วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ (กฎหมายอาญา)

บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี 

   
         (คลิกป้ายโฆษณา ส่งกำลังใจให้ผู้จัดทำ)

      ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

        เป็นเรื่องที่จะมานำเสนอข้อกฎหมายและแนวคำพิพากษาของศาลที่วินิจฉัยกรณีดังกล่าว เป็นข้อกฎหมายที่เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ ต้องพึงระมัดระวัง การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถือเป็นบทกฎหมายที่เป็นบททั่วไป ที่จะเอาผิดเจ้าพนักงาน ที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  บัญญัติไว้ในมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

        ประมวลกฏหมายอาญา  มาตรา 157 บัญญัติถึงความผิดของเจ้าพนักงานไว้  2 แบบ คือ แบบแรก เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  กับแบบที่สอง เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยมาตรา 157 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย แต่หากกระทำนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย  บุคคลนั้นก็เป็นผู้เสียหายได้เช่นเดียวกัน 

         "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่  (มาตรา 1(16)) จากคำนิยามจึงมีความชัดเจน ไม่ต้องตีความ ดังนั้น ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการ คณะกรรมการต่างๆ ถือเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายนี้  


         "ปฏิบัติหน้าที่" หมายถึง เมื่อเป็นเจ้าพนักงาน ย่อมต้องมีหน้าที่ตามกฎหมาย หรือที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติชัดเจน 

        "เจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด " จะมีความผิดตามนี้ ต้องมีองค์ประกอบครบถ้วน นั่นคือ ผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามที่ได้รับมอบหมาย  ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คือ ปฏิบัติให้แตกต่างไปจากอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หรือละเว้นการปฏิบัติจากอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ส่วนนี้ ถือเป็นเจตนาพิเศษของเจ้าพนักงานขณะที่มีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เช่น 

        คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 6564/2562 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง ผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็น ความผิดตามมาตรานี้

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่1034/2558 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบด้วยเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่9368/2552  จำเลยที่ 1 รับราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลหัวลำ ช่วยราชการองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 2 เป็นกำนันตำบลซับจำปา และเป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจผลการปฏิบัติและตรวจรับงานตามสัญญาจ้าง โดยจำเลยทั้งสองทราบแต่แรกแล้วว่างานจ้างเหมาก่อสร้างถนนตามสัญญามีความยาว 1,350 เมตร การที่จำเลยที่ 1 ไม่ออกไปตรวจสอบการก่อสร้าง ทำให้เกิดความเสียหายเพราะหากจำเลยที่ 1 ไปตรวจย่อมทราบได้ว่าถนนที่ก่อสร้างเสร็จมีความยาวเพียงประมาณ 1,024 เมตร ารที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทำหลักฐานเท็จด้วยเจตนาพิเศษที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาและเป็นการกระทำโดยสุจริต ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาต้องจ่ายเงินค่าจ้างเกินไป และมีผู้ได้ประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นค่าก่อสร้างที่เกินไปจากความจริง แม้ภายหลังจำเลยที่ 2 จะนำเงินค่ารับจ้างส่วนที่รับเกินไปมาคืน ก็เนื่องมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาแจ้งเรียกเงินคืน จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157  

        เจ้าพนักงานไม่ได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์นั้น แต่เอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต ขณะที่เจ้าพนักงานนั้นได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้น เช่น   

        คำพิพากษาศาลฎีกา 726/2563 การออกบันทึกข้อความหนังสือเวียนเรื่องการรับเงินทุกประเภท เป็นการกระทำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติที่รับเงินนำส่งมาให้ จ.หัวหน้างานของจำเลยจัดการหรือรักษาไว้ หาได้บันทึกมอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินนั้นด้วยไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหาย การที่จำเลยเบียดบังยักยอกเงินของผู้เสียหายที่จำเลยรับมาตามบันทึกของ จ.ไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
        จำเลยรับเงินของผู้เสียหายมาแล้ว เบียดบังไปเป็นของตนเองโดยทจุริต ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นหน่วยงานของทางราชการ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานแต่กลับกระทำความผิดอาญาต่อหน่วยราชการที่ตนสังกัดอยู่ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157(เดิม)

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 228/2534ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 ผู้กระทำผิดต้องมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นโดยทุจริต จำเลยที่ 1เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งเจ้าหน้าที่สายตรวจ มิได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเลื่อยยนต์ของกลางซึ่งนายดาบตำรวจ ส.เป็นผู้เก็บรักษา การที่จำเลยที่ 1 ลักเลื่อยยนต์ดังกล่าวไปจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามและสายตรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งของต่าง ๆ ในบริเวณสถานีตำรวจ ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งโดยชอบให้ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางที่สถานีตำรวจด้วย การที่จำเลยที่ 1 อาศัยโอกาสดังกล่าวลักเลื่อยยนต์ของกลางไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามป.อ. มาตรา 157.


