วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เบิกค่าเช่าซื้อบ้านที่ตั้งอยู่ต่างท้องที่ กับท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ (ค่าเช่าบ้านข้าราชการ)

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

 



      เบิกค่าเช่าซื้อบ้านที่ตั้งอยู่ต่างท้องที่ กับท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ 

    เป็นสิทธิที่ข้าราชการที่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านจากราชการ จะสามารถนำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการตามสิทธิ ได้หรือไม่

      ข้าราชการจะเป็นผู้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ (ซึ่งต้องไม่ใช่กรณีบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งต้ังให้รับราชการเป็นครั้งแรก )ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๔๔๗คือ ข้าราชการที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่  เว้นแต่ ผู้นั้นทางราชการได้จัดที่พักอาศัยให้  หรือมีเคหสถานอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรสในท้องที่ที่ไปประจำ โดยไม่มีหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงิน หรือได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำในต่างท้องที่ตามคำร้องของตนเอง จะไม่สามารถเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้  

โฆษณา(คลิก)

      เมื่อเป็นผู้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ สามารถนำหลักฐานการเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ มาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ มาตรา ๑๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาเดียวกัน  โดยให้สามารถทำได้ เมื่อได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่  การเช่าซื้อที่จะเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ จึงถูกจำกัดว่า ต้องเช่าซื้อในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น ซึ่งคำว่า "ท้องที่" ตามมาตรา ๔ ให้ความหมายว่า กรุงเทพมหานคร อำเภอ กิ่งอำเภอ หรือท้องที่ของอำเภอหรือกิ่งอำเภอที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นท้องที่เดียวกันตามมาตรา ๕ 

       ท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานแห่งใหม่ ที่ทำให้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ รวมทั้งมีสิทธินำหลักฐานการเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ มาเบิกกับทางราชการได้นั้น ต้องตีความรวมถึง ท้องที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งสำนักงานงานเดิม มาพิจารณาด้วย  เนื่องจากตามมาตรา ๘ จำกัดสิทธิ(ไม่ให้เบิก)ข้าราชการในการเบิกค่าเช่าบ้าน ถ้าต้องไปประจำสำนักงานต่างท้องที่ เว้นแต่ท้องที่ใหม่ที่สำนักงานย้ายไปอยู่ใกล้เคียงกับท้องที่ที่ต้ังสำนักงานเดิม (ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ.๒๕๔๙ ข้อ ๒๔ กำหนดหลักเกณฑ์ท้องที่ใหม่ที่อยู่ใกล้เคียงกับท้องที่ตั้งสำนักงานเดิมไว้แล้ว คือ (๑) การย้ายที่ต้ังสำนักงานจากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดใกล้เคียง ต้องเป็นเขตท้องที่ใกล้เคียงหรือติดต่อกับกรุงเทพมหานครและมีรถยนต์โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้บริการ ตามบัญชีรายชื่อท้องที่ใกล้เคียง ได้แก่  จังหวัดนนทบุรี ประกอบด้วยอำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางกรวย อำเภอบางบัวทอง อำเภอบางใหญ่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วยอำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอคลองหลวง อำเภอธัญบุรี อำเภอลำลูกกา จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบด้วยอำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วยอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วยอำเภอพุทธมณฑล  (๒)การย้ายที่ตั้งสำนักงานภายในจังหวัดเดียวกันหรือระหว่างจังหวัด  ต้องเป็นเขตท้องที่ติดต่อกันและมีขนส่งสาธารณะประจำทางให้บริการ ) ฉะนั้น  ถ้าผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการเนื่องจากย้ายไปประจำสำนักงานแห่งใหม่ ถ้าได้เช่าซื้อบ้านในท้องที่ใกล้เคียงกับท้องที่สำนักงานแห่งใหม่ ย่อมควรได้สิทธินำหลักฐานการเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ มาเบิกกับทางราชการได้ด้วย เช่น กรณีได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำท้องที่ที่สำนักงานแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานคร ควรที่จะมีสิทธิเช่าซื้อบ้านหรือนำหลักฐานการชำระเงินค่าบ้านในท้องที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ด้วย เช่น ย้ายไปประจำสำนักงานที่มีท้องที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ไปเช่าซื้อบ้านท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีก็ควรที่จะสามารถนำหลักฐานการเช่าซื้อมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ แต่เรื่องนี้เมื่อมีการหารือไปยังกรมบัญชีกลาง จะได้รับการตอบข้อหารือว่า ไม่สามารถนำหลักฐานการเช่าซื้อบ้านนอกท้องที่กรุงเทพมหานครมาเบิกได้ จึงเกิดเป็นกรณีพิพาทอันนำไปสู่การพิจารณาของศาลปกครองตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๑๕๘๗/๒๕๕๙  ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการใช้สิทธิได้ 



