วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารผิดอาญา

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

         

    
        รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารแล้ว ให้บัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มให้กับผู้ว่าจ้างไปใช้ประโยชน์อื่นใดหรือนำไปใช้ทำธุรกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับจ้างเปิดบัญชีมีความผิดอย่างไร ถือว่ารู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดของผู้นำบัญชีไปใช้หรือไม่ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

         ผู้รับจ้างเปิดบัญชี ตกอยู่ข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าพิสูจน์ในแนวทางว่าตนเป็นเพียงผู้รับจ้างเปิดบัญชี ก็ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้รู้เห็นในความผิดฉ้อโกง แต่เมื่อบัญชีที่เปิดให้ผู้ว่าจ้างนำไปใช้ในการฉ้อโกง ผู้รับจ้างเปิดบัญชีย่อมเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้จะเข้าข่ายเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3385/2563
        จำเลยทั้งสองถูกฟ้องว่า เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิด แหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริง คดีนี้มีความเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ ซึ่งมีลักษณะกระทำความผิดเป็นเครือข่าย มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการมอบหมายหน้าที่ออกเป็นหลายส่วน รวมทั้งพยายามปิดบังเส้นทางการเงินเพื่อมิให้เจ้าพนักงานเข้าถึงตัวผู้กระทำความผิด ตามรูปคดีจึงเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยานดังเช่นคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น จำต้องอาศัยพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ เมื่อคดีนี้โจทก์มีพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ และมีสาระสำคัญตรงกับเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ ทั้งเมื่อพิจารณาพยานเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่ามีเงินหมุนเวียนผ่านเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองเป็นจำนวนมากผิดปกติเกือบ 30 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพสุจริตใดจึงมีเงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวนมากเช่นนี้ อีกทั้งมีลักษณะเป็นการนำเงินเข้าและถอนออกจากบัญชีอย่างรวดเร็วส่อให้เห็นพิรุธ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังโอนและรับโอนเงินจากบัญชีของบุคคลอื่นอีกหลายบัญชีโดยไม่ปรากฏที่มาที่ไปของเงินอย่างชัดเจน และจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของ ซ. พบว่าเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 หลังจากถูกอายัดบัญชีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 พบว่าในการทำธุรกรรมทางบัญชีมีเงินหมุนเวียนมากถึง 400 ล้านบาทเศษ โดย ซ. ทำธุรกรรมทางบัญชีด้วยตนเองทุกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าชี้แจงถึงที่มาของเงินในบัญชีตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานตำรวจ ผิดวิสัยของสุจริตชนเช่นเดียวกัน จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวของ ซ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินค่ายาเสพติดให้โทษของเครือข่าย ฐ. กับพวก เช่นกัน ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่ารับจ้างเปิดบัญชีให้กับ ธ. เครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กรณียังปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังถูกฟ้องข้อหาสมคบกันฟอกเงินในลักษณะเดียวกันอีกหลายสำนวน ตามคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อมาท้ายฟ้องด้วย ซึ่งบางคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว อันเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการสมคบกันฟอกเงิน สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในการกระทำความผิดคดีนี้ของจำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง (2) เพราะการกระทำความผิดในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นหลายขั้นตอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ร่วมกระทำความผิดบางคนอาจไม่รู้จักกัน ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อประมวลพยานหลักฐานทั้งหมดของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีเข้าด้วยกันแล้วทำให้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริงตามฟ้อง

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2021/2563
         นางสาว ก.ถูกคนร้ายร่วมกันหลอกหลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น โจทก์ร่วมหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของบุคคลที่จำเลยที่ 5ถึง7 ว่าจ้างให้เปิดบัญชีธนาคารและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเบิกถอนเงินสด โจทก์ฟ้องจำเลยที่5ถึง7 ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด แต่จำเลยที่ 5 อ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 หลอกหลวงให้คนมาเปิดบัญชีเงินฝากโดยจำเลยที่1 จะนำไปดำเนินการใช้ในการดำเนินธุรกิจของชาวต่างชาติ ส่วนจำเลยที่6 ถึง 7 อ้างว่าถูกจำเลยที่5 ชักชวนให้หาคนมาเปิดบัญชีเพื่อให้คนต่างชาติโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อทำธุรกิจอีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที 5 ถึง 7 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำบัญชีเงินฝากไปำระทำความผิด แต่จำเลยที่ 5ถึง7ให้การในชั้นสอบสวนว่าได้รับค่าจ้างให้หาคนมาเปิดบัญชีพร้อมทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าของบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดกฎหมาย จำเลยที่5ถึง7จะอ้างว่าถูกหลอกใช้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่5ถึง7 จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเบิกถอนเงินสดของผู้อื่นโดยมิชอบ


