วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

ฉ้อโกง ยอมได้ ฉ้อโกงประชาชน ยอมไม่ได้

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

ฉ้อโกงยอมได้ฉ้อโกงประชาชนยอมไม่ได้

        ฉ้อโกง ยอมได้ หมายถึง ความผิดอาญาที่คู่กรณีสามารถตกลงยอมความกันได้  โดยชดใช้ค่าเสียหายที่ฉ้อโกงไป แล้วฝ่ายผู้เสียหายยอมรับและตกลงยอมความ อาจทำด้วยการถอนคำร้องทุกข์  หรือถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงมาฟ้องระงับ 

        ฉ้อโกง ตามบททั่วไปมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ลักษณะการกระทำของความผิดฉ้อโกง คือ ขณะกระทำมีเจตนาทุจริต (แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น) หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ 

        ความผิดฉ้อโกง ที่ยอมความกันได้ ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ เมื่อคดีขาดอายุความ ย่อมทำให้สิทธินำคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงมาฟ้องระงับเช่นเดียวกัน  

        รูปแบบการฉ้อโกง  มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 335/2563 อ้างว่า สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ได้ อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ตามที่กล่าวอ้างได้ โดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง

       คำพิพากษาศาลฎีกา 1666/2562  เรียกเงินจากโจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนในการไปวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลังจากมอบเงินให้จำเลย จำเลยไม่สามารถดำเนินการให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษได้ เมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยก็บ่ายเบี่ยงและไม่ยอมคืนเงินให้ แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะวิ่งเต้นให้สามีโจทก์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถวิ่งเต้นกรณีดังกล่าวได้ อันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงโจทก์ 

         คำพิพากษาศาลฎีกา 5069/2562 ร่วมกันหลอกลวงให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง

       คำพิพากษาศาลฏีกา8384/2559  หลอกลวง โดยพูดชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามให้เล่นแชร์ทองคำกับจำเลย โดยบอกว่าได้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ลงเล่นแชร์ทองคำภายใน 1 ถึง 2 วัน อันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อตกลงเล่นแชร์ทองคำกับจำเลยและมอบเงินให้จำเลยไปโดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  ของจำเลย 84 ครั้ง รวม 29,960,000 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง 

 advertisement


        คำพิพากษาศาลฏีกา 8063/2561  ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย

        คำพิพากษาศาลฏีกา7767/2561 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่า บริษัท ด. จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้บริการรับจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง ถือได้ว่าร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามบทนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากนายทะเบียน แต่ได้ร่วมกันขายโปรแกรมการท่องเที่ยวและจัดบริการให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อนำเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ และผู้เสียหายได้โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้ติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือจองที่พักให้แก่จำเลยทั้งสองเลย นอกจากความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังเป็นความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 80 ด้วยอีกกระทงหนึ่ง

        คำพิพากษาศาลฎีกา 6404/2560 การที่จำเลยทั้งสองประสงค์ให้ร้าน ก. ของจำเลยทั้งสองได้รับงานรับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีข้อความว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายและการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แม้ภายหลังจำเลยทั้งสองจะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาลจริงและได้รับค่าจ้างดังกล่าว ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิด

        คำพิพากษาศาลฎีกา3918/2560  ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร  ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหาย ในใบคำขอถอนเงินแล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงาน และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท 

        คำพิพากษาศาลฎีกา2062/2558 ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

         คำพิพากษาศาลฎีกา21183/2556 การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341

advertisement


        คำพิพากษาศาลฎีกา 394/2553 การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมมีหน้าที่เบิกจ่ายเงินของโจทก์ร่วมให้กับลูกค้าของโจทก์ร่วมได้ใช้โอกาสในหน้าที่ดังกล่าวจัดทำใบเบิกจ่ายล่วงหน้าระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย ค่าผ่านท่าและค่ารถยก อันเป็นข้อความเท็จ หลอกลวงโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมหลงเชื่อยินยอมมอบเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้จำเลยไปจำนวน 353 ครั้ง จึงมิใช่การเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในใบเบิกเงินทดรองจ่ายว่าต้องนำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

