วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สินสมรส (กฎหมายแพ่ง)

 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี

สินสมรส


(คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังใจให้ผู้จัดทำ)

        สินสมรส 

        เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส  การสมรสในที่นี้คือ การจดทะเบียนสมรส  (ม.1457) ซึ่งกฎหมายบัญญัติเงื่อนไขของชายหญิงที่จะทำการสมรสไว้ ถ้าฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่ก่อใหให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา (ม.1498) เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามเงื่อนไข ชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสก็จะมีฐานะเป็นสามีภริยากัน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินในระหว่างที่มีการสมรสกันอยู่  

        ถ้าไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาในระหว่างอยู่ร่วมกัน เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นไม่ใช่สินสมรส กล่าวคือไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน เพราะไม่มีฐานะเป็นสามีภริยากัน  สินสมรสจึงเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส  ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนี่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเป็นสินสมรส (ม.1474) 

        คำพิพากษาศาลฏีกา12734/2558 แม้ที่ดินและหุ้นจะได้มาในระหว่างโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์กับผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่ดินและหุ้นดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส อันจะถือเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)

        การที่ฝ่ายใดมีทรัพย์สินอยู่ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรส ก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายนั้น เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะหรือเครื่องมือเครืองใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพของฝ่ายใด เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายนั้น (ม.1471)

        การได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ถ้าได้มาโดยการรับมรดก หรือการให้โดยเสน่หาที่ไม่ได้ระบุให้เป็นสินสมรส ก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวไม่ใช่สินสมรส  หญิงที่ได้ของหมั้นมาก่อนสมรสของหมั้นนั้นก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่ถ้าดอกผลของทรัพย์สินส่วนตัวที่มีขึ้นในระหว่างสมรสก็เป็นสินสมรส  

        คำพิพากษาศาลฏีกา12346/2558 ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน และกฎหมายมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หาเท่านั้น ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หานั้น เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการให้ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่ ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า น. บิดาของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขและค่าตอบแทนเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของ น. ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้ ส่วนที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินพิพาทหลังจากได้รับการยกให้มาแล้วก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เช่นกัน

        เมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส คู่สมรสมีส่วนในทรัพย์สินคนละครึ่งจึงถือเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินสมรส นั้น  แต่การที่จะแบ่งสินสมรสจะทำได้เมื่อได้มีการหย่ากัน  เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา2817/2562 เมื่อรถบรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องซื้อมาด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรส ผู้ร้องกับจำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง

        คำพิพากษาศาลฎีกา8455/2559 การแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533

        คำพิพากษาศาลฎีกา7860/2559 เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา8803/2559 เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสิน นั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533
        รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย

        คำพิพากษาศาลฎีกา4403/2558 เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (2) หมายถึงเครื่องมือเครื่องใช้ที่โดยสภาพเป็นสิ่งเฉพาะสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพของคู่สมรสฝ่ายนั้นเท่านั้น รถยนต์ที่โจทก์จำเลยซื้อมาระหว่างสมรสเพื่อความสะดวกในการรับส่งบุตรไปโรงเรียน ภายหลังจำเลยนำมาใช้รับจ้างส่งนักเรียน แสดงให้เห็นว่ารถยนต์เป็นทรัพย์ที่มิได้มุ่งหมายใช้ในการประกอบอาชีพรับจ้างแต่เพียงประการเดียว รถยนต์จึงเป็นสินสมรสมิใช่สินส่วนตัวของจำเลย



  •    ถ้าฝ่ายใดใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้จะซื้อในระหว่างสมรส ก็ไม่ใช่สินสมรส เช่น 
       คำพิพากษาศาลฎีกา145/2563โจทก์ใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านเล็กๆ มีแต่หลังคาแต่ไม่มีฝาบ้านมาในระหว่างสมรส และใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ในการก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำในที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้เป็นการก่อสร้างในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันก็จะถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสหาได้ไม่ บ้านพิพาทย่อมเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายได้

