วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ถูกสืบสวนข้อเท็จจริงหรือถูกสอบสวนวินัย ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งได้หรือไม่

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


        ถูกสืบสวนข้อเท็จจริงหรือถูกสอบสวนวินัย ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งได้หรือไม่ ถ้าเป็นนักกฎหมายหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่นิติกรของหน่วยงาน ย่อมทราบคำตอบเป็นอย่างดี แต่ในฐานะของผู้ถูกกล่าวหา ที่ถูกแต่งต้ังคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือถูกแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัย ก็มีความคับข้องใจอยากที่จะนำเรื่องไปฟ้องคดี เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจากการถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน มีผลมาจากการถูกร้องเรียนกล่าวหา ซึ่งอาจจะมีมูลหรือไม่มีมูลความจริง แต่รู้สึกอับอายและมีความวิตกกังวลพอสมควร

         การสืบสวนข้อเท็จจริง เป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องเรียน เพื่อที่จะทราบรายละเอียดของเรื่องและหลักฐาน นำมาพิจารณาพิเคราะห์ว่ามีมูลกรณีที่ควรกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยหรือไม่ ขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริงอจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน ยังไม่เป็นการกระทำที่กระทบสิทธิต่อผู้ที่ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง  ยังไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 638/2547) 

        ผู้ที่ทำหน้าที่กรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแต่งตั้งนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติของเป็นคณะกรรมการไว้  เจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจ พิจารณาแต่งตั้งได้ตามความเหมาะสม  แต่ก็อาจถูกคัดค้านในเรื่องในของความเป็นธรรมและเป็นกลางได้ เพราะหากกรรมการไม่มีความเป็นธรรม ไม่เป็นกลาง ข้อเท็จจริงและหลักฐานที่รวบรวมได้อาจไม่ถูกต้องแท้จริงตามเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นของคณะกรรมการสืบสวน ถ้าไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนในการทำความเห็นดังกล่าว ก็ไม่อาจรับฟังและเชื่อถือได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการทำความเห็นนอกเหนือไปจากพยานหลักฐาน  แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เชื่อตามความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ทำความเห็นนอกเหนือจากพยานหลักฐาน จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการทางวินัย จะมีผลเป็นการกระทำสิทธิหรือไม่ 

(คลิกโฆษณา)

        คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการทางวินัย เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา เพื่อทราบข้อเท็จจริง หรือพิสูจน์ความผิด เพื่อจะลงโทษผู้กระทำผิด ถือเป็นขั้นตอนการดำเนินการก่อนมีคำสั่งลงโทษ จึงยังไม่เป็นกระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง(คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 177/2546)และคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 733/2548) ดังนั้น แม้ผู้สั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เชื่อความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ทำความเห็นชี้มูลกรณีนอกเหนือไปจากพยานหลักฐาน จนมีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมกรสอบสวนทางวินัย ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังไม่ได้รับการกระทบสิทธิ เนื่องจากในการสอบสวน ผู้ถูกกล่าวหายังได้รับสิทธิประโยชน์จากราชการเหมือนเดิม และยังมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้

        ถ้าคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เกิดจากเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีอำนาจแต่งตั้ง หรือแต่งตั้งกรรมการที่มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนด เมื่อเป็นเช่นนี้ ถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มีผลเป็นการกระทำกระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.28/2547) โดยการใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์วิธีการและขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ทั้งต้องไม่เป็นการกระทำโดยการกลั่นแกล้งหรือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ หากการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งนั้นต่อศาลได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 310 /2545)

        ดังนั้น การถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัย ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งได้หรือไม่ ก็เป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยของศาลที่กล่าวไว้ข้างต้น


วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สิทธิฟ้องคดีปกครองของทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี




       สิทธิฟ้องคดีปกครองของทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย   เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เดียว เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบ้ติหน้าที่ราชการ และเกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้เป็นทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย ที่ควรจะรู้และเข้าใจ โดยผู้เขียนได้พบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่มีการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไว้ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางของผู้เป็นทายาทของผู้ถูกดำเนินการทางวินัย จะนำมาเป็นแนวทางในการฟ้องคดีปกครอง ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ก็สามารถนำมาเป็นแนวทางในการต่อสู้คดีได้ โดยมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 245/2548 และคำสั่งที่ 353/2549 ดังนี้

        คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 245/2548 ผู้ฟ้องคดีเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ส. และอยู่ในระหว่างร้องขอต่อศาลยุติธรรมเพื่อขอให้ศาลสั่งให้นาย ส. เป็นคนสาบสูญ เนื่องจาก นาย ส. ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือถึงแก่ความตาย หากผู้ฟ้องคดีมีหลักฐานหรือพิสูจน์ได้ว่า นาย ส.ถึงแก่ความตาย โดยความตายนั้นมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากได้ละทิ้งหน้าที่ราชการเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร คำสั่งลงโทษ นาย ส.ออกจากราชการย่อมเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองก็จะมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 รวมทั้งเงินสะสม เงินสมทบ หรือผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังนั้น จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จากคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองหรือวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

        คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 353/2549 ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นภรรยาและบุตรของ นาย จ.ซึ่งถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่นาย จ.ได้ถึงแก่ความตายระหว่างที่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เห็นว่าการสอบสวนและการลงโทษ นาย จ.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่นาย จ.ออกจากราชการ และขอให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินบำนาญปกติที่ถูกชะลอการจ่าย และให้ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญตกทอดของนาย จ. จึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากคำสั่งลงโทษไล่นาย จ.ออกจากราชการ เนื่องจากไม่ได้รับเงินบำนาญปกติและเงินบำเหน็จตกทอดของ นาย จ. 

(คลิกโฆษณา)

        จากคำสั่งของศาลดังกล่าว แยกเป็นประเด็นที่จะศึกษาได้ดังนี้

        1. สิทธิที่จะฟ้องคดีปกครองของทายาท ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ตามหลักกฎหมายของผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีปกครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 

       2. การถูกดำเนินการทางวินัยในที่นี้ จะต้องสิ้นสุดจนมีคำสั่งลงโทษทางวินัยแล้ว  เนื่องจากการถูกสอบสวนทางวินัยนั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการสอบสวน คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ยังไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธิปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่มีผลเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นเพียงกระบวนการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งในที่นี้ก็คือ คำสั่งลงโทษทางวินัยนั่นเอง  โดยประเด็นนี้มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้หลายคดี เช่น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 737/2549  และที่ 126/2550 เป็นต้น ซึ่งตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เป็นคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการที่ทำให้ผู้ถูกลงโทษไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  รวมทั้งเงินสะสม เงินสมทบ หรือผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินดังกล่าว

      3.สิทธินั้นจะมาถึงทายาทได้ ผู้ถูกลงโทษทางวินัยผู้นั้น ต้องถึงแก่ความตายแล้ว โดยอาจเป็นกรณีผู้ถูกลงโทษได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการแล้ว ถึงแก่ความตาย หรือผู้ถูกลงโทษได้ตายระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงเวลาของการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย เช่น ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลตาม คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 353/2549   

     4.ต้องเป็นทายาทของผู้ถูกลงโทษทางวินัย ซึ่งคำว่า "ทายาท" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มีทายาท 2 ประเภท คือ ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม" หรือทายาทโดยพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม" 

       ทายาทโดยธรรม  มีหกลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่งดังล่าว คือ (1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3)พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4)พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (5) ปู่ย่าตายาย (6) ลุงป้าน้าอา  และคู่สมรส(เฉพาะที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย) ที่ยังมีชีวิตก็เป็นทายาทโดยธรรมเช่นเดียวกัน 

                                                                        (คลิกโฆษณา)

        ฉะนั้น เมื่อผู้นั้นถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ทำให้ผู้นั้นไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 รวมทั้งเงินสะสม เงินสมทบ หรือผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเมื่อผู้ถูกลงโทษได้ตายไป ทำให้ทายาทไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดด้วย  ซึ่งหากเห็นว่าคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีการฟ้องคดีปกครองแล้ว ศาลเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว ก็จะทำให้ผู้นั้นกลับมามีสิทธิประโยชน์จากทางราชการต่อไปจะทำให้ทายาทได้รับบำเหน็จตกทอดจากทางราชการต่อไป 

        สำหรับทายาทโดยพินัยกรรม จะถือว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิฟ้องคดีปกครองในประเด็นนี้หรือไม่ ผู้เขียน ยังค้นหาแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในประเด็นนี้ไม่ได้ แต่มีความเห็นว่า ทายาทโดยพินัยกรรมจะมีสิทธิฟ้องคดีปกครองในประเด็นดังกล่าวได้หรือไม่ ต้องไปพิจารณาว่า พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 หรือพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ให้สิทธิทายาทโดยพินัยกรรม เป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดจากผู้ตายหรือไม่ 