        ถ้ามีการร้องทุกข์ เพื่อให้ดำเนินคดีฉ้อโกง พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและพนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อให้ลงโทษทางอาญาที่มีอัตราโทษจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว ความเสียหายในทางแพ่ง พนักงานอัยการ มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเรียกร้องทรัพย์หรือราคาที่สูญเสียไปแทนผู้เสียหายได้   เช่น  

        คำพิพากษาศาลฎีกา8905/2561 การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)  

     คำพิพากษาศาลฎีกา13412/2553 วามผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุด สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และการที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งในความผิดฐานฉ้อโกงที่โจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือให้เงินแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย

        ฉ้อโกงประชาชน ยอมไม่ได้ หมายถึง การกระทำผิดฐานฉ้อโกง โดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชน หรือปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ฉ้อโกงประชาชนจึงเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ที่ยอมความกันไม่ได้ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินเมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมกัน  ไม่มีผลต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน และพนักงานงานอัยการยังมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้  เช่น   

        คำพิพากษาศาลฎีกา2411/2562  ความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดดังกล่าวได้เอง โดยไม่จำต้องอาศัยคำร้องทุกข์หรือการมอบคดีจากผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยก็ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น หามีผลกระทบต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งสามารถดำเนินการสอบสวนความผิดตามมาตรา 143 ได้โดยชอบไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันเรียก รับเงิน และมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสามเพิ่มเติม ถือได้ว่าคดีในความผิดตามมาตรา 143 ได้มีการสอบสวนโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

        คำพิพากษาศาลฎีกา4022/2558 ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคแรก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ มาตรา 39 (2)  

        ฉ้อโกงประชาชน  เป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 2512/2562 ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มีองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล โดยทุจริต หลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยนำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป แล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเท็จในงบการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่างบการเงินเป็นความจริง จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนเหลือหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย 140,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 878,169.19 บาท และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง  

advertisement


        คำพิพากษาศาลฎีกา596/2561 การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ

         คำพิพากษาศาลฎีกา831/2559 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้อง จึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

        คำพิพากษาศาลฎีกา 8489/2559 จำเลยที่ 2 จัดสร้างพระเครื่องและโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเช่าบูชาพระสมเด็จเหนือหัวตามสื่อต่างๆ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ หลายวันหลายเวลาโดยอาศัยช่องทางที่แตกต่างกันทั้งสถานที่และวิธีการชำระเงิน ซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงผู้เสียหายทั้ง 921 รายที่หลงเชื่อตามโฆษณาดังกล่าวและเช่าพระสมเด็จเหนือหัวที่จำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นแต่ละรายไป ผู้เสียหายแต่ละคนต่างถูกหลอกลวงคนละวันคนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกแตกต่างกัน ความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายจึงเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

        คำพิพากษาศาลฎีกา 831/2559 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

advertisement


         คำพิพากษาศาลฎีกา10330/2557แม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่าจำเลยพูดหลอกลวงชักชวน ป. ผู้เสียหายที่ 5 เพียงคนเดียวให้เข้าร่วมลงทุน ส่วนผู้เสียหายอื่นถูกผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นพูดหลอกลวงชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน แต่ความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบสำคัญคือ มีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนองค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้กระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันโฆษณาหรือประกาศต่อประชาชนหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปในการกู้ยืมเงิน ผู้ร่วมกระทำความผิดอาจกระทำการในลักษณะแบ่งงานกันทำ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเอง เพียงจำเลยกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 5 โดยแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้ช่วยผู้บริหารและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน พาผู้เสียหายที่ 5 เดินชมสถานที่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 30 คน นั่งประจำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องจนผู้เสียหายที่ 5 หลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลย ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถึง 4 และที่ 6 ถึงที่ 11 ก็ถูกพวกจำเลยหลอกลวงในทำนองเดียวกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันหลอกลวงประชาชนและกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยแบ่งงานกันทำกับพวกจำเลย เป็นผลให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนทั้งสิบเอ็ดกระทงตามฟ้อง
          