                ต้องมีเจตนาพิเศษ ขณะกระทำ ซึ่งต้องรู้ข้อเท็จจริงอยู่แล้วขณะกระทำว่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ถ้าไม่รู้ ย่อมไม่มีเจตนาพิเศษ เช่น

        คำพิพากษาศาลฏีาที่ 2445/2562 การกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นอกจากเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาล จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 ร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเชื่อคำรับรองของ ป. ผู้ใหญ่บ้านว่าถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบว่าแนวถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ใดหรือไม่ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาพิเศษ ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86        

       มีหน้าที่เห็นชอบให้ผู้อำนาจหน้าที่ดำเนินการ ถือเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิด  เช่น

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2562 แม้จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวง จึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการเพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้ ด. ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้




        มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด..." อันถือว่าเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ ต้องบรรยายฟ้องให้เห็นเจตนาพิเศษด้วยว่า เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มิฉะนั้น คำฟ้องจะขาดองค์ประกอบความผิดฐานนี้ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2561 การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 นั้น ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยเจ้าพนักงานผู้กระทำมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งยี่สิบสี่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสี่ย่อมไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งยี่สิบสี่กระทำการตามคำฟ้องโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ อย่างไร คำฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11      

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่2486/2558 ป.อ. มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด..." อันถือว่าเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งพนักงานสอบสวน มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 โจทก์แจ้งความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำร้ายร่างกายโจทก์จนได้รับอันตรายสาหัส และลักทรัพย์ 450 บาทไป จำเลยที่ 4 หารับคำร้องทุกข์ของโจทก์ไม่เท่านั้น แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่2230/2562โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารและกรอกข้อความลงในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ ร. โดยไม่ได้ตั้งฎีกาเบิกเงินงบประมาณรายจ่าย ไม่ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและไม่ได้ขีดคร่อมเช็ค ทั้งไม่ส่งมอบเช็คแก่ ร. ผู้มีสิทธิรับเงินตามเช็ค อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วร่วมกันนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิด มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2548 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยบรรยายฟ้องในข้อหานี้เพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์กับพวกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวกเป็นเหตุให้โจทก์กับพวกถูกควบุคมตัวเป็นผู้ต้องหา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพของโจทก์กับพวก เท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จะได้ความตามทางพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีพฤติการณ์ในทางบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง" กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 4 ไม่ควรต้องรับโทษและศาลต้องยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะเห็นว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 มีมูลและสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วก็ตาม แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2548)

        มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดินโดยปกติเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย เอกชนคนหนึ่งคนใดย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าวข้อความในตอนแรก คำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น หมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย เช่น    

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่7030/2551 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ได้มีคำอธิบายความหมายของผู้เสียหายไว้ว่าหมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐาน ใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 ซึ่งข้อกล่าวหาตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดินโดยปกติเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย เอกชนคนหนึ่งคนใดย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าวข้อความในตอนแรก คำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้นหมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบ เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรง และเป็นการทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้วโจทก์ทั้งสองย่อมเป็นผู้เสียหายได้



          แม้การกระทำจะไม่ทุจริต แต่เป็นการกระทำที่แตกต่างไปจากระเบียบกฎหมาย ก็มีเจตนาปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ  และผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีอำนาจขาดเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ เช่น  
       
