วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

กลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นด้วยความเท็จ

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

 

    กลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นด้วยความเท็จ

        ปัญหาการร้องเรียนที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน มีความน่าเชื่ออย่างหนึ่งว่า ผู้ร้องเรียนเป็นบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งมีทั้งร้องเรียนด้วยความไม่พอใจ อิจฉาริษยา กลั่นแกล้งกล่าวหาให้เดือดร้อน หรือร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบ เพราะพบเห็นกระทำที่ไม่ชอบ เช่น การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับประโยชน์จากการปฎิบัติหน้าที่ การประพฤติมิชอบต่างๆ เป็นต้น 

        การร้องเรียนถือเป็นการแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นการกลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนให้ผู้อื่นเดือดร้อน โดยรู้ว่าเรื่องที่ร้องเรียนไม่เป็นความจริง(เป็นเท็จ)แม้เป็นการร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาก็ตาม นอกจากที่ผู้ร้องเรียนจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยแล้ว ผู้ร้องเรียนจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำหรือปรับ เช่น
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2498 นำความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวโทษว่าเขาลักตัดยางและเอาไฟเผาสวนยางด้วย โดยความจริงเขามิได้กระทำผิดดังข้อหานั้นเลย ดังนี้ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะมิได้จดข้อความที่แจ้งความนั้นไว้ในสมุดลงประจำวัน ผู้แจ้งก็มีความผิดแจ้งความเท็จ ร้องเรียนเท็จ(ฎีกานี้อธิบายถึงผู้แจ้งข้อความรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องเท็จขณะไปแจ้ง) 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2530 ผู้กำกับการตรวจภูธรจังหวัดมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ฉะนั้น ข้อความในหนังสือที่จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ดังกล่าวเป็นเท็จ จำเลยย่อมมีความผิดแจ้งความเท็จ ตามมาตรา 137 

                                                            ADVERTISEMENT (โฆษณา)คลิก

        ทั้งเป็นความผิดหมิ่นประมาทผู้ที่ถูกร้องเรียนไปในตัวด้วยเพราะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3252/2543 คำว่า "ใส่ความ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึงพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความ เสียหาย 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2507 ข้อกล่าวหาของจำเลยที่ว่านายหิรัญผู้พิพากษาได้ร่วมรับประทานเลี้ยงกับนางนิภาโจทก์ซึ่งนายหิรัญตัดสินให้ชนะคดีที่ร้านข้างศาลในตอนเย็นวันตัดสินนั้นเป็นความเท็จและจำเลยได้ร้องเรียนความดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม และไปยืนยันให้ถ้อยคำต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค2ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานายหิรัญในการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่นายหิรัญเช่นนี้การกระทำของจำเลยเป็นการแจ้งข้อความเท็จโดยเจตนาซึ่งอาจทำให้นายหิรัญเสียหายเป็นความผิดตามมาตรา137 ยิ่งกว่านั้นข้อความที่จำเลยแจ้งเท็จดังกล่าว ยังมีความหมายไปในทางหาว่านายหิรัญประพฤติตนไม่สมควร เป็นไปในทำนองพิพากษาคดีความไปโดยไม่สุจริต เป็นการหมิ่นประมาทนายหิรัญผู้พิพากษาในการพิพากษาคดีความไปโดยไม่สุจริตเป็นการหมิ่นประมาทนายหิรัญผู้พิพากษาในการพิพากษาคดีอันเป็นความผิดตามมาตรา198และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความแก่นายหิรัญตามมาตรา 326 อีกด้วย กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329(1) เพราะจำเลยมีเจตนาแกล้งกล่าวข้อความเท็จโดยไม่สุจริต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าผู้รับแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้น จะต้องเป็พนักงานสอบสวน แต่ย่อมหมายถึงเจ้าพนักงานโดยทั่วไป เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่สอบสวนความผิดทางวินัยกับนายหิรัญการที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 สอบสวนจำเลย จีงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2ซึ่งอาจทำให้นายหิรัญเสียหาย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 137


        หากการร้องเรียนนั้นเป็นเรื่องจริง จะไม่มีความผิดแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่ความผิดหมิ่นประมาทในทางอาญานั้น ทั้งการแจ้งเรื่องเท็จและเรื่องจริง ก็มีความผิดหมิ่นประมาทในทางอาญา แต่มีข้อยกเว้นถ้าพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องจริง แม้เป็นความผิดหมิ่นประมาทในทางอาญา แต่ไม่ต้องรับโทษ เช่น

