วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ และยักยอกทรัพย์สินหาย (กฎหมายอาญา)

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


            ประเด็นความผิดอาญาลักทรัพย์ กับยักยอกทรัพย์ และยักยอกทรัพย์สินหาย ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ  ข้อเท็จจริงใดที่เป็นจุดตัดสินว่า เป็นการกระทำความผิดลักทรัพย์ หรือเป็นความผิดยักยอกทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์สินหาย  ซึ่งความผิดทั้งสองฐาน เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เช่นเดียวกัน แต่มีความต่างกันที่ ความผิดลักทรัพย์ เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ แต่ความผิดยักยอกทรัพย์ และยักยอกทรัยพ์สินหาย เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว ยอมความกันได้   

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19016/2555 จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยจะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ก็หาทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปไม่

          ตัวบทกฎหมายความผิดลักทรัพย์ คือ มาตรา 334 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า " ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท" ผู้กระทำผิดลักทรัพย์ จึงต้องมีเจตนาทุจริตขณะเอาไป โดยรู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ซึ่งคำว่า"ทุจริต" มีความหมายว่า แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น 

         "เอาไป" เป็นการเอาไปจากการครอบครอง ในลักษณะตัดกรรมสิทธ์จากความเป็นเจ้าของ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทรัพย์ที่เอาไป เช่น ลักรถไปขาย หรือเอาไปเป็นของตนเอง หรือเอาไปให้ผู้อื่น เป็นต้น แต่ถ้าเอาทรัพย์ไปจากความครอบครอง เพียงชั่วคราว โดยไม่มีเจตนาแสวงประโยชน์จากทรัพย์นั้น   เช่น เอารถจักรยานยนต์ไปเพื่อใช้หลบหนี แล้วทิ้งรถไว้ จะขาดองค์ประกอบในเรื่องเจตนาทุจริตในการเอาทรัพย์นั้นไป ไม่มีความผิดลักทรัพย์ แต่การเอารถไปเพื่อใช้หลบหนีแล้วทิ้งรถ มีผลทำให้รถเสียหาย ก็เป็นเรื่องละเมิดทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย มีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายได้   ุ

           การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป ถ้าผู้อื่นนั้นเป็นผู้ที่ลักทรัพย์เขามา ก็เป็นความผิดได้ เพราะผู้ที่ลักทรัพย์ไปมีสิทธิครอบคองดูแลทรัพย์ที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย เพราะถ้าทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายก็จะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งดังกล่าว  เช่น  

            คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 1785/2554 ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา กฎหมายให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย หากพนักงานอัยการไม่เรียกให้ ผู้เสียหายหากพนกังานก็มีสิทธิที่จะฟ้องทางแพ่ง จากผู้ที่ลักทรัพย์ไปได้ตาม ป. วิ.อ. มาตรา 43,44 และ45...... ดังนั้น ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบคองดูแลทรัพย์ที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย เพราะถ้าทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายก็จะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งดังกล่าว การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไป จากส.โดยทุจริต  แม้จะเป็นการเอารถไปจากการครอบครองของส.ที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์

advertisement


    
        การครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่น หรือผู้อื่นมอบให้ดูแลทรัพย์สินเพียงชั่วคราว ยังไม่เป็นการส่งมอบการครอบครอง ผู้นั้นจึงยังไม่ได้สิทธิครอบครอง เมื่อเอาทรัพย์สินที่ครอบครองแทนผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นให้ดูแลทรัพย์สินเพียงชั่วคราวไป ถือว่ากระทำความผิดลักทรัพย์ เช่น

            คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 4937-4938/2556  ผู้เสียหายมิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ได้จากลูกค้าแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับพนักงานขายบัตรโดยสารเครื่องบินที่ผู้เสียหายมอบหมายหน้าที่ให้รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินแทนลูกค้าด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ลูกค้าซื้อการให้บริการหรือชำระค่ารับจ้างในกิจการของผู้เสียหาย เงินค่าโดยสารเครื่องบินนั้น จึงเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องนำไปส่งมอบหรือชำระตามวิธีการให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 เอาเงินค่าโดยสารเครื่องบินดังกล่าวไว้เป็นของจำเลยที่ 2 เสียเอง จึงเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง มิใช่ความผิดฐานยักยอก

