วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564

สัญญาเช่าซื้อ (กฎหมายแพ่ง)

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

สัญญาเช่าซื้อ

            สัญญาเช่าซื้อ 

            ในเรื่องเช่าซื้อตามประมวลฏหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว (มาตรา572) สัญญาเช่าซื้อจึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาต่างฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระ กล่าวคือผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นจ้าของเอาทรัพย์สินมีหนี้ที่จะต้องนำทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยผู้เช่ามีหนี้ที่จะใช้เงินเป็นจำนวนที่ตกลงให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ 

            สัญญาเช่าซื้อถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ตกเป็นโมฆะ (มาตรา572วรรคสอง) เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับไว้ว่าสัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ จึงต้องลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย เพราะสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน หากจะบังคับฝ่ายใดให้ปฏิบัติตามสัญญา ต้องมีลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญด้วย  ถ้าไม่ทำตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกเอาความเสียเปล่าขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ ถ้าจะคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ (มาตรา172) ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับเป็นลาภมิควรได้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ต้องคืนเต็มจำนวน เว้นแต่รับไว้โดยสุจริต คืนเพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน(มาตรา412) ถ้าทรัพย์สินอันจะต้องคืนเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลนั้นรับไว้โดยสุจริต จำต้องคืนเพียงสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย ถ้าได้ค่าสินไหมทดแทนเป็นการสูญหายหรือบุบสลายก็ต้องให้ไปด้วย (มาตรา413) ถ้าการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะสภาพแห่งทรัพย์สินที่ได้รับไว้ หรือเพราะเหตุอย่างอื่น และบุคคลนั้นได้รับไว้โดยสุจริต คืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน (มาตรา414)  

           ถ้าผู้เช่าซื้อ ประสงค์จะเลิกสัญญา ไม่ต้องการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อต่อไปแล้ว  โดยยังไม่ค้างชำระค่าเช่าซื้อ ก็สามารถบอกเลิกสัญญากับผู้ให้เช่าซื้อได้  โดยหลักกฎหมายกำหนดให้ ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง (มาตรา573) เมื่อผู้เช่าซื้อมีสิทธิเลิกสัญญาได้ตามข้อกฎหมายดังกล่าว การเลิกสัญญาต้องพิจารณาเงื่อนไขตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำกันไว้ด้วย เมื่อผู้เช่าซื้อส่งมอบทรัพย์สินคืนโดยไม่ค้างชำระเงินที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนโดยไม่โต้แย้งคัดค้าน และเรียกร้องค่าเสียหายอื่นเพิ่ม ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน   เช่น

            คำพิพากษาศาลฎีกา14324/2558 จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
advertisement


            กรณีสัญญาเช่าซื้อกำหนดเงื่อนไขในการเลิกสัญญา โดยให้สิทธิผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ โดยส่งมอบทรัพย์สินคืน พร้อมทั้งชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ  ถ้าผู้เช่าซื้อเพียงแต่ส่งทรัพย์สินคืน ไม่ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่ถือว่าเป็นเลิกสัญญาตามเงื่อนไขในสัญญา แต่เป็นการสมัครใจเลิกสัญญาโดยปริยาย เป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถใช้สิทธิตามสัญญาได้อีก เช่น 

             คำพิพากษาศาลฏีกา4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้
        
         หลักกฎหมายที่กำหนดสิทธิให้ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา โดยถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์ และเจ้าของทรัพย์กลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ (มาตรา 574) เป็นหลักกฎหมายที่ให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อ แต่ในการเลิกสัญญา ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดไว้ด้วย   
         กรณีเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญา เมื่อผิดนัดชำระติดต่อเกิน 3 งวด โดยกำหนดเวลาพอสมควรให้ชำระนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว หากไม่ชำระภายในเวลา ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่ผู้เช่าซื้อยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์สินก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่ทักท้วง  ถือว่าสมัครใจเเลิกสัญญาโดยปริยายในวันยึดครองทรัพย์สิน ถือเป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ไม่ใช่เลิกตามข้อสัญญา ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป กล่าวคือ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ  ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญา  แต่มีสิทธิเพียงฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ ต้องชดใช้คืนด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น   
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา15358/2558 แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2550 ติดต่อกันเกิน 3 งวด แต่ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และตามใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ยึดรถและไม่ได้โต้แย้งทักท้วง อันเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันยึดรถดังกล่าว
        โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วเท่านั้น   
 
advertisement


    
    

        คำพิพากษาศาลฎีกา15107/2558 มื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

         คำพิพากษาศาลฏีกา 8619/2559โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10.1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ไปยังจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้สิ้นสุดด้วยเหตุตามสัญญาข้อ 10.1 การที่จำเลยที่ 1 ขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโจทก์ได้รับคืนไว้ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์รับมอบรถยนต์คืน ดังนั้น โจทก์จะอาศัยสัญญาข้อ 13 เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอันเป็นความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 คงมีเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยรถยนต์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์ขาดราคาเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

         กรณีผ่อนผันการผิดนัด โดยผู้ให้เช่าซื้อยอมรับชำระค่าเช่าซื้อที่ชำระไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จึงไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุผิดนัด และภายหลังผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์สินแล้ว  ยังมีหนังสือเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าและนำทรัพย์สินคืนไป ซึ่งหากจะเลิกสัญญา  หนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาต้องกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน  จึงจะถือว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาเมื่อไม่ได้ทำ สัญญาเช่าซื้อจึงไม่เลิกกัน เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 1042/2561 แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
advertisement



        กรณีผู้เช่าชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยผู้ให้เช่าซื้อยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนผันการผิดนัดให้ผู้เช่าโดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที แต่ต่อย่างไรก็ดี การผ่อนผันการผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ก็ไม่ถือว่าผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดอื่นด้วย ดังระบุไว้ในสัญญา เมื่อผู้เช่ามิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดต่อไปอีกเลยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี และไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดให้ หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามที่กำหนดในสัญญา ไม่มีเหตุที่จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 (มาตรา 387 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายจะกำหดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อีกฝ่ายจะเลิกสัญญาก็ได้)

        คำพิพากษาศาลฎีกา4651/2549โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนถึงงวดที่ 12 แล้วไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 13 ถึง 15 ต่อมางวดที่ 16 โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย จำเลยรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่คิดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ แสดงว่า จำเลยมิได้ยึดถือข้อสัญญาที่ว่า หากผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์โดยให้ระยะเวลาแก่โจทก์พอสมควร แม้จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระโดยอ้างว่าโจทก์ชำระน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระซึ่งมีดอกเบี้ย ค่าติดตามรถและค่าแอร์รวมอยู่ด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อสัญญาหรือข้อนำสืบว่า ยอมให้คิดดอกเบี้ยจากการชำระล่าช้าได้หรือโจทก์ค้างชำระจริง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระหนี้อื่นนอกจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่มีเหตุจะอ้างตามกฎหมายจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยต้องส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ เมื่อจำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อและไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง
        สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่โจทก์มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทนด้วย ขณะจำเลยยึดรถยนต์คืนนั้นโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อรวม 4 งวด ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อระบุให้จำเลยมีสิทธิยึดรถคืนได้ในกรณีผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญา การที่จำเลยยึดรถคืนแสดงว่าจำเลยไม่ยอมผ่อนผันให้โจทก์อีกจึงไม่ทำให้โจทก์เสียหายจากการใช้รถ แม้โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนเพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไปเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นรายวันนับแต่วันที่จำเลยยึดรถยนต์คืนได้อีก

        เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระมาแล้ว เข้าครอบครองทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เรียกได้เพียงค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น  ข้อตกลงให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนวันที่เลิกสัญญา ถือเป็นการกำหนดความรับผิดไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลพิจารณากำหนดค่าเสียหายตามที่เห็นสมควรได้ เช่น 
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา15107/2558 มื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
asvertisement



        ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสัญญาเลิกกันเมื่อใด เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 5836/2559 คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

        คำพิพากษาศาลฎีกา 9124/2559แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ห. ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ ห. ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ขณะ ห. ถึงแก่ความตาย ห. ยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หลังจาก ห. ตายแล้วก็ได้มีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับว่าหลังจาก ห. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้โอนเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาตามสัญญาเช่าซื้อจาก ห. มาเป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวต่อมา พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ประสงค์จะให้เปลี่ยนชื่อคู่สัญญาและชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของ ห. ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว ถือเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแทน ห. อายุความคดีนี้จึงมิได้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ห. ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่ต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือวันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่าจะเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ หรือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์อ้างมาตามฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเบี้ยปรับและให้ส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 คดีโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้

        สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว สามารถมอบหมายหรือเชิดผู้อื่นเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อได้ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 6117/2562 สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยส่งมอบรถคันเกิดเหตุคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม แม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

        กรณีสัญญาเช่าซื้อ มีบุคคลอื่นทำสัญญาค้ำประกันไว้ สัญญาค้ำประกันต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องค้ำประกันด้วย เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 5788/2562 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์

advertisement        

         สรุปคือ เมื่อมีการทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว ต้องพิจารณาเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อว่ากำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร หากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยข้อสัญญา เช่น ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน  ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับโดยไม่ทักท้วง สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยมีสิทธิริบเงินที่ชำระมาแล้ว เข้าครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อ และเมื่อข้อสัญญาระบุให้ผู้ให้เช่าซื้องมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาได้เมื่อเลิกสัญญาได้ ผู้ให้เช่าซื้อก็มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาได้  แต่ถ้าผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา ส่งมอบทรัพย์สินคืน แต่ไม่ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับไว้โดยไม่ทักท้วง ถือว่าไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ทำให้ผู้เช่าซื้อไม่รับผิดชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดราคาตามเงื่อนไขในสัญญา

         กรณีเลิกสัญญาเพราะผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้อหรือกระทำผิดสัญญาในข้อสำคัญ  ผู้ให้เช่าซื้อบอกกล่าวให้ชำระราคาเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันควร ถ้าไม่ชำระถือเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อตามข้อสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบค่าเช่าซื้อที่ชำระมาแล้ว และมีสิทธิยึดทรัพย์สินคืนมาครอง มีสิทธิเรียกร้องค่างเช่าซื้อที่ค้างชำระ  มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคา และมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการที่ผู้เช่าซื้อใช้ทรัพย์สินระหว่างที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อด้วย
          กรณีผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระภายในเวลาที่กำหนด แต่ผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์โดยผู้เช่าซื้อยิมยอมก่อนครบกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อ ถือเป็นกรณีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญา มีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่ เป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่นที่ไม่ใช่ตามข้อสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคา ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แต่ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างที่ผิดนัดได้ โดยถือเป็นการยอมให้ทรัพย์ ต้องชดใช้คืนด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ 

        คำพิพากษาศาลฎีกา2764/2559หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว

        คำพิพากษาศาลฎีกา6967/2545สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ระบุว่า ห้างฯ จำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์คันหนึ่งจากบริษัทโจทก์มีกำหนด 4 ปี ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าแต่มีสิทธิจะซื้อรถยนต์ที่เช่าจากโจทก์ได้ โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ดังนี้ สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ที่ทำต่อกันนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งอันเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว แต่สัญญานี้หาใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ไม่ เพราะในสัญญาเช่าซื้อนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที โดยค่าเช่าซื้อรวมไว้ทั้งค่าเช่าและค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อด้วย และผู้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 แต่สัญญาเช่าแบบลีสซิ่งเมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าจนครบกำหนดการเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าจะแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเสียก่อนเงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) นี้มิใช่สัญญาเช่าซื้อ จึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118 ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้


        คำพิพากษาศาลฏีกา 15357/2558 โจทก์กำหนดในสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ให้ใช้เนื้อที่ห้องชุดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ให้คิดราคาเพิ่มหรือลดตามเนื้อที่ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ออกในภายหลัง เป็นการยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 466 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินในการซื้อขายซึ่งนำมาใช้บังคับกับการเช่าซื้อ โจทก์ส่งมอบห้องชุดเนื้อที่ขาดตกบกพร่องจากสัญญาเช่าซื้อ 6.51 ตารางเมตรคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด แต่โจทก์ก็ยังคงให้จำเลยรับเอาห้องชุดไว้โดยไม่อาจใช้ราคาตามส่วนได้ ทั้งที่ความแตกต่างของเนื้อที่ห้องชุดมาจากการคำนวณของโจทก์เอง จำเลยจะต้องรับภาระชำระราคาเกินกว่าเนื้อที่ห้องชุดถึง 162,000 บาท จึงเป็นข้อตกลงที่นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 466 แล้ว ยังเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่โจทก์ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนดให้จำเลยรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ อีกทั้งโจทก์เป็นฝ่ายบกพร่องในการคำนวณเนื้อที่ห้องชุดและสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้อยู่ก่อนแล้วถือได้ว่าข้อตกลงเช่นนี้ทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย จึงไม่อาจใช้บังคับได้
        สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ต้องปรับลดราคาห้องชุดให้เป็นไปตามเนื้อที่จริงจึงจะเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายได้หากโจทก์ไม่ปรับลดราคาห้องชุด จำเลยก็มีสิทธิที่จะอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธการชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายและถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อห้องชุด เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ไม่มีผลบังคับ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกปัดไม่รับเอาห้องชุดที่โจทก์ส่งมอบเนื้อที่ขาดจำนวนจากสัญญาเช่าซื้อเกินกว่าร้อยละ 5 การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์เป็นการใช้สิทธิบอกปัดโดยขอเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันซึ่งมิใช่เป็นการเลิกสัญญาด้วยความผิดของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อไว้ ผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระมาแล้วแก่จำเลย ส่วนจำเลยต้องส่งมอบห้องชุดคืนแก่โจทก์ และการที่จำเลยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ห้องชุดถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ จำเลยจึงต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตามมาตรา 391 วรรคสาม ในส่วนที่จำเลยขอให้โจทก์คืนเงินค่าเช่าซื้อตามฟ้องแย้ง จึงต้องหักด้วยค่าใช้ทรัพย์ และโจทก์ชอบที่จะได้รับค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครองห้องชุดของโจทก์
           
     advertisement

         คำพิพากษาศาลฎีกา 15303/2558 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แม้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดตกเป็นของโจทก์โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคหนึ่ง แล้วก็ตาม แต่ห้องชุดเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจที่จะใช้สอยห้องชุดในฐานะเจ้าของทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนให้แก่โจทก์ ส่วนที่ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อห้องชุด ข้อ 16 กำหนดว่า "เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเพื่อให้ผู้เช่าซื้อมารับโอนกรรมสิทธิ์ และผู้เช่าซื้อจะต้องมาขอรับโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบ..." ก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยจะดำเนินการเมื่อใด จึงเป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่ใจของจำเลยโดยแท้ เมื่อปรากฏว่านับแต่ที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อห้องชุดในโครงการของจำเลยวันที่ 16 มีนาคม 2541 จนผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 และฟ้องคดีวันที่ 29 มีนาคม 2553 เป็นเวลา 12 ปีเศษ จำเลยยังมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเลย ถือได้ว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนเกินสมควรไปมาก ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่จำเลยไม่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ เพราะเหตุว่าประสบปัญหาขาดทุนและเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก็มิใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะอ้างเพื่อที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดและไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์
        โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยจนครบถ้วนและได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องขอเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลย คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอคืนเงินค่าเช่าซื้อ 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเพียงคำขอรองในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้โจทก์บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ตามคำขอหลักได้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ จำเลยไม่อาจที่จะขอคืนเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าและค่าใช้ประโยชน์ห้องชุดพิพาทจากโจทก์ได้
        จำเลยให้การรับว่า ห้องชุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว มิได้ต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าห้องชุดเป็นของจำเลย เพียงแต่อ้างว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียน การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ มิได้ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดเพิ่มมากขึ้นไปกว่าเดิม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ส่วนคำขอรองที่ว่า หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไปได้ ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ตลอดมาไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนส่วนที่เสียเกินมาให้แก่คู่ความทุกฝ่าย

        คำพิพากษาศาลฎีกา 15145/2558 เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คงมีสิทธิริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกหนี้ได้ชำระไปแล้ว และกลับเข้าครอบครองรถที่เช่าซื้อ โดยลูกหนี้มีหน้าที่ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าหนี้ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากไม่คืนเจ้าหนี้ย่อมได้รับความเสียหายเพราะขาดประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับรถที่เช่าซื้อคืน เจ้าหนี้ไม่อาจเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระค่าปรับเพราะเหตุที่ลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันได้อีก แต่เนื่องจากหนี้ที่เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้นั้น ต้องเป็นหนี้เงินซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยอ้างว่าเป็นค่าขาดราคารถ (ที่ถูก ค่าขาดประโยชน์) จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายเพราะลูกหนี้ไม่ส่งมอบรถคืนแก่เจ้าหนี้อันถือได้ว่ามูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับสิทธิของเจ้าหนี้ในการติดตามเอารถคืนจากลูกหนี้มิใช่หนี้เงินอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 ส่วนคำขอรับชำระหนี้กรณีหากคืนรถไม่ได้เจ้าหนี้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ราคาแทนเท่าจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ก็เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มิใช่หนี้อันพึงขอรับชำระในคดีล้มละลายได้เช่นกัน


        คำพิพากษาศาลฎีกา 7407/2562 ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ในข้อ 3 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ให้คำนิยามว่า "รถยนต์" หมายความว่า "รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคนและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก" มิได้หมายความว่ารถยนต์ทุกประเภทจะอยู่ในบังคับตามประกาศดังกล่าว รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ลากจูงและรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน เป็นรถลากจูงไม่ประจำทาง โดยสองคันแรกน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม คันสุดท้ายมีน้ำหนัก 8,200 กิโลกรัม ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผงเป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทางทั้งสามคันมีน้ำหนักคันละ 8,400 กิโลกรัม การเช่าซื้อรถดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่อยู่ในบังคับตามที่ระบุในประกาศดังกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 มีข้อกำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยผู้ให้เช่าซื้อมิจำต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระเพียงบางส่วน หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันทันทีนับแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ มิใช่การเลิกสัญญาโดยสมัครใจของคู่สัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์
        แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

**************************
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

เรื่องต้องรู้ก่อนค้ำประกัน (กฏหมายแพ่ง)

บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


เรื่องต้องรู้ก่อนค้ำประกัน


     เรื่องต้องรู้ก่อนค้ำประกัน

        เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจและควรที่รู้ก่อนที่เราจะไปตกลงค้ำประกันให้ใคร  การค้ำประกันให้กันมักจะอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน  แต่บางครั้งสำนวนที่ว่า "รู้หน้าไม่รู้ใจ" ก็อาจจะทำให้ต้องตกที่นั่งลำบากจากการค้ำประกัน ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ มีความเครียดสะสมก็เป็นได้  ดังนั้น ก่อนที่จะตกลงค้ำประกันให้ใคร ผู้ค้ำประกันจึงต้องรู้ไว้ เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจรับผิดชอบ ดังนี้

        1.ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหน้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เป็นเรื่องทางแพ่ง  เมื่อเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว จะตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้ เนื่องจากยังไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญาค้ำประกัน ฉะนั้น เมื่อค้ำประกันให้ใครแล้ว ก็ต้องคอยสอดส่องว่าลูกหนี้หนีหนี้หรือไม่  แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงจนกว่าหนี้ที่ต้องชำระเสร็จสิ้น 

        2.ข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันกำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ (แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557)  กล่าวคือ การเป็นลูกหนี้ร่วม จะทำให้เจ้าหนี้เรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ และการที่ผู้ค้ำประกันต้องตกเป็นลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันไม่สามารถหยิบยกประเด็นตามข้อกฎหมายต่อสู้เจ้าหนี้ได้เลย
 