        คำพิพากาศาลฎีกาที่ 3/2508 จำเลยได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ปลัดจังหวัดอ่านด้วย จึงฟังได้ว่าบุคคลที่สามได้ทราบข้อความในเอกสาร จ.1 แล้ว ข้อวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อความใน จ.1 มิเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จุดประสงค์จำเลยมุ่งเป็นสาระสำคัญในการทำหนังสือร้องเรียนนี้ขึ้น ก็เพื่อจะกล่าวหาว่าโจทก์สมคบกับนางนพคุณ เบิกเงินค่าพาพหนะเดินทางเกินจากความเป็นจริง เป็นการททุจริตต่อหน้าที่ ส่วนข้อความในตอนต้นที่กล่าวหาโจทก์มีความประพฤติเลวร้ายก็มิได้กล่าวว่าเลวร้ายอย่างใด แต่ก็น่าจะเข้าใจได้ว่าการกระทำที่เป็นการทุจริตอย่างจำเลยกล่าวหาโจทก์มานี้ก็เป็นความประพฤติที่เลวร้ายได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าข้อกล่าวหาเช่นนี้เป็นการกล่าวเท็จ ก็ไม่มีปัญหาย่อมฟังได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ปลัดเทศบาล เพราะจะทำให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ได้ ในทางตรงกันข้าม หากการกระทำของโจทก์เป็นความจริงดังจำเลยร้องเรียน จำเลยก็มีสิทธิที่จะร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์ได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจำเลยแกล้งร้องเรียนเท็จหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์คำพยานโจทก์จำเลยแล้ว น่าเชื่อเป็นความจริงว่านางนพคุณได้เดินทางไปภูเก็ตคนเดียว ไม่ใช่ 5 คน ดังที่นางนพคุณตั้งฎีกาเบิกเงินค่าพาหนะ คำร้องเรียนของจำเลยตามเอกสาร จ.1 จึงฟังได้เป็นความจริงจำเลยต่อสู้ จำเลยจึงไม่มีความผิดดังโจทก์ฟ้อง เพราะได้รับยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ") 

โฆษณา(คลิก)


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537 โจทก์ร่วมถูกร้องเรียนว่ายักยอกเอาเงินโครงการอาหารกลาววันและอื่นๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยซึ่งรักษาราชการแทนโจทก์ร่วมได้แจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ร่วมและได้พูดกับผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารว่า "ยักยอกตามตัวไม่พบ" คำพูดดังกล่าวของจำเลยทำให้สมุห์บัญชีธนาคารเข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของราชการและหนีไป จึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมแม้จำเลยกล่าวออกไปโดยถูกถาม แต่จำเลยย่อมสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำว่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อีกทั้งปรากฎว่าสาเหตุที่มีการระงับการจ่ายเงินเดือนเพราะโจทก์ร่วมไม่ยอมลงชื่อในหลักฐานการจ่ายเงินเดือน หาใช่เพราะโจทก์ร่วมยักยอกและตามตัวไม่พบไม่ และจำเลยกับโจทก์ร่วมก็มีเหตุขัดแย้งไม่พอใจในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการกันอยู่ การกล่าวข้อความของจำเลย จึงมิใข่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต แต่มีเจตนาใส่ความโจทก์ จำเลยจึงความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 10448/2553 ข้อความทั้งหมดตามบทความสรุปว่า โจทก์ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่กำกับดูแลกรมศาสนา ทำงานไม่เป็น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย ท่าดีทีเหลว โอบอุ้มพระ เนื่องจากรับเงินสินบนจากพระ 150,000,000 บาท เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วมีลักษณะเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ลักษณะของการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอข้อเท็จจริงโดยสุจริต หรือติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยทั้งสาม จึงกระทำละเมิดต่อโจทก์


        ในทางแพ่ง การกลั่นแกล้งร้องเรียนกล่าวหาผู้อื่น โดยรู้ว่าเป็นความไม่จริงหรือเป็นความเท็จ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้อื่นด้วย เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแก่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าคามนั้นไม่เป็นจริง แต่หากควรจะรู้ได้ เช่น 

                                                     ADVERTISEMENT (โฆษณา)

  
        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 21420/2556 ข้อเท็จจริงที่จะทำให้การกล่าวหาหรือไขข่าวแพร่หลาย เป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็คือการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้น ฝ่าฝืนต่อความจริง หากการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายความจริง ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
        (คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 700,000 บาท พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 ธันวาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
        ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวม 400,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ) 

        ในทางวินัยของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การกลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความจริง ถือเป็นการกระทำความผิดวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเหตุผู้อื่นได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ย่อมเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 88 วรรคสอง ทั้งเข้าข่ายเป็นการกระทำการอันชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามมาตรา 94 วรรคหนึ่ง


        ดังนั้น ถ้าข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษาในสังกัด เป็นผู้กลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนเท็จ ทำให้ผู้บังคับบัญชาหรือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้อื่นเสียหาย หรือสถานศึกษาเสียหาย จะมีความผิดทางวินัย ความผิดในทางอาญา และในแพ่งด้วย

advertisement


การใช้สิทธิปรับตามสัญญาของหน่วยงานของรัฐ


บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

                                          

        จากกรณีที่มีระเบียบภายในส่วนราชการที่เกี่ยวกับค่าปรับ กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 138 ว่า "ในกรณีทีคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น"
        ข้อกำหนดดังกล่าว เป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชน ที่ให้หน่วยงานของรัฐในฐานะผู้ว่าจ้าง สามารถบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง หรือจะใช้สิทธิปรับต่อไป โดยพิจารณาจากจำนวนเงินค่าปรับที่จะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการที่ล่าช้ากว่ากำหนดเวลาแล้วเสร็จในสัญญา ซึ่งมีแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยกรณีดังกล่าวไว้ คือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.232/2549

        เมื่อส่วนราชการได้ผ่อนปรนการปฏิบัติตามสัญญาให้นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดสัญญาจนถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเวลาประมาณ 9 เดือนเศษและได้ใช้สิทธิเรียกค่าปรับตามระยะเวลาดังกล่าว กรณีจึงเป็นการผ่อนปรนการปฏิบัติตามสัญญาที่ีมีวงเงินค่าปรับเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้าง เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของส่วนราชการที่ได้ใช้อาคารเรียนโดยไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ประกอบกับความล่าช้าที่จะน่าจะเกิดจากการที่ส่วนราชการใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการเลิกสัญญานานเกินกว่าระยะเวลาที่ผู้รับจ้างจะต้องใช้ในการก่อสร้างตามสัญญาอยู่ด้วย นอกจากนั้น การที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 กำหนดให้ผู้ว่าจ้างใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้เมื่่อมีจำนวนค่าปรับอันเนื่องมาจากงานล่าช้าเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้าง แสดงว่าทางราชการอาจประสงค์จะได้รับค่าปรับอันเกิดจากเหตุล่าช้าเพียงร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้าง เมื่อพิจารณาเหตุตามสถานะแห่งคดีและความเป็นธรรม จึงมีเหตุสมควรลดค่าปรับตามส่วน โดยให้ผู้รับจ้างชำระค่าปรับในอัตราร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว 

advertisment

  
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.90/2551 จำนวนเงินที่จะคิดค่าปรับได้ต้องไม่เกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้าง เมื่อวงเงินค่าจ้างตามสัญญาพิพาทเป็นจำนวน 8,104,000 บาท จึงคิดค่าปรับได้ไม่เกิน 810,400 บาท หากปรับเกินจำนวนเงินดังกล่าว จะต้องบอกเลิกสัญญา การที่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลย โดยมิได้ยินยอมให้ปรับตามสัญญา จึงเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อข้อ 138 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 คงต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าปรับเพียง 810,400 บาท
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.145/2551 การกำหนดค่าปรับไว้ในสัญญามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นบทลงโทษที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอันจะทำให้ผู้รับจ้างทราบว่า หากทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาหรือทำงานล่าช้า จะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อการพิจารณาเจตนาของการทำงานนั้น จะต้องพิจารณาในวันที่ครบกำหนดตามสัญญา ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ภายหลังจากวันสิ้นสุดสัญญาจนถึงวันที่ค่าปรับจะสูงเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้าง ทำงานได้เพียงร้อยละ 40 ของงานตามสัญญา และไม่ปรากฎว่าได้ยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ กรณีจึงฟังได้ว่า ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ การที่ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในเมื่อเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้าง จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของระเบียบฯ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเป็นค่าปรับที่สูงเกินส่วน จึงให้ชำระเงินค่าปรับเป็นจำนวน 230,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี (วงเงินค่าจ้างตามสัญญา 2,304,000 บาท)

        ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 138 มีเจตนารมณ์ที่จะปรับผู้ผิดสัญญากับทางราชการไม่เกินร้อยละ10 ของวงเงินตามสัญญา หากค่าปรับเกินกำหนดดังกล่าว ส่วนราชการต้องบอกเลิกสัญญาเพื่อมิให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องเสียหายเพิ่มมากขึ้น เว้นแต่คู่สัญญาจะยินยอมให้ทางราชการปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ส่วนราชการคู่สัญญาจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาตามที่เห็นสมควรได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.395/2551) แต่แม้คู่สัญญาจะยินยอมให้ทางราชการปรับได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่ส่วนราชการได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยมิได้ผ่อนปรนให้คู่สัญญาทำงานต่อจนแล้วเสร็จ ก็ถือไม่ได้ว่าส่วนราชการสามารถปรับคู่สัญญาได้เกินส่วนร้อยละสิบ (ตีความตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.395/2551)
        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.514/2556 แม้ว่าระเบียบเกี่ยวกับการพัสดุจะมีเจตนารมณ์ที่จะให้เอกสิทธิ์คู่สัญญาฝ่ายราชการในฐานะผู้ว่าจ้างให้มีสิทธิบบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว หากเห็นว่าคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ หรือหากปฏิบัติตามสัญญาต่อไป จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่งบทบัญญัติดังกล่าวยังมุ่งหมายให้ผู้รับจ้างคู่สัญญาต้องทำงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานโดยเร็วหรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสำคัญ โดยไม่ประสงค์ให้เรียกค่าเสียหายที่สูงเกินสมควรแต่อย่างใด อีกทั้งยังคุ้มครองคู่สัญญาฝ่ายเอกชนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ มิให้ต้องรับภาระจากเงินค่าปรับในจำนวนที่สูงเกินร้อยละ๑๐ ของวงเงินค่าจ้าง ด้วยเหตุนี้ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายรัฐทราบว่าจำนวนเงินค่าปรับเกินร้อยละ๑๐ ของวงเงินค่าจ้าง ควรดำเนินการบอกเลิกสัญญาในวันดังกล่าว เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น 



        คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.146/2560 เมื่อพิจารณาจากเนื้องานตามสัญญาแล้ว เห็นได้ว่างานที่เหลือ ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาที่เหลือตามสัญญา ซึ่งเหลืออยู่เพียง๑ วัน การที่ขอขยายเวลาปฏิบ้ติตามสัญญาและเมื่อไม่ได้รับการขยายเวลาก็มีหนังสืออุทธรณ์โต้แย้ง ย่อมเห็นว่าได้ว่ายังประสงค์จะทำงานตามสัญญา การที่ยังคงให้ดำเนินการต่อไปโดยสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับจึงเป็นการชอบด้วยเหตุผล แต่เมื่อมีหนังสือเร่งรัดให้ก่อสร้างงานตามสัญญาจ้าง ซึ่งขณะนั้นจำนวนเบี้ยปรับใกล้เคียงร้อยละสิบของค่าจ้าง ซึ่งตามระเบียบ กำหนดให้ ให้ความยินยอมในการเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งมิได้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว ในเวลาต่อมาผู้รับจ้างมีหนังสือขอลดค่าปรับ แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างมีมติไม่ลดค่าปรับ ย่อมแสดงว่าผู้รับจ้างไม่ยินยอมที่จะเสียค่าปรับที่สูงเกินร้อยละสิบของค่าจ้าง การที่จะยังคงให้ก่อสร้างงานตามสัญญาต่อไป ก็ควรต้องดำเนินการตามระเบียบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย เมือมิได้ดำเนินการ แต่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยไม่ปรากฎว่าได้ยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด จึงเป็นการไม่พยายามบรรเทาความเสียหาย จึงมีส่วนผิดที่เป็นเหตุให้เบี้ยปรับสูงเกินส่วน
 