         คำพิากษาศาลฎีกาที่ 5263/2561 แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วไม่ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว เพราะยังไม่ได้รับประกาศภัยพิบัติจากจังหวัดนครสวรรค์ อันไม่เข้าเงื่อนไขการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 17 (2) ต้องการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 14 ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลให้ใช้เวลาในการซื้อหรือการจ้างนานขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่เห็นชอบให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามที่จำเลยที่ 2 โต้แย้ง กลับสั่งการให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้มีอำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างนั้นได้ทันที ทำให้ต้องแบ่งการซื้อผ้าห่มนวมออกเป็นสองครั้ง ครั้งละ 500 ผืน เป็นเงินครั้งละ 100,000 บาท เท่ากับจำเลยที่ 1 จงใจกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 16 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว แต่พยานหลักฐานของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อย่างไรก็ดี การกระทำของจำเลยที่ 1 จงใจฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกระเทือนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อยู่ดี ส่วนการทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายและเอกสารประกอบครั้งที่ 2 เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์อ้างก็ตาม การทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายครั้งที่ 2 ก็เป็นเพียงการทำไว้ล่วงหน้าอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการจัดทำฎีกาเบิกเงินโดยทั่วไปเท่านั้น เมื่อมีการเบิกจ่ายเงินกันจริงหาได้ไม่มีการเบิกจ่ายเงินกันตามนั้นอันเป็นความเท็จไม่ ดังนั้น แม้อาจเป็นไปเพื่อให้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่ามีการจัดซื้อผ้าห่มนวมตามวันเวลาเกิดเหตุซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงไปบ้างก็หาได้เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นั้นเป็นเจ้าพนักงานและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา แม้มีการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้ง แต่การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาในแต่ละครั้งก็เป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องถือปฏิบัติตาม ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้งดังกล่าวเกิดจากจำเลยอื่นเป็นผู้เสนอต่อจำเลยที่ 1 แต่กลับปรากฏตามเอกสารหมาย จ.41 ว่าเป็นการสั่งการของจำเลยที่ 1 เอง โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นการขาดเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและไม่เป็นความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์เองรับฟังได้ว่าทางจังหวัดนครสวรรค์ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนาวในวันที่ 14 มกราคม 2552 อันเข้าเงื่อนไขที่จะดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วได้ แต่ก็เป็นวันเดียวกับที่ได้ดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาไปแล้ว อันแสดงว่ามีภัยพิบัติภัยหนาวเกิดขึ้นที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจริงการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนเป็นสำคัญ แม้เป็นการผิดกฎหมาย แต่ก็มีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 แต่เพียงสถานเบา

        เจ้าพนักงาน มีอำนาจหน้าที่ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เป็นที่เสียหายแก่ราชการ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน บริษัทห้างร้าน บุคคลอื่นและประชาชน และในการกระทำผิดของเจ้าพนักงานมีเอกชนร่วมกระทำผิดด้วย การกระทำของเอกชน ถือเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิด ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86  เช่น

        คำพิพากษาศาลฏีกาที่10237/2558จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต อนุมัติและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ของเทศบาลตำบลสว่างแดนดิน 16 โครงการ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรมอันทำให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน ราชการ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสว่างแดนดิน บริษัทห้างร้านที่มีอาชีพรับเหมาก่อสร้างทั่วไปหรือบุคคลอื่นและประชาชน ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อรับบันทึกรับส่งประกาศสอบราคา บันทึกรับเอกสารสอบราคาและบันทึกการยื่นซองสอบราคาซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตทั้ง 16 โครงการโดยที่ไม่มีการปิดประกาศเผยแพร่ไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการสำนักงานเทศบาล ตำบลสว่างแดนดินหรือให้มีการประชาสัมพันธ์การสอบราคาให้ประชาชนทั่วไปทราบ ทั้งเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลสว่างแดนดินบางส่วนก็ไม่ทราบ ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยอื่นเท่านั้นที่รู้และยื่นซองเสนอราคา พฤติกรรมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
        แม้ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151, 157, 162 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กฎหมายมุ่งประสงค์เอาผิดกับผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานแต่เอกชนก็ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานได้โดยต้องลงโทษเอกชนผู้ร่วมกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเอกชน ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานคือจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน


        การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มิใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือโดยปราศจากเหตุผล มิฉะนั้น จะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก้ผู้หนึ่งผู้ใด  เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่7663/2543 แม้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการฯ มาตรา 27บัญญัติให้เป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ที่จะเสนอก.อ.ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยแต่จำเลยซึ่งเป็นอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในฐานะผู้บังคับบัญชาของข้าราชการอัยการทั่วประเทศในการใช้อำนาจบริหารงานบุคคลยังมีอำนาจเสนอตารางประวัติการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่ของประธาน ก.อ.รวมทั้งมีอำนาจเสนอเรื่องต่อก.อ. ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 การจัดทำตารางประวัติการปฏิบัติราชการเสนอที่ประชุมก.อ. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย
        อำนาจของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงดุลพินิจที่อาจเลือกวินิจฉัยหรือเลือกกระทำได้หลายอย่างที่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157นี้ นอกจากหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจหรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง ที่เป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้นประการหนึ่ง และที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกด้วย
        การใช้อำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาสั่งการหรือเลือกกระทำตามที่เห็นว่าเหมาะสมโดยศาลไม่แทรกแซงนั้น หมายความว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจไปในทางใดแล้ว ศาลต้องยอมรับการใช้ดุลพินิจนั้น แต่การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มิใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือโดยปราศจากเหตุผล
        การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายนั้นมีการพิจารณาอาวุโสประกอบ การที่จำเลยเสนอตารางประวัติการปฏิบัติราชการแก่ประธาน ก.อ. เพื่อแต่งตั้งอัยการพิเศษฝ่ายโดยเสนอชื่อบุคคลที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ถึงสามครั้งเพราะถือเอาสาเหตุที่จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,91

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2562 จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจจะอนุญาตให้โจทก์ลาหรือไม่ก็ได้ แต่การใช้ดุลยพินิจต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเคยมีปัญหาไม่พอใจกับโจทก์มาก่อน และเมื่อโจทก์ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบ และภายหลังโจทก์ก็ได้ยื่นใบลาป่วยแทนใบลากิจที่จำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตไปก่อนแล้ว จำเลยจึงเกษียณคำสั่งคาดโทษโจทก์ว่า เป็นการลาเท็จ เพื่อหาเหตุตั้งคณะกรรมการสอบสวนการลาของโจทก์อันเป็นการหาเหตุลงโทษทางวินัยโจทก์ แม้ภายหลัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเขต 8 จะพิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์ก็ยังมิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปกติ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157


        การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หากมีเจตนาทุจริตด้วย ก็เข้าองค์ประกอบปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่2322/2558การลงลายมือชื่อปลอมของ ด. กับ ส. ผู้ซึ่งไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเพียงรายละเอียดของการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม ป.อ. มาตรา 157 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษ นอกเหนือจากการเป็นสาระสำคัญของการกระทำอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 ที่โจทก์ขอให้ลงอีกข้อหาหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีมีข้อควรสงสัยว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดฐานทำและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสี่ แต่การที่จำเลยทั้งสี่ทราบเรื่องที่มีการแก้ไขเพิ่มชื่อ ด. กับ ส. ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กลับนิ่งเฉยปล่อยให้มีการแก้ไขโดยไม่ทักท้วงหรือให้คำแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงคงเป็นข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในรายละเอียดมิใช่ในข้อสาระสำคัญสำหรับข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ทั้งมิใช่กรณีที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ เมื่อจำเลยทั้งสี่มิได้หลงต่อสู้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2557 จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงิน และมีการวางฎีกาเบิกจ่ายเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. แล้วก่อนที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเงินจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 149 แต่การที่จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงินเรียบร้อยแล้วกลับมาหลอกลวงผู้เสียหายว่ายังไม่ได้ตรวจรับงานดังกล่าวเพื่อเรียกเงินจากผู้เสียหาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
        ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 157 มาด้วย และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่ไม่ปรับบทมาตราดังกล่าวโดยเห็นว่าเมื่อเป็นความผิดซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่เป็นความผิดบททั่วไปอีก เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อศาลล่างทั้งสองฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ที่ถูกต้องระบุว่าไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจปรับบทให้ถูกต้องและลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 157 ได้ แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยที่โจทก์มิได้ฎีกาในทำนองนั้น



        เมื่อไม่มีหน้าที่โดยตรง และทรัพย์ที่กระทำการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ใช่ทรัพย์ของราชการ จึงไม่เป็นการปฎิบัติหรือละเว้นโดยทุจริต  เช่น

