วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

ขอคืนบ้านพัก ไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ ทำได้หรือไม่

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


ขอคืนบ้านพัก


       (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังใจผู้จัดทำ)

        ข้าราชการผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริง ตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้าน แต่อย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้นั้น  ทางราชการได้จัดที่พักให้ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด นี่คือ เนื้อความตามกฎหมายของมาตรา7(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

      ต่อมากระทรวงการคลัง ได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการเข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการ พ.ศ.2560 โดยยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการเข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการ พ.ศ.2551  โดยสรุป ก็คือ ที่พักของแต่ละส่วนราชการจะกำหนดให้เป็นที่พักสำหรับข้าราชการระดับใด ให้พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งความประหยัดและประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญและสามารถปรับเปลี่ยนได้ฯ หัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณหรือผู้ที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจจัดที่พัก และสามารถกำหนดวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการเข้าพัก ตามหลักเกณฑ์ คือ 

        เมื่อที่พักว่างอยู่และสามารถเข้าพักอาศัยได้ ให้จัดข้าราชการเข้าพักตามหลักเกณฑ์โดยไม่ต้องรอให้ข้าราชการยื่นคำร้องขอเข้าพักอาศัย เมื่อผู้มีอำนาจฯ ได้จัดที่พักให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโสขึ้นไป ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป ประเภทอำนวยการ ประเภทบริหารหรือเทียบเท่าฯ เข้าพักฯแล้ว ผู้นั้นต้องเข้าพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯหรือไม่(เป็นข้อกำหนดให้ผู้มีอำนาจต้องจัดที่พักให้)  เมื่อมีที่พักฯ เหลืออยู่ ให้จัดผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป  ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการลงมาหรือเทียบเท่า ฯ และเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเข้าพักอาศัยไม่ว่า ผู้นั้นกำลังใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการอยู่หรือไม่ก็ตาม  เว้นผู้ใดมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ และยื่นขอใช้สิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ เพื่อชำระราคาบ้านมาเบิกจากทางราชการในท้องที่ที่ปฏิบัติราชการ ตามมาตรา 17 หรือมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และได้รับอนุมัติให้ใช้สิทธิเบิกฯ ในท้องที่นั้นก่อนถูกจัดที่พัก ผู้มีอำนาจไม่ต้องจัดข้าราชการผู้นั้นเข้าพักในที่พักของทางราชการ ฯ 

         กรณีมีที่พักประจำตำแหน่งของห้วหน้าหน่วยงาน หัวหน้าหน่วยงานต้องเข้าพักอาศัย หากมีข้าราชการรายอื่นได้พักอาศัยในที่พักดังกล่าวอยู่ ผู้มีอำนาจฯ ต้องดำเนินการจัดให้ข้าราชการรายอื่นนั้นออกจากที่พักโดยเร็ว และหัวหน้าหน่วยงานต้องเข้าพักฯแทนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รายงานตัวเพื่อเข้ารับหน้าที่ แต่ในระหว่างที่ผู้มีอำนาจฯ ยังไม่ดำเนินการ  หากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ จำเป็นต้องเช่าบ้านหรือเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้าน และได้อาศัยอยู่จริง ย่อมมีสิทธินำหลักฐานมาเบิกค่าเช่าบ้านฯ ได้ในช่วงระยะเวลาที่ไม่สามารถเข้าที่พักของทางราชการได้ โดยไม่ได้ประโยชน์ ว่าไม่ต้องจัดให้เข้าพักเพราะใช้สิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อฯ มาเบิกฯ 

        กรณีข้าราชการมีคู่สมรสซึ่งรับราชการอยู่ในสังกัดเดียวกัน และสามารถพักอาศัยอยู่ในที่พักเดียวกันได้ ผู้มีอำนาจจัดที่พักสามารถใช้ดุลพินิจจัดให้ข้าราชการดังกล่าวให้เข้าพักอาศัยในที่พักฯด้วยกันได้ 