         จากแนวคำพิพากษาของศาล ทำให้ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ มีผู้รับจ้างที่ทราบแนวการตัดสินของศาลปกครองดังกล่าวแล้ว มักจะให้มีการปรับตามสัญญาไปก่อน เพื่อที่ผู้รับจ้างสามารถทำงานล่าช้าได้ และเมื่อค่าปรับเกินร้อยละ10ตามเงื่อนไขที่ระบุว่าในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 138 แล้วหน่วยงานไม่ได้ใช้ดุลพินิจในการบอกเลิกสัญญานั้นเสีย ยังคงปรับต่อไป โดยไม่ให้ผู้รับจ้างยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อค่าปรับเกินร้อยละ10 จนผู้รับจ้างทำงานเสร็จและส่งมอบงานเรียบร้อย ผู้รับจ้างมักจะมาฟ้องหน่วยงานเป็นคดีปกครอง เพื่อขอคืนเงินค่าปรับที่มีการปรับไว้เกินร้อยละ 10 ตามแนวคำพิพากษาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อค่าปรับจะเกินร้อยละ10ของค่าจ้างแล้ว หน่วยงานที่เป็นคู่สัญญาควรจะพิจารณาว่าจะปรับต่อไป โดยจัดการให้ผู้รับจ้างยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไข หรือจะบอกเลิกสัญญา เพื่อหาผู้รับจ้างรายใหม่มาดำเนินการแทน เพื่อเป็นการลงโทษผู้รับจ้าง ที่มีเจตนาส่งงานล่าช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของทางราชการที่ควรจะได้รับตามกำหนดในสัญญา แต่ก็อย่าลืมพิจารณามติ ครม.ที่ออกมาช่วยเหลือความเดือดร้อนของผู้รับจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆในประเทศประกอบด้วย เช่น ภาวะโรคติดต่อร้ายแรง เป็นต้น


*********************
ขอขอบคุณ

๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก http://www.admincourt.go.th/


advertisment


การสอบสวนดำเนินการทางวินัย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

 บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

       การสอบสวนดำเนินการทางวินัย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามพระราชบัญญัตระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง ว่า"ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวันัย ป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การดำเนินการทางวินัย เริ่มเมื่อมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่กระทำผิดวินัย 
          กรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย  พิจารณาตาม มาตรา ๙๕ วรรคสี่  "เมื่อปรากฎกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัย โดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยทันที"  พยานหลักฐาน คือ พยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ ถ้ามีพยานหลักฐานในเบื้องต้นที่น่าเชื่อ ก็สามารถดำเนินการทางวินัยได้ทันที โดยไม่ต้องสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นอีก  แต่ผู้บังคับบัญชา สามารถใช้อำนาจสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความน่าเชื่อของพยานหลักฐานนั้นได้ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ผู้บังคับบัญชาจะไม่สืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยเชื่อพยานหลักฐานในเบื้องต้น แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการทางวินัยข้าราชการดังกล่าวทันที การแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน ก็ไม่เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด  เพราะคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย  ไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง เนื่องจาก ไม่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นในระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว... ตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙  
          การดำเนินการทางวินัย เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ตามความในมาตรา ๙๘ วรรคหนึ่ง ที่ให้ผู้บังคับบัญชาแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนให้ได้ความจริง และความยุติธรรมโดยไม่ชักช้า การดำเนินการทางวินัย จึงต้องทำการสอบสวน จะลงโทษตามสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง มี กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๙ ให้อำนาจดำเนินการโดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา การที่พิจารณาว่าเป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง ที่จะไม่สอบสวนหรืองดการสอบสวน ก็ควรที่จะแจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นมูลกล่าวหาที่เป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าว ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและใช้สิทธิโต้แย้งไว้ด้วย เพื่อป้องกันมิให้ขั้นตอนการดำเนินการวินัยถูกศาลเพิกถอนในภายหลัง


          การแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนไม่ถูกต้อง มีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด ซึ่งตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๕๐ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ระบุว่าเป็นคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง หรืออย่างร้ายแรง และให้แต่งต้ังจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือข้าราชการฝ่ายพลเรือน จำนวนอย่างน้อยสามคน แสดงว่าให้เห็นว่าผู้บังคับบัญชาสามารถแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายพลเรือนได้ ซึ่งสื่อให้เห็นว่าสามารถแต่งต้ังข้าราชการหน่วยงานอื่นได้ ปัญหาที่เป็นความสังสัยว่า ผู้บังคับบัญชาจะแต่งตั้งข้าราชการอื่นที่ไม่ได้เป็นข้าราชการในสังกัด หรือผู้ใต้บังคับบัญชามาเป็นคณะกรรมการสอบสวนได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ ถ้าเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดดังกล่าว โดยประสานขอบุคลากร และดำเนินการขอความอนุุเคราะห์ไปยังต้นสังกัด เพราะการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน ถือเป็นการมอบหมายอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา เพื่อสอบสวนรวบพยานหลักฐานตามข้อกล่าวหาที่มีผู้ร้องเรียนกล่าวหาผู้ใต้บังคับบัญชาในสังกัด ให้คณะกรรมการดำเนินการแทนผู้บังคับบัญชา เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม เป็นกลางกับการดำเนินการทางวินัย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสามารถที่จะคัดค้านผู้เป็นกรรมการสอบสวนได้
          คณะกรรมการสอบสวน ต้องสอบสวนตามข้ั้นตอนที่กำหนดไว้ใน กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๕๐ ขณะเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องทราบและเข้าใจ กฎ ดังกล่าวไว้ด้วยเพื่อป้องกันสิทธิประโยชน์ของตนเองจากการสอบสวน การสอบสวนที่มิชอบและบกพร่อง มีกำหนดไว้ในเรื่อง การแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนไม่ถูกต้องตามข้อ ๓ มีผลให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป ซึ่งการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง และอย่างร้ายแรง ตามข้อ ๓ กำหนดไว้ต่างกัน กล่าวคือ ถ้าเป็นการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นอกจากจะแต้งตั้งจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือข้าราชการฝ่ายพลเรือนแล้ว ประธานกรรมการต้องมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งถือวิทยฐานะของประธานขณะได้รับคำสั่งแต่งต้ังเป็นคณะกรรมการสอบสวน และกรรมการสอบสวนจะต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร หรือผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมาย หรือได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรการดำเนินการทางวินัยที่ ก.ค.ศ.กำหนดหรือรับรอง หรือผู้มีประสบการณ์ด้านการดำเนินการทางวินัยอย่างน้อยหนึ่งคน ดังนั้น ในการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่ร้ายแรง แม้ประธานมีวิทยฐานะต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือไม่มีกรรมการเป็นนิติกร หรือได้รับปริญญาทางกฎหมาย หรือตามที่กล่าว การแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง ยังมีความชอบอยู่ ไม่ทำให้การสอบสวนหมดเสียไป
          
          การสอบสวนขั้นตอนใดไม่ถูกต้องตาม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวน ให้การสอบสวนตอนนั้นเสียไป คือ
          ข้อ๑ 
การประชุมของคณะกรรมการสอบสวน มาประชุมไม่ครบตามที่กำหนด  กล่าวคือต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด เว้นแต่การประชุมพิจารณาข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๒๔ และการประชุมพิจารณาสำนวนการสอบสวน เพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและลงมติและจัดทำรายงานการสอบสวน ตามข้อ ๓๘ ที่ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสามคนและไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด ดังนั้น ถ้ามีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนสามคน การประชุมตามข้อ ๒๔ และข้อ ๓๘ ต้องครบสามคนจะใช้มติกรรมการกึ่งหนึ่งไม่ได้  การประชุมอื่นๆในการสอบสวน ใช้กรรมการกึ่งหนึ่งได้
           ข้อ๒
การสอบปากคำบุคคลไม่ถูกต้อง คือ ข้อ ๑๑ การสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้าร่วมฟังการสอบสวนก็ได้ แต่จะให้ถ้อยคำหรือตอบคำถามแทนผู้ถูกกล่าวหาหรือเสนอความเห็นใดแก่คณะกรรมการไม่ได้ ปัญหาคือถือเป็นสิทธิที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องทราบเอง หรือคณะกรรมการสอบสวนต้องแจ้งสิทธิก่อนสอบสวน  เพื่อเป็นการตัดปัญหาการตีความ ในเวลาที่เชิญผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวน ให้ระบุให้หนังสือเชิญว่ามีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้าร่วมฟังการสอบสวนก็ได้ และก่อนสอบปากคำให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งสิทธิให้ทราบอีกครั้งแล้วบันทึกไว้ในแบบสอบสวน ถ้าไม่ทำ และผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งประเด็นนี้ ถือว่าการบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหาไม่ชอบ รับฟังบันทึกถ้อยคำนั้นไม่ได้ และน่าจะต้องถือว่ายังไม่มีการบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหาด้วย


