วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 3

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี


         ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก  ที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่  เจ้าหน้าที่นั้นต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว  โดยให้ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่นั้นโดยตรง จะฟ้องหน่วยงานไม่ได้  ซึ่งในความเป็นจริงในทางปฏิบัติ จะห้ามผู้เสียหายไม่ให้ที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ ผู้เสียหายอาจไม่เชื่อ  เพียงแต่เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาล การต่อสู้คดีของหน่วยงานรัฐต้องชี้ให้ศาลเห็นว่า การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลภายนอกนั้น มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละะเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่นั้นโดยตรงจะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้  ซึ่งถ้าศาลฟังข้อเท็จจริงตามที่หน่วยงานของรัฐให้การและพิสูจน์เชื่อว่าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลภายนอก มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จะยกฟ้องในส่วนที่มีการฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นจำเลย นั่นเอง


          ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ ความรับผิดของเจ้าหน้าที่นั้นพิจารณาเพียง เป็นการกระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น  ไม่ได้พิจารณาว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ในกรณีนี้ ความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่อายุความเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ใช้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคสอง ที่มีอายุความ 2 ปี นับแต่รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 
(คลิกโฆษณา)

          ในการเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่นั้น หน่วยงานของรัฐไม่สามารถใช้วิธีออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 12 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ ต้องบังคับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั่นคือฟ้องคดีเรียกให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากมาตรา 12 บัญญัติว่า "ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ให้แก่ผู้เสียหายตาม มาตรา 8 หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงาน ของรัฐตามมาตรา 10 ประกอบกับมาตรา 8 ให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด" โดยมาตรา 8 ใช้สำหรับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น  แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นยินยอมรับผิดและมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้หน่วยงานของรัฐเต็มตามจำนวนความเสียหายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฟ้องคดีต่อศาลบังคับให้ชดใช้แต่อย่างใด 

       

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่ 2

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี




        ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่ ๒ ในการนำเสนอตอนที่ ๑ ได้เสนอแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ที่คณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด จะต้องทำความเห็นเสนอผู้สั่งแต่งตั้ง พิจารณาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากการที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก หรือทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่โดยในการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการ จะต้องมีขั้นตอนการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด ได้ทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน ตามข้อ 15 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์แนวปฏิบ้ติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยต้องแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายและจำนวนที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย ไม่ใช่สอบข้อเท็จจริงในฐานะพยาน
         
          เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ตามบทบัญญัติกฎหมาย ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ  แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แต่ผู้เสียหายอาจเลือกใช้วิธียื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดสังกัดอยู่ เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ก็ได้ หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น จะต้องออกใบรับคำขอไว้ และต้องพิจารณาคำขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แล้วเสร็จภายใน  180 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาถึงจำนวนความเสียหาย จำนวนที่ต้องชดใช้และความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย โดยคณะกรรมการต้องดำเนินการและทำความเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันเช่นเดียวกัน  ในกรณีดำเนินการไม่แล้วเสร็จและหน่วยงานของรัฐไม่สามารถพิจารณาคำขอได้ทันกำหนด 180 วัน และไม่ได้แจ้งเรื่องขอขยายเวลาพิจารณาให้ผู้เสียหายทราบ  ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ภายในกำหนด  90 วันนับแต่วันพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ได้มีการยื่นคำขอไว้  หรือเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาคำขอและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายแล้ว ผุ้เสียหายยังไม่พอใจ ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในกำหนด 90 วันเช่นเดียวกัน โดยเมื่อมีการฟ้องคดี หน่วยงานของรัฐต้องประสานสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแก้ต่างคดีต่อไป

          การกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ในการปฏิบัติหน้าที่ การพิจารณาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลนอก ค่าสินไหมทดแทนต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ถ้าไม่เกินจำนวนตามประกาศ หน่วยงานของรัฐสามารถชดใช้ให้ได้ทันที แต่ถ้าเกินจำนวนที่กำหนดต้องส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณา 

