วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

     ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค 

        เป็นหัวข้อที่จะนำเสนอในบทความนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยมีแนวคำพิพากษาของศาลฏีกาให้ศึกษาทำความเข้าใจกันมากที่เดียว  เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จะมีสิทธิดำเนินคดีได้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ทางแพ่ง เป็นความเสียหายทางทรัพย์สินที่ไม่ได้เงินตามเช็ค ในทางอาญา ผู้สั่งจ่ายจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ที่มีอัตราโทษทางอาญา คือมีโทษปรับและจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นความผิดอาญาที่ยอมความกันได้ แต่ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา(คำพิพากษาศาลฎีกาที่4688/2560ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา)

        เช็ค ในทางแพ่งนั้นตามมาตรา 898 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณชย์ ถือเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่ง  ซึ่งในหมวดของเช็คตามมาตรา 987 เช็ค คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน หรือที่กฎหมายเรียกว่า "ผู้ทรง"ตามมาตรา 904 ที่ให้ความหมายว่า "บุคคลซึ่งมีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง โดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน"
        
         "ผู้ทรง" ในทางแพ่ง คือ ผู้รับเงิน หรือผู้รับสลักหลังตั๋วเงิน  โดยถ้าเป็นผู้ทรงเช็ค คือผู้ครอบครองเช็คในฐานเป็นผู้รับเงิน หรือผู้รับสลักหลังเช็คนั้นมาไม่ขาดสาย  หรือผู้ครอบครองเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ

         จะเป็นเช็คได้ ต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 988 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค  คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน  ชื่อหรือยี่ห้อและสำนักงานของธนาคาร ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ สถานที่ใช้เงิน วันและสถานที่ออกเช็ค และลายมือผู้สั่งจ่าย 

        ผู้ทรงเช็ค ต้องยื่นเช็คแก่ธนาคาร เพื่อให้ใช้เงิน ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินภายในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน มิฉะนั้น ผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น (มาตรา990 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ )

        ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นการเอาผิดกับผู้สั่งจ่ายในทางอาญา โดยมีผู้ทรงเช็ค เป็นผู้เสียหาย เมื่อนำเช็คไปยื่นแก่ธนาคารแล้ว ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค ถ้าผู้สั่งจ่ายเช็คมีการกระทำและเจตนาเข้าองค์ประกอบความผิดตามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534  มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
        (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
        (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
        (3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
        (4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
        (5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
        เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ"


        ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดที่ยอมความได้ ถ้าจะดำเนินคดีอาญาต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นจะขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ" หรือถ้าจะจ้างทนายความฟ้องคดีเอง แล้วจะไม่ร้องทุกข์ต้องฟ้องคดีภายในกำหนด3เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด  แต่ถ้ามีการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนแล้ว จะมีเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องได้ภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95(4) จึงสมควรที่จะร้องทุกข์ไว้ก่อน จากหลักกฎหมายที่นำเสนอ มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องดังนี้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2546 ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คคือวันที่ 8 มีนาคม 2543 เมื่อเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งมีกำหนดให้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 และ 96 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 5 กันยายน 2543 โดยมิได้ร้องทุกข์ไว้ จึงขาดอายุความ

        ต้องเป็นการออกเช็ค เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เช่น  

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2560จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคาร ท. เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคาร ท. จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2)

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่14948/2558 การชำระหนี้ค่าสินค้าด้วยเช็ค เช็คนั้นอาจออกสั่งจ่ายโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ซื้อสินค้าก็ได้เพียงแต่หนี้ค่าสินค้านั้นมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายก็เข้าองค์ประกอบความผิดฐานออกเช็คตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ แล้ว
        จำเลยสั่งจ่ายเช็คอันเป็นการออกเช็คทั้งสี่ฉบับ เพื่อชำระค่าสินค้านมผงเด็กให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อวันที่ลงในเช็คซึ่งเป็นวันถึงกำหนดใช้เงินแต่ละฉบับ ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยในธนาคารตามเช็คที่จะพอจ่ายเงินตามเช็คแก่ผู้เสียหายได้ จำเลยจึงมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันพึงจะให้ใช้เงินได้ในขณะออกเช็คนั้น

