วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564

เช่าทรัพย์ (กฎหมายแพ่ง)

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

เช่าทรัพย์

      เช่าทรัพย์ 

        เป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวข้องการดำเนินชีวิตของเราพอสมควร ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีประเด็นพิพาทขึ้นสู่ศาลมากที่เดียว  เช่าทรัพย์  มีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องทำความเข้าใจและจดจำ มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันครับ

        เช่าทรัพย์ ในที่นี้คือ เช่าทรัพย์สิน ในทางกฎหมายแพ่ง "ทรัพย์สิน" หมายรวมถึงทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ (มาตรา138)  เช่น สิทธิการเช่า เป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์สิน เป็นต้น 

        เช่าทรัพย์สิน (มาตรา 537)คือ สัญญาซึ่ง ผู้ให้เช่า ตกลงให้ ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดและผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น เช่าทรัพย์สินจึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่กัน กล่าวคือ ผู้ให้เช่ามีหนี้ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์  และผู้เช่ามีหนี้ค่าเช่าที่จะต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่านั่นเอง 

        เช่าทรัพย์ ต้องบังคับตามหลักกฎหมายที่เป็นบททั่วไปของนิติกรรม สัญญาด้วย เช่น สัญญาถือเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง วัตถุประสงค์ในการทำสัญญาจึงต้องไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้น สัญญาจะเป็นโฆฆะ บังคับระหว่างคู่สัญญาไม่ได้ เช่น ทำสัญญาเช่าบ้านเพื่อไว้เป็นบ่อนการพนัน หรือเพื่อค้ายา ค้าประเวณี เป็นต้น    

advertisement


    
    เช่าทรัพย์สินที่มีประเด็นข้อพิพาท คือ เช่าอสังหาริมทรัพย์ ลักษณะของเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นน ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร์ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี (มาตรา 538)

        หลักฐานเป็นหนังสือนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบ เป็นเรื่องที่คู่สัญญาตกลงกำหนดเงื่อนไขกันและทำให้ปรากฎหลักฐานการเช่า แต่ต้องลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อเช่าอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการเช่าทรัพย์สินที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาทั้งฝ่ายมีหนึ้จะต้องชำระให้แก่กัน ลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จึงต้องมีทั้งสองฝ่าย  เพระาถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา อีกฝ่ายฟ้องร้องบังคับได้

        ถ้าสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ทำสัญญาเช่ากันเกินสามปีขึ้นไป หรือตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าแต่ห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี และเมื่อสิ้นกำหนดเวลาแล้ว จะต่อสัญญาอีกสามสิบปีก็ได้ แต่ห้ามมิให้เกินสามสิบปี (มาตรา 540) การเช่าที่มีระยะเวลาดังกล่าว ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจะฟ้องบังคับคดีกันได้ ถ้าไม่ได้ทำ จะฟ้องร้องบังคับกันได้แต่เพียงสามปี เช่น ทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะเวลาสิบปี แต่ทำเป็นหนังสือเท่านั้น ไม่ได้จดเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็จะฟ้องร้องบังคับกันได้เพียงสามปีเท่านั้น ที่มีผลตามสัญญา  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่1196/2552 ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติว่า "เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้หรือไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท จากโจทก์เป็นเวลา 21 ปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2532 แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี คือวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เท่านั้น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา12265-12266/2556 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่ามีกำหนดอายุของสัญญาเช่าเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเช่าทุกฉบับมีข้อตกลงในข้อ 7.9 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ผู้เช่าจะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่า ขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้โดยปราศจากความรับผิดใด ๆ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการต่อสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่าโดยใช้ไม้กระดานปิดกั้นและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ในที่อื่นและพร้อมกับปิดประกาศ ณ บริเวณพื้นที่เช่าชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และฐานทำให้เสียทรัพย์ สำหรับข้อหาลักทรัพย์ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ว่ามีการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถชั้นที่ 3 และโกดังชั้นที่ 6 บางส่วนนำไปไว้ที่ทิ้งขยะชั้นล่าง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยทั้งหกเอาไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าก็เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน และยังอ้างด้วยว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

        คำพิพากษาศาลฎีกา7609/2555โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับจำเลย แม้ในสัญญาเช่ามีข้อความระบุว่า ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะต่ออายุการเช่าออกไปอีกสองคราว มีกำหนดคราวละ 3 ปี แต่เมื่อรวมระยะเวลาตามคำมั่นแล้วมีกำหนด 6 ปี จึงเป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะให้เช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเกินกว่า 3 ปี เมื่อโจทก์ผู้เช่าได้แสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นสัญญาเช่าจึงมีผลต่อไปเพียง 3 ปี ตามคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้ผู้เช่าต่ออายุการเช่าในครั้งแรกเท่านั้น โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยทำสัญญาเช่าและไปจดทะเบียนการเช่าในครั้งที่สองซึ่งเกินกว่า 3 ปีไม่ได้ เพราะเป็นการหลีกเลี่ยงและต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งบังคับให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

        ทรัพย์สินที่เช่าเป็นพื้นที่ด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผนังตึกติดตรึงตราโดยลักษณะถาวรกับอาคารพาณิชย์ จึงเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์

