือไม่ด้วย ซึ่งการกระทำในทำนองชู้สาวต้องมีผู้กระทำสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหญิงคือ จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมแสดงว่าฝ่ายชายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีการกระทำในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกา 6516/2551 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยา แต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย


             คำพิพากษาศาลฎีกา 4818/2551 โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย โดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. เป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ มิใช่คดีละเมิดธรรมดา ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6
            โจทก์อ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกเป็นพยานไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)
            จำเลยไปรับประทานอาหารกับ พ. ร่วมกับเพื่อนของจำเลยและเพื่อนของ พ. โดยมีการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้ชิดเป็นพิเศษเกินกว่าความสัมพันธ์ในระดับคนที่รู้จักในการทำงานทั่วไปและการที่จำเลยไปพักที่โรงแรมทั้งสองแห่งกับ พ. โดยพักอยู่ห้องเดียวกันและมีเพศสัมพันธ์กัน แม้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์จะเป็นเพื่อนของ พ. เพื่อนของจำเลยและพนักงานงานโรงแรมก็เป็นการแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้
            โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ย่อมไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1094/2539 สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสองกฎหมายมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหรือหย่าขาดจากสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องได้จึงไม่ต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(1)

            คำพิพากษาศาลฎีกา 2940/2538 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตลอดมาจนถึงวันฟ้องลักษณะการกระทำของจำเลยได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในขณะฟ้องคดี โจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ว่าการฟ้องเรียกค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523 จะต้องฟ้องหย่าเสียก่อน จึงจะเรียกค่าทดแทนได้นั้นเป็นฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสอง ไม่มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้โจทก์ จึงมีอำนาจฟ้อง


            ค่าทดแทน พิจารณาความเสียหายอย่างไร มีแนวคำพิพากษาของศาล เช่น 

             คำพิพากษาศาลฎีกา 4130/2548 ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและอุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 6558/2542 การที่จำเลยกับป. สามีโจทก์ พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันในท้องที่ย่านชุมนุมชน โดยเปิดเผย และมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยบุตรก็ใช้นามสกุล ของ ป. ด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ ป.ในทำนองชู้สาวแล้วโดยไม่จำเป็นต้องออกงานสังคมร่วมกับ ป. แต่อย่างใด ตามปกติภริยาย่อมต้องรักใคร่หวงแหนมิให้สามีไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ หญิงอื่นเว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษอย่างยิ่ง โจทก์มีความรักและหวงแหน ป. ผู้เป็นสามีถึงกับต้อง ย้ายจากจังหวัดนครศรีธรรมราชติดตามมาอยู่กับ ป. ที่จังหวัดจันทบุรีและยังไปร้องเรียน ต่อผู้บังคับบัญชา ป.ให้ว่ากล่าวตักเตือน ป.ให้ยุติความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยด้วย ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือพฤติการณ์พิเศษอย่างใดที่โจทก์มีความจำเป็นต้องยินยอมให้จำเลยมาเป็นภริยาของ ป. อีกคนหนึ่ง เมื่อจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับ ป. ในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ค่าทดแทนที่ภริยาเรียกจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมี ความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวนั้น พิจารณาจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดีและสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย มหิดลประกอบอาชีพรับราชการนับว่าเป็นผู้มีเกียรติฐานะในวงสังคม โจทก์กับ ป.สมรส กันมานานถึง 10 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คน สถานะของครอบครัวมีความมั่นคงสมบูรณ์ การกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1620/2538 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่2แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่1ซึ่งเป็นสามีโจทก์ในทางชู้สาวตั้งแต่พ.ศ.2518ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ถือว่าจำเลยที่2ประพฤติตนเป็นชู้ของสามีผู้อื่นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมากเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียงและความทุกข์ทรมานทางจิตใจเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172แล้วส่วนความเสียหายแต่ละอย่างเป็นจำนวนเท่าใดเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้และคดีไม่ขาดอายุความ เพราะจำเลยที่2 กระทำละเมิดต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดกระทำจนถึงขณะฟ้อง จำเลยที่2 แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่1 สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวโดยโจทก์มิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่1อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่2ฉันภริยาโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสองได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่1ตกลงหย่ากันเองหรือศาลพิพากษาให้หย่ากัน