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่1677/2557เมื่อบันทึกการรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ แม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อยู่จริง แต่เมื่อการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

        คำพิากษาศาลฏีกา10194/2555ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานไม่ได้ ซึ่งห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือ โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาแสดง ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
        จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดิน โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาท

        คำพิากษาศาลฏีกา 4207/2554ข้อความด้านหลังเช็คที่ระบุว่า "เช็คฉบับนี้ให้ไว้เพื่อประกันหนี้" ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยเขียนข้อความขึ้นเองฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงด้วย ทั้งเป็นข้อความที่ไม่มีบทบัญญัติใดใน ป.พ.พ. ลักษณะตั๋วเงินบัญญัติให้เขียนลงได้ในตั๋วเงิน การเขียนข้อความเช่นนี้ย่อมไม่มีผลใดๆ แก่ตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 899 การที่พนักงานของโจทก์ไม่นำมาเป็นเหตุโต้แย้งย่อมไม่เป็นพิรุธ เพราะข้อความดังกล่าวไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของเช็คพิพาทแต่ประการใด โจทก์ไม่จำต้องทำตามข้อห้ามที่ด้านหลังเช็คพิพาท ประกอบกับไม่ปรากฏรายละเอียดว่าจำเลยทั้งสองจะใช้หนี้โจทก์ด้วยวิธีใดอีก และจะใช้หนี้ให้เสร็จเมื่อใด ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทโดยวัตถุประสงค์เพื่อประกันหนี้ฟังไม่ขึ้น

        
        ถ้าไม่มีมูลหนี้อยู่จริงหรือบังคับได้ตามกฎหมาย ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด เช่น

        คำพิากษาศาลฏีกา12203/2555การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สัญญาซื้อขายรถยนต์สมบูรณ์ การที่โจทก์ร่วมตกลงกับจำเลยนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ว่าจะยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่จำเลยจนกว่าเช็คทั้งสี่ฉบับจะเรียกเก็บเงินได้นั้น แสดงว่าโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงให้ถือการที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับหรือไม่ เป็นเงื่อนไขของการที่จะมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ ตราบใดที่ธนาคารยังไม่จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ สัญญาซื้อขายรถยนต์ย่อมไม่มีผลสมบูรณ์ โจทก์ร่วมมีสิทธิติดตามเอารถยนต์กลับคืนมาได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนว่ามีข้อตกลงนอกเหนือจากสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว ย่อมฟังได้ว่าขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับยังไม่มีมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534

       คำพิากษาศาลฏีกา9993-9995/2555เมื่อจำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งหมดส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วมถือว่าสัญญาเช่าซื้อทุกฉบับเลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าว จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือนับแต่วันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันอีกต่อไป และโจทก์ร่วมไม่มีสิทธินำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายล่วงหน้าเพื่อชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือไปเรียกเก็บเงิน แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่141/2560โจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ แต่กลับรับสมอ้างเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของ ป. และนำเช็คพิพาทจาก ก. ภริยาโจทก์ มาฟ้องจำเลยทั้งสอง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริต ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่20/2544เช็คพิพาทระบุวันสั่งจ่ายล่วงหน้าถึงสองปีเศษ จำนวนเงินในเช็คตรงกับจำนวนหนี้พร้อมดอกเบี้ยของการผ่อนชำระหนี้ค่าสินค้ารวม 27 งวดผู้รับมอบอำนาจโจทก์ตอบคำถามค้านว่า หากจำเลยชำระหนี้ครบถ้วนโจทก์จะคืนเช็คพิพาทให้จำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวมาเชื่อว่า จำเลยไม่ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าสินค้าตามฟ้อง แต่เป็นการออกเช็คเพื่อประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าดังกล่าวกรณีไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

        ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ แต่รวมดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดอยู่ด้วย เช่น

