วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564

แจ้ง สว.3 ไม่ถูกต้อง คำสั่งลงโทษไม่ชอบ (การดำเนินการทางวินัย)

 บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี
  

แจ้ง สว.3ไม่ถูกต้อง
   
          (คลิกป้ายโฆ๋ษณา เพื่อส่งกำลังให้คนจัดทำ)

        แจ้ง สว.3ไม่ถูกต้อง คำสั่งลงโทษไม่ชอบ 

        เป็นหัวข้อที่จะมาศึกษาหาความรู้กันในบทความนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนดำเนินการทางวินัยข้าราชการ ที่ทั้งผู้ที่เป็นคณะกรรมการ ผู้สั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน และผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ต้องทราบว่าการแจ้ง สว.3 ของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญแล้วหรือไม่ 

         การแจ้ง สว.3 คือ การแจ้งแบบบันทึกที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับ การแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการสอบสวน หากในการสอบสวนทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาไม่ถูกต้อง จะมีผลต่อการพิจารณาสำนวนการสอบสวน และคำสั่งลงโทษทางวินัย ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นำมาเป็นข้ออ้างในการอุทธรณ์และฟ้องคดีปกครองต่อไป  เพราะคำสั่งลงโทษทางวินัย ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามความหมายของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่หมายความว่า "การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ ปลี่ยนแปลงโอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว..."

        หลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแจ้ง สว.3 ตามกฎหมาย ซึ่งที่นี้ คือ กฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการสอบสวนทางวินัยข้าราชการ เช่น  ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ เดิมการสอบสวนจะมี กฎ ก.พ.ฉบับที่ 18 ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา  แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้กฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556  ถ้าเป็นข้าราชการตำรวจ การสอบสวนจะมี กฏ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2547 ถ้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การสอบสวนจะมี กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2550 เป็นต้น ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวจะมีรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการสอบสวนที่คณะกรรมการสอบสวนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจะมีสาระสำคัญไม่แตกต่างกัน

       การแจ้ง สว.3 หรือที่เรียกว่าการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา เป็นขั้นตอนภายหลังที่คณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาเท่าที่ปรากฎตามเรื่องที่กล่าวหาและตามพยานหลักฐานที่กล่าวหา หรือเรียกว่า "การแจ้ง สว.2 "แล้วผู้ถูกกล่าวหามิได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพหรือรับสารภาพบางส่วน ทำให้คณะกรรมการสอบสวนต้องดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กล่าวหา คือ รวบรวมพยานเอกสาร พยานบุคคล และพยานวัตถุต่อไป ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฎตามเรื่องที่กล่าวหา เพียงพอที่จะพิสูจน์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาได้ เช่น เป็นพยานหลักฐานที่เป็นคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด พยานหลักฐานที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและชี้มูลมาให้ดำเนินการทางวินัย หรือเป็นพยานหลักฐานที่ผู้ร้องได้มีการรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เชื่อถือได้มาพร้อมกับเรื่องร้องเรียนแล้ว เป็นต้น คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร ถ้าเห็นว่าเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุข้อกล่าวหาที่ปรากฎตามพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยทำบันทึกซึ่งมีสาระสำคัญตามแบบ สว.3 ที่กำหนด โดยการประชุมพิจารณาพยานหลักฐานในขั้นตอนนี้ต้องมีคณะกรรมการสอบสวนมาประชุมให้ครบองค์ประชุมด้วย 

        บันทึกสาระสำคัญตามแบบ สว.3 จึงมีข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่กล่าวหา มาตรากฎหมายที่ระบุว่าผิด และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา แล้วดำเนินการแจ้งผู้ถูกกล่าวหาทราบเพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเต็มที่และถูกต้องตรงประเด็นเพื่อหักล้างข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมาตรฐานในการปฏิบัติราชการที่ไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ในมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีเจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน" 

                                                                                                                                                         

        กรณีที่เป็นการแจ้ง สว.3 ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด  คือ
        1. การแจ้งโดยมีข้อความในลักษณะของการแจกแจงรายการพยานบุคคล รายการพยานเอกสาร โดยมิได้มีการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่ได้จากถ้อยคำบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวในลักษณะของการระบุวัน เวลา สถานที่ และการกระทำของพยานบุคคล ตลอดจนความเกี่ยวข้องของพยานเอกสารที่อ้างอิงว่ามีลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหาอย่างเพียงพอ  ถือเป็นการแจ้ง สว.3 ไม่ถูกต้อง ตามรูปแบบขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.23/2553)
        2 . การแจ้งแต่เพียงรายชื่อพยานบุคคลที่ให้การสนับสนุนข้อกล่าวหาโดยมิได้มีการแจ้งสรุปพยานหลักฐานดังกล่าว มีผลทำให้การแจ้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาและกระบวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.63/2553)
        3. ออกคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหา โดยมิได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา จึงเป็นการทำคำสั่งโดยไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญฯ คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.250/2553)


        4. การแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อให้ผู้ถูกกกล่าวหารับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐานเพื่อคัดค้านข้อกล่าวหานั้น จะต้องปรากฎหลักฐานให้ชัดแจ้งว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นได้รับทราบคำสั่งจากคณะกรรมการ เพื่อจะมาให้ถ้อยคำหรือแสดงพยานหลักฐาน ถ้าไม่ปรากฎหลักฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อใด ผู้ฟ้องคดีก็ไม่อาจที่จะทราบได้ว่าวัน เวลาใด ที่จะต้องไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการได้...ถ้าผู้ฟ้องคดีไม่ยอมมาให้ถ้อยคำคณะกรรมการก็อาจมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีมาให้ถ้อยคำในวันต่อไปได้  อีกทั้งเมื่อมีการสั่งให้สืบสวนเพิ่มเติมก็ไม่ปรากฎว่าได้ทำการสืบสวนหรือสอบปากคำผู้ฟ้องคดีด้วยแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฎว่าคณะกรรมการได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญฯ...คำสั่งลงโทษทางวินัยจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.340/2553)
        5.การสอบสวนเพิ่มเติม...เป็นการดำเนินการทางวินัยที่มิได้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบและมีโอกาสได้โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าว กรณีจึงถือว่ามีมาตรฐานในการปฏิบัติต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดวไว้ในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งหากข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวก้บการกระทำหรือพฤติการณ์อันนำไปสู่การลงโทษทางวินัยที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้ทราบและโต้แย้งมาก่อน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบและโต้แย้งข้อเท็จจริงนั้นด้วย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.382/2553) 
        6.คณะกรรมการแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมทั้งสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาและแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบถึงวัน เวลา สถานที่และการกระทำที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนข้อกล่าวหา..แต่มิได้ระบุว่าเป็นความผิดวินัยตามมาตราใดให้ปรากฎในแบบ สว.3 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.51/2554)

        กล่าวโดยสรุป คือ เมื่อการแจ้ง สว.3 มีลักษณะไม่ถูกต้องตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ถือว่าเป็นการแจ้ง สว.3 ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่ายังไม่ได้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน มีผลทำให้คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า ตาม สว.3 พยานหลักฐานนั้นไม่สามารถพิสูจน์การกระทำผิดได้ ก็เป็นเรื่องการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวน และผู้สั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษ ซึ่งเป็นอีกกรณีหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับการแจ้ง สว.3 ไม่ถูกต้อง

************************
ขอขอบคุณ 

           ๑.สรุปสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เผยแพร่ทางเว็บไซด์  http://www.admincourt.go.th   วิชาการ /วารสาร/หนังสือวิชาการ : แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครอง  

           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/   





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น