วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

หนี้ขาดอายุความ

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 


        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

        ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้  หนี้ จึงเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง ที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้   การที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นกฎหมายกำหนดไว้แล้วสำหรับหนี้ในแต่ละประเภท เช่น สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากร มีกำหนดอายุความสิบปี สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึันโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดหรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ มีกำหนดอายุความสิบปี สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระ เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ค่าเช่าทรัพย์ค้างชำระ เงินค้างจ่าย (เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู) มีกำหนดอายุความห้าปี เป็นต้น สำหรับหนี้หรือสิทธิเรียกร้องที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้  ให้มีกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิเรียกร้องสิบปี

      การใช้สิทธิเรียกร้อง  ทำได้โดยการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น  ถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

      อายุความย่อมมีเหตุที่จะสะดุดหยุดลงได้ ถ้ามีกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ภายในอายุความสิทธิเรียกร้องนั้น คือ ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้น  หรือเจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อต้ังหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ หรือเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา หรือเจ้าหนี้ได้กระทำการอย่่างอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี 

      เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น จะไม่นับเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่  

คำพิพากษาศาลฎีกา 1482/2547

        การรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ จำเลยชำระหนี้ภายหลังขาดอายุความแล้วจึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่มีผลเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกร้องเงินที่ชำระไปคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกา 15643/2558

        หนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/32 เมื่อปรากฏว่าก่อนครบระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ เจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไปรวมกับหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้และลูกหนี้ร่วมรายอื่นเป็นคดีล้มละลาย จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) มีผลทำให้อายุความตามสิทธิเรียกร้องสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าลูกหนี้เคยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้คดีดังกล่าวไว้เด็ดขาด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ วันที่ 30 สิงหาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีลูกหนี้ออกจากสารบบความ กรณีมิใช่คดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ที่จะให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 ดังนั้น การที่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 หนี้ของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาหลังหักราคาขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้

      สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ  ไม่ใช่เหตุที่ทำให้หนี้ระงับ แต่เป็นเหตุให้ลูกหนี้ปฏิเสธไม่ชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ รวมถึงบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกันย่อมยกหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ได้  การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้ว ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด จะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ ซึ่งก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้นั้นเอง  

      หนี้ขาดอายุความ ไม่ต้องห้ามที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาล เนื่องจากปัญหาว่าหนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และหนี้ขาดอายุความ ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหนี้นั้นระงับไป  จึงเป็นหน้าที่ของลูกหนี้หรือจำเลย ที่จะยกข้อต่อสู้เรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพื่อให้ศาลพิจารณายกฟ้อง เนื่องจากในคดีแพ่ง ศาลไม่อาจหยิบยกประเด็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความขึ้นพิจารณาได้เอง  โดยต้องยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การตั้งแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น  ถ้าไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ การยกประเด็นเรื่องหนี้ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ จะติดปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า  เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์จะไม่พิจารณาประเด็นหนี้ขาดอายุความ ขึ้นพิจารณา

     เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีเรียกให้ชำระหนี้  ลูกหนี้หรือจำเลย จะต้องทำคำให้การแก้ฟ้องของโจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและคำฟ้อง ตามมาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยในคำให้การต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า ยอมรับข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ หรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ โดยยกเหตุแห่งการปฏิเสธขออ้างของโจทก์ให้ชัดเจน เพื่อโอกาสในการพิสูจน์ในชั้นสืบพยาน ถ้ามีเหตุหนี้ขาดอายุความ ต้องยกเหตุแห่งการขาดอายุความกล่าวไว้ให้ชัดเจนในคำให้การด้วย  ว่าสิทธิเรียกร้องเริ่มต้นเมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อใด 

