วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564

สิ้นสุดระยะเวลา ต้องบอกเลิกสัญญาหรือไม่ (สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราว/สัญญาทางปกครอง)

 บทความโดยก้องทภพ  แก้วศรี


       สิ้นสุดระยะเวลา  ต้องบอกเลิกสัญญาหรือไม่

         ในหน่วยงานของรัฐ จะมีการจ้างบุคคลมาปฏิบัติงานในหน่วยงาน ตามภารกิจหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เช่น ในสถานศึกษา ซึ่งมีหน้าที่จัดการศึกษา จ้างบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้สอนภายในสถานศึกษา หรือจ้างมาเป็นนักการภารโรง หรือตำแหน่งยาม เพื่อรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ เป็นต้น โดยสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา ๑ ปี ไม่มีข้อกำหนดในสัญญาว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแล้ว จะต้องต่อสัญญา และในสัญญามีข้อกำหนดให้ต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานอยู่ด้วย สัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราว เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา ต้องบอกเลิกสัญญา หรือไม่  และถ้าสิ้นสุดระยะเวลาแล้ว ไม่ได้บอกเลิกสัญญา ลูกจ้างยังคงทำงานต่อไป หน่วยงานไม่ทักท้วง จะมีผลอย่างไร หรือกรณีประเมินผลการปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ไม่ต่อสัญญาจ้างจะทำได้หรือไม่ ต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายหรือไม่  ผู้เขียนมีคำตอบให้  

         เมื่อหน่วยงานของรัฐ ถือเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ สัญญาจ้างบุคคลมาทำปฏิบัติงานในหน่วยงาน  จึงเป็นสัญญาที่หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่ทำแทนรัฐทำกับบุคคลอื่น และมีลักษณะเป็นสัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะ ถือเป็นสัญญาทางปกครอง ตามความหมายในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดต้ังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ เมื่อมีข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้

         เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา ต้องบอกเลิกสัญญา หรือไม่ 
         เรื่องนี้ เป็นกรณีพิพาทขององค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำสัญญาจ้างพนักงานจ้างทั่วไป ตำแหน่งยาม มีกำหนดระยะเวลาจ้าง ๑ ปี สัญญาไม่มีข้อผูกพันว่าเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง จะมีการต่อสัญญาต่อไป และพนักงานจ้างรายนี้ เคยได้รับการต่อสัญญามา ๒ ครั้ง   โดย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๔๙๓/๒๕๖๐ วินิจฉัยว่า"...สัญญาจ้างฉบับดังกล่าว เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นสัญญาที่มีระยะเวลาจ้างที่แน่นอน ได้สิ้นสุดลงตามที่ได้ทำสัญญาจ้างต่อกันไว้ จึงเป็นกาเลิกจ้างตามสัญญาจ้าง โดยผู้ถูกฟ้องคดี ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด และไม่มีผลผูกพันว่า เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุด ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องต่อสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดี ..."  

advertisement


        ศาลยังได้วินิจฉัยต่อไปว่า "...การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว จึงเป็นเพียงการเลิกจ้างตามสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอน มิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล จึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดใดในสัญญาที่กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดี ต้องทำการต่อสัญญาจ้างให้ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่ต่อสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดี จึงมิได้เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย..." 

         ในส่วนของการประเมินผลการปฏิบัติงานที่สัญญากำหนดไว้ให้มีการประเมินนั้น ศาลได้วินิจฉัยว่า "...จะเห็นได้ว่า ข้อ ๔๐ ของประกาศดังกล่าว กำหนดให้มีการประเมินผลงานของพนักงาน เพื่อตรวจสอบว่าผลงานของผู้ปฏิบัติงานของพนักงานจ้างตามภารกิจ และพนักงานจ้างทั่วไปเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของผู้ถูกฟ้องคดีหรือไม่เท่านั้น อีกทั้งยังนำผลการประเมินไปใช้ไม่เฉพาะเพียงการต่อสัญญาจ้างเท่านั้น ยังรวมถึงการเลิกจ้างและการเลื่อนขั้นเงินเดือนอีกด้วย และการต่อสัญญาจ้างยังกำหนดให้ให้ผู้บังคับบัญชาทำความเห็นเสนอนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อสั่งการต่อไป ดังนั้น ในกรณีที่สัญญาจ้างสิ้นสุดแล้ว จะมีการต่อสัญญาจ้างหรือไม่ จึงเป็นอำนาจดุลพินิจของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล มิใช่อำนาจผูกพัน  อีกทั้งการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว เป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารพนักงานภายในฝ่ายปกครอง และนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในเรื่องต่างๆ ดังนั้น แม้ผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี ...๒ ครั้ง จะอยู่ไม่ต่ำกว่าระดับดี...ก็หาได้ผูกพันที่ผู้ถูกฟ้องคดี ต้องต่อสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดีไม่..."