         ถ้าเป็นการทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องพิจารณาด้วยว่าความเสียหายเกินกว่าจำนวนที่ประกาศกระทรวงการคลังที่กำหนดให้ไม่ต้องรายงานหรือไม่ ปัจจุบันถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ พ.ศ.2562 ที่มีความเสียหายครั้งละไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือเกิน 1 ล้านแต่เข้าเงื่อนไขตามประกาศที่ไม่ต้องรายงาน  เพราะถ้าความเสียหายเกินจำนวนที่กระทรวงการคลังกำหนด  ต้องมีการรายงานสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดภายใน 7 วันนับแต่มีการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดแล้วเสร็จ เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาสำนวนและมีความเห็น  ในขั้นตอนนี้ยังไม่สามารถออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ถ้าไปออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ก่อนที่จะมีการรายงานให้กระทรวงการคลังพิจารณาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

          เมื่อมีการรายงานกระทรวงการคลังแล้ว และยังไม่มีความเห็นมา ซึ่งก่อนจะครบกำหนดอายุความ 2 ปีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ให้มีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชดใช้ความเสียหายตามความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดและผู้สั่งแต่งตั้งได้ เพราะอายุความเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่มีกำหนด 2 ปีนับแต่รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ซึ่งในที่นี้ก็คือวันที่ผู้สั่งแต่งตั้ง พิจารณาสำนวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด เกี่ยวกับความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของเจ้าหน้าที่และจำนวนเงินที่ต้องชดใช้

            คำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้กำหนดในเรื่องอุทธรณ์คำสั่งนี้ไว้  การอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 44 โดยยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ทำคำสั่ง ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว ถ้าไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งนี้ จะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้น ไม่อาจนำเรื่องไปฟ้องคดีปกครองได้ หรือยื่นอุทธรณ์แล้ว ยังไม่พ้นระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ทำคำสั่ง ก็ยังไม่สามารถนำเรื่องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ เพราะยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการแก้ไขความเดือดร้อนตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด  (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.161/2553)

            คำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น ในการออกคำสั่งจะต้องระบุถึงการอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้งและระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งไว้ด้วย  ถ้าคำสั่งดังกล่าว ไม่ได้ระบุไว้ต้องแจ้งใหม่ ระยะเวลาอุทธรณ์จึงเริ่มนับแต่วันที่มีการแจ้งเรื่องอุทธรณ์และระยะเวลาอุทธรณ์ใหม่  ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่ จะทำให้ระยะเวลาอุทธรณ์จากเดิมมีแค่ 15 วันจะขยายเป็น 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางกปกครอง พ.ศ.2539

            ก็จบสำหรับในตอนที่ 2 ให้ผู้อ่านติดตามตอนต่อไปของความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
 
            
           

            

         

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตอนที่1

  • บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



  •            บทความนี้ขอนำเสนอเรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ถือเป็นการทบทวนความรู้ความเข้าใจให้มีความแม่นยำขึ้น เพื่อให้มีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ  ในขณะเดียวกันก็มีความแม่นยำ หากต้องเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำความเห็นในสำนวนเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
           ละเมิด ถือตามองค์ประกอบของ มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นกระทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" การกระทำละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 จึงมีองค์ประกอบแบบเดียวกัน แต่เป็นการพิจารณาเฉพาะการกระทำของ"เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ที่เมื่อกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว หน่วยงานของรัฐ จะเข้ามาเป็นด่านหน้ารับผิดแทนเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้เจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จะต้องรับผิดและถูกเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
           การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 แบ่งออกเป็นเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก และเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งทั้งสองแบบจะมีทั้งกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ และมิใช่การปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งมีวิธิปฏิบัติในการเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้่คาสินไหมทดแทนแตกต่างกัน 
          การกระทำละเมิด เกิดจากการกระทำด้วยความ จงใจหรือประมาทเลินเล่อ  เมื่อเกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก ในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นหน้าที่ของหน่่วยงานของรัฐ ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก ตามความเสียหายที่มีการเรียกร้อง โดยบุคคลภายนอกผู้เสียหายจะยื่นฟ้องหน่วยงานเพือให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือจะยื่นคำขอต่อหน่วยงาน เพื่อขอให้ชดใช้ก็ได้ โดยมีอายุความในการเรียกร้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั่นคือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่รุู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายใน 10 ปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะมีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิด เพื่อพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขณะเดียวกัน ก็เป็นการพิจารณาถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นด้วย เพื่อการไล่เบี้ยภายหลังเมื่อหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ซึ่งคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องดังนี้



         คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 573/2549
         กรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกในการปฏิบัติหน้าที่ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ ผู้เสียหายใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ 2 ทาง กล่าวคือ ผู้เสียหายอาจฟ้องคดีต่อศาลขอให้พิพากษาให้ หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดอยู่ในสังกัดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี หรืออีกนัยหนึ่งภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันทำละเมิดทางหนึ่ง กับผู้เสียหายอาจยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดอยู่ในสังกัดให้ พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ตนอีกทางหนึ่ง และแม้กฎหมายจะมิได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ตนภายในระยะเวลาเท่าใด แต่ก็เป็นที่เห็นได้จากเหตุผลของเรื่องว่าผู้เสียหายจะต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดเช่นเดียวกับการฟ้องคดีต่อศาล

          เช่นเดียวกับการที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ  จนเกิดคามเสียหายในการปฎิบัติ เช่น  การทุจริต  การไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย การทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหายหรือสูญหาย เป็นต้น  การตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการ จะเป็นการพิจารณาว่า " กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่" ถ้าเป็นการกระทำทุจริต แน่นอนย่อมเป็นการกระทำด้วยความจงใจให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน ต้องรับผิดชดใช้เต็มจำนวนที่ทำให้เกิดความเสียหาย  กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบีบบ มีแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง เช่น 
           คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.37/2552 
           การที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการโดยไม่ได้ใช้ดุลพินิจจัดให้ข้าราชการเข้าพักอาศัยในบ้านที่ว่างอยู่ ถือเป็นการจงใจกระทำผิดต่อกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ ทำให้รชการได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.10/2554
          การที่ดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยไม่มีการนำราคาประเมินของทางราชการและราคาที่ดินที่เคยมีการซื้อขายกันจริงมาเปรียบเทียบ เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อที่ดินเกินกว่าที่ควรที่จะต้องเสีย ถือเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
         
          การกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง มีแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง เช่น 
         คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.10/2552
         การกระทำโดยมิได้เจตนาแต่เป็นการกระทำซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และหากใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจป้องกันมิให้เกิดความเสียหายได้ แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้น 
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.554/2562 
        ...ไม่ระมัดระวังรอบคอบศึกษาระเบียบกฎหมายให้ดี จนเป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผลแห่งความประมาทเลินเล่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องเดินทางไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ตามหนังสือของคณะกรรมการที่แจ้งให้มาชี้แจง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนต่อคณะกรรมการ การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิของตน แม้จะสามารถทำคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งคณะกรรมการทางไปรษณีย์ได้ก็ตาม แต่ย่อมมีสิทธิเลือกวิธีที่จะมาโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน โดยมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ได้เช่นกัน การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่มีคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิด ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539..."




         คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 462/2551 
        การที่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้รถยนต์ของทางราชการ และนำรถไปจอดไว้ที่พักได้เฉพาะ กรณีจำเป็นเร่งด่วน หรือที่จอดรถของทางราชการไม่ปลอดภัย โดยจอดรถไว้นอกรั้วบริเวณหน้าบ้านพักทั้งที่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบ้านพัก เป็นเหตุให้รถยนต์ของทางราชการสูญหาย ถือเป็นการกระทำโดย ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 549/2551
         กรณีเจ้าหน้าที่ขออนุญาตใช้รถยนต์ และขออนุญาตนำรถของทางราชการมาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพัก ของตน ทราบว่าพนักงานขับรถไม่นำรถมาเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของตนภายในเวลาอันสมควร แต่มิได้เอาใจใส่ ติดตามรถยนต์กลับคืนมาให้เพียงพอตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ควบคุมรถพึงกระทำ และมิได้รายงานให้ ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้พนักงานขับรถนำรถไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุ ถือว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเกิดจาก การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ควบคุมรถจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 50  
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 72/2552 อ. 73/2550 อ. 456/2550
        การที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บภาษีอากรและเงินผลประโยชน์ ของรัฐ ไม่จัดทำสมุดทะเบียนคุมเช็ค ตามระเบียบของทางราชการ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริต ยักยอกเงิน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ 13/2548
        การที่กรรมการตรวจการจ้างทำรายงานเสนอผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการเพิ่มและลดงานตามสัญญาจ้าง ก่อสร้างอาคาร โดยไม่เป็นไปตามระเบียบและไม่ตรวจสอบราคาที่แท้จริง จนเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับ ความเสียหาย เนื่องจากงานส่วนที่ลด มีราคาสูงกว่างานส่วนที่ผู้รับจ้างต้องทำเพิ่ม ถือเป็นการกระทำ โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ 214/2549
        การที่เลขานุการไม่ตรวจสอบใบเบิกเงินที่ผู้ช่วยเลขานุการนำเสนอ จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตยักยอก เงินของทางราชการไป ย่อมเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ 1287/2549
        การที่ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหนังสือเวียนกระทรวงการคลังที่กำหนดมาตรการป้องกัน การทุจริตในการนำเงินรายได้แผ่นดินส่งคลัง เป็นช่องทางให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการทุจริตยักยอกเงิน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.267/2550
        ผู้ควบคุมงานก่อสร้างมีหน้าที่จดบันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมเป็นรายวัน และผลการปฏิบัติงานเพื่อรายงานคณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์ การที่ผู้ควบคุมงานก่อสร้างไป ดูแลงานบางวัน และมิได้ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว ถือว่าผู้ควบคุมงานไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ 1022/2550 
        การที่คณะกรรมการตรวจการจ้าง ตรวจรับงานก่อสร้างอาคาร โดยไม่มีการปรับลดค่าจ้างก่อสร้างจาก การเปลี่ยนแปลงเสาเข็ม และการไม่ติดตั้งระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 


 
        คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ 254/2550 
        การที่เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตำแหน่งยามมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและทรัพย์สินของทางราชการ ได้หลับ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของทางราชการสูญหาย ถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 
        คำพิพากษาศาลปกครอง สูงสุด ที่ อ.338-339/2549
        ผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินของทางราชการโดยไม่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งที่ปรากฏข้อพิรุธโดย ชัดแจ้ง เช่น การที่กรรมการตรวจรับสินค้าลงชื่อตรวจรับสินค้าโดยไม่ตรวจสินค้าจริง 
         คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.362/2549
        กรณีได้รับอนุญาตให้น ารถราชการไปเก็บรักษาที่บ้านพักเป็นครั้งคราว แต่น าไปเก็บรักษาไว้เป็น ประจ าทุกวัน บ้านพักเป็นสถานที่ไม่รั้วรอบขอบชิด เป็นทางสาธารณะที่คนทั่วไปใช้ร่วมกัน เป็นเหตุให้รถ ดังกล่าวถูกขโมย  

         นอกจากคำพิพากษาดังกล่าว กรณีต่อไปนี้ ถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คือ  ทำผิดซ้ำๆในเรื่องเดียวกัน  ปฏิบัติผิดมาตรฐานวิชาชีพ  ฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ กฎ คำสั่ง ข้อบังคับ  กำหนดให้ปฏิบัติไว้แต่ไม่ได้ทำ หรือปฎิบัติตามนั้น  
          ยังมีคำพิพากษาศาลปกครองที่วินิจฉัยว่า " ผู้บังคับบัญชาลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมไว้ล่วงหน้าและไม่ทำลายใบเสร็จดังกล่าว ก่อนที่จะย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น จนทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำใบเสร็จไปเรียกเก็บเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตน ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
          การเบิกจ่ายเงินค่าจ้างทั้งที่ผู้รับจ้างไม่ได้ดำเนินการตามที่กำหนดในสัญญาเป็นการฝุาฝืนต่อระเบียบ ของทางราชการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

          ก็พอสมควร สำหรับการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พบกันใหม่ในบทความต่อไป 
         
          

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ยกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่สงวนสิทธิเรียกค่าปรับ เป็นการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