            คำพิพาษาศาลฎีกาที่12338/2555 จำเลยทำทีเป็นเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ โดยพวกของจำเลยถามจำเลยว่าในกระเป๋ามีทองเต็มใช่หรือไม่ จำเลยเปิดกระเป๋าสตางค์ออกดู ผู้เสียหายมองเห็นทองรูปพรรณในกระเป๋า 3 ถึง 4 เส้น จำเลยพูดว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท แต่อย่าบอกผู้ใด และบอกให้ผู้เสียหายถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ในห่อผ้าเช็ดหน้า แล้วผูกผ้าเช็ดหน้าให้ผู้เสียหายถือไว้และให้ยืนรอ โดยจำเลยจะนำเงินมาให้ ผู้เสียหายรออยู่ 1 ชั่วโมง จำเลยไม่กลับมา ผู้เสียหายแกะห่อผ้าเช็ดหน้าออกดู พบว่ามีเงินเหรียญบาท 32 เหรียญ ดังนี้จำเลยกับพวกมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก การที่จำเลยหลอกลวงว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท และให้ถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ ล้วนเป็นการใช้กลอุบายเพื่อให้ได้ไปซึ่งสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องของผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อ แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้มีเจตนาส่งมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องให้แก่จำเลย สาเหตุที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้ เชื่อว่าเกิดจากการสับเปลี่ยนห่อผ้าเช็ดหน้า ซึ่งเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและลักทรัพย์ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยให้เป็นไปตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และ 225

            แม้มีชื่อในสัญญาเช่าซื้อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่ทำในฐานะเป็นตัวแทน ถือว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครอง ถ้าเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต มีความผิดลักทรัพย์ เช่น 

            คำพิพาษาศาลฎีกาที่6117/2562 สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว 

            ที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่การขุดหน้าดินของผู้อื่นไปขาย ดินที่ขุดออกเป็นมีสถาพเป็นสังหาริมทรัพย์  จึงเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยทุจริตและเป็นการกระทำผิดบุกรุก เช่น 

            คำพิพาษาศาลฎีกาที่18654/2555  จำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น

advertisement


            กรณีที่เจ้าหนี้ไปติดตามทวงหนี้ แล้วเอาทรัพย์อื่นๆของลูกหนี้ไปโดยลูกหนี้ไม่ยินยอม ผู้เขียนเห็นว่าเข้าข่ายกระทำผิดลักทรัพย์เช่นเดียวกัน เพราะเจ้าหนี้มีสิทธิติดตามทวงหนี้โดยบังคับในทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาทรัพย์อื่นๆของลูกหนี้ไปโดยลูกหนี้ไม่ยินยอม การทวงหนี้ลักษณะนี้นอกจากเข้าข่ายกระทำความผิดลักทรัพย์แล้ว ยังเข้าข่ายกระทำผิดตามพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ด้วย เพราะเป็นการกระทำอื่นใดที่่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ของลูกหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

            กรณีผู้ให้เช่าซื้อ มายึดรถยนต์ที่เช่าซื้อไปโดยผู้เช่าซื้อไม่ยินยอม จะมีความผิดลักทรัพย์หรือไม่นั้น  ผู้เขียนเห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2841/2562 วินิจฉัยว่า ผู้เช่าซื้อมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อ แต่ก็มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ให้เช่าซื้อ แสดงให้เห็นว่า ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้มีกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ เพราะสัญญาเช่าซื้อ คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู่เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว การมายึดรถยนต์กลับไปโดยผู้เช่าซื้อไม่ยินยอม ถือว่าเจ้าของใช้สิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิที่ยึดถือทรัพย์นั้นไว้ ขาดองค์ประกอบความผิดลักทรัพย์ ในกรณีเช่นนั้น เท่ากับผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ โดยต้องไปดูเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อว่าการยึดรถคืน ถือเป็นการบอกเลิกตามข้อสัญญาที่ผู้ให้เช่าซื้อสามารถที่จะฟ้องให้ชำระค่าเสื่อมราคา ค่าเสียประโยชน์จากการที่ผู้เช่าซื้อนำไปใช้หรือไม่ แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ยอมคืน ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ก็ต้องรับผิดชอบค่าเช่าซื้อ พร้อมดอกเบี้ยที่ผิดนัด ค่าเสื่อมราคาของรถ และค่าเสียประโยชน์จากที่ผู้เช่าซื้อนำรถไปใช้ไม่ยอมคืน หรืออาจมีการเรียกค่าเสียหายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก  แต่การเช่าซื้อรถไป โดยมีเจตนาตั้งแต่เริ่มแรกว่าจะไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ถือว่ามีเจตนาทุจริต การนำรถไปขายหรือไปจำนำ เข่าข่ายกระทำความผิดอาญา จะเป็นผิดยักยอกทรัพย์หรือลักทรัพย์ อยู่ที่การวินิจฉัยของศาล  