           การรับจ้างเปิดบัญชี เพื่อนำไปให้ในการฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ หรือเปิดบัญชีเพื่อให้ผู้อื่นโอนเงินที่เกิดจากการกระทำความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่105/2561
            การที่จำเลยถอนเงินเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝากรวม 9 ครั้ง ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ป.เพื่อนไปให้ ต.ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้ ศ กับพวกถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2562 มาตรา 5(2) มาตรา 60

            ความผิดฟอกเงิน ไม่จำเป็นต้องดำเนินคดีในความผิดมูลฐานก่อน

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9092/2553
            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่าในวัน เวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายมะขาม นำเงินจำนวน 1,000,000 บาท ฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซีคอนสแควร์โอนไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโพนพิสัย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกับนายมะขามร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่นั้น ผู้กระทำต้องปกปิดเป็นความลับวางแผนการติดต่อซื้อขายรับส่งยาเสพติดและชำระเงินกันอย่างละเอียด ทั้งหลีกเลี่ยงการยึดถือยาเสพติดและเงินที่ได้มาจากการขายไว้เอง จึงยากแก่การหาพยานหลักฐานที่ชัดเจนมั่นคงมานำสืบเอาผิดกับคนร้ายได้ จำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธในการกระทำของผู้นั้น แม้ไม่มีการดำเนินคดีแก่นายมะขามในข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยตรงและความผิดฐานฟอกเงินของนายมะขามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงซึ่งเจ้าพนักงานสืบสวนได้ความมาตามคำเบิกความของพันตำรวจโทชมพู่์และคำให้การในชั้นสอบสวนของนายชมนาดซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมซึ่งทำให้น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางสาวดำ นายมะม่วง และนายทองหลาง ซึ่งเป็นพี่น้องและบิดาของนายมะขามได้ความตรงกันว่า นายมะขามไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นใด นอกจากเปิดอู่พ่นสี ล้างรถตามบันทึกคำให้การ ซึ่งไม่น่าจะทำให้มีรายได้มากนัก ทั้งนายมะขามไม่ใช่คนมีฐานะดีมาก่อน แต่เจ้าพนักงานยึดทรัพย์สินของนายมะขามได้มากมาย ทั้งเงินสด เงินฝากธนาคาร ที่ดิน รถยนต์และทรัพย์สินอื่น ๆ ตามบัญชีของกลางคดีอาญา เห็นได้ชัดว่ามีมากเกินฐานะและความสามารถในการหามาได้หากประกอบอาชีพสุจริต ขณะเจ้าพนักงานเข้าตรวจยึดทรัพย์สินของนายยมหินและของนายมะขาม นายมะขามก็ไม่อยู่เพื่อแสดงหลักฐานพิสูจน์ถึงที่มาของทรัพย์สินของตน กลับหลบหนีไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนางเหลือง เพียงพอให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่านายมะขามเกี่ยวข้องและมีรายได้จำนวนมาก จากการลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในละแวกจังหวัดสมุทรปราการ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าก่อนการโอนเงินรายนี้ 2 เดือน เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านของนายมะขามที่จังหวัดเพชรบูรณ์และยึดทรัพย์สินหลายรายการ รวมทั้งเงินสดจำนวนมากถึง 1,350,000 บาท แม้ในเวลาต่อมานางเหลืองจะได้เงินจำนวนดังกล่าวคืนไป แต่เชื่อว่าเป็นเหตุให้นายมะขามต้องรีบยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินให้พ้นจากการตรวจยึด สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 นางสาวดำน้องของนายมะขามนำเงินจำนวน 500,000 บาท ฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสายลวดเพื่อโอนไปเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาโพนพิสัย จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่นายมะขามโอนให้แก่จำเลยเป็นเงินที่นายมะขามได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเลิกร้างกับนายมะขามแล้วฟังไม่ขึ้นเพราะขัดแย้งกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนดังที่วินิจฉัยมา จำเลยซึ่งยังเป็นภริยาของนายมะขาม อยู่กินด้วยกันมานานถึงสิบกว่าปีและมีบุตรด้วยกันสองคน ย่อมต้องทราบดีว่านายมะขามได้เงินจำนวนดังกล่าวมาอย่างไร ประกอบกับที่ฟังได้ว่า หลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน จำเลยก็ถอนเงินจำนวน 1,500,000 บาท ออกจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว ล้วนเป็นพิรุธที่ทำให้รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยทราบดีว่าเงินที่รับโอนจากนายมะขามเป็นเงินที่นายมะขามได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า คดีความผิดมูลฐานไม่มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยหรือนายมะขามในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษก็ดี ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3227/2548 ของศาลชั้นต้นที่นายมะขามถูกฟ้องในความผิดฐานฟอกเงินจำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้วก็ดีนั้น เห็นว่า เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกับพวกฟอกเงินตามฟ้อง ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยได้ กรณีไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องมีการดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานเสียก่อน จึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้ ทั้งในการพิพากษาคดีอาญาก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน


หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
             การกระทำความผิดฉ้อโกง มีองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้หลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

              ความผิดฉ้อโกง เป็นความผิดอาญาอันยอมความได้ (ปอ.ม.348) ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด(ปอ.ม.96) เพื่อมิให้ขาดอายุความ ซึ่งความผิดฉ้อโกงมีอายุความดำเนินคดี โดยต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดไปยังศาลภายในสิบปี นับแต่วันที่กระทำผิด มิฉะนั้นจะขาดอายุความ(ปอ.ม.95(3) 

              พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
              มาตรา ๕ ผู้ใด
              (๑) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือ ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว้าก่อน ขณะหรือหลังการกระทําความผิด มิให้ ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ 
              (๒) กระทําด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออําพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจําหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด
              (๓) ได้มาครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน นั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฟอกเงิน  

- - - - - - - -  - - - - - - - - - - -

          อ้างอิงจาก

                  คำพิพากษาศาลของฎีกาที่ 3385/2563 ,2021/2563,105/2561,9092/2553, ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น   ตุลาคม 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/

                 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม ,สำนักงานป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน,สืบค้น 29 พฤศจิกายน 2565,จากhttps://www.amlo.go.th/amlo-intranet/media/k2/attachments/amlaYupdateY091017_3831.pdf







วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

การบังคับจำนอง (กฎหมายแพ่ง)

 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


การบังคับจำนอง

         การบังคับจำนอง  มีหลักฎหมายกำหนดขั้นตอนการบังคับจำนองไว้ การทำไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติกฎหมาย มีผลอย่างไร ต้องไปทำความเข้าใจกัน

         จำนอง(702) เป็นสัญญาที่ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนอง  

         ผู้จำนอง จะจำนองทรัพย์สินของตนจำนองเพื่อประกันหนี้ของตนเอง (702) หรือจำนองเพื่อประกันหนี้ของบุคคลอื่นก็ได้(709)  โดยผู้เป็นเจ้าของในขณะจำนองเท่านั้นที่จะจำนองได้ (705)  สัญญาจำนองต้องระบุทรัพย์ซึ่งจำนอง(704) ต้องมีจำนองเงินระบุไว้เป็นเงินไทยจำนวนตรงตัว หรือจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองตราไว้เป็นประกัน (708)  ทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้แก่บุคคลหนึ่ง จะเอาไปจำนองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้ (712) โดยสัญญา จำนอง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่(714) เป็นกรณีกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ เป็นโมฆะ (152) ซึ่งโมฆะกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ (172) 

        กรณี สัญญาจำนองที่ทำกันไว้เป็นหนังสือ แต่ไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ยึดโฉนดตัวจริงไว้ ไม่ถือว่าเป็นการจำนองตามกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ที่อาจจะอ้างเนื้อความในสัญญาให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในภายหน้าได้ 

          คำพิพากษาศาลฎีกา 6065/2565 อันโมฆะกรรมนั้นเป็นการกระทำที่เสียเปล่า ไม่มีผลอย่างใดในทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ทั้งผู้มีส่วนได้เสียไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณีที่ทำนิติกรรมเท่านั้น แต่บุคคลใดที่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อันเกี่ยวกับโมฆะกรรม ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งสิ้น ดังนี้ หากจำเลยที่ 1บังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 913/2547 ของศาลชั้นต้น ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์  โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่เป็นโมฆะ โดยไม่จำต้องฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเสียก่อน

          ทรัพย์ที่จำนอง (703)ได้แก่อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนแล้วตามกฎหมาย เช่น เรือมีระวางต้ังแต่ห้าตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะ(ช้าง ม้า วัว ควาย ล่อ ลา) สังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จดทะเบียนเฉพาะการ เช่น

           รถยนต์ที่จะทะเบียนแล้ว รถพ่วง รถบดถนน รถแทรคเตอร์ที่จดเบียนแล้ว ให้เป็นทรัพย์สินประเภทจดจำนองเป็นประกันหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ โดยการจำนองต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด และต้องจดทะเบียนจำนองต่อนายทะเบียน  ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 17/1  แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 15 พ.ศ.2551                 สิทธิการเช่าที่เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมที่กำหนดเวลาเช่าไว้เกิน 30ปีแต่ไม่เกิน 50 ปี ตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม พ.ศ.2542
           เรือที่มีขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป ที่เดินด้วยเครื่องจักรกล และเป็นเรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทางทะเล พ.ศ.2537
           เครื่องจักร ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2514 มาตรา 5 บัญญัติให้เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินีั้ให้ถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ตามมาตรา 703(4)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้นำมาตรา 1299 มาตรา 1300 มาตรา 1301 มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

