วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ไม่ปิดอากรแสตมป์ไม่ขีดฆ่า รับฟังเป็นพยานไม่ได้

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

ไม่ปิดอากรแสตมป์ไม่ขีดฆ่า รับฟังเป็นพยานไม่ได้

       (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อเป็นกำลังใจคนจัดทำ)

      ในการดำเนินคดีแพ่ง ถ้ามีการอ้างตราสารที่ตามประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ว่าต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่า แล้วไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ และขีดฆ่า จะมีผลเป็นอย่างไร นั้น สำคัญทีเดียว เพราะมีแนวคำพิพากษาของศาลตัดสินไว้หลายคดีที่เป็นแนวทางในการดำเนินคดี เพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาด จึงมาศึกษาทำความเข้าใจกัน 

        ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า " ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับคู่ฉบับฉีกหรือสำเนาตราสารนั้น เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114 " จากบทบัญญัติดังกล่าว พอที่จะเข้าใจได้ว่า ถ้าจะอ้างตราสารเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง ตราสารต้องปิดอากรแสตมป์ และขีดฆ่า จึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ กล่าวคือเป็นขั้นแรกที่ศาลรับฟังตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานได้  ส่วนเนื้อหารายละเอียดในตราสารนั้นจะเชื่อได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

        การอ้างพยานหลักฐานนำสืบในคดีแพ่ง เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดี คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้ฝ่ายนั้นมีภาระพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น  คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใดๆมาสืบได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐาน

        การอ้างเอกสารหรือคำเบิกความของพยานคนใด เป็นพยานหลักฐานในคดี ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน การอ้างตราสารเป็นพยานหลักฐาน จึงต้องระบุในบัญชีระบุพยานเป็นลำดับแรก ลำดับต่อไปคือ ถ้าเป็นตราสารที่ตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้ต้องปิดอากรแสตมป์ และขีดฆ่า ก็ต้องทำให้ครบตามข้อกฎหมาย ซึ่งการอ้างเอกสารเป็นพยานให้รับได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น แต่มีข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (1)-(4) และต้องยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความอีกฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เช่น  ตราสารที่เป็นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี 

        คำพิพากษาศาลฎีกา2723/2559 ตามหนังสือมอบอำนาจมีใจความชัดเจนว่า ขอมอบอำนาจให้ อ. เป็นตัวแทนฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสิบ อันเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ทั้งสามเพียงคดีเดียว ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว และแม้โจทก์ทั้งสามมอบอำนาจในตราสารเดียวกันก็ต้องคิดตามรายบุคคล จึงต้องปิดอากรแสตมป์รายละ 10 บาท ตามบัญชีอัตราแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสารข้อ 7 (ก) ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร ใบมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์มา 30 บาท จึงครบถ้วนบริบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 108, 118 ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งสามปิดอากรแสตมป์เพิ่มและขีดฆ่าก่อนมีคำพิพากษานั้น หามีผลทำให้หนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นตราสารใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้อยู่แล้วกลับเป็นใช้ไม่ได้แต่อย่างใดไม่

        คำพิพากษาศาลฎีกา4499/2558 ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114" บทบัญญัตินี้ไม่ได้บังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าในขณะที่ทำตราสารแต่อย่างใด และมิได้บัญญัติว่า ตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์หรือขีดฆ่าใช้บังคับไม่ได้ แต่กลับบัญญัติให้มีการปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าในภายหลังได้ ดังนั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจได้ปิดอากรแสตมป์แล้วและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขีดฆ่าในระหว่างการพิจารณาจึงเป็นเอกสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        ตราสารปิดอากรแสตมป์  แต่ไม่ขีดฆ่า มีผลว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา3825/2562 จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลย และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีในศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ส. ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงต้องอาศัยหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนหรือไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจโจทก์ปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน และการที่โจทก์ดำเนินการเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินในหนังสือมอบอำนาจก็เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9

        คำพิพากษาศาลฎีกา15690/2555หนังสือมอบอำนาจซึ่งปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน

        หนังสือมอบอำนาจ ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์หรือปิดไม่ครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร แต่ในชั้นสืบพยาน หรือก่อนฟ้องคดี มีการปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่า ศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานได้ เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา13963/2558 หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์มอบอำนาจให้ ส. บ. และ จ. คนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์ไว้ 6 ข้อ จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนกระทำกิจการแยกกันได้ค่าอากรแสตมป์จึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ท้าย ป.รัษฎากร ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต้องปิดอากรแสตมป์ 90 บาท แต่การปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 113 และมาตรา 114 เพียงให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอากรจนครบพร้อมเงินเพิ่มอากรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมอีก 60 บาท จากที่ปิดอากรแสตมป์ไว้เดิมเพียง 30 บาท พร้อมขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียเงินเพิ่มอากร ศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

        คำพิพากษาศาลฎีกา5162/2553 ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้วว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น หาได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ ดังนี้ เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วก่อนฟ้องคดีย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนโจทก์จะปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องในการปิดอากรแสตมป์ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 113 หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการปิดอากรแสตมป์
         
        มอบอำนาจให้ฟ้องฟ้องคดี  ต่อสู้คดี ดำเนินกระบวนพิจารณา จำหน่ายสิทธิในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีปกครอง คดีล้มละลาย คดีภาษีอากร คดีคุ้มครองผู้บริโภค และมีอำนาจมอบช่วงด้วย หนังสือมอบอำนาจต้องปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามบัญชีท้าย ป.รัษฎากร ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบ รับฟังหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เท่ากับไม่มีอำนาจฟ้องคดี  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา10222/2558 ใบมอบอำนาจนั้น บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของ ป.รัษฎากร กำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท และกรณี (ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท หนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความระบุชัดแจ้งว่า ส. ผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจให้ พ. หรือ ศ. ผู้รับมอบอำนาจช่วง ให้เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแก่ลูกหนี้รายจำเลยและ อ. หรือ จ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาตามฟ้องแทนโจทก์ หนังสือมอบอำนาจช่วงนี้จึงมีลักษณะเป็นตราสารใบมอบอำนาจซึ่งต้องปฏิบัติตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7 ท้าย ป.รัษฎากรดังกล่าว ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจช่วงว่า โจทก์โดย ส. ผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจให้ พ. หรือ ศ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงดำเนินการฟ้องคดี ต่อสู้คดี ดำเนินกระบวนพิจารณา จำหน่ายสิทธิในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีปกครอง คดีล้มละลาย คดีภาษีอากร คดีคุ้มครองผู้บริโภค และให้มีอำนาจดำเนินการอื่นตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 และข้อ 2 ด้วย ดังนี้ การมอบอำนาจช่วงดังกล่าวของผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงฟ้องร้องคดีนี้และคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยได้ จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการได้มากกว่าครั้งเดียวโดยให้ผู้รับมอบอำนาจช่วง 2 คน ซึ่งต่างคนต่างกระทำการฟ้องคดีและกระทำการอื่น ๆ แทนโจทก์ได้ กรณี ต้องปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจช่วงคนละ 30 บาท รวม 60 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจช่วงมาเพียง 30 บาท ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์จึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 เมื่อหนังสือมอบอำนาจช่วงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ พ. หรือ ศ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงดังกล่าวไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

        แต่ถ้าคู่ความอีกฝ่ายไม่ได้คัดค้านการมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับมีการยอมรับว่ามีการมอบอำนาจกันจริง จึงไม่ต้องใช้ตราสารที่เป็นหนังสือมอบอำนาจพิสูจน์ข้อเท็จจริง เพราะถือว่าคู่ความรับข้อเท็จจริงกันแล้ว แม้หนังสือมอบอำนาจจะไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา5674/2562 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าการมอบอำนาจของผู้คัดค้านไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ร้องยังเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านยอมรับว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านถูกต้องแล้ว กรณีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีภาระที่จะต้องพิสูจน์และส่งอ้างเอกสารหนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือมอบอำนาจนั้นจะมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม และไม่มีกรณีต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามมิให้รับฟังตราสารที่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า ผู้คัดค้านได้มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทน การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมาย

        จำเลยไม่ได้ต่อสู้ในประเด็นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ยกต่อสู้ในชั้นฎีกา ซึ่งประเด็นอำนาจฟ้องคดี เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง แต่การที่โจทก์นำส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจต่อศาล จำเลยไม่คัดค้านว่า ไม่มีต้นฉบับ ต้นฉบับปลอมหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ถือว่ายอมรับสำเนาหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ศาลจึงรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นหยานหลักฐานได้ ไม่ใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ครบและขีดฆ่าตามป.รัษฎากร เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา5836/2558 ฎีกาของจำเลยที่ว่า หนังสือมอบอำนาจ โจทก์มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นการไม่ชอบ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 118 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจไม่ชอบอย่างไรตั้งเป็นประเด็นไว้และก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรมาแต่แรก และเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
        โจทก์นำสืบส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานต่อศาล จำเลยไม่ได้คัดค้านว่า ไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับปลอม หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องกับต้นฉบับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ตาม มาตรา 93 (4) สำเนาหนังสือมอบอำนาจ จึงรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อปรากฏว่าเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่การรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร และสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารจึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์ด้วยเช่นกัน สำเนาหนังสือมอบอำนาจ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา11692/2557 โจทก์อ้างสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเอกสารโดยจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านการนำเอกสารมาสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ เมื่อศาลมิได้รับฟังต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐาน ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงจะปิดอากรแสตมป์หรือไม่ ปิดอากรแสตมป์แล้วไม่ได้ขีดฆ่าหรือไม่ ย่อมไม่มีผลให้การรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเปลี่ยนแปลงไป

        คำพิพากษาศาลฎีกา2216/2553 โจทก์นำส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานเอกสารต่อศาล จำเลยที่ 2 ไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่าโจทท์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาสืบแต่อย่างใด จึงเท่ากับว่าคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) สำเนาหนังสือมอบอำนาจจึงรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ด้วย

        การขีดฆ่าอากรแสตมป์ มีความหมายและวิธีอย่างไร  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา1199/2556 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 103 ให้ความหมายของคำว่า "ขีดฆ่า" หมายความว่า "การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย..." การระบุวัน เดือน ปี พร้อมขีดฆ่าอากรแสตมป์ ก็เพียงมุ่งหมายให้ทราบว่าได้มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใดเท่านั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์มิให้นำไปใช้ได้อีก เมื่อหนังสือมอบอำนาจได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันที่ เดือน ปี กำกับด้วย ก็ถือว่าหนังสือมอบอำนาจรับฟังพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

        คำพิพากษาศาลฎีกา 22089/2555ป.รัษฎากร มาตรา 103 นิยามคำว่า ขีดฆ่า หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อมิให้นำแสตมป์นั้นมาใช้อีกอันเป็นการหลีกเลี่ยงค่าอากร เมื่อปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่ามีการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์แล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์ และไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้บนอากรแสตมป์นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายแล้ว จึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้


        ห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ห้ามในคดีอาญา เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา10194/2555ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานไม่ได้ ซึ่งห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือ โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาแสดง ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

        ตราสารที่ไม่ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่า มีผลไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ แต่แม้ไม่ปิดอากรแสตมป์หรือขีดฆ่า ก็ยังเป็นมีผลสมบูรณ์ผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในตราสารนั้น ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา2089/2552ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อบัญญัติไว้เพียงว่า "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ" เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็นหนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้แล้ว จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น ส่วนการปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร ก็เป็นเรื่องของการเรียกเก็บอากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผลเพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น มิใช่ว่าสัญญาที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จะตกเป็นโมฆะไม่

        คำว่า"ตราสาร" หมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดนี้ ซึ่งป.รัษฎากร มาตรา 104 บัญญัติว่า "ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้บัญชีนั้น " โดยมีบทลงโทษไว้ในมาตรา 124 บัญญัติว่า "ผู้มีมีหน้าที่เสียอากร หรือขีดฆ่าอากรแสตมป์ เพิกเฉยหรือปฏิเสธไม่เสียอากร หรือไม่ขีดฆ่าแสตมป์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท"

         ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ คือ เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ   โอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ พันธบัตรและใบรับรองหนี้ซึ่งบริษัท สมาคม คณะบุคคลหรือองค์การใดๆ เป็นผู้ออก เช่าซื้อทรัพย์สิน  จ้างทำของ  กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร  กรมธรรม์ประกันภัย  ใบมอบอำนาจ ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท  ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสารทำนองเดียวกับที่ใช้อย่างตั๋วสัญญาใช้เงิน  บิลออฟเลดิง  เลตเตอร์ออฟเครดิต  เช็คสำหรับผู้เดินทาง  ใบรับของ  ค้ำประกัน  จำนำ  ใบรับของคลังสินค้า  คำสั่งให้ส่งมอบของ  ตัวแทน  คำชี้ขาดของอนุญาตโตตุลาการ  คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร  หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทที่ส่งต่อนายทะเบียน  ข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน ข้อบังคับใหม่หรือสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัทจำกัด ซึ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ส่งต่อนายทะเบียน  ใบรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาบ  ใบรับสำหรับการโอน หรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมเป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะ ทั้งนี้ เฉพาะยานพาหนะซึ่งมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ 

        หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน และหลักฐานการค้ำประกัน ที่ผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่งและมาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงินและหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 118  เช่น  

        คำพิพากษาศาลฎีกา10406/2554แบบฟอร์มคำขอกู้ยืมเงินและหนังสือกู้เงินของสมาชิกสหกรณ์ที่โจทก์นำมาใช้กับพนักงานลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งคำขอกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยที่ 1 เสนอคำขอกู้เงินจำนวน 153,500 บาท ส่วนหนังสือกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือกู้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินไม่เกิน 153,500 บาท เมื่อโจทก์อนุมัติให้ใช้หนังสือกู้นี้ได้ จำเลยที่ 1 จะเบิกรับเงินกู้ตามที่โจทก์อนุมัติ และทำหลักฐานการรับเงินกู้ให้ไว้แก่สหกรณ์ทุกครั้ง ด้านหลังระบุว่า ถ้าโจทก์กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าที่ขอกู้ จำเลยที่ 1 เป็นอันตกลงด้วยทั้งสิ้น ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้อยู่ด้วย คงมีเพียงลายมือชื่อประธานคณะทำงานจากกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเป็นผู้อนุมัติพร้อมเลขานุการในช่องบันทึกการอนุมัติเงินกู้หน้าแรกของหนังสือกู้เงิน อันเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามระเบียบ ฯ ข้อ 9 จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงินและหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา7064/2553หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อของบริษัทเงินทุน น. ผู้ให้กู้อยู่ด้วย จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง แม้จะมีข้อความว่าหนังสือสัญญากู้เงิน เอกสารดังกล่าวก็มิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอากรแสตมป์ลักษณะ 5 แต่อย่างใด หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ ตามความหมายของมาตรา 653 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ น. ไปตามฟ้องโดยไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์

        คำพิพากษาศาลฎีกา21819/2556สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งห้าแต่ฝ่ายเดียวต่างลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินบัญชีและผู้ค้ำประกันเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118