คำพิพากษาศาลฎีกา 4857/2549


        สัญญาที่โจทก์รับซ่อมรถยนต์ของจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1)
        โจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์ที่ซ่อมเสร็จให้แก่ผู้ที่นำรถยนต์มาซ่อมแล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิของตนในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระสินจ้างได้นับตั้งแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์แต่ละคันให้แก่ผู้ที่นำมาซ่อม การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน จึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15
        โจทก์นำหนี้จำนวน 41 รายการ รวมเป็นเงิน 402,197 บาท ซึ่งโจทก์สามารถบังคับตามสิทธิของตนได้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 มาฟ้องในวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ซึ่งเกินกว่า 2 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนหนี้ค่าซ่อมรถอีก 11 รายการ จำนวน 47,500 บาท ปรากฏว่าในวันที่ 8 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้บางส่วน หนี้ค่าซ่อมรถทั้ง 11 รายการ ยังไม่ขาดอายุความ อายุความสำหรับหนี้ดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับใหม่ และเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์ในส่วน 11 รายการนี้ จึงยังไม่ขาดอายุความ
        การรับสภาพหนี้อันจะเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจะต้องกระทำก่อนที่หนี้ขาดอายุความ เมื่อหนี้ค่าซ่อมรถจำนวน 402,197 บาท ขาดอายุความไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 การชำระหนี้บางส่วนของจำเลยในวันดังกล่าวจึงไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกา 5193-5208/2561

        โจทก์ทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาท คนเดิมค้างชำระตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังคงเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกา 7354/2546

        การให้บริการบัตรเครดิตของธนาคารโจทก์ โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมด้วย โจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของจำเลยแทนจำเลยไปก่อน แล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ2 ปี โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาใช้บัตรเครดิตเมื่อเดือนตุลาคม 2540 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์เป็นเงิน 500 บาท ภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็เพียงแต่ทำให้จำเลยเรียกเงินดังกล่าวคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยสละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24

คำพิพากษาศาลฎีกา 6959/2551


        จำเลยให้การตอนแรกว่าชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่กลับให้การตอนหลังว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ไม่เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง เนื่องจากการที่ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิดโดยเถียงว่าหนี้ขาดอายุความนั้นหาได้มีข้อจำกัดว่าลูกหนี้จะยกขึ้นต่อสู้ได้เฉพาะในกรณีที่ยังมิได้มีการชำระหนี้เท่านั้นไม่ การที่จำเลยให้การตัดฟ้องโจทก์ในตอนหลังว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ จึงไม่อาจแปลความหมายได้ว่า จำเลยยังมิได้ชำระหนี้ คำให้การของจำเลยจึงมิได้ขัดแย้งกันเอง

จำเลยให้การโดยระบุเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะมีการซื้อขายสินค้ากันเมื่อปี 2537 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อปี 2548 นั้น เป็นการต่อสู้เรื่องอายุความในกรณีผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกเอาค่าสินค้าตามที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ทั้งนี้โดยจำเลยไม่จำต้องอ้างมาตราในกฎหมายมาในคำให้การ เพราะเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมายเอง คำให้การของจำเลยจึงชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกา 15638/2558

        ผู้ร้องนำสืบเพียงการรับโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องและการเป็นหนี้ค้างชำระของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 5 และ ส. ลูกหนี้ที่ตายหลังจากผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาเท่านั้น มิได้นำสืบถึงมูลหนี้เดิมเพื่อให้รับฟังได้ว่าฝ่ายลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้เดิมในหนี้ประเภทใด และผิดนัดผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้เดิมเมื่อใดหรือชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อใด ซึ่งแม้หากนับอายุความตั้งแต่ขณะนั้นตามแต่กรณีจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ แต่ฝ่ายลูกหนี้ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่า มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและจำนอง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฝ่ายลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้เดิมตั้งแต่ปี 2537 และโต้แย้งด้วยว่า การที่ฝ่ายลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งก็คือทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เมื่อปี 2548 และปี 2549 เป็นการรับสภาพความรับผิดหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว อายุความมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตาม มาตรา 193/35 หนี้ตามคำร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้ว ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้านดังกล่าว คดีของผู้ร้องย่อมขาดอายุความตามที่ฝ่ายลูกหนี้คัดค้าน เมื่อผู้ร้องมิได้นำสืบว่า เจ้าหนี้เดิมและผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากฝ่ายลูกหนี้ตั้งแต่เมื่อใดหรือมีเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าคดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความจึงต้องฟังว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เด็ดขาด กับพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้ที่ตายตาม พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และมาตรา 82