        คำพิพากาษาศาลฏีกาที่2046/2545เช็คพิพาทที่จำเลยออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมมีมูลหนี้ที่มีอยู่จริงเพียง 200,000 บาท ส่วนอีก 100,000 บาท เป็นหนี้ที่โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อเดือน อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย ทั้งคำฟ้องโจทก์ก็มิได้บรรยายว่าจำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเท่าใด จำนวนเงินกู้ดังกล่าวจึงไม่อาจแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากกันได้ เมื่อจำนวนดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะฟ้องบังคับมิได้ ดังนั้น การที่จำเลยออกเช็คพิพาทระบุจำนวนเงิน 300,000 บาท เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่เพียง 200,000 บาท จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

         ผู้ออกเช็ค มีเจตนา (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หรือ (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือ(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น หรือ(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้ หรือ (5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เช่น  

        คำพิากษาศาลฏีกา5388/2556 จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารและจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)

        คำพิากษาศาลฏีกา 4335/2554การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมนั้น เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนการที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากโดยอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสด โดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมไประหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2543 และภายหลังออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน และในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ในคดีนี้ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นกรรมเดียวกันก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน โดยวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีนี้ หาได้วินิจฉัยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 707/2545 ของศาลแขวงปทุมวัน ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้จึงหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่7453/2562 แม้ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าเช็คพิพาททั้งสามฉบับมิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 แต่เป็นของบริษัท ซ. อันแตกต่างจากฟ้อง แต่ก็ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าบริษัท ซ. เป็นบริษัทภายในเครือเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้งสองบริษัทและจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ซ. ดังนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะออกเช็คในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัท ซ. จำเลยที่ 2 ก็คงมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกันเพราะการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 และบริษัท ซ. ลงชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยลำพังไม่จำต้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ก็ได้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องจึงหาใช่เป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ด้วย อันเป็นเหตุที่ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

         คำพิพากษาศาลฏีกา6581-6582/2556 จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้


        ต้องมีวันออกเช็คหรือวันสั่งจ่ายเงินตามเช็ค เพราะเช็คที่ไม่มีวันออกเช็คถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด เช่น
        
        คำพิพากษาศาลฏีกาที่11401/2556 สาระสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 อยู่ที่วันออกเช็ค คือ วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้น ถ้าเช็ครายใดผู้ออกเช็คไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ก็ไม่มีทางที่จะให้ผู้ออกเช็คทราบได้ว่าจะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นในวันใด ซึ่งวันนั้นผู้ออกเช็คจะได้เตรียมเงินไว้ในบัญชีธนาคารอันจะพึงจ่ายตามเช็คนั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เช็คที่ไม่มีวันออกเช็คถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด
        เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเช็คพิพาททั้งเจ็ดฉบับลงวันที่ไว้แล้วในขณะที่ผู้เสียหายได้รับมาจากจำเลยทั้งสอง จึงถือไม่ได้ว่ามีวันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด

        เช็คที่ไม่มีวันออกเช็คหรือวันสั่งจ่ายเงินตามเช็ค ถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด
แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้สิทธิผู้ทรงเช็คลงวันที่ออกเช็คได้เอง ก็เป็นเพียงให้เช็คมีรายการครบถ้วนตามหลักกฏหมายแพ่งเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นวันที่ผู้ออกเช็คหรือผู้สั่งจ่าย เป็นผู้กำหนด  เช่น

        คำพิากษาศาลฏีกา5924/2556 ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง

        คำพิากษาศาลฏีกา 7152/2554 จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่าย ถือได้ว่าไม่มีวันที่จำเลยที่ 1 ผู้ออกเช็คกระทำความผิด การที่จำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังเป็นผู้ลงวันที่สั่งจ่ายตามที่ตกลงกับโจทก์ร่วมในภายหลัง เป็นเพียงแต่ให้เช็คมีรายการต่างๆ สมบูรณ์ตามกฎหมายเพื่อฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง หาทำให้กลับมาเป็นความผิดทางอาญาไม่ แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ออกเช็คกับจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังร่วมกันออกเช็คนั้นก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

        ผู้สั่งจ่าย(ผู้ออกเช็ค) เช็คมอบให้ภริยาเป็นผู้กรอกวัน เดือนปี และจำนวนเงินในเช็ค ผู้สั่งจ่ายเช็คยังมีความผิด เช่น