            ข้อสรุปคือ เมื่อสัญญามีกำหนดระยะเวลาจ้าง เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา ไม่ต้องบอกเลิกสัญญาจ้าง และไม่ผูกพันให้ต้องต่อสัญญา แม้จะมีผลการประเมินผลการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดีก็ตาม


            ถ้าสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแล้ว หน่วยงานไม่ได้บอกเลิกสัญญาจ้างและ ลูกจ้างยังคงทำงานต่อไป หน่วยงานรู้แล้วไม่ทักท้วง จะมีผลอย่างไร 

             มีแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๔๑๐/๒๕๖๑ วินิจฉัยโดยมีประเด็นดังนี้

             ๑.เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดเพราะครบกำหนดระยะเวลา แต่ลูกจ้างยังคงมาทำงาน โดยหน่วยงานไม่ทักท้วง ถือเป็นการต่อสัญญาจ้างใหม่หรือไม่  ศาลพิจารณาเห็นว่า ...ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๑ บัญญัติว่า "ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ง ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีกและนายจ้างรู้ดังน้ันก็ไม่ทักท้วงไซร์ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม.." เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า หลังจากที่ระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว ผู้ฟ้องคดียังคงมาทำงานอยู่ต่อไปอีก และผู้ถูกฟ้องคดีทราบแล้ว แต่ไม่ได้ทักท้วงการมาปฏิบัติราชการของผู้ฟ้องคดี จึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่ว่า "คู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมที่ได้ทำไว้" กรณีจึงถือได้ว่ามีการต่อสัญญาจ้างกันใหม่แล้ว 

            ๒.ต่อมาผู้ฟ้องคดีไม่ต่อสัญญาจ้างและบอกเลิกจ้างผู้ฟ้องคดี เพราะเหตุมาทำงานสายเกินจำนวนครั้งที่กำหนด โดยสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน แต่ลูกจ้างยังคงมาทำงาน หน่วยงานไม่ทักท้วง แต่นำเรื่องมาสายเกินจำนวนครั้งมาประชุมพิจารณาในวันที่ ๑๒ ตุลาคม จะมีผลเป็นการบอกเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ศาลในคดีดังกล่าวพิจารณาเห็นว่า "...เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า...ตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา ๑ ปี โดยผู้ฟ้องคดีได้เคยผ่านการต่อสัญญาจ้างมาแล้ว ๒ ครั้ง และสัญญาฉบับที่ ๓ ซึ่งเป็นฉบับพิพาทได้สิ้นสุดสัญญาในวันที่ ๓๐ กันยายน แต่คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกและบริหารบุคคลเกี่ยวกับลูกจ้างได้ประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม เพื่อพิจารณาการต่อหรือไม่ต่อสัญญาจ้างของผู้ฟ้องคดี โดยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมาทำงานสาย ๒๕ ครั้ง ซึ่งเกินจำนวนครั้งที่กำหนดไว้ จึงมีมติไม่ต่อสัญญาจ้าง เนื่องจากผู้ฟ้องคดีกระทำผิดเงื่อนไขที่จะได้รับการต่อสัญญาจ้าง ดังนั้น การที่ไม่ต่อสัญญาจ้างและบอกเลิกสัญญาจ้าง จึงไม่เป็นการผิดสัญญาจ้าง และเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว.."

advertisement



           ๓.แม้จะไม่ต่อสัญญาจ้างและบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยเหตุผลมาทำงานสายเกิน ๒๕ ครั้ง เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อมีการประชุมมีมติไม่ต่อสัญญาจ้างเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ภายหลังที่สัญญาสิ้นสุดไปแล้ว และมีการแจ้งลูกจ้างทราบเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ผลของการที่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว แต่ลูกจ้างยังคงมาปฏิบัติงานต่อไป หน่วยงานทราบแล้วไม่ทักท้วง มีผลทำให้คู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมที่ได้ทำไว้ ตามมาตรา ๕๘๑ จนมาบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ในกรณีนี้ ศาลในคดีดังกล่าวพิจารณาให้หน่วยงานต้องจ่ายค่าจ้าง โดยต้องจ่ายนับแต่วันที่ได้ต่อสัญญาจ้างกันใหม่ คือวันที่ ๑ ตุลาคม จนถึงวันที่มีผลเป็นการเลิกจ้าง คือ สิ้นเดือนตุลาคม อันเป็นวันกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ตามนัยมาตรา ๕๘๒ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า "ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน" 

         ตามคำพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าว   ทำให้ทราบแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ คือ สัญญาจ้างลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา ไม่ต้องบอกเลิกสัญญา และจะไม่ต่อสัญญาก็ได้ เนื่องจากไม่มีข้อผูกพันให้ต่อสัญญาและเป็นการสิ้นสุดตามข้อกำหนดในสัญญา และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาจ้างแล้ว หน่วยงานไม่ต่อสัญญาจ้าง และไม่ได้แจ้งลูกจ้างให้ทราบว่าจะไม่ต่อสัญญาจ้าง เมื่อลูกจ้างมาปฏิบัติงานต่อไป หน่วยงานไม่ทักท้วง ตามข้อกฎหมายถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่ โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมที่ทำไว้ 

***************************
ขอขอบคุณ 

           ๑.บทความเรื่อง "ผลการเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า"ที่เผยแพร่ทางเว็บไซด์  http://www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง 
          ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ 
อ.๔๙๓/๒๕๖๐ จากเว็บไซด์ http://www.admincourt.go.th                 ๓.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น