วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564

เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร ทำเอกสารเท็จ (กฏหมายอาญา)

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 


(คลิกป้ายโฆษณาในบล๊อก ส่งกำลังใจผู้จัดทำ)

       เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร

        เป็นความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ที่เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ต้องทราบและพึ่งระมัดระวังการกระทำ แต่ถึงอย่างไรก็ตามความผิดอาญา เป็นความผิดที่พิจารณาถึงเจตนาของผู้กระทำ ถ้าขณะกระทำ ผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของตน 

        มาตรา 161 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสาร โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน         "

        "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่  (มาตรา 1(16)) จากคำนิยามจึงมีความชัดเจน ไม่ต้องตีความ ดังนั้น ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการ คณะกรรมการต่างๆ ถือเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายนี้   

       มีหน้าที่ตามมาตรา 161 หมายถึง มีหน้าที่ตามกฎหมาย หรือที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติชัดเจน ว่าให้ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสาร แล้วกระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น  การปลอมเอกสาร มีลักษณะตามมาตรา 264 แห่งประมวลกฏหมายอาญา ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรืแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไ่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ" แนวคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับความผิดดังกล่าว มีดังนี้  


       ทำบันทึกรายงานการประชุม โดยไม่มีการประชุมกันจริง 

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2548 การที่จำเลยนำสมุดบันทึกการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ไปให้ จ. และ ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการประชุม ทั้งที่ไม่ได้มีการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า ร. เป็นผู้จดรายงานการประชุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ร. ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่มีชื่อเข้าร่วมประชุมและประชาชนทั่วไปในตำบล ทั้งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้นเป็นบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 มื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล  มีหน้าที่ขออนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2538 จากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  เพื่อนำเสนอนายอำเภออนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตาม ป.อ. มาตรา 161 และการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวในสำเนาข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ว่ามีการประชุมจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  และประชาชนในตำบล โดยการนำงบประมาณมาจัดประมูลให้ผู้รับเหมาทำงานตามที่ตนเองต้องการ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157

        จำเลยปลอมบันทึกการประชุม 2 ฉบับ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็เพื่อให้นายอำเภอ อนุมัติข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ขององค์การบริหารส่วนตำบล  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

        ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสาร ไม่ผิดเจ้าพนักงานปลอมเอกสาร

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5258/2558 การที่จำเลยกระทำการปลอมเอกสารใบรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษของที่ทำการไปรษณีย์  ด้วยการกรอกข้อความให้ปรากฏว่าเป็นการรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษว่าได้ส่งไปตามหน่วยราชการต่าง ๆ แล้วอันเป็นเท็จ นั้น ตามใบรับฝากไปรษณีย์ในประเทศ รวม 7 ฉบับ ด้านบนมีข้อความระบุว่า ผู้ฝากส่งเป็นผู้กรอกข้อความ เมื่อผู้ฝากส่งกรอกข้อความแล้วได้นำส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เพื่อนำซองเอกสารนั้นชั่งน้ำหนักและดำเนินการต่อโดยกรอกข้อความในส่วนด้านล่างที่มีข้อความระบุว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้กรอกข้อความซึ่งหมายถึงเจ้าพนักงานไปรษณีย์ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารของที่ทำการไปรษณีย์  ดังนั้น การที่จำเลยกระทำการปลอมเอกสารดังกล่าว โดยจำเลยมีหน้าที่ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล เพียงเป็นผู้ปลดและผู้นำส่งประกาศประกวดราคาจ้างเหมาของผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดทำเอกสารใบรับฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษดังกล่าว การที่จำเลยปลอมเอกสารดังกล่าว จึงไม่ถือว่ากระทำโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 161 
         
        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 332/2537 จำเลยเป็นพนักงานพิสูจน์ มีหน้าที่ในการพิสูจน์การครอบครองที่ดินแล้วกรอกข้อความในแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารดังกล่าวจึงอยู่ในความดูแลครอบครองของจำเลยก่อนส่งไปยังศูนย์หรือผู้ควบคุมสาย เมื่อเอกสารนี้ถูกปลอมลายมือชื่อของ จ.ผู้มีหน้าที่ปกครองท้องที่และระวังแนวเขต โดยจำเลยมีโอกาสกระทำเองหรือร่วมกับจำเลยอื่นกระทำขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น


