วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566

หมิ่นประมาททางอาญา



         หมิ่นประมาท  ในคดีอาญา  ตัวบท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่องเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง  ผู้นั้นกระทำผิดหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   

         ความผิดหมิ่นประมาท เป็นคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว 

         การใส่ความ คือ การพูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง (คำพิพากษาศาลฎีกา3070/2656)


         ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานหมิ่นประมาท (คำพิพากษาศาลฎีกา 375/2562).

          จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง (คำพิพากษาศาลฎีกา 7301/2559)

          การที่จำเลยใช้คำ "อีเฒ่าหัวหงอก" และ "มึง" เป็นสรรพนามในการเรียกโจทก์ผู้เป็นมารดา ซึ่งไม่ปรากฏว่าโดยปกติบุคคลทั่วไปรวมถึงจำเลยใช้สรรพนามดังกล่าวแทนมารดา คำดังกล่าวไม่ได้มีความหมายว่ามารดา แต่มีความหมายเปรียบเปรยไปในทางไม่ให้ความเคารพและทำให้โจทก์ได้รับความอับอายอันเป็นการแสดงออกถึงการดูถูกเหยียดหยามโจทก์ สำหรับเนื้อหาแม้จะถือว่าเป็นการกระทบกระเทียบ แต่ก็ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเป็นไปในทางดูถูกเหยียดหยามโจทก์เช่นกัน การที่จำเลยด่าโจทก์ผู้เป็นมารดาด้วยถ้อยคำดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามและหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง เป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ถอนคืนการให้ได้(คำพิพากษาศาลฎีกา8752/2558)

         "ผู้อื่น" จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ

มเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใครหรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ(คำพิพากษาศาลฎีกา 5276/2562)

         "เจตนา"  รู้สำนึกในการกระทำว่าเป็นการใส่ความ โดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล หรือผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหมิ่นประมาท

         " น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลี่ยดชัง"  เป็นการใส่ความให้ร้ายผู้ร้อง ทั้งตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาไม่เชื่อว่าผู้ร้องจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะทำให้ผู้ร้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

คำพิพากษาศาลฎีกา3070/2656

        ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 จะต้องเป็นการใส่ความคือ การพูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “ไอ้สันดานหมา” คำว่า “สันดาน” หมายความถึงอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจมีสันดานดีหรือสันดานเลวก็ได้ แม้มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความให้ร้ายผู้ร้อง ทั้งตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาไม่เชื่อว่าผู้ร้องจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะทำให้ผู้ร้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่จำเลยกล่าวถ้อยคำนั้น น่าจะเป็นเพราะจำเลยไม่พอใจผู้ร้องที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ ส. ซึ่งเป็นหลานของจำเลยมาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้นพนักงานสอบสวนเรียกคู่กรณีและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นญาติไปไกล่เกลี่ย ผู้ร้องก็ยังคงยืนกรานให้ดำเนินคดี ส. ต่อไป โดยไม่เห็นแก่ความเป็นญาติ ย่อมทำให้จำเลยไม่พอใจผู้ร้องเพิ่มขึ้นไปอีก จึงเป็นการด่าผู้ร้องอันเนื่องมาจากความรู้สึกไม่พอใจผู้ร้อง ไม่ได้มีความมุ่งหมายถึงความประพฤติของผู้ร้องว่าเป็นคนมีอุปนิสัยที่ไม่ดีมาแต่กำเนิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิด ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกา 5276/2562

        การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาข้อความตามภาพถ่ายแล้ว แม้ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นอดีตทหารและเช่าที่ดินจาก บ. ซึ่งอยู่ติดสะพานข้ามแม่น้ำแคว เพื่อประกอบกิจการร้านอาหารชื่อ "พ." ซึ่งมีเพียงร้านเดียวในจังหวัดกาญจนบุรีและยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บ. ด้วย เมื่อได้อ่านข้อความตามภาพถ่ายดังกล่าวแล้วก็เข้าใจทันทีว่าบุคคลที่จำเลยกล่าวถึงนั้นหมายถึงโจทก์ และอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง คดีโจทก์จึงมีมูลเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326

           ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 นั้น ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์ กลุ่มโพสท์นิวส์ออนไลน์ มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าวเท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328