         ก็เป็นการนำเสนอเพียง "สิทธิในการฟ้องคดีปกครอง" เท่านั้น  ส่วนประเด็นว่าจะชนะคดีหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหาก  ก็ถือว่าพอสมควรแก่เนื้อหาในประเด็นนี้ครับ ถ้าท่านใดอ่านแล้ว มีข้อคิดเห็นหรือมีหลักกฎหมายที่จะนำมาเพิ่มเติมในประเด็นนี้ได้ก็สามารถให้ข้อมูลผู้เขียนได้ครับ

        




วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ต้นไม้หักโค่นล้มเป็นเหตุให้รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ เรียกค่าเสียหายจากผู้ที่รับผิดชอบได้

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


            ห่างหายจากการนำเสนอบทความทางกฎหมายไปช่วงหนี่ง มาเดือนนี้ตุลาคม 2564 สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิท 2019 เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ดีขึ้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังเป็นหลักหมื่น แต่ความตื่นตกใจกลัว เริ่มลดน้อยลง ประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น  แต่ก็มีการเสนอข่าวว่าคนที่รับวัคซีนไขว้แล้วเสียชีวิต ซึ่งจะมีสาเหตุจากการรับวัคซีนหรือไม่นั้นต้องติดตามข่าวกันต่อไป สรุปก็คือโรคติดเชื้อไวรัสโควิท 2019 ก็น่ากลัว การไปฉีควัคซีนป้องกันโควิทก็น่ากังวลสำหรับบางคนว่าจะมีผลข้างเคียงหรือไม่ 

            มาถึงเรื่องบทความสำหรับครั้งนี้ เสนอหัวข้อเรื่อง "ต้นไม้หักโค่นล้มเป็นเหตุให้รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ เรียกค่าเสียหายจากผู้ที่รับผิดชอบได้ " เป็นเรื่องจริงจากแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.2/2563 ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานราชการเป็นผู้ดูแลรักษาพันธุ์ไม้ตามถนน เมื่อต้นไม้หักโค่นล้มลง เป็นเหตุทำให้รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ฟ้องเรียกให้ผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ 

            ในคดีนี้ มีข้อเท็จจริงว่า ผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารปรับอากาศลำปางได้รับความเสียหายจากการที่กรมทางหลวง กระทำประมาทในการดูแลรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงสายถนนพหลโยธิน เป็นเหตุให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ข้างทาง บริเวณร่องถนน หักโค่นล้มขวางหน้ารถยนต์ที่กำลังแล่นอยู่บนเส้นทาง ในระยะ 10 เมตร โดยพนักงานขับรถยนต์ต้องห้ามล้อในระยะกระชั้นชิด ทำให้รถยนต์เสียหลักพุ่งตกลงข้างทางเป็นเหตุให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย 

            ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงรวมถึงการดูแลรักษาพืชพันธุ์ต้นไม้ที่อยู่ในเขตทางหลวงและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในเขตทางหลวงตลอดจนการบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในเขตทางเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรมทางหลวง(อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 ประกอบกฎหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง) เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า แม้ในวันเกิดเหตุจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง แต่ปัจจัยที่ทำให้ต้นไม้หักโค่นลงมาจนทำให้เกิดอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าว เกิดจากฝนที่ตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ทำให้มีปริมาณน้ำขังสะสมอยู่ในบริเวณร่องกลางถนนเป็นจำนวนมากจนดินอ่อนตัวลงรากของต้นไม้ไม่สามารถยึดเกาะดินไว้ได้ เมื่อมีลมกระโชกแรงต้นไม้จึงหักโค่นล้มลงไปในบริเวณผิวทางจราจรทั้งสองด้านในระยะกระชั้นชิด จนเป็นเหตุทำให้รถยนต์เสียหลักพุ่งลงข้างทางได้รับความเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวกรมทางหลวงสามารถระมัดระวังป้องกันภัยได้โดยการจัดให้มีการตัดแต่งกิ่งต้นไม้และค้ำจุนต้นไม้ หรือตัดทำลายต้นไม้ที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงให้อยู่ในสภาพปลอดภัยในช่วงฤดูฝน เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เหตุอันจะให้ผลพิบัติที่ไม่สามารถป้องกันได้ อันถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กรมทางหลวงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด แม้กรมทางหลวงจะอ้างว่าได้ตรวจตราและบำรุงรักษาต้นไม้ รวมทั้งสภาพของดินเป็นพิเศษแล้ว แต่เห็นได้ชัดว่ายังหาเพียงพอที่จะป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ใช้ทางหลวงอื่นไม่ เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นจึงถือว่ากรมทางหลวง ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการดูแลรักษาบำรุงรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงเป็นเหตุทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ผู้ถูกฟ้องคดี(กรมทางหลวง) ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

            คดีดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิฟ้องหน่วยงานทางปกครอง จากการกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 

           ตามแนวคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว สามารถนำไปปรับใช้กับความเสียหายที่เกิดจากต้นไม้หักโค่นล้มที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของเอกชนได้ เช่น ต้นไม้ภายในโครงการหมู่บ้านที่มีนิติบุคคลดูแลอยู่ หรือต้นไม้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของบ้านหลังใดหลังหนึ่ง  ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้รับผิดชอบดูแลต้นไม้ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยแจ้งให้รับผิดชอบ หากไม่รับผิดชอบสามารถนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลแพ่งต่อไปได้  

           

ขอขอบคุณ     

        เอกสารแนวทางการปฏิบัติราชการ จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ประจำปี 2563 ของสำนักงานศาลปกครอง


วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 3

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


         ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก  ที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่  เจ้าหน้าที่นั้นต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว  โดยให้ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่นั้นโดยตรง จะฟ้องหน่วยงานไม่ได้  ซึ่งในความเป็นจริงในทางปฏิบัติ จะห้ามผู้เสียหายไม่ให้ที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ ผู้เสียหายอาจไม่เชื่อ  เพียงแต่เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาล การต่อสู้คดีของหน่วยงานรัฐต้องชี้ให้ศาลเห็นว่า การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลภายนอกนั้น มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละะเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่นั้นโดยตรงจะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้  ซึ่งถ้าศาลฟังข้อเท็จจริงตามที่หน่วยงานของรัฐให้การและพิสูจน์เชื่อว่าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลภายนอก มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จะยกฟ้องในส่วนที่มีการฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นจำเลย นั่นเอง


          ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ ความรับผิดของเจ้าหน้าที่นั้นพิจารณาเพียง เป็นการกระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น  ไม่ได้พิจารณาว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ในกรณีนี้ ความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่อายุความเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ใช้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคสอง ที่มีอายุความ 2 ปี นับแต่รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 
(คลิกโฆษณา)

          ในการเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่นั้น หน่วยงานของรัฐไม่สามารถใช้วิธีออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 12 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ ต้องบังคับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั่นคือฟ้องคดีเรียกให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากมาตรา 12 บัญญัติว่า "ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ให้แก่ผู้เสียหายตาม มาตรา 8 หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงาน ของรัฐตามมาตรา 10 ประกอบกับมาตรา 8 ให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด" โดยมาตรา 8 ใช้สำหรับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น  แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นยินยอมรับผิดและมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้หน่วยงานของรัฐเต็มตามจำนวนความเสียหายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฟ้องคดีต่อศาลบังคับให้ชดใช้แต่อย่างใด 

       

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 2

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี




        ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่ ๒ ในการนำเสนอตอนที่ ๑ ได้เสนอแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ที่คณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด จะต้องทำความเห็นเสนอผู้สั่งแต่งตั้ง พิจารณาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากการที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก หรือทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่โดยในการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการ จะต้องมีขั้นตอนการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด ได้ทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน ตามข้อ 15 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์แนวปฏิบ้ติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยต้องแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายและจำนวนที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย ไม่ใช่สอบข้อเท็จจริงในฐานะพยาน
         
          เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ตามบทบัญญัติกฎหมาย ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แต่ผู้เสียหายอาจเลือกใช้วิธียื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดสังกัดอยู่ เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ก็ได้ หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น จะต้องออกใบรับคำขอไว้ และต้องพิจารณาคำขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แล้วเสร็จภายใน  180 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาถึงจำนวนความเสียหาย จำนวนที่ต้องชดใช้และความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย โดยคณะกรรมการต้องดำเนินการและทำความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันเช่นเดียวกัน  ในกรณีดำเนินการไม่แล้วเสร็จและหน่วยงานของรัฐไม่สามารถพิจารณาคำขอได้ทันกำหนด 180 วัน และไม่ได้แจ้งเรื่องขอขยายเวลาพิจารณาให้ผู้เสียหายทราบ  ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ภายในกำหนด  90 วันนับแต่วันพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ได้มีการยื่นคำขอไว้  หรือเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายแล้ว ผุ้เสียหายยังไม่พอใจ ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในกำหนด 90 วันเช่นเดียวกัน โดยเมื่อมีการฟ้องคดี หน่วยงานของรัฐต้องประสานสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแก้ต่างคดีต่อไป

          การกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ในการปฏิบัติหน้าที่ การพิจารณาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลนอก ค่าสินไหมทดแทนต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ถ้าไม่เกินจำนวนตามประกาศ หน่วยงานของรัฐสามารถชดใช้ให้ได้ทันที แต่ถ้าเกินจำนวนที่กำหนดต้องส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณา 

         ถ้าเป็นการทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องพิจารณาด้วยว่าความเสียหายเกินกว่าจำนวนที่ประกาศกระทรวงการคลังที่กำหนดให้ไม่ต้องรายงานหรือไม่ ปัจจุบันถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ พ.ศ.2562 ที่มีความเสียหายครั้งละไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือเกิน 1 ล้านแต่เข้าเงื่อนไขตามประกาศที่ไม่ต้องรายงาน  เพราะถ้าความเสียหายเกินจำนวนที่กระทรวงการคลังกำหนด  ต้องมีการรายงานสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดภายใน 7 วันนับแต่มีการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดแล้วเสร็จ เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาสำนวนและมีความเห็น  ในขั้นตอนนี้ยังไม่สามารถออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ถ้าไปออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ก่อนที่จะมีการรายงานให้กระทรวงการคลังพิจารณาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

          เมื่อมีการรายงานกระทรวงการคลังแล้ว และยังไม่มีความเห็นมา ซึ่งก่อนจะครบกำหนดอายุความ 2 ปีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ให้มีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายตามความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดและผู้สั่งแต่งตั้งได้ เพราะอายุความเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่มีกำหนด 2 ปีนับแต่รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ซึ่งในที่นี้ก็คือวันที่ผู้สั่งแต่งตั้ง พิจารณาสำนวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด เกี่ยวกับความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของเจ้าหน้าที่และจำนวนเงินที่ต้องชดใช้

            คำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้กำหนดในเรื่องอุทธรณ์คำสั่งนี้ไว้  การอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 44 โดยยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ทำคำสั่ง ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว ถ้าไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งนี้ จะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้น ไม่อาจนำเรื่องไปฟ้องคดีปกครองได้ หรือยื่นอุทธรณ์แล้ว ยังไม่พ้นระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ทำคำสั่ง ก็ยังไม่สามารถนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ เพราะยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการแก้ไขความเดือดร้อนตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด  (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.161/2553)

            คำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น ในการออกคำสั่งจะต้องระบุถึงการอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้งและระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งไว้ด้วย  ถ้าคำสั่งดังกล่าว ไม่ได้ระบุไว้ต้องแจ้งใหม่ ระยะเวลาอุทธรณ์จึงเริ่มนับแต่วันที่มีการแจ้งเรื่องอุทธรณ์และระยะเวลาอุทธรณ์ใหม่  ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่ จะทำให้ระยะเวลาอุทธรณ์จากเดิมมีแค่ 15 วันจะขยายเป็น 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางกปกครอง พ.ศ.2539

            ก็จบสำหรับในตอนที่ 2 ให้ผู้อ่านติดตามตอนต่อไปของความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
 
            
           

            

         

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่1

  • บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



  •            บทความนี้ขอนำเสนอเรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ถือเป็นการทบทวนความรู้ความเข้าใจให้มีความแม่นยำขึ้น เพื่อให้มีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ  ในขณะเดียวกันก็มีความแม่นยำ หากต้องเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำความเห็นในสำนวนเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
           ละเมิด ถือตามองค์ประกอบของ มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นกระทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" การกระทำละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 จึงมีองค์ประกอบแบบเดียวกัน แต่เป็นการพิจารณาเฉพาะการกระทำของ"เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ที่เมื่อกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว หน่วยงานของรัฐ จะเข้ามาเป็นด่านหน้ารับผิดแทนเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จะต้องรับผิดและถูกเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
           การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 แบ่งออกเป็นเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก และเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งทั้งสองแบบจะมีทั้งกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ และมิใช่การปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งมีวิธิปฏิบัติในการเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้่คาสินไหมทดแทนแตกต่างกัน 
          การกระทำละเมิด เกิดจากการกระทำด้วยความ จงใจหรือประมาทเลินเล่อ  เมื่อเกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก ในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นหน้าที่ของหน่่วยงานของรัฐ ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก ตามความเสียหายที่มีการเรียกร้อง โดยบุคคลภายนอกผู้เสียหายจะยื่นฟ้องหน่วยงานเพือให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือจะยื่นคำขอต่อหน่วยงาน เพื่อขอให้ชดใช้ก็ได้ โดยมีอายุความในการเรียกร้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั่นคือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่รุู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายใน 10 ปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะมีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด เพื่อพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการพิจารณาถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นด้วย เพื่อการไล่เบี้ยภายหลังเมื่อหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ซึ่งคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องดังนี้



         คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 573/2549
         กรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกในการปฏิบัติหน้าที่ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ ผู้เสียหายใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ 2 ทาง กล่าวคือ ผู้เสียหายอาจฟ้องคดีต่อศาลขอให้พิพากษาให้ หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดอยู่ในสังกัดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี หรืออีกนัยหนึ่งภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันทำละเมิดทางหนึ่ง กับผู้เสียหายอาจยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดอยู่ในสังกัดให้ พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ตนอีกทางหนึ่ง และแม้กฎหมายจะมิได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ตนภายในระยะเวลาเท่าใด แต่ก็เป็นที่เห็นได้จากเหตุผลของเรื่องว่าผู้เสียหายจะต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดเช่นเดียวกับการฟ้องคดีต่อศาล

          เช่นเดียวกับการที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ  จนเกิดคามเสียหายในการปฎิบัติ เช่น  การทุจริต  การไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย การทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหายหรือสูญหาย เป็นต้น  การตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการ จะเป็นการพิจารณาว่า " กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่" ถ้าเป็นการกระทำทุจริต แน่นอนย่อมเป็นการกระทำด้วยความจงใจให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน ต้องรับผิดชดใช้เต็มจำนวนที่ทำให้เกิดความเสียหาย  กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบีบบ มีแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง เช่น 
           คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.37/2552 
           การที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการโดยไม่ได้ใช้ดุลพินิจจัดให้ข้าราชการเข้าพักอาศัยในบ้านที่ว่างอยู่ ถือเป็นการจงใจกระทำผิดต่อกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ ทำให้รชการได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.10/2554
          การที่ดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยไม่มีการนำราคาประเมินของทางราชการและราคาที่ดินที่เคยมีการซื้อขายกันจริงมาเปรียบเทียบ เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อที่ดินเกินกว่าที่ควรที่จะต้องเสีย ถือเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
         
          การกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มีแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง เช่น 
         คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.10/2552
         การกระทำโดยมิได้เจตนาแต่เป็นการกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และหากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้ แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้น 
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.554/2562 
        ...ไม่ระมัดระวังรอบคอบศึกษาระเบียบกฎหมายให้ดี จนเป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผลแห่งความประมาทเลินเล่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องเดินทางไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ตามหนังสือของคณะกรรมการที่แจ้งให้มาชี้แจง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนต่อคณะกรรมการ การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิของตน แม้จะสามารถทำคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งคณะกรรมการทางไปรษณีย์ได้ก็ตาม แต่ย่อมมีสิทธิเลือกวิธีที่จะมาโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน โดยมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ได้เช่นกัน การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่มีคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิด ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539..."




         คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 462/2551 
        การที่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้รถยนต์ของทางราชการ และนำรถไปจอดไว้ที่พักได้เฉพาะ กรณีจำเป็นเร่งด่วน หรือที่จอดรถของทางราชการไม่ปลอดภัย โดยจอดรถไว้นอกรั้วบริเวณหน้าบ้านพักทั้งที่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบ้านพัก เป็นเหตุให้รถยนต์ของทางราชการสูญหาย ถือเป็นการกระทำโดย ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 549/2551
         กรณีเจ้าหน้าที่ขออนุญาตใช้รถยนต์ และขออนุญาตนำรถของทางราชการมาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพัก ของตน ทราบว่าพนักงานขับรถไม่นำรถมาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของตนภายในเวลาอันสมควร แต่มิได้เอาใจใส่ ติดตามรถยนต์กลับคืนมาให้เพียงพอตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ควบคุมรถพึงกระทำ และมิได้รายงานให้ ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้พนักงานขับรถนำรถไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุ ถือว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเกิดจาก การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ควบคุมรถจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 50  
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 72/2552 อ. 73/2550 อ. 456/2550
        การที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บภาษีอากรและเงินผลประโยชน์ ของรัฐ ไม่จัดทำสมุดทะเบียนคุมเช็ค ตามระเบียบของทางราชการ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริต ยักยอกเงิน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ 13/2548
        การที่กรรมการตรวจการจ้างทำรายงานเสนอผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการเพิ่มและลดงานตามสัญญาจ้าง ก่อสร้างอาคาร โดยไม่เป็นไปตามระเบียบและไม่ตรวจสอบราคาที่แท้จริง จนเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับ ความเสียหาย เนื่องจากงานส่วนที่ลด มีราคาสูงกว่างานส่วนที่ผู้รับจ้างต้องทำเพิ่ม ถือเป็นการกระทำ โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ 214/2549
        การที่เลขานุการไม่ตรวจสอบใบเบิกเงินที่ผู้ช่วยเลขานุการนำเสนอ จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตยักยอก เงินของทางราชการไป ย่อมเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ 1287/2549
        การที่ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหนังสือเวียนกระทรวงการคลังที่กำหนดมาตรการป้องกัน การทุจริตในการนำเงินรายได้แผ่นดินส่งคลัง เป็นช่องทางให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการทุจริตยักยอกเงิน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.267/2550
        ผู้ควบคุมงานก่อสร้างมีหน้าที่จดบันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมเป็นรายวัน และผลการปฏิบัติงานเพื่อรายงานคณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์ การที่ผู้ควบคุมงานก่อสร้างไป ดูแลงานบางวัน และมิได้ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว ถือว่าผู้ควบคุมงานไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ 1022/2550 
        การที่คณะกรรมการตรวจการจ้าง ตรวจรับงานก่อสร้างอาคาร โดยไม่มีการปรับลดค่าจ้างก่อสร้างจาก การเปลี่ยนแปลงเสาเข็ม และการไม่ติดตั้งระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 


 
        คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ 254/2550 
        การที่เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตำแหน่งยามมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและทรัพย์สินของทางราชการ ได้หลับ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของทางราชการสูญหาย ถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครอง สูงสุด ที่ อ.338-339/2549
        ผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินของทางราชการโดยไม่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งที่ปรากฏข้อพิรุธโดย ชัดแจ้ง เช่น การที่กรรมการตรวจรับสินค้าลงชื่อตรวจรับสินค้าโดยไม่ตรวจสินค้าจริง 
         คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.362/2549
        กรณีได้รับอนุญาตให้น ารถราชการไปเก็บรักษาที่บ้านพักเป็นครั้งคราว แต่น าไปเก็บรักษาไว้เป็น ประจ าทุกวัน บ้านพักเป็นสถานที่ไม่รั้วรอบขอบชิด เป็นทางสาธารณะที่คนทั่วไปใช้ร่วมกัน เป็นเหตุให้รถ ดังกล่าวถูกขโมย  

         นอกจากคำพิพากษาดังกล่าว กรณีต่อไปนี้ ถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คือ  ทำผิดซ้ำๆในเรื่องเดียวกัน  ปฏิบัติผิดมาตรฐานวิชาชีพ  ฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ กฎ คำสั่ง ข้อบังคับ  กำหนดให้ปฏิบัติไว้แต่ไม่ได้ทำ หรือปฎิบัติตามนั้น  
          ยังมีคำพิพากษาศาลปกครองที่วินิจฉัยว่า " ผู้บังคับบัญชาลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมไว้ล่วงหน้าและไม่ทำลายใบเสร็จดังกล่าว ก่อนที่จะย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น จนทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำใบเสร็จไปเรียกเก็บเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตน ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
          การเบิกจ่ายเงินค่าจ้างทั้งที่ผู้รับจ้างไม่ได้ดำเนินการตามที่กำหนดในสัญญาเป็นการฝุาฝืนต่อระเบียบ ของทางราชการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

          ก็พอสมควร สำหรับการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พบกันใหม่ในบทความต่อไป 
         
          

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ยกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่สงวนสิทธิเรียกค่าปรับ เป็นการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



        ในเดือนสิงหาคม 2564 ยอดติดเชื้อไว้โควิท 2019 เริ่มลงมานิดหน่อย วันนี้อยู่ที่ 20,902 คน ก็เฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการกันต่อไป
        บทความวันนี้ จะนำเสนอประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.554/2562 เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง กรณี "ยกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่สงวนสิทธิเรียกค่าปรับ เป็นการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่" มาให้ทำความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ของผู้ทำสัญญาจ้างในฐานะผู้ว่าจ้าง และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ที่จะต้องรับผิดชดใช้ทางละเมิดให้กับราชการ กรณีที่มีการยกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่สงวนสิทธิในการเรียกค่าปรับไว้ ซึ่งในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี เป็นผู้ว่าจ้าง ฟ้องหน่วยงาน ให้เพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการไม่เรียกค่าปรับเมื่อบอกสัญญาจ้างก่อสร้าง และเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเดินทางและค่าจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายในการชี้แจ้ง โต้แย้งกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด การยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายและการดำเนินคดีปกครอง
        ข้อเท็จจริงในคีดนี้มีว่า หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้างกับนิติบุคคลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2542 ในวงเงิน 7,173,000บาท เมื่อทำการก่อสร้างมาระยะหนึ่ง มีการผิดสัญญาจ้างก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ นิติบุคคลที่เป็นผู้รับจ้าง จึงมีหนังสือแจ้งผู้ว่าจ้างขอให้ยกเลิกสัญญาจ้าง เพื่อหาผู้รับจ้างใหม่มาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างจึงประกาศยกเลิกสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2544 และได้จัดหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทนรายเดิม  ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  ได้ตรวจสอบงานจ้างก่อสร้างปรับปรุงฯ พบว่าสัญญาจ้างก่อสร้างปรับปรุงฯ ดำเนินการไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เนื่องจากไม่ได้เรียกค่าปรับจากการผิดสัญญาจ้าง เป็นเงินจำนวน 3,435,867 บาท โดยหน่วยงานได้ออกคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย จำนวน 3,077,192 บาท จึงให้ชดใช้ความเสียหาย เป็นเงิน 1,538,596 บาท  ซึ่งในระหว่างที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด  มีกฎหมายปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนราชการใหม่ และกฎหมายกำหนดให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ และภาระผูกพัน ถูกโอนไปอีกส่วนราชการหนึ่ง ทำให้มีประเด็นว่าการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ชอบหรือไม่ 




        ในคดีนี้ มีประเด็นที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติราชการได้คือ
        1.ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใด และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าว แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใข้
            ถ้าไม่ใช่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด แล้วไปออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด  มีผลตามคดีนี้ที่ศาลวินิจฉัยว่า "...ไม่ระมัดระวังรอบคอบศึกษาระเบียบกฎหมายให้ดี  จนเป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผลแห่งความประมาทเลินเล่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องเดินทางไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ตามหนังสือของคณะกรรมการที่แจ้งให้มาชี้แจง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนต่อคณะกรรมการ การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิของตน แม้จะสามารถทำคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งคณะกรรมการทางไปรษณีย์ได้ก็ตาม แต่ย่อมมีสิทธิเลือกวิธีที่จะมาโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน โดยมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ได้เช่นกัน การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่มีคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิด ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539..."   ถือว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาให้ถ้อยคำชี้แจงต่อคณะกรรมการฯได้ 
       2.กรณีผู้ว่าจ้าง ประกาศเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่สงวนสิทธิเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญาจ้าง (ประเด็นนี้ เข้าใจว่า ผู้ว่าจ้างไม่เคยปรับผู้รับจ้างมาก่อนเลยในระหว่างการผิดสัญญาจ้างก่อสร้าง และเมื่อบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว  เท่ากับไม่สามารถบังคับตามสัญญาจ้างได้อีกต่อไป จึงไม่สามารถอ้างสิทธิเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างได้  ดังนั้น ในการเลิกสัญญาจ้างกับผู้รับจ้าง จึงต้องมีข้อความขอสงวนสิทธิในการเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญาจ้างก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน......บาท จึงจะสามารถเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญาจ้างได้ กล่าวคือ มีหนังสือแจ้งให้ชำระค่าปรับ ถ้าไม่ชำระ สามารถนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลบังคับให้ชำระได้  และทำให้สามารถหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทนได้ ) ผู้ว่าจ้างและคณะกรรมการตรวจการจ้าง มีส่วนต้องรับผิดในความเสียหาย ตามจำนวนค่าปรับที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบและแจ้งว่าราชการเสียหายเป็นจำนวน 3,435,867 บาท   ซึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และผู้มีอำนาจ พิจารณาเห็นว่ามีความเสียหาย โดยให้ผู้ว่าจ้าง กับคณะกรรมการตรวจการจ้าง รับผิดชดใช้ค่าเสียหายคนละครึ่งจากความเสียหาย จำนวน 3,077,192 บาท โดยให้ผู้ว่าจ้าง กับคณะกรรมการตรวจการจ้าง รับผิดเป็นเงินคนละ 1,538,596 บาท  (ซึ่งบุคคลที่เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ต้องหารเฉลี่ยกันรับผิดในยอดเงิน  1,538,596 บาท)



