วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565

การสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี




             บทความนี้ จะเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินการความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัย ว่าจะสามารถนำข้อเท็จจริงตามสำนวนไต่สวนของ ป.ป.ช.มาเป็นต้นเรื่อง(ข้อเท็จจริงเบี้องต้น) ในการดำเนินการสอบข้อเท็จจริงความรับทางละเมิดได้หรือไม่ เพราะในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของผู้เขียน ได้รับการโต้แย้งว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถนำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดอาญาและวินัยมาเป็นสำนวนการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดได้  
            จากปัญหาข้างต้นเหมือนจะเข้าใจกันคนละประเด็น หรือผู้เขียนเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ปกติแล้วในการที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อดำเนินการหาผู้รับผิดและจำนวนที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  เป็นไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 บัญญัติไว้ว่า "กรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 8 มาบังคับใช้โดยอนุโลม..." โดยมาตรา 8 บัญญัติว่า "ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง"  การที่จะทราบข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าใด จะต้องมีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 8 ระบุว่า "เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใด และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้ "
           จากข้อกฎหมายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดได้ก็ต่อเมือมีเหตุอันควรเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น กรณี ป.ป.ช.ส่งมติและสำนวนการไต่สวนที่มีการชี้มูลความผิดทางอาญาและทางวินัยมาให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการคดีอาญาและทางวินัย ถือว่ามีข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากสำนวนไต่สวนและชี้มูลของ ป.ป.ช.ที่ทำให้หัวหน้าหน่วยงานมีเหตุอันควรเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้น ข้อเท็จจริงตามสำนวนไต่สวนและชี้มูล ป.ป.ช.ดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นในสำนวนการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดแล้ว

 
            เรื่องนี้ มีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ 1625/2564 ได้พิจารณามีมติเกี่ยวกับกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาทั้งความผิดทางอาญาและทางวินัย มีผลผูกพันต่อการพิจารณาของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดหรือไม่ไว้ โดยเห็นว่า มิได้ใช้บังคับแต่การสอบสวนเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้านหน้าที่ ในสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  จากมติดังกล่าว จึงต้องตีความให้ได้ก่อนว่า ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่คือข้อเท็จจริงด้านไหน ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อเท็จริงที่ว่านั้นคือ  ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเชื่อของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้ " ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดทางละเมิดก็คือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้  ซึ่งในสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัย ไม่มีข้อเท็จจริงด้านนี้
              ประกอบกับมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)เรื่องเสร็จที่ 1625/2564  ที่มีความเห็นเกี่ยวกับในการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่จะถือว่าหัวหน้าหน่วยงานรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เมื่อใด และจะครบอายุความเมื่อใด ว่าการรู้นั้นอาจรู้ได้สองกรณี คือ (1) รู้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ หรือ(2)รู้จากรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด  ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 259/2553ว่าให้ถือตามกรณีที่รู้ก่อนเป็นหลักในการเริ่มนับอายุความ กรณีที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีหนังสือแจ้งมติชี้มูลว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิดทางวินัยและความผิดทางอาญา จึงต้องถือว่าหัวหน้าหน่วยงานนั้นได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่แต่่วันที่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้นได้รับแจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดทางอาญา ท้ังนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ในเรื่องเสร็จที่ 426/2546  เว้นแต่จะมีข้อเท็จจริงอื่นที่แสดงว่าหัวหน้าหน่วยงานได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผุ้กระทำละเมิดก่อนหน้านั้นแล้ว 
            จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลและแจ้งมติให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้รู้ว่าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานในเรื่องใด มีจำนวนความเสียหายเกิดขึ้นจำนวนเท่าใด เพียงแต่ยังไม่มีข้อเท็จจริงว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ในการกระทำละเมิดนั้นเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ และยังไม่มีข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่นั้นจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าใด  คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดจึงสามารถนำข้อเท็จจริงจากสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ดังกล่าวมาเป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นในการดำเนินการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดทางเจ้าหน้าที่ได้  ไม่ถือว่าเป็นกรณีนำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.มาเป็นสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแต่อย่างใด แต่ถือเป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สามารถนำมาในใช้สอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ในการกระทำละเมิดนั้นเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่  และเจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าใด   
              ความเห็นของผู้เขียนถูกต้องหรือไม่ สามารถชี้แนะได้ครับ