คำพิพากษาศาลฎีกา 15158/2558

        เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมและจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง แต่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ดังกล่าวปรากฏว่า เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) และเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดเมื่อใด แม้เจ้าหนี้จะอ้างว่าในตอนที่รับโอนหนี้มาจากเจ้าหนี้เดิมจะไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระและเงินต้นน้อยกว่าสัญญาก็ตาม แต่พยานหลักฐานของเจ้าหนี้มีเพียงเอกสารการคำนวณภาระหนี้ของเจ้าหนี้ที่เจ้าหนี้จัดทำขึ้นเอง โดยไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้เดิมเมื่อใด อย่างไร การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดแรก (วันที่ 2 มีนาคม 2539) จึงชอบแล้ว เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2551 สิทธิเรียกร้องในหนี้กู้ยืมเงินจึงขาดอายุความแล้ว และการขาดอายุความในส่วนของหนี้กู้ยืมเงินถือว่าหนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความทั้งหมด มิใช่เพียงส่วนที่เกิน 5 ปี แต่ในส่วนหนี้จำนองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองบังคับจำนองได้แม้หนี้ที่ประกันขาดอายุความ แต่จะบังคับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้หนี้ประธานตามสัญญากู้ยืมเงินจะขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้ ซึ่งตามคำสั่งของศาลแพ่งในคดีที่เจ้าหนี้ไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ในต้นเงิน 427,449.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.3 ต่อปี แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงไม่เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์ดังกล่าวเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกา 2456/2551

        โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทบัตรเครดิตยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตร การที่จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่น โจทก์จำเป็นต้องชำระเงินแทนจำเลยไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยในภายหลัง จึงเป็นกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก โดยโจทก์เรียกค่าธรรมเนียมจากสมาชิก เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) มิใช่กรณีของลักษณะสัญญาพิเศษอันไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความจึงมีอายุความ 2 ปี

        จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2535 โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตภายในวันที่ 2 มกราคม 2536 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนด ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2536 เป็นต้นไป ครบกำหนดอายุความในวันที่ 3 มกราคม 2536 การที่โจทก์นำเงินจำนวน 4,326.42 บาท ของจำเลยมาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เป็นการนำเงินฝากจากบัญชีอื่นตามที่โจทก์และจำเลยได้เคยตกลงกันไว้มาหักชำระหนี้โดยที่จำเลยไม่ได้รู้เห็นด้วยจึงเป็นการกระทำของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลย อีกทั้งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 พ้นกำหนดเวลา 2 ปี จึงขาดอายุความ

       ในคดีล้มละลาย แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น  กรณีเจ้าหนี้นำมูลหนี้ที่ขาดอายุความแล้วมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย  แต่ปัญหาว่าหนี้ใดเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153      

คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 875/2536

        ปัญหาที่ว่ามูลหนี้ซึ่งเจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ขาดอายุความจึงนำมาขอรับชำระหนี้ไม่ได้นั้น แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาว่าหนี้ใดเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าส่งมอบคลังสินค้าที่เช่าให้เจ้าหนี้ผู้เช่ามีพื้นที่น้อยไปกว่าที่จำเลยที่ 1 มีคำเสนอให้เช่าและตามสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับค่าเช่าจากเจ้าหนี้ได้ตามส่วนพื้นที่ที่ให้เช่าตามความเป็นจริงเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 ประกอบมาตรา 466ส่วนค่าเช่าที่รับไว้เกินโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้รู้ในขณะชำระว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระในส่วนที่เกิน จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบเจ้าหนี้มีสิทธินำคดีไปฟ้องเรียกคืนในฐานเป็นลาภมิควรได้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่เจ้าหนี้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนค่าเช่าดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2528 ก็แสดงว่าเจ้าหนี้ได้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนนับแต่วันนั้นแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 28 กันยายน 2530 จึงเป็นการล่วงเลยระยะเวลา 1 ปี คดีขาดอายุความต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 419 แล้วเจ้าหนี้ไม่อาจนำมูลหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)

         กรณีที่ลูกหนี้ไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่ยอมรับชำระหนี้ที่ขาดอายุความนั้น ถือว่าได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียแล้ว ต้องชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงยอมรับกัน ไม่ว่าจะโดยคำพิพากษาตามยอม หรือทำสัญญายอมรับชำระหนี้ขึ้นใหม่ ให้ประกัน หรือได้มีการชำระหนี้ไปแล้ว ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอม มีอายุความ 10ปี  สิทธิเรียกร้องตามสัญญายอมรับชำระหนี้ที่ทำขึ้นใหม่ หรือการให้ประกัน มีอายุความ 2 ปี
    