        เมื่อเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 161 แล้ว ย่อมมีความผิดตามมาตรา 157 ด้วย (กรรมเดียวผิดหลายบท ลงโทษบทหนัก) เนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 161 เป็นความผิดคนละอย่างที่มีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157มิใช่เป็นความผิดตามบททั่วไปของบทเฉพาะตามมาตรา 161 

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5133/2541ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 รับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครอง 1 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานทะเบียนราษฎร มีหน้าที่รับแจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งย้ายที่อยู่ เพิ่มชื่อและจำหน่ายชื่อจากทะเบียนราษฎรแต่ในทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 ช่วยทำคำขอมีบัตรมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน (บ.ป.1) และใบรับคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน(บ.ป.2) ด้วย
         ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้ขอเป็นเอกสารปลอมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำปลอมคำขอมีบัตรฯและใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวข้าราชการทั้ง 14 รายการจริง เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ต้องทำขึ้นตามหน้าที่ราชการถือได้เป็นเอกสารราชการ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตโดยอาศัยที่ตนมีหน้าที่จริงตามฟ้อง  มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161แล้วการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกหรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 161 เป็นความผิดคนละอย่างที่มีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มิใช่เป็นความผิดตามบททั่วไปของบทเฉพาะตามมาตรา 161 ตามฎีกาของจำเลยที่ 1
        มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2กระทำผิดฐานสนับสนุนการปลอมเอกสารราชการรวม 9 รายและฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตอีก2 ราย ตามฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มาติดต่อพาคนไปให้จำเลยที่ 1ทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมโดยให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการปลอมเอกสารราชการและฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามฟ้อง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2536เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำการจับกุมโจทก์มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความในบันทึกการจับกุม ได้ทำและกรอกข้อความลงในบันทึกการจับกุมนั้น โดยลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบันทึกพร้อมทั้งให้โจทก์ในฐานะผู้ต้องหาลงลายมือชื่อจนเป็นเอกสารที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ารที่จำเลยที่ 1 ไปเขียนเติมข้อความอีกว่าสอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งไม่เป็นความจริงจึงเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจับกุมผู้กระทำความผิดได้จับกุมโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสาร แต่กรอกข้อความเพิ่มเติมลงในบันทึกจับกุมว่า สอบถามโจทก์แล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทั้งที่ทราบว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะบันทึกการจับกุมดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ศาลอาจฟังลงโทษโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157


        แก้ไขสำเนาใบเสร็จรับเงิน ทำให้ไม่ตรงกับต้นฉบับ เป็นการทำสำเนาเอกสารเท็จ ซึ่งทำในอำนาจหน้าที่ และลงลายมือชื่อตัวเอง ไม่ผิดเจ้าพนักงานปลอมเอกสาร แต่เป็นการทำสำเนาเอกสารเท็จ เช่น   

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่45/2535 ส่วนความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมเอกสารราชการได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้เขียนข้อความในใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.2 ว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2529 ได้รับเงินจาก ส เป็นค่าส่งคืนเงินเดือนและเงินพ.ช.ค. ประจำเดือนมิถุนายน 2529 จำนวน 1,595 บาท และลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน ต่อมาจำเลยได้นำสำเนาใบเสร็จรับเงินฉบับดังกล่าวมาลบและแก้ไขข้อความเป็นว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2529ได้รับเงินจาก อ   เป็นค่าส่งคืนเงินค่าวัสดุวิทยาศาสตร์ จำนวน 375 บาท แล้วลงชื่อจำเลยกำกับการแก้ไขปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยออกใบเสร็จรับเงินให้ ส แล้วต่อมาได้แก้ไขสำเนาเป็นออกให้ อ เป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ของจำเลย และลงลายมือชื่อตนเองเป็นผู้ทำและผู้แก้ไขเอกสารนั้น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยทำขึ้น แม้ข้อความในต้นฉบับและสำเนาจะไม่ตรงกันก็เป็นแต่เพียงจำเลยทำสำเนาเอกสารเท็จ ไม่ทำให้เอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161, 265 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 265 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน"

         เจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ เป็นความผิดเจ้าพนักงานเกี่ยวข้องกับเอกสาร อีกมาตราหนึ่ง ตามมาตรา 162 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติหน้าที่
        (1) รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใด ได้กระทำต่อหน้าที่ตนอันเป็นเท็จ 
        (2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง 
        (3) ละเว้นไม่จดข้อความ ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือ
        (4) รับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ
        ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท "  

        องค์ประกอบความผิดของมาตรานี้ ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร มีลักษณะการกระทำเอกสารเท็จ 4แบบ ซึ่งมีแนวคำพิพากษาของศาลฏีกา เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา 162 อนุมาตรา  (1) รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใด ได้กระทำต่อหน้าที่ตนอันเป็นเท็จ  และ (4) รับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ เช่น 

        ไม่มีการประชุมจริง แต่ลงลายมือชื่อรับรองรายงานการประชุม และรับรองว่าเป็นผู้บันทึกประชุม เป็นการกระทำผิด ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4)

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6538/2562 การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองรายงานการประชุม และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้บันทึกการประชุมในเอกสารฉบับเดียวกัน ย่อมเป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการและจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี (รอบปีงบประมาณ 2558 - 2560) เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ได้กระทำต่อหน้าตนนั้น เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีการประชุมกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่า การอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และ (4)


        การกระทำผิดเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จจริง ไม่ต้องอาศัยมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายหรือต้องโดยทุจริต และไม่จำต้องพิจารณาถึงผลการกระทำว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นหรือไม่ เช่น

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่802/2562 การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 นั้น ผู้กระทำหาต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือต้องกระทำโดยทุจริตไม่ และไม่จำต้องพิจารณาถึงผลการกระทำว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นหรือไม่ หากผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองว่ามีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตน หรือรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงว่ามีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น แต่เป็นความเท็จ คดีเมื่อได้ความจากคำเบิกความของ พ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุซึ่งมีโต๊ะทำงานอยู่ติดกับจำเลยที่ 2 ว่า ในวันยื่นซองสอบราคานั้นมี ร. คนเดียวนำซองมายื่น 3 ซอง ซึ่งเป็นซองของบริษัท ป. จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. และห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. โดยในเอกสารกลับมีลายมือชื่อของ ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้ยื่นเอกสาร โดยในช่องด้านบนของเอกสารจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองโดยมีข้อความเป็นสาระสำคัญในตอนท้ายว่า ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของทั้งสองห้างเป็นผู้มายื่นซองด้วยตัวเอง อันเป็นความเท็จ เมื่อจำเลยที่ 2 รับรองเป็นหลักฐานว่า ม. และ อ. นำซองมายื่นต่อหน้าตน และใบรับซองสอบราคาเป็นเอกสารที่มุ่งพิสูจน์ความจริงว่า เจ้าของซองนำซองมายื่นจริงซึ่งเป็นความเท็จ เพราะบุคคลทั้งสองไม่ได้นำซองมายื่นด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4)

        เจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ  มีความผิดตามมาตรา 162 แล้ว ยังมีความผิดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชน ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย เช่น

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5581/2530จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกำนันและนายทะเบียนตำบลรู้ว่าห. ซึ่งเป็นลูกบ้านของตนอยู่บ้านเลขที่ 249 มิใช่บ้านเลขที่ 363 เมื่อจำเลยที่ 1 มาแจ้งขอย้ายชื่อ ห. จากทะเบียนบ้านเลขที่ 159 ไปอยู่บ้านเลขที่ 363 จำเลยที่ 3ย่อมรู้ได้ทันทีว่าข้อความในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17เป็นเท็จ จำเลยที่ 3 ลงชื่อในฐานะนายทะเบียนตำบลในเอกสารดังกล่าว จึงเป็นการลงชื่อรับรองเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 แจ้งย้ายที่อยู่ของ ห. ซึ่งจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และยังรับแจ้งในฐานะนายทะเบียนตำบล เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(1),157 ในฟ้องเดียวกันโจทก์อาจบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามกรอกข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 และบรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความในเอกสารร่วมกันปลอมลายมือชื่อ ห. โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

    คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 8010/2556การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายให้รังวัดชันสูตรตรวจสอบที่ดินในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นที่สาธารณประโยชน์ และเป็นที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ เพื่อให้ ส. ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ทำให้เกิดความสียหายแก่รัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเสนอต่อนายอำเภอรับรองว่าออกทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินตลอดจนตรวจสอบแล้วว่าสามารถออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ได้ อันเป็นความเท็จ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ
        จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในบันทึกสอบสวนสิทธิและใบรับรองเขตติดต่อที่ดินยืนยันว่ามีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ทั้งไม่ใช่ที่สาธารณะหรือที่หวงห้ามของทางราชการอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ การที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่ระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณะแต่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและยังรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ มีจุดประสงค์อย่างเดียวเพื่อให้นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 

        
        ทำบันทึกรายงานการประชุม โดยไม่มีการประชุมจริง เป็นการปลอมเอกสารราชการ ตามมาตรา 161ยังมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตาม มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  และประชาชนในตำบล มีความผิดตามมาตรา 157 ด้วย เช่น  

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2548 การที่จำเลยนำสมุดบันทึกการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ไปให้ จ. และ ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการประชุม ทั้งที่ไม่ได้มีการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า ร. เป็นผู้จดรายงานการประชุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ร. ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่มีชื่อเข้าร่วมประชุมและประชาชนทั่วไปในตำบล ทั้งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้นเป็นบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล  มีหน้าที่ขออนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2538 จากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  เพื่อนำเสนอนายอำเภออนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตาม ป.อ. มาตรา 161 และการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวในสำเนาข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ว่ามีการประชุมจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  และประชาชนในตำบล โดยการนำงบประมาณมาจัดประมูลให้ผู้รับเหมาทำงานตามที่ตนเองต้องการ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157

        เป็นกรรมการร่วมกันลงนามในรายงานการประชุม ที่ไม่มีการประชุมกันจริง เป็นการกระทำผิดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใด ได้กระทำต่อหน้าที่ตนอันเป็นเท็จ  และรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ มีความผิดตามมาตรา 162(1)(4)  มีเจ้าพนักงานหลายคนร่วมกระทำผิด ถือเป็นตัวการร่วมกันทำผิด เช่น  

    
    คำพิพากษาศาลฏีกาที่10742/2559 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินร่วมกันลงนามในรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินว่ามีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินซึ่งความจริง ไม่ได้มีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรี มีหน้าที่รับเอกสารลงนามรับรองรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เสนอให้พิจารณาอนุมัติจัดซื้อซึ่งตนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ลงนามรับรองว่าได้กระทำการดังกล่าวเป็นการร่วมกันรับรองเอกสารเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83


            ถ้ามีเอกชนหรือบุคคลใด กระทำความผิดร่วมกับเจ้าพนักงานในมาตรา 162 การกระทำของเอกชนหรือบุคคลใด มีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำผิด มาตรา 162 ประกอบมาตรา 86 เช่น

            คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 6812/2561 ร. ปลัดอำเภอรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชนและการทะเบียนอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ส่วนร้อยตรี ช. รับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอ เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ร. และร้อยตรี ช. อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าว ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ ย. โดยมีจำเลยทั้งสามให้ความสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความสะดวกแก่ ร. และร้อยตรี ช. ในการกระทำความผิด และในวันเดียวกัน ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชน ให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมุ่งประสงค์ให้เพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ ย. ในที่สุดนั่นเอง กระบวนการในการกระทำความผิดดังกล่าวสำเร็จลงด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
        ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (4) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 6, 14 วรรคหนึ่ง (1) (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 2 กับที่ 3 คนละ 10,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 กับที่ 3 คนละ 5,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
        ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระบวนการในการกระทำความผิดดังกล่าวสำเร็จลงด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

 
******************   
ขอขอบคุณ 
           ๑.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น