วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาต้องสอบสวนก่อนลงโทษ

บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


(คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังใจให้ผู้จัดทำ)

        ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาต้องสอบสวนก่อนลงโทษ


          ในการดำเนินการทางวินัยและลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล นั้น มาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน  ได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก   โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี 

          แต่การที่ผู้บังคับบัญชา จะลงโทษโดยถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลได้นั้น  ต้องพิจารณาข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลด้วย ว่าอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ 

          โดยที่หน้าที่และอำนาจในการไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามมาตรา 28(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว  คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนแล้วมีมติวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน เท่านั้น ไม่หน้าที่และอำนาจไต่สวนในข้อหาความผิดในกรณีอื่น
            
          กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ แล้วส่งสำนวนการไต่สวนดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัย จะถือสำนวนการไต่สวนดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนและลงโทษ โดยไม่ต้องแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน ได้หรือไม่ มีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายฉบับเดิม ที่สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้ ดังนี้ 


         
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่7486/2562 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินของนายกมล ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนด 4 แปลง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) 3 แปลง รวมเนื้อที่ 1,525 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา เพื่อขยายโรงงานผลิตยาและเวชภัณฑ์ ต่อมาจำเลยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจึงพบว่าเนื้อที่ดินขาดหายไป 32 ไร่ 1 งาน 69 ตารางวา แต่โจทก์ นายสมชาย ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และนายธนวัฒน์ รองผู้อำนวยการ กลับส่งโฉนดให้ฝ่ายบัญชีและการเงินเก็บรักษาไว้เท่านั้น ตามบันทึกข้อความส่วนราชการแผนกอรรถคดี กองกฎหมาย ฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยมีผลในวันที่ 29 ธันวาคม 2547 ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนเรื่องดังกล่าวแล้วมีมติว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษและการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ.2511 ข้อ 45 (6) ส่วนข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์กระทำความผิดตามชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษให้โจทก์ออกจากงานมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2547 โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีมติยกอุทธรณ์
           ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ซึ่งเคยเป็นพนักงานของจำเลยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ย้อนหลังจากกระทำความผิดขณะเป็นพนักงานของจำเลยได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเกิดเหตุจึงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม โดยอาจกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 2 ปี และมีบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจพิจารณาความผิดทางวินัยในเรื่องที่ถูกกล่าวหา โดยให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยถือรายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยด้วย จึงมีความหมายอยู่ในตัวว่า หากผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางวินัยแล้วพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมถูกลงโทษทางวินัยโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและกระทำความผิดทางวินัยในเรื่องนั้นได้ แต่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ที่บัญญัติว่า "ให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี" คงหมายความเพียงว่า หน่วยงานของรัฐที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดไม่ต้องดำเนินการสอบสวนวินัยผู้ถูกกล่าวหาอีก ให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนสอบสวนที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับของหน่วยงานของรัฐนั้นแล้วเท่านั้น หาได้หมายความรวมไปถึงขั้นตอนการออกคำสั่งลงโทษด้วยไม่ แม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ.2511 ซึ่งบังคับใช้ขณะที่โจทก์ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้กำหนดให้จำเลยมีอำนาจลงโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มีข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2551 ข้อ 127 กำหนดว่า "พนักงานผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำหรือละเว้นกระทำการใดที่พึงเห็นได้ว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาเว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือความผิดลหุโทษ ถ้าผู้นั้นออกจากงานไปแล้ว เว้นแต่ออกจากงานเพราะตาย ให้ดำเนินการทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังไม่ออกจากงาน เว้นแต่กรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยที่จะต้องลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ก็ให้งดโทษเสียได้" แม้ข้อบังคับของจำเลยฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ภายหลังจากที่โจทก์ลาออกโดยมีผลให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2547 แล้วก็ตาม แต่ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวเป็นส่วนของกระบวนการในการลงโทษผู้กระทำผิดทางวินัยย่อมมีผลใช้บังคับในขณะที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปให้โจทก์ออกจากงานนับแต่วันที่โจทก์ลาออกเสมือนโจทก์ยังไม่ออกจากงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 มาตรา 88 มาตรา 91 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ จะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีแต่เฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เท่านั้น ความผิดอื่นนอกจากกรณีดังกล่าวแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า โจทก์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วย การบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ.2511 ข้อ 45 (6) ส่วนข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป ดังนั้นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยโจทก์ในความผิดฐานนี้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของจำเลย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ได้ จำเลยต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวนโจทก์ตามที่ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วย การบริหารงานบุคคล พ.ศ.2551 กำหนดไว้ในหมวด 16 การดำเนินการทางวินัย เสียก่อน คำสั่งของจำเลยที่ลงโทษให้ออกจากงานไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
        

        
       สรุปจากคำพิพากษาดังกล่าว ศาลเห็นว่าบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 มาตรา 88 มาตรา 91 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีแต่เฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เท่านั้น ความผิดอื่นนอกจากกรณีดังกล่าวแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัย การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่ามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย  เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชาที่จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยได้ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวนเสียก่อน คำสั่งลงโทษให้ออกจากงานไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับ จึงไม่ชอบ    


******************************
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น