         สิทธิตามกฎหมายที่จะหยิบยกขึ้นต่อสู้กับเจ้าหนี้  คือ สิทธิที่เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย หรือไม่ปรากฎว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในราชอาณาจักร  สิทธิที่ผู้ค้ำประกันที่จะพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินลูกหนี้ก่อน และสิทธิกรณีที่เจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิขอให้เจ้าหนี้จะต้องใช้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันก่อน 

advertisement


        3.สัญญาค้ำประกัน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ถ้าไม่มีหลักฐานค้ำประกันเป็นหนังสือ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีผู้ค้ำประกันไม่ได้ (มาตรา 680) ค้ำประกันจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์เท่านั้น  และต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง (มาตรา681) เช่น ค้ำประกันมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืม มูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่มีสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย เป็นต้น  การทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขเพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ (ม.681วรรคสอง) เช่น ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันแม้จะไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ แต่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 และ 681 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหนี้ที่ค้ำประกันจะต้องมีจำนวนแน่นอน โดยหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขซึ่งเกิดขึ้นได้จริงก็ค้ำประกันได้ หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงมีผลบังคับได้(ฎีกา3803/2558)  ค้ำประกันในการสมัครเข้าทำงาน และยินยอมค้ำประกันไม่ว่าจะทำงาน ในหน้าที่หรือตำแหน่งงานใด จึงเป็นการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้มีการประกันได้ (ฎีกา987-988/2552) เมื่อต่อมามีการยักยอกทรัพย์ หนี้จึงเกิดขึ้นตามที่ได้ตกลงค้ำประกันไว้ จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน (รับผิดเฉพาะความเสียหายทางทรัพย์สินที่มีการยักยอกไป)(ฎีกา5133/2550) สัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อความว่าเป็นการค้ำประกันการซื้อขายสินค้าเฉพาะที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่สัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับเท่านั้น ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจึงต้องรวมถึงหนี้ตามสัญญาซื้อขายฉบับที่เกิดขึ้นก่อนมีการทำสัญญาค้ำประกันด้วย(ฎีกา2856/2558)  สัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต แม้เป็นสัญญาค้ำประกันหนี้อันสมบูรณ์ แต่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงถือว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118(ฎีกา 3920/2546)  ถ้าสัญญาค้ำประกันมีข้อตกลงค้ำประกันเพื่อหนี้ไม่สมบูรณ์ ไม่ระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกัน ข้อตกลงค้ำประกันหนี้ในอนาคตและที่มีเงื่อนไขที่ไม่อาจเป็นผลได้จริง  ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ บังคับไม่ได้ 

        4.บุคคลหลายคนยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้จะมิได้เข้าค้ำประกันรวมกัน (ม.682)หมายถึง ในระหว่างผู้ค้ำประกันหลายคนด้วยกัน เมื่อต้องตกเป็นลูกหนี้จากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยผู้ค้ำประกันแต่ละคนต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน ถ้าส่วนของผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น จะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ หนี้ที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันยังขาดอยู่เท่าไร ผู้ค้ำประกันคนอื่นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าผู้ค้ำประกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันแล้ว ส่วนที่ผู้ค้ำประกันคนนั้นจะต้องรับผิดชอบ ก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ และผู้ค้ำประกันที่เหลือก็ได้รับประโยชน์ไม่ต้องชำระหนี้ในส่วนที่เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ผู้ค้ำประกันคนนั้นไปแล้วด้วย (ม.296) 

         คำพิพากษาศาลฎีกา7028/2562โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคาร ก. จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้รายเดียวกัน ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แก่ธนาคารฯ แทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้

        คำพิพากษาศาลฎีกา 2997/2562 โจทก์ จำเลย กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท ธ. มีต่อบริษัท บ. จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน และถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ ไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การที่จำเลยและบริษัท บ. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ 1,600,000 บาท และเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ครบถ้วนเสร็จสิ้น บริษัท บ. จะถอนการยึดที่ดินรวมทั้งหมด 5 แปลง ให้แก่จำเลย และจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับจำเลยอีกต่อไป ต่อมาบริษัท บ. มีหนังสือยืนยันการชำระหนี้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัท บ. ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แสดงให้เห็นว่าบริษัท บ. เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ประกอบมาตรา 296 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้อีก โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัท บ. ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้


        5.เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันจะตกเป็นลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกันทันที และเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับให้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันได้ ซึ่งการค้ำประกันนั้นรวมถึงดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย  แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ยังไม่สามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนได้รับหนังสือบอกกล่าว นั่นคือภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และถ้าเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วัน และมาใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว อธิบายให้ชัดคือ ต้นเงิน ต้องรับผิดชอบเต็มจำนวนอยู่แล้ว แต่ในส่วนของดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนและค่าภาระติพัน คิดคำนวณได้ตั้งแต่วันผิดนัดถึง60วันเท่านั้น เกินจาก 60 วัน ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบ  ถ้าสัญญาค้ำประกันมีข้อตกลงที่ต่างไปจากนี้ เป็นโมฆะ

         6.ผู้ค้ำประกัน จะหลุดพ้นจากความรับผิดในการค้ำประกัน เมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ เช่น หนี้ระงับเพราะลูกหนี้ชำระหนี้ หรือหนี้ระงับเพราะเจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ หรือหนี้ระงับเพราะผู้ค้ำประกันเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้ เป็นต้น  ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันเข้าชำระหนี้แทนจนหมดแล้ว ผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินและดอกเบี้ย และเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปเพราะการค้ำประกัน โดยในการเข้าชำระหนี้แทนต้องบอกลูกหนี้ให้รู้ด้วย เพื่อมิต้องชำระหนี้ซ้ำซึ่งจะทำให้ผู้ค้ำประกันไม่สามารถไล่เบี้ยลูกหนี้ได้  คำว่า "ไล่เบี้ย" ตามพจนานุกรม คือ ล่เลียงหาคนทำผิดตั้งแต่หัวแถวจนถึงปลายแถว เรียกร้องให้รับผิดในการชําระหนี้ย้อนขึ้นไปเป็นลําดับ ซึ่งก็คือติดตามเอาคืนจากลูกหนี้นั่นเอง ถ้าผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระแล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด เช่นเดียวกัน 
        ถ้าหนี้ต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ โดยที่ผู้ค้ำประกันไม่ได้ตกลงด้วย ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเช่นเดียวกัน เช่น การชำระหนี้กำหนดไว้ 1 ปี แต่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ชำระหนี้ได้ภายใน 2 ปี เป็นต้น 
        กรณี ที่ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลา เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 2856/2558 การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้ กรณีไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอน จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 (เดิม) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

       คำพิพากษาศาลฎีกา  3244/2540 การที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้แต่ไม่ใช้สิทธิดังกล่าว หาใช่กรณีที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไม่ การที่โจทก์ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 28 เดือน โดยมิได้บอกเลิกสัญญา จึงมิใช่การผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 อันจักทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด

advertisement



        7.กรณีเจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้ มีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีอยู่ การค้ำประกันรวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น  เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้ตกลงกันนั้น ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ลดแล้ว หรือลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ลดแต่ไม่ครบผู้ค้ำประกันได้ชำระส่วนที่เหลือ หรือลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ส่วนที่ลดผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามที่ลดนั้น ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากค้ำประกัน โดยผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้แม้ล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันครบกำหนดชำระ 
           กรณีที่เจ้าหนี้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ลด ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหนี้หนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบข้อตกลงนั้น 
           การเข้าชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน มีสิทธิไล่เบี้ยเอาคืนจากลูกหนี้ได้ ตามที่กล่าวในข้อ 6   
           หากข้อตกลงลดจำนวนหนี้ ทำขึ้นภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว หากข้อตกลงมีการขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ ถือว่าเป็นการผ่อนเวลา ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้

        8.กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และเจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้วผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้รับผิดชอบในหนี้ัตามสัญญา ในฐานเป็นลูกหนี้ และบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินได้ทั้งลูกหนี้และผู้ค้ำประกันจนกว่าหนี้จะได้รับชำระเสร็จสิ้น ซึ่งการบังคับคดีมีกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับเรื่องการค้ำประกันที่น่าสนใจ 

         คำพิพากษาศาลฎีกา 7407/2562 แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

       คำพิพากษาศาลฎีกา4882/2559 สัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา380วรรคสองบังคับให้ต้องมีมาแสดงตรงตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94โจทก์คงมีเพียงเอกสารซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่5เป็นผู้ค้ำประกันและผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันค่าเช่าซื้อให้แก่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ตามสัญญาหรือผู้เช่าซื้อตายหรือล้มละลายหรือหนี้เหตุหนึ่งเหตุใดซึ่งกระทำให้ผู้ให้เช่าต้องเสียหายผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบชำระหนี้ตลอดจนค่าเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นซึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อมาแสดงต่อศาลเท่านั้น หาใช่สัญญาค้ำประกันมูลหนี้การซื้อขายตามฟ้องมาแสดงต่อศาลไม่ การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่5ทำสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาเอกสารจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา94(ข)จึงต้องฟังว่าโจทก์ไม่มีเอกสารสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องมาแสดงต่อศาลโจทก์จึงฟ้องร้องให้จำเลยที่5รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่1ไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกา5789/2562 สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย


advertisement


        คำพิพากษาศาลฎีกา3583/2562 ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
        ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

       
        คำพิพากษาศาลฎีกา 6403/2561การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่

