วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

การแจ้งความร้องทุกข์ (กฎหมายอาญา)

 บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

การแจ้งความร้องทุกข์

        การแจ้งความร้องทุกข์  

        ในที่นี้ จะกล่าวถึงการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีอาญา สำหรับการแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อให้ดำเนินคดีแพ่งนั้น ไม่มี เพียงแต่การแจ้งความร้องทุกข์เพื่อไปดำเนินคดีแพ่งนั้น จะเป็นการสร้างพยานหลักฐาน เพื่อนำไปอ้างเป็นพยานในคดีแพ่งได้ ส่วนจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้หรือไม่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง

        การแจ้งความร้องทุกข์ สำหรับคดีอาญานั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้มีการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีนั้น ลักษณะการแจ้งความร้องทุกข์ จะต้องครบตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด ที่ให้คำนิยาม " คำร้องทุกข์" หมายความถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้น ได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ"

        ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว องค์ประกอบของการแจ้งความร้องทุกข์ ที่จะทำให้พนักงานสอบสวน มีอำนาจทำการสอบสวน และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง จึงต้องประกอบด้วย 

        ๑.ผู้เสียหาย  หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนได้ (ดูตามมาตรา ๒ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) กล่าวคือ มีการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ก็ครบองค์ประกอบของการเป็นผู้เสียหายแล้ว เช่น มีผู้มาลักทรัพย์  หรือวิ่งราวทรัพย์เรา แต่ยังไม่สามารถจับตัวบุคคลนั้นได้ และไม่รู้จักบุคคลนั้นด้วย และทรัพย์เราถูกบุคคลนั้นเอาไปแล้ว เป็นต้น

        สำหรับ "ผู้เสียหาย" นั้น ถ้ามีส่วนในการกระทำความผิดนั้นด้วยหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย เช่น เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด เป็นต้น ในทางกฎหมายถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย กล่าวคือ ไม่มีผลเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ผู้เสียหายลักษณะนี้ ถ้าไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดี ถ้าเป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว ก็ไม่ถือเป็นผู้เสียหาย จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ เช่น



        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10908/2556 จำเลยฆ่า ส. ผู้ตายโดยบันดาลโทสะ ส. จึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ส. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ว. มารดาของ ส. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 รวมทั้งไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กับไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม

         แต่ถ้าเป็นคดีอาญาแผ่นดิน แม้ผู้แจ้งจะมีส่วนในการกระทำความผิดหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย จึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย แต่ถือเป็นผู้กล่าวโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้ความหมาย "คำกล่าวโทษ" ไว้ว่า "การที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ ได้ทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น"  ก็จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจทำการสอบสวน พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง แต่ผู้เสียหายที่มีส่วนในการกระทำความผิดอาญาแผ่นดินที่ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไปกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ ก็จะตกเป็น "ผู้ต้องหา" ด้วย (สำรวจตัวเองก่อนไปแจ้งครับ)

        คำพิพากษาศาลฎีกา20395/2555ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

        สำหรับ "ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย"  หมายถึงใครนั้น กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว คือ (ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 มาตรา 4  มาตรา 5 )

        -ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถที่อยู่ในความดูแลของผู้แทนโดยธรรมหรือผู้อนุบาล ผู้มีอำนาจจัดการแทนคือ "ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล"
        -ถ้าผู้เสียหาย ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้  ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย คือ บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา 
        -กรณีผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี จะให้สามีจัดการแทน หญิงนั้นต้องอนุญาตโดยชัดแจ้งให้สามีจัดการแทน แต่หากหญิงมีสามี ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ สามีมีอำนาจจัดการแทนได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากหญิงนั้น (คงไม่งง นะครับ)
        -กรณีนิติบุคคลเป็นผู้เสียหาย ผู้มีอำนาจจัดการแทน คือ ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคล 

       เมื่อเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย หรือเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามกฎหมายแล้ว การจะไปแจ้งความร้องทุกข์ นั้น สามารถไปแจ้งด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปแจ้งความร้องทุกข์ ก็สามารถทำได้ และกรณีผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ ไปไม่ได้ ก็สามารถมอบอำนาจช่วงได้(มอบอำนาจช่วงคือมอบอำนาจต่อ)ที่กล่าวไปแล้วก็ครบองค์ประกอบของการเป็นผู้เสียหาย

โฆษณา(คลิก)

 

        ๒.องค์ประกอบข้อต่อไปคือ "กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้" คือ เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ นั่นเอง แล้วเจ้าหน้าที่ที่ว่านั่นคือใคร นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้  ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองก็คือ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น แต่ในความเข้าใจของบุคคลทั่วไป การแจ้งความร้องทุกข์ จะไปแจ้งที่สถานีตำรวจ ก็จะจบขั้นตอนการแจ้งความร้องทุกข์แล้ว เพราะการไปร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครอง นั้นสามารถทำได้ แต่พนักงานฝ่ายปกครองก็ต้องส่งมอบคำร้องทกข์ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดำเนินการต่อไปอยู่ดี 

        การแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญานั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดการกระทำความผิด ผู้เสียหายจะไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจท้องที่ใดก็ได้ เพียงแต่ถ้าไม่ใช่ท้องที่ที่ความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้างว่าเกิดขึ้นหรือเชื่อว่าเกิดขึ้นในท้องที่ที่อยู่ในเขตอำนาจทำการสอบสวนของพนักงานงานสอบสถานีนั้น พนักงานสอบสวน จะส่งคำร้องทุกข์ไปยังสถานีตำรวจ ที่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในท้องที่ที่ความผิดอาญาเกิด อ้างหรือเชื่อว่าเกิดขึ้นในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนคนนั้น ทำการสอบสวนต่อไป  

        ๓.องค์ประกอบข้อต่อไป คือ"การกล่าวหาเช่นนั้น ได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ" ก็คือ กล่าวหาว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จนผู้เสียหายได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ โดยเจตนาจะมอบคดีให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการติดตามผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษตามกฎหมาย  คำร้องทุกข์ จึงต้องมีคำว่า "เพื่อให้ดำเนินคดี" ไม่ใช่แจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐานเฉยๆ และผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องระบุว่าบุคคลนั้นกระทำผิดอาญา ข้อหาอะไร  ไปแจ้งเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำที่เกิดขึ้นจนทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายก็เพียงพอ

        ก็ครบองค์ประกอบของการแจ้งความร้องทุกข์แล้วครับ ต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ จะดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายที่เกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อจะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและติดตามเอาตัวผู้กระทำมาฟ้องลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งจะใช้เวลามากน้อยเท่าใดนั้น บอกไม่ได้แต่ไม่น่าเกินอายุความฟ้องคดีของความผิดที่กล่าวหา

        ข้อควรระวังของการแจ้งความร้องทุกข์ก็คือ การแจ้งความร้องทุกข์เป็นการแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานอย่างหนึ่ง ถ้าผู้แจ้งรู้ว่าเรื่องที่แจ้งไม่เป็นความจริง(เป็นเท็จ) จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 137 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำหรือปรับ"ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปในเรื่องแจ้งความเท็จ เช่น 


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2498 นำความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวโทษว่าเขาลักตัดยางและเอาไฟเผาสวนยางด้วย โดยความจริงเขามิได้กระทำผิดดังข้อหานั้นเลย ดังนี้ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะมิได้จดข้อความที่แจ้งความนั้นไว้ในสมุดลงประจำวัน ผู้แจ้งก็มีความผิดแจ้งความเท็จ ร้องเรียนเท็จ(ฎีกานี้อธิบายถึงผู้แจ้งข้อความรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องเท็จขณะไปแจ้ง) 
        
        ถ้าแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาจะผิดบทเฉพาะคือ ผิดตามมาตรา 172 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ" และมีความผิดตามมาตรา 173 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดขึ้น แจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท" 

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2561 การที่จำเลยรู้ว่ามิได้เกิดเหตุลักทรัพย์รถกระบะ แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่าคนร้ายลักทรัพย์รถกระบะที่จำเลยเช่าซื้อไป เพื่อจะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยไปชำระค่างวดแก่ธนาคาร ก.ผู้ให้เช่าซื้อ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 173 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องปรับบทมาตรา 137 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่วๆไปอีก และเมื่อไม่เกิดมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1424/2554 จำเลยทราบว่าลายมือชื่อที่จำเลยอ้างว่าปลอม ความจริงเป็นลายมือชื่อของจำเลยซึ่งลงชื่อไว้ มิใช่ลายมือชื่อปลอม การที่จำเลยแจ้งว่ามีการปลอมลายมือชื่อจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดทางอาญาแก่พนักงานสอบสวนโดยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 และเมื่อจำเลยเอาความเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฟ้องเท็จอันเป็นความผิดตามมาตรา 175 อีกกระทงหนึ่ง ส่วนความผิดตามมาตรา 174 วรรคสอง ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จำเลยมิได้ยืนยันว่าผู้ที่ปลอมเอกสารคือโจทก์ โดยจำเลยแจ้งความเพียงว่าจำเลยสงสัยโจทก์ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรานี้
                                                                    ADVERTISEMENT (โฆษณา)


        อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านก็จะเข้าใจเกี่ยวกับการแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว จากที่ผู้เขียนนำเสนอไปนั้น จะเห็นว่าการเรียนกฎหมายและทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องตีความทุกคำในตัวบทกฎหมาย ก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปครับ  

******************   
ขอขอบคุณ 
           ๑.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น