วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

กู้ยืมเงิน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

        (ส่งกำลังใจคนจัดทำ คลิกชมป้ายโฆษณาครับ )

        กู้ยืมเงิน  เป็นเรื่องคุ้นเคยของคนที่มีเครดิตหรือเครดิตดี จะเครดิตดีเฉพาะก่อนยื่นเรื่องกู้หรือเปล่าอันนี้ก็ไม่รู้ ภายหลังกู้ยืมเงินได้รับเงินมาแล้ว ชำระเงินไม่ปกติ หรือไม่ส่งชำระเงินเลยก็สุดแล้วแต่ปัญหาของคนที่กู้ยืมเงิน  แต่คนให้กู้ยืมเงินก็ต้องติดตามทวงให้ชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจนครบ จึงมีประเด็นให้ทำความเข้าใจในหลายประเด็นทีเดียว 

        กู้ยืมเงิน เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง โดยการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ (ม.653ว1) 

คำพิพากษาศาลฏีกา 454/2562

        โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 โดยอาศัยสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่า สัญญาจำนองที่ดินเป็นนิติกรรมอำพราง การที่โจทก์และมารดาจำเลยซื้อขายบ้านที่ปลูกสร้างบนโฉนดเลขที่ 43392 และ 43393 ซึ่งมารดาจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 43393 ไปเป็นประกันการชำระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้รายอื่น โจทก์เกรงว่าระหว่างรอการไถ่ถอนที่ดินดังกล่าว มารดาจำเลยจะนำบ้านไปขายให้แก่บุคคลอื่น จึงให้จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ไว้เป็นประกันการชำระค่าที่ดินครึ่งหนึ่งก่อน ดังนี้ เท่ากับจำเลยรับว่าทำสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแก่โจทก์และยังไม่ชำระหนี้ตามฟ้อง แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นข้อต่อสู้ว่า เงินที่โจทก์ส่งมอบให้มารดาจำเลยนั้นเป็นการชำระค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 43392 ถือได้ว่าจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ ขึ้นใหม่ เพื่อสนับสนุนคำให้การของตน ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 เมื่อจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงตกเป็นฝ่ายแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฏีกา9652/2559 

      ตามฟ้องของโจทก์นอกจากบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 106,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นหลักฐานตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่แล้ว ยังได้บรรยายต่อไปว่า ในวันเดียวกันกับวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 เมื่อได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ก็ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 เป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ โดยแนบสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินมาท้ายฟ้องด้วย ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด จึงเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวปรากฏในคำฟ้องตั้งแต่บรรยายฟ้องแล้ว เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาที่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 106,000,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งยังมีข้อความในข้อ 5 ว่า ให้ถือสัญญานี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อผู้จำนองไว้ด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมชิ้นหนึ่งที่โจทก์ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้นอกเหนือจากหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ กรณีจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกา1335/2561

    เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย

     หลักฐานแห่งการกู้ยืม ต้องมีข้อความที่แสดงได้ว่า ผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้ยืม หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้ 

คำพิพากษาศาลฎีกา 4306/2565

        หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ นั้น ในหนังสือดังกล่าวต้องมีข้อความให้รับฟังได้ว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินไปจากผู้ให้กู้ยืมหรือมีข้อความว่าจะใช้คืนให้อันเป็นสาระสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ยืมได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมหรือเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืม หากไม่มีข้อความดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ เพราะการที่บุคคลหนึ่งมอบหรือโอนเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดจากการกู้ยืมกันเสมอไป อาจเป็นเรื่องการมอบหรือโอนเงินให้แก่กันด้วยมูลเหตุอย่างอื่นก็ได้ จากหลักฐานการถอนเงินออกไปจากบัญชีโจทก์แล้วโอนเข้าบัญชีจำเลยตามสำเนาเอกสารที่โจทก์อ้างหรือบันทึกคำเบิกความของจำเลยตามสำเนาเอกสารหมาย ล.5 หน้า 13 และหน้า 20 นั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าเงิน 400,000 บาท ที่โจทก์โอนเข้าบัญชีจำเลยเป็นเงินที่จำเลยได้ยืมไปจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์แล้วจะใช้คืนให้ในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างจึงหาใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมมาแสดง โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ซึ่งหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 จ.3 แผ่นที่ 5 และ จ.4 แผ่นที่ 2 เพื่อให้ศาลรับฟังว่าการโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือมาแสดงจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามฟ้องนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกา 10428/2551

