วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564

สัญญาเช่าซื้อ (กฎหมายแพ่ง)

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

สัญญาเช่าซื้อ

            สัญญาเช่าซื้อ 

            ในเรื่องเช่าซื้อตามประมวลฏหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว (มาตรา572) สัญญาเช่าซื้อจึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาต่างฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระ กล่าวคือผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นจ้าของเอาทรัพย์สินมีหนี้ที่จะต้องนำทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยผู้เช่ามีหนี้ที่จะใช้เงินเป็นจำนวนที่ตกลงให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ 

            สัญญาเช่าซื้อถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ตกเป็นโมฆะ (มาตรา572วรรคสอง) เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับไว้ว่าสัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ จึงต้องลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย เพราะสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน หากจะบังคับฝ่ายใดให้ปฏิบัติตามสัญญา ต้องมีลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญด้วย  ถ้าไม่ทำตกเป็นโมฆะ จึงไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกเอาความเสียเปล่าขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ ถ้าจะคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ (มาตรา172) ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับเป็นลาภมิควรได้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ต้องคืนเต็มจำนวน เว้นแต่รับไว้โดยสุจริต คืนเพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน(มาตรา412) ถ้าทรัพย์สินอันจะต้องคืนเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลนั้นรับไว้โดยสุจริต จำต้องคืนเพียงสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย ถ้าได้ค่าสินไหมทดแทนเป็นการสูญหายหรือบุบสลายก็ต้องให้ไปด้วย (มาตรา413) ถ้าการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะสภาพแห่งทรัพย์สินที่ได้รับไว้ หรือเพราะเหตุอย่างอื่น และบุคคลนั้นได้รับไว้โดยสุจริต คืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน (มาตรา414)  

           ถ้าผู้เช่าซื้อ ประสงค์จะเลิกสัญญา ไม่ต้องการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อต่อไปแล้ว  โดยยังไม่ค้างชำระค่าเช่าซื้อ ก็สามารถบอกเลิกสัญญากับผู้ให้เช่าซื้อได้  โดยหลักกฎหมายกำหนดให้ ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง (มาตรา573) เมื่อผู้เช่าซื้อมีสิทธิเลิกสัญญาได้ตามข้อกฎหมายดังกล่าว การเลิกสัญญาต้องพิจารณาเงื่อนไขตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำกันไว้ด้วย เมื่อผู้เช่าซื้อส่งมอบทรัพย์สินคืนโดยไม่ค้างชำระเงินที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนโดยไม่โต้แย้งคัดค้าน และเรียกร้องค่าเสียหายอื่นเพิ่ม ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน   เช่น

            คำพิพากษาศาลฎีกา14324/2558 จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
advertisement


            กรณีสัญญาเช่าซื้อกำหนดเงื่อนไขในการเลิกสัญญา โดยให้สิทธิผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ โดยส่งมอบทรัพย์สินคืน พร้อมทั้งชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ  ถ้าผู้เช่าซื้อเพียงแต่ส่งทรัพย์สินคืน ไม่ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่ถือว่าเป็นเลิกสัญญาตามเงื่อนไขในสัญญา แต่เป็นการสมัครใจเลิกสัญญาโดยปริยาย เป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถใช้สิทธิตามสัญญาได้อีก เช่น 

             คำพิพากษาศาลฏีกา4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้
        
         หลักกฎหมายที่กำหนดสิทธิให้ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา โดยถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ บรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์ และเจ้าของทรัพย์กลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ (มาตรา 574) เป็นหลักกฎหมายที่ให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อ แต่ในการเลิกสัญญา ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดไว้ด้วย   
         กรณีเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญา เมื่อผิดนัดชำระติดต่อเกิน 3 งวด โดยกำหนดเวลาพอสมควรให้ชำระนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว หากไม่ชำระภายในเวลา ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่ผู้เช่าซื้อยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์สินก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่ทักท้วง  ถือว่าสมัครใจเเลิกสัญญาโดยปริยายในวันยึดครองทรัพย์สิน ถือเป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ไม่ใช่เลิกตามข้อสัญญา ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป กล่าวคือ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ  ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญา  แต่มีสิทธิเพียงฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ ต้องชดใช้คืนด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น   
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา15358/2558 แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2550 ติดต่อกันเกิน 3 งวด แต่ปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และตามใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ยึดรถและไม่ได้โต้แย้งทักท้วง อันเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันยึดรถดังกล่าว
        โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์ เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วเท่านั้น   
 
advertisement


    
    