            การบังคับจำนอง (728) เป็นกรณีที่หนี้ถึงกำหนดชำระแล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ผู้รับจำนองต้องการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่จำนอง ซึ่งต้องทำดังนี้ 

            1.ผู้รับจำนองมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น 

           2.ถ้าบอกกล่าวแล้ว ลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว คือไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่เจ้าหนี้กำหนด  ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดได้ 

            3.ถ้าผู้จำนองเอาทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นที่ต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้จำนองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลา 15 วัน ให้ผู้จำนองหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น นับแต่วันที่พ้นกำหนด 15 วัน

            กรณีผู้ซื้อทรัพย์ที่ติดจำนองจากการขายทอดตลาด ก็ต้องชำระหนี้จำนองให้ผู้รับจำนองตามคำบอกกล่าวให้ชำระหนี้จำนอง 

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่2191/2564 จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรโดยติดจำนองและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการดำเนินการทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องถือว่าผู้จำนองเดิมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่จำนองอีกต่อไป และจำเลยได้สิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อโดยสมบูรณ์แล้ว แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 และโจทก์ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามมาตรา 735 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองภายในกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองและควรทราบถึงภาระหนี้จำนองมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง จึงต้องชำระหนี้จำนวนรวม 2,650,000 บาท พร้อมด้วยอุปกรณ์ คือดอกเบี้ยของต้นเงินตามสัญญาจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 ประกอบมาตรา 738 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.10499/2559 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้จำนองรับผิดชำระเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจึงต้องรับผิดไม่เกินกว่าภาระหนี้จำนองของผู้จำนองดังกล่าว

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1148/2564   ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 (เดิม) ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษากำหนดไว้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้ว การดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย แม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นตามคำนิยามของมาตรา 280 (1) (เดิม) แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบตามบทบัญญัติมาตรา 306 (เดิม) นั้น ต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดโดยต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าจะปรากฏทางทะเบียนหรือโดยประการอื่นก็ตาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศขายทอดตลาดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด 

           กรณีที่บังคับจำนองได้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล (729/1 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ) เป็นกรณีที่ผู้จำนองมีหนังสือแจ้งแก่ผู้รับจำนองให้เอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล โดยมีเงื่อนไข

           1.หนี้ถึงกำหนดชำระ ถ้าไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์อันเดียวกัน และผู้จำนองแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้รับจำนองเพื่อให้ผู้จำนองดำเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง โดยไม่ต้องส่งฟ้องเป็นคดีต่อศาล
          2.ผู้รับจำนองต้องดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น
          3.ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จำนองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด
          4.กรณีผู้รับจำนองไม่ได้ดำนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้จำนองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันพ้นกำหนดดังกล่าว (แต่ยังต้องรับผิดในหนี้ที่จำนองไว้เป็นประกันอยู่) 
          5.เมื่อผู้รับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนอง ได้เงินสุทธิเท่าใด ผู้รับจำนองต้องจัดสรรชำระหนี้และอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ามีเงินเหลือต้องส่งคืนผู้จำนอง หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

             แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ให้เป็นไปตาม 733 คือ เงินขาดจำนวนเท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น และในกรณีที่ผู้จำนอง เอาทรัพย์จำนองประกันหนี้บุคคลอื่น ผู้จำนองรับผิดเพียงเท่าที่ 727/1 กำหนดไว้ คือไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์ที่จำนองในเวลาบังคับจำนอง หรือเอาทรัพย์จำนองหลุด โดยข้อตกลงที่ให้ผู้รับจำนอง รับผิดเกินกว่าที่กำหนด( 727/1 ว 1)  หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจำนองหรือทำเป็นข้อตกลงต่างหาก  

           เจ้าหนี้โอนสิทธิเรียกร้องให้บุคคลอื่น และแจ้งการโอนให้ลูกหนี้ทราบแล้ว(306) ถือว่าการโอนหนี้ประธานสมบูรณ์ตามกฎหมาย สิทธิจำนอง จำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกียวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้น สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้น ตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย(305)เจ้าหนี้ที่เป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิบังคับจำนองได้

