วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ไม่ปิดอากรแสตมป์ไม่ขีดฆ่า รับฟังเป็นพยานไม่ได้

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

ไม่ปิดอากรแสตมป์ไม่ขีดฆ่า รับฟังเป็นพยานไม่ได้

       (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อเป็นกำลังใจคนจัดทำ)

      ในการดำเนินคดีแพ่ง ถ้ามีการอ้างตราสารที่ตามประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ว่าต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่า แล้วไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ และขีดฆ่า จะมีผลเป็นอย่างไร นั้น สำคัญทีเดียว เพราะมีแนวคำพิพากษาของศาลตัดสินไว้หลายคดีที่เป็นแนวทางในการดำเนินคดี เพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาด จึงมาศึกษาทำความเข้าใจกัน 

        ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า " ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับคู่ฉบับฉีกหรือสำเนาตราสารนั้น เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114 " จากบทบัญญัติดังกล่าว พอที่จะเข้าใจได้ว่า ถ้าจะอ้างตราสารเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง ตราสารต้องปิดอากรแสตมป์ และขีดฆ่า จึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ กล่าวคือเป็นขั้นแรกที่ศาลรับฟังตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานได้  ส่วนเนื้อหารายละเอียดในตราสารนั้นจะเชื่อได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

        การอ้างพยานหลักฐานนำสืบในคดีแพ่ง เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดี คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้ฝ่ายนั้นมีภาระพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น  คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใดๆมาสืบได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐาน

        การอ้างเอกสารหรือคำเบิกความของพยานคนใด เป็นพยานหลักฐานในคดี ต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน การอ้างตราสารเป็นพยานหลักฐาน จึงต้องระบุในบัญชีระบุพยานเป็นลำดับแรก ลำดับต่อไปคือ ถ้าเป็นตราสารที่ตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้ต้องปิดอากรแสตมป์ และขีดฆ่า ก็ต้องทำให้ครบตามข้อกฎหมาย ซึ่งการอ้างเอกสารเป็นพยานให้รับได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น แต่มีข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (1)-(4) และต้องยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความอีกฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เช่น  ตราสารที่เป็นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี 

        คำพิพากษาศาลฎีกา2723/2559 ตามหนังสือมอบอำนาจมีใจความชัดเจนว่า ขอมอบอำนาจให้ อ. เป็นตัวแทนฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสิบ อันเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ทั้งสามเพียงคดีเดียว ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว และแม้โจทก์ทั้งสามมอบอำนาจในตราสารเดียวกันก็ต้องคิดตามรายบุคคล จึงต้องปิดอากรแสตมป์รายละ 10 บาท ตามบัญชีอัตราแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสารข้อ 7 (ก) ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร ใบมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์มา 30 บาท จึงครบถ้วนบริบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 108, 118 ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งสามปิดอากรแสตมป์เพิ่มและขีดฆ่าก่อนมีคำพิพากษานั้น หามีผลทำให้หนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นตราสารใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้อยู่แล้วกลับเป็นใช้ไม่ได้แต่อย่างใดไม่

        คำพิพากษาศาลฎีกา4499/2558 ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114" บทบัญญัตินี้ไม่ได้บังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าในขณะที่ทำตราสารแต่อย่างใด และมิได้บัญญัติว่า ตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์หรือขีดฆ่าใช้บังคับไม่ได้ แต่กลับบัญญัติให้มีการปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าในภายหลังได้ ดังนั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจได้ปิดอากรแสตมป์แล้วและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขีดฆ่าในระหว่างการพิจารณาจึงเป็นเอกสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        ตราสารปิดอากรแสตมป์  แต่ไม่ขีดฆ่า มีผลว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา3825/2562 จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลย และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีในศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ส. ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงต้องอาศัยหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนหรือไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจโจทก์ปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน และการที่โจทก์ดำเนินการเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินในหนังสือมอบอำนาจก็เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9

        คำพิพากษาศาลฎีกา15690/2555หนังสือมอบอำนาจซึ่งปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน

        หนังสือมอบอำนาจ ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์หรือปิดไม่ครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร แต่ในชั้นสืบพยาน หรือก่อนฟ้องคดี มีการปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่า ศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานได้ เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา13963/2558 หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์มอบอำนาจให้ ส. บ. และ จ. คนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์ไว้ 6 ข้อ จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนกระทำกิจการแยกกันได้ค่าอากรแสตมป์จึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ท้าย ป.รัษฎากร ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต้องปิดอากรแสตมป์ 90 บาท แต่การปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 113 และมาตรา 114 เพียงให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอากรจนครบพร้อมเงินเพิ่มอากรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมอีก 60 บาท จากที่ปิดอากรแสตมป์ไว้เดิมเพียง 30 บาท พร้อมขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียเงินเพิ่มอากร ศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

        คำพิพากษาศาลฎีกา5162/2553 ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้วว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น หาได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ ดังนี้ เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วก่อนฟ้องคดีย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนโจทก์จะปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องในการปิดอากรแสตมป์ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 113 หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการปิดอากรแสตมป์
         
        มอบอำนาจให้ฟ้องฟ้องคดี  ต่อสู้คดี ดำเนินกระบวนพิจารณา จำหน่ายสิทธิในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีปกครอง คดีล้มละลาย คดีภาษีอากร คดีคุ้มครองผู้บริโภค และมีอำนาจมอบช่วงด้วย หนังสือมอบอำนาจต้องปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามบัญชีท้าย ป.รัษฎากร ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบ รับฟังหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เท่ากับไม่มีอำนาจฟ้องคดี  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา10222/2558 ใบมอบอำนาจนั้น บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ของ ป.รัษฎากร กำหนดในข้อ 7 ว่า กรณี (ข) มอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท และกรณี (ค) มอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท หนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความระบุชัดแจ้งว่า ส. ผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจให้ พ. หรือ ศ. ผู้รับมอบอำนาจช่วง ให้เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแก่ลูกหนี้รายจำเลยและ อ. หรือ จ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาตามฟ้องแทนโจทก์ หนังสือมอบอำนาจช่วงนี้จึงมีลักษณะเป็นตราสารใบมอบอำนาจซึ่งต้องปฏิบัติตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7 ท้าย ป.รัษฎากรดังกล่าว ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจช่วงว่า โจทก์โดย ส. ผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจให้ พ. หรือ ศ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงดำเนินการฟ้องคดี ต่อสู้คดี ดำเนินกระบวนพิจารณา จำหน่ายสิทธิในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีปกครอง คดีล้มละลาย คดีภาษีอากร คดีคุ้มครองผู้บริโภค และให้มีอำนาจดำเนินการอื่นตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 และข้อ 2 ด้วย ดังนี้ การมอบอำนาจช่วงดังกล่าวของผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงฟ้องร้องคดีนี้และคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยได้ จึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการได้มากกว่าครั้งเดียวโดยให้ผู้รับมอบอำนาจช่วง 2 คน ซึ่งต่างคนต่างกระทำการฟ้องคดีและกระทำการอื่น ๆ แทนโจทก์ได้ กรณี ต้องปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจช่วงคนละ 30 บาท รวม 60 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจช่วงมาเพียง 30 บาท ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์จึงเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ในขณะที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐาน ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 เมื่อหนังสือมอบอำนาจช่วงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ พ. หรือ ศ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงดังกล่าวไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

        แต่ถ้าคู่ความอีกฝ่ายไม่ได้คัดค้านการมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับมีการยอมรับว่ามีการมอบอำนาจกันจริง จึงไม่ต้องใช้ตราสารที่เป็นหนังสือมอบอำนาจพิสูจน์ข้อเท็จจริง เพราะถือว่าคู่ความรับข้อเท็จจริงกันแล้ว แม้หนังสือมอบอำนาจจะไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา5674/2562 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าการมอบอำนาจของผู้คัดค้านไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ร้องยังเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านยอมรับว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านถูกต้องแล้ว กรณีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีภาระที่จะต้องพิสูจน์และส่งอ้างเอกสารหนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือมอบอำนาจนั้นจะมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม และไม่มีกรณีต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามมิให้รับฟังตราสารที่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า ผู้คัดค้านได้มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทน การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมาย

        จำเลยไม่ได้ต่อสู้ในประเด็นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ยกต่อสู้ในชั้นฎีกา ซึ่งประเด็นอำนาจฟ้องคดี เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง แต่การที่โจทก์นำส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจต่อศาล จำเลยไม่คัดค้านว่า ไม่มีต้นฉบับ ต้นฉบับปลอมหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ถือว่ายอมรับสำเนาหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ศาลจึงรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นหยานหลักฐานได้ ไม่ใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ครบและขีดฆ่าตามป.รัษฎากร เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา5836/2558 ฎีกาของจำเลยที่ว่า หนังสือมอบอำนาจ โจทก์มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นการไม่ชอบ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 118 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจไม่ชอบอย่างไรตั้งเป็นประเด็นไว้และก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรมาแต่แรก และเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
        โจทก์นำสืบส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานต่อศาล จำเลยไม่ได้คัดค้านว่า ไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับปลอม หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องกับต้นฉบับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ตาม มาตรา 93 (4) สำเนาหนังสือมอบอำนาจ จึงรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อปรากฏว่าเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่การรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร และสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารจึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์ด้วยเช่นกัน สำเนาหนังสือมอบอำนาจ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา11692/2557 โจทก์อ้างสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเอกสารโดยจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านการนำเอกสารมาสืบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ เมื่อศาลมิได้รับฟังต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานหลักฐาน ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงจะปิดอากรแสตมป์หรือไม่ ปิดอากรแสตมป์แล้วไม่ได้ขีดฆ่าหรือไม่ ย่อมไม่มีผลให้การรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเปลี่ยนแปลงไป

        คำพิพากษาศาลฎีกา2216/2553 โจทก์นำส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานเอกสารต่อศาล จำเลยที่ 2 ไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่าโจทท์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาสืบแต่อย่างใด จึงเท่ากับว่าคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) สำเนาหนังสือมอบอำนาจจึงรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ด้วย

        การขีดฆ่าอากรแสตมป์ มีความหมายและวิธีอย่างไร  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา1199/2556 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 103 ให้ความหมายของคำว่า "ขีดฆ่า" หมายความว่า "การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย..." การระบุวัน เดือน ปี พร้อมขีดฆ่าอากรแสตมป์ ก็เพียงมุ่งหมายให้ทราบว่าได้มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใดเท่านั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์มิให้นำไปใช้ได้อีก เมื่อหนังสือมอบอำนาจได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันที่ เดือน ปี กำกับด้วย ก็ถือว่าหนังสือมอบอำนาจรับฟังพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

        คำพิพากษาศาลฎีกา 22089/2555ป.รัษฎากร มาตรา 103 นิยามคำว่า ขีดฆ่า หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อมิให้นำแสตมป์นั้นมาใช้อีกอันเป็นการหลีกเลี่ยงค่าอากร เมื่อปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่ามีการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์แล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์ และไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้บนอากรแสตมป์นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายแล้ว จึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้


        ห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ห้ามในคดีอาญา เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา10194/2555ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานไม่ได้ ซึ่งห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือ โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาแสดง ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

        ตราสารที่ไม่ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่า มีผลไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ แต่แม้ไม่ปิดอากรแสตมป์หรือขีดฆ่า ก็ยังเป็นมีผลสมบูรณ์ผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในตราสารนั้น ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา2089/2552ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อบัญญัติไว้เพียงว่า "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ" เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็นหนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้แล้ว จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น ส่วนการปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร ก็เป็นเรื่องของการเรียกเก็บอากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผลเพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น มิใช่ว่าสัญญาที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จะตกเป็นโมฆะไม่

        คำว่า"ตราสาร" หมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดนี้ ซึ่งป.รัษฎากร มาตรา 104 บัญญัติว่า "ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้บัญชีนั้น " โดยมีบทลงโทษไว้ในมาตรา 124 บัญญัติว่า "ผู้มีมีหน้าที่เสียอากร หรือขีดฆ่าอากรแสตมป์ เพิกเฉยหรือปฏิเสธไม่เสียอากร หรือไม่ขีดฆ่าแสตมป์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท"

         ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ คือ เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ   โอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ พันธบัตรและใบรับรองหนี้ซึ่งบริษัท สมาคม คณะบุคคลหรือองค์การใดๆ เป็นผู้ออก เช่าซื้อทรัพย์สิน  จ้างทำของ  กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร  กรมธรรม์ประกันภัย  ใบมอบอำนาจ ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท  ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสารทำนองเดียวกับที่ใช้อย่างตั๋วสัญญาใช้เงิน  บิลออฟเลดิง  เลตเตอร์ออฟเครดิต  เช็คสำหรับผู้เดินทาง  ใบรับของ  ค้ำประกัน  จำนำ  ใบรับของคลังสินค้า  คำสั่งให้ส่งมอบของ  ตัวแทน  คำชี้ขาดของอนุญาตโตตุลาการ  คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร  หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทที่ส่งต่อนายทะเบียน  ข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน ข้อบังคับใหม่หรือสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัทจำกัด ซึ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ส่งต่อนายทะเบียน  ใบรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาบ  ใบรับสำหรับการโอน หรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมเป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะ ทั้งนี้ เฉพาะยานพาหนะซึ่งมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ 

        หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน และหลักฐานการค้ำประกัน ที่ผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่งและมาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงินและหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 118  เช่น  

        คำพิพากษาศาลฎีกา10406/2554แบบฟอร์มคำขอกู้ยืมเงินและหนังสือกู้เงินของสมาชิกสหกรณ์ที่โจทก์นำมาใช้กับพนักงานลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งคำขอกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยที่ 1 เสนอคำขอกู้เงินจำนวน 153,500 บาท ส่วนหนังสือกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือกู้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินไม่เกิน 153,500 บาท เมื่อโจทก์อนุมัติให้ใช้หนังสือกู้นี้ได้ จำเลยที่ 1 จะเบิกรับเงินกู้ตามที่โจทก์อนุมัติ และทำหลักฐานการรับเงินกู้ให้ไว้แก่สหกรณ์ทุกครั้ง ด้านหลังระบุว่า ถ้าโจทก์กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าที่ขอกู้ จำเลยที่ 1 เป็นอันตกลงด้วยทั้งสิ้น ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้อยู่ด้วย คงมีเพียงลายมือชื่อประธานคณะทำงานจากกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเป็นผู้อนุมัติพร้อมเลขานุการในช่องบันทึกการอนุมัติเงินกู้หน้าแรกของหนังสือกู้เงิน อันเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามระเบียบ ฯ ข้อ 9 จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงินและหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา7064/2553หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อของบริษัทเงินทุน น. ผู้ให้กู้อยู่ด้วย จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง แม้จะมีข้อความว่าหนังสือสัญญากู้เงิน เอกสารดังกล่าวก็มิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอากรแสตมป์ลักษณะ 5 แต่อย่างใด หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ ตามความหมายของมาตรา 653 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ น. ไปตามฟ้องโดยไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์

        คำพิพากษาศาลฎีกา21819/2556สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งห้าแต่ฝ่ายเดียวต่างลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินบัญชีและผู้ค้ำประกันเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118

        คำพิพากษาศาลฎีกา13219/2556 เมื่อสัญญาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำกันในรูปสัญญาร่วมลงทุนเพื่ออำพรางนิติกรรม การกู้ยืมเงินต่อกัน สัญญาร่วมลงทุนจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง กรณีคงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องกู้ยืมเงินที่ถูกอำพราง และสัญญาร่วมลงทุนที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินได้หรือไม่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวน จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้" คำว่าตราสารดังกล่าวหมายความถึงหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่คู่สัญญาเจตนาแสดงออกว่าเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน ไม่ได้หมายรวมไปถึงหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ในรูปสัญญาอื่น เพราะคู่สัญญาไม่ได้ต้องการที่จะแสดงออกอย่างเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน หนังสือสัญญาในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่ได้เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามความหมายของคำว่าตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 คงเป็นได้เพียงหลักฐานเป็นหนังสือแสดงการกู้ยืมเงินเท่านั้น เมื่อสัญญาร่วมลงทุนนี้มีเนื้อความครบถ้วนว่าจำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ไป แบ่งจ่ายแต่ละครั้งเมื่อใด และจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เมื่อใด โดยมีการลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไว้ หนังสือสัญญาร่วมลงทุนจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ แม้สัญญาร่วมทุนจะตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อถือว่าสัญญาร่วมทุนดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา10428/2551บันทึกเงินยืมมีข้อความว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2543 ข้าพเจ้า ส. ขอทำบันทึกว่าได้ยืมเงินและรับเงินยืมจาก พ. ไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท (สี่ล้านห้าแสนบาท) จริง และขอชำระเงินยืมดังกล่าวคืนแก่ พ. ผู้ให้ยืมเงินต่อไปนี้... เพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน... ซึ่งก็จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ 4,500,000 บาท ดังความในตอนท้ายที่มีลายมือชื่อของจำเลยว่าผู้ยืมและโจทก์ว่าผู้ให้ยืม บันทึกเงินยืมดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        ถ้าคู่ความยอมรับข้อเท็จจริงตามหนังสือตราสารนั้นแล้ว จึงไม่ต้องใช้ตราสารเป็นพยานหลักฐานในคดี แม้ตราสารไม่ปิดอากรแสตมป์หรือขีดฆ่า ก็ไม่มีผล เพราะไม่ต้องใช้ตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา1740/2558โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าปรับตามสัญญาเช่า จำเลยทั้งสองก็มิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำสัญญาเช่าตามฟ้อง เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ค้างชำระค่าเช่า และไม่ต้องชำระค่าปรับตามฟ้อง คดีจึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้แล้วว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริง โดยโจทก์ไม่จำต้องอ้างหนังสือสัญญาเช่าตามฟ้องเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ฎีกาว่าสัญญาเช่าตามฟ้องมิได้ปิดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ แม้จะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งจำเลยที่ 1 มีอำนาจยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ก็ตาม การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
        สิทธิเรียกร้องค่าเช่าอาคารซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ส่วนอายุความ 6 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 563 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าในกรณีอื่น เช่น การเรียกร้องค่าปรับเนื่องจากชำระค่าเช่าล่าช้า ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าปรับอันเนื่องมาจากการชำระค่าเช่าล่าช้าของโจทก์มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามมาตรา 563 ซึ่งการเริ่มนับอายุความของค่าเช่าย่อมนับตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระค่าเช่าในแต่ละเดือนตามมาตรา 193/12