        คำพิพากษาศาลฎีกา7722/2550การที่โจทก์ทั้งสองยอมให้จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในพื้นที่ด้านนอกบริเวณด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ 1 ในการติดป้ายโฆษณาสินค้าของจำเลยที่ 1 ชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดเป็นรายปี และจำเลยทั้งสองตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 80,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537
        เมื่ออาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ 1 เป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 และทรัพย์สินที่เช่าเป็นพื้นที่ด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผนังตึกติดตรึงตราโดยลักษณะถาวรกับอาคารพาณิชย์จึงเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
        เมื่อข้อตกลงการเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าตามข้อตกลงการเช่าได้

advertisement


        ถ้าทำสัญญาเช่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าก็ทำได้ (มาตรา545 ) แต่เช่าอสังหาริมทรัพย์ ห้ามมิให้เช่ากันเกินกว่าสามสิบปี (มาตรา540) ถึงตรงนี้ เหมือนจะขัดๆกัน จึงต้องมาดูแนวคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทำให้เข้าใจว่า ถ้าทำสัญญาเช่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าก็ทำได้ ถือว่าคู่สัญญาถือคุณสมบัติของผู้ให้เช่หรือผู้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญา เมื่อผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าตายสัญญาระงับ  ถ้าเช่าอสังหาริมทรัพย์ มีกำหนดสามสิบปี แต่ไม่ได้กำหนดว่าเช่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่า สัญญานี้ถือระยะเวลาเช่าสำคัญกว่าคุณสมบัติของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่า เมื่อผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าตายก่อนสัญญาเช่าครบสามสิบปี สิทธิการเช่าย่อมตกทอดแก่ทายาท ไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่ ดังนี้ 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่11058/2559 สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา การเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 หากถือคุณสมบัติของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าตายให้สัญญาระงับ สัญญาเช่าต้องกำหนดระยะเวลาเช่าไว้มีกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเท่านั้น มิฉะนั้นฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ แม้การเช่าทรัพย์สินตามปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญ แต่คุณสมบัติผู้เช่านั้น ผู้ให้เช่าพิจารณาเพื่อมาตกลงทำสัญญาเช่ากัน เมื่อผู้ให้เช่ากับผู้เช่าตกลงทำสัญญาเช่ากันสัญญาก็ต้องเป็นสัญญา จึงไม่ต้องกลับไปพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เช่าอีกจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามที่ตกลงไว้หรือตกลงทำสัญญาเช่ากันใหม่ แม้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 544 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองเป็นทายาทของ ผ. ผู้เช่าที่ดินพิพาท จึงมิใช่บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมรับโอนสิทธิการเช่าได้ เมื่อ ผ. ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาเช่าสามสิบปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน กำหนดว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเอาที่ดินที่เช่าไปให้เช่าช่วงได้ อันเป็นการตกลงยกเว้นมาตราดังกล่าวไม่ให้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่ให้เป็นสิทธิในทรัพย์สินให้โอนได้ให้เช่าช่วงได้ โดยผู้เช่าต้องชำระเงินล่วงหน้าสำหรับการเช่า 30 ปี เป็นเงิน 1,000,000 บาท กำหนดอัตราค่าเช่าสูงขึ้นทุกสิบปีตลอดระยะเวลาเช่า เป็นการถือกำหนดเวลาสามสิบปีตามที่จดทะเบียนไว้เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าโดยกำหนดระยะเวลาเช่ามีเพียงตลอดชีวิตของผู้เช่าหรือตกลงไว้ในสัญญาเช่าอันจดทะเบียนว่า ผู้เช่าถึงแก่ความตายให้สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อ ผ. ผู้เช่าถึงแก่ความตายจึงไม่ต้องมีการทำสัญญาเช่ากันใหม่ เนื่องจากตกลงทำสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาสามสิบปี ทั้งสัญญาเช่ายังกำหนดให้ผู้เช่าสามารถนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อได้ โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถือเอาคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ผ. โดยตรง สิทธิการเช่าจึงไม่สิ้นสุดลง เมื่อสิทธิการเช่ายังไม่ครบกำหนดระยะเวลาเช่าที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2559)

        สิทธิการเช่าป็นสิทธิเฉพาะตัว โดยผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้ เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา ถ้าผู้เช่าฝ่าฝืน ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้(มาตรา544 ) เช่น เช่าบ้านแล้ว นำบ้านที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าต่อ ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าได้ และผู้ที่มาเช่าช่วงถือเป็นบริวารของผู้เช่า  
        ถ้าผู้ให้เช่าตกลงให้เช่าช่วงได้ ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง หากผู้เช่าช่วงใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปก่อน หาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ให้เช่าไม่ได้  (มาตรา545 ) ซึ่งการเช่าทรัพย์ ไม่มีกฎหมายว่าผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในทรัพย์ที่ให้เช่า มีคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้

        คำพิพากษาศาลฎีกา15922/2553การเช่าทรัพย์ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ ทั้งสองฝ่ายย่อมต้องผูกพันตามสัญญาเช่านั้น การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงโดยโจทก์ยินยอม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้เช่าช่วงโดยชอบ และต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 จำเลยที่ 2 หาใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงทำให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงในวันเดียวกันด้วย เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเช่าต่อไปแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงอีกต่อไป การที่จำเลยที่ 2 ยังครอบครองทรัพย์ที่เช่าช่วงตลอดมาหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จะโต้เถียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่

