วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564

การจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (วิธีพิจารณาความอาญา)

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


การจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

         บทความนี้ ขอเสนอหัวข้อเรื่อง "การจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา " ว่าการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา มีหลักกฎหมายอย่างไร  การจับโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลให้จับ ทำได้หรือไม่ มีหลักกฎหมายที่จะต้องทำความเข้าใจพอสมควร      

          คำว่า "ผู้ต้องหา" และ "จำเลย" ตามมาตรา ๒ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ให้ความหมายไว้ ดังนี้  

        ผู้ต้องหา หมายความถึง บุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล   

        จำเลย หมายความถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้ว โดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด"

        จากคำนิยามตามกฎหมาย ผู้ต้องหากับจำเลย จึงเป็นผู้ถูกหาว่ากระทำความผิดอาญาเหมือนกัน แต่ผู้ต้องหา คือผู้ที่ยังไม่ได้ถูกฟ้องไปยังศาล อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนรวมรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดี  แต่จำเลย คือ ผู้ถูกฟ้องยังศาลแล้ว กรณีพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา และกรณีราษฎร์ยื่นฟ้องคดีอาญาและศาลรับฟ้องไว้พิจารณา 

        ในการจับ หรือคุมขังบุคคลใด มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด  มาตรา ๒๘ บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ " ตามบทบัญญัติดังกล่าว การจับและคุมขังบุคคลใด จะทำได้เมื่อมีคำสั่งหรือหมายของศาล   หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น การจับบุคคลใด จึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะเมื่อมีคำสั่งหรือหมายของศาลเท่านั้น ยังมีเหตุอื่นที่สามารถจับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล จึงต้องมาเรียนรู้กัน

         การจับผู้ต้องหา  

         ตามหลักกฎหมายพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลไม่ได้  แต่มีข้อยกเว้นที่กฎหมายให้อำนาจจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งศาล (ม.78) ข้อยกเว้นนั้นคือ (1)เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซี่งหน้า (ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ) หรือ(2)เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด หรือ(3)เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้น แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ หรือ(4)เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว 

        ราษฎร ก็สามารถจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้ คือ ราษฎรที่เห็นบุคคลใดกำลังกระทำผิดอาญา หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ ถ้าเป็นความผิดที่ระบุไว้ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

        ความผิดที่ระบุไว้ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าไม่เห็นขณะกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเข้าได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ ถ้ามีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าความผิดนั้นเป็นความผิดซึ่งหน้า คือ เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ หรือเมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้น และมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น 

        ความผิดที่ระบุไว้ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล ขบถภายในพระราชอาณาจักร ขนบภายนอกพระราชอาณาจักร ความผิดต่อทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำอันตรายแก่ธง หรือเครื่องหมายของต่างประเทศ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน หลบหนีจากที่คุมขัง ความผิดต่อศาสนา ก่อการจลาจล กระทำให้เกิดภยันตรายแก่สาธารณชน กระทำให้สาธารณชนปราศจากความสะดวกในการไปมาและการส่งข่าวและของถึงกันและกระทำให้สาธารณชนปราศจากความสุขสบาย ปลอมแปลงเงินตรา ข่มขืนกระทำชำเรา ประทุษร้ายแก่ชีวิต ประทุษร้ายแก่ร่างกาย ความผิดฐานกระทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ ลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และโจรสลัด กรรโชก 

        ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อกฎหมายดังกล่าว พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใด ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งศาล ซึ่ง เหตุในการออกหมายจับผู้ต้องหาตามหลักกฎหมาย (ม.66) คือ เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น การที่ผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร ย่อมตกอยู่ในข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี ทำให้ออกหมายจับได้ 

        อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ถ้ามีหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ขอให้ศาลออกหมายจับได้  หรือเมื่อมีหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำผิดอาญา อัตราโทษจำคุกเท่าใดก็ได้ แต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งการที่ผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ก็เข้าข้อสันนิษฐานว่าจะหลบหนี ขอให้ศาลออกหมายจับได้ ซึ่งในข้อนี้ ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจสามารถจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือคำสั่งศาลให้จับ  เช่น     