        คำพิพากษาศาลฎีกา6631/2555เมื่อจำเลยให้การยอมรับว่าทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลงตามฟ้องจริง โดยมิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญา เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญาเลิกกันแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยยอมรับว่าได้ทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลงกับโจทก์โดยไม่จำต้องอาศัยหนังสือสัญญาจ้างเป็นหลักฐานในคดีแม้สัญญาจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 จึงรับฟังเป็นหลักฐานได้ และตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าต้องปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจมีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้ว หนังสือมอบอำนาจจึงใช้บังคับได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา2470/2552สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร แต่จำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามฟ้องกับโจทก์ตามฟ้องจริง มิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญา เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 ลงลายชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรือแต่งตั้งให้กระทำการแทนเท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์ได้ไม่จำเป็นต้องอาศัยหนังสือสัญญาว่าจ้างเป็นหลักฐานในคดี ฉะนั้น แม้สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118

        คำพิพากษาศาลฎีกา10417/2551แม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นเพียงคู่ฉบับ และสัญญาค้ำประกันจะมิได้ติดอากรแสตมป์ แต่ตามคำให้การจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องกับโจทก์จริง โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดี

         คำพิพากษาศาลฎีกา7720/2550โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่ากับโจทก์ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าท้ายฟ้องแล้วผิดสัญญา ขอให้ขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย จำลยให้การว่าหนังสือสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องเป็นสัญญาที่โจทก์เจ้าของที่ดินรวมและจำเลยมีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การยอมรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวกับโจทก์จริง เพียงแต่อ้างว่าหนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวคู่สัญญามีเจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขาย กรณีเช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือสัญญาเช่าฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่ามีการทำหนังสือสัญญาเช่ากันจริงไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา118

         แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับการปิดอากรแสตมป์ในตราสารต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น 
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา 4574/2561โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์นำสืบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานตามข้ออ้างของตน สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง

        คำพิพากษาศาลฎีกา13385/2558โจทก์อ้างสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้าง สัญญาเช่าซื้อมีลักษณะเป็นตราสาร จึงต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ปรากฏว่า สัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามบทบัญญัติ ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังสัญญาเช่าซื้อเป็นพยานหลักฐานจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้หรือยกปัญหาในเรื่องสัญญาเช่าซื้อมิได้ปิดอากรแสตมป์ขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

         คำพิพากษาศาลฎีกา5086/2558ประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยมีเพียงว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยหรือไม่ เมื่อโจทก์นำสืบพยานบุคคลฟังได้แล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นภายในสถานที่ประกอบการหรือเกิดขึ้นจากการใช้สถานที่ประกอบการไว้จากบริษัท พ. ผู้เอาประกันภัย การอ้างกรมธรรม์ประกันภัยเป็นพยานจึงเป็นเพียงนำสืบประกอบพยานอื่นในประเด็นเรื่องการรับช่วงสิทธิ ไม่ได้นำสืบบังคับตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยตรง ดังนั้น แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนอ้างส่งเป็นพยาน ก็ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

       คำพิพากษาศาลฎีกา3876/2558 หนังสือสัญญาจำนองที่ดินถูกอ้างในฐานะเพียงหลักฐานในการกู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินอันจะพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แต่อย่างใด ศาลจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา11073/2554 โจทก์ปิดอากรแสตมป์ด้านที่เป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินถึง 550 บาท ทั้งที่ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 285 บาท แสดงว่าโจทก์ปิดอากรแสตมป์ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันที่เป็นแบบพิมพ์ด้านหลังครบถ้วนแล้ว หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

        คำพิพากษาศาลฎีกา6962/2551โจทก์ฟ้องว่าจำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์ภายหลังจากที่สัญญาเช่าครบกำหนด โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไปและบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไป เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยในมูลละเมิด มิใช่เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าทรัพย์ โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่ได้โดยไม่จำต้องใช้หนังสือสัญญาเช่าที่ดินเป็นพยานหลักฐานในคดี แม้สัญญาเช่ามิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา6669/2550ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากร มิได้กำหนดว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะต้องปิดอากรแสตมป์แม้ในบัญชีกล่าวข้อ 28 (ข) กำหนดว่า ใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมายต้องปิดอากรแสตมป์แต่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง มิได้บัญญัติให้เป็นนิติกรรมที่ต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย และโจทก์อ้างสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จำเลยจะขายให้โจทก์เป็นพยานหลักฐานเพื่อแสดงว่าได้มีการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย มิได้อ้างเพื่อแสดงข้อเท็จจริงว่าเป็นใบรับ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์และไม่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

        กล่าวโดยสรุปตราสารตาม ป.รัษฎากรกำหนด ไม่ปิดอากรแสตมป์ หรือปิดไม่ครบถ้วน ไม่ขีดฆ่า ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้่  ส่วนคดีอาญารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้  ซึ่งเป็นประเด็นที่คู่ความ คือโจทก์และจำเลยไม่ยอมรับข้อเท็จจริงในตราสารนั้น จึงต้องอ้างตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี  แต่ถ้ามีการยอมรับข้อเท็จจริงกันตามตราสารนั้น ก็ไม่จำต้องใช้ตราสารเป็นพยานหลักฐาน จึงไม่ต้องคำนึงว่าตราสารนั้นจะปิดอากรแสตมป์ และขีดฆ่าหรือไม่ และการปิดหรือไม่ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าไม่ทำให้ตราสารนั้นเป็นโมฆะ  ก็พอเข้าใจและเป็นแนวทางต่อไปได้ 


**************************
ขอขอบคุณ 
           ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
           ๒.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
 


วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เงื่อนไขที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ หรือโมฆียะ

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


เงื่อนไขการสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะ

         (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังให้ผู้จัดทำ)

          การสมรส จะมีได้แต่เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น แม้ไม่มีขบวนขันหมาก ไม่มีงานแต่งงาน ไม่มีงานเลี้ยงฉลอง ก็เป็นการสมรสตามกฎหมายที่มีผลให้เป็นสามีภริยากัน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางครอบครัว ความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน แต่การสมรส หากมีกรณีที่เข้าเงื่อนไขตามข้อกฎหมาย จะทำให้การสมรสเป็นโมฆะ หรือโมฆียะได้เหมือนกัน

          โมฆะ คือ ความเสียเปล่า ไม่อาจให้สัตยาบันได้  โมฆียะ คือ ความไม่สมบูรณ์ ที่อาจถูกเพิกถอนได้ ซึ่งการสมรสแม้จะเข้าเงื่อนไขให้เป็นโมฆะ หรือโมฆียะ แต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงความเป็นโมฆะ และแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส หรือการสมรสจะสิ้นสุดเมื่อมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะ  ซึ่งเป็นการสิ้นสุดลงของการสมรสรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากการสิ้นสุดลงด้วยความตาย หย่า (ม.1501)  ดังนั้น เงื่อนไขที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ หรือโมฆียะ มีดังนี้

        1.ผู้เยาว์ทำการสมรส 

        การสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว(ม.1448) ถ้าชายและหญิงมีอายุไม่ถึงทำการสมรสกัน จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ  แต่การสมรสที่เป็นโมฆียะจะสิ้นสุดลงเมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอน (ม.1502) ให้ถือว่าสิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1511) ผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลเพิกถอนได้ แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ให้ความยินยอมแล้วจะขอให้เพิกถอนไม่ได้ ถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนจนชายหญิงมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์หรือหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส(ม.1504) 

