วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563

การซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง

 บทความโดย  ก้องทภพ  แก้วศรี

            

      ซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง 

        มีหนังสือเวียนของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  กรมบัญชีกลาง (กค (กวจ) ซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ที่สำคัญๆมานำเสนอ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้

            ข้อ ๑ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว๑๑๑ ลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๑ เรื่อง ซ้อมความเข้าใจการเลือกใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ กรณีวงเงินไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
                 สาระสำคัญ  คือ กรณีที่การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุแต่ละครั้งมีวงเงินในการจัดหาไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หากหน่วยงานของรัฐประสงค์จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก็สามารถกระทำได้ ภายใต้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ดังนี้
                ๑.การจัดซื้อหรือจ้างที่มีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่ไม่ซับซ้อนหรือเป็นสินค้าหรืองานบริการที่มีมาตรฐานและได้กำหนดไว้ในระบบ
e-catalog ให้ดำเนินการด้วยวิธี e-market
                ๒.การซื้อหรือจ้างที่เป็นสินค้าหรืองานบริการที่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุไว้ในระบบ e-catalog ให้ดำเนินการด้วยวิธี e-bidding
               ๓.กรณีหน่วยงานอยู่ในพื้นที่ ที่มีข้อจำกัดในการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ท ให้ดำเนินการด้วยวิธีสอบราคา

            ข้อ ๒ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว ๒๑๗  ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๗๙

            สาระสำคัญ คือ กรณีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หากเป็นพัสดุที่มีคุณลักษณะเฉพาะซับซ้อน ไม่เหมาะสมจะให้เจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งเป็นผู้เจรจาตกลงราคากับผู้ประกอบการ ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงก็ได้ โดยให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๗๘(๑)(ง) โดยอนุโลม แล้วให้เสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเป็นผู้อนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างตามระเบียบฯ ข้อ ๘๖ ต่อไป

            ข้อ ๓ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว ๒๒๐ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เรื่อง การตีความนิยามคำว่า“ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน” ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ข้อ ๔

             สาระสำคัญ คือ  พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๖๗ วรรคสี่ กำหนดว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่สองรายขึ้นไป มิให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐนั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันหรือมีส่วนได้เสียกับหน่วยงานของรัฐอื่น” กรณีดังกล่าวนี้ ให้หมายความรวมถึงกรณีที่หน่วยงานของรัฐต่างประเทศเป็นผู้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่สองรายขึ้นไปในคราวเดียวกันด้วย

            ข้อ ๔ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว ๒๕๘ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดจ้างกรณีที่มีผู้เสนอราคาต่ำสุดเท่ากันหลายราย หรือมีผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดเท่ากันหลายราย
            สาระสำคัญ คือ
             ๑.วิธี
e-bidding กรณีใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่น
                มีผู้ได้คะแนนรวมสูงสุดเท่ากันหลายราย  พิจารณาจากผู้ได้คะแนนคุณภาพมากที่สุด
             ๒.วิธีสอบราคาหรือคัดเลือก 
                 กรณีใช้เกณฑ์ราคา   มีผู้เสนอราคาต่ำสุดเท่ากันหลายราย  แจ้งผู้ที่เสนอราคาต่ำทุกรายเสนอราคาใหม่พร้อมกัน โดยการยื่นซองเสนอราคา
                 กรณีใช้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่น  มีผู้ได้คะแนนรวมสูงสุดเท่ากันหลายราย พิจารณาจากผู้ได้คะแนนคุณภาพมากที่สุด