        คำพิากษาศาลฏีกา 9319/2554การที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้ภริยาจำเลยเป็นผู้กรอก วัน เดือน ปี และจำนวนเงินในเช็คดังกล่าวด้วยความยินยอมเห็นชอบของจำเลย กรณีต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาทดังกล่าว เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

         ผู้สลักหลังเช็ค อาจจะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คได้ แต่ถ้าไม่มีพฤติการณ์ใดๆที่แสดงความมีส่วนร่วมกับผู้ออกเช็ค ย่อมไม่ผิด เช่น 

         คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 14667/2556แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะใช้คำว่า ผู้ใดออกเช็ค แต่มิได้หมายความว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าวคือผู้ที่ออกเช็คเท่านั้น ส่วนผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คไม่มีความผิด การออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น อาจจะมีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็ค และถือว่าผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับผู้ออกเช็คเป็นตัวการเช่นเดียวกันตาม ป.อ. มาตรา 83
        การที่จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้สลักหลัง ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในเช็คพิพาท เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการออกเช็คพิพาท แล้ว ทั้งไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการออกเช็คพิพาท จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

        ผู้เสียหายในความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค คือ ผู้ทรงเช็คขณะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น เมื่อผู้ทรงเช็คถึงแก่ความตาย สิทธิตามเช็คย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทผู้ตายทันที ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมถือเป็นผู้เสียหาย 

       ถ้าผู้ทรงเช็ค ทราบเป็นอย่างดีแล้วว่า ผู้สั่งจ่ายไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คขณะออกเช็ค แต่ยังยอมรับเช็คเพื่อประกันหนี้และนำมาฟ้องร้อง ผู้สั่งจ่ายไม่ผิด เช่น

        คำพิากษาศาลฏีกา2144/2556แม้หนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน จะมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งความสัมพันธ์และการกระทำซึ่งโจทก์ทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1213/2545จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมมานานหลายปี แต่ไม่สามารถชำระเงินคืนให้โจทก์ร่วมได้ต้องออกเช็คใหม่มอบให้โจทก์ร่วมโดยบวกดอกเบี้ยเพิ่มและรับเช็คเดิมคืนมาหลายครั้งครั้งหลังสุดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมและจำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมหนี้กันที่สถานีตำรวจ และจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว อันเป็นการบ่งชัดว่าจำเลยอยู่ในภาวะที่ถูกโจทก์ร่วมบีบบังคับให้ต้องออกเช็คพิพาท ซึ่งโจทก์ร่วมย่อมทราบดีว่าขณะออกเช็คจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

        ลักษณะการบรรยายฟ้องในคดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่11959/2556 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ส่วนที่ว่าหนี้เงินกู้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยและวันที่ลงในเช็คพิพาท จำเลยมีเงินในบัญชีหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่307/2549การกระทำที่จะเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิด มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้และแนบสำเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้อง จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด เพราะการรับสภาพหนี้มิได้ก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นใหม่ เพียงแต่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
 
        การนำสืบพยานหลักฐาน ในคดี เช่น 

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่11242/2556 โจทก์ไม่อ้างและนำเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องในคดีนี้เป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยอ้างส่งเช็คที่เตรียมไว้ในคดีอื่นเป็นพยานในคดีนี้แทน ต่อมาได้มีการนำเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องมาเปลี่ยนและแนบไว้ในสำนวนหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูลแล้ว เห็นว่า แม้เช็คและใบคืนเช็คเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 แต่โจทก์ไม่ได้นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าสืบและอ้างส่งเป็นพยานต่อศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และต่อมามีการแก้ไขคำเบิกความของพยาน และนำเช็คทั้งสองฉบับมาเปลี่ยนและแนบไว้ในสำนวนซึ่งจำเลยฎีกาว่าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบก็ตาม ก็ต้องถือว่าคดีนี้ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ไม่ใช่คดีที่ยังไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องตามที่จำเลยฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีมีมูลและให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยหรือพิพากษายกฟ้อง เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ซึ่งโจทก์สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพิ่มเติม รวมทั้งอ้างเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องซึ่งโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้วนอกเหนือจากที่นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำสืบพยานหลักฐานจึงไม่ชอบ