        ผู้เยาว์จะทำการสมรสต้องได้รับความยินยอม(ม.1454) จากบิดาและมารดา ในกรณีมีทั้งบิดามารดา หรือได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้ หรือได้รับความยินยอมจากผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม หรือได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง กรณีที่ไม่มีบุคคลที่ให้ความยินยอมตามที่กล่าวข้างต้น หรือมีแต่ถูกถอนอำนาจปกครอง(ม.1436) ถ้าผู้เยาวทำการสมรสโดยไม่ได้ความยินยอม จะทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ (ม.1509) บุคคลที่อาจให้ความยินยอมเท่านั้นที่อาจขอให้เพิกถอนการสมรสได้ สิทธิขอเพิกถอนเป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือหญิงมีครรภ์ การฟ้องให้เพิกถอนมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันทราบการสมรส(ม.1510)      

        บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์ แต่เมื่อผู้เยาว์ทำการสมรสย่อมบรรลุนิติภาวะ โดยการสมรส  (ม.19-20) 


        2.ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

        การสมรสจะทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (ม.1449) ฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ(ม.1495) คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้ (ม.1496) เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส(ม.1497/1) 

        การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง (ม.1498) แต่ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1499) แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1500)

        3.ชายหญิงเป็นญาติสืบสายโลหิต

        ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป หรือลงมา เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา จะทำการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติถือตามสายโลหิต(ม.1450) ฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ(ม.1495) คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้ (ม.1496) เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส(ม.1497/1) 

        การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง (ม.1498) แต่ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1499) แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1500)


        4.ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม

        ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ (ม.1451) การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืน(ม.1598/32) มีผลยกเลิกโดยผลของกฎหมาย ไม่ต้องจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ทำให้ไม่มีฐานะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม  

        ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี จะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้ ต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี (ม.1598/19) ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ต้องได้รับความยินยอม การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมของบิดาและมารดา กรณีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมหรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมปราศจากเหตุผลอันควรและเป็นปรปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้การยินยอมก็ได้ (ม.1598/21)

       5.ทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรส

        ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ (ม.1452) ฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ(ม.1495) ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น(ไม่ต้องร้องขอต่อศาล)  หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ (ม.1497) เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส(ม.1497/1) 

        การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง (ม.1498) ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนที่รู้เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่รู้เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ (ม.1499) แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1500) 


           6.ยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงความยินยอมให้ปรากฎ

            การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงความยินยอมให้ปรากฎโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย (ม.1458) ฝ่าฝืนการสมรสตกเป็นโมฆะ(ม.1495) คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้ (ม.1496) เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส(ม.1497/1) 

            การสมรสทีเป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง (ม.1498) แต่ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1499) แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1500)

            7.สำคัญผิดตัวคู่สมรส

            การสมรสที่ได้กระทำไปโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสำคัญผิดตัวคู่สมรส เป็นโมฆียะ สิทธิขอเพิกถอนเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้ว 90วันนับแต่วันสมรส(ม.1505) 

            8.ถูกกลฉ้อฉลถึงขนาด

            ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรส เป็นโมฆียะ แต่ไม่ใช้บังคับกรณีกลฉ้อฉลนั้นเกิดขึ้นโดยบุคคลที่สาม โดยคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้เห็นด้วย สิทธิขอเพิกถอนเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้พ้นไปแล้ว 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ถึงกลฉ้อฉล หรือเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับแต่วันสมรส (ม.1506)

            9.ถูกข่มขู่อันถึงขนาด

            ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่ถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส เป็นโมฆียะ สิทธิขอเพิกถอนเป็นอันระงับเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นจาการข่มขู่ (ม.1507)

            การสมรสที่เป็นโมฆียะจะสิ้นสุดลงเมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอน (ม.1502) ให้ถือว่าสิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด (ม.1511)  ถ้าไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนยังมีผลเป็นการสมรสอยู่ 


     

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สินสมรส (กฎหมายแพ่ง)

 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี

สินสมรส


(คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังใจให้ผู้จัดทำ)

        สินสมรส 

        เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส  การสมรสในที่นี้คือ การจดทะเบียนสมรส  (ม.1457) ซึ่งกฎหมายบัญญัติเงื่อนไขของชายหญิงที่จะทำการสมรสไว้ ถ้าฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่ก่อใหให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา (ม.1498) เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามเงื่อนไข ชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสก็จะมีฐานะเป็นสามีภริยากัน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินในระหว่างที่มีการสมรสกันอยู่  

        ถ้าไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาในระหว่างอยู่ร่วมกัน เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นไม่ใช่สินสมรส กล่าวคือไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน เพราะไม่มีฐานะเป็นสามีภริยากัน  สินสมรสจึงเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส  ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนี่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเป็นสินสมรส (ม.1474) 

        คำพิพากษาศาลฏีกา12734/2558 แม้ที่ดินและหุ้นจะได้มาในระหว่างโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์กับผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่ดินและหุ้นดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส อันจะถือเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)

        การที่ฝ่ายใดมีทรัพย์สินอยู่ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรส ก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายนั้น เครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะหรือเครื่องมือเครืองใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพของฝ่ายใด เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายนั้น (ม.1471)

        การได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ถ้าได้มาโดยการรับมรดก หรือการให้โดยเสน่หาที่ไม่ได้ระบุให้เป็นสินสมรส ก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวไม่ใช่สินสมรส  หญิงที่ได้ของหมั้นมาก่อนสมรสของหมั้นนั้นก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่ถ้าดอกผลของทรัพย์สินส่วนตัวที่มีขึ้นในระหว่างสมรสก็เป็นสินสมรส  

        คำพิพากษาศาลฏีกา12346/2558 ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน และกฎหมายมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หาเท่านั้น ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หานั้น เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการให้ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่ ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า น. บิดาของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขและค่าตอบแทนเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของ น. ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้ ส่วนที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินพิพาทหลังจากได้รับการยกให้มาแล้วก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เช่นกัน

        เมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส คู่สมรสมีส่วนในทรัพย์สินคนละครึ่งจึงถือเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินสมรส นั้น  แต่การที่จะแบ่งสินสมรสจะทำได้เมื่อได้มีการหย่ากัน  เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา2817/2562 เมื่อรถบรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องซื้อมาด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรส ผู้ร้องกับจำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง

        คำพิพากษาศาลฎีกา8455/2559 การแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533

        คำพิพากษาศาลฎีกา7860/2559 เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้

        คำพิพากษาศาลฎีกา8803/2559 เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสิน นั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533
        รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย

        คำพิพากษาศาลฎีกา4403/2558 เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (2) หมายถึงเครื่องมือเครื่องใช้ที่โดยสภาพเป็นสิ่งเฉพาะสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพของคู่สมรสฝ่ายนั้นเท่านั้น รถยนต์ที่โจทก์จำเลยซื้อมาระหว่างสมรสเพื่อความสะดวกในการรับส่งบุตรไปโรงเรียน ภายหลังจำเลยนำมาใช้รับจ้างส่งนักเรียน แสดงให้เห็นว่ารถยนต์เป็นทรัพย์ที่มิได้มุ่งหมายใช้ในการประกอบอาชีพรับจ้างแต่เพียงประการเดียว รถยนต์จึงเป็นสินสมรสมิใช่สินส่วนตัวของจำเลย



  •    ถ้าฝ่ายใดใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้จะซื้อในระหว่างสมรส ก็ไม่ใช่สินสมรส เช่น 
       คำพิพากษาศาลฎีกา145/2563โจทก์ใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านเล็กๆ มีแต่หลังคาแต่ไม่มีฝาบ้านมาในระหว่างสมรส และใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ในการก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำในที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้เป็นการก่อสร้างในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันก็จะถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสหาได้ไม่ บ้านพิพาทย่อมเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายได้

       เงินช่วยเหลือสมาชิกที่จ่ายเมื่อคู่สมรสฝ่ายใดเสียชีวิต ไม่ใช่สินสมรส เช่น 

       คำพิพากษาศาลฎีกา2236/2562 เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิตที่จ่ายในกรณีเสียชีวิต ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยไม่ใช่เงินที่ ได้มาระหว่างสมรส จึงไม่ใช่สินสมรส

        สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิต ไม่ใช่สินสมรส เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา4239/2558 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิต นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรส

        จัดต้ังบริษัทร่วมกัน บริษัทนั้นไม่ใช่สินสมรส เช่น 

       
 
คำพิพากษาศาลฎีกา2854/2561ฟ้องขอให้แยกสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย เดิมโจทก์และจำเลยประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และต่อมาจดทะเบียนเลิกห้าง และจัดตั้งบริษัท อ. โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ใช้อำนาจบริหารกิจการบริษัท อ. แต่ให้ อ. บุตรชายของโจทก์และจำเลยเป็นผู้บริหารแทน กิจการโรงงานเป็นของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก หาใช่สินสมรสไม่
         บริษัท อ. และ บริษัท ซ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลอื่นและผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เป็นของตนเอง การดำเนินกิจการต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับจัดตั้ง กิจการบริษัททั้งสองรวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทหาใช่สินสมรสไม่ แต่เป็นของบริษัทภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท หากจะเกิดความเสียหายหรือเกิดความหายนะ ก็เป็นเรื่องที่กรรมการบริษัทจะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 กรณีจึงไม่มีเหตุแยกสินสมรส

        ใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหารและสถานบริการ เป็นสิทธิเฉพาะตัว แม้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพราะเป็นสินสมรสที่ประกอบธุรกิจขณะเป็นสามีภริยากัน แต่การที่ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาต ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายที่ไม่ประสงค์ให้โอนใบอนุญาตกัน ไม่อาจฟ้องบังคับให้ลงชื่อในใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการได้
             
        คำพิพากษาศาลฎีกา6729/2559ใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหารและสถานบริการชื่อ บ. คาราโอเกะ และ ป. คันทรีคลับ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากการจะได้รับอนุญาตหรือไม่ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 หากผู้ใดฝ่าฝืนตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องรับโทษตามมาตรา 26 ทั้งไม่มีบทบัญญัติอนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตแก่กันได้ แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพราะเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลยที่ประกอบธุรกิจขณะเป็นสามีภริยากัน แต่การที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาต ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ไม่ประสงค์ให้โอนใบอนุญาตกัน โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้ลงชื่อโจทก์ในใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าวได้

        กู้ยืมเงินเพื่อก่อสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยร่วมกัน แม้มีชื่อผู้กู้คนเดียว  บ้านที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวโดยอาศัยเงินกู้นั้นก็เป็นสินสมรส เช่น

    
    คำพิพากษาศาลฎีกา15401/2558โจทก์เคยร่วมกับสามีกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. สาขาตรัง ในโครงการสินเชื่อเคหะสงเคราะห์เพื่อก่อสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันมาก่อน แม้ต่อมาสามีโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้กู้เงินจากธนาคาร ก. สาขาตรัง ตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า เพื่อใช้สิทธิในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง ซึ่งหากเป็นการกู้เงินตามสัญญาใหม่ที่มีจำนวนเงินไม่สูงกว่าจำนวนหนี้เดิมก็จะเป็นการชำระหนี้ราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่เดิมนั่นเอง และแม้สามีโจทก์จะเป็นผู้กู้เงินตามสัญญาใหม่แต่เพียงผู้เดียว บ้านที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวโดยอาศัยเงินกู้นั้นก็เป็นสินสมรสของโจทก์ด้วย และนอกจากโจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้ที่สามีโจทก์ได้กู้ยืมตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า ของธนาคาร ก. สาขาตรัง ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ร่วมแล้ว โจทก์ยังต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวด้วย ดังนั้นไม่ว่าสามีโจทก์หรือโจทก์จะเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอง สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน โจทก์จึงมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขของข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (ข้อบังคับใหม่) ข้อบังคับดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายและเป็นคุณกับโจทก์

        ร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ก่อนจดทะเบียนสมรส ไม่มีตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์เป็นอย่างอื่น จึงเป็นการมีกรรมสิทธิรวมในที่ดินและทาวน์เฮาส์ เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรส การผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนภายหลังจดทะเบียนสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่เป็นสินสมรส เช่น

        คำพิพากษาศาลฏีกา1776/2558การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
advertisement



        สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในเรื่อง ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง  ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี ให้กู้ยืมเงิน ให้โดยเสน่หา เว้นแต่ให้พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล สังคมหรือหน้าที่ธรรมจรรยา ประนีประนอมยอมความ มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย  นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล ถ้าเป็นการจัดการสินสมรสนอกจากที่กล่าวนี้  จัดการได้ลำพัง หรือไม่ต้องได้รับความยินยอม(ม.1475) ซึ่งความยินยอมนั้น ถ้าเป็นการยินยอมให้ไปจัดการสินสมรสที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือด้วย(ม.1479) เช่น ยินยอมให้ขายอสังหาริมทรัพย์ ขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคา ให้ขายฝาก(คือสัญญาซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อกตกลงกันให้ผู้ขายไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้)  ให้เช่าซื้อ  ให้จำนอง ปลดจำนอง เป็นต้น  

        การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมดังกล่าว ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมแต่ฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรส คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ยินยอมฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ โดยต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรม (ม.1480) กล่าวคือ ถ้ารู้ว่ามีการจัดการสินสมรสฝ่ายเดียวหรือไม่ได้รับความยินยอม ต้องจัดการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้  ถ้าไม่เคยรู้มาก่อนเลย แต่มารู้ก่อนครบสิบปี ก็ยังฟ้องให้เพิกถอนได้ แต่ก็ต้องพิสูจน์ความไม่รู้นั้นพอสมควร
 
       การทำพินัยกรรมยกสินสมรสของตนให้แก่บุคคลใด คู่สมรสแต่ละฝ่ายสามารถทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อยกสมรสที่ไม่เกินกว่าส่วนของตน(ม.1481) 

         คำพิพากษาศาลฎีกา7789/2560 แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา8594/2559 โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์ไม่ทราบเรื่อง การที่จำเลยทั้งสามให้การต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทราบเรื่องและไม่คัดค้านถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว และนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก็วินิจฉัยประเด็นต่อไปว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แต่หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ คำให้การของจำเลยทั้งสามจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำลงวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง

        คำพิพากษาศาลฎีกา4071/2558การที่จำเลยที่ 1 และ ช. ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทมา ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์ เป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 บัญญัติว่า สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้ (5) ให้โดยเสน่หา และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ กฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้น เป็นโมฆะหรือโมฆียะ บัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอน นิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ย่อมสมบูรณ์ โจทก์ไม่จำต้องบอกล้างโมฆียะกรรมแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์จึงเป็นสินสมรส อำนาจในการจัดการสินสมรสดังกล่าว จำเลยที่ 1 และโจทก์จึงต้องจัดการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง



        กรณีที่ไม่มีการหย่าขาดจากกันอันจะต้องแบ่งแยกสินสมรสให้ฝ่ายละครึ่งตามสิทธิ  แต่มีเหตุที่ทำให้ต้องแยกสินสมรสได้ คือ กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว ถ้าการจัดการสินสมรสเสียหายถึงขนาด ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มีพฤติการณ์ปรากฎว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส อีกฝ่ายร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้ (ม.1484)
    
         ถ้าสามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกันโดยอำนาจกฎหมายนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย(ม.1491) 

        เมื่อได้แยกสินสมรส เพราะเหตุตาม ม.1484(ตามคำสั่งศาล)  ม.1491(เหตุต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย) หรือกรณีศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและศาลไม่สมควรให้คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล ( ม.1598/17) (ศาลมีคำสั่งให้แยก) ให้ส่วนที่แยกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา ทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังในระหว่างที่มีคำสั่งแยกสินสมรส ถือเป็นสินส่วนตัว และสินสมรสที่ได้มาในภายหลังโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือที่ระบุให้เป็นสินสมรสให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายละครึ่ง(ม.1492) เมื่อมีการแยกสินสมรสโดยคำสั่งศาล การยกเลิกการแยกสินสมรส สามีหรือภริยาต้องรองขอต่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการแยกสินสมรส  แต่ถ้ามีการคัดค้านจากสามีหรือภริยา ศาลจะสั่งยกเลิกการแยกสินสมรสเมื่อเหตุแห่งการแยกสินสมรสสิ้นสุดแล้ว(ม.1492/1) เหตุที่ว่านั้นคือ พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย หรือพ้นจากการเป็นบุคคลไร้ความสามารถ 

        กรณีที่สามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระจากสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน ไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นของฝ่ายนั้น(ม.1488) แต่ถ้าสามีหรือภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้จากสินสมรสก่อน ไม่พอให้ชำระจากสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย(ม.1489) เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา15301/2558 การบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เบื้องต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 กำหนดหลักการสำคัญไว้เพียงว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือศาลจะได้มีคำสั่งไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีโดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่บังคับว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องกระทำทีละสิ่งเสมอไป ทั้งไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินนั้นว่าจะแบ่งภาระแห่งหนี้กันอย่างไร ดังนี้ การจะชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นเป็นประการใดจึงเป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป เมื่อคดีได้ความว่าที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านประเมินราคาไว้ 337,200 บาท ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 9 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีธนาคารทั้งสองบัญชีของ ย. ภริยาจำเลยที่ 9 อันเป็นสินสมรสที่เป็นของจำเลยที่ 9 เพื่อการชำระหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะเคยขอให้ออกหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากดังกล่าวมาก่อน แต่เมื่อมีการถอนอายัดครั้งก่อนแล้ว การอายัดครั้งหลังย่อมไม่เป็นอายัดซ้ำ ปัญหาว่าจะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินใดได้หรือไม่นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์สินนั้นอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น อย่างไรก็ดี เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 9 การชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดมานั้นจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 กล่าวคือ ต้องบังคับชำระหนี้ด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระหนี้ด้วยเงินฝากอันเป็นสินสมรสส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 9 ต่อไป