คำพิพากาษาศาลฎีกา 2778/2561

        พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า " (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน " โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า " (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา " กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากาษาศาลฎีกา1861/2561

        ป.อ. มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุ และพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วยแม้ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริต และต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท


คำพิพากาษาศาลฎีกา8827/2559

        ถ้อยคำปราศรัยของ ด. เป็นที่เข้าใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นการกล่าวปราศรัยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การที่จำเลยกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมว่า ด. หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มิได้เป็นการกล่าวขยายความให้มีความหมายนอกเหนือไปจากคำปราศรัยของ ด. การที่จำเลยกล่าวคำปราศรัยตามฟ้องนั้นก็เพื่อเรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแก่ ด. อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้บุคคลใดก้าวล่วงหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 70 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 112

คำพิพากษาศาลฏีกา 8803/2559
        จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า "กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที" และ "กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย..." และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า "เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา" เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6)

คำพิพากษาศาลฎีกา 6593/2559

        ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกา 10839/2557
 
        การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกา 3252/2543

       จำเลยแจ้งความต่อร้อยตำรวจโท อ. เพื่อเป็นหลักฐานหากจะมีข้อความบางส่วนเป็นเท็จหรือผิดความจริงไปบ้างก็ยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ร้อยตำรวจโท อ. ต้องทำการสอบสวนเนื่องจากไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ การแจ้งความของจำเลยจึงย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีเพื่อเอาผิดต่อจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานได้
       คำว่า "ใส่ความ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึงพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะกล่าวหาเรื่องร้ายประจานโจทก์ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ เมื่อจำเลยแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งข้อความอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนแม้เรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริง จำเลยก็ไม่อาจยกเอาเหตุกระทำเพื่อป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกา 79/2537

         โจทก์ร่วมถูกร้องเรียนว่ายักยอกเอาเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยซึ่งรักษาราชการแทนโจทก์ร่วมได้แจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ร่วม และได้พูดกับผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารว่า "ยักยอก ตามตัวไม่พบ" คำพูดดังกล่าวของจำเลยทำให้สมุห์บัญชีธนาคารเข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการและหนีไปจึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมแม้จำเลยกล่าวออกไปโดยถูกถามแต่จำเลยย่อมสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำว่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อีกทั้งปรากฏว่าสาเหตุที่มีการระงับการจ่ายเงินเดือนเพราะโจทก์ร่วมไม่ยอมลงชื่อในหลักฐานการจ่ายเงินเดือน หาใช่เพราะโจทก์ร่วมยักยอกและตามตัวไม่พบไม่ และจำเลยกับโจทก์ร่วมก็มีเหตุขัดแย้งไม่พอใจในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการกันอยู่ การกล่าวข้อความของจำเลยจึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต แต่มีเจตนาใส่ความโจทก์ จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยกระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 ซึ่งมิได้เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกา 2272/2527

         การปิดประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทนั้น เป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะมีการปลดป้ายประกาศออกไป ซึ่งถือได้ว่าการกระทำอันเป็นมูลแห่งความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ยุติลง อายุความย่อมจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการปลดป้ายประกาศออก ดังนั้นแม้จำเลยติดป้ายประกาศหมิ่นประมาทโจทก์ก่อนวันที่โจทก์ไปร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเกิน 3 เดือนแต่เมื่อโจทก์ร้องทุกข์และฟ้องคดีไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันปลดป้ายประกาศโฆษณาหมิ่นประมาทออกคดีจึงไม่ขาดอายุความ
          จำเลยปิดประกาศภาพถ่ายโจทก์โดยมีข้อความภาษาอังกฤษกำกับแปลเป็นภาษาไทยว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลย 15,910 บาท ยังเรียกเก็บไม่ได้หรือยังไม่ได้ชำระ โดยจำเลยปิดประกาศดังกล่าวในสถานบริการของจำเลยซึ่งมีลูกค้าเข้าไปรับบริการ เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้าย เป็นการใส่ความโจทก์อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนแม้ว่าเรื่องที่กล่าวหาจะเป็นความจริงก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

------------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น เดือน  มิถุนายน 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2