        การค้ำประกัน เพื่อกิจการอันเนื่องไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ ผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงคแก่เจ้าหนี้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้ (ม.699) เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 3183/2545 ตามสัญญากู้ฉบับแรก โจทก์มิได้มอบเงินที่กู้ให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปในคราวเดียว แต่ให้จำเลยที่ 1 เบิกเป็นคราว ๆ ตามความจำเป็น และคิดดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นคราวตามวันที่จ่ายจริง มิใช่นับแต่วันทำสัญญากู้เงินทั้งหมด และแม้ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 มาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มอีกเป็นครั้งที่ 2 โจทก์ก็จ่ายเงินตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นแม้ในสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ทำไว้ต่อโจทก์จะมีข้อความในข้อ 1 วรรคสาม ระบุว่า "เนื่องจากการค้ำประกันตามวรรคแรกเป็นประกันหนี้ดังกล่าวข้างต้นในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ก่อน หรือในขณะทำสัญญานี้และ/หรือที่จะมีขึ้นใหม่ภายหน้า ผู้ค้ำประกันและธนาคารจึงตกลงกันว่าในกรณีที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารแล้ว ถ้าตราบใดธนาคารยังมิได้มีหนังสือแจ้งว่าผู้ค้ำประกันหมดภาระผูกพันตามสัญญาค้ำประกันฉบับนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันและธนาคารตกลงให้ถือว่าสัญญาค้ำประกันรายนี้ยังคงมีผลบังคับอยู่ เมื่อเป็นการค้ำประกันหนี้ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าหรือหนี้ใหม่ของลูกหนี้กับธนาคารต่อไปอีกด้วย" อันแสดงให้เห็นได้ว่า สัญญาค้ำประกันฉบับแรกเป็นการค้ำประกันถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 อันมีผลใช้บังคับต่อผู้ค้ำประกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 681 วรรคสอง ก็ตาม แต่ลักษณะของสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ ซึ่งผู้ค้ำประกันคือ จำเลยที่ 5 และที่ 6 และที่ 8 อาจใช้สิทธิบอกเลิกการค้ำประกันเพื่อคราวอันเป็นอนาคตต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 699 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 6 และที่ 8 ได้มีหนังสือขอถอนการค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์แล้ว ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ฉบับที่ 2 กับโจทก์ สัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไป ส่วนจำเลยที่ 5 นั้น แม้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ไปก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ฉบับที่ 2 แต่จำเลยที่ 5 เพิ่งมีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 กับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 จึงยังคงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อโจทก์ในหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินครั้งที่ 2 ของจำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกอยู่ จำเลยที่ 6 และที่ 8 ในฐานะค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามสัญญากู้ฉบับแรกพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามฟ้องต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกา 4308/2656

       หนังสือรับรองการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มีข้อความและเจตนาเข้าทำสัญญาอันมีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ทำขึ้นภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 681 และมาตรา 685/1 ที่แก้ไขมาใช้บังคับ เมื่อมูลหนี้ตามคำฟ้องเกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการประกันมูลหนี้ที่อาจสมบูรณ์ได้ในอนาคต เมื่อเป็นการค้ำประกันลูกหนี้หลายรายรวมกัน โดยไม่มีรายละเอียดระบุจำนวนสูงสุดที่ค้ำประกันในลูกหนี้ในแต่ละราย และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกันไว้ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคสอง จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 685/1
******************
ขอขอบคุณ 
           ๑.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/      
 

ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาต้องสอบสวนก่อนลงโทษ

บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


(คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังใจให้ผู้จัดทำ)

        ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาต้องสอบสวนก่อนลงโทษ


          ในการดำเนินการทางวินัยและลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล นั้น มาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน  ได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก   โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี 

          แต่การที่ผู้บังคับบัญชา จะลงโทษโดยถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลได้นั้น  ต้องพิจารณาข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลด้วย ว่าอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ 

          โดยที่หน้าที่และอำนาจในการไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามมาตรา 28(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว  คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนแล้วมีมติวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน เท่านั้น ไม่หน้าที่และอำนาจไต่สวนในข้อหาความผิดในกรณีอื่น
            
          กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและชี้มูลความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ แล้วส่งสำนวนการไต่สวนดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัย จะถือสำนวนการไต่สวนดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนและลงโทษ โดยไม่ต้องแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน ได้หรือไม่ มีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายฉบับเดิม ที่สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้ ดังนี้ 


         
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่7486/2562 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินของนายกมล ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนด 4 แปลง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) 3 แปลง รวมเนื้อที่ 1,525 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา เพื่อขยายโรงงานผลิตยาและเวชภัณฑ์ ต่อมาจำเลยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจึงพบว่าเนื้อที่ดินขาดหายไป 32 ไร่ 1 งาน 69 ตารางวา แต่โจทก์ นายสมชาย ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และนายธนวัฒน์ รองผู้อำนวยการ กลับส่งโฉนดให้ฝ่ายบัญชีและการเงินเก็บรักษาไว้เท่านั้น ตามบันทึกข้อความส่วนราชการแผนกอรรถคดี กองกฎหมาย ฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยมีผลในวันที่ 29 ธันวาคม 2547 ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนเรื่องดังกล่าวแล้วมีมติว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษและการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ.2511 ข้อ 45 (6) ส่วนข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์กระทำความผิดตามชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษให้โจทก์ออกจากงานมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2547 โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีมติยกอุทธรณ์
           ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ซึ่งเคยเป็นพนักงานของจำเลยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ย้อนหลังจากกระทำความผิดขณะเป็นพนักงานของจำเลยได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเกิดเหตุจึงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม โดยอาจกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 2 ปี และมีบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจพิจารณาความผิดทางวินัยในเรื่องที่ถูกกล่าวหา โดยให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยถือรายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยด้วย จึงมีความหมายอยู่ในตัวว่า หากผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางวินัยแล้วพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมถูกลงโทษทางวินัยโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและกระทำความผิดทางวินัยในเรื่องนั้นได้ แต่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ที่บัญญัติว่า "ให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี" คงหมายความเพียงว่า หน่วยงานของรัฐที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดไม่ต้องดำเนินการสอบสวนวินัยผู้ถูกกล่าวหาอีก ให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนสอบสวนที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับของหน่วยงานของรัฐนั้นแล้วเท่านั้น หาได้หมายความรวมไปถึงขั้นตอนการออกคำสั่งลงโทษด้วยไม่ แม้ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ.2511 ซึ่งบังคับใช้ขณะที่โจทก์ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้กำหนดให้จำเลยมีอำนาจลงโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มีข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2551 ข้อ 127 กำหนดว่า "พนักงานผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำหรือละเว้นกระทำการใดที่พึงเห็นได้ว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาเว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือความผิดลหุโทษ ถ้าผู้นั้นออกจากงานไปแล้ว เว้นแต่ออกจากงานเพราะตาย ให้ดำเนินการทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังไม่ออกจากงาน เว้นแต่กรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยที่จะต้องลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ก็ให้งดโทษเสียได้" แม้ข้อบังคับของจำเลยฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ภายหลังจากที่โจทก์ลาออกโดยมีผลให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2547 แล้วก็ตาม แต่ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวเป็นส่วนของกระบวนการในการลงโทษผู้กระทำผิดทางวินัยย่อมมีผลใช้บังคับในขณะที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปให้โจทก์ออกจากงานนับแต่วันที่โจทก์ลาออกเสมือนโจทก์ยังไม่ออกจากงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 มาตรา 88 มาตรา 91 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ จะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีแต่เฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เท่านั้น ความผิดอื่นนอกจากกรณีดังกล่าวแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า โจทก์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วย การบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงาน พ.ศ.2511 ข้อ 45 (6) ส่วนข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูลให้ตกไป ดังนั้นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยโจทก์ในความผิดฐานนี้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของจำเลย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ได้ จำเลยต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวนโจทก์ตามที่ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วย การบริหารงานบุคคล พ.ศ.2551 กำหนดไว้ในหมวด 16 การดำเนินการทางวินัย เสียก่อน คำสั่งของจำเลยที่ลงโทษให้ออกจากงานไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
        

        
       สรุปจากคำพิพากษาดังกล่าว ศาลเห็นว่าบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 มาตรา 88 มาตรา 91 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีแต่เฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เท่านั้น ความผิดอื่นนอกจากกรณีดังกล่าวแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัย การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่ามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย  เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชาที่จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยได้ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวนเสียก่อน คำสั่งลงโทษให้ออกจากงานไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับ จึงไม่ชอบ    


******************************
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564

เช่าทรัพย์ (กฎหมายแพ่ง)

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

เช่าทรัพย์

      เช่าทรัพย์ 

        เป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวข้องการดำเนินชีวิตของเราพอสมควร ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีประเด็นพิพาทขึ้นสู่ศาลมากที่เดียว  เช่าทรัพย์  มีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องทำความเข้าใจและจดจำ มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันครับ

        เช่าทรัพย์ ในที่นี้คือ เช่าทรัพย์สิน ในทางกฎหมายแพ่ง "ทรัพย์สิน" หมายรวมถึงทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ (มาตรา138)  เช่น สิทธิการเช่า เป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์สิน เป็นต้น 

        เช่าทรัพย์สิน (มาตรา 537)คือ สัญญาซึ่ง ผู้ให้เช่า ตกลงให้ ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดและผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น เช่าทรัพย์สินจึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่กัน กล่าวคือ ผู้ให้เช่ามีหนี้ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์  และผู้เช่ามีหนี้ค่าเช่าที่จะต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่านั่นเอง 

        เช่าทรัพย์ ต้องบังคับตามหลักกฎหมายที่เป็นบททั่วไปของนิติกรรม สัญญาด้วย เช่น สัญญาถือเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง วัตถุประสงค์ในการทำสัญญาจึงต้องไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้น สัญญาจะเป็นโฆฆะ บังคับระหว่างคู่สัญญาไม่ได้ เช่น ทำสัญญาเช่าบ้านเพื่อไว้เป็นบ่อนการพนัน หรือเพื่อค้ายา ค้าประเวณี เป็นต้น    

advertisement


    
    เช่าทรัพย์สินที่มีประเด็นข้อพิพาท คือ เช่าอสังหาริมทรัพย์ ลักษณะของเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นน ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร์ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี (มาตรา 538)

        หลักฐานเป็นหนังสือนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบ เป็นเรื่องที่คู่สัญญาตกลงกำหนดเงื่อนไขกันและทำให้ปรากฎหลักฐานการเช่า แต่ต้องลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อเช่าอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการเช่าทรัพย์สินที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาทั้งฝ่ายมีหนึ้จะต้องชำระให้แก่กัน ลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จึงต้องมีทั้งสองฝ่าย  เพระาถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญา อีกฝ่ายฟ้องร้องบังคับได้