        จากการนำเสนอบทความเรื่องสินสมรส น่าจะทำให้สามีภริยาที่เป็นคู่สมรสเข้าใจเงื่อนไขของทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสได้พอสมควร แต่ก็มีกรณีที่ชายหญิงที่จะทำการสมรสกัน ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ในรูปแบบสัญญาก่อนสมรส โดยจดแจ้งข้อตกลงอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส โดยสัญญาดังกล่าวมีลายมือชื่อชายหญิงที่ทำสัญญาก่อนสมรสและมีพยานอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อไว้แนบไว้ท้ายทะเบียนสมรสและได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญาก่อนสมรส (ม.1466) ข้อความในสัญญาก่อนสมรสต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้กฎหมายประเทศอื่นบังคับ ข้อความนั้นจะเป็นโมฆะ(เฉพาะข้อความที่ขัดฯ ข้อความอื่นยังไม่เป็นโมฆะ) เมื่อมีสัญญาก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินจึงต้องเป็นไปตามสัญญาก่อนสมรส   การเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรส ทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล 

        ถ้าไม่มีสัญญาก่อนสมรส  สามีภริยาจะทำสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยากันก็ได้ เป็นการกำหนดเงื่อนไขในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินให้แตกต่างไปจากหลักกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเมื่อทำสัญญากันแล้ว อาจบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ซึ่งจะไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต (ม.1469)

        คำพิพากษาศาลฏีกา15028/2557โจทก์ยกบ้านพิพาทให้จำเลยในระหว่างสมรส เป็นนิติกรรมสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 บัญญัติให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าโจทก์บอกล้างการให้เมื่อใด แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าและขอให้เพิกถอนการให้บ้านพิพาท ให้จำเลยคืนบ้านพิพาทแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ สัญญาจึงไม่มีผลบังคับอีกต่อไป โจทก์มีสิทธิเรียกคืนบ้านพิพาทจากจำเลยได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าข้อเท็จจริงจะฟังได้หรือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์


**************************
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ความผิดปลอมเอกสาร (กฎหมายอาญา)

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 

ความผิดปลอมเอกสาร

        ความผิดปลอมเอกสาร 

        เป็นความผิดอาญาแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264  บัญญัติถึงลักษณะการปลอมเอกสาร ไว้ดังนี้ 

        1.ทำเอกสารปลอมทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

        2.เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดในเอกสารที่แท้จริง

        3.ประทับตราปลอม

        4.ลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

        โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง 

        5.กรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่น ถ้าได้ทำเพื่อนำเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน 

        ผู้กระทำความผิดปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

       จากลักษณะการกระทำตามตัวทบกฎหมายดังกล่าว ถ้าผู้กระทำมีเจตนากระทำ(รู้สำนึกในการกระทำ โดยมุ่งประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการกระทำ) ต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไปเพื่อให้ผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ก็เข้าองค์ประกอบความผิดปลอมเอกสาร โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอกสารปลอมหรือจากที่ผู้อื่นปลอมลายมือชื่อตนเป็นผู้เสียหายในความผิดนี้  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา12137/2558 ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเพียงการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น เมื่อจำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา 14505/2557การปลอมลายมือชื่อของผู้อื่นลงในเอกสารเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ส่วนการกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้นั้นเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งองค์ประกอบของการกระทำในมาตรา 264 วรรคแรก และวรรคสองแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ เป็นการปลอมลายมือชื่อหรือเป็นการปลอมข้อความ

        คำพิพากษาศาลฎีกา14396/2555การที่จำเลยปลอมลายมือชื่อ จ. ในหนังสือขอเปลี่ยนสมุดบัญชีเงินฝาก และนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปอ้างแสดงต่อ ค. จนในที่สุดสหกรณ์ออมทรัพย์ ล. จำกัด ได้อนุมัติตามหนังสือดังกล่าว เพราะ ค. หลงเชื่อว่าจำเลยนำเอกสารที่แท้จริงซึ่ง จ. ลงลายมื่อชื่อมายื่นเพื่อขออนุมัติ การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่ ค. และสหกรณ์ออมทรัพย์ ล. จำกัด รวมทั้ง จ. เจ้าของบัญชีเงินฝากร่วมกับจำเลยด้วย กระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม 

        คำพิพากษาศาลฎีกา6355/2560  จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้ดำเนินการจดทะเบียนขายฝากที่ดินของโจทก์ร่วมให้ ก. จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองอันเป็นการกระทำละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา10527/2559จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัด  หรือเป็นกรรมการวัด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในวัด ที่จะมีอำนาจจัดทอดผ้าป่าโดยลำพัง การที่จำเลยจัดพิมพ์ซองผ้าป่าซึ่งข้อความบนซองผ้าป่าของกลางเป็นการเชิญชวนให้ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี  ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะจัดทอดผ้าป่าในนามวัด  โดยพลการเพราะไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดและไม่ได้ผ่านการประชุมระหว่างไวยาวัจกร กรรมการวัด เจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนรวมทั้งชาวบ้าน ทั้งซองผ้าป่าของกลางที่จัดพิมพ์แจกจ่ายให้ผู้อื่นไม่มีรอยตราของวัดประทับด้านหลังซอง การจัดพิมพ์ซองผ้าป่าดังกล่าวจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยจำเลยไม่มีอำนาจ ลักษณะข้อความตามซองผ้าป่าของกลางระบุชัดเจนว่าเป็นการทอดผ้าป่า ณ วัด  ทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าเป็นซองผ้าป่าที่แท้จริงที่จัดทำขึ้นโดยวัด  ทั้งที่ความจริงแล้วทางวัด มิได้รับรู้ด้วย หากมีการนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปใช้โดยไม่สุจริตนำออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วไม่นำเงินมาทำบุญที่วัด ตามที่ระบุในซองผ้าป่า ย่อมเกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียชื่อเสียง หรือขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อวัด งและพระครู ป. เจ้าอาวาสวัด  แม้ผลของการกระทำจะยังไม่ปรากฏความเสียหายแต่พิจารณาพฤติการณ์ประกอบการกระทำของจำเลยที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยก็น่าจะเกิดความเสียหายได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก แล้ว

        คำพิพากษาศาลฎีกา3637/2559การที่จำเลยเอาไปเสียซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และนำไปใช้แสดงต่อ ภ. พนักงานธนาคารออมสิน ผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยทำเอกสารคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายที่ 2 โดยกรอกข้อมูลในแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ว่า จำเลยชื่อ ส. เป็นผู้ขอเปิดบัญชีและแสดงข้อมูลลูกค้าของผู้เสียหายที่ 1 กับปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในช่องลงชื่อผู้ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แล้วนำแบบคำขอเปิดบัญชี แบบคำขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แบบแสดงข้อมูลลูกค้าและเอกสารเงื่อนไขการใช้บริการบัญชีเงินฝากและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อ ภ. เพื่อขอเปิดบัญชีและใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากและทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องการกระทำความผิดของจำเลยแยกออกเป็นข้อ ๆ และการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ในแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

        คำพิพากษาศาลฎีกา10974/2557ฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่มีการกรอกข้อความขึ้นทั้งฉบับ โดย ท. ไม่ได้ยินยอมด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้นทั้งฉบับด้วยวิธีการใดหรือปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยหลอกลวงให้ ท. ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งเมื่ออ่านฟ้องโจทก์ทั้งสองดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของ ท. ขึ้นทั้งฉบับ ไม่มีทางที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจฟ้องเป็นสองนัยอันจะพึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลงข้อต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์ทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจจึงไม่ขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการกระทำความผิด จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
advertisement


        ความผิดทางอาญา เมื่อมีกระทำผิดแล้ว ใช่ว่าจะนำมาฟ้องได้หลายหน ความสำคัญในการนำตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ สำคัญต้ังแต่การบรรยายฟ้องและการนำสืบให้ศาลเห็นถึงการกระทำ แม้จะเป็นการกระทำความผิดปลอมเอกสารตามมาตรา 264 แต่การบรรยายฟ้องและการนำสืบให้ศาลเห็นการกระทำต้องได้ความเหมือน มิฉะนั้น จะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาของศาล  แตกต่างจากที่กล่าวในคำฟ้อง เป็นเรื่องที่มิได้กล่าวไว้ในฟ้อง ศาลไม่อาจพิพากษา หรือสั่งเกินคำขอ หรือมิได้กล่าวในฟ้อง เช่น           
        คำพิพากษาศาลฎีกา10786/2557 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับและลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในช่องผู้มอบอำนาจ แล้วนำไปใช้หรืออ้างต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 83, 264 วรรคแรก, 268 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ มิได้ร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับและลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในช่องผู้มอบอำนาจดังฟ้อง ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 ไม่ได้ เพราะนอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