                 
ฏีกาน่าสนใจ    ที่ไม่เป็นความผิดฉ้อโกง

        คำพิพากษาศาลฎีกา10577/2557จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันนำโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาหลอกลวงโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาทั้งสองและคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงว่าขอนำที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ตีใช้หนี้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อหนังสือรับรองราคาประเมินว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 70225 มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท จึงรับโอนที่ดินและถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี ความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียง 117,180 บาท ไม่ได้มีราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าว
       จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ด้วยการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ การที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่งก็ไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะคำฟ้องคดีแพ่งและคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341  

         คำพิพากษาศาลฎีกา2728/2557โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

       คำพิพากษาศาลฎีกา1429/2555 จำเลยกับพวกติดต่อขอซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายในราคา 430,000 บาท ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุน จ. ในวันดังกล่าวจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ไม่ได้กรอกข้อความไว้พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการและสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้เสียหาย แล้วพนักงานของบริษัทเงินทุน จ. นำสัญญาเช่าซื้อที่ยังไม่ได้กรอกรายละเอียดให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าซื้อไว้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

**************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/   

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564

อายุความฟ้องคดีอาญา ถือตามความผิดที่พิจารณาได้ความ

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

อายุความฟ้องคดีอาญา

        (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังใจผู้จัดทำ)

        อายุความฟ้องคดีอาญา เป็นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้สามารถฟ้องและนำตัวผู้กระทำผิดมายังศาล เพื่อพิจารณาลงโทษตามฐานความผิด ถ้ามิได้ฟ้องและนำตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายในระยะเวลาดังกล่าว จะทำให้คดีขาดอายุความ  มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย่อมระงับไป ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้

        อายุความฟ้องคดีอาญา ถือตามฐานความผิด ดังนี้

        1.อายุความ 20 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุกประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปี

        2.อายุความ 15 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี 

        3.อายุความ 10 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 7 ปี

        4.อายุความ 5 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 เดือนถึง 1 ปี

        5.อายุความ 1 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา หรือต้องโทษอย่างอื่น

        ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าว นับแต่วันที่หลบหนึหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน 

        อายุความตามฐานความผิด ถือตามอัตราโทษสูงสุดสำหรับฐานความผิดนั้น  เช่น   ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157(เดิม) มีระวางโทษจำคุกต้ังแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทหรือสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 726/2563  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157(เดิม) มีระวางโทษจำคุกต้ังแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทหรือสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) จำเลยกระทำความผิดในปี 2546 ถึง 2547 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ยังไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

        อายุความตามฐานความผิด  นั้นต้องถือตามฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ เช่น ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ฯ ซึ่งมีอายุความตามฐานความผิด ที่ 20 ปี แต่ศาลพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกต้ังแต่หนึ่งปีถึงสิบปี จึงมีอายุความ 15 ปี เช่น 

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1272/2563 อายุความฟ้องคดีอาญาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามอัตราโทษสำหรับข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 726/2563 การออกบันทึกข้อความหนังสือเวียนเรื่องการรับเงินทุกประเภท เป็นการกระทำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติที่รับเงินนำส่งมาให้ จ.หัวหน้างานของจำเลยจัดการหรือรักษาไว้ หาได้บันทึกมอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินนั้นด้วยไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหาย การที่จำเลยเบียดบังยักยอกเงินของผู้เสียหายที่จำเลยรับมาตามบันทึกของ จ.ไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
        จำเลยรับเงินของผู้เสียหายมาแล้ว เบียดบังไปเป็นของตนเองโดยทจุริต ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานแต่กลับกระทำความผิดอาญาต่อหน่วยราชการที่ตนสังกัดอยู่ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157(เดิม)
        ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157(เดิม) มีระวางโทษจำคุกต้ังแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทหรือสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) จำเลยกระทำความผิดในปี 2546 ถึง 2547 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ยังไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

