วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

สภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง

 บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี


(คลิกโฆษณาในบล๊อก ส่งกำลังใจให้ผู้จัดทำ)

      สภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง 

        ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นเหตุอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ ที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีคำสั่งทางปกครอง ซึ่งจะมีผลโดยตรงที่จะทำให้คำสั่งทางปกครอง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจนำมาซึ่งความรับผิดในทางอาญาและความรับผิดทางละเมิดได้ 

        ในบทความนี้ จะกล่าวถึงสภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดำเนินการทางวินัยข้าราชการที่มีแนวคำพิพากษาของศาลวินิจฉัยไว้ ซึ่งมีผลต่อคำสั่งลงโทษทางวินัย ที่เป็นคำสั่งทางปกครอง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

        การพิจารณาทางปกครอง หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง (มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙) ในการดำเนินการทางวินัยข้าราชการ จะมีขั้นตอนการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน  เมื่อได้ข้อเท็จจริงและหลักฐานเบื้องต้นจนน่าเชื่อว่า กรณีมีมูลกระทำความผิดวินัย จึงมีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา เพื่อจะทราบข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความผิดและเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด  คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ยังไม่ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง เนื่องจากยังไม่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล แต่เป็นกระบวนการพิจารณาทางปกครอง  โดยเมื่อถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หรือถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ข้าราชการผู้นั้นเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ที่ยังมีโอกาสที่ชี้แจงข้อเท็จจริงและหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ ซึ่งผลการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือการสอบสวนทางวินัยอาจไม่มีมูล ที่ทำให้ต้องยุติเรื่องได้ 

        เมื่อบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสอบสวน เคยเป็นคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ในเรื่องเดียวกันมาก่อน โดยไม่ปรากฎเหตุว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าออกไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้  ผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว จะทำให้มีสภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง  ไม่สามารถนำผลการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว มาใช้ลงโทษทางวินัยในเรื่องนั้นได้ หากนำมาใช้ลงโทษทางวินัยแล้ว จะทำให้คำสั่งลงโทษทางวินัย ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามความหมายของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๘๓๔/๒๕๕๕ ,ที่ อ.๖๐๐/๒๕๕๕และ ที่ อ.๘๗/๒๕๕๖ วินิจฉัยเป็นแนวทางเดียวกัน  

        ในกรณีบุคคลใดเคยเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวน เพื่อสอบสวนทางวินัยและมีความเห็นในเรื่องใดไปแล้วต่อมาบุคคลนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการในชั้นพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยหรือในชั้นการพิจารณาอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยในเรื่องที่ตนเคยเป็นกรรมการสอบสวนและมีความเห็นมาแล้วการปฏิบ้ติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวย่อมมีสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางมีผลให้มติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๗๙๕/๒๕๕๕ วินิจฉัยไว้ 

        กรณีบุคคลใดเคยเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและพิจารณาสำนวนการสอบสวนทางวินัย โดยคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นให้ลงโทษตัดเงินเดือน แต่ผู้สั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน เห็นควรให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วรายงานการดำเนินการทางวินัยไปยังคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยตามกฎหมาย  ต่อมาบุคคลนั้นได้เข้าเป็นคณะกรรมการพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยในเรื่องนั้นด้วย  (เช่น กศจ.,อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่) มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๖๔/๒๕๖๐ วินิจฉัยว่า มื่อบุคคลนั้นได้เป็น อนุกรรมการพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัย ย่อมจะพิจารณาหรือให้ความเห็นตามที่ตนได้เคยเสนอความเห็นไว้แล้ว ซึ่งเป็นความเห็นที่เป็นคุณกับผู้ถูกลงโทษทางวินัย จึงไม่มีสภาพร้ายแรงที่จะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙  

        ฉะนั้น สภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ของเจ้าหน้าที่หรือกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ นอกจากที่จะต้องพิจารณาถึงการเข้ามามีอำนาจในการพิจารณาในเรื่องนั้นซ้ำกับที่เคยพิจารณามาแล้ว จึงต้องพิจารณาความเห็นหรือมติของบุคคลนั้นด้วยว่าเป็นโทษต่อผู้ถูกกล่าวหา จึงจะทำให้การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นมีสภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง


*********************

 ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น