            คำพิพากษาศาลฎีกา 6383/2537 ภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 วรรคสอง ค่าทดแทนนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งมีความหมายรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของภริยา ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว จะฟ้องเรียกค่าทดแทนโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 ให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีอีกไม่ได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 981/2535 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกันและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผย โดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าโจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1ในทำนองชู้สาว จึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัวและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ซึ่งเป็นภรรยาโดยตรง ซึ่งโจทก์ก็แสดงให้เห็นว่ามีฐานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง ค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกัน โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองกลางปี 2525 แต่คำฟ้องและชั้นนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยืนยันความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาถึงปี 2528 มิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529

           กรณีฟ้องหย่าด้วยและเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นด้วย ต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันและมีเหตุอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีเป็นอาจิณ แต่ถ้าไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามฟ้อง เนื่องจากมีการทำสัญญาประนีประนอมกัน ศาลมีคำพิพากษาตามยอม จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน (กรณีนี้น่าจะต้องฟ้องหญิงที่เป็นชู้ เป็นคดีใหม่ เพื่อเรียกค่าแทดแทนจากหญิงที่เป็นชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคสอง ภายในอายุความฟ้องคดี  ไม่น่าจะถือเป็นการฟ้องซ้ำหรือเป็นกระบวนพิจารณาซ้ำ ) เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 8943/2557ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว



           เป็นชู้กันจริง แต่เป็นเรื่องลับของคนที่เป็นชู้กัน ไม่แสดงออกโดยเปิดเผยให้ใครรู้ ไม่เข้าองค์ประกอบตามกฎหมาย   เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา 2588/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้นั้น ต้องมีข้อเท็จจริงว่า หญิงอื่นแสดงตนว่ามีความสัมพันธ์กับสามีตนในทำนองชู้สาว "โดยเปิดเผย" หน้าที่นำสืบให้ได้ความเช่นว่านั้นจึงตกแก่โจทก์ การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ช. สามีโจทก์ โดยได้ติดต่อกันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งข้อความทางโทรศัพท์ ส่งข้อความ (Chat) ทางระบบเครือข่ายไลน์ มีการนัดหมายกันไปมีเพศสัมพันธ์กันตามสถานที่ต่างๆ และมีคลิปวิดีโอภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ช. รวมถึง ช. ได้ส่งดอกไม้ให้จำเลยเป็นประจำ และโอนเงินเข้าบัญชีจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือร้องเรียนถึงพฤติกรรมจำเลยไปที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร ก. เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมและตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลย แต่โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเพียงปากเดียวว่า จำเลยกับ ช. มีพฤติกรรมดังกล่าว แม้จำเลยยอมรับในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยมีเพศสัมพันธ์กับ ช. จริง แต่จำเลยก็ไม่ได้รับว่าตนเองอยู่ในฐานะภริยาอีกคนของ ช. หรือ ช. ได้มีพฤติกรรมยกย่องตนเองฉันภริยาแต่อย่างใด ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอโจทก์ได้มาจาก ช. ทั้งสิ้น โดย ช. เก็บไว้ในโน๊ตบุ๊ก flashdrive และ external harddisk ช. เป็นผู้อธิบายให้โจทก์ฟังว่าสถานที่ต่างๆ คือที่ใดแสดงให้เห็นว่า การที่โจทก์รู้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ช. กับจำเลยเกิดจากคำบอกเล่าของสามีของโจทก์เองหาใช่การกระทำของทั้ง ช. และจำเลยที่มีการแสดงออกโดยเปิดเผยจนเป็นที่รับรู้และเข้าใจต่อบุคคลอื่นไม่ ไม่ปรากฏพฤติกรรมว่า ช. ได้เลี้ยงดูยกย่องจำเลยเป็นภริยา หรือแยกไปอาศัยอยู่กินด้วยกัน หรือพาจำเลยไปเปิดตัวต่อผู้อื่นในที่ชุมชน หรือพาไปตามสถานที่ต่างๆ แบบเปิดเผย ไม่มีการแสดงออกทั้งภาพถ่าย และการระบุสถานะในสื่อสังคมออนไลน์ปรากฏต่อสาธารณชน ไม่มีพยานบุคคลอื่นที่รู้เห็นความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองไม่ว่าพนักงานโรงแรม พนักงานรักษาความปลอดภัย บิดามารดา เพื่อร่วมงานของจำเลยที่ธนาคาร ก. ที่สาขาพัทยา เพื่อนร่วมงานของโจทก์ เพื่อนของ ช. ลำพังเพียงรูปถ่ายของจำเลยกับ ช. ที่ไปมีเพศสัมพันธ์ตามสถานที่ต่างๆ และคลิปวิดีโอที่โจทก์ได้มาจากสามีตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่สื่อถึงเจตนาที่แท้จริงของบุคคลทั้งสองว่าต้องการมีความสัมพันธ์แบบเปิดเผย โจทก์กลับนำพยานหลักฐานต่างๆ เหล่านี้มาได้ด้วยความยินยอมของ ช. โจทก์ส่งภาพการมีเพศสัมพันธ์ของจำเลยกับ ช. ไปให้ ส. น้องสาวจำเลยทางเครือข่ายไลน์ ทำให้เป็นที่เผยแพร่ไปในสังคม อันเป็นการกระทำด้วยตัวโจทก์เอง หาใช่จำเลยเป็นคนเผยแพร่ไม่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคนที่ย่อมต้องปกปิด แอบลักลอบกระทำกันในที่ลับ แม้ว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิในครอบครัวของโจทก์กับผู้เป็นภริยา แต่โจทก์ย่อมไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ เพราะจำเลยไม่ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามนัยแห่งบทบัญญัติมาตรา 1523 วรรคสอง