        ฟ้องขอให้ลงโทษเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ,83 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี มีอายุความ 20 ปี แต่ศาลพิจารณาได้ความว่า เป็นตัวการร่วมทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอัตรายสาหัส ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี จึงมีอายุความ 15 ปี เช่น

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1272/2563 อายุความฟ้องคดีอาญาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามอัตราโทษสำหรับข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ เมื่อได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี จึงมีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิด เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 จึงเกิน 15 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ



        เมื่อคดีขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ศาลจะพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185  เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 8141-8145/2561 วามผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ตามมาตรา 376 มีอายุความฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) เมื่อเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 12 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงขาดอายุความ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

        ปัญหาว่า คดีอาญาขาดอายุความหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างมาก่อนตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลมีอำนาจยกขึ้นอ้างแล้วพิพากษาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 แต่สำหรับคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อไม่ได้ยกขึ้นอ้างว่าคดีส่วนแพ่งขาดอายุความ ศาลไม่อาจยกอายุความขึ้นวินิจฉัยได้ โดยถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น เนื่องจาก ปัญหาว่าคดีแพ่งขาดอายุความหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกียวกับความสงบเรียบร้อย  เช่น 

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7147/2562 แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งฐานมูลละเมิดเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยอาศัยมูลคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และแม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะขาดอายุความเนื่องจากไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ภายในอายุความสิบปีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ก็บัญญัติว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จำเลยสามารถหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้

        เมื่อศาลจะพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากคดีขาดอายุความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ จึงต้องยื่นอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษานั้นต่อไป โดยศาลจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามกฎหมายในเรืองการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา

        ข้อควรระวัง คือ การฟ้องคดีโดยไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยถ้าข้อหาที่ฟ้องเป็นฐานความผิดที่เป็นคดีอาญาแผ่นดิน เช่น ข้อหาลักทรัพย์ แต่ศาลพิจารณาได้ความว่า เป็นความผิดฐานอาญาฐานยักยอก ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่ยอมความกันได้ เมื่อไม่ได้ร้องทุกข์ไว้ภายในอายุความร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 ย่อมทำให้ศาลลงโทษในฐานความผิดยักยอกไม่ได้ แม้จะเป็นความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความก็ตาม เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา16081/2555 โจทก์พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ ประสงค์จะปลูกต้นสนไว้เพื่อขายจึงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้จัดการหาต้นสนมาปลูกและดูแลต้นสน ต้นสนของโจทก์ทั้งสามอยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่จำเลยตัดต้นสนโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบ หรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม และจำเลยรับเงินค่าต้นสนทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ของตนเองไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้นสน แต่เป็นความผิดฐานยักยอกแม้ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาลักทรัพย์อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แต่ศาลฎีกาพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 356 บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

            แม้วันสุดท้ายที่มีสิทธิการร้องทุกข์ เพื่อให้ดำเนินคดีอาญานั้น จะตรงกับวันหยุดราชการ แต่การร้องทุกข์สามารถจะทำได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เมื่อมาร้องทุกข์ในวันทำการ ไม่ได้ร้องทุกข์ในวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ย่อมทำให้คดีขาดอายุความ เช่น