    
    คำพิพากษาศาลฏีกาที่16407/2555จำเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียน โดยไม่มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องเก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากของนักเรียนไว้และไปถอนเงินจากธนาคารแทนนักเรียน การที่จำเลยบอกให้นักเรียนบางคนมอบสมุดบัญชีเงินฝากไว้ที่จำเลยและมอบอำนาจให้จำเลยไปถอนเงินจากธนาคารแทนแล้วให้นักเรียนไปขอเบิกจากจำเลยอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปนอกเหนือหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ เงินที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนักเรียน ยังถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนักเรียน มิใช่เป็นทรัพย์สินของหน่วยงานราชการซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาอีกด้วย เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบเงินในบัญชีเงินฝากอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนักเรียน แม้จำเลยจะได้นำเงินดังกล่าวไปใช้หมุนเวียนเพื่อประโยชน์ส่วนตนก่อนที่จะถูกร้องเรียนและคืนให้นักเรียนในภายหลังหรือไม่ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157

          เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ปลอมเอกสาร เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เช่น 
    
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2539 เอกสารที่ใช้ประกอบเป็นรายงานการเดินทางไปราชการได้แก่ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงินที่แสดงว่าได้จ่ายเงินไปจริงโดยมีหลักฐานการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่ข้าราชการผู้นั้นเซ็นชื่อรับเงินไว้ด้วยเพื่อเบิกเงินจากส่วนราชการไปจ่ายให้และเอกสารการรับเงินที่ส่งไปล้างฎีกาเพื่อแสดงว่าได้มีการจ่ายเงินไปถูกต้องแล้วนั้นเป็นหลักฐานแห่งการก่อและระงับสิทธิในเงินค่าใช้จ่ายไปราชการซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นและรับรองในหน้าที่จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา1(8)และ(9) จำเลยที่2เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานทั่วไปและช่วยควบคุมการจ่ายเงินให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตปลอมเอกสารดังกล่าวเพื่อขอเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของข้าราชการในสังกัดจำนวนหลายคนด้วยกันจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264,266(1),268ประกอบมาตรา157

        เมื่อการกระทำของเจ้าพนักงาน มีความผิดตามบทเฉพาะเรื่องแล้ว ก็ผิดมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดกฏหมายหลายบท ลงโทษบทหนัก  เช่น

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่1543/2543จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้งงานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แล้วนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนานประมาณ 7 ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน 7,800 บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
        จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2536เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำการจับกุมโจทก์มีหน้าที่ทำและกรอกข้อความในบันทึกการจับกุม ได้ทำและกรอกข้อความลงในบันทึกการจับกุมนั้น โดยลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบันทึกพร้อมทั้งให้โจทก์ในฐานะผู้ต้องหาลงลายมือชื่อจนเป็นเอกสารที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไปเขียนเติมข้อความอีกว่าสอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งไม่เป็นความจริงจึงเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจับกุมผู้กระทำความผิดได้จับกุมโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสาร แต่กรอกข้อความเพิ่มเติมลงในบันทึกจับกุมว่า สอบถามโจทก์แล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทั้งที่ทราบว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะบันทึกการจับกุมดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ศาลอาจฟังลงโทษโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157



        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5581/2530จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกำนันและนายทะเบียนตำบลรู้ว่าห. ซึ่งเป็นลูกบ้านของตนอยู่บ้านเลขที่ 249 มิใช่บ้านเลขที่ 363 เมื่อจำเลยที่ 1 มาแจ้งขอย้ายชื่อ ห. จากทะเบียนบ้านเลขที่ 159 ไปอยู่บ้านเลขที่ 363 จำเลยที่ 3ย่อมรู้ได้ทันทีว่าข้อความในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17เป็นเท็จ จำเลยที่ 3 ลงชื่อในฐานะนายทะเบียนตำบลในเอกสารดังกล่าว จึงเป็นการลงชื่อรับรองเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 แจ้งย้ายที่อยู่ของ ห. ซึ่งจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และยังรับแจ้งในฐานะนายทะเบียนตำบล เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(1),157 ในฟ้องเดียวกันโจทก์อาจบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามกรอกข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 และบรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความในเอกสารร่วมกันปลอมลายมือชื่อ ห. โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

******************   
ขอขอบคุณ 
           ๑.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น