        ถ้าสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ทำสัญญาเช่ากันเกินสามปีขึ้นไป หรือตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าแต่ห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี และเมื่อสิ้นกำหนดเวลาแล้ว จะต่อสัญญาอีกสามสิบปีก็ได้ แต่ห้ามมิให้เกินสามสิบปี (มาตรา 540) การเช่าที่มีระยะเวลาดังกล่าว ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจะฟ้องบังคับคดีกันได้ ถ้าไม่ได้ทำ จะฟ้องร้องบังคับกันได้แต่เพียงสามปี เช่น ทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะเวลาสิบปี แต่ทำเป็นหนังสือเท่านั้น ไม่ได้จดเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็จะฟ้องร้องบังคับกันได้เพียงสามปีเท่านั้น ที่มีผลตามสัญญา  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่1196/2552 ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติว่า "เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้หรือไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท จากโจทก์เป็นเวลา 21 ปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2532 แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี คือวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เท่านั้น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา12265-12266/2556 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่ามีกำหนดอายุของสัญญาเช่าเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเช่าทุกฉบับมีข้อตกลงในข้อ 7.9 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ผู้เช่าจะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่า ขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้โดยปราศจากความรับผิดใด ๆ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการต่อสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่าโดยใช้ไม้กระดานปิดกั้นและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ในที่อื่นและพร้อมกับปิดประกาศ ณ บริเวณพื้นที่เช่าชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และฐานทำให้เสียทรัพย์ สำหรับข้อหาลักทรัพย์ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ว่ามีการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถชั้นที่ 3 และโกดังชั้นที่ 6 บางส่วนนำไปไว้ที่ทิ้งขยะชั้นล่าง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยทั้งหกเอาไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าก็เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน และยังอ้างด้วยว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

        คำพิพากษาศาลฎีกา7609/2555โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับจำเลย แม้ในสัญญาเช่ามีข้อความระบุว่า ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะต่ออายุการเช่าออกไปอีกสองคราว มีกำหนดคราวละ 3 ปี แต่เมื่อรวมระยะเวลาตามคำมั่นแล้วมีกำหนด 6 ปี จึงเป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะให้เช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเกินกว่า 3 ปี เมื่อโจทก์ผู้เช่าได้แสดงเจตนาเข้ารับคำมั่นสัญญาเช่าจึงมีผลต่อไปเพียง 3 ปี ตามคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้ผู้เช่าต่ออายุการเช่าในครั้งแรกเท่านั้น โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยทำสัญญาเช่าและไปจดทะเบียนการเช่าในครั้งที่สองซึ่งเกินกว่า 3 ปีไม่ได้ เพราะเป็นการหลีกเลี่ยงและต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งบังคับให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

        ทรัพย์สินที่เช่าเป็นพื้นที่ด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผนังตึกติดตรึงตราโดยลักษณะถาวรกับอาคารพาณิชย์ จึงเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์

        คำพิพากษาศาลฎีกา7722/2550การที่โจทก์ทั้งสองยอมให้จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในพื้นที่ด้านนอกบริเวณด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ 1 ในการติดป้ายโฆษณาสินค้าของจำเลยที่ 1 ชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดเป็นรายปี และจำเลยทั้งสองตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 80,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537
        เมื่ออาคารพาณิชย์ของโจทก์ที่ 1 เป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 และทรัพย์สินที่เช่าเป็นพื้นที่ด้านข้างและด้านหน้าของอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผนังตึกติดตรึงตราโดยลักษณะถาวรกับอาคารพาณิชย์จึงเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
        เมื่อข้อตกลงการเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าตามข้อตกลงการเช่าได้

advertisement


        ถ้าทำสัญญาเช่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าก็ทำได้ (มาตรา545 ) แต่เช่าอสังหาริมทรัพย์ ห้ามมิให้เช่ากันเกินกว่าสามสิบปี (มาตรา540) ถึงตรงนี้ เหมือนจะขัดๆกัน จึงต้องมาดูแนวคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทำให้เข้าใจว่า ถ้าทำสัญญาเช่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าก็ทำได้ ถือว่าคู่สัญญาถือคุณสมบัติของผู้ให้เช่หรือผู้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญา เมื่อผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าตายสัญญาระงับ  ถ้าเช่าอสังหาริมทรัพย์ มีกำหนดสามสิบปี แต่ไม่ได้กำหนดว่าเช่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่า สัญญานี้ถือระยะเวลาเช่าสำคัญกว่าคุณสมบัติของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่า เมื่อผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าตายก่อนสัญญาเช่าครบสามสิบปี สิทธิการเช่าย่อมตกทอดแก่ทายาท ไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่ ดังนี้ 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่11058/2559 สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา การเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 หากถือคุณสมบัติของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าตายให้สัญญาระงับ สัญญาเช่าต้องกำหนดระยะเวลาเช่าไว้มีกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเท่านั้น มิฉะนั้นฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ แม้การเช่าทรัพย์สินตามปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญ แต่คุณสมบัติผู้เช่านั้น ผู้ให้เช่าพิจารณาเพื่อมาตกลงทำสัญญาเช่ากัน เมื่อผู้ให้เช่ากับผู้เช่าตกลงทำสัญญาเช่ากันสัญญาก็ต้องเป็นสัญญา จึงไม่ต้องกลับไปพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เช่าอีกจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามที่ตกลงไว้หรือตกลงทำสัญญาเช่ากันใหม่ แม้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 544 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองเป็นทายาทของ ผ. ผู้เช่าที่ดินพิพาท จึงมิใช่บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมรับโอนสิทธิการเช่าได้ เมื่อ ผ. ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาเช่าสามสิบปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน กำหนดว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเอาที่ดินที่เช่าไปให้เช่าช่วงได้ อันเป็นการตกลงยกเว้นมาตราดังกล่าวไม่ให้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่ให้เป็นสิทธิในทรัพย์สินให้โอนได้ให้เช่าช่วงได้ โดยผู้เช่าต้องชำระเงินล่วงหน้าสำหรับการเช่า 30 ปี เป็นเงิน 1,000,000 บาท กำหนดอัตราค่าเช่าสูงขึ้นทุกสิบปีตลอดระยะเวลาเช่า เป็นการถือกำหนดเวลาสามสิบปีตามที่จดทะเบียนไว้เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าโดยกำหนดระยะเวลาเช่ามีเพียงตลอดชีวิตของผู้เช่าหรือตกลงไว้ในสัญญาเช่าอันจดทะเบียนว่า ผู้เช่าถึงแก่ความตายให้สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อ ผ. ผู้เช่าถึงแก่ความตายจึงไม่ต้องมีการทำสัญญาเช่ากันใหม่ เนื่องจากตกลงทำสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาสามสิบปี ทั้งสัญญาเช่ายังกำหนดให้ผู้เช่าสามารถนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อได้ โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถือเอาคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ผ. โดยตรง สิทธิการเช่าจึงไม่สิ้นสุดลง เมื่อสิทธิการเช่ายังไม่ครบกำหนดระยะเวลาเช่าที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2559)

        สิทธิการเช่าป็นสิทธิเฉพาะตัว โดยผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้ เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา ถ้าผู้เช่าฝ่าฝืน ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้(มาตรา544 ) เช่น เช่าบ้านแล้ว นำบ้านที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าต่อ ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าได้ และผู้ที่มาเช่าช่วงถือเป็นบริวารของผู้เช่า  
        ถ้าผู้ให้เช่าตกลงให้เช่าช่วงได้ ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง หากผู้เช่าช่วงใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปก่อน หาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ให้เช่าไม่ได้  (มาตรา545 ) ซึ่งการเช่าทรัพย์ ไม่มีกฎหมายว่าผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในทรัพย์ที่ให้เช่า มีคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้

        คำพิพากษาศาลฎีกา15922/2553การเช่าทรัพย์ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ ทั้งสองฝ่ายย่อมต้องผูกพันตามสัญญาเช่านั้น การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงโดยโจทก์ยินยอม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้เช่าช่วงโดยชอบ และต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 545 จำเลยที่ 2 หาใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงทำให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงในวันเดียวกันด้วย เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเช่าต่อไปแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงอีกต่อไป การที่จำเลยที่ 2 ยังครอบครองทรัพย์ที่เช่าช่วงตลอดมาหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 จะโต้เถียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่

        คำพิพากษาศาลฎีกา3581/2557หนังสือสัญญาเช่าตึกแถว ระบุว่าผู้เช่าจะไม่นำตึกแถวออกให้ผู้อื่นเช่าช่วงเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การนำตึกแถวดังกล่าวออกให้เช่าช่วงจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเสียก่อน สัญญาเช่าช่วงระหว่าง ฉ. ผู้เช่ากับจำเลยและ ก. ไม่มีผลผูกพันผู้เสียหาย จำเลยและ ก. จึงอยู่ในตึกแถวดังกล่าวในฐานะเป็นบริวารของ ฉ. เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าแก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงไว้กับ ฉ. จำเลยตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดถือครอบครองตึกแถวและทรัพย์ในตึกแถวดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุได้อีก

advertisement


        คำพิพากษาศาลฎีกา990-991/2558 แม้การเช่าของจำเลยถือเป็นการเช่าช่วงโดยชอบเพราะโจทก์ร่วมตกลงให้บริษัท ว. นำห้องเช่าพิพาทออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อโจทก์ร่วมกับบริษัท ว. ได้เลิกสัญญาเช่ากันแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในห้องเช่าพิพาทต่อไป เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เช่าช่วงย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าบริษัท ว. ผู้เช่าเดิม และเหตุที่ห้องเช่าพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมก็เป็นไปตามข้อตกลงการเช่า ไม่ใช่เป็นกรณีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ที่เช่าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 จำเลยไม่อาจยกสัญญาเช่าช่วงขึ้นอ้างต่อโจทก์เพื่อครอบครองห้องเช่าพิพาทได้ โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่าพิพาทได้ แต่โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากตามคำร้องขอของโจทก์ร่วมมิได้ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย

        คำพิพากษาศาลฏีกา12803/2557ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. ที่กำหนดให้บริษัท ต. ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของบริษัท ต. แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้บริษัท ต. มีสิทธิเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี หรือจะนำบุคคลอื่นมาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก็ได้ โดยบริษัท ต. ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากบริษัท ต. ผิดสัญญายอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีเช่นนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่ในสัญญาดังกล่าว ข้อ 10 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าบริษัท ต. ผิดสัญญาข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อปรากฏว่าบริษัท ต. ค้างชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาข้อ 7 โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่จำเลยเช่าช่วงอาคารพาณิชย์พิพาทจากบริษัท ต. และเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บริษัท ต. โดยชอบแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาทอีกต่อไป การที่จำเลยอยู่ต่อมาโดยโจทก์ไม่ยินยอมจึงเป็นละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

        แม้ข้อสัญญาจะให้เช่าช่วงได้ แต่เช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา13288/2556การเช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ แต่ผู้ร้องเช่าช่วงบ้านพิพาทจากจำเลยโดยไม่มีสัญญาเช่าต่อโจทก์หรือจำเลย ผู้ร้องจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ ไม่ว่าโจทก์จะรู้เห็นยินยอมด้วยหรือไม่ การเช่าช่วงดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย การต่อเติมห้องครัวและห้องน้ำที่อ้างเป็นไปเพื่อความสะดวกในการใช้ทรัพย์สินของผู้ร้อง ไม่ใช่การปลูกสร้างใหม่ จึงไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาอันไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3)

        คำพิพากษาศาลฏีกา6275/2551การเช่าช่วงที่ดินพิพาทถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 538 ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเช่าช่วงจากโจทก์ แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่า จำเลยจึงไม่อาจยกการเช่าช่วงขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงต้องถือว่าจำเลยอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จำเลยจะอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว เพื่อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้

advertisement

         ผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยม  หรือการดังกำหนดไว้ในสัญญา ไม่ได้ กล่าวคือ ทำสัญญาเช่าเพื่ออยู่อาศัย แต่นำไปเป็นบ่อนการพนัน ถือว่าไม่ใช่การดังกำหนดไว้ในสัญญา เป็นต้น และผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าเสมอกับวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สิน และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย ถ้ามีการฝ่าฝืนหรือฝ่าฝืนข้อสัญญา ผู้ให้เช่าจะบอกกล่าวผู้เช่าให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้เช่าละเลยไม่ปฏิบัติตาม ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้ (มาตรา 552-554) เป็นบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่จะให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าได้
        การชำระค่าเช่า ปกติในสัญญาจะกำหนดรายละเอียดการชำระค่าเช่าไว้ ถ้าไม่มีกำหนดไว้ ก็ให้ชำระเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้ตกลงกำหนดกันไว้ทุกคราวไป กล่าวคือ ถ้าเช่ากันเป็นรายปีก็ชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นปี ถ้าเช่ากันเป็นรายเดือนก็ชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นเดือน (มาตรา559 )
        ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  แต่ถ้าค่าเช่าส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน (มาตรา560) 
        คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่า ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า (มาตรา 563) เช่น ฟ้องเรียกค่าปรับ แต่ถ้าฟ้องให้ชำระเช่าค้างชำระ ต้องบังคับตามมาตรา 193/33 มีกำหนดอายุความ5 ปี

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่1740/2558 โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าปรับตามสัญญาเช่า จำเลยทั้งสองก็มิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำสัญญาเช่าตามฟ้อง เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ค้างชำระค่าเช่า และไม่ต้องชำระค่าปรับตามฟ้อง คดีจึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้แล้วว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริง โดยโจทก์ไม่จำต้องอ้างหนังสือสัญญาเช่าตามฟ้องเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ฎีกาว่าสัญญาเช่าตามฟ้องมิได้ปิดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ แม้จะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งจำเลยที่ 1 มีอำนาจยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ก็ตาม การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
        สิทธิเรียกร้องค่าเช่าอาคารซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ส่วนอายุความ 6 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 563 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าในกรณีอื่น เช่น การเรียกร้องค่าปรับเนื่องจากชำระค่าเช่าล่าช้า ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าปรับอันเนื่องมาจากการชำระค่าเช่าล่าช้าของโจทก์มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามมาตรา 563 ซึ่งการเริ่มนับอายุความของค่าเช่าย่อมนับตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระค่าเช่าในแต่ละเดือนตามมาตรา 193/12

          คำพิพากษาศาลฎีกา368/2549สัญญาเช่าที่ราชพัสดุเพื่อใช้เป็นทางเดินและเป็นที่ตั้งตลาดและสัญญาเช่าอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่กำนหดว่าการชำระค่าเช่า ค่าภาษี ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใดที่ผู้เช่าต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่าตามกำหนด หาชำระเกินกำหนดเวลา ผู้เช่าจะต้องชำระเงินเพิ่มขึ้นจากเงินดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับให้ผู้เช่าอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระ เมื่อครกำหนดสัญญาเช่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารตลาดจากโจทก์ และโจทก์ได้รับมอบที่ดินพร้อมอาคารคืนจากจำเลยแล้ว การฟ้องคดีเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยปฏิบัติเกี่ยวแก่สัญญาเช่าเช่าต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่าตามมาตรา 563 กรณีมิใช่เป็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระหรือค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระอันมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33

         ฟ้องเรียกค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  

       คำพิพากษาศาลฎีกา1413/2534การนับอายุความนั้น ให้นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป สัญญาเช่าระบุว่า ผู้เช่าจะต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ดังนั้น หากผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดเวลาดังกล่าว ถือว่าผู้เช่าตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่าย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 6 ของเดือนที่ผิดนัดนั้น โจทก์ต้องฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี เมื่อค่าเช่าที่โจทก์จะเรียกเก็บเป็นเดือนสุดท้ายคือวันที่ 5 สิงหาคม 2524 แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าในวันที่ 28 สิงหาคม 2529 คดีโจทก์สำหรับค่าเช่าขาดอายุความ เมื่อหนี้ค่าเช่าซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว หนี้ที่เป็นเบี้ยปรับของค่าเช่าซึ่งเป็นอุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วย 

advertisement


        สัญญาเช่าระงับไปเมื่อสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ มิต้องบอกกล่าวก่อน (มาตรา 564)
ุถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฎในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อยแต่ไม่จำต้องบอกกล่าวลวงหน้ากว่าสองเดือน (มาตรา 566)
        เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้ ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และให้ผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญากันใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา (มาตรา 570)

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่1196/2552 ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติว่า "เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้หรือไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท จากโจทก์เป็นเวลา 21 ปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2532 แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี คือวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เท่านั้น แต่หลังจากครบกำหนดดังกล่าวแล้ว จำเลยยังคงเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปอีกโดยโจทก์มิได้ทักท้วง จึงต้องถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ซึ่งโจทก์จะบอกเลิกสัญญาเช่าเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 566 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 ตามใบตอบรับไปรษณีย์ การบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์จึงมีผลตามกฎหมายแล้ว จำเลยต้องออกไปจากตึกแถวพิพาท หาใช่โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าไม่

        คำพิพากษาศาลฎีกา5387/2549 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดที่ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้ว จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น ไม่ได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและขีดฆ่า เมื่อต้นฉบับสัญญาเช่าอาคารที่โจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
        จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ให้เช่าตามสัญญาและจำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าที่ทำกับโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าจึงไม่เป็นสาระแก่คดี และตามสัญญาเช่าอาคารกำหนดอัตราค่าเช่าไว้เดือนละ 17,000 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า 1 ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาซึ่งหมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนสัญญาข้ออื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม รวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย และโดยเหตุที่การเช่าอสังหาริมทรัพย์นี้ ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่า ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาเช่าอาคาร โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าดังที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ 20,000 บาท จึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยคงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเดือนละ 17,000 บาท ตามอัตราค่าเช่าในสัญญาเช่าเดิม

        คำพิพากษาศาลฎีกา2196/2545การเช่าที่ดินระหว่างโจทก์มีกำหนด 6 ปี แต่มิได้จดทะเบียนซึ่งจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 แต่หลังจากครบ 3 ปี แล้ว จำเลยยังคงเช่าที่ดินต่อไปอีกโดยโจทก์มิได้ทักท้วงจึงต้องถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 570 ซึ่งโจทก์จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเช่าเสียเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามวิธีที่กำหนดไว้ในมาตรา 566 ดังนี้ แม้จะครบกำหนด 6 ปี หากโจทก์ประสงค์จะให้สัญญาเช่าระงับ โจทก์ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนมิใช่ว่าสัญญาเช่าย่อมระงับสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนตามมาตรา 564 เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่ครบ 2 เดือน ไม่ถูกต้องตามที่มาตรา 566 กำหนดไว้ การเลิกสัญญาจึงไม่ชอบ แต่จำเลยค้างชำระค่าเช่าและโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างแล้ว ซึ่งนับถึงวันฟ้องไม่น้อยกว่า 15 วัน ตามมาตรา 560 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างได้

        ตามมาตรา 537ผู้ให้เช่าไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า เมื่อยอมทำสัญญาเช่าแล้วย่อมต้องผูกพันตามสัญญา   เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้ ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และให้ผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญากันใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา (มาตรา 570) หมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนข้อสัญญาอื่นคงเป็นไปตามสัญญาเดิมรวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา1035/2547การเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 มิได้บังคับว่าผู้ให้เช่าจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาเช่าซึ่งโจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน แม้ทรัพย์สินที่ให้เช่าจะมิใช่ของโจทก์ แต่จำเลยยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์ จำเลยย่อมต้องผูกพันตามสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ทั้งจำเลยก็ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิให้เช่าที่ดินพิพาทในฐานะเป็นทายาทของบ. จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาเช่าต่อโจทก์ เมื่อสัญญาเช่ากำหนดเวลาไว้ 3 ปีสัญญาย่อมระงับเมื่อสิ้นกำหนดเวลา โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อนสัญญาเช่ากำหนดไว้ 3 ปี สัญญาย่อมระงับเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลา โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน การที่จำเลยต่อสู้ว่าเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้ว จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่เช่าและชำระค่าเช่าแก่โจทก์ โจทก์ก็รับไว้โดยมิได้ทักท้วง ถือว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลานั้น หมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนข้อสัญญาอื่นคงเป็นไปตามสัญญาเดิมรวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย หากมีการต่อสัญญาเช่ากันจริงก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยจะชำระค่าเช่าสูงกว่าอัตราค่าเช่าตามที่ระบุในหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อนำสืบของจำเลยเกี่ยวกับการชำระค่าเช่าจึงไม่มีน้ำหนักแก่การรับฟังและไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาเช่ากันใหม่ จำเลยจึงต้องออกไปจากที่ดินที่เช่าทันทีที่สิ้นสุดกำหนดเวลา โดยโจทก์ไม่จำต้องมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยก่อนฟ้อง

advertisement


        สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า  ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย(มาตรา 569) 