        การสละประโยชน์แห่งอายุความของลูกหนี้ ไม่มีผลให้บุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกันต้องรับผิดตามที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ภายหลังที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  (บุคคุลภายนอกหรือผู้ค้ำประกันหลุดพ้น เมื่อหนี้ขาดอายุความ)    

คำพากษาศาลฎีกา 7155/2547


        สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิดตามมาตรา 193/35 ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกา 4313/2565

        ดังนี้ มูลหนี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บริษัท ผ. หลังจากที่จําเลยพ้นจากการฟื้นฟูกิจการแล้วก็ตาม แต่เป็นเรื่องของเวลาการชําระหนี้ด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามข้อตกลงในสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่มูลหนี้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เมื่อมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เมื่อการฟื้นฟูกิจการของจําเลยเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลย จําเลยจึงหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/75 แต่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่มีบทบัญญัติระบุว่า การหลุดพ้นจากหนี้ทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ทั้งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. หนี้จะระงับสิ้นไปเมื่อได้มีการชําระหนี้ครบถ้วน ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้ใหม่ และหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่จําเลยหลุดพ้นจากการชําระหนี้คงมีผลเพียงว่า เจ้าหนี้หมดสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ และจําเลยไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เท่านั้น แม้จะฟังว่าหนี้ขาดอายุความ แต่การที่หนี้ขาดอายุความก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติระบุว่าให้หนี้ระงับสิ้นไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น มูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลย ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือรับสภาพหนี้กับสัญญาจำนำหุ้นดังกล่าว จึงยังคงมีอยู่ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจําเลยแล้ว ผู้บริหารของจําเลยย่อมมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจําเลยได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 (1) การที่จําเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ในหนี้ที่โจทก์ได้ชําระหนี้ให้แก่บริษัท ผ. แทนจําเลยตามสัญญาโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้ทำสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ จึงเป็นนิติกรรมที่จําเลยทำขึ้นด้วยความสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย จําเลยจึงต้องชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาจำนำหุ้นตามฟ้องให้แก่โจทก์ จําเลยจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว สัญญาจำนำจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ประธาน ความรับผิดตามสัญญาจำนำหุ้นย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธาน ดังนี้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนำหุ้นจึงต้องบังคับตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกา 9121/2538

        กรณีที่จะต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35ต้องเป็นกรณีลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาหนี้ขาดอายุความภายหลังจากนั้นลูกหนี้จึงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยไม่เคยเป็นหนี้โจทก์มาก่อน การที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ขอชำระหนี้แทนบริษัท บ. ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 193/35 แต่กรณีเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากบริษัท บ.จำกัด มาเป็นจำเลย

        การฟ้องคดีตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/30

คำพิพากษาศาลฎีกา 5314/2544

        มูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีอายุความ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 การที่เจ้าหนี้ได้นำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายก่อนที่ตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับจะครบกำหนดอายุความ เป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้อง ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อให้จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายแต่อย่างเดียว ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173(เดิม) แม้ต่อมาเจ้าหนี้ได้ถอนฟ้องคดีล้มละลายอันเป็นผลให้ไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดลงตามมาตรา 174(เดิม) ก็ตาม แต่เมื่อพ้นกำหนดอายุความตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว ลูกหนี้ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมรับผิดชดใช้หนี้ต่อเจ้าหนี้ถือได้ว่าลูกหนี้ได้ละเสียซึ่งอายุความที่ครบบริบูรณ์และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันรับสภาพหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อนครบกำหนดอายุความซึ่งมีกำหนดเวลา 3 ปี เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

        สิทธิเรียกร้องที่มีต่อทรัพย์สินจำนอง จำนำ หรือถูกยึดหน่วงไว้เป็นประกัน (มีหลักทรัพย์ประกันการชำระหนี้) ผู้รับจำนอง จำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ยังมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ยึดถือไว้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยค้างย้อนหลังเกินห้าปีไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกา 1127/2563

        คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินและจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำที่นำมาเป็นประกันหนี้ของ ธ. หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่ ธ. ทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า ธ. นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและ ธ. ได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้น ธ. ไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้จะนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 มาจำนำเป็นประกันหนี้ของ ธ. ก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่ ธ. มีต่อเจ้าหนี้เดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับ ไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (2)เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้” ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธาน แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 748 (1)เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า ธ. ลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ


-----------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น เดือน  กรกฎาคม 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

กู้ยืมเงิน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

        กู้ยืมเงิน  เป็นเรื่องคุ้นเคยของคนที่มีเครดิตหรือเครดิตดี จะเครดิตดีเฉพาะก่อนยื่นเรื่องกู้หรือเปล่าอันนี้ก็ไม่รู้ ภายหลังกู้ยืมเงินได้รับเงินมาแล้ว ชำระเงินไม่ปกติ หรือไม่ส่งชำระเงินเลยก็สุดแล้วแต่ปัญหาของคนที่กู้ยืมเงิน  แต่คนให้กู้ยืมเงินก็ต้องติดตามทวงให้ชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจนครบ จึงมีประเด็นให้ทำความเข้าใจในหลายประเด็นทีเดียว 

        กู้ยืมเงิน เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง โดยการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ (ม.653ว1) 

คำพิพากษาศาลฏีกา 454/2562

        โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 โดยอาศัยสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่า สัญญาจำนองที่ดินเป็นนิติกรรมอำพราง การที่โจทก์และมารดาจำเลยซื้อขายบ้านที่ปลูกสร้างบนโฉนดเลขที่ 43392 และ 43393 ซึ่งมารดาจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 43393 ไปเป็นประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้รายอื่น โจทก์เกรงว่าระหว่างรอการไถ่ถอนที่ดินดังกล่าว มารดาจำเลยจะนำบ้านไปขายให้แก่บุคคลอื่น จึงให้จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ไว้เป็นประกันการชำระค่าที่ดินครึ่งหนึ่งก่อน ดังนี้ เท่ากับจำเลยรับว่าทำสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแก่โจทก์และยังไม่ชำระหนี้ตามฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นข้อต่อสู้ว่า เงินที่โจทก์ส่งมอบให้มารดาจำเลยนั้นเป็นการชำระค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ถือได้ว่าจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ ขึ้นใหม่ เพื่อสนับสนุนคำให้การของตน ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 เมื่อจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงตกเป็นฝ่ายแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฏีกา9652/2559 

      ตามฟ้องของโจทก์นอกจากบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 106,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นหลักฐานตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่แล้ว ยังได้บรรยายต่อไปว่า ในวันเดียวกันกับวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 เมื่อได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ก็ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 เป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ โดยแนบสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินมาท้ายฟ้องด้วย ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด จึงเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวปรากฏในคำฟ้องตั้งแต่บรรยายฟ้องแล้ว เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาที่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 106,000,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งยังมีข้อความในข้อ 5 ว่า ให้ถือสัญญานี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อผู้จำนองไว้ด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมชิ้นหนึ่งที่โจทก์ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้นอกเหนือจากหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ กรณีจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกา1335/2561

    เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย

     หลักฐานแห่งการกู้ยืม ต้องมีข้อความที่แสดงได้ว่า ผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้ยืม หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้ 

คำพิพากษาศาลฎีกา 4306/2565

        หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ นั้น ในหนังสือดังกล่าวต้องมีข้อความให้รับฟังได้ว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมหรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้อันเป็นสาระสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหรือเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีข้อความดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งมอบหรือโอนเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดจากการกู้ยืมกันเสมอไป อาจเป็นเรื่องการมอบหรือโอนเงินให้แก่กันด้วยมูลเหตุอย่างอื่นก็ได้ จากหลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีโจทก์แล้วโอนเข้าบัญชีจำเลยตามสำเนาเอกสารที่โจทก์อ้างหรือบันทึกคำเบิกความของจำเลยตามสำเนาเอกสารหมาย ล.5 หน้า 13 และหน้า 20 นั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเงิน 400,000 บาท ที่โจทก์โอนเข้าบัญชีจำเลยเป็นเงินที่จำเลยได้ยืมไปจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์แล้วจะใช้คืนให้ในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างจึงหาใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมมาแสดง โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 จ.3 แผ่นที่ 5 และ จ.4 แผ่นที่ 2 เพื่อให้ศาลรับฟังว่าการโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามฟ้องนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกา 10428/2551