        คำพิพากษาศาลฎีกา3581/2557หนังสือสัญญาเช่าตึกแถว ระบุว่าผู้เช่าจะไม่นำตึกแถวออกให้ผู้อื่นเช่าช่วงเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การนำตึกแถวดังกล่าวออกให้เช่าช่วงจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเสียก่อน สัญญาเช่าช่วงระหว่าง ฉ. ผู้เช่ากับจำเลยและ ก. ไม่มีผลผูกพันผู้เสียหาย จำเลยและ ก. จึงอยู่ในตึกแถวดังกล่าวในฐานะเป็นบริวารของ ฉ. เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าแก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงไว้กับ ฉ. จำเลยตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดถือครอบครองตึกแถวและทรัพย์ในตึกแถวดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุได้อีก

advertisement


        คำพิพากษาศาลฎีกา990-991/2558 แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัท ว. นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ว. ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัท ว. ผู้เช่าเดิม และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่า ไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์เพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย

        คำพิพากษาศาลฏีกา12803/2557ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. ที่กำหนดให้บริษัท ต. ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของบริษัท ต. แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้บริษัท ต. มีสิทธิเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี หรือจะนำบุคคลอื่นมาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก็ได้ โดยบริษัท ต. ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากบริษัท ต. ผิดสัญญายอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีเช่นนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่ในสัญญาดังกล่าว ข้อ 10 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าบริษัท ต. ผิดสัญญาข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อปรากฏว่าบริษัท ต. ค้างชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาข้อ 7 โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่จำเลยเช่าช่วงอาคารพาณิชย์พิพาทจากบริษัท ต. และเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บริษัท ต. โดยชอบแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาทอีกต่อไป การที่จำเลยอยู่ต่อมาโดยโจทก์ไม่ยินยอมจึงเป็นละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

        แม้ข้อสัญญาจะให้เช่าช่วงได้ แต่เช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา13288/2556การเช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ แต่ผู้ร้องเช่าช่วงบ้านพิพาทจากจำเลยโดยไม่มีสัญญาเช่าต่อโจทก์หรือจำเลย ผู้ร้องจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ ไม่ว่าโจทก์จะรู้เห็นยินยอมด้วยหรือไม่ การเช่าช่วงดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย การต่อเติมห้องครัวและห้องน้ำที่อ้างเป็นไปเพื่อความสะดวกในการใช้ทรัพย์สินของผู้ร้อง ไม่ใช่การปลูกสร้างใหม่ จึงไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาอันไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3)

        คำพิพากษาศาลฏีกา6275/2551การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้

advertisement

         ผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยม  หรือการดังกำหนดไว้ในสัญญา ไม่ได้ กล่าวคือ ทำสัญญาเช่าเพื่ออยู่อาศัย แต่นำไปเป็นบ่อนการพนัน ถือว่าไม่ใช่การดังกำหนดไว้ในสัญญา เป็นต้น และผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าเสมอกับวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สิน และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย ถ้ามีการฝ่าฝืนหรือฝ่าฝืนข้อสัญญา ผู้ให้เช่าจะบอกกล่าวผู้เช่าให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้เช่าละเลยไม่ปฏิบัติตาม ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้ (มาตรา 552-554) เป็นบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่จะให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าได้
        การชำระค่าเช่า ปกติในสัญญาจะกำหนดรายละเอียดการชำระค่าเช่าไว้ ถ้าไม่มีกำหนดไว้ ก็ให้ชำระเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้ตกลงกำหนดกันไว้ทุกคราวไป กล่าวคือ ถ้าเช่ากันเป็นรายปีก็ชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นปี ถ้าเช่ากันเป็นรายเดือนก็ชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นเดือน (มาตรา559 )
        ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  แต่ถ้าค่าเช่าส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน (มาตรา560) 
        คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่า ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า (มาตรา 563) เช่น ฟ้องเรียกค่าปรับ แต่ถ้าฟ้องให้ชำระเช่าค้างชำระ ต้องบังคับตามมาตรา 193/33 มีกำหนดอายุความ5 ปี

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่1740/2558 โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าปรับตามสัญญาเช่า จำเลยทั้งสองก็มิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำสัญญาเช่าตามฟ้อง เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ค้างชำระค่าเช่า และไม่ต้องชำระค่าปรับตามฟ้อง คดีจึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้แล้วว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริง โดยโจทก์ไม่จำต้องอ้างหนังสือสัญญาเช่าตามฟ้องเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ฎีกาว่าสัญญาเช่าตามฟ้องมิได้ปิดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ แม้จะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งจำเลยที่ 1 มีอำนาจยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ก็ตาม การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
        สิทธิเรียกร้องค่าเช่าอาคารซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ส่วนอายุความ 6 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 563 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าในกรณีอื่น เช่น การเรียกร้องค่าปรับเนื่องจากชำระค่าเช่าล่าช้า ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าปรับอันเนื่องมาจากการชำระค่าเช่าล่าช้าของโจทก์มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามมาตรา 563 ซึ่งการเริ่มนับอายุความของค่าเช่าย่อมนับตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระค่าเช่าในแต่ละเดือนตามมาตรา 193/12

