วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566

เงินถูกดูดออกจากบัญชี แจ้งระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวได้

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

      มีกฎหมายใหม่ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เมื่อมีเหตุเงินถูกดูดออกจากบัญชี สามารถแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวได้ เพื่อการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย คือ พระราชกำหนดมาตราการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 

       และในพระราชกำหนดนี้ ได้บัญญัติความผิดของผู้เปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนเองหรือเพื่อกิจการของตนที่เกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพทสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน  หรือผู้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ผู้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ด้วย 

       เหตุผลในการประการใช้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนท่ัวไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมากและผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด ซึ่งแต่ละวันประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำผิดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

        ในพระราชกำหนดนี้ "อาชญากรรมทางเทคโนโลยี" หมายความว่า การกระทำหรือพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ 

       ในพระราชกำหนดนี้ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่พบเหตุสงสัยหรือได้รับแจ้ง ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินฯ  โดยให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมและแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไป พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลฯ เพื่อให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา หรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตรวจสอบ ถ้าปรากฎพยานหลักฐานอันควรเชื่อ ให้ดำเนินการตามกฎหมายภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับการทำธุรกรรม หรือแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ  หากไม่ปราฎพยานหลักฐานที่น่าเชื่อให้แจ้งผลการตรวจสอบ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจทราบ เพื่อยกเลิกการระงับการทำธุรรม หรือถ้าพ้นกำหนด 7 วัน แล้วไม่ได้รับแจ้ง ให้ยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น 

        ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากหรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ สามารถแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจว่าได้มีการทำธุรกรรมโดยบัญชีเงินฝากหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์และเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญกรรมทางเทคโนโลยี  เพื่อให้ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมุลฯ เพื้อให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที  และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง  โดยการร้องทุกข์ จะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักรหรือต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ได้ และจะร้องทุกข์โดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ 

        ความผิดของผู้เปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนเองหรือเพื่อกิจการของตนที่เกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพทสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน โดยประการที่่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาอื่นใด มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       ความผิดของผู้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาอื่นใด  มีโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       ความผิดของผู้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ มีโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       ในพระราชกำหนดนี้  ให้การเปิดเผย การแลกเปลี่ยน การเข้าถึง ตลอดจนการเก็บ การรวบรวมหรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ผู้ได้รับหรือครอบครองข้อมูลจะเปิดเผยให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบมิได้ 

----------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก  

            พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566


วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566

ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในทางพิจารณาแตกต่างกับดังที่กล่าวในฟ้อง

 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


         บทความนี้ นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ซึ่งเป็นการทบทวนหลักกฎหมายและแนวคำวินิจฉัยของศาล ดังนี้

        ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวไว้ในฟ้อง 

         วรรคสอง ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้ 

        วรรคสาม ในกรณีที่ข้อแตกต่างกันนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร หรือทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฎแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ 

        จากหลักกฎหมายดังกล่าว ในคดีอาญา การบรรยายฟ้อง คำขอท้ายฟ้องและการนำสืบข้อเท็จจริงตามฟ้อง เป็นเรื่องสำคัญที่โจทก์จะต้องทำให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158  เนื่องจากศาลมีขอบเขตการพิจารณาพิพากษาเป็นไปตามหลักกฎหมายมาตรา 192 ดังกล่าวนั่นเอง    

         ถ้าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้อง เป็นกรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างหนึ่ง แต่ในทางพิจารณาต่อศาลจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย  พบว่าแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้อง ศาลจะยกฟ้อง

         ผลของการยกฟ้องในคดีอาญา ถือว่ามีศาลคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) กล่าวคือ ในการกระทำผิดครั้งเดียวกันจะฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในครั้งนั้นไม่ได้  ทำได้เพียงการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีที่ศาลยกฟ้อง ซึ่งจะมีข้อจำกัดในการห้ามอุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามบทบัญญัติกฎหมาย  เช่น 