            ข้อ ๕ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว๒๕๙ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ เรื่อง ซ้อมความเข้าใจนิยามความหมาย “งานก่อสร้าง” ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาพรัฐ พ.ศ.๒๕๖๐
            สาระสำคัญ คือ
            ๑.ยกเลิกหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค(กวจ.)ที่ ๐๔๐๕.๒/ว๑๑๒ ลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๑
            ๒.ซ้อมความเข้าใจนิยามความหมายของคำว่า “งานก่อสร้าง”ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ดังนี
                 ๒.๑ การซ่อมแซม หมายถึง การซ่อม การดำเนินการ และหรือการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบอันเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งก่อสร้างทั้งหมดหรือบางส่วนให้คงสภาพและหรือใช้งานได้ตามปกติดังเดิม
                 ๒.๒ การปรับปรุง หมายถึง การแก้ไข การกระทำ และหรือการดำเนินการอื่นใด อันเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้น
                 ๒.๓ การต่อเติม หมายถึง การดัดแปลง เปลี่ยนแปลง เพื่อต่อเติมหรือขยาย ซึ่งลักษณะขอบเขตแบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ อันเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งก่อสร้างทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม แต่มิใช่เป็นกรณีของการซ่อมแซม
                ๒.๔ การรื้อถอน หมายถึง การรื้อถอนหรือการดำเนินการอื่นใด เพื่อนำส่วนประกอบอันเป็นโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งก่อสร้างทั้งหมดหรือบางส่วนออกไป
               กรณีตามข้อ ๒.๑-๒.๔ ให้พิจารณา ดังนี้
               หากการดำเนินการไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก หรือไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือไม่จำเป็นต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติงานตลอดเวลา สามารถดำเนินการจัดจ้างในลักษณะอื่นที่มิใช่งานก่อสร้างได้หากการดำเนินการกระทบต่อโครงสร้างหลัก หรือกระทบต่อความปลอดภัย หรือต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติงานตลอดเวลา ให้ดำเนินการจัดจ้างในลักษณะงานก่อสร้าง



            ข้อ ๖ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว ๒๘๙  ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้าแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า
            สาระสำคัญ คือ 

            ๑.กรณีกิจการร่วมค้าได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ 
                กิจการร่วมค้าต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาหรือสอบราคา  ยื่นข้อเสนอในนาม “กิจการร่วมค้า”  คุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้าง สามารถนำผลงานของผู้เข้าร่วมค้ามาแสดงได้  ผลงานก่อสร้างของผู้เข้าร่วมค้ามาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าที่เข้าประกวดราคาหรือสอบราคาได้ หมายความว่า สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งมาใช้แสดงเป็นผลงานของกิจการร่วมค้าที่เข้าประกวดราคาหรือสอบราคาได้

            ๒.กรณีกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ 
                นิติบุคคลแต่ละนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้าทุกราย จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาหรือสอบราคา เว้นแต่ กรณีที่กิจการร่วมค้ามีข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมค้าเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดให้ผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้ายื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐและแสดงหลักฐานดังกล่าวมาพร้อมกับการยื่นข้อเสนอ กิจการร่วมค้านั้น สามารถใช้ผลงานก่อสร้างของผู้ร่วมค้าหลักรายเดียวเป็นผลงานก่อสร้างของกิจกรรมร่วมค้าที่ยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาหรือสอบราคาได้
            ๓.สำหรับแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้าให้ใช้บังคับถึงการคัดเลือกคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้าในการซื้อหรือจ้าง เช่าหรืองานบริการ หรืองานจ้างที่ปรึกษา หรืองานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างโดยอนุโลม

            ข้อ ๗ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว ๔๒๗ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑ เรื่อง ซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ กรณีคู่สัญญาแปรสภาพนิติบุคคล
             สาระสำคัญ คือ
            ๑.กรณีที่ผู้ประกอบการที่ยื่นข้อเสนอเป็นผู้ชนะการเสนอราคา ต่อมาก่อนลงนามในสัญญาได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นนิติบุคคลใหม่ หน่วยงานของรัฐสามารถลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงกับนิติบุคคลดังกล่าวได้
           ๒.กรณีผู้ประกอบการที่ยื่นข้อเสนอ ได้ลงนามเป็นคู่สัญญาแล้ว ต่อมาได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นนิติบุคคลใหม่ หน่วยงานของรัฐสามารถแก้ไขสัญญาหรือข้อตกลงเพื่อเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาได้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๑๖๕
            ข้อ ๘ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว ๘๓  ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เรื่อง การซ้อมความเข้าใจการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๑๘๓
            สาระสำคัญ คือ
            ๑.เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของหรืองานจ้างที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือข้อตกลง และได้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จนมีค่าปรับเกิดขึ้นแล้ว เมื่อจำนวนค่าปรับที่เกิดขึ้นจะเกินกว่าร้อยละ ๑๐ ของวงเงินพัสดุหรือค่าจ้างตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้หน่วยงานของรัฐมีหนังสือแจ้งบอกกล่าวกับคู่สัญญาว่าจำนวนค่าปรับที่เกิดขึ้นจะเกินร้อยละ ๑๐ แล้ว และจะดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงต่อไป เว้นแต่ คู่สัญญาจะได้มีหนังสือแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยจะยินยอมเสียค่าปรับแก่หน่วยงานของรัฐโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น