        3.กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งต้องชี้แจงและโต้แย้งพยานหลักฐานกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และต้องอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายและดำเนินคดีปกครอง จึงฟ้องหน่วยงานเรียกค่าเสียหายจากการจ้างที่ปรึกษากฎหมาย และค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นของผู้ว่าจ้างและที่ปรึกษากฎหมายนั้น ศาลวินิจฉัยว่าไม่ใช่ผลโดยตรงจากการที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลเห็นว่าเป็นความสมัครใจ และการชี้แจง การอุทธรณ์ และการดำเนินคดีปกครอง สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง  
        4.ประเด็นฟ้องเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายและเรียกดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ต้องคิดตั้งแต่วันที่มีการทำละเมิด ตามมาตรา 206 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถ้าฟ้องเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยคิดตั้งแต่วันฟ้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาและมีคำสั่งได้ไม่เกินคำขอท้ายฟ้อง กล่าวคือศาลไม่อาจสั่งให้คิดดอกเบี้ยย้อนไปนับแต่วันทำละเมิด
       5. คดีนีัมีประเด็นที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง คือ หน่วยงานใดจะเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งการไม่พิจารณาบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างส่วนราชการและกฎหมายที่กำหนดให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ งบประมาณ หนี้ สิทธิ และภาระผูกพันไปยังหน่วยงานให้ชัดเจน  การมอบอำนาจให้แต่งตั้ง จะมีผลต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 
       6.การที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เหมือนเช่นตามแนวคำพิพากษาในคดีนี้ หน่วยงานจะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ต้องมีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และมีการพิจารณาวินิจฉัยจากผู้มีอำนาจว่าเป็นการกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงจะสามารถมีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539  ซึ่งขั้นตอนก่อนมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ถ้าความเสียหายมีจำนวนเงินไม่เกินประกาศกระทรวงการคลังกำหนด ให้มีคำสั่งชดใช้ได้โดยไม่ต้องรายงานกระทรวงการคลัง  แต่ถ้าความเสียหายเกินจำนวนเงินตามประกาศกระทรวงการคลัง จะต้องมีการรายงานภายใน 7 วันนับแต่วันที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัย และรอคำตอบจากกระทรวงการคลัง โดยให้เตรียมการออกคำสั่งไว้ (ขั้นตอนนี่้ หากออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนรายงานกระทรวงการคลัง คำสั่งเรียกให้ชดใช้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) แต่ถ้ากระทรวงการคลังไม่ตอบและจะมีกำหนดอายุความเรียกร้องใกล้จะครบ 2 ปีนับแต่วันที่ผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ผู้มีอำนาจสามารถออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่ต้องรอคำตอบจากกระทรวงการคลัง 
        แต่ถ้าการทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องฟ้องคดีทางแพ่ง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจะขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน  (ข้อนี้ ไม่ใช้อายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่ง เนื่องจากมีมาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ บัญญัติไว้) 
      กรณีหน่วยงาน เห็นว่าเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลัง ตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีกำหนดอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

        ก็พอสมควรแก่ความรู้และการนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไปได้ครับ สนใจเข้าไปค้นหาคำตอบในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.554/2562 ที่เผยแพร่อยู่ที่เว็ปไซต์ของสำนักงานศาลปกครองครับ

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ฟ้องซ้ำ

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

ฟ้องซ้ำ

            ฟ้องซ้ำ เป็นบทบัญญัติกฎหมายห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน กล่าวคือ เหตุที่เป็นมูลคดีที่เกิดขึ้นจากกระทำในครั้งเดียวกัน ตัวบทที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 148 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความแพ่ง บัญญัติว่า "คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน  เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

            (1) เมื่อเป็นกระบวนพิจรณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
            (2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
            (3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยอายุความ"

            คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดเมื่อใดนั้น มีตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 147 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีความขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านเป็นต้นไป   คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ถ้าได้มีอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่่ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาหรือศาลชั้นต้น ซึ่งพิจารณาคดีเรื่องนั้นใหม่ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 132 คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้น ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ..."

            จากบทบัญญัติกฎหมาย คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จะถึงที่สุดได้มีหลายกรณี ซึ่งอาจถึงที่สุดได้ในชั้นศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์ ตามเงื่อนไขของบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ใช่จะถึงที่สุดชั้นศาลฎีกาเสมอไป

            ฟ้องซ้ำ จะต้องประกอบด้วย คู่ความเดียวกัน  ฟ้องเรื่องเดียวกัน ประเด็นที่ฟ้องเป็นประเด็นเดียวกับที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดได้วินิจฉัยไว้  และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 148 (1)-(4) มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา เช่น

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7476/2562 คำฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิม ซึ่งเมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมจนศาลมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว การที่คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวนเดิมกับที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมก่อนคดีในชั้นบังคับคดีนั้นจะถึงที่สุด และแก้ไขคำฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทในคดีเดิมแก่โจทก์เมื่อคดีในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมถึงที่สุดแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ใช่การยื่นคำร้องหรือคำฟ้องในกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่จะเข้าข้อยกเว้น ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (1) แต่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีเดิมได้วินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม

advertisement


            คำพิพากษาศาลฎีกา 4726/2562 การที่โจทก์ได้สิทธิความเป็นเจ้าของรวมในที่ดินในฐานะผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 10 ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 10 โอนที่ดินส่วนของจำเลยที่ 10 แก่โจทก์ ย่อมหมายความว่า สิทธิในที่ดินของจำเลยที่ 10 มีอยู่ในขณะที่จะขายเป็นต้นไปเพียงใด โจทก์ย่อมรับโอนสิทธิของจำเลยที่ 10 มาเพียงนั้น ซึ่งรวมถึงหน้าที่ของจำเลยที่ 10 ในฐานะเจ้าของรวมที่ต้องจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 10 ครอบครองเป็นส่วนสัดให้แก่จำเลยที่ 1 และเจ้าของรวมคนอื่นตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ส.656/2549 ของศาลชั้นต้นด้วย ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้สืบสิทธิของจำเลยที่ 10 ที่ต้องผูกพันตามผลของคดีดังกล่าว
            การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินส่วนของจำเลยที่ 10 และถือเป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ส.656/2549 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 10 หยิบยกข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 10 มิได้ตกลงยินยอมให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันมากล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยทบทวนอีก ย่อมเป็นการซ้ำซ้อนกับข้อวินิจฉัยในคดีดังกล่าว และมีผลให้ขัดแย้งกับกระบวนการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้วในคดีดังกล่าว เป็นการรื้อร้องฟ้องในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปและถึงที่สุดแล้ว คดีโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ

            คำพิพากษาศาลฎีกา 4716/2561โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินทรัพย์มรดกระหว่าง ต. ผู้จัดการมรดกกับจำเลย โดยอาศัยข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีก่อน แม้อ้างเหตุเพิกถอนว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ก็ด้วยประสงค์ให้ที่ดินกลับสู่กองมรดก และนำมาแบ่งปันแก่โจทก์รวมทั้งทายาทอื่น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคดีนี้และคดีก่อนจึงเป็นข้ออ้างเดียวกัน คือ การโอนที่ดินระหว่าง ต. กับจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้คดีก่อนศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยเพราะขาดอายุความ แต่ก็ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดก การที่ ต. โอนที่ดินให้จำเลยมิใช่การปิดบังยักยอกทรัพย์มรดก และไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินแทนโจทก์ ย่อมถือได้ว่าคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องกันแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำ