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่2841/2562 เมื่อ ว. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากธนาคาร ธ. ผู้ให้เช่าซื้อ ว. ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อมีผู้ลักรถที่เช่าซื้อไป ว. ย่อมได้รับความเสียหาย ว. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ไม่ว่าหนังสือมอบอำนาจ จะระบุให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่พนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 18 กันยายน 2559 ก็ไม่มีผลลบล้างการที่ ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย

             ความผิดยักยอก ตัวบทกฎหมาย คือ มาตรา 352  แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า "ผู้ใดครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ความผิดยักยอกทรัพย์สินหาย ตัวบทกฎหมาย คือ มาตรา  352 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำผิดเก็บได้ " ยักยอกทรัพย์สินหาย จึงอยู่ที่การที่ทรัพย์ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำผิด ด้วยวิธีใด ถ้าตกมาอยู่ในความครอบครองโดยเจ้าของยินยอมให้ครอบครอง แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไป จะมีความผิดยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก แต่ทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองโดยผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด หรือผู้กระทำผิดเก็บทรัพย์สินหายได้ แล้วเบียดบังไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ย่อมเป็นความผิดยักยอกทรัพย์สินหาย ตามมาตรา 352 วรรคสอง  เช่น ธนาคารโอนเงินเข้าผิดบัญชี เจ้าของบัญชีรู้ข้อเท็จจริงว่าเงินไม่ใช่ของตน แต่ไม่แจ้งธนาคารและเบิกเงินไปใช้ โดยเจตนาเบียดบังไว้เพื่อประโยชน์ของตน ถือเป็นการยักยอกทรัพย์ที่เป็นเงินของธนาคารที่ส่งมอบเข้าบัญชีโดยสำคัญผิด เมื่อธนาคารทราบแล้วแจ้งให้ส่งคืน แต่เจ้าของบัญชีไม่คืน ถือว่ามีเจตนาทุจริต จะอ้างเป็นลาภมิควรมิได้ไม่ได้ หรือเป็นทรัพย์สินหายที่ผู้กระทำผิดเก็บได้ เช่น  เก็บแหวนทองได้  แล้วเอาไปเสีย ถือว่ามีเจตนาทุจริต เป็นการยักยอกทรัพย์สินหาย ซึ่งในเรื่องผู้ที่เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย นั้น ตามมาตรา 1323 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้ผู้เก็บได้ต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

            (1) ส่งมอบทรัพย์สินั้นแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น หรือ
            (2) แจ้งแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่น ผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นได้โดยมิชักช้า หรือ
            (3) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นภายในสามวันและแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบอันอาจเป็นเครื่องช่วยในการสืบหาตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น 

           แต่ถ้าไม่ทราบตัวผู้ของหาย เจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินหายก็ดี หรือบุคคลดังระบุนั้นไม่รับมอบทรัพย์สินก็ดี ให้ดำเนินการตามข้อ (3) คือ ส่งมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นภายใน 3 วัน โดยผู้เก็บได้มีสิทธิเรียกร้องเอารางวัล เป็นจำนวนร้อยละ 10 แห่งค่าทรัพย์สินภายในราคาสามหมื่นบาท แต่ถ้าราคาสูงกว่านั้นขึ้นไปให้คิดให้อีกร้อยละ 5 ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าผู้เก็บได้ปฏฺิบัติตามมาตรา 1323 แล้ว ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เก็บได้ ไม่มีเจ้าของมารับทรัพย์นั้น กรรมสิทธิ์จะตกแก่ผู้เก็บได้ตามกฎหมายมาตรา 1325 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 


advertisement



            ถ้าผู้เก็บทรัพย์สิน เอาทรัพย์นั้นไปเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแพ่งดังกล่าว จะมีความผิดทางอาญา จะเป็นความผิดลักทรัพย์ หรือผิดยักยอกทรัพย์สินหาย ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่า ผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ขณะเก็บได้ทราบตัวเจ้าของทรัพย์สินนั้นหรือไม่ ถ้าทราบว่าเจ้าของทรัพย์ยังติดตามทรัพย์สินหายนั้นอยู่ เช่น เดินหา เข้ามาถาม เป็นต้น ผู้เก็บได้เอาทรัพย์สินนั้นไป จะมีความผิดลักทรัพย์  แต่ถ้าผู้เก็บได้ไม่ทราบเจ้าของทรัพย์สินที่เก็บได้ ซึ่งหน้าที่ตามกฎหมายผู้เก็บได้ต้องเก็บทรัพย์นั้นไว้เพื่อส่งคืนโดยต้องปฏิบัติตามมาตรา 1323 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่ากับผู้เก็บได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น การเอาไปคือการเบียดบังทรัพย์สินหายซึ่งตนเก็บได้ไปโดยทุจริต จะมีความผิดยักยอกทรัพย์สินหาย 