               ๒.กรณีที่คู่สัญญาได้มีหนังสือแจ้งความยินยอมเสียค่าปรับให้แก่หน่วยงานของรัฐโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงได้เท่าที่จำเป็น โดยหน่วยงานของรัฐต้องประเมินความคืบหน้าการดำเนินการตามสัญญาของคู่สัญญาว่า การผ่อนปรนดังกล่าวจะทำให้คู่สัญญาดำเนินการแล้วเสร็จหรือไม่ หรือจะต้องใช้ดุลพินิจว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

                  ๒.๑ กรณีที่เห็นว่า ควรผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ให้หน่วยงานของรัฐแจ้งคู่สัญญาให้รับทราบและดำเนินการตามสัญญาหรือข้อตกลงโดยเร็ว โดยคู่สัญญาจะต้องกำหนดแผนและระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จให้ชัดเจน

                  ๒.๒ ในกรณีที่จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ให้หน่วยงานของรัฐแจ้งการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงไปยังคู่สัญญาโดยเร็ว ทั้งนี้ การแจ้งบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมกับการแจ้งการปรับและริบหลักประกันสัญญาหรือข้อตกลง(ถ้ามี)

               ๓.กรณีที่คู่สัญญาได้มีหนังสือแจ้งความยินยอมเสียค่าปรับให้แก่หน่วยงานของรัฐโดยมีเงื่อนไข หรือกรณีคู่สัญญาไม่มีหนังสือแจ้งความยินยอมดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้หน่วยงานของรัฐแจ้งการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงไปยังคู่สัญญาโดยเร็ว ทั้งนี้ การแจ้งบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับการแจ้งการปรับและริบหลักประกันสัญญาหรือข้อตกลง



            ข้อ ๙ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว ๓๕๐ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เรื่อง ซ้อมความเข้าใจการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๕๖ วรรคหนึ่ง

            สาระสำคัญ คือ  ระเบียบฯ ข้อ ๕๖ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ในกรณีที่ปรากฎว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวหรือมีผู้ยื่นข้อเสนอหลายรายแต่ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียวให้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนั้น แต่ถ้าคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุผลสมควรที่จะดำเนินการต่อไปโดยไม่ต้องยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้คณะกรรมการดำเนินการตามข้อ ๕๗ หรือข้อ ๕๘ แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการวินิจฉัย จึงซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามระเบียบข้อ ๕๖ วรรคหนึ่ง โดยให้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ใช้ดุลพินิจภายหลังจากสิ้นสุดการเสนอราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ดังนี้