       เงินช่วยเหลือสมาชิกที่จ่ายเมื่อคู่สมรสฝ่ายใดเสียชีวิต ไม่ใช่สินสมรส เช่น 

       คำพิพากษาศาลฎีกา2236/2562 เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิตที่จ่ายในกรณีเสียชีวิต ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยไม่ใช่เงินที่ ได้มาระหว่างสมรส จึงไม่ใช่สินสมรส

        สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิต ไม่ใช่สินสมรส เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา4239/2558 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิต นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรส

        จัดต้ังบริษัทร่วมกัน บริษัทนั้นไม่ใช่สินสมรส เช่น 

       
 
คำพิพากษาศาลฎีกา2854/2561ฟ้องขอให้แยกสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย เดิมโจทก์และจำเลยประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และต่อมาจดทะเบียนเลิกห้าง และจัดตั้งบริษัท อ. โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ใช้อำนาจบริหารกิจการบริษัท อ. แต่ให้ อ. บุตรชายของโจทก์และจำเลยเป็นผู้บริหารแทน กิจการโรงงานเป็นของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก หาใช่สินสมรสไม่
         บริษัท อ. และ บริษัท ซ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลอื่นและผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เป็นของตนเอง การดำเนินกิจการต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับจัดตั้ง กิจการบริษัททั้งสองรวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทหาใช่สินสมรสไม่ แต่เป็นของบริษัทภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท หากจะเกิดความเสียหายหรือเกิดความหายนะ ก็เป็นเรื่องที่กรรมการบริษัทจะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 กรณีจึงไม่มีเหตุแยกสินสมรส

        ใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหารและสถานบริการ เป็นสิทธิเฉพาะตัว แม้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพราะเป็นสินสมรสที่ประกอบธุรกิจขณะเป็นสามีภริยากัน แต่การที่ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาต ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายที่ไม่ประสงค์ให้โอนใบอนุญาตกัน ไม่อาจฟ้องบังคับให้ลงชื่อในใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการได้
             
        คำพิพากษาศาลฎีกา6729/2559ใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหารและสถานบริการชื่อ บ. คาราโอเกะ และ ป. คันทรีคลับ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากการจะได้รับอนุญาตหรือไม่ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 หากผู้ใดฝ่าฝืนตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องรับโทษตามมาตรา 26 ทั้งไม่มีบทบัญญัติอนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตแก่กันได้ แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพราะเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลยที่ประกอบธุรกิจขณะเป็นสามีภริยากัน แต่การที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาต ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ไม่ประสงค์ให้โอนใบอนุญาตกัน โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้ลงชื่อโจทก์ในใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าวได้

        กู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยร่วมกัน แม้มีชื่อผู้กู้คนเดียว  บ้านที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวโดยอาศัยเงินกู้นั้นก็เป็นสินสมรส เช่น

    
    คำพิพากษาศาลฎีกา15401/2558โจทก์เคยร่วมกับสามีกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. สาขาตรัง ในโครงการสินเชื่อเคหะสงเคราะห์เพื่อก่อสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันมาก่อน แม้ต่อมาสามีโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้กู้เงินจากธนาคาร ก. สาขาตรัง ตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า เพื่อใช้สิทธิในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง ซึ่งหากเป็นการกู้เงินตามสัญญาใหม่ที่มีจำนวนเงินไม่สูงกว่าจำนวนหนี้เดิมก็จะเป็นการชำระหนี้ราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่เดิมนั่นเอง และแม้สามีโจทก์จะเป็นผู้กู้เงินตามสัญญาใหม่แต่เพียงผู้เดียว บ้านที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวโดยอาศัยเงินกู้นั้นก็เป็นสินสมรสของโจทก์ด้วย และนอกจากโจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้ที่สามีโจทก์ได้กู้ยืมตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า ของธนาคาร ก. สาขาตรัง ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ร่วมแล้ว โจทก์ยังต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวด้วย ดังนั้นไม่ว่าสามีโจทก์หรือโจทก์จะเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอง สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน โจทก์จึงมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขของข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (ข้อบังคับใหม่) ข้อบังคับดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายและเป็นคุณกับโจทก์