        คำพิพากษาศาลฎีกา14496/2558โจทก์กล่าวหาจำเลยที่ 1 ว่าปลอมรายงานการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 3/2527 ของบริษัท ง. รายงานการประชุมระบุว่า ป. กับพวก ซื้อที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 169 มาจากบุคคลภายนอกในนามกิจการ โดยให้ ช. ถือกรรมสิทธิ์แทน ซึ่งเป็นความเท็จ ทั้งไม่มีการประชุมจริง แต่ในคำฟ้องมิได้บรรยายว่าเป็นการปลอมเอกสารสิทธิโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสาร รายงานการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 3/2527 ตามเอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องซึ่งเป็นรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าใครร่วมประชุมและประชุมเรื่องใดบ้าง ใครเป็นผู้ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุม แต่ก็มิใช่องค์ประกอบความผิด และการนำไปเป็นหลักฐานเสนอต่อศาลชั้นต้นเพื่อประกอบ การฟ้องคดีแพ่ง ก็อาจมิได้มีมูลเหตุจูงใจที่จะให้ศาลหลงเชื่อว่ารายงานการประชุมเป็นเอกสารที่แท้จริงได้ เมื่อฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 161 ส่วนความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นความเท็จนั้น จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมวิสามัญฉบับดังกล่าว เป็นเพียงการให้คำรับรองว่าสำเนาเอกสารนี้มีข้อความถูกต้องตรงกับต้นฉบับหาได้มีความหมายเป็นการรับรองว่า บริษัท ง. ได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญตามเนื้อความที่ระบุในสำเนารายงานการประชุมวิสามัญฉบับดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ แม้จะได้ความตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่าบริษัท ง. ไม่ได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญ และรายงานการประชุมวิสามัญเป็นเอกสารเท็จ จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ

        คำพิพากษาศาลฎีกา8405/2557โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้รายงานประเมินราคาที่จำเลยปลอมขึ้นยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร ก. แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยนำรายงานประเมินราคาปลอมไปใช้อ้างแสดงต่อ ธ. โดยจำเลยไม่ได้นำไปใช้ยื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร ก. ตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

        คำพิพากษาศาลฎีกา8157/2559การใช้เอกสารปลอมเป็นการกระทำอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ฐานหนึ่ง แม้มาตรา 268 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 ... ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ก็ตาม แต่มิใช่จะถือว่าเป็นความผิดฐานเดียวกันกับความผิดนั้น ๆ เมื่อโจทก์บรรยายการกระทำความผิดในฐานนี้มาในคำฟ้อง แต่คำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. เฉพาะมาตรา 264 มิได้ระบุมาตรา 268 ด้วย จะถือว่าความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง อันจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามที่พิจารณาได้ความหาได้ไม่ คำฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6)
advertisement


        ถ้าไม่มีเจตนาทำเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด เช่น

       คำพิพากษาศาลฎีกา14294/2555 จำเลยเขียนชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้จะซื้อของสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำโดยเป็นการเขียนให้เป็นลายมือของจำเลยเอง และยังใช้คำว่านายนำหน้าชื่อผู้เสียหายและเขียนชื่อผู้เสียหายผิดจาก "ประพฤทธิ์" เป็น "ประพฤติ" แสดงว่าจำเลยมิได้เจตนาจะเลียนให้เหมือนหรือคล้ายคลึงลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงไม่ใช่การลงลายมือชื่อปลอม เมื่อจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายทั้ง 2 ฉบับ ในฐานะเป็นตัวแทนของผู้เสียหายและ ฉ. ไม่ได้ทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งผู้เสียหายทำด้วยตนเอง อันจะเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ ส่วนจำเลยจะเป็นตัวแทนมีอำนาจทำสัญญาแทนผู้เสียหายจริงหรือไม่ ก็เป็นปัญหาเพียงเรื่องการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งหรือจะผูกพันผู้เสียหายที่เป็นตัวการหรือไม่เพียงใดเท่านั้น แต่ไม่ทำให้สัญญาดังกล่าวกลายเป็นเอกสารปลอมไปได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้

        เมื่อมีเจตนาปลอมเอกสาร ถ้าเอกสารที่ปลอมเป็นเอกสารสิทธิ(เอกสารแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ) หรือเอกสารราชการ(เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่) ก็จะทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหนักขึ้น ซึ่งเอกสารสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน ใบถอนเงินจากธนาคาร สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเช่าซื้อ สัญญาจำนอง สัญญาซื้อขาย ฯ เป็นต้น เอกสารราชการ เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือเดินทาง สูตบัตร  บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น เช่น 
    
        คำพิพากษาศาลฎีกา1040/2562การที่จำเลยปลอมคำร้องขอออกหนังสือเดินทาง เลขที่ Y 684619 เพื่อขอออกหนังสือเดินทางหลังจากนั้นได้นำคำร้องดังกล่าวไปใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกหนังสือเดินทางของจำเลยต่อเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้ดำเนินการออกหนังสือเดินทางดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยจำเลยใช้สำเนาสูติบัตรและสำเนาหนังสือเดินทางของ ร. ที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ เพื่อประกอบคำร้องขอออกหนังสือเดินทางพร้อมทั้งลงลายมือชื่อปลอมของ ร. ในคำร้องดังกล่าว เป็นการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานกงสกุลใหญ่หลงเชื่อ นำข้อมูลดังกล่าวตามคำร้องขอออกหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเข้าฐานข้อมูลการจัดทำหนังสือเดินทางของสถานกงสุลใหญ่ และสแกนลายมือชื่อปลอมที่จำเลยลงไว้ในคำร้องขอออกหนังสือเดินทางในช่องผู้ถือหนังสือเดินทาง เพื่อประมวลผลออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือเดินทางเลขที่ Y 684619 ถือเป็นการปลอมเอกสารราชการโดยใช้เจ้าพนักงานเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นขั้นตอนสุดท้ายของผู้ขอออกหนังสือเดินทาง อันถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยเคยยื่นคำร้องขอออกหนังสือเดินทางในชื่อของจำเลย กรมการกงสุลจึงไม่ออกหนังสือเดินทางตามคำร้องขอออกหนังสือเดินทางปลอม เลขที่ Y 684619 ให้จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามปลอมเอกสารราชการ

        คำพิพากษาศาลฎีกา15315/2557ผู้ปลอมสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จะขายแล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้
       
        ไม่มีได้ปลอมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน แต่ปลอมลายมือชื่อที่ลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชัน เป็นการกระผิดปลอมเอกสาร  ที่ไม่ใช่ผิดปลอมเอกสารราชการ  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา12137/2558ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่ว่าจะเป็นการทำปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมนั้น ต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการ แต่ได้ความว่ามีเพียงการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรกเท่านั้น เมื่อจำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก

advertisement



       การปลอมเอกสาร แม้จะทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อเป็นเอกสารที่แท้จจริง แต่ถ้าไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ไม่ผิดปลอมเอกสาร เช่น 

       คำพิพากษาศาลฎีกา11320/2556การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ไว้ขณะที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อปลอมชื่อโจทก์ทั้งสองในการรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรข้าราชการของโจทก์ทั้งสองแล้วนำเอกสารดังกล่าวพร้อมกับหนังสือให้ความยินยอมของโจทก์ที่ 2 ในการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายจากชื่อของโจทก์ที่ 1 มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นั้นก็เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ที่ตกลงกันในสัญญาซื้อขายไว้แต่เดิม เป็นกระทำภายในขอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 มอบให้ไว้แต่เดิม และเอกสารที่รับรองก็เป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม

        คำพิพากษาศาลฎีกา1572/2557การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้ ล.จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ในเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 4 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่ ส. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ล. ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็ระบุว่าได้รับเงินจาก ล. จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง

        การแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน เป็นการกระทำผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากความผิดปลอมเอกสาร เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา7386/2561นการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเนื่องจากฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นไปโดยผิดหลงเนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ คำพิพากษาศาลฎีกา6355/2560 จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้ดำเนินการจดทะเบียนขายฝากที่ดินของโจทก์ร่วมให้ ก. จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองอันเป็นการกระทำละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกา961/1559 แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่ ภ. และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ. เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ. หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย ภ. จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ. เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ ภ. มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ. จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน

        คำพิพากษาศาลฎีกา12019/2555การกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 ผู้กระทำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน  

advertisement


        เมื่อมีการกระทำปลอมเอกสาร เอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการแล้ว นำเอกสารที่ทำปลอมขึ้นไปใช้หรืออ้าง ก็มีความผิดเช่นเดียวกัน