        คำพิพากษาศาลฎีกา3803/2562 การจับกุมโจทก์ทั้งสี่มีมูลเหตุมาจากการที่ ช. แจ้งเรื่องไปที่ศูนย์วิทยุสื่อสาร สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ว่าโจทก์ที่ 2 อ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจพูดจาเชิงข่มขู่ให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ต จำเลยที่ 13 จึงไปร้านที่เกิดเหตุตามคำสั่งของจำเลยที่ 7 ช. ยืนยันข้อเท็จจริงตามที่แจ้ง จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก จึงติดตามจนพบรถกระบะที่โจทก์ทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะ ขอตรวจค้นพบบัตรคอนเสิร์ต 5 ใบ กับเงินสด 7,000 บาท ในกระเป๋าสะพายของโจทก์ที่ 1 กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวกเชื่อโดยสุจริตว่ามีเหตุการณ์ดังที่ ช. แจ้งเกิดขึ้นจริง จึงมีหลักฐานตามสมควรว่าโจทก์ทั้งสี่น่าจะได้กระทำความผิดอาญา ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน เจ้าพนักงานตำรวจไม่ทราบว่าโจทก์ทั้งสี่พักอาศัยอยู่ที่ใด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่จะหลบหนี และหากต้องไปขอให้ศาลออกหมายจับก่อน อาจจะไม่ได้ตัวโจทก์ทั้งสี่มาดำเนินคดี ถือได้ว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับ การจับกุมโจทก์ทั้งสี่จึงต้องด้วยข้อยกเว้นของการจับโดยไม่มีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ประกอบมาตรา 66 (2) จึงเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมาย

      แม้จะมีเหตุให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับ แต่ต้องแสดงให้ผู้ต้องหาทราบว่าเป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่แสดงผู้ต้องหาอาจเข้าใจว่าจะเข้ามาทำร้าย จึงมีสิทธิป้องกันไม่ให้จับ ไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำตามการตามหน้าที่ เช่น 

       คำพิพากษาศาลฎีกา5802/2537 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ห้ามมิให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับเว้นแต่กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตามบทมาตราดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวันที่ไปจับกุมจำเลยทั้งสอง ผู้เสียหายในคดีที่ถูกทำร้ายร่างกายร่วมไปกับจ่าสิบตำรวจส.และพลตำรวจท.ด้วย และเป็นผู้ชี้แจ้งให้เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสอง กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4) เจ้าพนักงานตำรวจที่ไปจับกุมจำเลยที่ 1 ไม่มีผู้ใดแต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการตามหน้าที่การที่เจ้าพนักงานตำรวจสวมกางเกงสีกากีเสื้อคอกลม บางคนก็สวมกางเกงยีนจะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจเอาเองว่าบุคคลที่เข้ามาจับกุมนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมเป็นไปไม่ได้ ที่พลตำรวจ ท. เบิกความว่าขณะวิ่งไล่ตามจำเลยที่ 1ได้ร้องบอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอจับกุม แต่ลักษณะการเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 มีพวกญาติของผู้เสียหายหลายคนวิ่งกรูเข้าไปร่วมจับกุมด้วย จึงอาจทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าจะเข้ามาทำร้ายเมื่อจำเลยทั้งสองไม่เคยรู้จักหรือเคยเห็นหน้าจ่าสิบตำรวจ ส.และพลตำรวจ ท. กับพวกมาก่อน แม้จะได้ต่อสู้ขัดขวางไม่ให้จับกุม จำเลยทั้งสองก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่

        การจับผู้ต้องหา ภายหลังได้รับการปล่อยชั่วคราว ระหว่างสอบสวน โดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกัน นั้น เมื่อผู้ต้องหาหนี หรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าว มีอำนาจจับผู้ต้องหาได้(โดยไม่ต้องมีหมายหรือคำสั่งศาล (ม.78(4)) หรือเป็นกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นผู้ต้องหาหนีหรือจะหลบหนี ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด (ม.117)

advertisement


        การจับจำเลย

       จำเลย คือ ผู้ถูกฟ้องยังศาลแล้ว กรณีพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา และกรณีราษฎร์ยื่นฟ้องคดีอาญาและศาลรับฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งในวันยื่นฟ้องต้องมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปศาล เว้นแต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกคุมขังอยู่ในอำนาจศาล 

        กรณีจำเลย ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล โดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกัน  เมื่อจำเลยหนี หรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าว มีอำนาจจับจำเลยได้  โดยไม่ต้องมีหมายหรือคำสั่งของศาล (ม.78(4)  นอกจากนี้ บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นจำเลยหนีหรือจะหลบหนี ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับจำเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด (ม.117)   

        เมื่อจับผู้ต้องหาไว้แล้ว พนักงานสอบสวนอาจขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน  ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายมีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขัง   เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 4265/2561ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ตามคำร้องของผู้ร้องมีกำหนด 12 วัน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาฎีกา เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขังโดยทันที... กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม..." มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 66 บัญญัติว่า "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี" ตามบทบัญญัติข้างต้นให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 คดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการก่อนฟ้องซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของผู้ร้อง

**************************
ขอขอบคุณ 

           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น