        บันทึกเงินยืมมีข้อความว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2543 ข้าพเจ้า ส. ขอทำบันทึกว่าได้ยืมเงินและรับเงินยืมจาก พ. ไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 4,500,000 บาท (สี่ล้านห้าแสนบาท) จริง และขอชำระเงินยืมดังกล่าวคืนแก่ พ. ผู้ให้ยืมเงินต่อไปนี้... เพื่อเป็นหลักฐานในการบันทึกนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน... ซึ่งก็จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมและรับเงินไปจากโจทก์ 4,500,000 บาท ดังความในตอนท้ายที่มีลายมือชื่อของจำเลยว่าผู้ยืมและโจทก์ว่าผู้ให้ยืม บันทึกเงินยืมดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

        การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ จะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือมีเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว  (ม.653ว2)

คำพิพากษาศาลฎีกา 13390-13391/2558

        ป.พ.พ. มาตรา 326 บัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ว่า ผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้ และเมื่อพิเคราะห์ตามปกติประเพณีในการชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมยึดถือใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากเจ้าหนี้เป็นหลักฐานว่าหนี้นั้นระงับสิ้นไป การกำหนดข้อสัญญาให้ต้องมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานในการชำระเงินจึงสอดคล้องกับความในมาตรา 326 ดังกล่าว และหลักปฏิบัติในการชำระหนี้โดยทั่วไป ประกอบกับมีข้อพิจารณาว่า การชำระค่าเช่าซื้อในคดีนี้คู่สัญญาตกลงให้ชำระด้วยเช็ค จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 321 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าถ้าชำระหนี้ด้วยออกตั๋วเงิน หนี้จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้ว ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 มีข้อความต่อไปอีกว่า หากชำระด้วยเช็ค ใบรับเช็คไม่ถือว่าเป็นใบเสร็จรับเงิน ข้อสัญญาโดยรวมจึงมุ่งหมายให้มีการชำระเงินค่าเช่าซื้อแก่โจทก์โดยต้องมีใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้เป็นหลักฐานในการรับชำระ ซึ่งเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายและชอบด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการชำระหนี้แล้ว จึงมิได้เป็นข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540

        การกู้ยืมเงิน ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ให้ลดลงเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี (ม.654)

        การกู้ยืมเงิน ห้ามคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่เมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงต้องทำเป็นหนังสือ  (ม.655)

        การทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงิน ให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ (ม.656ว1)

        ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม หนี้อันระงับไปเพราะการชำระหนี้นั้น ให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ  (ม.656ว2)

คำพิากษาศาลฏีกา2646/2551

        จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยมอบบัตรเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้ การที่โจทก์ใช้บัตรดังกล่าวถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคแรก

        ข้อตกลงอย่างใดๆ ขัดกับข้อความที่กล่าวมานี้ เป็นโมฆะ  (ม.656ว3)

        กู้ยืมเงินเป็นสัญญา จึงมีคู่สัญญาสองฝ่าย มีลักษณะเป็นสัญญาตอบแทนที่ผู้ให้กู้ยืมส่งมอบเงินให้ผู้กู้ยืม(เจ้าหนี้) ถ้าไม่มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืม สัญญากู้ยืมไม่บริบูรณ์ และผู้กู้ยืม(ลูกหนี้) มีหนี้ที่จะต้องชำระคืนให้ครบพร้อมดอกเบี้ย  

        การชำระหนี้นั้น บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ชำระก็ได้ เว้นสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง หรือขัดกับเจตนาอันคู่กรณีได้แสดงไว้ บุคคลผู้ไม่มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ จะเข้าชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้หาได้ไม่  (ม.314) การชำระหนี้ต้องทำแก่ตัวเจ้าหนี้หรือบุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่ผู้ที่ไม่มีอำนาจชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็สมบูรณ์ (ม.315) การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้รับ ย่อมสมบูรณ์เพียงเท่าที่ตัวเจ้าหนี้ได้ลาภงอกขึ้นแต่การนั้น  (ม.317) จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้นั้น ไม่อาจบังคับได้ (ม.320) ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงไว้ หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าเพื่อจะทำให้พอใจแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้ ถ้าชำระหนี้ด้วยออก ด้วยโอน หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า หนี้นั้นระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว (ม.321)

        ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ถ้ากรณีเป็นที่สงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้ (ม.203) ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและภายหลังเจ้าหนี้ให้คำเตือนแล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้  ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่ต้องเตือน วิธีเดียวกันนี้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้คำนวณนับได้โดยปฎิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว(ม.204) หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น  ห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด (ม.224) 