            คำพิพากษาศาลฎีกา2260/2562 ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติเพียงแต่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ หาได้กำหนดบังคับไม่ว่าจะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ความว่า ธ. ได้โอนสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์และหลักประกันของสินทรัพย์ซึ่งเป็นสิทธิจำนอง จำนำ สิทธิค้ำประกันที่ลูกหนี้รวมทั้งจำเลยมีต่อ ธ. ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ดังนี้ต้องถือว่า การโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำตามแบบพิธีการ ด้วยการทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้เป็นการถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้องคือการโอนหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้ และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ดังกล่าวไปย่อมเกิดผลในทางกฎหมาย ทำให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ได้ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ผู้รับโอนมิพักต้องทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนำ กับลูกหนี้เป็นฉบับใหม่อีก สิทธิดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับระหว่างกันได้ อันแตกต่างไปจากกรณีของการก่อหนี้สัญญาจำนองปกติทั่วไป ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดคือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714 ส่วนมาตรา 6 พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงหลักประกันอื่นถ้ามีว่า ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอื่น ก็ให้หลักประกันอื่นนอกจากสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันโอนไปพร้อมกับสิทธิดังกล่าวด้วย หาได้แปลความว่า การโอนสินทรัพย์ทำให้หลักประกันอื่นเป็นการเฉพาะตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนสิทธิจำนองและสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตกไปด้วยแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งสิทธิจำนองระหว่าง ธ. กับโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (1)
         ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเฉพาะส่วน โดยโจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 21,000,000 บาท ถึงวันฟ้อง 5 ปี เป็นเงิน 19,950,000 บาท ตามมาตรา 745 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ   
           เมื่อ ม. ในฐานะผู้รับจำนองไม่ได้ขอรับชำระหนี้ ม. ยังคงมีสิทธิเหนือทรัพย์จำนองของจำเลย โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจาก ธ. รับโอนหนี้จาก ม. จึงไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์จำนองได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 6 และมาตรา 95

            แม้ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ข้อ 6 ระบุว่า "เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาด ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็ดี หรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ดังได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ" แต่เมื่อหนี้ประธานคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมที่ทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โจทก์รับโอนและนำมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เกินกำหนดเวลาสิบปีขาดอายุความแล้ว ข้อเท็จจริงย่อมถือได้ว่าหนี้ประธานเป็นอันระงับไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกต่อไป โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้น

             ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อน จึงจะบังคับจำนองได้ (735)
             ผู้ซื้อทรัพย์ที่ติดจำนอง(ผู้รับโอนทรัพย์จำนอง) ไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่เกินกว่าราคาทรัพย์ที่จำนอง แต่ทรัพย์สินที่จำนองย่อมประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ด้วย ถ้าสัญญากำหนดดอกเบี้ยของต้นเงินไว้ ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลผูกพันผู้ซื้อทรัพย์จำนองด้วย  แต่บังคับให้ชำระดอกเบี้ยย้อนหลังเกิน 5 ปีไม่ได้  

               คำพิพากษาศาลฏีกา3259/2562 จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้
              ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27

        เจ้าหนี้จำนอง เป็นผุ้มีทรัพย์สิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำนอง มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ และมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ ไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แม้ในคดีล้มละลาย ศาลมีคำสั่งให้ปลดจากการล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้จำนองยังมีสิทธิบังคับจำนองอยู่ 

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้

           ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดแทนการขายทอดตลาดได้(729) เมื่อ

           1.ลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ยมาเป็นเวลาถึง 5 ปี และ

           2.ผู้รับจำนองแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินจำนอง นั้นน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ

           ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์มีประมาณราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ เงินยังขาดอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น (733)  

            ถ้าตกลงกันไว้เสียก่อนเวลาหนี้ถึงกำหนดชำระเป็นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งว่าถ้าไม่ชำระหนี้ ให้ผุู้รับจำนองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจำนอง หรือว่าให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอืนอ่างใด นอกจากบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจำนอง ข้อตกลงนั้นไม่สมบูรณ์(711) บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจำนองที่แตกต่างไปจากมาตรา 728 (การบังคับจำนอง)  มาตรา 729 (การเอาทรัพย์จำนองหลุด) และ มาตรา 735 (การบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนอง) เป็นโมฆะ

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3613/2564  โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันและในวันทำสัญญาจำนองจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้า มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนอง และเมื่อโจทก์ผิดนัดชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปโอนที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เสียเอง จึงไม่เป็นไปตามบัญญัติว่าด้วยการบังคับจำนองและเป็นผลให้ข้อตกลงที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่และพาณิชย์ มาตรา 728 729 735 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 714/1 ไม่อาจใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่อาจนำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไปใช้เป็นหลักฐานในการโอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ปัญหาว่าข้อตกลงที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 729 และ 735 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 714/1 เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ปวิพ.142(5)ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252   

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

  อ้างอิงจาก

                  คำพิพากษาศาลของฎีกา , ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น 23-25 พฤศจิกายน 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/


วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

บันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีตกลงหย่า เป็นการหย่าโดยความยินยอม

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

           
        การหย่านั้น จะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือโดยคำพิพากษาของศาล โดยการหย่าด้วยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน เป็นหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 ซึ่งหย่าที่ว่านี้ เป็นการหย่าจากกรณีที่มีการสมรสโดยการจดทะเบียนสมรสตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยการยินยอมเป็นสามีภริยากัน และแสดงความยินยอมให้ปรากฎโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้  การหย่ากันก็ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อให้จดทะเบียนหย่าให้ จึงจะเป็นการหย่าที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
        
ถ้าเป็นการสมรสโดยมีแต่การจัดงานสมรส หรือมีงานฉลองสมรส โดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส ไม่ถือว่าเป็นการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
        กรณีสามีภริยามีปัญหาต้องการหย่ากัน โดยมีการท้ากันให้ฟ้องหย่า และมีการไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ โดยมีพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่งลายมือชื่อเป็นพยาน ถือเป็นบันทึกข้อตกลงในการหย่าโดยความยินยอมหรือไม่  มีคำตอบจากคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้   

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 517/2560

            มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บันทึกข้อตกลงเป็นบันทึกข้อตกลงการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไปจึงได้ตกลงดังนี้ 2. ในเรื่องการหย่านั้น ฝ่ายหญิงจะดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปโดยมีโจทก์ จำเลย พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อไว้ บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยโดยตรง มีข้อความชัดเจนว่า ทั้งสองไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไป คือต้องการแยกทางกันหรือหย่ากันนั่นเอง แม้มีข้อความในข้อ 2 ว่า ฝ่ายหญิง คือโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปก็เป็นความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะต้องไปดำเนินการฟ้องหย่าต่อกันเท่านั้น ข้อความดังกล่าวมิได้ลบล้างเจตนาที่แท้จริงของทั้งโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไปแต่อย่างใด ดังนั้น บันทึกดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยประสงค์จะหย่ากัน ตาม มาตรา 1514 ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกดังกล่าวมีพยานลงชื่อไม่ครบสองคนนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้เขียนบันทึก เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ได้รับรู้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามข้อความในบันทึกดังกล่าว ถือได้ว่าคนทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะพยานผู้ทำบันทึกแล้วจึงถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

           โดยสรุปคือ บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี สามีภริยาไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไป ศาลพิจารณาเป็นการต้องการแยกทางกันหรือหย่ากัน แม้จะให้ฝ่ายหญิงไปฟ้องหย่า ถือเป็นความเข้าใจของสามีภริยาคุู่นั้น บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว จึงถือเป็นหนังสือที่มีพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในการหย่าของสามีภริยาคู่นั้น ถือว่าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตามมาตรา 1514 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฝ่ายหญิง ไม่ต้องหาเหตุฟ้องหย่ามากล่าวอ้างและนำสืบพยานพิสูจน์ต่อศาลแต่อย่างใด สามารถนำคำพิพากษาของศาลและบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อให้จดทะเบียนหย่าได้ต่อไป  

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

  อ้างอิงจาก

                           คำพิพากษาศาลฎีกา 517/2560 , ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น 26 พฤศจิกายน 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

จ้างว่าความโดยตกลงค่าจ้างเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่พิพาทกัน

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


              ในการว่าจ้างทนายความ ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแทนคู่ความ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เกี่ยวกับสัญญาจ้างว่าความ ที่ศาลพิจารณาเห็นว่าสัญญาเป็นโมฆะ ไม่สามารถบังคับกันได้ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง  เนื่องจากมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150  ตามคำพิพากษาศาลฎีกา  3511/2564    

                "การที่สัญญาว่าจ้างทนายความในคดีที่ฟ้องขับไล่ตกลงจ่ายค่าจ้างว่าความจำนวนร้อยละ 7 ของเนื้อที่ดิน 3,150 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนของเนื้อที่ดินของโฉนดที่ดินพิพาทที่คู่ความให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินพิพาทของลูกความ และถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างจำนวนเงินแน่นอน หากผลคดีฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างทนายความเป็นที่ดิน จึงเป็นการว่าจ้างทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีโดยปริยาย มีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 