        คำพิพากษาศาลฎีกา15107/2558 มื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

         คำพิพากษาศาลฏีกา 8619/2559โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10.1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ไปยังจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้สิ้นสุดด้วยเหตุตามสัญญาข้อ 10.1 การที่จำเลยที่ 1 ขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโจทก์ได้รับคืนไว้ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์รับมอบรถยนต์คืน ดังนั้น โจทก์จะอาศัยสัญญาข้อ 13 เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอันเป็นความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 คงมีเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยรถยนต์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์ขาดราคาเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

         กรณีผ่อนผันการผิดนัด โดยผู้ให้เช่าซื้อยอมรับชำระค่าเช่าซื้อที่ชำระไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จึงไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุผิดนัด และภายหลังผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์สินแล้ว  ยังมีหนังสือเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าและนำทรัพย์สินคืนไป ซึ่งหากจะเลิกสัญญา  หนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาต้องกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน  จึงจะถือว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาเมื่อไม่ได้ทำ สัญญาเช่าซื้อจึงไม่เลิกกัน เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 1042/2561 แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
advertisement



        กรณีผู้เช่าชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยผู้ให้เช่าซื้อยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนผันการผิดนัดให้ผู้เช่าโดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที แต่ต่อย่างไรก็ดี การผ่อนผันการผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ก็ไม่ถือว่าผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดอื่นด้วย ดังระบุไว้ในสัญญา เมื่อผู้เช่ามิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดต่อไปอีกเลยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี และไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดให้ หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามที่กำหนดในสัญญา ไม่มีเหตุที่จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 (มาตรา 387 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายจะกำหดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อีกฝ่ายจะเลิกสัญญาก็ได้)

        คำพิพากษาศาลฎีกา4651/2549โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนถึงงวดที่ 12 แล้วไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 13 ถึง 15 ต่อมางวดที่ 16 โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย จำเลยรับไว้โดยไม่ทักท้วง ไม่คิดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ แสดงว่า จำเลยมิได้ยึดถือข้อสัญญาที่ว่า หากผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์โดยให้ระยะเวลาแก่โจทก์พอสมควร แม้จำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระโดยอ้างว่าโจทก์ชำระน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระซึ่งมีดอกเบี้ย ค่าติดตามรถและค่าแอร์รวมอยู่ด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อสัญญาหรือข้อนำสืบว่า ยอมให้คิดดอกเบี้ยจากการชำระล่าช้าได้หรือโจทก์ค้างชำระจริง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระหนี้อื่นนอกจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่มีเหตุจะอ้างตามกฎหมายจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยต้องส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ เมื่อจำเลยไม่รับชำระค่าเช่าซื้อและไม่คืนรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง
        สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่โจทก์มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทนด้วย ขณะจำเลยยึดรถยนต์คืนนั้นโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อรวม 4 งวด ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อระบุให้จำเลยมีสิทธิยึดรถคืนได้ในกรณีผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญา การที่จำเลยยึดรถคืนแสดงว่าจำเลยไม่ยอมผ่อนผันให้โจทก์อีกจึงไม่ทำให้โจทก์เสียหายจากการใช้รถ แม้โจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนเพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไปเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นรายวันนับแต่วันที่จำเลยยึดรถยนต์คืนได้อีก

        เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระมาแล้ว เข้าครอบครองทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เรียกได้เพียงค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น  ข้อตกลงให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนวันที่เลิกสัญญา ถือเป็นการกำหนดความรับผิดไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลพิจารณากำหนดค่าเสียหายตามที่เห็นสมควรได้ เช่น 
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา15107/2558 มื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
asvertisement



        ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสัญญาเลิกกันเมื่อใด เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 5836/2559 คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

        คำพิพากษาศาลฎีกา 9124/2559แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ห. ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ ห. ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ขณะ ห. ถึงแก่ความตาย ห. ยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หลังจาก ห. ตายแล้วก็ได้มีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับว่าหลังจาก ห. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้โอนเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาตามสัญญาเช่าซื้อจาก ห. มาเป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวต่อมา พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ประสงค์จะให้เปลี่ยนชื่อคู่สัญญาและชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของ ห. ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว ถือเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแทน ห. อายุความคดีนี้จึงมิได้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ห. ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่ต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือวันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่าจะเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ หรือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์อ้างมาตามฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเบี้ยปรับและให้ส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 คดีโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้

        สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว สามารถมอบหมายหรือเชิดผู้อื่นเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อได้ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 6117/2562 สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว การที่ผู้เสียหายที่ 2 ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 แทนผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 มอบหมายหรือเชิดจำเลยเป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 แม้จำเลยมีชื่อเป็นผู้เช่าซื้อ แต่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถที่เช่าซื้อ การที่จำเลยเอารถที่เช่าซื้อไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแย่งการครอบครองและเป็นการบังคับสิทธิทางแพ่งของตนโดยพลการ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยส่งมอบรถคันเกิดเหตุคืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการกำหนดโทษไว้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม แม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

        กรณีสัญญาเช่าซื้อ มีบุคคลอื่นทำสัญญาค้ำประกันไว้ สัญญาค้ำประกันต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องค้ำประกันด้วย เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 5788/2562 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์

advertisement        

         สรุปคือ เมื่อมีการทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว ต้องพิจารณาเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อว่ากำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร หากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยข้อสัญญา เช่น ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน  ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับโดยไม่ทักท้วง สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยมีสิทธิริบเงินที่ชำระมาแล้ว เข้าครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อ และเมื่อข้อสัญญาระบุให้ผู้ให้เช่าซื้องมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาได้เมื่อเลิกสัญญาได้ ผู้ให้เช่าซื้อก็มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาได้  แต่ถ้าผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา ส่งมอบทรัพย์สินคืน แต่ไม่ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อยอมรับไว้โดยไม่ทักท้วง ถือว่าไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่น ทำให้ผู้เช่าซื้อไม่รับผิดชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดราคาตามเงื่อนไขในสัญญา

         กรณีเลิกสัญญาเพราะผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้อหรือกระทำผิดสัญญาในข้อสำคัญ  ผู้ให้เช่าซื้อบอกกล่าวให้ชำระราคาเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันควร ถ้าไม่ชำระถือเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อตามข้อสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบค่าเช่าซื้อที่ชำระมาแล้ว และมีสิทธิยึดทรัพย์สินคืนมาครอง มีสิทธิเรียกร้องค่างเช่าซื้อที่ค้างชำระ  มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคา และมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการที่ผู้เช่าซื้อใช้ทรัพย์สินระหว่างที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อด้วย
          กรณีผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระภายในเวลาที่กำหนด แต่ผู้ให้เช่าซื้อเข้าครองทรัพย์โดยผู้เช่าซื้อยิมยอมก่อนครบกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อ ถือเป็นกรณีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญา มีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่ เป็นการเลิกสัญญาโดยเหตุอื่นที่ไม่ใช่ตามข้อสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคา ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แต่ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างที่ผิดนัดได้ โดยถือเป็นการยอมให้ทรัพย์ ต้องชดใช้คืนด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ 