       คำพิพากษาศาลฎีกา1564/2558 ป. พี่ชายผู้ร้องซื้อสิทธิการเช่าที่ดินที่จำเลยเช่ามาจาก ซ. แล้วได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับร้อยตำรวจเอก ย. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2528 มีระยะเวลาเช่า 15 ปี โดยทำสัญญาเช่ากัน 5 ฉบับ ฉบับละ 3 ปี มีกำหนดเวลาเช่าติดต่อต่อเนื่องกันไป พฤติการณ์ของคู่สัญญาที่ปฏิบัติเช่นนี้ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 ที่กำหนดให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การเช่านั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียงสามปี โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเช่าเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 ย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของร้อยตำรวจเอก ย. ผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าเพราะสัญญาเช่าที่ดินนั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 และเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าสามปี ป. ผู้เช่ายังคงครอบครองทรัพย์สินอยู่ โจทก์รู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ต้องถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 แม้ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2546 ผู้ร้องได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับร้อยตำรวจเอก ย. จำนวน 5 ฉบับ แต่ละฉบับมีกำหนด เวลาเช่า 3 ปี รวม 15 ปี ต่อจาก ป. พี่ผู้ร้องในเวลาภายหลังที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเช่ามาแล้ว โดยโจทก์นำสืบปฏิเสธว่ามิได้รู้เห็นยินยอม และคดีที่ร้อยตำรวจเอก ย. ฟ้องเรียกที่ดินคืนจากโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 745/2551 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่า ที่ดินเป็นของโจทก์ ร้อยตำรวจเอก ย. ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งถือว่าผู้ร้องอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยอาศัยสิทธิของร้อยตำรวจเอก ย. ซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินที่จะให้เช่าที่จะนำไปให้ผู้ร้องเช่าได้ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์และยังคงใช้เป็นที่ตั้งบริษัท บ. อันเป็นกิจการระหว่างพี่น้องของผู้ร้องต่อเนื่องเรื่อยมาโดยผู้ร้องและบุตรผู้ร้องกับจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เช่นนี้ จึงฟังได้ว่า ผู้ร้องอยู่ในที่ดินซึ่งจำเลยเช่าจากโจทก์ในฐานะอาศัยสิทธิของจำเลย ผู้ร้องหามีอำนาจพิเศษอย่างใดที่จะอยู่บนที่ดินไม่ ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย บ้านเลขที่ 77/22 ของผู้ร้อง ย่อมต้องถูกรื้อถอนออกไปจากที่ดินตามคำพิพากษาตามยอม

        คำพิพากษาศาลฎีกา44/2553ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 569 ที่กำหนดให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า และผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าด้วยนั้น ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีสิทธิรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์ และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์แม้ในเวลาต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้เช่าก็ตาม

        คำพิพากษาศาลฎีกา234/2558โจทก์ได้เช่าที่ดินจากส. เจ้าของที่ดินเดิมโดยมีกำหนดเวลาเช่า3ปีทำหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้วย่อมใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้เช่าครอบครองตามสัญญาแม้ส. จะโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยแล้วสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระหว่างโจทก์และส.ย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ให้เช่าจำเลยต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของส. ซึ่งมีต่อโจทก์ด้วยจึงมีหน้าที่ให้โจทก์ได้อยู่ในที่ดินจนครบกำหนดระยะเวลาเช่า แม้สัญญาเช่าที่โจทก์ทำกับส. ถึงบัดนี้เกินกำหนดเวลา3ปีแล้วแต่สัญญาเช่ามีสาระสำคัญอยู่ที่ระยะเวลาการเช่าแม้สัญญาเช่าจะลงวันที่เริ่มต้นก็ตามแต่เมื่อผู้เช่าไม่ได้ใช้ทรัพย์ครบตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาเช่าผู้ให้เช่าก็มีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์ให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์ในที่เช่าจนครบกำหนดตามสัญญาแม้วันที่ที่กำหนดในสัญญาเช่าจะล่วงเลยไปแล้วศาลก็บังคับให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าได้

        สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย เป็นสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า ไม่ครอบคลุมถึงสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าเช่าด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา765/2557การที่บริษัท บ. โอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าอันจะพึงได้รับจากบริษัท ม. แก่โจทก์ และได้รับความยินยอมในการโอนสิทธิรับค่าเช่าดังกล่าว สิทธิและหน้าที่ข้างต้นนั้นคงผูกพันบริษัท บ. เจ้าหนี้ และบริษัท ม. ลูกหนี้ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนั้น แต่เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยเช่าสถานีบริการน้ำมัน ค่าเช่าที่คำนวณได้จากจำเลยได้ใช้ที่ดินนั้นย่อมเป็นดอกผลของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว บริษัท บ. ไม่มีสิทธิใดในค่าเช่าอีกต่อไป ย่อมไม่มีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าให้โจทก์ กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "อันว่าสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า" และวรรคสองบัญญัติว่า "ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย" เป็นสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า ไม่ครอบคลุมถึงสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าเช่าด้วย ารที่บริษัท บ. โอนสิทธิเรียกร้องรับเงินค่าเช่าที่มีต่อบริษัท ม. ให้แก่โจทก์สำหรับงวดปี 2544 ถึงปี 2558 หาใช่เป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ต้องผูกพันด้วยไม่ หากโจทก์ต้องเสียหายเนื่องจากไม่ได้รับเงินค่าเช่าตามฟ้อง โจทก์กับบริษัท บ. มีสิทธิและหน้าที่กันอย่างไรชอบจะไปว่ากล่าวกันเอง การที่จำเลยชำระค่าเช่างวดปี 2554 แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ซึ่งไร้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าแล้วไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์

advertisement       
       นำสืบพยานหลักฐาน เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารสัญญาเช่าไม่ได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา5733/2552
สัญญาเช่าที่ดินมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า ชำระค่าเช่าล่วงหน้าสำหรับการเช่า 21 ปี เป็นเงิน 8,000,000 บาท ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การที่โจทก์ จะนำสืบว่าโจทก์มีเจตนาที่จะให้เงินจำนวน 8,000,000 บาท เป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินกินเปล่านั้น เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคแรก (ข) ดังนั้น จึงต้องรับฟังตามสัญญาเช่าที่ดินว่าเงินจำนวน 8,000,000 บาท ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปนั้นเป็นการชำระค่าเช่าล่วงหน้าสำหรับการเช่าเป็นเวลา 21 ปี
    
            เช่าร้านค้าเพื่อใช้เป็นที่ประกอบการค้า เป็นเช่าอสังหาริมทรัพย์  สิทธิเรียกร้องค่าเช่าทรัพย์ค้างชำระมีกำหนดอายุความ5ปี รวมถึงค่าใช้จ่ายอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า เช่น ค่าภาษี ค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาด สิ่งอื่ใดเพื่ออำนวยความสะดวก ค่าใช้จ่ายการโฆษณาและส่งเสริมการขาย  

         คำพิพากษาศาลฎีกา185/2546ทรัพย์สินที่บริษัทโจทก์ให้จำเลยได้สิทธิเป็นผู้เช่าเป็นร้านค้าเพื่อใช้เป็นที่ประกอบการค้า จึงเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(3) ให้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าทรัพย์สินที่ค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ค่าภาษีและค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จัดขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาดไอเย็น แสงสว่าง สิ่งอื่นใดเพื่ออำนวยความสะดวกอันเป็นส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ล้วนมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า จึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับค่าเช่าทรัพย์สินที่ค้างชำระตามมาตราดังกล่าว
        การที่บันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่าระบุว่า โจทก์และจำเลยประสงค์จะยกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่าโดยตกลงโอนเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าไปเป็นเงินประกันสัญญาเช่าพื้นที่ สัญญาสิทธิการได้ใช้บริการอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภค และสัญญาให้บริการภายในอาคาร ที่จะทำขึ้นต่อไป แล้วคืนเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าที่เหลือแก่จำเลย จึงได้ทำบันทึกและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยานนั้น แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยตกลงว่าจะต้องทำสัญญายกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่ากันเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่า ย่อมถือไม่ได้ว่าได้มีการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว กรณีหามีผลเป็นการเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่าทันทีไม่
        สัญญาจองสิทธิการเช่าจะบันทึกสัญญาเช่า ซึ่งจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากรหรือไม่ก็ตาม แต่จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาจองสิทธิการเช่าตามฟ้องกับโจทก์ มิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของสัญญาจองสิทธิการเช่าดังกล่าว แม้สัญญาจองสิทธิการเช่าดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

        เช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัว  เป็นการเช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 537