             คำพิพากษาศาลฎีกา 10851/2555 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว เมื่อโจทก์เพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เช่น การที่สามีโจทก์ไปค้ำประกันหนี้เช่าซื้อรถยนต์ให้จำเลย การรับฟังผู้อื่นเล่ามาว่ามีคนต้องการโทรศัพท์ไปหาสามีโจทก์ เมื่อโทรหาจำเลยก็ติดต่อกับสามีโจทก์ก็ได้ หรือมีผู้เล่าว่าสามีโจทก์ไปหาจำเลยที่บ้านเช่า แต่ไม่ปรากฏว่า มีพยานอื่นสนับสนุนยังไม่พอฟังว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผย ทั้งการที่จำเลยกับสามีโจทก์อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง แม้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย

            ฟ้อง เพื่อขอให้ศาลกำหนดให้ชู้จ่ายค่าทดแทนได้ แต่จะขอให้ศาลสั่งให้ระงับการเป็นชู้ นั้น ศาลไม่อาจบังคับได้  เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 4014/2530 การที่จำเลยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับสามีโจทก์จนถึงขั้นสามีโจทก์ให้โจทก์ยอมรับจำเลยเป็นภรรยาน้อย มิฉะนั้นจะทิ้งโจทก์และจำเลยตบ หน้าสามีโจทก์ในร้านอาหารเพราะความหึงหวงต่อหน้าโจทก์ ทั้งสามีโจทก์และจำเลยยังได้ร่วมกันกู้เงินจากธนาคารมาสร้างหอพักในที่ดินของจำเลย และมีผู้รู้เห็นว่าสามีโจทก์ได้มาหาและพักนอนอยู่ที่บ้านจำเลยหลายครั้ง เช่นนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตน โดย เปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว กับสามีโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามมาตรา1523 วรรคสอง แต่คำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว กับสามีโจทก์นั้นสภาพของคำขอดังกล่าวไม่เปิดช่องศาลไม่อาจบังคับได้


            แนวคำพิพากษาศาลฎีกา กรณี สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาว  เมื่อได้ความว่าเป็นชู้ สิทธิเรียกค่าทดแทนเกิดขึ้น ทำให้สภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้เกิดขี้นทันที เมื่อมีกระทำที่ทำให้เจ้าหนี้ของตนมิให้ชำระหนี้ฯ เข้าองค์ประกอบความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ เช่น     

            คำพิพากษาศาลฎีกา 8774/2550 ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันที่ที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
 
            คำพิพากษาศาลฎีกา 320/2530 การล่วงเกินในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1523 วรรคสองมีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย สิทธิเรียกค่าทดแทนนี้มิได้มีเงื่อนไขว่าสามีจะต้องฟ้องหย่าภริยาเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวได้และค่าทดแทนในกรณีนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งที่ชายชู้ต้องรับผิด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ด้วย
            โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นชู้กับ น.ผู้ตายซึ่งเป็นภริยาโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ข้อหนึ่งว่าหากน. เป็นภริยาโจทก์โจทก์ก็รู้เห็นเป็นใจให้ภริยามีชู้ ดังนี้ประเด็นที่ว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายนั้น ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย.