        เหตุที่ทำให้คดีอาญาเลิกกัน ตามมาตรา 7 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 บัญญัติไว้ว่า " ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา" ซึ่งความหมายของมาตรานี้ จะมีแนวทางในการให้คดีอาญาเลิกกันได้ คือ ผู้ออกเช็คต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงเช็คภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หรือผู้ออกเช็ค ใช้เงินแก่ผู้ทรง ก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้านำเงินมาใช้ภายหลังศาลมีคำพิากษาถึงที่่สุด แม้จะนำเงินมาใช้ แต่ก็ต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วย เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 4684/2565 
        พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้นำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไปฟ้องและมีการบังคับคดี โดย ป. จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.25/2563 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์มิได้โต้แย้งให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงถือว่าคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องตามเช็คพิพาทย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่1092/2563 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องไม่ได้ แม้จำเลยจะใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์จนครบถ้วนแล้ว แต่เป็นการใช้เงินภายหลังวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คดีอาญาจึงไม่เลิกกัน

        คำพิากษาศาลฏีกา 566/2553กรณีคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 เป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำความผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา โดยไม่จำเป็นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีอาญา มูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้เงินเป็นคดีแพ่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาท เป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่4688/2560 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่จำเลยอ้างว่าคดีนี้ย่อมระงับไปด้วยผลข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาเพราะโจทก์ได้รับเงินครบถ้วนแล้วนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็คพิพาทจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ การที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้วเท่านั้น จำเลยยังมีหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองอยู่ ไม่อาจจำหน่ายคดีตามคำร้องของจำเลยได้

      ในคดีแพ่ง ประนีประนอมยอมความกัน ศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุด มูลหนี้ตามเช็คระงับสิ้นไปแล้ว ถือว่าหนี้ตามเช็คสิ้นผลผูกพัน ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ เช่น

    คำสั่งคำร้องที่1671/2538เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 7 หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ มูลหนี้ตามเช็คที่โจทก์อาศัยเป็นมูลฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นมูลหนี้เดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งเรียกเก็บเงินตามเช็ค เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและศาลได้พิพากษาตามยอมถึงที่สุดแล้วจึงมีผลทำให้มูลหนี้ตามเช็คที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญานี้ คดีจึงเลิกกันตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3490/2548การที่ผู้เสียหายและจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในมูลหนี้ตามที่จำเลยออกเช็คพิพาท และศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 เมื่อสิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายในมูลหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทระงับสิ้นไป ไม่ว่าผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่ กรณีถือได้ว่าหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

        บทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลล้มละลายที่ถูกปลดจากการล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้เท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้หนี้ดังกล่าวสิ้นผลผูกพันไป โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย คดีจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 เช่น

        คำพิากษาศาลฏีกาที่5623/2558 ปัญหาว่าคำพิพากษาขัดกันหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
        ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช.475/2552 ของศาลชั้นต้น เอกสารท้ายอุทธรณ์และฎีกา เช็คที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเช็คของธนาคาร ก. สาขาพหลโยธิน 20 ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 และลงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 แต่เช็คที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายในคดีนี้เป็นเช็คของธนาคาร ก. สาขาพหลโยธิน 20 ฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 20 มีนาคม 2550 เช็คพิพาททั้งสองคดีจึงเป็นเช็คต่างฉบับกัน แม้มูลหนี้ในการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองคดีจะเป็นมูลหนี้อย่างเดียวกันและศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยต่างกันก็ตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีนี้กับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช.475/2552 ก็มิใช่คำพิพากษาที่ขัดกัน
        พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า "คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่ (1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากรหรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล (2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้" เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลล้มละลายที่ถูกปลดจากการล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้เท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้หนี้ดังกล่าวสิ้นผลผูกพันไป โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 ถูกปลดจากการล้มละลายไม่ทำให้หนี้สินที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์สิ้นผลผูกพันไปแต่อย่างใด คดีจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 อันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกา 4684/2565
        พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้นำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไปฟ้องและมีการบังคับคดี โดย ป. จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.25/2563 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์มิได้โต้แย้งให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงถือว่าคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องตามเช็คพิพาทย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกา 4343/2565

      ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.การแล่นแชร์ พ.ศ. 2534 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์ หรือจัดให้การเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท หากฝ่าฝืนมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้เป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย เมื่อได้ความว่าเดิมโจทก์เป็นนายวงแชร์ที่จัดการให้มีการเล่นแชร์ 36 มือ มือละ 10,000 บาท และการประมูลต่อหนึ่งงวดผู้ประมูลได้จะได้รับเงินรวม 360,000 บาท การตั้งวงแชร์ของโจทก์จึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย อันตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะอ้างว่ามีการนำหนี้อันเกิดจากการเล่นแชร์ดังกล่าวรวมกับหนี้อื่นแล้วแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญากู้ยืมเงิน แต่หนี้เกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะเช่นนี้ย่อมเสียเปล่าไปแต่ต้น จะแปลงหนี้เป็นหนี้กู้ยืมเงินหรือหนี้อย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายได้ไม่ เมื่อเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ เป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งมีมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมอยู่จนไม่อาจแยกออกได้ว่าเป็นการชำระหนี้ในส่วนใด หนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฏีกา 2775/2565

        ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 องค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เช็คนั้นต้องออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ในกรณีของการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ป.พ.พ. มาตรา 538 กำหนดว่า การเช่าอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ สัญญาเช่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ตกลงให้การเช่ามีผลย้อนหลังเป็นการเช่าตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปซึ่งเป็นข้อตกลงเช่าอสังริมทรัพย์มีกำหนดเวลา 5 เดือน โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ การเช่าในระยะเวลาย้อนหลังดังกล่าวจึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็ครวม 5 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าเดือนมิถุนายน 2561 ถึงตุลาคม 2561 แม้ต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่สัญญาเช่าดังกล่าวกระทำภายหลังจากจำเลยที่ 1 ออกเช็คทั้ง 5 ฉบับแล้ว และถึงแม้ว่าจะได้กระทำในวันเดียวกันก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการออกเช็คที่มีหนี้อยู่จริง แต่หนี้นั้นไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 7.2 ระบุว่า เมื่อผู้ให้เช่าได้รับค่าเช่าและค่าตอบแทนการจดสิทธิเก็บกินที่ผู้เช่าค้างชำระ... ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้เช่าตกลงจะคืนเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ให้แก่ผู้เช่า แสดงว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทเพื่อประกันการชำระหนี้หาใช่เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกา 2980/2565

      จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าสินค้าต่อโจทก์และไม่ชำระหนี้ให้ ต่อมาตกลงผ่อนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นในวันที่ 28 กันยายน 2561 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คให้ โดยจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นเช็คที่รวมทั้งหนี้ค่าสินค้าที่ค้างและดอกเบี้ยด้วย ซึ่งเท่ากับมีเจตนาจะชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเช็คดังกล่าวนั้นเอง แต่ต่อมากลับให้โจทก์นำเช็คดังกล่าวกลับไปคืน แล้วออกเช็คพิพาทให้แทน โดยทำบันทึกขึ้นเองฝ่ายเดียวว่าเป็นเช็คค้ำประกันหนี้ ไม่มีข้อตกลงกำหนดเวลาที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้ไว้เลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะตกลงด้วยเช่นนั้น เมื่อเช็คเดิมออกให้เพื่อชำระหนี้ แล้วมาออกเช็คพิพาทให้แทน ก็ต้องถือว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้เช่นเดียวกัน เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
 