        คำพิพากษาศาลฎีกา3341/2536เงื่อนไขในสัญญาเช่าใช้บริการวิทยุติดตามตัวกำหนดให้ผู้เช่าชำระค่าใช้บริการภายในวันที่ 10 ของเดือนทุกเดือนและหากผู้เช่าไม่ประสงค์จะใช้บริการ ผู้เช่าต้องแจ้งบอกเลิกการเช่าให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน ดังนั้น การที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าติดต่อกัน 2 เดือน แต่มิได้บอกเลิกการเช่าเป็นลายลักษณ์อักษรจึงถือไม่ได้ว่าสัญญาการเช่าใช้บริการเลิกกัน ข้อสัญญาที่ระบุว่า ถ้าครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าไม่บอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าผู้เช่าได้ตกลงเช่าต่อไปก็ดีและข้อที่ระบุว่า อนึ่ง การระงับบริการอันเนื่องจากการผิดสัญญาของผู้เช่าเอง ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าระหว่างระงับบริการนั้นก็ดี ข้อสัญญาทั้งสองข้อหาใช่เป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบไม่เป็นธรรมแก่จำเลยแต่ประการใดไม่ เพราะเป็นเพียงกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาอันจะพึงปฏิบัติต่อกันเท่านั้น จำเลยเป็นฝ่ายเลือกใช้บริการ หากเห็นว่าข้อสัญญาของโจทก์เอาเปรียบก็เลือกใช้บริการที่อื่นได้ การที่จำเลยไม่ใช้บริการของโจทก์ แต่ก็มิได้บอกเลิกสัญญานำเครื่องวิทยุติดตามตัวไปคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำเครื่องวิทยุดังกล่าวไปให้ผู้อื่นเช่าต่อไปได้ ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ ข้อสัญญาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นธรรม หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

advertisement


        สัญญาเช่าทรัพย์สิน ที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา มีลักษณะเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป เช่น ทำสัญญาเช่าโดยผู้เช่ายอมก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของผู้เช่า แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา12803/2557ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. ที่กำหนดให้บริษัท ต. ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของบริษัท ต. แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้บริษัท ต. มีสิทธิเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี หรือจะนำบุคคลอื่นมาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก็ได้ โดยบริษัท ต. ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากบริษัท ต. ผิดสัญญายอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีเช่นนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่ในสัญญาดังกล่าว ข้อ 10 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าบริษัท ต. ผิดสัญญาข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อปรากฏว่าบริษัท ต. ค้างชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาข้อ 7 โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่จำเลยเช่าช่วงอาคารพาณิชย์พิพาทจากบริษัท ต. และเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บริษัท ต. โดยชอบแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาทอีกต่อไป การที่จำเลยอยู่ต่อมาโดยโจทก์ไม่ยินยอมจึงเป็นละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

        สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท

        คำพิพากษาศาลฏีกา7894/2553การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่าโดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่ ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไปข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันธ์

        คำพิพากษาศาลฎีกา454/2552 สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท เว้นแต่โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจะได้ตกลงยินยอมผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแทนผู้ให้เช่าเดิม ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้โจทก์จะทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างจำเลยกับบริษัท ม. ในขณะรับโอนที่ดินพิพาท สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาก็ไม่ผูกพันโจทก์ และไม่ถือว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต

advertisement


        สัญญาเช่าทรัพย์สิน ที่ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา 

        คำพิพากษาศาลฎีกา2566/2556สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาธรรมดา ต้องเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป การที่จำเลยอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์เพื่อจัดทำโครงการศูนย์การค้าในวงเงิน 27,000,000 บาท แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ขอสินเชื่อได้เป็นคราว ๆ ไป โดยให้โจทก์ทำสัญญากู้ไว้แก่จำเลย ดังนั้น จำนวนวงเงินที่โจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลย เป็นแต่เพียงจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากจำเลยเท่านั้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอนเพื่อผูกพันจำเลยตามที่ได้อนุมัติไว้แต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาสนับสนุนโครงการศูนย์การค้าของโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา

        คำพิพากษาศาลฏีกา8361/2561การที่จำเลยลงทุนตกแต่งปรับปรุงอาคารพิพาท แม้เป็นเงินจำนวนมากก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้การประกอบกิจการร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ของจำเลย เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าของกิจการกำหนดอันเป็นประโยชน์ของจำเลยเอง ประกอบกับสัญญาเช่ามีข้อตกลงด้วยว่า "การให้เช่าพื้นที่ต่อไปเมื่อหมดอายุสัญญานี้จะมีหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของผู้ให้เช่า" แสดงว่า เมื่อครบกำหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่า จำเลยจะมีโอกาสเช่าอาคารพิพาทต่อเป็นปีที่ 4 และปีที่ 5 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพอใจของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว หากโจทก์ไม่ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลย สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลงทันทีอันมิใช่ลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทเป็นเวลา 5 ปี จึงรับฟังไม่ได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา703-704/2558สัญญาเช่ากำหนดระยะเวลาการเช่าเพียง 3 ปี และมีข้อตกลงเรื่องการต่อสัญญาไว้ในข้อ 10 ว่า ผู้เช่ามีสิทธิขอต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก 1 ช่วง คือต่ออีก 3 ปี แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและอัตราค่าเช่าซึ่งผู้ให้เช่าและผู้เช่าได้ทำความตกลงร่วมกัน และโดยที่ผู้เช่าจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งความประสงค์เช่นว่านั้นให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันครบกำหนดอายุการเช่าตามสัญญานี้ ทั้งนี้อัตราค่าเช่าใหม่จะต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเช่าเดิมที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ ไม่มีข้อความบ่งบอกว่ามีข้อตกลงพิเศษที่จำเลยให้โจทก์เช่าไปจนกว่าโจทก์ประสงค์จะเลิกเอง และตามสัญญาเช่านี้ นอกจากผลประโยชน์ที่จำเลยจะได้รับจากโจทก์เป็นค่าเช่าตามที่กำหนดไว้แล้ว จำเลยไม่ได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากโจทก์อีก ส่วนที่โจทก์ใช้เงินลงทุนไปกว่า 3,000,000 บาท ทำให้ร้านค้าของโจทก์เป็นร้านค้าที่ทันสมัย ลูกค้าที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลของจำเลยได้รับความพึงพอใจ ช่วยให้โรงพยาบาลของจำเลยเจริญรุดหน้านั้น สิ่งที่โจทก์ลงทุนไปเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เอง หากลูกค้ามีความพึงพอใจโจทก์ก็ย่อมได้รับผลประโยชน์ในทางธุรกิจมากขึ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้กิจการของจำเลยซึ่งเป็นการประกอบกิจการโรงพยาบาลเจริญรุดหน้าแต่อย่างใด สัญญาเช่าพื้นที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

        คำพิพากษาศาลฎีกา4899/2551ข้อตกลงที่จะยินยอมให้โจทก์ทั้งสองระบุจำนวนค่าเช่าให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยตามกฎหมายนั้น ย่อมเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยจึงไม่อาจยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในคดีได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้มาเบิกความหักล้างข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวก็ตาม จำเลยและสามีเช่าอาคารพิพาทเพื่อทำเป็นห้องอาหารและห้องเล่นสนุกเกอร์ แม้จะใช้เงินลงทุนปรับปรุงอาคารถึง 7,000,000 บาท แต่ก็เป็นการลงทุนปรับปรุงอาคารเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจำเลยและสามีเองยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
        เมื่อสัญญาเช่าตามฟ้องครบกำหนดระยะเวลาและโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไปแล้ว การอยู่ในอาคารพิพาทต่อมาของจำเลยจึงเป็นการละเมิดโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายนับแต่วันผิดสัญญาถึงวันฟ้องและนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากอาคารพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสองนั้นชอบแล้ว

        แม้การเช่าที่ดินพิพาทจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่โจทก์ในฐานะผู้เช่าก็ยังต้องมีหน้าที่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยผู้ให้เช่าตามสัญญา

    
    คำพิพากษาศาลฎีกา11419/2557แม้การเช่าที่ดินพิพาทจะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่โจทก์ในฐานะผู้เช่าก็ยังต้องมีหน้าที่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยผู้ให้เช่าตามสัญญา ไม่เช่นนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อความปรากฏว่าในคดีเรื่องก่อนที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องขับไล่เพราะโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซึ่งจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้วนั้น คดีถึงที่สุดให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีเรื่องก่อนจึงต้องผูกพันไปตามคำพิพากษาในคดีเรื่องก่อนอันถึงที่สุดแล้วว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยซึ่งจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันเสียแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำมาอ้างเพื่อขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้อีก

advertisement


        คำมั่นจะให้เช่าที่จะให้ต่อสัญญาเช่าอีก เป็นเพียงข้อตกลงที่แยกต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่า และคำมั่นจะให้เช่าไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ระบุให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา3078-3079/2552แม้คำมั่นจะให้เช่าจะผูกพันผู้ให้เช่าในอันที่ต้องยอมให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินต่อไปอีก และผู้ให้เช่าไม่อาจถอนคำมั่นนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามคู่สัญญาในอันที่จะตกลงกันยกเลิกคำมั่นนั้นเสียได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงยกเลิกข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทนเกี่ยวกับคำมั่นนั้นเสียแล้ว คำมั่นดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปภายหลังครบกำหนดเวลาเช่าได้อีก อีกทั้งการตกลงกันยกเลิกคำมั่นดังกล่าวก็หาใช่การที่จำเลยถอนคำมั่นเพียงฝ่ายเดียวอันจะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะกรรมดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่
        แม้สัญญาเช่าที่ดินพิพาทจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม แต่ข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทน ข้อ 3 ท้ายสัญญาเช่าเป็นคำมั่นที่จำเลยให้โอกาสแก่โจทก์ในอันที่จะต่อสัญญาเช่าได้อีกเท่านั้น จึงเป็นเพียงข้อตกลงที่แยกต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าได้ และคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ระบุให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญก็มีผลใช้บังคับได้แล้ว ดังนั้นเมื่อคำมั่นจะให้เช่าไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การทำบันทึกยกเลิกคำมั่นจะให้เช่านั้นก็ไม่จำต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์

    คำพิพากษาศาลฎีกา1062/2539  คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อของโจทก์เป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจาซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมแม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมและเกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ก็ตามแต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญจำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับให้โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา538 สัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลา20ปีนับแต่วันที่13สิงหาคม2515จึงสิ้นสุดในวันที่13สิงหาคม2535โดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา564การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วเพียง4วันแสดงว่าโจทก์ทักท้วงไม่ยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำต้องมีการบอกเลิกสัญญากันอีก

       ที่ผู้เขียนนำเสนอ จะเป็นประเด็นหลักๆที่จะเป็นข้อพิพาทเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป 


******************   
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search