วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่1

  • บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



  •            บทความนี้ขอนำเสนอเรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ถือเป็นการทบทวนความรู้ความเข้าใจให้มีความแม่นยำขึ้น เพื่อให้มีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ  ในขณะเดียวกันก็มีความแม่นยำ หากต้องเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำความเห็นในสำนวนเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
           ละเมิด ถือตามองค์ประกอบของ มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นกระทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" การกระทำละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 จึงมีองค์ประกอบแบบเดียวกัน แต่เป็นการพิจารณาเฉพาะการกระทำของ"เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ที่เมื่อกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว หน่วยงานของรัฐ จะเข้ามาเป็นด่านหน้ารับผิดแทนเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จะต้องรับผิดและถูกเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
           การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 แบ่งออกเป็นเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก และเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งทั้งสองแบบจะมีทั้งกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ และมิใช่การปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งมีวิธิปฏิบัติในการเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้่คาสินไหมทดแทนแตกต่างกัน 
          การกระทำละเมิด เกิดจากการกระทำด้วยความ จงใจหรือประมาทเลินเล่อ  เมื่อเกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก ในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นหน้าที่ของหน่่วยงานของรัฐ ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก ตามความเสียหายที่มีการเรียกร้อง โดยบุคคลภายนอกผู้เสียหายจะยื่นฟ้องหน่วยงานเพือให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือจะยื่นคำขอต่อหน่วยงาน เพื่อขอให้ชดใช้ก็ได้ โดยมีอายุความในการเรียกร้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั่นคือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่รุู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายใน 10 ปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะมีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด เพื่อพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการพิจารณาถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นด้วย เพื่อการไล่เบี้ยภายหลังเมื่อหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ซึ่งคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องดังนี้



         คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 573/2549
         กรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกในการปฏิบัติหน้าที่ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ ผู้เสียหายใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ 2 ทาง กล่าวคือ ผู้เสียหายอาจฟ้องคดีต่อศาลขอให้พิพากษาให้ หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดอยู่ในสังกัดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี หรืออีกนัยหนึ่งภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันทำละเมิดทางหนึ่ง กับผู้เสียหายอาจยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดอยู่ในสังกัดให้ พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ตนอีกทางหนึ่ง และแม้กฎหมายจะมิได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ตนภายในระยะเวลาเท่าใด แต่ก็เป็นที่เห็นได้จากเหตุผลของเรื่องว่าผู้เสียหายจะต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดเช่นเดียวกับการฟ้องคดีต่อศาล

          เช่นเดียวกับการที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ  จนเกิดคามเสียหายในการปฎิบัติ เช่น  การทุจริต  การไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย การทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหายหรือสูญหาย เป็นต้น  การตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการ จะเป็นการพิจารณาว่า " กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่" ถ้าเป็นการกระทำทุจริต แน่นอนย่อมเป็นการกระทำด้วยความจงใจให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน ต้องรับผิดชดใช้เต็มจำนวนที่ทำให้เกิดความเสียหาย  กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบีบบ มีแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง เช่น 
           คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.37/2552 
           การที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการโดยไม่ได้ใช้ดุลพินิจจัดให้ข้าราชการเข้าพักอาศัยในบ้านที่ว่างอยู่ ถือเป็นการจงใจกระทำผิดต่อกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ ทำให้รชการได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.10/2554
          การที่ดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยไม่มีการนำราคาประเมินของทางราชการและราคาที่ดินที่เคยมีการซื้อขายกันจริงมาเปรียบเทียบ เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อที่ดินเกินกว่าที่ควรที่จะต้องเสีย ถือเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
         
          การกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มีแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง เช่น 
         คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.10/2552
         การกระทำโดยมิได้เจตนาแต่เป็นการกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และหากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้ แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้น 
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.554/2562 
        ...ไม่ระมัดระวังรอบคอบศึกษาระเบียบกฎหมายให้ดี จนเป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผลแห่งความประมาทเลินเล่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องเดินทางไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ตามหนังสือของคณะกรรมการที่แจ้งให้มาชี้แจง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนต่อคณะกรรมการ การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิของตน แม้จะสามารถทำคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งคณะกรรมการทางไปรษณีย์ได้ก็ตาม แต่ย่อมมีสิทธิเลือกวิธีที่จะมาโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน โดยมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ได้เช่นกัน การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่มีคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิด ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539..."




         คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 462/2551 
        การที่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้รถยนต์ของทางราชการ และนำรถไปจอดไว้ที่พักได้เฉพาะ กรณีจำเป็นเร่งด่วน หรือที่จอดรถของทางราชการไม่ปลอดภัย โดยจอดรถไว้นอกรั้วบริเวณหน้าบ้านพักทั้งที่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบ้านพัก เป็นเหตุให้รถยนต์ของทางราชการสูญหาย ถือเป็นการกระทำโดย ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 549/2551
         กรณีเจ้าหน้าที่ขออนุญาตใช้รถยนต์ และขออนุญาตนำรถของทางราชการมาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพัก ของตน ทราบว่าพนักงานขับรถไม่นำรถมาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของตนภายในเวลาอันสมควร แต่มิได้เอาใจใส่ ติดตามรถยนต์กลับคืนมาให้เพียงพอตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ควบคุมรถพึงกระทำ และมิได้รายงานให้ ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้พนักงานขับรถนำรถไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุ ถือว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเกิดจาก การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ควบคุมรถจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 50  
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 72/2552 อ. 73/2550 อ. 456/2550
        การที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บภาษีอากรและเงินผลประโยชน์ ของรัฐ ไม่จัดทำสมุดทะเบียนคุมเช็ค ตามระเบียบของทางราชการ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริต ยักยอกเงิน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ 13/2548
        การที่กรรมการตรวจการจ้างทำรายงานเสนอผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการเพิ่มและลดงานตามสัญญาจ้าง ก่อสร้างอาคาร โดยไม่เป็นไปตามระเบียบและไม่ตรวจสอบราคาที่แท้จริง จนเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับ ความเสียหาย เนื่องจากงานส่วนที่ลด มีราคาสูงกว่างานส่วนที่ผู้รับจ้างต้องทำเพิ่ม ถือเป็นการกระทำ โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ 214/2549
        การที่เลขานุการไม่ตรวจสอบใบเบิกเงินที่ผู้ช่วยเลขานุการนำเสนอ จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตยักยอก เงินของทางราชการไป ย่อมเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ 1287/2549
        การที่ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหนังสือเวียนกระทรวงการคลังที่กำหนดมาตรการป้องกัน การทุจริตในการนำเงินรายได้แผ่นดินส่งคลัง เป็นช่องทางให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการทุจริตยักยอกเงิน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.267/2550
        ผู้ควบคุมงานก่อสร้างมีหน้าที่จดบันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมเป็นรายวัน และผลการปฏิบัติงานเพื่อรายงานคณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์ การที่ผู้ควบคุมงานก่อสร้างไป ดูแลงานบางวัน และมิได้ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว ถือว่าผู้ควบคุมงานไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ 1022/2550 
        การที่คณะกรรมการตรวจการจ้าง ตรวจรับงานก่อสร้างอาคาร โดยไม่มีการปรับลดค่าจ้างก่อสร้างจาก การเปลี่ยนแปลงเสาเข็ม และการไม่ติดตั้งระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 


 
        คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ 254/2550 
        การที่เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตำแหน่งยามมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและทรัพย์สินของทางราชการ ได้หลับ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของทางราชการสูญหาย ถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครอง สูงสุด ที่ อ.338-339/2549
        ผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินของทางราชการโดยไม่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งที่ปรากฏข้อพิรุธโดย ชัดแจ้ง เช่น การที่กรรมการตรวจรับสินค้าลงชื่อตรวจรับสินค้าโดยไม่ตรวจสินค้าจริง 
         คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.362/2549
        กรณีได้รับอนุญาตให้น ารถราชการไปเก็บรักษาที่บ้านพักเป็นครั้งคราว แต่น าไปเก็บรักษาไว้เป็น ประจ าทุกวัน บ้านพักเป็นสถานที่ไม่รั้วรอบขอบชิด เป็นทางสาธารณะที่คนทั่วไปใช้ร่วมกัน เป็นเหตุให้รถ ดังกล่าวถูกขโมย  

         นอกจากคำพิพากษาดังกล่าว กรณีต่อไปนี้ ถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คือ  ทำผิดซ้ำๆในเรื่องเดียวกัน  ปฏิบัติผิดมาตรฐานวิชาชีพ  ฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ กฎ คำสั่ง ข้อบังคับ  กำหนดให้ปฏิบัติไว้แต่ไม่ได้ทำ หรือปฎิบัติตามนั้น  
          ยังมีคำพิพากษาศาลปกครองที่วินิจฉัยว่า " ผู้บังคับบัญชาลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมไว้ล่วงหน้าและไม่ทำลายใบเสร็จดังกล่าว ก่อนที่จะย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น จนทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำใบเสร็จไปเรียกเก็บเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตน ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
          การเบิกจ่ายเงินค่าจ้างทั้งที่ผู้รับจ้างไม่ได้ดำเนินการตามที่กำหนดในสัญญาเป็นการฝุาฝืนต่อระเบียบ ของทางราชการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

          ก็พอสมควร สำหรับการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พบกันใหม่ในบทความต่อไป 
         
          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น