            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/54 เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแล้วย่อมถือว่า จ. เป็นตัวแทนของทายาททั้งหมด มีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์มรดก ทั้งดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้ที่กระทำความเสียหายแก่กองมรดกด้วย ดังนั้นเมื่อ จ. นำคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไปดำเนินการที่ธนาคาร ก. สาขาวังทอง เพื่อขอรับเงินในบัญชีของเจ้ามรดก แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าจำเลยนำคำสั่งศาลแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมารับเงินในบัญชีไปแล้ว ย่อมถือว่า จ. รู้เรื่องผู้กระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว และต้องถือว่าโจทก์ร่วมในฐานะทายาททราบเรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วด้วยแม้วันสุดท้ายที่โจทก์ร่วมมีสิทธิร้องทุกข์ จะตรงกับวันหยุดราชการ แต่การร้องทุกข์สามารถกระทำได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ โจทก์ร่วมไม่ร้องทุกข์ในวันสุดท้าย คดีจึงขาดอายุความ

**************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/   

  

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564

การได้มาซึ่งสิทธิทางภาระจำยอม

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

การได้มาซึ่งสิทธิทางภาระจำยอม

        ในบทความนี้ จะนำเสนอเกี่ยวกับ การได้มาซึ่งสิทธิทางภาระจำยอม ซึ่งภาระจำยอม เป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งที่เกิดขี้นด้วยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1387  บัญญัติว่า อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้ เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิ บางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

        ภาระจำยอม จึงเกิดขึ้นได้กับอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น  ซึ่ง"อสังหาริมทรัพย์" มีความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 139 ว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน มีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย

        การได้มาซึ่งสิทธิทางภาระจำยอม ที่เป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง ในการผ่านที่ดินอีกแปลงหนึ่งออกสู่ถนนสาธารณะ  ซึ่งการได้สิทธิมี 2 วิธี คือ
         1.ได้มาโดยนิติกรรม เป็นการได้มาจากการตกลงของเจ้าของที่ดิน ที่ยอมให้เจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งผ่านที่ดินของตนออกสู่ถนนสาธารณะ โดยอาจตกลงกันด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือ ซึ่งหากยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอตกลงนี้ใช้บังคับกันได้เฉพาะคู่กรณีเท่านั้น 
         2.ได้มาโดยอายุความ  โดยการใช้สิทธิที่เป็นปฎิปักษ์กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยเจตนาให้เกิดภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี แต่ทางภาระจำยอมต้องไม่ทำให้เกิดภาระแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นจนเกินสมควรด้วย



        การได้มาซึ่งสิทธิทางภาระจำยอมทั้ง 2 แบบ มีแนวคำพิพากษา ดังนี้ 

         คำพิพากษาศาลฎีกา6562/2562 ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินของ ส. และ ต. ภายหลังแบ่งแยก ต. ผู้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของ ต. เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ซึ่งโจทก์และบริวารก็ได้ใช้ทางพิพาทดังกล่าวตลอดมา การตกลงกันดังกล่าวถือเป็นการทำนิติกรรมก่อตั้งสิทธิภาระจำยอมระหว่างกัน หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ต. หรือโดยวิสาสะไม่ ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยนิติกรรมดังกล่าว อันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้ทางภาระจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ก็อาจได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความหากโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมซึ่งต้องพิจารณาจากการใช้ว่า เป็นการใช้โดยอาการที่ถือสิทธิเป็นปรปักษ์ต่อ ต. เจ้าของที่ดินที่ตั้งทางพิพาทคนเดิมและเจ้าของที่ดินคนต่อ ๆ มาหรือไม่
        โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมตลอดมา เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เมื่อเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว แม้จะเป็นการได้ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ก็ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเรื่องการรับโอนที่ดินมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์หาได้ไม่       

        เมื่อทางภาระจำยอม ตกเป็นกรรมกับเจ้าของที่ดินแปลงใด เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้ โดยไม่สามารถปิดกั้นห้ามมิใช้ทางภาระจำยอมนั้นได้ 
แม้เจ้าของที่ดินจะทำการก่อสร้างใดในทางภาระจำยอมนั้น อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งทางภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นสิทธิของเจ้าของที่ดิน ไม่ทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย และไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดอาญาฐานบุกรุก  เช่น

         คำพิพากษาศาลฎีกา 6006/2561ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อไป แม้หากจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก

        
        แม้เจ้าของที่ดินแปลงใดได้สิทธิทางภาระจำยอม ก็ไม่สามารถใช้สิทธิจนเป็นการเพิ่มภาระให้แก่เจ้าของที่ดินที่ต้องตกอยู่ในภาระจำยอม เช่น ใช้ทางภาระจำยอมเป็นที่จอดรถหรือขนถ่ายสินค้า  เพราะ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่องภาระจำยอมมิได้มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ เกินกว่าสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา9888/2560   การที่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 มาตั้งแต่ปี 2528 แม้ได้ขายให้ ว. ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ ว. ขายให้ผู้อื่นแล้วจำเลยซื้อที่ดินมาจากผู้อื่นนั้น จึงต้องนับระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่ปี 2528 หาใช่นับแต่ปี 2553 ที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อนับระยะเวลาจากปี 2528 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จำเลยจึงได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางพิพาทเฉพาะเพื่อใช้เดินและเป็นทางพาหนะเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนกรุงธนบุรี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382ป.พ.พ. มาตรา 1387 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ภาระจำยอมนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น การที่จำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อจอดรถยนต์และขนถ่ายสินค้านั้นเป็นไปเพื่อความสะดวกของจำเลยกับบริวาร และเพื่อการประกอบอาชีพหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลย มิใช่เพื่ออสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ของจำเลยแต่อย่างใด ทั้งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภารยทรัพย์ของโจทก์ด้วย แม้จำเลยและบริวารจะใช้ทางพิพาทเพื่อการดังกล่าวมานานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอม เพราะ ป.พ.พ. ว่าด้วยเรื่องภาระจำยอมมิได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ภารยทรัพย์ของผู้อื่นเกินกว่าสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ
  
        เจ้าของที่ดินที่ได้รับสิทธิใช้ทางภาระจำยอมในที่ดินแปลงอื่น ได้โอนขายที่ดินให้กับผู้อื่น สิทธิใช้ทางภาระจำยอมย่อมตกไปยังเจ้าของที่ดินคนใหม่ด้วย เช่น
        
        คำพิพากษาศาลฎีกา13287/2558 ผู้ร้องได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์มาจากโจทก์ที่ 1 ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ที่โอนด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางภาระจำยอมได้ ดังนั้น ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ขอให้มีคำสั่งให้ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมของผู้ร้องแทนโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสามยทรัพย์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้รับรองสิทธิในภาระจำยอมได้ เพราะการเสนอคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ต้องมีกฎหมายสนับสนุน

        ถ้า
ใช้ทางภาระจำยอมในที่ดินแปลงอื่น โดยได้มาจากนิติกรรม ซึ่งนิติกรรมนั้นไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ทางภาระจำยอมย่อมติดไปแม้จะได้จำหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น เช่น 

        คำพิพากษาศาลฏีกา13287/2558 ป.พ.พ. มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น ซึ่งหมายความว่า ภาระจำยอมย่อมตกติดไปกับสามยทรัพย์เสมอ ไม่ว่าจะโอนสามยทรัพย์ให้ผู้ใด เว้นแต่กรณีภาระจำยอมได้มาโดยนิติกรรมและนิติกรรมที่ก่อตั้งภาระจำยอมได้จำกัดไว้ว่าให้ภาระจำยอมระงับไปเมื่อมีการโอนสามยทรัพย์ไปยังบุคคลอื่น ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้น
         
        เมื่อได้สิทธิทางภาระจำยอมมาแล้ว ถ้าไม่ได้ใช้ประโยชน์สิบปี ภาระจำยอมนั้นย่อมสิ้นไปด้วย  เช่น

        คำพิพากษาศาลฏีกา 2623/2559  ล. สร้างบ้าน ทำคันปูนและปลูกต้นไม้รุกล้ำทางภาระจำยอม ต่อมาจำเลยรื้อต้นไม้และคันปูนออกแล้วต่อเติมเป็นห้องพักให้ ล. โจทก์จึงไม่สามารถใช้ที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นทางเข้าออกได้ โจทก์ไม่ได้ใช้ที่ดินส่วนดังกล่าวถึงวันฟ้องเกิน 10 ปี ภาระจำยอมในที่ดินส่วนนั้นจึงสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399