        คำพิพากษาศาลฎีกา13219/2556 เมื่อสัญญาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำกันในรูปสัญญาร่วมลงทุนเพื่ออำพรางนิติกรรม การกู้ยืมเงินต่อกัน สัญญาร่วมลงทุนจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง กรณีคงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องกู้ยืมเงินที่ถูกอำพราง และสัญญาร่วมลงทุนที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินได้หรือไม่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวน จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้" คำว่าตราสารดังกล่าวหมายความถึงหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่คู่สัญญาเจตนาแสดงออกว่าเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน ไม่ได้หมายรวมไปถึงหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ในรูปสัญญาอื่น เพราะคู่สัญญาไม่ได้ต้องการที่จะแสดงออกอย่างเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน หนังสือสัญญาในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่ได้เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามความหมายของคำว่าตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 คงเป็นได้เพียงหลักฐานเป็นหนังสือแสดงการกู้ยืมเงินเท่านั้น เมื่อสัญญาร่วมลงทุนนี้มีเนื้อความครบถ้วนว่าจำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ไป แบ่งจ่ายแต่ละครั้งเมื่อใด และจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เมื่อใด โดยมีการลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไว้ หนังสือสัญญาร่วมลงทุนจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ แม้สัญญาร่วมทุนจะตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อถือว่าสัญญาร่วมทุนดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา10428/2551บันทึกเงินยืมมีข้อความว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2543 ข้าพเจ้า ส. ขอทำบันทึกว่าได้ยืมเงินและรับเงินยืมจาก พ. ไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท (สี่ล้านห้าแสนบาท) จริง และขอชำระเงินยืมดังกล่าวคืนแก่ พ. ผู้ให้ยืมเงินต่อไปนี้... เพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน... ซึ่งก็จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ 4,500,000 บาท ดังความในตอนท้ายที่มีลายมือชื่อของจำเลยว่าผู้ยืมและโจทก์ว่าผู้ให้ยืม บันทึกเงินยืมดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        ถ้าคู่ความยอมรับข้อเท็จจริงตามหนังสือตราสารนั้นแล้ว จึงไม่ต้องใช้ตราสารเป็นพยานหลักฐานในคดี แม้ตราสารไม่ปิดอากรแสตมป์หรือขีดฆ่า ก็ไม่มีผล เพราะไม่ต้องใช้ตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา1740/2558โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าปรับตามสัญญาเช่า จำเลยทั้งสองก็มิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำสัญญาเช่าตามฟ้อง เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ค้างชำระค่าเช่า และไม่ต้องชำระค่าปรับตามฟ้อง คดีจึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้แล้วว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริง โดยโจทก์ไม่จำต้องอ้างหนังสือสัญญาเช่าตามฟ้องเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ฎีกาว่าสัญญาเช่าตามฟ้องมิได้ปิดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ แม้จะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งจำเลยที่ 1 มีอำนาจยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ก็ตาม การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
        สิทธิเรียกร้องค่าเช่าอาคารซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ส่วนอายุความ 6 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 563 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าในกรณีอื่น เช่น การเรียกร้องค่าปรับเนื่องจากชำระค่าเช่าล่าช้า ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าปรับอันเนื่องมาจากการชำระค่าเช่าล่าช้าของโจทก์มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามมาตรา 563 ซึ่งการเริ่มนับอายุความของค่าเช่าย่อมนับตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระค่าเช่าในแต่ละเดือนตามมาตรา 193/12

        คำพิพากษาศาลฎีกา6631/2555เมื่อจำเลยให้การยอมรับว่าทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลงตามฟ้องจริง โดยมิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญา เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญาเลิกกันแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยยอมรับว่าได้ทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลงกับโจทก์โดยไม่จำต้องอาศัยหนังสือสัญญาจ้างเป็นหลักฐานในคดีแม้สัญญาจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 จึงรับฟังเป็นหลักฐานได้ และตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าต้องปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจมีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้ว หนังสือมอบอำนาจจึงใช้บังคับได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา2470/2552สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร แต่จำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามฟ้องกับโจทก์ตามฟ้องจริง มิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญา เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 ลงลายชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรือแต่งตั้งให้กระทำการแทนเท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์ได้ไม่จำเป็นต้องอาศัยหนังสือสัญญาว่าจ้างเป็นหลักฐานในคดี ฉะนั้น แม้สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118

        คำพิพากษาศาลฎีกา10417/2551แม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นเพียงคู่ฉบับ และสัญญาค้ำประกันจะมิได้ติดอากรแสตมป์ แต่ตามคำให้การจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องกับโจทก์จริง โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดี

         คำพิพากษาศาลฎีกา7720/2550โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่ากับโจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าท้ายฟ้องแล้วผิดสัญญา ขอให้ขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย จำลยให้การว่าหนังสือสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องเป็นสัญญาที่โจทก์เจ้าของที่ดินรวมและจำเลยมีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การยอมรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวกับโจทก์จริง เพียงแต่อ้างว่าหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวคู่สัญญามีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย กรณีเช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือสัญญาเช่าฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่ามีการทำหนังสือสัญญาเช่ากันจริงไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา118

         แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับการปิดอากรแสตมป์ในตราสารต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น 
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา 4574/2561โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์นำสืบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานตามข้ออ้างของตน สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง

        คำพิพากษาศาลฎีกา13385/2558โจทก์อ้างสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้าง สัญญาเช่าซื้อมีลักษณะเป็นตราสาร จึงต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ปรากฏว่า สัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามบทบัญญัติ ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้หรือยกปัญหาในเรื่องสัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

         คำพิพากษาศาลฎีกา5086/2558ประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยมีเพียงว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยหรือไม่ เมื่อโจทก์นำสืบพยานบุคคลฟังได้แล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นภายในสถานที่ประกอบการหรือเกิดขึ้นจากการใช้สถานที่ประกอบการไว้จากบริษัท พ. ผู้เอาประกันภัย การอ้างกรมธรรม์ประกันภัยเป็นพยานจึงเป็นเพียงนำสืบประกอบพยานอื่นในประเด็นเรื่องการรับช่วงสิทธิ ไม่ได้นำสืบบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยตรง ดังนั้น แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนอ้างส่งเป็นพยาน ก็ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

       คำพิพากษาศาลฎีกา3876/2558 หนังสือสัญญาจำนองที่ดินถูกอ้างในฐานะเพียงหลักฐานในการกู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินอันจะพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แต่อย่างใด ศาลจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา11073/2554 โจทก์ปิดอากรแสตมป์ด้านที่เป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินถึง 550 บาท ทั้งที่ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 285 บาท แสดงว่าโจทก์ปิดอากรแสตมป์ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันที่เป็นแบบพิมพ์ด้านหลังครบถ้วนแล้ว หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

        คำพิพากษาศาลฎีกา6962/2551โจทก์ฟ้องว่าจำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์ภายหลังจากที่สัญญาเช่าครบกำหนด โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไปและบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไป เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยในมูลละเมิด มิใช่เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าทรัพย์ โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่ได้โดยไม่จำต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าที่ดินเป็นพยานหลักฐานในคดี แม้สัญญาเช่ามิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา6669/2550ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากร มิได้กำหนดว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะต้องปิดอากรแสตมป์แม้ในบัญชีกล่าวข้อ 28 (ข) กำหนดว่า ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมายต้องปิดอากรแสตมป์แต่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง มิได้บัญญัติให้เป็นนิติกรรมที่ต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย และโจทก์อ้างสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จำเลยจะขายให้โจทก์เป็นพยานหลักฐานเพื่อแสดงว่าได้มีการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย มิได้อ้างเพื่อแสดงข้อเท็จจริงว่าเป็นใบรับ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์และไม่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

        กล่าวโดยสรุปตราสารตาม ป.รัษฎากรกำหนด ไม่ปิดอากรแสตมป์ หรือปิดไม่ครบถ้วน ไม่ขีดฆ่า ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้่  ส่วนคดีอาญารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้  ซึ่งเป็นประเด็นที่คู่ความ คือโจทก์และจำเลยไม่ยอมรับข้อเท็จจริงในตราสารนั้น จึงต้องอ้างตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี  แต่ถ้ามีการยอมรับข้อเท็จจริงกันตามตราสารนั้น ก็ไม่จำต้องใช้ตราสารเป็นพยานหลักฐาน จึงไม่ต้องคำนึงว่าตราสารนั้นจะปิดอากรแสตมป์ และขีดฆ่าหรือไม่ และการปิดหรือไม่ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าไม่ทำให้ตราสารนั้นเป็นโมฆะ  ก็พอเข้าใจและเป็นแนวทางต่อไปได้ 


**************************
ขอขอบคุณ 
           ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
           ๒.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น