      ในคดีดังกล่าวศาลได้วินิจฉัยอันเป็นหลักสำคัญว่า "...บทบัญญัติมาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการฯ เป็นการกำหนดเกี่ยวกับสิทธิของข้าราชการในการขอเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ โดยกำหนดให้ข้าราชการได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่มีสิทธิจะได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ เนื่องจากต้องการที่จะช่วยเหลือข้าราชการที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากทางราชการเป็นเหตุ ดังนั้น ถ้าหากข้าราชการที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ได้รับความเดือดร้อนต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัยในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในต่างท้องที่ดังกล่าว ข้าราชการผู้นั้นย่อมมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้ แม้ว่าบ้านที่ได้เช่าและได้พักอาศัยเพื่อเดินทางไปปฏิบัติราชการจะตั้งอยู่ต่างท้องที่กับท้องที่ที่สำนักงานใหม่ตั้งอยู่ก็ตาม และตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ได้กำหนดให้ข้าราชการที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านและได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่เช่าซื้อหรือบ้านที่ผ่อนชำระเงินกู้ ให้มีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการ ซึ่งการกำหนดให้ข้าราชการมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้มาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการตามมาตรา ๑๗ เป็นการขยายสิทธิในการเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการตามมาตรา ๗ โดยขยายรวมไปถึงการเช่าซื้อหรือการผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระด้วย  ทำให้ข้าราชการที่ประสงค์จะมีบ้านเป็นของตนเองโดยการเช่าซื้อหรือกู้เงินเพื่อชำระราคาบ้าน สามารถเบิกเงินค่าเช่าบ้านเพื่อนำไปชำระค่าเช่าซื้อหรือชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวบางส่วนได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการจะสนับสนุนให้ข้าราชการได้มีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง และทำให้ทางราชการรับภาระค่าเช่าบ้านข้าราชการที่ต้องจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้นั้นอย่างมีกำหนดเวลาตามระยะเวลาของการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้าน ประกอบกับกรณีที่ข้าราชการผู้ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่และได้เช่าบ้านของบุคคลอื่นเพื่อพักอาศัยอยู่จริงในต่างท้องที่กับท้องที่สำนักงานใหม่ตั้งอยู่ยังมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านสำหรับบ้านเช่าที่ตั้งอยู่ต่างท้องที่ดังกล่าวตลอดมาตามมาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการฯ ได้ การตีความคำว่าท้องที่ตามมาตรา ๔  ประกอบมาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการฯ ของผู้ถูกฟ้องคดีย่อมทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมต่อผู้ฟ้องคดีและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น เมื่อข้าราชการผู้ใดมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ต้ังอยู่ต่างท้องที่กับท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ และการเดินทางไปทำงานที่สำนักงานซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปประจำไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการปฎิบัติหน้าที่ราชการ ข้าราชการผู้นั้นก็ย่อมมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้หรือชำระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ในทำนองเดียวกันกับการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการสำหรับบ้านเช่าที่อยู่ต่างท้องที่กับท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่  ...เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ การที่ผู้ฟ้องคดีนำหลักฐานการผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ต้ังอยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี มาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ โดยจังหวัดนนทบุรีเป็นจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นท้องที่ใกล้เคียงกับท้องที่ที่ต้ังสำนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีตามบัญชีรายชื่อท้องที่ใกล้เคียงกรณีกรุงเทพมหานครกับจังหวัดใกล้เคียงท้ายระเบียบกระทรวงการคลัง...และการเดินทางไม่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทั้งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการด้วยเงื่อนไขอื่นๆ แต่ประการใด ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธินำหลักฐานการผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ซื้อมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้นับแต่วันที่ได้เข้าพักอาศัยอยู่จริงตามมาตรา ๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ..."


         จากคำพิพากษาในคดีดังกล่าว การเบิกค่าเช่าซื้อบ้านที่ตั้งอยู่ต่างท้องที่ กับท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ ศาลวางหลักที่สำคัญคือ มื่อข้าราชการผู้ใดมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ต้ังอยู่ต่างท้องที่กับท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่ และการเดินทางไปทำงานที่สำนักงานซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปประจำไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการปฎิบัติหน้าที่ราชการ ข้าราชการผู้นั้นก็ย่อมมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้หรือชำระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ในทำนองเดียวกันกับการใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการสำหรับบ้านเช่าที่อยู่ต่างท้องที่กับท้องที่ที่สำนักงานตั้งอยู่  ดังนั้น การขอนำหลักฐานการเช่าซื้อบ้านหรือการชำระเงินกู้เพื่อชำระค่าบ้าน ที่ซื้อต่างท้องที่กับท้องที่ไปประจำ ควรได้รับการพิจารณาให้เบิกค่าเช่าบ้านได้ เพราะตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนดในการนำหลักฐานการเช่าซื้อมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการกำหนดให้ทำได้เพียงหลังเดียวและไม่เกินจำนวนเงินตามสิทธิ ไม่เกินจำนวนเงินที่เช่าซื้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับข้าราชการและราชการมากกว่า ให้เช่าบ้านต่อๆไปโดยไม่ได้สิทธิในเคหสถานนั้นเลย และอาจจะมีการกระทำทุจริต เนื่องจากเช่าแล้วไม่ได้อยู่จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจ และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ควรที่จะวางแนวปฏิบัติการเบิกค่าเช่าซื้อตามแนวทางของคำพิพากษาศาลปกครองสุงสุดในคดีดังกล่าว มากกว่าที่จะปล่อยให้ข้าราชการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาและสูญเสียขวัญกำลังใจในการทำงาน 

 advertisment

*************************

ขอขอบคุณ 
           ๑.สรุปสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๑๕๘๗/๒๕๕๙ ที่เผยแพร่ทางเว็บไซด์ http://www.admincourt.go.th   วิชาการ /วารสาร/หนังสือวิชาการ : แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครอง  
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น