            กรณีมีการแจ้งความดำเนินคดีอาญา พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน พนักงานอัยการยื่นฟ้องและมีคำขอให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคา โดยผู้เสียหายได้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ คำขอให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคา ถือเป็นคำขอทางแพ่ง คำขอนั้นถือเป็นคำฟ้องในคดีแพ่ง เมื่อคดีอาญายกฟ้องโดยศาลวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานองโจทก์มีข้อสังสัย เมื่อความรับผิดทางแพ่งเกิดขึ้นจากมูลกระทำความผิดอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญา โดยเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงเป็นฟ้องซ้อนได้  เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3390/2562 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสบคบกันหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเสนอขายฝากโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาขายฝากในราคา 1,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคาเพียง 500,000 บาท แล้วหลอกลวงโจทก์ว่าทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคา 1,500,000 บาท โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท โจทก์ร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกง โจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา ต่อมาคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองและพิพากษายกฟ้อง เท่ากับว่าได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงเท่ากับยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งไปแล้วด้วย ข้อเท็จจริงในคดีอาญานั้นจึงผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างถึงคดีอาญาดังกล่าวไว้ชัดเจน และขอติดตามเอาทรัพย์คืน 1,000,000 บาท ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงิน 1,000,000 บาท ไปจากโจทก์หรือไม่ จึงเป็นประเด็นเดียวกับคดีอาญาดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

advertisement



           กรณีไม่เป็นฟ้องซ้ำ เนื่องจากประเด็นแห่งคดีในคดีที่ยื่นฟ้อง ไม่ใช่ประเด็นเดียวกันกับคดีเดิมที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว เช่น 

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6411/2562 คดีก่อนโจทก์ถูกจำเลยฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้พิพากษาให้ขับไล่จำเลยหรือให้จำเลยรื้อถอนออกไป ดังนี้ ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกพันจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับโจทก์ในคดีนี้ ารที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทโดยไม่ได้มีประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

            คำพิพากษาศาลฎีกา 2854/2561 คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษาให้หย่า จึงจะมีการแบ่งสินสมรสว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และสินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นคดีก่อนจึงต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ ต้องแบ่ง จึงถือไม่ได้ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับสินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน

        คำพิพากษาศาลฎีกา7807/2559 ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เสียหายผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 44/1 ซึ่งถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง แต่ศาลพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนกระทำความผิดขับรถโดยประมาทด้วย ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์เป็นมารดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจในการจัดการแทนผู้ตายของโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตามประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีส่วนแพ่ง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน จึงไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

            เรื่องฟ้องซ้ำ ตามมาตรา 148 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่นำไปใช้กับการดำเนินคดีอาญา เนื่องจากในคดีอาญา มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)  ซึ่งบัญญัติว่า "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง" เมื่อเป็นคู่ความเดียว มูลคดีเกิดจากกระทำครั้งเดียวกัน ประเด็นที่ฟ้องมีประเด็นเดียวกันกับที่ศาลวินิจฉัย ซึ่งในคดีอาญา คำว่า "คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง หมายถึง คำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ได้มีการวินิจฉัยและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในศาลชั้นต้นแล้ว เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา3665-3666/2562 การปลอมหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนและการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารออกใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไม้พะยูงจำนวนและปริมาตรตามที่ระบุไว้ในหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และ จ. ในความผิดฐานร่วมกันนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้อง จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225


advertisement




        คดีอาญา กรณีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 5391/2562 ในคดีก่อน ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ในการกระทำอันเดียวกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้งดสืบพยานโจทก์ ให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คำพิพากษายกฟ้องในคดีก่อนจึงเป็นอันถูกยกเลิกเพิกถอนไป ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)(การประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2562)

            คำพิพากษาศาลฎีกา 5069/2562 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่5069/2562 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน

            ปัญหาฟ้องซ้ำ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่คู่ความอีกฝ่ายสามารถยกขึ้นให้ศาลวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ที่บัญญัติว่า " เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งใหมีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านั้นแล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบี้องต้นในปัญหานั้น " 

            กรณีที่คู่ความไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในศาลชั้นต้น สามารถยกขึ้นกล่าวได้ในชั้นอุทธรณ์ ตามมาตรา 225 ที่บัญญัติว่า "ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบโดยศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการงินิจฉัยด้วย  ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาอันเกียวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใดๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องใหกระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ " ในชั้นศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247  เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3452/2562 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้อง และเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวและพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กล่าวแก้ปัญหาเรื่องอายุความ และฟ้องซ้ำในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ส่วนฟ้องซ้ำ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้มีการโต้แย้งในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกเป็นประเด็นในชั้นฎีกา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 (ฎีกาแสดงถึงฟ้องซ้ำ ศาลวินิจฉัยว่าเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน )

            คำพิพากษาศาลฎีกา 91/2562 ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ  (ฎีกานี้ แสดงถึงการที่คู่ความยกข้อกฎหมายในศาลวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 24)

advertisement




         กรณีข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความไม่ได้ยกขึ้นอ้าง แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล  ศาลเห็นเอง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามมาตรา 142 (5) ที่บัญญัติว่า "ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ "  เช่น

             คำพิพากษาศาลฎีกา 1747/2562   ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) (ฎีกานี้ แสดงถึง ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) )

            คำพิพากษาศาลฎีกา 8840/2558 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งโจทก์ขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ จ. กับพวกตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นเป็นทรัพย์รายเดียวกัน โดยคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องให้ จ. กับพวกรับผิดตามสัญญากู้ยืมและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี แต่ จ. กับพวกไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์จำนองในคดีดังกล่าวออกขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ จ. กับพวกยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล จำเลยในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวว่า จำเลยมิใช่บริวารของ จ. กับพวกและอ้างว่า จำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อนโจทก์ รวมทั้งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. ในอันที่จะบังคับให้ จ. ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลย จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ และมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ประกอบด้วยมาตรา 142 (1) โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง คดีในชั้นบังคับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าวจึงถึงที่สุด จึงต้องฟังว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อน การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับในคดีก่อนนั่นเอง ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามไม่ให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

            ฟ้องซ้ำในคดีอาญา เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามมาตรา 195 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติว่า "ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น  ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม" 

           ในคดีอาญา กรณีที่คู่ความไม่ได้ยกข้อกฎหมายที่เกียวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นกล่าวอ้าง ศาลเห็นเอง ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 ซึ่งบัญญัติว่า " ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง "  
 
            คำพิพากษาศาลฎีกา 289/2560 โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
            โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้าย ณ. แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวว่า เป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่และปัญหาเรื่องฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

            คำพิพากษาศาลฎีกา 15572/2558 ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ แม้จำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
            โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์หาเงินมาชำระค่าขึ้นศาล เป็นการทิ้งฟ้องและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์โดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
            โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และฟ้องบังคับให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง แม้ไม่ได้ทำหนังสือตั้งให้เป็นตัวแทนก็ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง
            โจทก์สืบพยานบุคคลว่าผู้มีชื่อในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและในโฉนดเป็นตัวแทนของโจทก์นั้น หาได้สืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือตามความหมายใน ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) นั้นไม่ แต่เป็นการสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงหาใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่ประการใด

            
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1930/2558 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ผู้คัดค้านทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ได้ยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 เป็นของผู้คัดค้านทั้งสามที่ได้รับมรดกมาจาก ก. ขอให้ผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้คัดค้านทั้งสาม ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสามและผู้ร้องตกลงกันได้โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาตามยอมเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ระบุให้มีการรังวัดเนื้อที่ดินในโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 ให้ได้เนื้อที่ครบตามหน้าโฉนด หากปรากฏว่ามีที่ดินเหลือจากการรังวัดให้ถือว่าส่วนที่เหลือเป็นที่ดินของผู้ร้อง คดีถึงที่สุด ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดที่ดินกับมีการปักหลักเขตเรียบร้อยแล้ว การที่ผู้ร้องมาร้องขอครอบครองปรปักษ์ เป็นคดีนี้ซึ่งเป็นที่ดินที่เดียวกับที่พิพาทและมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามในคดีนี้กับโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่ต้องพิจารณาในคดีนี้กับคดีดังกล่าวก็เป็นประเด็นเนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ซึ่งผู้ร้องในคดีนี้มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็มิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ให้แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องกลับหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาฎีกาว่า ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาตามยอม หาได้เป็นการกระทบกระเทือนการครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องไม่ คำร้องขอของผู้ร้องไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้น จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
advertisement