        บันทึกเงินยืมมีข้อความว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2543 ข้าพเจ้า ส. ขอทำบันทึกว่าได้ยืมเงินและรับเงินยืมจาก พ. ไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท (สี่ล้านห้าแสนบาท) จริง และขอชำระเงินยืมดังกล่าวคืนแก่ พ. ผู้ให้ยืมเงินต่อไปนี้... เพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน... ซึ่งก็จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ 4,500,000 บาท ดังความในตอนท้ายที่มีลายมือชื่อของจำเลยว่าผู้ยืมและโจทก์ว่าผู้ให้ยืม บันทึกเงินยืมดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ จะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือมีเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว  (ม.653ว2)

คำพิพากษาศาลฎีกา 13390-13391/2558

        ป.พ.พ. มาตรา 326 บัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ว่า ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้ และเมื่อพิเคราะห์ตามปกติประเพณีในการชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมยึดถือใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากเจ้าหนี้เป็นหลักฐานว่าหนี้นั้นระงับสิ้นไป การกำหนดข้อสัญญาให้ต้องมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานในการชำระเงินจึงสอดคล้องกับความในมาตรา 326 ดังกล่าว และหลักปฏิบัติในการชำระหนี้โดยทั่วไป ประกอบกับมีข้อพิจารณาว่า การชำระค่าเช่าซื้อในคดีนี้คู่สัญญาตกลงให้ชำระด้วยเช็ค จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 321 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าถ้าชำระหนี้ด้วยออกตั๋วเงิน หนี้จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้ว ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 มีข้อความต่อไปอีกว่า หากชำระด้วยเช็ค ใบรับเช็คไม่ถือว่าเป็นใบเสร็จรับเงิน ข้อสัญญาโดยรวมจึงมุ่งหมายให้มีการชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์โดยต้องมีใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้เป็นหลักฐานในการรับชำระ ซึ่งเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายและชอบด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการชำระหนี้แล้ว จึงมิได้เป็นข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540

        การกู้ยืมเงิน ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ให้ลดลงเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี (ม.654)

        การกู้ยืมเงิน ห้ามคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่เมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงต้องทำเป็นหนังสือ  (ม.655)

        การทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงิน ให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ (ม.656ว1)

        ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม หนี้อันระงับไปเพราะการชำระหนี้นั้น ให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ  (ม.656ว2)

คำพิากษาศาลฏีกา2646/2551

        จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยมอบบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้ การที่โจทก์ใช้บัตรดังกล่าวถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก

        ข้อตกลงอย่างใดๆ ขัดกับข้อความที่กล่าวมานี้ เป็นโมฆะ  (ม.656ว3)

        กู้ยืมเงินเป็นสัญญา จึงมีคู่สัญญาสองฝ่าย มีลักษณะเป็นสัญญาตอบแทนที่ผู้ให้กู้ยืมส่งมอบเงินให้ผู้กู้ยืม(เจ้าหนี้) ถ้าไม่มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืม สัญญากู้ยืมไม่บริบูรณ์ และผู้กู้ยืม(ลูกหนี้) มีหนี้ที่จะต้องชำระคืนให้ครบพร้อมดอกเบี้ย  

        การชำระหนี้นั้น บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้ เว้นสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง หรือขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้ บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่  (ม.314) การชำระหนี้ต้องทำแก่ตัวเจ้าหนี้หรือบุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่ผู้ที่ไม่มีอำนาจชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็สมบูรณ์ (ม.315) การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้รับ ย่อมสมบูรณ์เพียงเท่าที่ตัวเจ้าหนี้ได้ลาภงอกขึ้นแต่การนั้น  (ม.317) จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ไม่อาจบังคับได้ (ม.320) ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงไว้ หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าเพื่อจะทำให้พอใจแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้ ถ้าชำระหนี้ด้วยออก ด้วยโอน หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า หนี้นั้นระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว (ม.321)

        ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ถ้ากรณีเป็นที่สงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้ (ม.203) ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและภายหลังเจ้าหนี้ให้คำเตือนแล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้  ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่ต้องเตือน วิธีเดียวกันนี้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้คำนวณนับได้โดยปฎิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว(ม.204) หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น  ห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด (ม.224) 

        เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้(เช่น ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่เกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้) เป็นอันปลดเปลี้องนับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้ (ม.330) ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่รับชำระหนี้ หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ หากผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ล้ว ย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ (ม.321 ) การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้(ม.323)คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อีกฝ่ายหนึ่งเลิกสัญญาเสียก็ได้(ม.387)

คำพิพากษาศาลฎีกา 2511/2563

         ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ข้อ 3 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และข้อ 4 ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาท จากข้อกำหนดดังกล่าวแสดงว่า ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาทและต้องดำเนินการขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว ดังนั้นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิยื่นขอประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนประกอบธุรกิจดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16 ซึ่งหาใช่เป็นความผิดเฉพาะนิติบุคคลที่ฝ่าฝืนตามที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการในการจัดหามาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้มีชื่อหลายรายกู้ยืมเงิน อันเป็นการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้เป็นนิติบุคคล และไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16


คำพิพากษาศาลฎีกา 6543/2562

        ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่ได้บัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แตกต่างกับกรณีกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองรับเงินของโจทก์ไว้ย่อมเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองจะตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถาม แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกา 2139/2562

         พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) บัญญัติให้การให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดยังคงเป็นความผิด เพียงแต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฉบับใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษให้สูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าว เพียงแต่กฎหมายใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม กรณีมิใช่การยกเลิกการกระทำอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้อ้างกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องมาด้วย จึงถือว่าเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6)


        กู้ยืมเงินไม่ได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน แต่ถ้าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง อายุความย่อมสะดุดหยุดลง(ม.193/14) แม้ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้กู้ยืมเงิน แต่ฟ้องให้รับผิดในฐานะที่รับสภาพหนี้ไว้ เช่น 

 คำพิพากษาศาลฏีกา 2340/2562 

         โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่ารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานการประชุมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ดังกล่าวได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ 6,100,000 บาท และตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 เดือน แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้อันเป็นลักษณะของการฟ้องโดยอาศัยมูลเหตุแห่งการรับสภาพหนี้ของจำเลยตามรายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นสำคัญ อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมใหญ่ในฐานะผู้ยืม โจทก์ก็ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้กู้ยืมเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 แต่เป็นการฟ้องเรียกหนี้ที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามรายงานการประชุมใหญ่ ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ และพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์
        เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยแถลงยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ไปจำนวนดังกล่าวจริง และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน โดยจำเลยหาได้โต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสำรองจ่ายที่จำเลยนำไปใช้ในกิจการของโจทก์ไม่ ประกอบกับจำเลยลงลายมือชื่อยอมรับความถูกต้องของสำเนารายงานการประชุมใหญ่โดยไม่ได้อิดเอื้อน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นลักษณะของการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ตามหลักเกณฑ์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) สำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามกฎหมาย
        แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ และการประชุมใหญ่ดังกล่าวมิใช่เป็นการประชุมคณะกรรมการของโจทก์โดยเป็นการประชุมผู้ถือหุ้น จำเลยก็ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้น อีกทั้งการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยก็ดี และการลงชื่อในสำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวก็ดี จำเลยกระทำไปในฐานะผู้ถือหุ้นและฐานะส่วนตัวในวาระเดียวกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำไว้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฏีกา6757/2560

        จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฏีกา2131/2560

        โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกา5162/2553

         ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้วว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น หาได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ ดังนี้ เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วก่อนฟ้องคดีย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนโจทก์จะปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องในการปิดอากรแสตมป์ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 113 หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการปิดอากรแสตมป์
        แม้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะระบุว่า ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่โจทก์และจำเลยตกลงเรียกดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเงินกันในอัตราร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผลเท่ากับไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่ในสัญญา แต่กรณีเป็นหนี้เงินโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ได้


        กรณีมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน เป็นมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นหนี้ที่เรียกร้องกันไม่ได้ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกา 3210/2565

        โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงินที่ค้างตามสัญญากู้ยืมเงิน จําเลยให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องมีมูลหนี้มาจากการที่จําเลยเป็นหนี้การพนันทายผลฟุตบอลกับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้ามือ จึงมีมูลหนี้อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินสืบเนื่องมาจากการที่จําเลยเป็นหนี้การพนันทายผลฟุตบอลแก่โจทก์ จึงหาก่อให้เกิดหนี้อันจะเรียกร้องกันได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 853 จําเลย จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว


------------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น เดือน  พฤษภาคม -กรกฎาคม 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2