            ๑.กรณีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว และคณะกรรมการพิจารณาผลฯ พิจารณาเห็นสมควรยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ คณะกรรมการพิจารณาผลฯ สามารถเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเพื่อเลิกประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนั้นได้ โดยไม่ต้องพิจารณาใบเสนอราคาและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวนั้น รวมถึงไม่ต้องจัดพิมพ์และลงลายมือกำกับเอกสารการเสนอราคาดังกล่าวตามนัยระเบียบกระทรวงการคลังฯ ข้อ ๕๕(๑)
              ๒.กรณีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว และคณะกรรมการพิจารณาผลฯ พิจารณาแล้วเห็นสมควรดำเนินการต่อไป คณะกรรมการพิจารณาผลฯ จะต้องดำเนินการตามระเบียบฯ ข้อ ๕๕ กล่าวคือ จัดพิมพ์ใบเสนอราคาและเอกสารการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอจากระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน ๑ ชุด โดยให้กรรมการทุกคนลงลายมือชื่อกำกับไว้ในใบเสนอราคา เอกสารการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอทุกแผ่น และพิจารณาเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้น รวมถึงดำเนินการตามระเบียบฯ ข้อ ๕๗ หรือ ๕๘ แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม
              ๓.กรณีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย แต่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดเพียงรายเดียว คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อ ๕๕ จึงจะสามารถทราบได้ว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอถูกต้องเพียงรายเดียว และ

                 ๓.๑ หากคณะกรรมการพิจารณาผลฯ พิจารณาแล้วเห็นสมควรยกเลิก ก็ให้เสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเพื่อยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนั้น

                 ๓.๒ แต่หากพิจารณาแล้ว เห็นสมควรดำเนินการต่อไป ก็ให้ดำเนินการต่อไป ก็ให้ดำเนินการตามระเบียบฯ ข้อ ๕๗ หรือ ๕๘ แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม

            ๔.กรณีประกวดราคานานาชาติ ตามระเบียบฯ ข้อ ๖๐(๓) วิธีสอบราคา ตามข้อ ๗๑ วรรคหนึ่ง วิธีคัดเลือก ตามข้อ ๗๕ วรรคหนึ่ง การจ้างที่ปรึกษาวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ตามข้อ ๑๑๕ วรรคหนึ่ง และโดยวิธีการคัดเลือก ตามข้อ ๑๒๑ วรรคหนึ่ง วิธีการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ตามข้อ ๑๔๗ วรรคหนึ่ง และโดยวิธีคัดเลือก ตามข้อ ๑๕๐ วรรคหนึ่ง ให้นำข้อ ๑ถึงข้อ ๓ มาใช้โดยอนุโลม

           ข้อ ๑๐ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  ที่ กค (กวจ.)๐๔๐๕.๒/ว ๑๑๗ ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒ เรื่อง การกำหนดวิธีปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องก่อนการคืนหลักประกัน
            สาระสำคัญ คือ
            ๑.ให้หัวหน้าหน่วยงานผู้ครอบครองพัสดุ หรือผู้ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาและตรวจสอบความชำรุดบกพร่อง เว้นแต่กรณีไม่มีผู้ครอบครอง หรือมีผู้ครอบครองหลายหน่วยงานให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาและตรวจสอบความชำรุดบกพร่อง

            ๒.กรณีปรากฎความชำรุดบกพร่องภายในเวลา ผู้มีหน้าที่ตามข้อ ๑ รีบรายงานหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเพื่อแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างซ่อมแซมแก้ไขทันที พร้อมกับแจ้งให้ผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี)ทราบด้วย

            ๓.ก่อนสิ้นสุดระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องภายใน ๑๕ วัน สำหรับหลักประกันสัญญาที่มีระยะเวลาการประกันไม่เกิน ๖ เดือน หรือภายใน ๓๐ วัน สำหรับหลักประกันสัญญาที่มีระยะเวลาตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบความชำรุดบกพร่องและรายงานให้หัวหน้าหน่วยงานทราบอีกครั้งหนึ่ง หากปรากฏมีความชำรุด ให้แจ้งผู้ขายหรือผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขหรือซ่อมแซมก่อนสิ้นสุดระยะเวลารับประกัน พร้อมแจ้งให้ผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) ทราบ

            ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่แจ้งกำหนดระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องตามหลักประกันสัญญาให้หัวหน้าหน่วยงานผู้ครอบครองพัสดุหรือหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทราบพร้อมกับส่งมอบพัสดุทุกครั้ง

 

 ****************

ขอขอบคุณ

        ภาพจาก https://www.freepik.com/
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น