                    ส่วนสัญญาจ้างว่าความในคดีที่ ท. ฟ้องขอเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท การที่ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าจ้างเป็นเนื้อที่ดิน 600 ตารางวา จากที่ดินพิพาทโดยยินยอมให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ ท. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท เป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาท ส่วนข้อตกลงที่ให้โจทก์เลือกเอาการชำระเป็นเงินตามราคาประเมินของทางราชการได้ด้วยนั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างจำนวนเงินแน่นอน เนื่องจากโจทก์อาจถือเอาการชำระเป็นเงินตามราคาประเมินของทางราชการได้ซึ่งราคาประเมินดังกล่าวเปลี่ยนแปลงได้ไม่คงที่ และข้อตกลงที่ว่าไม่คำนึงถึงผลคดีนั้น เห็นว่า หากโจทก์ว่าความแพ้คดีก็ไม่สามารถเข้าเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทได้เพราะ ท. คู่กรณียังเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท หาก ท. ไม่ยินยอมก็ไม่สามารถทำได้ โจทก์จะต้องชนะคดีเท่านั้น ดังนี้ จึงเป็นการว่าจ้างที่ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาทในผลแห่งคดีโดยปริยายเช่นกัน อันมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจ้างว่าความจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150"

             จากคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปได้ว่า สัญญาว่าจ้างทนายความ ถ้ามีลักษณะเป็นข้อตกลงให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินพิพาทของลูกความ โดยถ้าแพ้คดีก็จะไม่ได้ตามข้อตกลง จึงเป็นค่าจ้างที่เป็นจำนวนที่ไม่แน่นอน   จึงเป็นการว่าจ้างที่ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พิพาทในผลแห่งคดี  อันมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเป็นความกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150  เมื่อสัญญาเป็นโมฆะ  สัญญาจ้างดังกล่าวจึงนำมาฟ้องบังคับกันไม่ได้ 

-  - - - - - - - - - - - - - - - - -

               อ้างอิงจาก

                           คำพิพากษาศาลฎีกา 3511/2564 , ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น 21 พฤศจิกายน 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/

            

             

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์ฉบับปี2565

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


          จะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำเป็นต้องรู้ว่าสัญญาเช่าซื้อมีผลในเรื่องใดบ้าง เพราะเชื่อได้ว่าผู้เช่าซื้อมักไม่ค่อยอ่านเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ เมื่อเกิดปัญหาแล้วค่อยมานั่งอ่านทำความเข้าใจและตีความ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ เป็นข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับกฎหมายครองผู้บริโภค ในที่นี้คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อสัญญาเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบผุ้บริโภค คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงได้มีการประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  ฉบับ พ.ศ.2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศ  โดยยกเลิก ฉบับ พ.ศ.2561  โดยมีรายละเอียด คือ

        1.ใช้กับการเช่าซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานต์ เพื่อใช้เป็นการส่วนตัวเท่านั้น โดยไม่นำไปใช้ทำการขนส่ง เพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง หรือเพื่อสินจ้าง

        2.ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ  เฉพาะเงินที่เรียกเก็บเพื่อเป็นการติดตามทวงถามหนี้เงินค่างวดเช่าซื้อ ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ ไม่รวมถึงค่าติดตามเอารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์กลับคืนของผู้ให้เช่าซื้อ

        3.อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate ) หมายความว่า อัตราดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้น คงเหลือในแต่ละงวด  

        4.สัญญาต้องมีรายละเอียด ยี่ห้อ รุ่น หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง สภาพรถว่ารถใหม่หรือใช้แล้ว และระยะทางที่ได้ใช้แล้ว เป็นกิโลเมตรหรือไมล์ ภาระผูกพัน(ถ้ามี)  ราคาเงินสด เงินจอง เงินดาวน์ เงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อไป จำนวนงวดที่ผ่อนชำระ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น จำนวนเงินค่าเช่าซื้อ ที่ผ่อนชำระในแต่ละงวด จำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด เริ่มชำระค่างวดแรกในวันที่ และชำระค่างวดต่อ ๆ ไปภายในวันที่
            ในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไว้เป็นการเฉพาะ ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate ) ดังนี้
            กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบต่อปี
           กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี 
           กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละยี่สิบสามต่อปี
           โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจของประเทศในทุกสามปี
           วิธีคำนวณจำนวนเงินค่าเช่าซื้อ  จำนวนค่าเช่าซื้อ จำนวนดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด ตารางแสดงภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ที่แสดงรายละเอียดจำนวนงวดค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระ วันเดือนปีที่ชำระโดยแยกเป็นเงินต้น ดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และจำนวนเงินค่าเช่าซื้อคงค้าง โดยแยกเป็นเงินต้นคงค้าง ดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ รวมทั้งจำนวนส่วนลด ที่ผู้เช่าซื้อจะได้รับ 

         5.เมื่อผู้เช่าซื้อ ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บได้ ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าซื้อทันที

         6.ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิก สัญญาเช่าซื้อได้ เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดรายงวดสามงวดติด ๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวให้ใช้ค่าเช่าซื้อรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น 