        คำพิพากษาศาลฎีกา833/2561ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม เป็นความผิดสำเร็จเมื่อยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ รับเรื่อง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นเอกสารราชการปลอมตามฟ้องต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ตรวจเอกสารเพื่อยื่นซองประกวดราคาจึงเป็นความผิดสำเร็จแล้ว

        คำพิพากษาศาลฎีกา15315/2557ผู้ปลอมสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จะขายแล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้
        ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยเอกสารหลายประเภท ดังที่บัญญัติว่า "ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ" เมื่อเอกสารที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ใช้เป็นเอกสารสิทธิอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 จึงต้องปรับบทและนำโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 265 มาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 265 นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

        คำพิพากษาศาลฎีกา11994/2557การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมสัญญากู้และสัญญาซื้อขาย แล้วจำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ก็ด้วยเจตนาที่จะบังคับให้โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อได้ว่าการกรอกข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวทำในคราวเดียวกัน แม้จะเขียนวันที่คนละวันก็ตาม ส่วนการใช้เอกสารทั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1 ก็ใช้ในคราวเดียวกัน และการปลอมเอกสารสิทธิทั้งสองฉบับดังกล่าวก็เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบกันด้วยเจตนาเดียวคือบังคับตามสัญญาซื้อขาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียว การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 ฉบับ เป็นความผิด 2 กระทง และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปลอมเอกสารสิทธิ 2 กระทง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

        คำพิพากษาศาลฎีกา14793/2555 จำเลยปลอมเอกสาร เอกสารราชการ และเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ โดยลงลายมือชื่อปลอมของโจทก์ร่วมและทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ แล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขายฝาก ไถ่ถอนการขายฝาก และขายที่ดินของโจทก์ร่วม 2 แปลง ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย แม้ฟ้องโจทก์จะไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับที่ตั้งที่ดินของโจทก์ร่วมและไม่ได้แนบสำเนาโฉนดที่ดินก็ตาม แต่โจทก์ร่วมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร เอกสารราชการ และเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30

         คำพิพากษาศาลฎีกา14528/2555 จำเลยนำใบถอนเงินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมรวม 17 ฉบับ ไปแสดงขอถอนเงินต่อพนักงานธนาคาร ก. สาขาอุทัยธานี ในใบถอนเงินดังกล่าวระบุวันที่จำเลยนำไปใช้ถอนเงินเป็นวันที่ 14 และ 18 มกราคม 2545 วันที่ 23 เมษายน 2545 วันที่ 9, 16 และ 23 พฤษภาคม 2545 โดยนำใบถอนเงินฉบับลงวันที่ เดือน ปีเดียวกันหลายฉบับไปยื่นต่อธนาคารพร้อมกัน แยกเป็น 6 วัน จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมรวม 6 กรรม

        ผู้ที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดปลอมเอกสาร และผู้ถูกใช้ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา10821/2555ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หมายความว่า เมื่อมีผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดและผู้ถูกใช้ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดนั้นตาม ป.อ. มาตรา 83 ดังนั้น หากจำเลยเป็นผู้ที่ร่วมกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ และเป็นผู้ใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง บัญญัติให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่เพียงกระทงเดียว เมื่อจำเลยเป็นผู้ใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารสิทธิ จึงต้องลงโทษจำเลยเสมือนเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดคือ ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่เพียงกระทงเดียวเช่นกัน

advertisement



        ความผิดปลอมเอกสรและใช้เอกสารปลอม มิใช่ความผิดอันยอมความกันได้ เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่20145/2555 ระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกาก่อนจำเลยยื่นฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์แปลความได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในส่วนความผิดฐานยักยอก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมมิใช่ความผิดอันยอมความกันได้ จึงไม่ระงับ โดยศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดต่อส่วนตัวฐานยักยอกและฐานฉ้อโกงที่โจทก์ขอถอนฟ้อง จึงยังไม่ถูกต้อง เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่ง จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341 และมาตรา 352 วรรคแรก จากสารบบความ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองเกี่ยวกับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นอันระงับไปในตัว รวมทั้งที่ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ 

        คำพิพากษาศาลฎีกา7386/2561ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเนื่องจากฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นไปโดยผิดหลงเนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ

        คำพิพากษาศาลฎีกา6505/2560 ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย
        แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2

        คำพิพากษาศาลฎีกา4225/2559การที่จำเลยนำ ส.ป.ก. 4 - 01 ไปถ่ายสำเนาแล้วลบชื่อบิดาจำเลยผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เดิมและเปลี่ยนเป็นชื่อจำเลย แล้วจำเลยนำไปขายให้แก่ น. และ จ. ทั้งที่จำเลยรับกับโจทก์แล้วว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพัน ในที่ดินพิพาท เห็นว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังเป็นของรัฐเพียงแต่รัฐนำที่ดินมาจัดสรรให้ประชาชนครอบครองทำกินเท่านั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่ก่อให้ น. และ จ. มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท แม้จำเลยรับรองต่อโจทก์ว่าจะไม่จำหน่าย จำนำ หรือก่อภาระผูกพันในที่ดินพิพาท โจทก์ก็มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอม

advertisement



        คำพิพากษาศาลฎีกา2322/2558 การลงลายมือชื่อปลอมของ ด. กับ ส. ผู้ซึ่งไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเพียงรายละเอียดของการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม ป.อ. มาตรา 157 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษ นอกเหนือจากการเป็นสาระสำคัญของการกระทำอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 ที่โจทก์ขอให้ลงอีกข้อหาหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีมีข้อควรสงสัยว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดฐานทำและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสี่ แต่การที่จำเลยทั้งสี่ทราบเรื่องที่มีการแก้ไขเพิ่มชื่อ ด. กับ ส. ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กลับนิ่งเฉยปล่อยให้มีการแก้ไขโดยไม่ทักท้วงหรือให้คำแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงคงเป็นข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในรายละเอียดมิใช่ในข้อสาระสำคัญสำหรับข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ทั้งมิใช่กรณีที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ เมื่อจำเลยทั้งสี่มิได้หลงต่อสู้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

        คำพิพากษาศาลฎีกา864/2557โจทก์รู้อยู่แล้วในขณะกู้ยืมเงินหรืออย่างช้าในขณะที่จำเลยที่ 1 ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเงินส่วนหนึ่งที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์กู้ยืมไปตามหนังสือสัญญากู้ ทั้งในการฟ้องคดีจำเลยที่ 1 ก็ตรงไปตรงมาโดยฟ้องเอาผิดโจทก์เฉพาะเช็คตามจำนวนเงินที่โจทก์ยังค้างชำระหนี้เงินกู้อยู่เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่ายังไม่ได้ชำระเงินตามเช็ค การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความว่าตนเองเป็นผู้ให้กู้ในหนังสือสัญญากู้จึงเป็นการกรอกข้อความไปตามความจริงและโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิกรอกข้อความในฐานะเป็นผู้ออกเงินส่วนหนึ่งให้โจทก์กู้ด้วย และกระทำไปเพียงเพื่อใช้เป็นหลักฐานรองรับหนี้เงินตามเช็คให้เห็นว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารสิทธิ และการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม
      
        คำพิพากษาศาลฎีกา12019/2555การกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 ผู้กระทำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่า สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทซึ่งอยู่กับโจทก์ได้สูญหายไป ทำให้พนักงานสอบสวนรับแจ้งความและออกหลักฐานการแจ้งความให้แก่จำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งเพื่อให้ออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทเล่มใหม่ให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น เห็นได้ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานของสำนักงานขนส่งจดข้อความอันเป็นเท็จใดลงในเอกสารราชการใดซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างไร ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องคงมีเพียงว่าจำเลยทั้งสองนำหลักฐานการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทหายไป เอามาแสดงเพื่อขอให้เจ้าพนักงานของสำนักงานขนส่งออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ให้แทนเล่มที่หายไป เช่นนี้ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ที่นายทะเบียนออกให้นั้น ก็ย่อมต้องมีข้อความตามความเป็นจริงเหมือนกับเล่มเดิมที่มีการอ้างว่าหาย ไม่มีข้อความเท็จใด ๆ อยู่ในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่เลย การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 และมาตรา 268 แต่เนื้อหาของข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องพอที่จะรับฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองแจ้งข้อความเท็จต่อพนักงานสอบสวนตาม ป.อ. มาตรา 137 ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า เมื่อแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยทั้งสองนำหลักฐานการแจ้งความไปขอออกสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เล่มใหม่ แล้วจำเลยที่ 1 ใช้สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการโอนขายรถยนต์พิพาทให้แก่บุคคลภายนอก เช่นนี้ โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2555)


 
**************************
ขอขอบคุณ 
           คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search