             ข้อ ๒๗ การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงจะสอบสวนได้  ดังนั้น กรรมการสอบสวนไม่ครบตามเกณฑ์มีผลทำให้ การสอบปากคำไม่ชอบ รับฟังบันทึกปากคำเป็นพยานหลักฐานไม่ได้  ต้องสอบสวนบันทึกปากคำใหม่
             ข้อ ๒๘ วรรคหนึ่ง ก่อนเริ่มสอบปากคำพยาน ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้พยานทราบก่อนว่ากรรมการสอบสวน มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การให้ถ้อยคำเป็นเท็จต่อคณะกรรมการสอบสวนอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย   
                       วรรคสอง ในการสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็ก
ให้สอบสวนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ และบุคคลที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจเข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นด้วย หากผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กต้ังข้อรังเกียจข้าราชการครูดังกล่าวข้างต้นให้เปลี่ยนตัวบุคคลนั้น
                       วรรคสาม ในกรณีที่
ผุู้เสียหายหรือพยานที่เป็นคนหูหนวก หรือเป็นใบ้ หรือทั้งหูหนวกและเป็นใบ้ หรือมีความพิการทางการกาย หรือไม่เข้าใจภาษาไทยและมีความจำเป็นต้องใช้ล่าม ให้คณะกรรมการสอบสวนจัดหาล่ามที่เป็นกลาง และเชื่อถือได้ให้แก่บุคคลดังกล่าว
                      คณะกรรมการสอบสวน มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีอธิบายไว้ว่าการเป็นเจ้าเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา จะเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนดำเนินการทางวินัยอย่างไร ใช้ในเรื่องใดได้บ้าง ก็ต้องไปดูประมวลกฎหมายอาญาว่าเจ้าพนักงานในที่นี้เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง เช่น ถ้าเป็นการกระทำที่ผู้เสียหาย พยานหรือผู้ร้องทำต่อเจ้าพนักงาน ก็จะมีที่เกี่ยวข้อง คือ การดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งการะทำตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำตามหน้าที่  แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน  แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าเป็นการกระทำของคณะกรรมการสอบสวนที่มิชอบ ก็จะมีที่เกียวข้อง คือ
 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และกรณีอื่นที่เกี่ยวข้อง

                     พยานบุคคล ตามข้อ ๒๘ ต้องให้น้ำหนักประจักษ์พยานก่อน เพราะเป็นพยานที่รู้ เห็น ทราบข้อความที่จะเป็นพยานด้วยตนเอง ขั้นตอนการสอบปากคำจึงต้องทำตามขั้นตอนในข้อ ๒๘ อย่างครบถ้วน มิเช่นนั้น การสอบปากคำพยานจะไม่ชอบ รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ ส่วนพยานแวดล้อม คือ พยานที่ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบข้อความด้วยตนเอง แต่ได้รับคำบอกเล่ามาจากผู้อื่น ซึ่งก็ต้องพิเคราะห์ว่ามาจากผู้อื่นที่ได้รู้ ได้เห็น หรือทราบข้อความนั้นมาด้วยตนเองหรือไม่ การใช้พยานแวดล้อม เป็นพยานหลักฐานในการลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ก็ถือว่าเสี่ยงที่อาจเป็นการลงโทษโดยไม่มีพยานยืนยันที่ชัดเจน อาจถูกเพิกถอนในภายหลังได้ 
                การสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็ก กำหนดให้ต้องมีข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ และบุคคลอื่นที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจ เข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นด้วย  คำว่า "เด็ก" กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๕๐ ไม่ได้ให้คำนิยามไว้ แล้วจะถืออายุเท่าไร ถ้าพิจารณาจาก พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาดคีเยาวชนละครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ นิยามเด็กว่า คือ บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส การกำหนดให้ต้องมีข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ และบุคคลอื่นที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจ เข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นด้วย สำนักงาน ก.ค.ศ.มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๒๐๖.๙/ว ๒ ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ออกมาให้ยึดถือแนวปฏิบัติการสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็ก ที่จำต้องปฏิบัติตาม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๕๐ โดยเคร่งครัด โดยหนังสือดังกล่าวไม่ได้บอกว่า สามารถใช้ข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ เป็นบุคคลที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจได้ด้วย โดยถือเป็นบุคคลเดียวไปพร้อมกัน หนังสือ ก.ค.ศ.ดังกล่าวจึงไม่ได้ช่วยอธิบายอะไรให้ชัดเจน เพียงแต่ยกข้อกฎหมายมากล่าวไว้เท่านั้นเอง ดังนั้น การตีความ จึงต้องตีความอย่างกว้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสำนวนสอบสวน คือ ให้มีข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้  และต้องมีบุคคลอื่นที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจ เข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นด้วย จะมีอย่างละคน หรืออย่างละหลายคน ก็แล้วแต่คณะกรรมการ แต่อย่างน้อยต้องมีอย่างละหนึ่งคน จึงจะชอบด้วยกฎหมาย และรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้



