วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564

การลาพักผ่อน เป็นสิทธิของข้าราชการที่จะลาเมื่อใดก็ได้ หรืออยู่ที่ดุลพินิจผู้บังคับบัญชา

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

        การลาพักผ่อน เป็นสิทธิของข้าราชการที่จะลาเมื่อใดก็ได้ หรืออยู่ในดุลพินิจผู้บังคับบัญชานั้น 

        ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.๒๕๕๕๕ ข้าราชการมีสิทธิลาพักผ่อนดังนี้

        ข้อ ๒๓ ให้ข้าราชการมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีงบประมาณหนึ่งได้ ๑๐วันทำการ เว้นแต่ข้าราชการที่ได้บรรจุเข้ารับราชการไม่ถึง ๖ เดือนดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน คือ ข้าราชการที่บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรก  ข้าราชการที่ลาออกเพราะเหตุส่วนตัว ต่อมาบรรจุเข้ารับราชการอีก ข้าราชการลาออกเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือสมัครรับเลือกตั้ง ต่อมาบรรจุเข้ารับราชการอีกหลัง ๖ เดือนนับแต่วันออกจากราชการ  ผู้สั่งให้ออกจากราชการในกรณีอื่น นอกจากการไปรับราชการทหารฯ และการไปปฏิบัติราชการตามประสงค์ของราชการ แล้วต่อมาได้บรรจุเข้ารับราชการอีก 

advertisement


        ข้อ ๒๔ ถ้าปีใดข้าราชการผู้ใดมิได้ลาพักผ่อนประจำปี หรือลาพักผ่อนประจำปีแล้วไม่ครบ ๑๐ วันทำการ ให้สะสมวันที่ยังมิได้ลาในปีนั้นเข้ากับปีต่อ ๆ ไป แต่วันลาพักผ่อนสะสมฯต้องไม่เกิน ๒๐ วัน สำหรับผู้ใดรับราชการติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ให้มีสิทธินำวันลาพักผ่อนมารวมกับในปีปัจจุบันได้ไม่เกิน ๒๐ วันทำการ

        การลาพักผ่อน ต้องได้รับอนุญาตแล้วจึงหยุดราชการได้ ทั้งนี้ ตามข้อ ๒๖ ที่กำหนดว่า " ข้าราชการซึ่งประสงค์จะลาพักผ่อน ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้ "

        การลาพักผ่อน ผู้มีอำนาจจะอนุญาตให้ลาครั้งเดียว ๑๐ วันทำการ หรือจะอนุญาตให้ลาหลายครั้งก็ได้ โดยพิจารณาว่าเสียหายต่อราชการหรือไม่ ตามข้อ ๒๗  


        สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา จะมีสิทธิลาพักผ่อนหรือไม่ ต้องเป็นไปตามข้อ ๒๘   ซึ่งกำหนดว่า "ข้าราชการประเภทใดที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาและมีวันหยุดภาคการศึกษา หากได้หยุดในวันหยุดภาคการศึกษาเกินกว่าวันลาพักผ่อนฯ ไม่มีสิทธิลาพักผ่อนตามที่กำหนดไว้ในส่วนนี้ " ดังนั้น ถ้าได้หยุดในวันหยุดภาคการศึกษาไม่เกิน ๑๐ วันทำการ  ในปีนั้นก็ยังมีสิทธิลาพักผ่อนได้  

        การลาพักผ่อน เป็นสิทธิของข้าราชการที่จะลาเมื่อใดก็ได้ หรืออยู่ในดุลพินิจผู้บังคับบัญชานั้น ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาว่าจะอนุญาตให้ลาพักผ่อนได้หรือไม่ โดยคำนึงถึงความเสียหายต่อราชการ โดยข้าราชการที่ประสงค์จะลาจะต้องเสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้มีอำนาจอนุญาต และจะหยุดราชการได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจอนุญาตให้ลาพักผ่อนได้เท่านั้น ตามข้อ ๒๖ การเสนอใบลาหลังจากที่หยุดราชการไปแล้ว ระเบียบฯ ไม่ได้กำหนดไว้ 


        ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลปกครองสุงสุด วินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟบ.๑๒/๒๕๖๓ โดยผู้ฟ้องคดี ได้เสนอใบลาพักผ่อนทางโทรสารต่อผู้มีอำนาจอนุญาต ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันลา โดยมิได้เดินทางมาเพื่อรอฟังคำสั่งของผู้มีอำนาจอนุญาต ว่าจะอนุญาตให้ลาพักผ่อนหรือไม่ ศาลได้วินิจฉัยที่มีหลักสำคัญว่า

        "...แม้การลาพักผ่อนจะถือเป็นสิทธิของข้าราชการที่จะลาพักผ่อนได้ แต่มิได้หมายความว่าผู้ลามีสิทธิที่จะลาพักผ่อนเมื่อใดก็ได้ หรือลาจำนวนกี่วันตามที่มีสิทธิเหลืออยู่ก็ได้ตามใจชอบ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ทางราชการ และผู้บังคับบัญชาไม่สามารถยับยั้งได้ ระเบียบจึงกำหนดให้ผู้ลาต้องเสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชา และจะต้องอยู่รอให้ผู้มีอำนาจได้พิจารณาก่อน จะหยุดราชการไปทันทีไม่ได้ เมื่อผู้มีอำนาจได้พิจารณาและสั่งอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้ ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้ โดยมิให้เสียหายแก่ราชการ ถ้ามีราชการจำเป็นถึงจะอยู่ในระหว่างลาพักผ่อนผู้บังคับบัญชาก็สามารถเรียกตัวกลับมาปฏิบัติราชการได้ แสดงให้เห็นว่า การลาพักผ่อนถึงแม้จะเป็นสิทธิของข้าราชการ แต่ได้กำหนดให้เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาว่าการลาในช่วงเวลาดังกล่าวมีผลกระทบต่องานราชการหรือไม่ หากเห็นว่ามีความจำเป็นหรือเร่งด่วนที่จะต้องให้ผู้ลาอยู่ปฏิบัติราชการหรือถ้าอนุญาตให้ลาอาจเกิดความเสียหายต่อราชการ จะพิจารณาสั่งไม่อนุญาตให้ลาก็ได้..."

advertisement


         จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว จึงชัดเจนว่าการลาพักผ่อน แม้จะเป็นสิทธิของข้าราชการที่จะลาได้  แต่ก็เป็นดุลพินิจผู้บังคับบัญชาที่จะอนุญาตให้ลาว่าจะเสียหายแก่ราชการหรือไม่ ทั้งนี้ ไปเป็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.๒๕๕๕ และแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว 

***************************
ขอขอบคุณ 

           ๑.สรุปสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟบ.๑๒/๒๕๖๓ ที่เผยแพร่ทางเว็บไซด์ http://www.admincourt.go.th   วิชาการ /วารสาร/หนังสือวิชาการ : แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครอง  
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น