คำพิพากษาศาลฏีกา 1333/2564

        โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 จำเลยทั้งสามร่วมกันนำรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเอกสารปลอมไปใช้แสดงต่อโจทก์ร่วมว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมิน 7,530,000 บาท ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ จึงได้ตกลงกับจำเลยทั้งสามและซื้อที่ดินแปลงนี้จากเจ้าของที่ดิน แต่เมื่อข้อเท็จจริงจากทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งส่งรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมให้แก่โจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 หลังจากที่มีการจดทะเบียนซื้อขายแล้ว บ่งชี้ชัดว่า เหตุที่โจทก์ร่วมตัดสินใจซื้อที่ดินในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ในราคา 3,840,000 บาท หามีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ และการที่โจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 1 ส่งรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินให้แก่โจทก์ร่วม ซึ่งรายงานดังกล่าวลงวันที่ 11 มิถุนายน 2558 อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่โจทก์ร่วมทราบความจริงว่าซื้อที่ดินผิดแปลงแล้ว ทำให้เชื่อว่าโจทก์ร่วมเร่งรัดจำเลยที่ 1 ให้ส่งรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินของที่ดินที่ซื้อผิดแปลงมาให้แก่โจทก์ร่วม ด้วยประสงค์จะทราบมูลค่าที่ดินแปลงที่ซื้อผิดมานี้เพื่อประเมินความเสียหายอันเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการซื้อที่ดินเป็นข้อสาระสำคัญ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินปลอมที่นำมาใช้อ้างต่อโจทก์ร่วมอันพิจารณาได้ความเช่นนี้ จึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายในฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เกิดการกระทำความผิดและวัตถุประสงค์ของการใช้รายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินปลอม ซึ่งข้อแตกต่างดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อสาระสำคัญเนื่องจากเป็นการกระทำความผิดคนละวันเวลาและมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดไม่เหมือนกันอันอาจเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ได้ กรณีจึงต้องยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกา 5069/2562 

        สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกา 289/2560

        โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
        โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้าย ณ. แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวว่า เป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่และปัญหาเรื่องฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกา 2309/2558

        สิทธินำคดีมาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) มุ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดอันหนึ่งอันเดียวกันในคราวเดียวกัน ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีเป็นการกระทำเดียวกันที่ทำให้เกิดความผิด กล่าวคือ เป็นเรื่องที่จำเลยตกลงให้โจทก์ชำระค่าซื้อที่ดินพิพาท แล้วจะให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ซื้อขายโดยมีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงคนละครึ่ง แต่จำเลยไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์ กลับนำที่ดินบางส่วนไปขายและขออกโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง แม้โจทก์แยกฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 คดี โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 945/2553 ของศาลชั้นต้น กล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหลอกลวงโจทก์ ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง ส่วนคดีนี้กล่าวหาว่าเป็นการกระทำฐานยักยอกก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ การกระทำของจำเลยทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกันและต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยมีเจตนาเดียวกัน ย่อมเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยในเรื่องการกระทำความผิดของจำเลย และมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

.....................................................
        ถ้าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้ รวมทั้งข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม  เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกา 1513/2564    

        จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุขณะโจทก์ร่วมที่ 1 ถูกกระทำชำเรา แม้มิได้ร่วมกระทำชำเราด้วย แต่ก็มิได้ขัดขวางหรือห้ามปราม กลับได้ความว่าจำเลยมอบถุงยางอนามัยให้แก่ ต. ก่อนที่ ต. จะเข้าไปกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งเมื่อบุคคลอื่นจะเข้าไปช่วยเหลือโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยกลับดึงแขนอันเป็นการขัดขวางมิให้บุคคลนั้นเข้าไปช่วยเหลือ พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่พวกของจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนกระทำความผิด จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ ไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกา 1366/2564  

        ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยคบคิดกับพวกที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ทั้งขณะพวกของจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์และมิได้ร่วมกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง แต่การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปให้พวกของจำเลยกระทำชำเรา และมิได้ช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 2 หรือห้ามปรามพวกของจำเลย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่พวกของจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก่อนกระทำความผิด จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกา 1732/2532 

        การที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่ง เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดออกเช็ค โดย มีจำเลยที่ 2 ซึ่ง เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราของจำเลยที่ 1แม้ข้อเท็จจริงตาม ทางพิจารณาจะได้ความว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย มิใช่จำเลยที่ 2 ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียดของการบรรยายฟ้องอันเกี่ยวกับตัว ผู้ทำการแทนนิติบุคคลเท่านั้น มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกา 1697/2522

        โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยร่วมกันใช้อำนาจด้วยกำลังกายผลักผู้ตายให้ตกลงมาจากรถยนต์โดยสารสองแถวเล็กถึงแก่ความตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,83 แม้ทางพิจารณาจะไม่ได้ความชัดว่าพวกของจำเลยผลักผู้ตายตกลงจากรถตามที่โจทก์ฟ้อง แต่การที่พวกของจำเลยใช้มือดึงมือผู้ตายมือต่อมือในขณะผู้ตายอยู่ท้ายรถ ไม่มีอะไรยึดเหนี่ยว ไม่ให้ตกลงไปจากรถ และขณะเดียวกันนั้นจำเลยขับรถพาผู้ตายไปด้วยความเร็วมาก ถ้ามือของผู้ตายหลุดจากมือของพวกจำเลยหรือพวกของจำเลยปล่อยมือผู้ตายไป ผู้ตายย่อมจะต้องเสียหลักตกจากรถและจะต้องได้รับอันตรายถึงแก่ความตายได้อย่างแน่นอน เหตุนี้การที่ผู้ตายหลุดจากมือของพวกจำเลยไม่ว่าจะเป็นโดยผู้ตายดึงหลุดหรือพวกของจำเลยปล่อยให้หลุด จนเป็นเหตุให้ผู้ตายตกลงจากรถในลักษณะนอนหงายท้ายทอยน่วม เลือดออกจากปากถึงแก่ความตาย จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำของจำเลยกับพวก เห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลร้ายได้อย่างแน่ชัด จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจะแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ก็มิใช่ข้อสารสำคัญ และทั้งจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกา 1507/2515

        โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาทโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่ารถที่จำเลยขับมีสภาพเก่าและชำรุดมาก มีเครื่องอุปกรณ์ส่วนประกอบไม่ครบถ้วน ไม่มั่นคงแข็งแรงพอที่จะขับขี่ไปในถนนหลวง หรือจะจัดการแก้ไขซ่อมแซมให้มั่นคงเสียก่อน แต่จำเลยบังอาจขับรถดังกล่าวไปตามถนนหลวง คานล้อหน้าด้านขวาของรถจำเลยซึ่งผุและชำรุดอยู่แล้วหลุดออกจากตัวรถ และล้อหน้าด้านขวาหลุดออกจากคานบังคับเป็นเหตุให้รถเสียการทรงตัวเอียงไปทางขวา วิ่งแฉลบออกล้ำเส้นทางไปทางขวา จำเลยไม่สามารถบังคับให้รถหยุดได้เพราะเบรคชำรุดรถจำเลยจึงเฉี่ยวรถคันอื่นซึ่งวิ่งสวนทางมา เป็นเหตุให้คนในรถคันนั้นถึงแก่ความตาย เมื่อทางพิจารณาได้ความว่ารถจำเลยมีสภาพเก่าชำรุดไม่มั่นคงพอที่จะนำออกขับไปตามถนนหลวง แต่จำเลยก็ยังขืนนำออกขับไปถึงแม้จะได้ความว่าเหตุเกิดขึ้นเพราะล้อหน้าด้านขวาของรถจำเลยหลุดเหตุที่ล้อหลุดก็เพราะน็อตขาด ซึ่งเนื่องมาจากรถมีสภาพเก่าชำรุดอยู่แล้วนั่นเอง ดังนี้ แม้จะไม่ได้ความเรื่องคานล้อหน้าหลุดก็เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่สารสำคัญ จะถือเป็นเหตุยกฟ้องหาได้ไม่ และยังถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกา 1140/2506


        โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้ จ้าง วานผู้อื่นให้ปลอมเอกสารแล้วจำเลยได้นำเอกสารปลอมนั้นไปใช้ ขอให้ลงโทษ ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมิได้ปลอมเอกสารด้วยมือจำเลยเอง แต่ก็ได้ร่วมกระทำโดยจัดให้ผู้อื่นกับพวกปลอมเอกสารขึ้น แล้วจำเลยนำเอกสารนั้นไปใช้ ดังนี้ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถึงกับจะต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 2

...........................................
        ข้อแตกต่างกันนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร หรือทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฎแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกา 5846-5847/2555

        แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่ฐานความผิดที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็เป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์อันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ฉะนั้นหากปรากฎว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 กระทำความผิดฐานรับของโจร อันเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 192 วรรคสาม จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธโดยนำสืบอ้างฐานที่อยู่แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกา 115/2544

        โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก แต่การกระทำผิดฐานลักทรัพย์และยักยอกต่างเป็นการได้ทรัพย์ไปเช่นเดียวกันจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งข้อแตกต่างดังกล่าวป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสามบัญญัติว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ และมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษเมื่อจำเลยให้การปฎิเสธและนำสืบว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม แต่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้

------------------------------------

อ้างอิง
        คำพิพากษาศาลฎีกา,ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา,สืบค้น 3 มีนาคม 2566,จาก http://deka.supremecourt.or.th/search/index/2