          คำพิพากษาศาลฎีกา368/2549สัญญาเช่าที่ราชพัสดุเพื่อใช้เป็นทางเดินและเป็นที่ตั้งตลาดและสัญญาเช่าอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่กำนหดว่าการชำระค่าเช่า ค่าภาษี ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใดที่ผู้เช่าต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่าตามกำหนด หาชำระเกินกำหนดเวลา ผู้เช่าจะต้องชำระเงินเพิ่มขึ้นจากเงินดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับให้ผู้เช่าอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระ เมื่อครกำหนดสัญญาเช่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารตลาดจากโจทก์ และโจทก์ได้รับมอบที่ดินพร้อมอาคารคืนจากจำเลยแล้ว การฟ้องคดีเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยปฏิบัติเกี่ยวแก่สัญญาเช่าเช่าต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่าตามมาตรา 563 กรณีมิใช่เป็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระหรือค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระอันมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33

         ฟ้องเรียกค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  

       คำพิพากษาศาลฎีกา1413/2534การนับอายุความนั้น ให้นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป สัญญาเช่าระบุว่า ผู้เช่าจะต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ดังนั้น หากผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดเวลาดังกล่าว ถือว่าผู้เช่าตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่าย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 6 ของเดือนที่ผิดนัดนั้น โจทก์ต้องฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี เมื่อค่าเช่าที่โจทก์จะเรียกเก็บเป็นเดือนสุดท้ายคือวันที่ 5 สิงหาคม 2524 แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าในวันที่ 28 สิงหาคม 2529 คดีโจทก์สำหรับค่าเช่าขาดอายุความ เมื่อหนี้ค่าเช่าซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว หนี้ที่เป็นเบี้ยปรับของค่าเช่าซึ่งเป็นอุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วย 

advertisement


        สัญญาเช่าระงับไปเมื่อสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ มิต้องบอกกล่าวก่อน (มาตรา 564)
ุถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฎในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อยแต่ไม่จำต้องบอกกล่าวลวงหน้ากว่าสองเดือน (มาตรา 566)
        เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้ ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และให้ผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญากันใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา (มาตรา 570)

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่1196/2552 ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติว่า "เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้หรือไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท จากโจทก์เป็นเวลา 21 ปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2532 แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี คือวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เท่านั้น แต่หลังจากครบกำหนดดังกล่าวแล้ว จำเลยยังคงเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปอีกโดยโจทก์มิได้ทักท้วง จึงต้องถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ซึ่งโจทก์จะบอกเลิกสัญญาเช่าเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 566 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 ตามใบตอบรับไปรษณีย์ การบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์จึงมีผลตามกฎหมายแล้ว จำเลยต้องออกไปจากตึกแถวพิพาท หาใช่โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าไม่

        คำพิพากษาศาลฎีกา5387/2549 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดที่ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้ว จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและขีดฆ่า เมื่อต้นฉบับสัญญาเช่าอาคารที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
        จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ให้เช่าตามสัญญาและจำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าที่ทำกับโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่เป็นสาระแก่คดี และตามสัญญาเช่าอาคารกำหนดอัตราค่าเช่าไว้เดือนละ 17,000 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า 1 ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาซึ่งหมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนสัญญาข้ออื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม รวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย และโดยเหตุที่การเช่าอสังหาริมทรัพย์นี้ ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่า ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาเช่าอาคาร โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าดังที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ 20,000 บาท จึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยคงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเดือนละ 17,000 บาท ตามอัตราค่าเช่าในสัญญาเช่าเดิม

        คำพิพากษาศาลฎีกา2196/2545การเช่าที่ดินระหว่างโจทก์มีกำหนด 6 ปี แต่มิได้จดทะเบียนซึ่งจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 แต่หลังจากครบ 3 ปี แล้ว จำเลยยังคงเช่าที่ดินต่อไปอีกโดยโจทก์มิได้ทักท้วงจึงต้องถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 570 ซึ่งโจทก์จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเช่าเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 566 ดังนี้ แม้จะครบกำหนด 6 ปี หากโจทก์ประสงค์จะให้สัญญาเช่าระงับ โจทก์ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนมิใช่ว่าสัญญาเช่าย่อมระงับสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนตามมาตรา 564 เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่ครบ 2 เดือน ไม่ถูกต้องตามที่มาตรา 566 กำหนดไว้ การเลิกสัญญาจึงไม่ชอบ แต่จำเลยค้างชำระค่าเช่าและโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างแล้ว ซึ่งนับถึงวันฟ้องไม่น้อยกว่า 15 วัน ตามมาตรา 560 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างได้