        คำพิพากษาศาลฎีกา2764/2559หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว

        คำพิพากษาศาลฎีกา6967/2545สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ระบุว่า ห้างฯ จำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์คันหนึ่งจากบริษัทโจทก์มีกำหนด 4 ปี ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าแต่มีสิทธิจะซื้อรถยนต์ที่เช่าจากโจทก์ได้ โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ดังนี้ สัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) ที่ทำต่อกันนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งอันเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว แต่สัญญานี้หาใช่สัญญาเช่าซื้อตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ไม่ เพราะในสัญญาเช่าซื้อนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อย่อมโอนไปยังผู้เช่าซื้อทันที โดยค่าเช่าซื้อรวมไว้ทั้งค่าเช่าและค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อด้วย และผู้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 แต่สัญญาเช่าแบบลีสซิ่งเมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าจนครบกำหนดการเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าจะแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าเสียก่อนเงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่า (โดยมีสิทธิเลือกซื้อ) นี้มิใช่สัญญาเช่าซื้อ จึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118 ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้


        คำพิพากษาศาลฏีกา 15357/2558 โจทก์กำหนดในสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ให้ใช้เนื้อที่ห้องชุดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ให้คิดราคาเพิ่มหรือลดตามเนื้อที่ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ออกในภายหลัง เป็นการยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 466 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สินในการซื้อขายซึ่งนำมาใช้บังคับกับการเช่าซื้อ โจทก์ส่งมอบห้องชุดเนื้อที่ขาดตกบกพร่องจากสัญญาเช่าซื้อ 6.51 ตารางเมตรคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด แต่โจทก์ก็ยังคงให้จำเลยรับเอาห้องชุดไว้โดยไม่อาจใช้ราคาตามส่วนได้ ทั้งที่ความแตกต่างของเนื้อที่ห้องชุดมาจากการคำนวณของโจทก์เอง จำเลยจะต้องรับภาระชำระราคาเกินกว่าเนื้อที่ห้องชุดถึง 162,000 บาท จึงเป็นข้อตกลงที่นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 466 แล้ว ยังเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่โจทก์ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนดให้จำเลยรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ อีกทั้งโจทก์เป็นฝ่ายบกพร่องในการคำนวณเนื้อที่ห้องชุดและสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้อยู่ก่อนแล้วถือได้ว่าข้อตกลงเช่นนี้ทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย จึงไม่อาจใช้บังคับได้
        สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ต้องปรับลดราคาห้องชุดให้เป็นไปตามเนื้อที่จริงจึงจะเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายได้หากโจทก์ไม่ปรับลดราคาห้องชุด จำเลยก็มีสิทธิที่จะอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธการชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายและถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อห้องชุด เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคท้าย ไม่มีผลบังคับ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกปัดไม่รับเอาห้องชุดที่โจทก์ส่งมอบเนื้อที่ขาดจำนวนจากสัญญาเช่าซื้อเกินกว่าร้อยละ 5 การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์เป็นการใช้สิทธิบอกปัดโดยขอเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันซึ่งมิใช่เป็นการเลิกสัญญาด้วยความผิดของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อไว้ ผลของการเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระมาแล้วแก่จำเลย ส่วนจำเลยต้องส่งมอบห้องชุดคืนแก่โจทก์ และการที่จำเลยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ห้องชุดถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ จำเลยจึงต้องชดใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตามมาตรา 391 วรรคสาม ในส่วนที่จำเลยขอให้โจทก์คืนเงินค่าเช่าซื้อตามฟ้องแย้ง จึงต้องหักด้วยค่าใช้ทรัพย์ และโจทก์ชอบที่จะได้รับค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครองห้องชุดของโจทก์
           