        เมื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบ บรรดาความรับผิดชอบอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้(เช่น ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่เกิดขึ้นจากการไม่ชำระหนี้) เป็นอันปลดเปลี้องนับแต่เวลาที่ขอปฏิบัติการชำระหนี้ (ม.330) ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่รับชำระหนี้ หรือไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ หากผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ล้ว ย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ (ม.321 ) การวางทรัพย์นั้นต้องวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้(ม.323)คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อีกฝ่ายหนึ่งเลิกสัญญาเสียก็ได้(ม.387)

คำพิพากษาศาลฎีกา 2511/2563

         ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ข้อ 3 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และข้อ 4 ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาท จากข้อกำหนดดังกล่าวแสดงว่า ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติจะต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาทและต้องดำเนินการขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว ดังนั้นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิยื่นขอประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นทางการค้าปกติได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนประกอบธุรกิจดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16 ซึ่งหาใช่เป็นความผิดเฉพาะนิติบุคคลที่ฝ่าฝืนตามที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการในการจัดหามาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้มีชื่อหลายรายกู้ยืมเงิน อันเป็นการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้เป็นนิติบุคคล และไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (7) และข้อ 16


คำพิพากษาศาลฎีกา 6543/2562

        ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่ได้บัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แตกต่างกับกรณีกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองรับเงินของโจทก์ไว้ย่อมเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองจะตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถาม แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกา 2139/2562

         พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) บัญญัติให้การให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดยังคงเป็นความผิด เพียงแต่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฉบับใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษให้สูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าว เพียงแต่กฎหมายใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม กรณีมิใช่การยกเลิกการกระทำอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเดิมไปเสียทีเดียว การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้อ้างกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องมาด้วย จึงถือว่าเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6)


        กู้ยืมเงินไม่ได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน แต่ถ้าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง อายุความย่อมสะดุดหยุดลง(ม.193/14) แม้ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้กู้ยืมเงิน แต่ฟ้องให้รับผิดในฐานะที่รับสภาพหนี้ไว้ เช่น 

 คำพิพากษาศาลฏีกา 2340/2562 

         โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่ารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานการประชุมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ดังกล่าวได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ 6,100,000 บาท และตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 เดือน แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้อันเป็นลักษณะของการฟ้องโดยอาศัยมูลเหตุแห่งการรับสภาพหนี้ของจำเลยตามรายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นสำคัญ อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมใหญ่ในฐานะผู้ยืม โจทก์ก็ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้กู้ยืมเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 แต่เป็นการฟ้องเรียกหนี้ที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามรายงานการประชุมใหญ่ ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ และพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์
        เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยแถลงยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ไปจำนวนดังกล่าวจริง และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน โดยจำเลยหาได้โต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสำรองจ่ายที่จำเลยนำไปใช้ในกิจการของโจทก์ไม่ ประกอบกับจำเลยลงลายมือชื่อยอมรับความถูกต้องของสำเนารายงานการประชุมใหญ่โดยไม่ได้อิดเอื้อน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นลักษณะของการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ตามหลักเกณฑ์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) สำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามกฎหมาย
        แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ และการประชุมใหญ่ดังกล่าวมิใช่เป็นการประชุมคณะกรรมการของโจทก์โดยเป็นการประชุมผู้ถือหุ้น จำเลยก็ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้น อีกทั้งการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยก็ดี และการลงชื่อในสำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวก็ดี จำเลยกระทำไปในฐานะผู้ถือหุ้นและฐานะส่วนตัวในวาระเดียวกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำไว้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฏีกา6757/2560

        จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฏีกา2131/2560

        โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกา5162/2553

         ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้วว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น หาได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ ดังนี้ เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วก่อนฟ้องคดีย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนโจทก์จะปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องในการปิดอากรแสตมป์ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 113 หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการปิดอากรแสตมป์
        แม้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะระบุว่า ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่โจทก์และจำเลยตกลงเรียกดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเงินกันในอัตราร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผลเท่ากับไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่ในสัญญา แต่กรณีเป็นหนี้เงินโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ได้


        กรณีมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน เป็นมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นหนี้ที่เรียกร้องกันไม่ได้ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกา 3210/2565

        โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจําเลยชําระเงินที่ค้างตามสัญญากู้ยืมเงิน จําเลยให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องมีมูลหนี้มาจากการที่จําเลยเป็นหนี้การพนันทายผลฟุตบอลกับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้ามือ จึงมีมูลหนี้อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินสืบเนื่องมาจากการที่จําเลยเป็นหนี้การพนันทายผลฟุตบอลแก่โจทก์ จึงหาก่อให้เกิดหนี้อันจะเรียกร้องกันได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 853 จําเลย จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว


------------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น เดือน  พฤษภาคม -กรกฎาคม 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น