        ตามมาตรา 537ผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า เมื่อยอมทำสัญญาเช่าแล้วย่อมต้องผูกพันตามสัญญา   เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้ ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และให้ผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญากันใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา (มาตรา 570) หมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนข้อสัญญาอื่นคงเป็นไปตามสัญญาเดิมรวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา1035/2547การเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 มิได้บังคับว่าผู้ให้เช่าจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาเช่าซึ่งโจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน แม้ทรัพย์สินที่ให้เช่าจะมิใช่ของโจทก์ แต่จำเลยยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์ จำเลยย่อมต้องผูกพันตามสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ทั้งจำเลยก็ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิให้เช่าที่ดินพิพาทในฐานะเป็นทายาทของบ. จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาเช่าต่อโจทก์ เมื่อสัญญาเช่ากำหนดเวลาไว้ 3 ปีสัญญาย่อมระงับเมื่อสิ้นกำหนดเวลา โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อนสัญญาเช่ากำหนดไว้ 3 ปี สัญญาย่อมระงับเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลา โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน การที่จำเลยต่อสู้ว่าเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้ว จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่เช่าและชำระค่าเช่าแก่โจทก์ โจทก์ก็รับไว้โดยมิได้ทักท้วง ถือว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลานั้น หมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนข้อสัญญาอื่นคงเป็นไปตามสัญญาเดิมรวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย หากมีการต่อสัญญาเช่ากันจริงก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยจะชำระค่าเช่าสูงกว่าอัตราค่าเช่าตามที่ระบุในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อนำสืบของจำเลยเกี่ยวกับการชำระค่าเช่าจึงไม่มีน้ำหนักแก่การรับฟังและไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาเช่ากันใหม่ จำเลยจึงต้องออกไปจากที่ดินที่เช่าทันทีที่สิ้นสุดกำหนดเวลา โดยโจทก์ไม่จำต้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยก่อนฟ้อง

advertisement


        สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า  ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย(มาตรา 569) 

       คำพิพากษาศาลฎีกา1564/2558 ป. พี่ชายผู้ร้องซื้อสิทธิการเช่าที่ดินที่จำเลยเช่ามาจาก ซ. แล้วได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับร้อยตำรวจเอก ย. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2528 มีระยะเวลาเช่า 15 ปี โดยทำสัญญาเช่ากัน 5 ฉบับ ฉบับละ 3 ปี มีกำหนดเวลาเช่าติดต่อต่อเนื่องกันไป พฤติการณ์ของคู่สัญญาที่ปฏิบัติเช่นนี้ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ที่กำหนดให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การเช่านั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียงสามปี โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเช่าเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 ย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของร้อยตำรวจเอก ย. ผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าเพราะสัญญาเช่าที่ดินนั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 และเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าสามปี ป. ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินอยู่ โจทก์รู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ต้องถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 แม้ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2546 ผู้ร้องได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับร้อยตำรวจเอก ย. จำนวน 5 ฉบับ แต่ละฉบับมีกำหนด เวลาเช่า 3 ปี รวม 15 ปี ต่อจาก ป. พี่ผู้ร้องในเวลาภายหลังที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเช่ามาแล้ว โดยโจทก์นำสืบปฏิเสธว่ามิได้รู้เห็นยินยอม และคดีที่ร้อยตำรวจเอก ย. ฟ้องเรียกที่ดินคืนจากโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 745/2551 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่า ที่ดินเป็นของโจทก์ ร้อยตำรวจเอก ย. ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งถือว่าผู้ร้องอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยอาศัยสิทธิของร้อยตำรวจเอก ย. ซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินที่จะให้เช่าที่จะนำไปให้ผู้ร้องเช่าได้ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์และยังคงใช้เป็นที่ตั้งบริษัท บ. อันเป็นกิจการระหว่างพี่น้องของผู้ร้องต่อเนื่องเรื่อยมาโดยผู้ร้องและบุตรผู้ร้องกับจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เช่นนี้ จึงฟังได้ว่า ผู้ร้องอยู่ในที่ดินซึ่งจำเลยเช่าจากโจทก์ในฐานะอาศัยสิทธิของจำเลย ผู้ร้องหามีอำนาจพิเศษอย่างใดที่จะอยู่บนที่ดินไม่ ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย บ้านเลขที่ 77/22 ของผู้ร้อง ย่อมต้องถูกรื้อถอนออกไปจากที่ดินตามคำพิพากษาตามยอม

        คำพิพากษาศาลฎีกา44/2553ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 569 ที่กำหนดให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า และผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าด้วยนั้น ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีสิทธิรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์ และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์แม้ในเวลาต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้เช่าก็ตาม

        คำพิพากษาศาลฎีกา234/2558โจทก์ได้เช่าที่ดินจากส. เจ้าของที่ดินเดิมโดยมีกำหนดเวลาเช่า3ปีทำหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้วย่อมใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้เช่าครอบครองตามสัญญาแม้ส. จะโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยแล้วสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระหว่างโจทก์และส.ย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ให้เช่าจำเลยต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของส. ซึ่งมีต่อโจทก์ด้วยจึงมีหน้าที่ให้โจทก์ได้อยู่ในที่ดินจนครบกำหนดระยะเวลาเช่า แม้สัญญาเช่าที่โจทก์ทำกับส. ถึงบัดนี้เกินกำหนดเวลา3ปีแล้วแต่สัญญาเช่ามีสาระสำคัญอยู่ที่ระยะเวลาการเช่าแม้สัญญาเช่าจะลงวันที่เริ่มต้นก็ตามแต่เมื่อผู้เช่าไม่ได้ใช้ทรัพย์ครบตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาเช่าผู้ให้เช่าก็มีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์ให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์ในที่เช่าจนครบกำหนดตามสัญญาแม้วันที่ที่กำหนดในสัญญาเช่าจะล่วงเลยไปแล้วศาลก็บังคับให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าได้

        สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย เป็นสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า ไม่ครอบคลุมถึงสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าเช่าด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา765/2557การที่บริษัท บ. โอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าอันจะพึงได้รับจากบริษัท ม. แก่โจทก์ และได้รับความยินยอมในการโอนสิทธิรับค่าเช่าดังกล่าว สิทธิและหน้าที่ข้างต้นนั้นคงผูกพันบริษัท บ. เจ้าหนี้ และบริษัท ม. ลูกหนี้ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนั้น แต่เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยเช่าสถานีบริการน้ำมัน ค่าเช่าที่คำนวณได้จากจำเลยได้ใช้ที่ดินนั้นย่อมเป็นดอกผลของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว บริษัท บ. ไม่มีสิทธิใดในค่าเช่าอีกต่อไป ย่อมไม่มีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าให้โจทก์ กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "อันว่าสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า" และวรรคสองบัญญัติว่า "ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย" เป็นสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า ไม่ครอบคลุมถึงสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าเช่าด้วย ารที่บริษัท บ. โอนสิทธิเรียกร้องรับเงินค่าเช่าที่มีต่อบริษัท ม. ให้แก่โจทก์สำหรับงวดปี 2544 ถึงปี 2558 หาใช่เป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ต้องผูกพันด้วยไม่ หากโจทก์ต้องเสียหายเนื่องจากไม่ได้รับเงินค่าเช่าตามฟ้อง โจทก์กับบริษัท บ. มีสิทธิและหน้าที่กันอย่างไรชอบจะไปว่ากล่าวกันเอง การที่จำเลยชำระค่าเช่างวดปี 2554 แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ซึ่งไร้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าแล้วไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์

advertisement       
       นำสืบพยานหลักฐาน เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารสัญญาเช่าไม่ได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา5733/2552
สัญญาเช่าที่ดินมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า ชำระค่าเช่าล่วงหน้าสำหรับการเช่า 21 ปี เป็นเงิน 8,000,000 บาท ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การที่โจทก์ จะนำสืบว่าโจทก์มีเจตนาที่จะให้เงินจำนวน 8,000,000 บาท เป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินกินเปล่านั้น เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคแรก (ข) ดังนั้น จึงต้องรับฟังตามสัญญาเช่าที่ดินว่าเงินจำนวน 8,000,000 บาท ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปนั้นเป็นการชำระค่าเช่าล่วงหน้าสำหรับการเช่าเป็นเวลา 21 ปี
    
            เช่าร้านค้าเพื่อใช้เป็นที่ประกอบการค้า เป็นเช่าอสังหาริมทรัพย์  สิทธิเรียกร้องค่าเช่าทรัพย์ค้างชำระมีกำหนดอายุความ5ปี รวมถึงค่าใช้จ่ายอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า เช่น ค่าภาษี ค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาด สิ่งอื่ใดเพื่ออำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่ายการโฆษณาและส่งเสริมการขาย  

         คำพิพากษาศาลฎีกา185/2546ทรัพย์สินที่บริษัทโจทก์ให้จำเลยได้สิทธิเป็นผู้เช่าเป็นร้านค้าเพื่อใช้เป็นที่ประกอบการค้า จึงเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(3) ให้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าทรัพย์สินที่ค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ค่าภาษีและค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จัดขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาดไอเย็น แสงสว่าง สิ่งอื่นใดเพื่ออำนวยความสะดวกอันเป็นส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ล้วนมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า จึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับค่าเช่าทรัพย์สินที่ค้างชำระตามมาตราดังกล่าว
        การที่บันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่าระบุว่า โจทก์และจำเลยประสงค์จะยกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่าโดยตกลงโอนเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าไปเป็นเงินประกันสัญญาเช่าพื้นที่ สัญญาสิทธิการได้ใช้บริการอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภค และสัญญาให้บริการภายในอาคาร ที่จะทำขึ้นต่อไป แล้วคืนเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าที่เหลือแก่จำเลย จึงได้ทำบันทึกและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยานนั้น แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยตกลงว่าจะต้องทำสัญญายกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่ากันเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่า ย่อมถือไม่ได้ว่าได้มีการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว กรณีหามีผลเป็นการเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่าทันทีไม่
        สัญญาจองสิทธิการเช่าจะบันทึกสัญญาเช่า ซึ่งจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากรหรือไม่ก็ตาม แต่จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาจองสิทธิการเช่าตามฟ้องกับโจทก์ มิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของสัญญาจองสิทธิการเช่าดังกล่าว แม้สัญญาจองสิทธิการเช่าดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

        เช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัว  เป็นการเช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 537