        เมื่อจัดตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ยังคงมีที่พักเหลือว่างอยู่ ผู้มีอำนาจสามารถจัดข้าราชการที่บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกและเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยเขาพักฯ ได้ โดยกำหนดระยะเวลาเข้าอยู่อาศัยให้อยู่ในดุลพินิจของส่วนราชการและต้องบริหารเงินงบประมาณที่ได้รับ(น่าจะเป็นงบประมาณที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการในหน่วยงานนั้น) ให้อยู่ภายในวงเงินที่ได้รับจัดสรรด้วย (แต่เมื่อกระทบต่อเงินงบประมาณฯที่มีอยู่ ก็สามารถจัดให้ออกจากที่พักฯ ได้) และถ้ายังคงมีที่พักเหลือว่างอยู่ ผู้มีอำนาจฯอาจจัดให้ข้าราชการผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ เข้าพักอาศัยได้เป็นการชั่วคราว       

         กรณีที่พักของทางราชการมีไม่เพียงพอสำหรับผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ หรือกรณีที่ข้าราชการที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ซึ่งย้ายมาใหม่ ไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยในที่พักของทางราชการใน เนื่องจากผู้ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ได้เข้าพักอาศัยอยู่ก่อนแล้ว  ทำให้ไม่สามารถจัดให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ เข้าอยู่อาศัยได้ กรณีดังกล่าว ผู้มีอำนาจจัดที่พักต้องดำเนินการจัดให้ผู้ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ออกจากที่พักของทางราชการ และจัดให้ผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ เข้าอยู่อาศัยในที่พักฯ แทนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รายงานตัวเพื่อเข้ารับหน้าที่ แต่ในระหว่างที่ผู้มีอำนาจฯ ยังไม่ดำเนินการดังกล่าว หากผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ จำเป็นต้องเช่าบ้านหรือเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้ เพื่อชำระราคาบ้าน และได้อาศัยอยู่จริง ก็ย่อมมีสิทธินำหลักฐานมาเบิกค่าเช่าบ้านฯ ได้ในช่วงระยะเวลาที่ไม่สามารถเข้าที่พักฯ โดยไม่ได้รับประโยชน์ว่าไม่ต้องจัดให้เข้าพักเพราะใช้สิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อฯ มาเบิกฯ 

         หากผู้มีอำนาจฯ จัดที่พักให้ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ เข้าพักแล้ว ข้าราชการผู้นั้นไม่เข้าพัก ให้ถือว่าสละสิทธิการเข้าพัก และถือว่าทางราชการ ได้จัดที่พักอาศัยให้อยู่แล้ว ตามมาตรา 7(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2547 แก้ไขเพิ่มเติม(ย่อมหมดสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านฯ )  และหากผู้ที่สละสิทธิ ร้องขอเข้าพักเพราะ ต่อมาได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย ผู้มีอำนาจฯ อาจพิจารณาจัดให้ข้าราชการดังกล่าวเข้าพักฯได้ หากต่อมาที่พักฯ ได้ถูกรื้อถอนไปทั้งหมด ถือว่าข้าราชการผู้นั้นไม่มีที่พักของทางราชการจัดให้ จึงไม่เป็นผู้ต้องห้ามในการรับสิทธิค่าเช่าบ้านฯ อีกต่อไปนับแต่วันที่ที่พักของทางราชการได้ถูกรื้อถอนไปทั้งหมด 

         หากบ้านพักฯว่างลง แต่มีสภาพชำรุด ทรุดโทรม มีลักษณะไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้เข้าอยู่อาศัย หรือมีเหตุสุดวิสัย เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือมีเหตุอื่นใดอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ ผู้มีอำนาจฯ ไม่ต้องจัดให้ข้าราชการเข้าพักจนกว่าจะซ่อมแซมแล้วเสร็จหรือเหตุสุดวิสัยนั้นได้รับการแก้ไขหรือบรรเทาจนสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ หรือเมื่อได้จัดให้ข้าราชการเข้าพักแล้ว เกิดเหตุดังกล่าว จนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ หากผู้นั้นมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน จำเป็นต้องเช่าบ้านหรือเช่าซื้อฯ และได้อาศัยอยู่จริง ให้มีสิทธินำหลักฐานมาเบิกฯได้ จนกว่าจะซ่อมแซมที่พักเสร็จหรือเหตุสุดวิสัยนั้นได้รับการแก้ไขหรือบรรเทาจนสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ และส่วนราชการได้จัดให้ผู้นั้น หรือผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านรายอื่นเข้าพักฯ ต่อไป และหากผู้มีอำนาจจัดให้ผู้นั้นกลับเข้าพักแล้ว ไม่เข้าพัก ถื่อว่าสละสิทธิการเข้าพักอาศัยและถือว่าราชการได้จัดที่พักให้แล้ว ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ตามมาตรา 7(1) 

