วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

ผู้จัดการมรดก (กฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 

ผู้จัดการมรดก

        ผู้จัดการมรดก  

        เป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผู้สอบถามกันมากที่เดียวว่า ก็ผู้ที่ถามส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีมรดกทั้งนั้นเลย และผู้ที่ถามก็เข้าใจว่า  ถ้าได้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว สามารถโอนย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายมาเป็นของตนเองได้ ซึ่งคำว่า "ผู้จัดการมรดก" ก็ตีความตรงๆ อยู่แล้ว คือ จัดการมรดก ซึ่งทรัพย์ที่เป็นมรดก ต้องสำรวจตรวจสอบก่อนว่า ใครเป็นผู้สิทธิได้รับมรดกของผู้ตายบ้าง และมีทรัพย์อะไรบ้าง ไม่ใช่เมื่อเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว โอนย้ายทรัพย์มาเป็นของผู้จัดการมรดกทั้งหมด อันนี้ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป มิฉะนั้น การทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยทุจริต ก็จะมีความผิดทางอาญา ฐานยักยอกทรัพย์มรดก โทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไปเกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกจำกัดไม่ให้รับมรดกเลยตามกฎหมาย เนื่องจากมีการปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดกนั่นเอง   

         ผู้จัดการมรดก ตั้งได้โดยพินัยกรรมตามมาตรา 1711 และมาตรา 1712(1) ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามคำสั่งศาลโดยมีเหตุตาม มาตรา  1713 ที่บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ จะร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณี ดังต่อไปนี้ (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขตหรือเป็นผู้เยาว์  (2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก (3) เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใดๆ " ฉะนั้น บุคคลใดตาย เมื่อผู้ตายมีมรดกและไม่ได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหรือตามพินัยกรรมไม่ได้ต้ังผู้จัดการมรดกไว้ เมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันมรดก มีการคัดค้านผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ก็ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งต้ังผู้จัดการมรดก เช่น การเบิกเงินในบัญชีธนาคาร  การโอนที่ดิน รถ จะต้องใช้หลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดก เป็นต้น

        ใครจะเป็นผู้จัดการมรดกได้บ้าง   ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกสามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ถ้าเจ้ามรดกระบุในพินัยกรรมให้คนนอกที่ไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกเป็นผู้จัดการมรดก บุคคลตามพินัยกรรมก็เป็นผู้จัดมรดกได้ทั้งนี้ตามมาตรา 1711 และมาตรา 1712(1) แต่ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายห้ามเป็นผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1718 คือ  (1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (2)บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ (3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย  ก็เป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้  แต่ผู้จัดการมรดกที่ตั้งจากพินัยกรรม อาจมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ต้องให้ศาลมีคำสั่งตั้ง หรือมีทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียยื่นคัดค้านต่อศาล เพราะไม่เชื่อในความสมบูรณ์ของพินัยกรรม ก็ต้องให้ศาลวินิจฉัยและมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเช่นเดียวกัน  เช่น


        คำพิพากษาศาลฏีกา2206/2548  คดีก่อนผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผู้ตายอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ศาลชั้นต้นยกคำร้องและคำคัดค้านให้เหตุผลว่าผู้ตายได้ตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมไว้แล้ว ไม่มีเหตุจะตั้งผู้จัดการมรดกอีก   

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่1840/2551 คดีนี้ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก แต่การตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมกรณีนี้หามีผลสมบูรณ์โดยเด็ดขาดไม่ เพราะผู้คัดค้านได้คัดค้านไว้ว่า ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรม ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย จึงเป็นพินัยกรรมปลอม กรณีจึงถือว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง

         คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 4419/2562 บทบัญญัติในวรรคสองของ ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยพิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม หรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

advertisement(คลิก)


        ใครจะเป็นผู้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ก็คือ ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ เป็นผู้ร้องขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ในความหมายคือ ถ้าเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ต้องใช้ทนายความในการดำเนินการทางศาล  แต่ถ้าไม่จ้างทนายความก็ไปที่สำนักงานอัยการ ขอให้พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้เช่นเดียวกัน  เช่น 


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่1243/2563 เมื่อผู้ร้องมิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลัง ถือว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713  

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่5674/2562 ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกตาม มาตรา 1713 ได้

        แต่ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตัวเองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ได้เช่นเดียวกัน  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2562 เมื่อผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับพินัยกรรมว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมในคดีนี้เป็นพินัยกรรมปลอม เนื่องจากลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของผู้ตายที่ผู้คัดค้านเคยพบเห็นมาก่อน เท่ากับผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม
               