        คำพิพากษาศาลฎีกา3341/2536เงื่อนไขในสัญญาเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัวกำหนดให้ผู้เช่าชำระค่าใช้บริการภายในวันที่ 10 ของเดือนทุกเดือนและหากผู้เช่าไม่ประสงค์จะใช้บริการ ผู้เช่าต้องแจ้งบอกเลิกการเช่าให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน ดังนั้น การที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าติดต่อกัน 2 เดือน แต่มิได้บอกเลิกการเช่าเป็นลายลักษณ์อักษรจึงถือไม่ได้ว่าสัญญาการเช่าใช้บริการเลิกกัน ข้อสัญญาที่ระบุว่า ถ้าครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าไม่บอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าผู้เช่าได้ตกลงเช่าต่อไปก็ดีและข้อที่ระบุว่า อนึ่ง การระงับบริการอันเนื่องจากการผิดสัญญาของผู้เช่าเอง ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าระหว่างระงับบริการนั้นก็ดี ข้อสัญญาทั้งสองข้อหาใช่เป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบไม่เป็นธรรมแก่จำเลยแต่ประการใดไม่ เพราะเป็นเพียงกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาอันจะพึงปฏิบัติต่อกันเท่านั้น จำเลยเป็นฝ่ายเลือกใช้บริการ หากเห็นว่าข้อสัญญาของโจทก์เอาเปรียบก็เลือกใช้บริการที่อื่นได้ การที่จำเลยไม่ใช้บริการของโจทก์ แต่ก็มิได้บอกเลิกสัญญานำเครื่องวิทยุติดตามตัวไปคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำเครื่องวิทยุดังกล่าวไปให้ผู้อื่นเช่าต่อไปได้ ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ ข้อสัญญาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นธรรม หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

advertisement


        สัญญาเช่าทรัพย์สิน ที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา มีลักษณะเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป เช่น ทำสัญญาเช่าโดยผู้เช่ายอมก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของผู้เช่า แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา12803/2557ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. ที่กำหนดให้บริษัท ต. ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของบริษัท ต. แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้บริษัท ต. มีสิทธิเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี หรือจะนำบุคคลอื่นมาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก็ได้ โดยบริษัท ต. ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากบริษัท ต. ผิดสัญญายอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีเช่นนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่ในสัญญาดังกล่าว ข้อ 10 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าบริษัท ต. ผิดสัญญาข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อปรากฏว่าบริษัท ต. ค้างชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาข้อ 7 โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่จำเลยเช่าช่วงอาคารพาณิชย์พิพาทจากบริษัท ต. และเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บริษัท ต. โดยชอบแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาทอีกต่อไป การที่จำเลยอยู่ต่อมาโดยโจทก์ไม่ยินยอมจึงเป็นละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

        สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท

        คำพิพากษาศาลฏีกา7894/2553การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่าโดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่ ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไปข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันธ์

        คำพิพากษาศาลฎีกา454/2552 สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท เว้นแต่โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจะได้ตกลงยินยอมผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแทนผู้ให้เช่าเดิม ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้โจทก์จะทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างจำเลยกับบริษัท ม. ในขณะรับโอนที่ดินพิพาท สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาก็ไม่ผูกพันโจทก์ และไม่ถือว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต

advertisement


        สัญญาเช่าทรัพย์สิน ที่ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา 

        คำพิพากษาศาลฎีกา2566/2556สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาธรรมดา ต้องเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป การที่จำเลยอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์เพื่อจัดทำโครงการศูนย์การค้าในวงเงิน 27,000,000 บาท แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ขอสินเชื่อได้เป็นคราว ๆ ไป โดยให้โจทก์ทำสัญญากู้ไว้แก่จำเลย ดังนั้น จำนวนวงเงินที่โจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลย เป็นแต่เพียงจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากจำเลยเท่านั้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอนเพื่อผูกพันจำเลยตามที่ได้อนุมัติไว้แต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาสนับสนุนโครงการศูนย์การค้าของโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา

        คำพิพากษาศาลฏีกา8361/2561การที่จำเลยลงทุนตกแต่งปรับปรุงอาคารพิพาท แม้เป็นเงินจำนวนมากก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้การประกอบกิจการร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ของจำเลย เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าของกิจการกำหนดอันเป็นประโยชน์ของจำเลยเอง ประกอบกับสัญญาเช่ามีข้อตกลงด้วยว่า "การให้เช่าพื้นที่ต่อไปเมื่อหมดอายุสัญญานี้จะมีหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของผู้ให้เช่า" แสดงว่า เมื่อครบกำหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่า จำเลยจะมีโอกาสเช่าอาคารพิพาทต่อเป็นปีที่ 4 และปีที่ 5 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพอใจของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว หากโจทก์ไม่ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลย สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลงทันทีอันมิใช่ลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทเป็นเวลา 5 ปี จึงรับฟังไม่ได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา703-704/2558สัญญาเช่ากำหนดระยะเวลาการเช่าเพียง 3 ปี และมีข้อตกลงเรื่องการต่อสัญญาไว้ในข้อ 10 ว่า ผู้เช่ามีสิทธิขอต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก 1 ช่วง คือต่ออีก 3 ปี แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและอัตราค่าเช่าซึ่งผู้ให้เช่าและผู้เช่าได้ทำความตกลงร่วมกัน และโดยที่ผู้เช่าจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งความประสงค์เช่นว่านั้นให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันครบกำหนดอายุการเช่าตามสัญญานี้ ทั้งนี้อัตราค่าเช่าใหม่จะต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเช่าเดิมที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ ไม่มีข้อความบ่งบอกว่ามีข้อตกลงพิเศษที่จำเลยให้โจทก์เช่าไปจนกว่าโจทก์ประสงค์จะเลิกเอง และตามสัญญาเช่านี้ นอกจากผลประโยชน์ที่จำเลยจะได้รับจากโจทก์เป็นค่าเช่าตามที่กำหนดไว้แล้ว จำเลยไม่ได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากโจทก์อีก ส่วนที่โจทก์ใช้เงินลงทุนไปกว่า 3,000,000 บาท ทำให้ร้านค้าของโจทก์เป็นร้านค้าที่ทันสมัย ลูกค้าที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลของจำเลยได้รับความพึงพอใจ ช่วยให้โรงพยาบาลของจำเลยเจริญรุดหน้านั้น สิ่งที่โจทก์ลงทุนไปเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เอง หากลูกค้ามีความพึงพอใจโจทก์ก็ย่อมได้รับผลประโยชน์ในทางธุรกิจมากขึ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้กิจการของจำเลยซึ่งเป็นการประกอบกิจการโรงพยาบาลเจริญรุดหน้าแต่อย่างใด สัญญาเช่าพื้นที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