        ร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ก่อนจดทะเบียนสมรส ไม่มีตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์เป็นอย่างอื่น จึงเป็นการมีกรรมสิทธิรวมในที่ดินและทาวน์เฮาส์ เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรส การผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนภายหลังจดทะเบียนสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่เป็นสินสมรส เช่น

        คำพิพากษาศาลฏีกา1776/2558การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
advertisement



        สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในเรื่อง ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง  ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี ให้กู้ยืมเงิน ให้โดยเสน่หา เว้นแต่ให้พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล สังคมหรือหน้าที่ธรรมจรรยา ประนีประนอมยอมความ มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย  นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล ถ้าเป็นการจัดการสินสมรสนอกจากที่กล่าวนี้  จัดการได้ลำพัง หรือไม่ต้องได้รับความยินยอม(ม.1475) ซึ่งความยินยอมนั้น ถ้าเป็นการยินยอมให้ไปจัดการสินสมรสที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือด้วย(ม.1479) เช่น ยินยอมให้ขายอสังหาริมทรัพย์ ขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคา ให้ขายฝาก(คือสัญญาซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อกตกลงกันให้ผู้ขายไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้)  ให้เช่าซื้อ  ให้จำนอง ปลดจำนอง เป็นต้น  

        การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมดังกล่าว ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมแต่ฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรส คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ยินยอมฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ โดยต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรม (ม.1480) กล่าวคือ ถ้ารู้ว่ามีการจัดการสินสมรสฝ่ายเดียวหรือไม่ได้รับความยินยอม ต้องจัดการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้  ถ้าไม่เคยรู้มาก่อนเลย แต่มารู้ก่อนครบสิบปี ก็ยังฟ้องให้เพิกถอนได้ แต่ก็ต้องพิสูจน์ความไม่รู้นั้นพอสมควร
 
       การทำพินัยกรรมยกสินสมรสของตนให้แก่บุคคลใด คู่สมรสแต่ละฝ่ายสามารถทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อยกสมรสที่ไม่เกินกว่าส่วนของตน(ม.1481) 

         คำพิพากษาศาลฎีกา7789/2560 แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา8594/2559 โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์ไม่ทราบเรื่อง การที่จำเลยทั้งสามให้การต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทราบเรื่องและไม่คัดค้านถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว และนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก็วินิจฉัยประเด็นต่อไปว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แต่หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ คำให้การของจำเลยทั้งสามจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำลงวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง

        คำพิพากษาศาลฎีกา4071/2558การที่จำเลยที่ 1 และ ช. ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทมา ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์ เป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 บัญญัติว่า สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้ (5) ให้โดยเสน่หา และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ กฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้น เป็นโมฆะหรือโมฆียะ บัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอน นิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ย่อมสมบูรณ์ โจทก์ไม่จำต้องบอกล้างโมฆียะกรรมแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์จึงเป็นสินสมรส อำนาจในการจัดการสินสมรสดังกล่าว จำเลยที่ 1 และโจทก์จึงต้องจัดการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง



        กรณีที่ไม่มีการหย่าขาดจากกันอันจะต้องแบ่งแยกสินสมรสให้ฝ่ายละครึ่งตามสิทธิ  แต่มีเหตุที่ทำให้ต้องแยกสินสมรสได้ คือ กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว ถ้าการจัดการสินสมรสเสียหายถึงขนาด ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มีพฤติการณ์ปรากฎว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส อีกฝ่ายร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้ (ม.1484)
    
         ถ้าสามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกันโดยอำนาจกฎหมายนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย(ม.1491) 

