วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564

อายุความฟ้องคดีอาญา ถือตามความผิดที่พิจารณาได้ความ

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

อายุความฟ้องคดีอาญา

        (คลิกป้ายโฆษณา เพื่อส่งกำลังใจผู้จัดทำ)

        อายุความฟ้องคดีอาญา เป็นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้สามารถฟ้องและนำตัวผู้กระทำผิดมายังศาล เพื่อพิจารณาลงโทษตามฐานความผิด ถ้ามิได้ฟ้องและนำตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายในระยะเวลาดังกล่าว จะทำให้คดีขาดอายุความ  มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย่อมระงับไป ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้

        อายุความฟ้องคดีอาญา ถือตามฐานความผิด ดังนี้

        1.อายุความ 20 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุกประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปี

        2.อายุความ 15 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 7 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี 

        3.อายุความ 10 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 7 ปี

        4.อายุความ 5 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 เดือนถึง 1 ปี

        5.อายุความ 1 ปี สำหรับฐานความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา หรือต้องโทษอย่างอื่น

        ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าว นับแต่วันที่หลบหนึหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน 

        อายุความตามฐานความผิด ถือตามอัตราโทษสูงสุดสำหรับฐานความผิดนั้น  เช่น   ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157(เดิม) มีระวางโทษจำคุกต้ังแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทหรือสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 726/2563  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157(เดิม) มีระวางโทษจำคุกต้ังแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทหรือสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) จำเลยกระทำความผิดในปี 2546 ถึง 2547 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ยังไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

        อายุความตามฐานความผิด  นั้นต้องถือตามฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ เช่น ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ฯ ซึ่งมีอายุความตามฐานความผิด ที่ 20 ปี แต่ศาลพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกต้ังแต่หนึ่งปีถึงสิบปี จึงมีอายุความ 15 ปี เช่น 

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1272/2563 อายุความฟ้องคดีอาญาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามอัตราโทษสำหรับข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ 

        คำพิพากษาศาลฎีกา 726/2563 การออกบันทึกข้อความหนังสือเวียนเรื่องการรับเงินทุกประเภท เป็นการกระทำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติที่รับเงินนำส่งมาให้ จ.หัวหน้างานของจำเลยจัดการหรือรักษาไว้ หาได้บันทึกมอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินนั้นด้วยไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหาย การที่จำเลยเบียดบังยักยอกเงินของผู้เสียหายที่จำเลยรับมาตามบันทึกของ จ.ไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
        จำเลยรับเงินของผู้เสียหายมาแล้ว เบียดบังไปเป็นของตนเองโดยทจุริต ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานแต่กลับกระทำความผิดอาญาต่อหน่วยราชการที่ตนสังกัดอยู่ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157(เดิม)
        ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157(เดิม) มีระวางโทษจำคุกต้ังแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทหรือสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) จำเลยกระทำความผิดในปี 2546 ถึง 2547 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ยังไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

        ฟ้องขอให้ลงโทษเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ,83 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี มีอายุความ 20 ปี แต่ศาลพิจารณาได้ความว่า เป็นตัวการร่วมทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอัตรายสาหัส ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี จึงมีอายุความ 15 ปี เช่น

        คำพิพากษาฎีกาที่ 1272/2563 อายุความฟ้องคดีอาญาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามอัตราโทษสำหรับข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ เมื่อได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี จึงมีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิด เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 จึงเกิน 15 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ



        เมื่อคดีขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ศาลจะพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185  เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกา 8141-8145/2561 วามผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ตามมาตรา 376 มีอายุความฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) เมื่อเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 12 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงขาดอายุความ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

        ปัญหาว่า คดีอาญาขาดอายุความหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างมาก่อนตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลมีอำนาจยกขึ้นอ้างแล้วพิพากษาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 แต่สำหรับคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อไม่ได้ยกขึ้นอ้างว่าคดีส่วนแพ่งขาดอายุความ ศาลไม่อาจยกอายุความขึ้นวินิจฉัยได้ โดยถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น เนื่องจาก ปัญหาว่าคดีแพ่งขาดอายุความหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกียวกับความสงบเรียบร้อย  เช่น 

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7147/2562 แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งฐานมูลละเมิดเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยอาศัยมูลคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และแม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะขาดอายุความเนื่องจากไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ภายในอายุความสิบปีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ก็บัญญัติว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จำเลยสามารถหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้

        เมื่อศาลจะพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากคดีขาดอายุความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ จึงต้องยื่นอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษานั้นต่อไป โดยศาลจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามกฎหมายในเรืองการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา

        ข้อควรระวัง คือ การฟ้องคดีโดยไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยถ้าข้อหาที่ฟ้องเป็นฐานความผิดที่เป็นคดีอาญาแผ่นดิน เช่น ข้อหาลักทรัพย์ แต่ศาลพิจารณาได้ความว่า เป็นความผิดฐานอาญาฐานยักยอก ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่ยอมความกันได้ เมื่อไม่ได้ร้องทุกข์ไว้ภายในอายุความร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 ย่อมทำให้ศาลลงโทษในฐานความผิดยักยอกไม่ได้ แม้จะเป็นความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความก็ตาม เช่น 

            คำพิพากษาศาลฎีกา16081/2555 โจทก์พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ ประสงค์จะปลูกต้นสนไว้เพื่อขายจึงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้จัดการหาต้นสนมาปลูกและดูแลต้นสน ต้นสนของโจทก์ทั้งสามอยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่จำเลยตัดต้นสนโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบ หรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม และจำเลยรับเงินค่าต้นสนทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ของตนเองไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้นสน แต่เป็นความผิดฐานยักยอกแม้ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาลักทรัพย์อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แต่ศาลฎีกาพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 356 บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

            แม้วันสุดท้ายที่มีสิทธิการร้องทุกข์ เพื่อให้ดำเนินคดีอาญานั้น จะตรงกับวันหยุดราชการ แต่การร้องทุกข์สามารถจะทำได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เมื่อมาร้องทุกข์ในวันทำการ ไม่ได้ร้องทุกข์ในวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ย่อมทำให้คดีขาดอายุความ เช่น


            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/54 เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแล้วย่อมถือว่า จ. เป็นตัวแทนของทายาททั้งหมด มีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์มรดก ทั้งดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อผู้ที่กระทำความเสียหายแก่กองมรดกด้วย ดังนั้นเมื่อ จ. นำคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไปดำเนินการที่ธนาคาร ก. สาขาวังทอง เพื่อขอรับเงินในบัญชีของเจ้ามรดก แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่าจำเลยนำคำสั่งศาลแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมารับเงินในบัญชีไปแล้ว ย่อมถือว่า จ. รู้เรื่องผู้กระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว และต้องถือว่าโจทก์ร่วมในฐานะทายาททราบเรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วด้วยแม้วันสุดท้ายที่โจทก์ร่วมมีสิทธิร้องทุกข์ จะตรงกับวันหยุดราชการ แต่การร้องทุกข์สามารถกระทำได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ โจทก์ร่วมไม่ร้องทุกข์ในวันสุดท้าย คดีจึงขาดอายุความ

**************************
ขอขอบคุณ 

           1.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search    
     
                2.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/   

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น