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3483/2528 การที่จำเลยพา บ.ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณี แม้ บ.จะยินยอมสมัครใจร่วมประเวณี กับจำเลยก็ถือว่าจำเลยกระทำล่วงเกิน ภริยาโจทก์ไปในทำนอง ชู้สาวจำเลย จึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ และการที่จำเลยพาภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณีดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความเสื่อมเสียทั้งด้านจิตใจเกียรติยศและชื่อเสียง ซึ่งไม่อาจคิดเป็นราคาเงินได้การกำหนดค่าทดแทนให้เพียงใดย่อมแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี

             คำพิพากษาศาลฎีกา 2936/2522 คำบรรยายฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งการกระทำของจำเลยเฉพาะการนอนกอดกับภริยาโจทก์ แต่ที่ว่าจำเลยยังลักลอบเล่นชู้กับภริยาโจทก์เรื่อยมา จนในที่สุดได้พาภริยาโจทก์ไปอยู่กับจำเลยนั้น ฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดพอที่จะถือเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงต้องถือว่าโจทก์มุ่งประสงค์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเล ยสำหรับการที่จำเลยไปนอนกอดกันกับภริยาโจทก์เป็นหลัก
            การนอนกอดกันกับภริยาของผู้อื่นเพราะรักใคร่กันในทางชู้สาว หรือกระทำถึงขั้นร่วมประเวณีกับภริยาของผู้อื่น ก็ล้วนแต่ต้องถือว่าได้ล่วงเกินภริยาของเขาไปในทำนองชู้สาวทั้งสิ้น โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง (ที่ได้ตรวจชำระใหม่)(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1113/2514 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)

            คำพิพากษาศาลฎีกา2791/2515 สามีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้โดยไม่ได้ฟ้องขอหย่าภรรยากรณีไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1505 วรรคแรก แต่สามีมีสิทธิตามวรรคสองของมาตราเดียวกันนี้ฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ การล่วงเกินในทำนองชู้สาวมีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย


            ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ ไม่ใช่ฟ้องคดีเรื่องละเมิด ตามมาตรา  420 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา1113/2514 กรณีที่ภริยามีชู้หรือมีผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว อันเป็นการกระทบกระเทือนไปถึงสิทธิของสามีนั้น มีมาตรา 1505 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะให้สามีมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาและชู้หรือผู้ที่ล่วงเกินนั้นได้สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาของตนในทางชู้สาวโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิของสามีตามมาตรา 420 ไม่ได้
            ฟ้องหาว่าจำเลยล่วงเกินภริยาของโจทก์ในทางชู้สาวโดยกอดจูบและร่วมประเวณีแต่ได้ความว่าต่อมาโจทก์กับภริยาได้สมัครใจจดทะเบียนหย่ากันเองเสียแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1505 วรรคแรกแม้กระนั้นก็ยังเป็นเรื่องการล่วงเกินไปในทำนองชู้สาวตามวรรคสองและถึงแม้ว่าภริยาจะได้สมัครใจหรือยินยอมให้ล่วงเกิน สามีก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินได้
            แม้จะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว สามีก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1505 วรรคสองได้
            โจทก์รู้หรือควรรู้ว่าจำเลยล่วงเกินภริยาของโจทก์ในทำนองชู้สาวจนพ้นกำหนด 3 เดือนแล้ว จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1509 (ข้อกฎหมาย 3 ข้อแรก วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2514)

             บทสรุป เป็นชู้ มีชู้  เป็นเรื่องเสื่อมเสีย ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ก็จะทำให้มีประเด็นข้อเท็จจริงเกิดขึ้นเป็นคดี ให้ศึกษาเป็นแนวทางในการดำเนินคดีกันต่อไป แต่ถ้ามีอาชีพรับราชการ จะมีความผิดวินัยด้วย ซึ่งจะร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานนั้นๆ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

            คำพิพากษาศาลฎีกา 6444/2558 มื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นเหตุให้ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

            คำพิพากษาศาลฎีกา 4398/2558 โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยที่ 1 ขอแบ่งสินสมรส ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ถึงวันฟ้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนบรรลุนิติภาวะ และให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ และผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ
            เมื่อผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ และผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 จึงอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในประเด็นฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ประเด็นสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ก่อนฟ้อง ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนบรรลุนิติภาวะ และประเด็นการแบ่งสินสมรส และอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ในประเด็นที่ถูกเรียกค่าทดแทน
            สำหรับประเด็นหย่า เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเนื่องจากความตายของโจทก์ ศาลไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าหรือไม่ เพราะไม่ได้ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนประเด็นเรียกค่าทดแทนที่เรียกจากจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย ศาลจึงมิได้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคสอง ระบุว่า การเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น ส่วนประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1526 ระบุว่า ค่าเลี้ยงชีพศาลจะกำหนดให้เมื่อมีการหย่าเท่านั้น เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายก่อนหย่า การสมรสจึงสิ้นสุดเพราะการตาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ศาลฎีกาเห็นควรไม่อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะทั้งสามประเด็นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42

***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/