     advertisement

         คำพิพากษาศาลฎีกา 15303/2558 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แม้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดตกเป็นของโจทก์โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคหนึ่ง แล้วก็ตาม แต่ห้องชุดเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจที่จะใช้สอยห้องชุดในฐานะเจ้าของทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนให้แก่โจทก์ ส่วนที่ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อห้องชุด ข้อ 16 กำหนดว่า "เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเพื่อให้ผู้เช่าซื้อมารับโอนกรรมสิทธิ์ และผู้เช่าซื้อจะต้องมาขอรับโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบ..." ก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยจะดำเนินการเมื่อใด จึงเป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่ใจของจำเลยโดยแท้ เมื่อปรากฏว่านับแต่ที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อห้องชุดในโครงการของจำเลยวันที่ 16 มีนาคม 2541 จนผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 และฟ้องคดีวันที่ 29 มีนาคม 2553 เป็นเวลา 12 ปีเศษ จำเลยยังมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเลย ถือได้ว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนเกินสมควรไปมาก ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่จำเลยไม่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ เพราะเหตุว่าประสบปัญหาขาดทุนและเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก็มิใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะอ้างเพื่อที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดและไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์
        โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยจนครบถ้วนและได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องขอเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลย คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอคืนเงินค่าเช่าซื้อ 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเพียงคำขอรองในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้โจทก์บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ตามคำขอหลักได้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ จำเลยไม่อาจที่จะขอคืนเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าและค่าใช้ประโยชน์ห้องชุดพิพาทจากโจทก์ได้
        จำเลยให้การรับว่า ห้องชุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว มิได้ต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าห้องชุดเป็นของจำเลย เพียงแต่อ้างว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียน การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ มิได้ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดเพิ่มมากขึ้นไปกว่าเดิม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ส่วนคำขอรองที่ว่า หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไปได้ ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ตลอดมาไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนส่วนที่เสียเกินมาให้แก่คู่ความทุกฝ่าย

        คำพิพากษาศาลฎีกา 15145/2558 เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คงมีสิทธิริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกหนี้ได้ชำระไปแล้ว และกลับเข้าครอบครองรถที่เช่าซื้อ โดยลูกหนี้มีหน้าที่ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าหนี้ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากไม่คืนเจ้าหนี้ย่อมได้รับความเสียหายเพราะขาดประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับรถที่เช่าซื้อคืน เจ้าหนี้ไม่อาจเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระค่าปรับเพราะเหตุที่ลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันได้อีก แต่เนื่องจากหนี้ที่เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้นั้น ต้องเป็นหนี้เงินซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยอ้างว่าเป็นค่าขาดราคารถ (ที่ถูก ค่าขาดประโยชน์) จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายเพราะลูกหนี้ไม่ส่งมอบรถคืนแก่เจ้าหนี้อันถือได้ว่ามูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับสิทธิของเจ้าหนี้ในการติดตามเอารถคืนจากลูกหนี้มิใช่หนี้เงินอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 ส่วนคำขอรับชำระหนี้กรณีหากคืนรถไม่ได้เจ้าหนี้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ราคาแทนเท่าจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ก็เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มิใช่หนี้อันพึงขอรับชำระในคดีล้มละลายได้เช่นกัน


        คำพิพากษาศาลฎีกา 7407/2562 ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ในข้อ 3 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ให้คำนิยามว่า "รถยนต์" หมายความว่า "รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคนและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก" มิได้หมายความว่ารถยนต์ทุกประเภทจะอยู่ในบังคับตามประกาศดังกล่าว รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ลากจูงและรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน เป็นรถลากจูงไม่ประจำทาง โดยสองคันแรกน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม คันสุดท้ายมีน้ำหนัก 8,200 กิโลกรัม ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผงเป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทางทั้งสามคันมีน้ำหนักคันละ 8,400 กิโลกรัม การเช่าซื้อรถดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่อยู่ในบังคับตามที่ระบุในประกาศดังกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 มีข้อกำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยผู้ให้เช่าซื้อมิจำต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระเพียงบางส่วน หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันทันทีนับแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ มิใช่การเลิกสัญญาโดยสมัครใจของคู่สัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์
        แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

**************************
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น