***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ฟ้องซ้อน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


ฟ้องซ้อน


             บทความนี้ จะนำเสนอข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่ง  ในเรื่อง ฟ้องซ้อน  เพื่อเป็นการทบทวนความรู้ความเข้าใจ และรวบรวมแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องไว้ในบทความ เป็นเรื่องที่เคยศึกษามาแล้ว แต่เมื่อไม่ได้ใช้ จึงจำหลักไม่ได้ จึงขอรวบรวมไว้ เพื่อสามารถนำไปใช้ได้ต่อไป และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ 

            การฟ้องคดีแพ่ง เริ่มต้นเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจก็ได้ เป็นบทเริ่มต้นของการดำเนินคดีแพ่ง ถ้ายังไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่ต้องใช้สิทธิทางศาล ถือว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินคดีแพ่งแต่อย่างใด 

           การฟ้องคดีแพ่ง ห้ามมิให้ฟ้อง พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเป็นครั้งแรกในศาลหรือโดยศาลอื่นนอกจากศาลชั้นต้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งเป็นอย่างอื่น เป็นบทกฎหมายจำกัดห้ามไว้ คดีแพ่งต้องเริ่มที่ศาลชั้นต้นเสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายเป็นอย่างอื่น

            คดีมีประเด็นข้อพิพาทที่มีคู่กรณี การเสนอข้อหาของตนให้ทำเป็นคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น  คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น การบรรยายฟ้องจึงต้องครบถ้วนตามที่กล่าว นอกจากนี้เมื่อยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะตรวจคำฟ้องที่ได้ยื่นต่อศาลหรือส่งให้คู่ความ ถ้าศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่เข้าใจหรือเขียนฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่มีรายการ ไม่มีมีลายมือชื่อ ไม่แนบเอกสารต่างๆตามที่กฎหมายต้องการ หรือมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วน ศาลจะมีคำสั่งให้คืนให้ไปทำมาใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน ภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขใดๆ ตลอดจนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ ถ้ามิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น (มาตรา 18) คำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องนี้ อยู่ในบังคับของการอุทธรณ์ฎีกาได้ โดยไม่ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา การอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนี้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป

            ในชั้นตรวจคำฟ้อง  ศาลมีอำนาจตรวจสอบว่า คำฟ้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา มีคำขอบังคับ มีการอ้างมาตรากฎหมายที่จะบังคับตามข้อหานั้นหรือไม่ โดยศาลมีอำนาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น  หรือมีคำสั่งให้คืนไป หรืออาจมีคำสั่งให้ยกเสีย(ยกฟ้อง) การไม่รับคำฟ้อง อาจจะเป็นกรณีเป็นฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ หรือกระบวนพิจารณาซ้ำ ก็เป็นไปได้ แต่ถ้ามีคำสั่งให้ยกเสีย(ยกฟ้อง) แสดงว่าศาลได้มีการพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีกับพยานหล้กฐานแล้ว เมื่อไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาล กฎหมายให้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้

            คำสั่งของศาลที่ไม่รับคำฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง หรือคืนคำฟ้องให้ทำมาใหม่  หรือยกฟ้อง  ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ โดยไม่ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา การอุทธรณ์อยู่ในบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี (มาตรา 227 ) หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น การฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา  การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฏีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ แล้วศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาไปยังศาลฎีกา และศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยคำร้องนั้น (มาตรา 247)

             เมื่อยื่นคำฟ้องแล้ว ศาลมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา (มาตรา 172 วรรคสาม) ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้ว  หรือกรณีศาลไม่รับคำฟ้องหรือคืนคำฟ้องมาให้ทำใหม่ หรือยกเสีย แต่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นอยู่ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์หรือฎีกา ก็ยังถือว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา  ถ้ามีการเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกันหรือต่อศาลชั้นต้นศาลอื่น โดยโจทก์คนเดียวกัน มีประเด็นในเรื่องเดียวกัน จะถือว่าเป็นฟ้องซ้อน กับคำฟ้องที่อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะ


advertisement


            ฟ้องซ้อน มีตัวบทที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 173 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า "นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้  (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น และ .."

            ประเด็นจะเป็นฟ้องซ้อน จึงประกอบด้วย โจทก์คนเดียวกัน ฟ้องเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว หรือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องหรือยกฟ้องข้างต้น  จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคำฟ้องเดิมที่อยู่ระหว่างพิจารณา  มีแนวคำพิพากษาฏีกา เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา 2222/2562 คดีสองสำนวนก่อนกับคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายฉบับเดียวกันในคราวเดียวกัน จึงมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดียวกัน แม้คดีนี้จะมีคำขอที่แตกต่างกันไปโดยอ้างข้อตกลงในสัญญาตัวแทนจำหน่ายว่าภายหลังเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยมีหน้าที่รับคืนสินค้าแต่จำเลยไม่รับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นคำขอที่สามารถขอได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว เพราะการเรียกค่าเสียหายเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเลยเลิกสัญญาฉบับเดียวกัน และจำเลยมีหนังสือแจ้งการไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายไปยังโจทก์ พร้อมกับแจ้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้โจทก์ส่งมอบสินค้าในคลังสินค้าคืนแก่จำเลยตามราคาที่สั่งซื้อไปถึงสองครั้งแต่โจทก์เพิกเฉยและกลับไปฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นสองคดีก่อน แสดงได้ชัดเจนว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องคืนสินค้ากันก่อนฟ้องสองคดีก่อน และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกในคดีนี้สามารถเรียกได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว หรือหากมีความเสียหายเพิ่งปรากฏภายหลังฟ้องสองคดีก่อน โจทก์ก็สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายในสองคดีก่อนได้ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันใหม่เป็นคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

            คำพิพากษาศาลฎีกา 879/2559 คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนให้ออกจากที่ดินพิพาท คดีทั้งสามอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องในทั้งสามคดีดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงถือว่าโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นจำเลยร่วมในทั้งสามคดีตามที่จำเลยแต่ละคดีขอให้ศาลมีหมายเรียก ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 4 ในฐานะจำเลยร่วมอาจถูกบังคับตามคำฟ้องได้ มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งสามคดีด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นคู่ความในทั้งสามคดีดังกล่าวแล้วเช่นกัน ดังนั้น คู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีทั้งสามจึงเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และจำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันกับคดีทั้งสามว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้กับคดีทั้งสามจึงมีอย่างเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 4 โจทก์คดีก่อนอาจเรียกค่าเสียหายอย่างที่เรียกคดีนี้ได้จากคดีก่อนอยู่แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ในระหว่างที่คดีทั้งสามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล อันเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันอีก ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

advertisement




            ประเด็นฟ้องซ้อนในคดีอาญา บทบัญญัติกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติให้คดีอาญาเรื่องเดียวกัน ผู้เสียหายอาจยื่นฟ้องคดีเอง หรือพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกันหรือศาลอื่น  คำฟ้องนั้นไม่เป็นฟ้องซ้อน ศาลมีอำนาจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันได้ แต่ถ้าผู้เสียหายคนเดียวกัน ฟ้องจำเลยคนเดียวกันในการกระทำความผิดครั้งเดียวกัน แต่ข้อหาในความผิดต่างกัน เป็นฟ้องซ้อนในคดีอาญาได้ โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้" จึงสามารถนำเรื่องฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง มาใช้บังคับได้ เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3131/2562 เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแห่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ในคดีก่อนเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ กระทำความผิดทั้งสองคดีในช่วงวันเวลาเดียวกัน อีกทั้งมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดทั้งสองคดีก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นำเอาข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นความลับที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องการทุจริตในมหาวิทยาลัย ว. ที่จำเลยจัดทำขึ้นไปเปิดเผยหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ แม้คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะบุคคลธรรมดาในฐานความผิดที่ยอมความได้ และคดีนี้โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิด ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในความผิดที่ยอมความไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้และการกระทำความผิดที่มีการฟ้องร้องทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากมูลเหตุเรื่องเดียวกันในช่วงวันเวลาเดียวกัน การวินิจฉัยความผิดทั้งสองคดีจึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอาญาและหลังจากนั้นได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้น โดยคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่นำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นสองคดีซ้อนกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

            คำพิพากษาศาลฎีกา 3843/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และให้จำเลยทั้งสี่รับผิดทางแพ่งซึ่งมีมูลกระทำความผิดในทางอาญา ถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมากับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 40 จำเลยทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นจำเลยในคดีตั้งแต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และถือว่าคดีส่วนแพ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ออกไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์รื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสี่ปลูกไว้ได้เอง อันเป็นฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