คำพิพากษาศาลฎีกา 1875/2565

        จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ถือเป็นการแก้ไขคำให้การ ต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง จำเลยจึงไม่อาจรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ อย่างไรก็ดี การที่จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ในส่วนของเช็คตามฟ้องไปแล้ว จำนวน 2 ฉบับ คงเหลือเช็คตามฟ้อง 5 ฉบับ จำเลยได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วน ขอให้ศาลพิพากษารอการลงโทษ โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับสำเนาฎีกาแล้วไม่แก้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยนำเงินมาวางศาลชำระหนี้ตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ ครบถ้วนตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ร่วมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว หนี้ที่จำเลยออกเช็คทั้ง 5 ฉบับ เพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันกันแล้วด้วยการชำระเงินครบถ้วนไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีมาฟ้องตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนงและศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. 2562 มาตรา 10
       
คำพิพากษาศาลฎีกา 1732/2565

        ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือมีเงินเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้เช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 และมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกา 1731/2565

        หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว จำเลยทั้งสองนำเงินเต็มตามจำนวนที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นนัดสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่าย ในวันนัดพร้อมทนายโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าฝ่ายโจทก์ไม่ประสงค์จะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลไป ประกอบกับโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีคดีพิพาทกันอีกหลายเรื่อง ไม่ประสงค์จะยอมความกันในคดีนี้ โดยทนายโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านแสดงเหตุผลให้ชัดแจ้งว่า การที่จำเลยทั้งสองนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ไม่ทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันเพราะเหตุใด คงอ้างเพียงว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีคดีพิพาทกันอีกหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่อาจยกขึ้นอ้างได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ เช่นนี้การวางเงินของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์อันทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกา 1596/2565

        เช็คทั้งสามสิบสี่ฉบับซึ่งรวมทั้งเช็คพิพาทสิบเอ็ดฉบับตามฟ้อง จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายจำนวนเงินเท่ากันคือ 116,000 บาท และเป็นการลงวันที่ล่วงหน้าแล้วส่งมอบไว้ให้โจทก์ ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถคืนทองคำแท่งแก่โจทก์ในแต่ละสัปดาห์ได้ จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระเงินตามจำนวนเทียบเท่าราคาทองแท่ง ณ เวลาวันทำบันทึกข้อตกลงนี้ และเมื่อพิเคราะห์บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญารับฝากทองคำแท่งในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดในการส่งมอบทองคำแท่งแก่โจทก์แล้วทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น ๆ อีก ดังนี้ถือได้ว่าเช็คทั้งสามสิบสี่ฉบับไม่ได้ออกเพื่อชำระหนี้เฉพาะค่าทองคำแท่งล้วน ๆ ตามราคาที่โจทก์ซื้อ แต่ยังรวมค่าเสียหายอื่น ๆ ไว้อีก จึงแสดงว่าถ้าจำเลยที่ 1 คืนทองคำแท่งแก่โจทก์ได้โดยไม่ผิดสัญญา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำเช็คไปเรียกเก็บเงินโดยถือการส่งมอบทองคำแท่งคืนโจทก์เป็นสาระสำคัญของสัญญา เช็คพิพาททั้งสิบเอ็ดฉบับจึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายไว้เป็นประกันการคืนทองคำแท่งหรือคืนราคาพร้อมค่าเสียหายแก่โจทก์เท่านั้น มิใช่เพื่อเป็นการชำระหนี้ค่าซื้อขายทองคำแท่งตามน้ำหนักราคาทองคำแท่งอันจะถือว่าเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่จริง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกา 1237/2565

        ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิด แต่จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่ อ. ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ อ. ทำการก่อสร้างบ้านในเฟสที่ 2 แล้ว อ. นำเช็คสองฉบับดังกล่าวมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าวัสดุก่อสร้างที่ อ. ซื้อไปจากโจทก์ โดยหนี้ค่าก่อสร้างยังไม่เกิดขึ้นขณะที่มีการออกเช็ค เมื่อต่อมาจำเลยได้เลิกสัญญาการก่อสร้างบ้านในเฟสที่ 2 โดยไม่มีการก่อสร้างบ้านในเฟสที่ 2 ย่อมไม่มีมูลหนี้ตามเช็คทั้งสองฉบับ จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยมิใช่เป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4


******************   
ขอขอบคุณ 
           ๑.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/      




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น