        เมื่อได้แยกสินสมรส เพราะเหตุตาม ม.1484(ตามคำสั่งศาล)  ม.1491(เหตุต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย) หรือกรณีศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและศาลไม่สมควรให้คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล ( ม.1598/17) (ศาลมีคำสั่งให้แยก) ให้ส่วนที่แยกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา ทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังในระหว่างที่มีคำสั่งแยกสินสมรส ถือเป็นสินส่วนตัว และสินสมรสที่ได้มาในภายหลังโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือที่ระบุให้เป็นสินสมรสให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายละครึ่ง(ม.1492) เมื่อมีการแยกสินสมรสโดยคำสั่งศาล การยกเลิกการแยกสินสมรส สามีหรือภริยาต้องรองขอต่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการแยกสินสมรส  แต่ถ้ามีการคัดค้านจากสามีหรือภริยา ศาลจะสั่งยกเลิกการแยกสินสมรสเมื่อเหตุแห่งการแยกสินสมรสสิ้นสุดแล้ว(ม.1492/1) เหตุที่ว่านั้นคือ พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย หรือพ้นจากการเป็นบุคคลไร้ความสามารถ 

        กรณีที่สามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระจากสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน ไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นของฝ่ายนั้น(ม.1488) แต่ถ้าสามีหรือภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้จากสินสมรสก่อน ไม่พอให้ชำระจากสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย(ม.1489) เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา15301/2558 การบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เบื้องต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 กำหนดหลักการสำคัญไว้เพียงว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือศาลจะได้มีคำสั่งไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีโดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่บังคับว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องกระทำทีละสิ่งเสมอไป ทั้งไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินนั้นว่าจะแบ่งภาระแห่งหนี้กันอย่างไร ดังนี้ การจะชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นเป็นประการใดจึงเป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป เมื่อคดีได้ความว่าที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านประเมินราคาไว้ 337,200 บาท ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 9 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีธนาคารทั้งสองบัญชีของ ย. ภริยาจำเลยที่ 9 อันเป็นสินสมรสที่เป็นของจำเลยที่ 9 เพื่อการชำระหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะเคยขอให้ออกหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากดังกล่าวมาก่อน แต่เมื่อมีการถอนอายัดครั้งก่อนแล้ว การอายัดครั้งหลังย่อมไม่เป็นอายัดซ้ำ ปัญหาว่าจะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินใดได้หรือไม่นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์สินนั้นอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น อย่างไรก็ดี เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 9 การชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดมานั้นจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 กล่าวคือ ต้องบังคับชำระหนี้ด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระหนี้ด้วยเงินฝากอันเป็นสินสมรสส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 9 ต่อไป



        จากการนำเสนอบทความเรื่องสินสมรส น่าจะทำให้สามีภริยาที่เป็นคู่สมรสเข้าใจเงื่อนไขของทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสได้พอสมควร แต่ก็มีกรณีที่ชายหญิงที่จะทำการสมรสกัน ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ในรูปแบบสัญญาก่อนสมรส โดยจดแจ้งข้อตกลงอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส โดยสัญญาดังกล่าวมีลายมือชื่อชายหญิงที่ทำสัญญาก่อนสมรสและมีพยานอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อไว้แนบไว้ท้ายทะเบียนสมรสและได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญาก่อนสมรส (ม.1466) ข้อความในสัญญาก่อนสมรสต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้กฎหมายประเทศอื่นบังคับ ข้อความนั้นจะเป็นโมฆะ(เฉพาะข้อความที่ขัดฯ ข้อความอื่นยังไม่เป็นโมฆะ) เมื่อมีสัญญาก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินจึงต้องเป็นไปตามสัญญาก่อนสมรส   การเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรส ทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล 

        ถ้าไม่มีสัญญาก่อนสมรส  สามีภริยาจะทำสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยากันก็ได้ เป็นการกำหนดเงื่อนไขในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินให้แตกต่างไปจากหลักกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเมื่อทำสัญญากันแล้ว อาจบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ซึ่งจะไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต (ม.1469)

        คำพิพากษาศาลฏีกา15028/2557โจทก์ยกบ้านพิพาทให้จำเลยในระหว่างสมรส เป็นนิติกรรมสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 บัญญัติให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าโจทก์บอกล้างการให้เมื่อใด แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าและขอให้เพิกถอนการให้บ้านพิพาท ให้จำเลยคืนบ้านพิพาทแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ สัญญาจึงไม่มีผลบังคับอีกต่อไป โจทก์มีสิทธิเรียกคืนบ้านพิพาทจากจำเลยได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าข้อเท็จจริงจะฟังได้หรือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์


**************************
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น