           กรณีคำขอส่วนแพ่ง จากการกระทำความผิดทางอาญา ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คือ ความรับผิดทางแพ่งเกิดขึ้นจากการะทำความผิดอาญา ถ้าพนักงานอัยการมีคำขอแทนผู้เสียหายให้ผู้กระทำผิดคืนทรัพย์หรือราคาที่ผู้เสียหายได้สูญเสียไปเนื่องจากกระทำความผิดอาญาแล้ว ผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งและมีคำขอให้คืนทรัพย์หรือราคานั้นอีกไม่ได้ จะถือว่าเป็นฟ้องซ้อน  เพราะคำขอให้คืนทรัพย์หรือราคานั้น เป็นคำขอส่วนแพ่งบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีความแพ่ง แต่ถ้าฟ้องคดีแพ่งเพื่อให้ชดใช้ดอกเบี้ย หรือค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ไม่ซ้ำกับที่พนักงานอัยการขอ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจพนักงานอัยการมีคำขอในส่วนดอกเบี้ยและค่าสินไหมอย่างอื่นได้  แต่ผู้เสียหายไม่จำต้องฟ้องคดีแพ่งเป็นคดีใหม่ สามารถยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ ดอกเบี้่ย และค่าสินไหมทดแทนอื่น ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้  เช่น 

             คำพิพากษาศาลฎีกา 5830/2562 พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง กับมีคำขอให้คืนหรือใช้เงิน ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหาย อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน

             คำพิพากษาศาลฏีกา 8905/2561 ารร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)
        คำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง มีหน่วยงานผู้เสียหายเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง คำร้องจึงต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง ซึ่งต้องไม่ใช่จำนวนเงินที่อัยการได้เรียกร้องไปแล้ว เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 1885/2555 พนักงานอัยการมีคำขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้คืนเงินจำนวน 43,150 บาท แก่โจทก์ร่วมอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม
        ดอกเบี้ยของเงินจำนวน 43,150 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจะมีคำขอเรียกค่าดอกเบี้ยแทนโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 43,150 บาท ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ได้ ซึ่งตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าว

        คำพิพากษาศาลฏีกา 19035/2557 คดีนี้ผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แต่เป็นกรณีที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายเพียงเท่าจำนวนที่ผู้เสียหายเสียไปเท่านั้น ค่าเสียหายอย่างอื่นหรือดอกเบี้ยไม่อาจเรียกคืนแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 580,000 บาท แก่ผู้เสียหายซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้เสียหายเสียไปนั้น จึงขัดต่อมาตรา 43 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 
        คำพิพากษาศาลฎีกา 5400/2560 ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)

         คำพิพากษาศาลฎีกา 21502/2556 ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่จำเลยลักไปแทนโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยลักไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้อีก
        จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจึงต้องเป็นความเสียหายอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก เช่น ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหาย หรือความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ค่าเสียสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมต้องทำรั้วกำแพงใหม่ ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในที่ดินเพื่อก่อเหตุอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกับครอบครัว และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงมิใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลย

advertisement



            ปัญหาฟ้องซ้อน เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่คู่ความอีกฝ่ายสามารถยกขึ้นให้ศาลวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ที่บัญญัติว่า " เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งใหมีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านั้นแล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบี้องต้นในปัญหานั้น " 
            กรณีที่คู่ความไม่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในศาลชั้นต้น สามารถยกขึ้นกล่าวได้ในชั้นอุทธรณ์ฏีกา ตามมาตรา 225 ที่บัญญัติว่า "ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบโดยศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการงินิจฉัยด้วย  ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาอันเกียวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใดๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องใหกระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ " เช่น

           คำพิพากษาศาลฎีกา 1579-1580/2558 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดว่าอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวน แม้ทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังที่โจทก์ระบุว่าเป็นโบราณวัตถุ 217 ชิ้น และสร้อยลูกปัดโบราณ 332 เส้น จะเป็นทรัพย์คนละอย่างกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก แต่เมื่อการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก จึงเป็นการกระทำในคราวเดียวอันเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำนวนหลังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

            คำพิพากษาศาลฎีกา 91/2562 ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ  (ฎีกานี้ แสดงถึงการที่คู่ความยกข้อกฎหมายในศาลวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 24)

         กรณีข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความไม่ได้ยกขึ้นอ้าง แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล  ศาลเห็นเอง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามมาตรา 142 (5) ที่บัญญัติว่า "ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ "  เช่น

             คำพิพากษาศาลฎีกา 1747/2562 จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกรบกวนและแย่งการครอบครอง โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดิน... ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การและฟ้องแย้งที่ระบุว่าที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของจำเลย จึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วจำเลยแย่งการครอบครองหรือที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หรือไม่ เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ขาดสิทธิฟ้องร้องไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) (ฎีกานี้ แสดงถึง ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) )


advertisement



คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ ที่ไม่เป็นฟ้องซ้อน  เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา 975/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า ใบเบิกเงิน และใบกำกับสินค้าและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 845/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกซึ่งมาชำระค่าสินค้า แล้วไม่นำเงินที่รับชำระพร้อมใบเสร็จที่ออกส่งให้แก่ฝ่ายการเงินและไม่ได้นำไปตัดยอดหนี้ให้แก่สมาชิก ในคดีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการปลอมใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

            คำพิพากษาศาลฎีกา 6941/2560 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นจำเลยในคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุก ลักทรัพย์และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มีโจทก์เป็นผู้เสียหาย และมีคำขอให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 คืนหรือใช้ราคาดินแก่ผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย เป็นคำฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ 3 การฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมวดที่ 2 คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ลงโทษจำเลยที่ 5 เพียงคนเดียว ส่วนคำขอให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปนั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ไม่แน่ชัดว่ามีเพียงใด จึงให้ยกคำขอของโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ให้คืนหรือใช้ราคาดินในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอาญานั้นเอง มิใช่การฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
            จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ยังไม่เคยถูกฟ้องให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปจากที่ดินโจทก์มาก่อน จึงไม่มีกรณีต้องพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่
            โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขุดเอาหน้าดินของโจทก์ซึ่งมีสภาพเป็นดินลูกรังไปเพื่อใช้ในการถมก่อสร้างคันกั้นน้ำชื่อโครงการกระแสสินธุ์ในเขตโครงการชลประทาน และมีคำขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนดินหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ที่จะเรียกร้องจากผู้เอาทรัพย์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและติดตามเอาทรัพย์คืน และหากคืนไม่ได้ผู้ที่เอาทรัพย์นั้นไปก็ต้องชดใช้ราคา จึงเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์สินจากผู้ยึดถือโดยไม่มีสิทธิยึดถือ มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

            คำพิพากษาศาลฎีกา 10431/2559 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมกับมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนต้องสูญเสียแก้วหูในส่วนของการได้ยินทั้งสองข้าง การหางานทำใหม่เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีบริษัทไหนต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน และขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีอายุมาก อันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ส่วนคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอันเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียง และไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีก่อน คำฟ้องคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างจึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อนข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ และคดีต้องมีการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างต่อไป เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม

            คำพิพากษาศาลฎีกา 1040/2559 คดีก่อนทั้งสองคดีกับคดีนี้โจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยทั้งสองในวันเดือนปีเดียวกันในการกระทำความผิดลักษณะเดียวกัน ใบกำกับภาษีที่ว่าปลอมหรือออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นของห้างเดียวกันกับในคดีนี้ และการใช้ใบกำกับภาษีนั้นมีการใช้ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าใบกำกับภาษีของทั้งสามคดีเป็นฉบับเดียวกัน ทั้งจำเลยที่ 1 ของทุกคดี เป็นนิติบุคคลคนละคนกัน และ ป.รัษฎากร มาตรา 39 มิได้บัญญัติว่าจำเลยที่ 1 อีก 2 คดีที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นเครือเดียวกันถือว่าเป็นนิติบุคคลเดียวกัน มีแต่จำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ในทุกคดี ดังนั้น แม้คดีทั้งสองที่จำเลยทั้งสองอ้างดังกล่าวจะมีคำพิพากษาแล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว
            จำเลยที่2 ในคดีนี้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีทั้งสองดังกล่าว แม้จำเลยที่1จะเป็นนิติบุคคลคนละคนกันก็ตาม แต่ลักษณะแห่งคดีเป็นการนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้เครดิตภาษีในเดือนภาษีเดียวกัน และความผิดเป็นอย่างเดียวกัน คดีทั้งสามมีความเกี่ยวพันกันโดยอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้เมื่อโจทก์แยกฟ้องโดยศาลมิได้สั่งให้รวมการพิจารณาคดีด้วยกัน และโทษที่จะกำหนดลงโทษจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (7) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท ดังนั้น หากศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกกรรมแล้ว ก็ต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น การนับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของสองคดีดังกล่าวรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20 ปี


***************************************************************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/