        กรณีหน่วยงานจัดให้ข้าราชการผู้ไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน เข้าพักอาศัยอยู่ก่อนที่หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัตินี้มีผลใช้บังคับ(ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่หลักเกณฑ์ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560) ให้ผู้นั้นมีสิทธิอยู่อาศัย จนกว่าจะถูกจัดออกจากที่พักของทางราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัตินี้ 

       ถ้าผู้ที่พักอาศัยที่พักของทางราชการ ทำหนังสือขอคืนบ้านพัก ไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแทน โดยอ้างว่าบ้านที่จัดให้มีความคับแคบและไม่เหมาะสมกับครอบครัว เนื่องจากมีสมาชิกในครอบครัวหลายคน และไม่สะดวกในการเดินทาง และผู้มีอำนาจอนุมัติ  จะเป็นการเบิกค่าเช่าบ้านโดยชอบหรือไม่  เรื่องนี้ มีคำตอบตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.222/2555 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2555  คือ 

        ข้อเท็จจริงของเรื่อง

        มีข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านฯ ย้ายปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงาน แจ้งความประสงค์ขอเข้าพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการ แต่บ้านพักมีไม่เพียงพอ จึงให้ประสานกับผู้ที่พักอาศัยในบ้านพักราชการอยู่แล้ว เพื่อขอให้คืนบ้านพัก ผู้ที่พักอาศัยที่พักของทางราชการ จึงทำหนังสือขอคืนบ้านพัก เพื่อไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแทน โดยอ้างว่าบ้านจัดให้พักอาศัยมีความคับแคบและไม่เหมาะสมกับครอบครัว เนื่องจากมีสมาชิกในครอบครัวถึง 7 คน ไม่สะดวกในการเดินทาง และมีเงื่อนไขว่า หากทางราชการอนุญาตให้ไปเช่าซื้อบ้าน จะดำเนินการติดต่อบ้านเช่าและออกจากบ้านพักของทางราชการ โดยเจ้าหน้าที่บันทึกให้ความเห็นว่า เห็นควรอนุญาตเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการมีบ้านพักของตนเองฯ จนผู้นั้นได้เช่าซื้อบ้านและนำหลักฐานค่าผ่อนชำระเงินกู้ฯ มาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ และขณะเดียวกันมีข้าราชการซึ่งใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน ได้มีหนังสือขอเข้าพัก ซึ่งผู้มีอำนาจจึงมีคำสั่งอนุญาตในวันเดียวกัน และนำจัดให้ข้าราชการรายอื่นที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้าน เข้าพักแทน

        ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคฯ มีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของผู้อนุมัติว่า ได้สืบสวนกรณีที่มีการร้องเรียนว่าข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้านในขณะที่บ้านพักราชการว่าง แต่ไม่เข้าพักอาศัย แล้วพบว่า การอนุญาตให้ข้าราชการที่ขอคืนบ้านพักออกจากบ้านพักที่ทางราชการจัดให้อยู้แล้ว โดยที่ทางราชการไม่ได้เรียกบ้านพักคืน ไปเช่าบ้าน เช่าซื้อ หรือกู้เงินเพื่อซื้อบ้านอยู่อาศัย แล้วอนุมัติให้ข้าราชการนั้นเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ  น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามหนังสือกระทรวงการคลังฯ เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกค่าเช่าบ้านและสิทธิเข้าพักอาศัยบ้านพักของทางราชการ และมาตรา 7(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ ฯ เป็นเหตุให้ทางราชการต้องจ่ายเงินโดยไม่พึ่งต้องจ่าย จึงเห็นควรดำเนินการหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งเพื่อชดใช้เงินให้แก่ทางราชการ ผู้บังคับบัญชาของผู้อนุมัติ จึงมีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และในระหว่างสอบสวน กรมบัญชีกลางมีหนังสือแจ้งผู้บังคับบัญชาผู้อนุมัติให้ระงับการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านฯ ไว้ก่อนจนกว่าจะถึงที่สุด  ผู้อนุมัติจึงมีคำสั่งระงับการเบิกค่าเช่าบ้านของข้าราชการรายดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งให้คืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด ข้าราชการผู้นั้นอุทธรณ์ และฟ้องคดีปกครองตามลำดับ


         ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพิพากษาที่เป็นประเด็นสำคัญว่า 