             คำพิพากษาศาลฎีกา 1628/2509 เจ้าทรัพย์เอาเงินเหน็บไว้ชายผ้าแล้วเดินไปธุระจำเลยเดินมาตามถนนพบธนบัตรตกอยู่ก็เก็บเอาเสีย เจ้าทรัพย์พอรู้สึกว่าเงินที่เหน็บไว้หายไปก็รีบไปดูตามทาง เพราะไม่รู้ว่าตกที่ไหนไปสอบถามจำเลยว่าเห็นเงินตกตามทางบ้างไหม จำเลยปฏิเสธ ดังนี้ เห็นว่าตอนจำเลยเก็บเงินไปนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นของใคร และก็ไม่รู้ว่าเจ้าของกำลังติดตามอยู่ ฉะนั้น เมื่อจำเลยเก็บเงินตกกลางทางได้ และเอาเป็นประโยชน์ของตนเสียโดยเจตนาทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายซึ่งจำเลยเก็บได้ฟ้องว่าจำเลยลักเงิน ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเก็บเงินตกกลางทางได้ และเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัว โดยเจตนาทุจริต อันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายซึ่งจำเลยได้ ข้อเท็จจริงตามพิจารณาจึงแตกต่างกับฟ้องอันเป็นสาระสำคัญของคดี ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามฟ้องไม่ได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1363/2503  ทรัพย์สินหายเป็นเรื่องที่ทรัพย์หลุดพ้นไปจากความยึดถือของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยมิได้ตั้งใจ ไม่ใช่เรื่องสละการครอบครอง ผู้ใดเก็บเอาทรัพย์นั้นไปจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สินหาย ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นราย  ๆ ไป คือ ถ้าเก็บเอาไปโดยรู้หรือควรรู้ว่า
           ทรัพย์นั้นเจ้าของกำลังติดตาม  หรือจะติดตามเพื่อเอาคืน ก็เป็นลักทรัพย์ ถ้าไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ก็เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย
           รถทหารคว่ำทำให้ปืนทหารตกน้ำ 1 กระบอก ทหารงมหา 2 ครั้งไม่พบจึงไปแจ้งความที่อำเภอ ต่อมาตอนค่ำวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยไปงมเอาปืนนั้นไปขายเสีย แสดงว่าจำเลยรู้หรือควรรู้ว่ารถทหารคว่ำปืนจมน้ำอยู่ แล้วถือโอกาสตนปลอดผู้คนไปงมเอาปืนที่อยู่ในระหว่างเจ้าของกำลังติดตามเพื่อเอาคืน จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

            ที่ผู้เขียนนำเสนอก็น่าจะพอสมควรแก่ความเข้าใจ  และน่าจะเป็นแนวทางได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1513/2562 การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากส่งเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยกอดปล้ำพยายามดึงกางเกง ผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเรา จึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแต่อย่างใด หากแต่ผู้เสียหายคิดว่า เมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้ว จะปล่อยตัวผู้เสียหายไป การที่จำเลยรับสร้อยคอทองคำไป จึงเป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่งแยกต่างหากจากฐานชิงทรัพย์เงิน 240 บาท เมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา192 วรรคท้าย, 195 วรรคสอง, 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ 225

            คำพิพากษาศาลฎีกา 7868/2560 การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาของ ช. เจ้าบ่าว หยิบสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำทรัพย์ตามฟ้องที่วางอยู่บนโต๊ะของร้านทองไป ไม่ว่าทรัพย์ตามฟ้องจะถือเป็นสินสอดหรือของหมั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลยก็ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของ น. เจ้าสาว ยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว จำเลยจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ดังกล่าว หากจำเลยเห็นว่าฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน หามีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

advertisememt



         คำพิพากษาศาลฎีกา 3324/2560 ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83

          คำพิพากษาศาลฎีกา2437/2560โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

            คำพิพากษาศาลฎีกา 14822/2558 สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะฟังได้ว่า พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยความรู้เห็นของจำเลยก็ตาม แต่พวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรกจึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย คดียังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้

             คำพิพากษาศาลฎีกา 115/2544  ฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก แต่การกระทำผิดฐานลักทรัพย์และยักยอกต่างเป็นการได้ทรัพย์ไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งข้อแตกต่างดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติบังคับไว้ว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ และมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณา ได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลย ให้การปฏิเสธและนำสืบว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม แต่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้

***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น