        ในเดือนสิงหาคม 2564 ยอดติดเชื้อไว้โควิท 2019 เริ่มลงมานิดหน่อย วันนี้อยู่ที่ 20,902 คน ก็เฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการกันต่อไป
        บทความวันนี้ จะนำเสนอประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.554/2562 เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง กรณี "ยกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่สงวนสิทธิเรียกค่าปรับ เป็นการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่" มาให้ทำความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ของผู้ทำสัญญาจ้างในฐานะผู้ว่าจ้าง และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ที่จะต้องรับผิดชดใช้ทางละเมิดให้กับราชการ กรณีที่มีการยกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่สงวนสิทธิในการเรียกค่าปรับไว้ ซึ่งในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี เป็นผู้ว่าจ้าง ฟ้องหน่วยงาน ให้เพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการไม่เรียกค่าปรับเมื่อบอกสัญญาจ้างก่อสร้าง และเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเดินทางและค่าจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายในการชี้แจ้ง โต้แย้งกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด การยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายและการดำเนินคดีปกครอง
        ข้อเท็จจริงในคีดนี้มีว่า หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้างกับนิติบุคคลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2542 ในวงเงิน 7,173,000บาท เมื่อทำการก่อสร้างมาระยะหนึ่ง มีการผิดสัญญาจ้างก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ นิติบุคคลที่เป็นผู้รับจ้าง จึงมีหนังสือแจ้งผู้ว่าจ้างขอให้ยกเลิกสัญญาจ้าง เพื่อหาผู้รับจ้างใหม่มาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างจึงประกาศยกเลิกสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2544 และได้จัดหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทนรายเดิม  ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  ได้ตรวจสอบงานจ้างก่อสร้างปรับปรุงฯ พบว่าสัญญาจ้างก่อสร้างปรับปรุงฯ ดำเนินการไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เนื่องจากไม่ได้เรียกค่าปรับจากการผิดสัญญาจ้าง เป็นเงินจำนวน 3,435,867 บาท โดยหน่วยงานได้ออกคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย จำนวน 3,077,192 บาท จึงให้ชดใช้ความเสียหาย เป็นเงิน 1,538,596 บาท  ซึ่งในระหว่างที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด  มีกฎหมายปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนราชการใหม่ และกฎหมายกำหนดให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ และภาระผูกพัน ถูกโอนไปอีกส่วนราชการหนึ่ง ทำให้มีประเด็นว่าการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ชอบหรือไม่ 




        ในคดีนี้ มีประเด็นที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติราชการได้คือ
        1.ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใด และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าว แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใข้
            ถ้าไม่ใช่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด แล้วไปออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด  มีผลตามคดีนี้ที่ศาลวินิจฉัยว่า "...ไม่ระมัดระวังรอบคอบศึกษาระเบียบกฎหมายให้ดี  จนเป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผลแห่งความประมาทเลินเล่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องเดินทางไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ตามหนังสือของคณะกรรมการที่แจ้งให้มาชี้แจง โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนต่อคณะกรรมการ การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันสิทธิของตน แม้จะสามารถทำคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งคณะกรรมการทางไปรษณีย์ได้ก็ตาม แต่ย่อมมีสิทธิเลือกวิธีที่จะมาโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน โดยมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ได้เช่นกัน การเดินทางไปให้ถ้อยคำจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่มีคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิด ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539..."   ถือว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาให้ถ้อยคำชี้แจงต่อคณะกรรมการฯได้ 
       2.กรณีผู้ว่าจ้าง ประกาศเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่สงวนสิทธิเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญาจ้าง (ประเด็นนี้ เข้าใจว่า ผู้ว่าจ้างไม่เคยปรับผู้รับจ้างมาก่อนเลยในระหว่างการผิดสัญญาจ้างก่อสร้าง และเมื่อบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว  เท่ากับไม่สามารถบังคับตามสัญญาจ้างได้อีกต่อไป จึงไม่สามารถอ้างสิทธิเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างได้  ดังนั้น ในการเลิกสัญญาจ้างกับผู้รับจ้าง จึงต้องมีข้อความขอสงวนสิทธิในการเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญาจ้างก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน......บาท จึงจะสามารถเรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญาจ้างได้ กล่าวคือ มีหนังสือแจ้งให้ชำระค่าปรับ ถ้าไม่ชำระ สามารถนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลบังคับให้ชำระได้  และทำให้สามารถหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทนได้ ) ผู้ว่าจ้างและคณะกรรมการตรวจการจ้าง มีส่วนต้องรับผิดในความเสียหาย ตามจำนวนค่าปรับที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบและแจ้งว่าราชการเสียหายเป็นจำนวน 3,435,867 บาท   ซึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และผู้มีอำนาจ พิจารณาเห็นว่ามีความเสียหาย โดยให้ผู้ว่าจ้าง กับคณะกรรมการตรวจการจ้าง รับผิดชดใช้ค่าเสียหายคนละครึ่งจากความเสียหาย จำนวน 3,077,192 บาท โดยให้ผู้ว่าจ้าง กับคณะกรรมการตรวจการจ้าง รับผิดเป็นเงินคนละ 1,538,596 บาท  (ซึ่งบุคคลที่เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ต้องหารเฉลี่ยกันรับผิดในยอดเงิน  1,538,596 บาท)