         1.คำสั่งอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

          ศาลฯ เห็นว่าในการพิจารณาคำขอคืนบ้านพัก ผู้มีอำนาจในการจัดข้าราชการเข้าพักฯ จะต้องพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามคำขอและพยานหลักฐานที่เห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ตามมาตรา  28 และ 29 วรรคหน่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539 เมื่อขอคืนบ้านพักโดยอ้างบ้านพักที่จัดให้มีความคับแคบ ไม่เหมาะสมกับครอบครัว ผู้มีอำนาจ พิจารณาแล้วอนุญาตให้คืนบ้านพัก เพื่อไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านฯ ถือว่าผู้มีอำนาจ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอื่น เพื่อพิสูจน์ข้ออ้างว่ามีอยู่จริงแล้ว และได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยจึงใช้ดุลพินิจให้คืนหรือออกจากบ้านพัก สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านของกรมบัญชีกลางตามหนังสือ ที่ กค0526.5/6844 ลววันที่ 23 สิงหาคม 2539 เหตุยกเว้นที่ทำให้ไม่มีสิทธิเบิกค่าเข่าบ้านจึงหมดไปนับแต่วันที่ออจากบ้านพักฯ และคำสั่งดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลผูกพันเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอน ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธิปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และไม่ปรากฎว่าได้มีการเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้คืนบ้านพักเพื่อไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านแต่อย่างใด เมื่อปรากฎว่าหลังจากนั้น ผู้นั้นได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทำสัญญากู้เงินกับธนาคาร ผ่อนชำระเป็นรายเดือน จึงมีสิทธินำหลักฐานการผ่อนชำระมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 การที่มีคำสั่งอนุมัติเบิกค่าเช่าบ้านฯ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

          2. เพิกถอนคำสั่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 

            แม้คำสั่งอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน จะเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คำสั่งดังกล่าวอาจถูกเพิกถอนได้ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 51 มาตรา 52 และมาตรา 53 ไม่ว่าจะพ้นขั้นตอนการกำหนดให้อุทธรณ์หรือให้โต้แย้งตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมาแล้วหรือไม่ และวรรคสองบัญญัติว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รัูถึงเหตุที่จะให้เพิกถอนคำสั่งฯ นั้น เว้นคำสั่งทางปกครองจะทำขึ้นเพราะการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งหรือการขุ่มขู่หรือการชักจูงใจโดยการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมาย 

             เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคฯ แจ้งว่า การที่ผู้อนุญาตให้ข้าราชการขอคืนบ้านพักที่จัดให้อยู้แล้ว โดยทางราชการไม่ได้เรียกบ้านพักคืน ออกไปเช่าบ้าน เช่าซื้อหรือซื้อบ้านอยู่อาศัยแล้วอนุมัติให้ข้าราชการนั้นเบิกค่าเช่าบ้าน หรือนำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อฯ มาเบิกค่าเช่าบ้านฯ นั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0541/17441 ลงวันที่ 4 เมษายน 2529 เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกค่าเช่าบ้านและสิทธิเข้าพักอาศัยบ้านพักของทางราชการ และมาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชกฤษฏีกาเค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 เป็นเหตุให้ทางราชการต้องจ่ายเงินโดยไม่พึงจ่าย จึงเห็นควรดำเนินการพิจารณาหาผู้รับผิดขอบทางแพ่งเพื่อชดใช้เงินให้กับทางราชการ 

            ผู้บังคับบัญชาฯของผู้อนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ในระหว่างสอบสวน กรมบัญชีกลางมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาของผู้อนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน ให้ระงับการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านข้าราชการไว้ก่อนจนกว่าจะถึงที่สุด 

            คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า แม้จะได้เคยอาศัยในบ้านพักที่ทางราชการจัดให้อยู่แล้ว แต่ต่อมาครอบครัวใหญ่ขึ้นทำให้บ้านพักคับแคบไม่เหมาะสม จึงขอคืนบ้านพักเพื่อไปเช่าซื้อหรือกู้เงินเพื่อซื้อบ้านฯ  และนำหลักฐานมาเบิกค่าเช่าบ้าน  ผู้มีอำนาจอนุมัติได้รับคืนและนำบ้านพักคืนไปให้ผู้อื่นที่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเข้าอยู่อาศัยแทนแล้ว บ้านพักจึงไม่ว่าง จึงไม่ต้องคืนเงินค่าเช่าบ้านที่เบิกไปให้แก่ทางราชการ ตามแนวการตอบข้อหารือสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน ของกรมบัญชีกลาง ตามหนังสือที่ กค 0526.5/6844 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2539 