        
        การขอตั้งผู้จัดการมรดก การเป็นผู้จัดการมรดก หรือการคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง  เมื่อผู้ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้ร้องไม่อาจเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้   เช่น

        คำพิพากาษาศาลฏีกาที่ 4547/2562  การขอตั้งผู้จัดการมรดก การเป็นผู้จัดการมรดก หรือการคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง ทายาทของผู้ร้องไม่อาจเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้ ผู้ร้องถึงแก่ความตายก่อนยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้อง ทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องย่อมหมดสภาพจากการเป็นทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้อง และถือว่าล่วงเลยเวลาที่ทนายผู้ร้องจะจัดการอันสมควรเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ที่ผู้ร้องมอบหมายแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องอีกต่อไป การที่ผู้ร้องฎีกาโดยทนายผู้ร้องเป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบ

        ผู้จัดการมรดกหลายคนที่ตั้งโดยพินัยกรรม ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ (ต้องจัดการมรดกด้วยกัน) แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกหลายคนที่ศาลมีคำสั่งตั้ง ให้กระทำการโดยถือเสียงข้างมาก เช่น
       
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553 แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองบัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำดับ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้" ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมารตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

        เมื่อเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว มีสิทธิจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยทั่วไป เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ไม่จำกัดเฉพาะทรัพย์สินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น  เช่น 

                                                                    ADVERTISEMENT (โฆษณา)


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่9497/2552 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2544 ที่พิพากษาตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ต. ผู้ตายโดยกำหนดให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายนั้นมีความหมายว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1711 โดยมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 มิได้จำกัดให้ผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะจัดการมรดกเฉพาะเท่าที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น แต่ให้มีอำนาจในการจัดการมรดกโดยทั่วไป ซึ่งหมายความถึงทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตายเท่าที่มีอยู่ไม่ว่าจะระบุไว้ในพินัยกรรมหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นการที่ผู้ร้องฎีกาโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำพิพากษาศาลฎีกา 8045/2544 ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมหรือที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมแต่ประการใดนั้น เป็นการนำคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับมาแปลความเบี่ยงเบนกล่าวอ้างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองเพื่อให้ได้เป็นผู้จัดการมรดกในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกอื่น ๆ ที่ผู้ตายมิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมอันเป็นการไม่ชอบ

        เมื่อเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว มีสิทธิจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยทั่วไป เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทหรือผู้มีสิทธิได้รับ ซึ่งผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ เว้นแต่พินัยกรรมได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล(มาตรา 1722) การจัดการทรัพย์โดยให้ตนเองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้ตายทั้งหมด หรือปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดกมาเป็นของตนเองหรือผู้อื่น จะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354  ที่มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไปเกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  และทายาทคนอื่นร่วมมือกับผู้จัดการมรดก ยักยอกทรัพย์มรดก ถือเป็นผู้สนับสนุนผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดก มีความผิดและรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353,354 ประกอบด้วยมาตรา 86 เช่น 

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 987/2554 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต โดยจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 ประกอบด้วยมาตรา 354 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 352 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
        แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตอันเป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กระทำในฐานเป็นผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353,354 ประกอบด้วยมาตรา 86



        ผู้จัดการมรดกกระทำผิดยักยอกทรัพย์มรดก เป็นคดีความผิตต่อส่วนตัว ต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น จะขาดอายุความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18079/2555โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดก ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอก แต่ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานรับของโจร เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และแม้ว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ามีความผิดฐานรับของโจร แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 วางแผนโอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ความผิดเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนหุ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เป็นความผิดฐานร่วมยักยอกตามฟ้อง ฉะนั้น คดีส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงขาดอายุความแล้วเช่นกัน
        
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6532/2562 ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ กรณีจะขาดอายุความได้หากผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 96 ถึงแม้ว่าโจทก์ทั้งห้าจะทราบเรื่องเวนคืนของที่ดินแปลงอื่นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1379/2553 และจากคำให้การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 201/2551 ว่าที่ดินพิพาท ค่าเวนคืนและค่าเช่าของจำเลยตามที่จำเลยฎีกาอันจะส่อว่ารู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่โจทก์ทั้งห้ายังไม่รู้เรื่องความผิด จนกระทั่งได้รับหนังสือตอบปฏิเสธจากจำเลยเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ว่าจำเลยไม่ส่งมอบเงินคืนให้กองมรดก การที่โจทก์ทั้งห้าไปร้องทุกข์ในวันที่ 20 เมษายน 2560 ว่าจำเลยไม่ส่งมอบเงินคืนให้กองมรดก และนำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์ทั้งห้าจึงไม่ขาดอายุความ
โฆษณา(คลิก)