        3.กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งต้องชี้แจงและโต้แย้งพยานหลักฐานกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และต้องอุทธรณ์คำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายและดำเนินคดีปกครอง จึงฟ้องหน่วยงานเรียกค่าเสียหายจากการจ้างที่ปรึกษากฎหมาย และค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นของผู้ว่าจ้างและที่ปรึกษากฎหมายนั้น ศาลวินิจฉัยว่าไม่ใช่ผลโดยตรงจากการที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลเห็นว่าเป็นความสมัครใจ และการชี้แจง การอุทธรณ์ และการดำเนินคดีปกครอง สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง  
        4.ประเด็นฟ้องเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายและเรียกดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ต้องคิดตั้งแต่วันที่มีการทำละเมิด ตามมาตรา 206 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถ้าฟ้องเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ยคิดตั้งแต่วันฟ้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาและมีคำสั่งได้ไม่เกินคำขอท้ายฟ้อง กล่าวคือศาลไม่อาจสั่งให้คิดดอกเบี้ยย้อนไปนับแต่วันทำละเมิด
       5. คดีนีัมีประเด็นที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง คือ หน่วยงานใดจะเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งการไม่พิจารณาบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างส่วนราชการและกฎหมายที่กำหนดให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ งบประมาณ หนี้ สิทธิ และภาระผูกพันไปยังหน่วยงานให้ชัดเจน  การมอบอำนาจให้แต่งตั้ง จะมีผลต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 
       6.การที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เหมือนเช่นตามแนวคำพิพากษาในคดีนี้ หน่วยงานจะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ต้องมีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และมีการพิจารณาวินิจฉัยจากผู้มีอำนาจว่าเป็นการกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงจะสามารถมีคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539  ซึ่งขั้นตอนก่อนมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ถ้าความเสียหายมีจำนวนเงินไม่เกินประกาศกระทรวงการคลังกำหนด ให้มีคำสั่งชดใช้ได้โดยไม่ต้องรายงานกระทรวงการคลัง  แต่ถ้าความเสียหายเกินจำนวนเงินตามประกาศกระทรวงการคลัง จะต้องมีการรายงานภายใน 7 วันนับแต่วันที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัย และรอคำตอบจากกระทรวงการคลัง โดยให้เตรียมการออกคำสั่งไว้ (ขั้นตอนนี่้ หากออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนรายงานกระทรวงการคลัง คำสั่งเรียกให้ชดใช้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) แต่ถ้ากระทรวงการคลังไม่ตอบและจะมีกำหนดอายุความเรียกร้องใกล้จะครบ 2 ปีนับแต่วันที่ผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ผู้มีอำนาจสามารถออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่ต้องรอคำตอบจากกระทรวงการคลัง 
        แต่ถ้าการทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องฟ้องคดีทางแพ่ง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจะขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน  (ข้อนี้ ไม่ใช้อายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่ง เนื่องจากมีมาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ บัญญัติไว้) 
      กรณีหน่วยงาน เห็นว่าเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลัง ตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีกำหนดอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

        ก็พอสมควรแก่ความรู้และการนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไปได้ครับ สนใจเข้าไปค้นหาคำตอบในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.554/2562 ที่เผยแพร่อยู่ที่เว็ปไซต์ของสำนักงานศาลปกครองครับ