วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

บันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีตกลงหย่า เป็นการหย่าโดยความยินยอม

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

           
        การหย่านั้น จะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือโดยคำพิพากษาของศาล โดยการหย่าด้วยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน เป็นหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 ซึ่งหย่าที่ว่านี้ เป็นการหย่าจากกรณีที่มีการสมรสโดยการจดทะเบียนสมรสตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยการยินยอมเป็นสามีภริยากัน และแสดงความยินยอมให้ปรากฎโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้  การหย่ากันก็ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อให้จดทะเบียนหย่าให้ จึงจะเป็นการหย่าที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
        
ถ้าเป็นการสมรสโดยมีแต่การจัดงานสมรส หรือมีงานฉลองสมรส โดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส ไม่ถือว่าเป็นการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
        กรณีสามีภริยามีปัญหาต้องการหย่ากัน โดยมีการท้ากันให้ฟ้องหย่า และมีการไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ โดยมีพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่งลายมือชื่อเป็นพยาน ถือเป็นบันทึกข้อตกลงในการหย่าโดยความยินยอมหรือไม่  มีคำตอบจากคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้   

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 517/2560

            มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บันทึกข้อตกลงเป็นบันทึกข้อตกลงการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไปจึงได้ตกลงดังนี้ 2. ในเรื่องการหย่านั้น ฝ่ายหญิงจะดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปโดยมีโจทก์ จำเลย พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อไว้ บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยโดยตรง มีข้อความชัดเจนว่า ทั้งสองไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไป คือต้องการแยกทางกันหรือหย่ากันนั่นเอง แม้มีข้อความในข้อ 2 ว่า ฝ่ายหญิง คือโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปก็เป็นความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะต้องไปดำเนินการฟ้องหย่าต่อกันเท่านั้น ข้อความดังกล่าวมิได้ลบล้างเจตนาที่แท้จริงของทั้งโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไปแต่อย่างใด ดังนั้น บันทึกดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยประสงค์จะหย่ากัน ตาม มาตรา 1514 ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกดังกล่าวมีพยานลงชื่อไม่ครบสองคนนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้เขียนบันทึก เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ได้รับรู้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามข้อความในบันทึกดังกล่าว ถือได้ว่าคนทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะพยานผู้ทำบันทึกแล้วจึงถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

           โดยสรุปคือ บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี สามีภริยาไม่ประสงค์อยู่กินกันต่อไป ศาลพิจารณาเป็นการต้องการแยกทางกันหรือหย่ากัน แม้จะให้ฝ่ายหญิงไปฟ้องหย่า ถือเป็นความเข้าใจของสามีภริยาคุู่นั้น บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว จึงถือเป็นหนังสือที่มีพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในการหย่าของสามีภริยาคู่นั้น ถือว่าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตามมาตรา 1514 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฝ่ายหญิง ไม่ต้องหาเหตุฟ้องหย่ามากล่าวอ้างและนำสืบพยานพิสูจน์ต่อศาลแต่อย่างใด สามารถนำคำพิพากษาของศาลและบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อให้จดทะเบียนหย่าได้ต่อไป  

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

  อ้างอิงจาก

                           คำพิพากษาศาลฎีกา 517/2560 , ระบบสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา ,สืบค้น 26 พฤศจิกายน 2565 ,จาก http://deka.supremecourt.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น