        จากที่นำเสนอมาทั้งหมด ก็น่าจะเพียงพอที่จะทราบถึงการได้มาซึ่งสิทธิทางภาระจำยอม และพอเป็นแนวทางในการใช้สิทธิทางภาระจำยอมต่อไปได้ 


**************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/   
        

วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ก็ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ก็ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้


    
    ในคดีอาญา ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดี ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ 

        คำร้องต่อศาลขอจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้  ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และผู้เสียหายที่ยื่นคำร้องนี้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง โดยคำร้องต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง และจะขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ นี่คือ   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44 /1

advertisement



        คำว่า"ผู้เสียหาย" ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44 /1 จึงไม่ต้องถือความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) เนื่องจากข้อความในตัวบทขัดกับคำอธิบาย  และการที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายไม่อาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่พนักงานอัยการได้เรียกแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ 44/1 วรรคสาม ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย หรือเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ การที่ผู้เสียหายมีส่วนในการกระทำความผิดด้วย ศาลใช้เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น เช่น         

        คำพิพากษาศาลฎีกา 2412/2562  แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างเกินกว่าความหมายของผู้เสียหายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) ถือได้ว่าขัดกัน การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44 /1 จึงไม่ต้องถือความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ทั้งการที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายไม่อาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่พนักงานอัยการได้เรียกแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ 44/1 วรรคสาม ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ทั้ง มาตรา 44/1 วรรคสอง ก็บัญญัติความว่า.... ถือว่าคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ย จึงใช้สิทธิในคดีส่วนแพ่งได้ และคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อคดีส่วนแพ่งโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นพิพากษายอมความแล้ว ซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนอาญาขอให้รอการลงโทษเท่านั้น คดีส่วนแพ่งจึงยุติและต้องบังคับไปตามคำพิพากษาตามยอม ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบที่วินิจฉัยให้เฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น

advertisement



        คำพิพากษาศาลฎีกา 5400/2560 ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกา14023/2557

              แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ มาตรา 44/1 ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่คดีในส่วนอาญาได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปก่อนแล้วจึงมีการพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งในภายหลัง เช่นนี้ปัญหาว่าผู้ร้องมีส่วนประมาทด้วยมีผลทำให้ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 หรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาในคดีส่วนแพ่ง การที่ผู้ร้องมีส่วนประมาทซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ศาลต้องพิเคราะห์พฤติการณ์ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรนั้น มิได้ทำให้ความเป็นผู้เสียหายของผู้ร้องในอันที่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่ยื่นไว้ในคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วสูญสิ้นไปแต่อย่างใด ผู้ร้องยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวทุกประการ เพียงแต่จะเรียกได้มากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ว่าผู้ร้องกับจำเลยฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเท่านั้น ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าผู้ร้องประมาทด้วยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจึงฟังไม่ขึ้น

         ความเสียหายที่จะบังคับให้ชดใช้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 นั้น จะต้องเป็นความเสีหยายที่เกิดจากการกระทำผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น จะเรียกเอาจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกา 3273/2563

          การที่ผู้เสียหายจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกา 4561/2565

    ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุ ...หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ แม้ดอกเบี้ยของราคาใช้แทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจักรยานยนต์ และค่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามตลอดจนค่าติดตามเอารถคืน มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยที่เบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต จึงชอบที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ การที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 26,016 บาท นั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยไม่ส่งมอบรถจักรยานยนต์ดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงิน 26,016 บาท ได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 เมื่อไม่ปรากฏว่าเวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมมีคำขอและฎีกาขอเรียกดอกเบี้ยของราคาใช้แทนนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง อันเป็นช่วงเวลาก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาจึงไม่อาจกำหนดให้ได้


**************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     

                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/