            แต่กรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้นั้นอาศัยอยู่ในบ้านพักที่ทางราชการจัดให้แล้ว ต่อมาขอคืนบ้านพักเพื่อไปเบิกค่าเช่าบ้านนั้น ถือว่าเป็นผู้แสดงความประสงค์จะขอสละสิทธิออกจากบ้านพักเอง ทำให้ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านนับแต่วันที่ออกจากบ้านพัก จึงต้องคืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด หากไม่สามารถเรียกคืนได้ให้เรียกชดใช้จากผู้อนุมัติ  และกรมบัญชีกลางมีหนังสือถึงผู้บังคับบัญชา ให้เรียกให้ข้าราชการผู้นั้นชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการ  จึงมีหนังสือแจ้งให้ข้าราชการผู้น้ั้นทราบและลงลายมือรับทราบแล้ว และมีหนังสือแจ้งจำนวนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด กรณีจึงถือได้ว่าผู้อนุมัติได้ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุที่จะให้เพิกถอน ตามมาตรา 49 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539


            3.การเพิกถอนคำสั่งอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน และสั่งให้คืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

            ศาลฯเห็นว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่ง โดยปกติต้องเพิกถอนให้มีผลในขณะที่มีคำสั่งหรือให้มีผลในอนาคต และจะต้องมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 53 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ดังต่อไปนี้ (1) มีกฎหมายกำหนดให้เพิกถอนได้หรือสงวนสิทธิในการเพิกถอนได้ในคำสั่งทางปกครองนั้น (2) คำสั่งทางปกครองนั้นมีกำหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติ แต่ไม่มีการปฏิบัติภายในเวลาที่กำหนด (3) ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีข้อเท็จจรหรือพฤติการณ์เช่นนั้นในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงจะไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ (4) บทกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีบทกฎหมายเช่นนั้นในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงจะไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น  (5) อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชนอันจำเป็นต้องป้องกันหรือขจัดเหตุดังกล่าว 

            และหากจะเพิกถอนคำสั่งที่ให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งโดยให้มีผลย้อนหลังจะต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 53 วรรคสี่ บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลย้อนหลัง หรือไม่มีผลย้อนหลัง หรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครอง (2) ผู้ได้รับประโยชน์มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคำสั่งทางปกครอง 

            ซึ่งเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.2527 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากทางราชการเป็นเหตุ และได้ผ่อนผันให้มีการใช้หลักฐานที่ข้าราชการเช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ในบางกรณี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้อนุญาตได้อนุญาตให้คืนหรือออกจากบ้านพักเพื่อไปใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน และผู้นั้นได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทำสัญญากู้เงินกับธนาคาร นำหลักฐานการผ่อนชำระ มาเบิกค่าเช่าบ้าน จึงไม่มีเหตุที่ผู้นั้นมิได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด และคำสั่งดังกล่าวไม่ปรากฎเงื่อนไขใดๆให้ผู้นั้นปฏิบัติแต่อย่างใด ดังน้ัน  การมีคำสั่งระงับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน และสั่งให้คืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปทั้งหมด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

            จากที่ผู้เขียน สรุปย่อคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว ออกเป็น 3 ประเด็น จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจข้อเท็จจริงของเรื่องและหลักกฎหมายที่ศาลใช้พิจารณาได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะมีเนื้อหามาก แต่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้สิทธิ ผู้อนุมัติ และหน่วยงานราชการ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ข้าราชการรายอื่นที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการ ได้เข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการจัดให้พัก จะใช้สิทธิบ้าง ก็คงต้องต่อสู้กับทั้ง ผู้อนุมัติ  กรมบัญชีกลาง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะต้องมีการตรวจสอบและดำเนินการ แต่ก็ยังถือว่ามีแนวปฏิบัติที่ทั้งผู้อนุมัติ และผู้ใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน  สามารถนำใช้ประโยชน์ได้

************************
ขอขอบคุณ 

           ๑.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เผยแพร่ทางเว็บไซด์  http://www.admincourt.go.th  

           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/   

             

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น