        การที่ผู้จัดการมรดก จัดการมรดกไม่ถูกต้อง จัดการทรัพย์สินเสียหาย  ต้องฟ้องภายใน 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา (1733 วรรคสอง)

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด"

        เมื่อรับทราบคำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ต้องลงมือจัดทำบัญชีมรดกภายใน 15 วัน ตามมาตรา 1728 และต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728  และบัญชีมรดกนั้น ต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกด้วย (มาตรา 1729) ถ้าละเลยต่อหน้าที่ ขอให้ศาลถอนผู้จัดการมรดกได้ โดยทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย(เป็นสิทธิเฉพาะตัว) ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนที่จะแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2552 คำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนระบุว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกทำให้ทายาทอื่นที่จะได้รับส่วนแบ่งในกองมรดกได้รับความเสียหายโดยผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านเป็นทำนองปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เนื้อหาตามคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 จึงแสดงรายละเอียดชัดเจนแล้วว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้มายื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นจำต้องไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 เพื่อฟังพยานหลักฐานจากผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องให้ครบถ้วนกระบวนความเสียก่อนว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ตามคำร้องขอหรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรที่ศาลจะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ดังกล่าวหรือไม่ รวามทั้งผู้ร้องได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1728 ถึง 1733 ซึ่งถือเป็นสาเหตุอย่างอื่นที่ศาลอาจเห็นว่าเป็นเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสียก็ได้หรือไม่ โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีเนื้อหาและประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเคยยื่นคำร้องขอแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดไปแล้วหรือไม่ เพราะในกรณีเช่นนี้ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 เป็นการเฉพาะตัวของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละคน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
advertisement

       
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

        คำพิพากษาศาลฎีกา2947/2560 ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาล ผู้ร้องฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหลายคดี ทำให้ผู้ร้องยังไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากทายาทผู้ครอบครอง จึงไม่อาจจัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นได้ เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ยังต้องรอผลคดีที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกก็ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของทายาทเพื่อดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดก ที่ทรัพย์มรดกของ ก. รวมทั้งหุ้นมรดกในบริษัทผู้คัดด้านตกทอดแก่ทายาทเมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการตกทอดของทรัพย์มรดกเท่านั้น ส่วนที่ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการจัดการมรดกเป็นอีกเรื่องซึ่งต้องพิจารณาแยกจากกัน หาใช่การตกทอดของหุ้นมรดกทำให้ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่อาจดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นมรดกแทนทายาทได้ไม่ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีการแบ่งปันหุ้นมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ก. ทุกคนเป็นเจ้าของรวมในหุ้นมรดกซึ่งยังคงอยู่ในชื่อของ ก. ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จะใช้สิทธิจัดการหุ้นมรดกแทนทายาท อันเป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของกองมรดก ที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกมอบอำนาจให้ ว. เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนนแทน จึงอยู่ในขอบอำนาจการดำเนินการของผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะอ้างว่าผู้ร้องใช้สิทธิในหุ้นมรดกที่ตกทอดแก่ทายาทแล้วเป็นการละเมิดสิทธิของทายาทหาได้ไม่ ที่ ส. ประธานในที่ประชุมมีคำวินิจฉัยให้ ว. ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เข้าประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ไม่ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเป็นการลดทอนรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น ทำให้หุ้นในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ก. ปราศจากอำนาจในการออกเสียง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1182 ที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิออกเสียงในการลงคะแนนเมื่อมีการประชุมผู้ถือหุ้น การลงมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นครั้งพิพาทที่ไม่ให้ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย

       จากที่ผู้เขียนได้นำเสนอ น่าจะมีข้อมูลเพียงพอ สำหรับผู้ที่จะขอต้ังผู้จัดการมรดก  และผู้ที่เป็นผู้จัดการมรดก ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องตามบทบัญญัติกฎหมาย รวมทั้งกรณีข้อควรระวังที่จะต้องรับผิดทางอาญา จากการเป็นผู้จัดการมรดกด้วย 

******************   
ขอขอบคุณ 
           ๑.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น