        7. ในกรณีที่กฎหมายหรือสัญญาให้ผู้ให้เช่าซื้อส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือ   จะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในสัญญา หรือที่อยู่ที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือครั้งหลังสุด เว้นแต่กรณี ประสงค์จะขอรับเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์  

        8.กรณีขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อปิดบัญชี  ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลด ดังนี้ กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่เกินหนึ่งในสามของค่างวดที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับ ส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ   กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามแต่ไม่เกินสองในสามของค่างวดที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ70 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดช าระ  กรณีชำระค่างวดมาแล้วเกินกว่าสองในสามของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

        9.กรณีการขาย เมื่อเลิกสัญญาเช่าซื้อ โดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อ มีหน้าที่ดำเนินการ 
           1) มีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้ใช้สิทธิซื้อก่อนภายในระยะเวลา20 วันได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราและการคิดคำนวณตาม ข้อ 8  แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ใช้สิทธิดังกล่าว ภายในระยะเวลาให้ผู้ค้ำประกันใช้สิทธินั้น โดยให้ผู้ค้ำประกันได้รับสิทธิ เช่นเดียวกับผู้เช่าซื้อ ทั้งนี้ ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันอาจโอนสิทธิให้บุคคลภายนอกได้
               กรณีผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้เช่าซื้อต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุ ของการไม่ได้แจ้งแก่ผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกัน มูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อส่วนที่ขาด เป็นค่าเช่าซื้องวดที่ผิดนัด ค่าเช่าซื้องวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อก่อนมีการบอกเลิกสัญญา 
            2) มีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15วันก่อนวันประมูลหรือวันขายทอดตลาด ในหนังสือแจ้งนั้นอย่างน้อยต้องระบุชื่อผู้ทำการขาย วันและสถานที่ที่ทำการขายในแต่ละครั้งไว้ในหนังสือฉบับเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ เฉพาะการประมูลหรือ ขายทอดตลาดครั้งแรก ให้ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งราคาที่จะขายให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบด้วย และห้ามปรับลดราคาดังกล่าว เว้นแต่จะได้มีหนังสือแจ้งราคาที่จะปรับลดนั้นให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน ทราบก่อน
                 กรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายตามวรรคหนึ่ง หากได้ราคา เกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ  ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงิน ส่วนที่เกินนั้น ให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาด เป็นค่าเช่าซื้องวดที่ผิดนัด ค่าเช่าซื้องวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อก่อนมีการบอกเลิกสัญญา 
            3) มีหนังสือแจ้งชื่อผู้ทำการขาย วัน สถานที่ที่ทำการขาย ราคาที่ขายได้ และรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย ทั้งนี้ เพียงเท่าที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็น และมีเหตุผลอันสมควร รวมทั้งจำนวนเงินส่วนเกินที่คืนให้แก่ผู้เช่าซื้อ หรือจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อ ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ให้ผู้เช่าซื้อทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทำการขาย ทั้งนี้ ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระหลังจากที่บอกเลิกสัญญา กับผู้เช่าซื้อ
             4) กรณีจะนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายโดยวิธีประมูลหรือ ขายทอดตลาดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการเข้าร่วมประมูลหรือ การขายทอดตลาดของผู้ให้เช่าซื้อด้วย 

         10 ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เข้าสู้ราคาไม่ว่าโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดรถยนต์หรือ รถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม 

        โดยสรุป ตามประกาศฉบับปี พ.ศ.2565 เป็นการออกมายกเลิกฉบับปี พ.ศ.2561 ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดไม่ต่างจากฉบับเดิม เพิ่มเติมในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงใช้แบบลดต้นลดดอก โดยไม่มีคำว่า "เช่นเดียวกับการคํานวณดอกเบี้ย สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย" แต่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ รถยนต์ใช้แล้ว และอัตราดอกเบี้ยรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะทำให้เป็นข้อสัญญาเป็นธรรมต่อผู้เช่าซื้อที่เป็นผู้บริโภค เพื่อไม่ให้ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ  
        ในกรณีที่สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจ ออกให้แก่ผู้บริโภค ไม่ใช้ข้อสัญญาให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมสัญญาประกาศนี้  ถือว่าสัญญานั้นใช้ข้อสัญญาตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมสัญญาประกาศ  และถ้ากำหนดให้สัญญาต้องไม่ใช้ข้อสัญญาใดที่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบเกินสมควร หรือใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  แต่มีการใช้สัญญานั้น ถือว่าสัญญานั้นไม่มีข้อสัญญาเช่นว่านั้น (มาตรา 35 ตรี และ มาตรา 35 จัตรา แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

  -- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- 

         อ้างอิงจาก

                 ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ,สืบค้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ,จาก  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/245/T_0026.PDF.