        คำพิพากษาศาลฎีกา4899/2551ข้อตกลงที่จะยินยอมให้โจทก์ทั้งสองระบุจำนวนค่าเช่าให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยตามกฎหมายนั้น ย่อมเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยจึงไม่อาจยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในคดีได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้มาเบิกความหักล้างข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวก็ตาม จำเลยและสามีเช่าอาคารพิพาทเพื่อทำเป็นห้องอาหารและห้องเล่นสนุกเกอร์ แม้จะใช้เงินลงทุนปรับปรุงอาคารถึง 7,000,000 บาท แต่ก็เป็นการลงทุนปรับปรุงอาคารเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจำเลยและสามีเองยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
        เมื่อสัญญาเช่าตามฟ้องครบกำหนดระยะเวลาและโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไปแล้ว การอยู่ในอาคารพิพาทต่อมาของจำเลยจึงเป็นการละเมิดโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายนับแต่วันผิดสัญญาถึงวันฟ้องและนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากอาคารพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสองนั้นชอบแล้ว

        แม้การเช่าที่ดินพิพาทจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่โจทก์ในฐานะผู้เช่าก็ยังต้องมีหน้าที่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยผู้ให้เช่าตามสัญญา

    
    คำพิพากษาศาลฎีกา11419/2557แม้การเช่าที่ดินพิพาทจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่โจทก์ในฐานะผู้เช่าก็ยังต้องมีหน้าที่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยผู้ให้เช่าตามสัญญา ไม่เช่นนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อความปรากฏว่าในคดีเรื่องก่อนที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องขับไล่เพราะโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซึ่งจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้วนั้น คดีถึงที่สุดให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีเรื่องก่อนจึงต้องผูกพันไปตามคำพิพากษาในคดีเรื่องก่อนอันถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยซึ่งจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันเสียแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำมาอ้างเพื่อขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้อีก

advertisement


        คำมั่นจะให้เช่าที่จะให้ต่อสัญญาเช่าอีก เป็นเพียงข้อตกลงที่แยกต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่า และคำมั่นจะให้เช่าไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ระบุให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา3078-3079/2552แม้คำมั่นจะให้เช่าจะผูกพันผู้ให้เช่าในอันที่ต้องยอมให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินต่อไปอีก และผู้ให้เช่าไม่อาจถอนคำมั่นนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามคู่สัญญาในอันที่จะตกลงกันยกเลิกคำมั่นนั้นเสียได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงยกเลิกข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทนเกี่ยวกับคำมั่นนั้นเสียแล้ว คำมั่นดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปภายหลังครบกำหนดเวลาเช่าได้อีก อีกทั้งการตกลงกันยกเลิกคำมั่นดังกล่าวก็หาใช่การที่จำเลยถอนคำมั่นเพียงฝ่ายเดียวอันจะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะกรรมดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่
        แม้สัญญาเช่าที่ดินพิพาทจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม แต่ข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทน ข้อ 3 ท้ายสัญญาเช่าเป็นคำมั่นที่จำเลยให้โอกาสแก่โจทก์ในอันที่จะต่อสัญญาเช่าได้อีกเท่านั้น จึงเป็นเพียงข้อตกลงที่แยกต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าได้ และคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ระบุให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญก็มีผลใช้บังคับได้แล้ว ดังนั้นเมื่อคำมั่นจะให้เช่าไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การทำบันทึกยกเลิกคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์

    คำพิพากษาศาลฎีกา1062/2539  คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อของโจทก์เป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจาซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมแม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมและเกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ก็ตามแต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญจำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับให้โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา538 สัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลา20ปีนับแต่วันที่13สิงหาคม2515จึงสิ้นสุดในวันที่13สิงหาคม2535โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา564การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วเพียง4วันแสดงว่าโจทก์ทักท้วงไม่ยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำต้องมีการบอกเลิกสัญญากันอีก

       ที่ผู้เขียนนำเสนอ จะเป็นประเด็นหลักๆที่จะเป็นข้อพิพาทเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป 


******************   
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น