                ข้อ ๒๙ ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ห้ามมิให้กรรมการสอบสวนกระทำหรือจัดให้กระทำการใดๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆเพื่อจูงใจให้บุคคลนั้นให้ถ้อยคำอย่างใดๆ หรือกระทำให้ท้อใจ หรือใช้กลอุบายอื่นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำหรือไม่ให้ถ้อยคำซึ่งอยากจะให้ด้วยความเต็มใจในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น  โดยปกติ ผู้ถูกกล่าวหาจะให้ถ้อยคำหรือไม่ก็ได้ หรือจะให้ถ้อยคำเท็จปฏิเสธกระทำอย่างไรก็ได้ ไม่ผิดแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่มีแนวคำพิพากษาตัดสินไว้  แต่เป็นหน้าที่คณะกรรมการสอบสวนที่จะหาพยานหลักฐานมายืนยันการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา แต่พยาน ถ้าเป็นบุคคลที่ได้รู้ เห็น และทราบข้อความด้วยตนเองโดยตรง แต่ไม่ให้ถ้อยคำที่ประโยชน์ต่อการสอบสวน ถ้าพยานนั้นเป็นข้าราชการอาจมีความผิดทางวินัยด้วย การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน จึงห้ามคณะกรรมการสอบสวนทำตามข้อ ๒๙ มิฉะนั้น จะต้องห้าม รับฟังบันทีกปากคำมาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหา
                ข้อ ๓๐ วรรคหนึ่ง ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ซึ่งจะถูกสอบปากคำเข้ามาในที่สอบสวนคราวละหนึ่งคน และห้ามมิให้บุคคลอื่นอยู่ในที่สอบสวน เว้นแต่ทนายความหรือที่ปรึกษาของผู้ถูกกล่าวหา หรือบุคคลตามข้อ ๒๘ วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือบุคคลที่คณะกรรมการสอบสวนอนุญาตให้อยู่ในที่สอบสวนเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวน ในข้อนี้ ถ้าเป็นผู้จะถูกสอบปากคำก็คือผู้ถูกกล่าวหาและพยาน คณะกรรมการสอบสวนจะต้องเรียกมาคราวละหนึ่งคน สอบปากคำหลายคนพร้อมกัน ถือว่าไม่ชอบตามข้อนี้ รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เช่น พยานถ้าสอบปากคำที่ละหลายคน อาจได้ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ถูกกล่าวหาและพยาน จะเข้ามาหลายคนก็เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสอบสวน แต่ต้องตอบคำถามได้ว่าเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวนอย่างไร

             ข้อ ๓๒ วรรคหนึ่ง ในกรณีที่จะต้องสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งอยู่ต่างท้องที่ ประธานกรรมการจะรายงานต่อผู้สั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการมอบหมายให้ห้วหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารหน่วยงานการศึกษา ในท้องที่นั้นสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานแทนก็ได้ โดยกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่จะต้องสอบสวนไปให้ ในกรณีเช่นนี้ให้หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารหน่วยงานการศึกษาที่ได้รับมอบหมายเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่เห็นสมควรอย่างน้อยอีกสองคนมาร่วมเป็นคณะกรรมการทำการสอบสวน
             ในข้อนี้ ลักษณะเป็นการส่งประเด็นที่จะต้องสอบสวนที่อยู่ต่างท้องที่ ถ้าคณะกรรมการสอบสวนไม่ตามไปสอบสวนเอง ก็ส่งประเด็นไปได้ โดยประธานกรรมการสอบสวนรายงานผุู้สั่งแต่งตั้ง แต่การสอบสวนก็ต้องทำในรูปคณะกรรมการสอบสวน จึงต้องมีการแต่งต้ังเป็นคณะกรรมการสอบสวนอีกชุดหนึ่ง เพื่อสอบสวนตามประเด็นและข้อสำคัญที่คณะกรรมการสอบสวนชุดแรกทำความเห็น ซึ่งน่าจะยุ่งยากพอสมควร ฉะนั้น ความไม่ชอบหรือบกพร่องของการสอบสวนตามประเด็นหรือข้อสำคัญในข้อนี้ ก็จะอยู่ที่การสอบสวนตามประเด็น ต้องทำในรูปคณะกรรมการสอบสวนที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้สั่งแต่งต้ัง และต้องทำการสอบสวนตามประเด็นที่ คณะกรรมการสอบสวนชุดแรกต้ังประเด็นให้สอบสวน และในการสอบสวนต้องทำตามข้อ ๒๗ ข้อ ๒๘ ข้อ ๒๙ และข้อ ๓๐ ด้วย 
ช้อปของดี การันตีของแท้
            ข้อ๓๔ กรณีการสอบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการครูและบุคลากรฯ ผู้อื่นว่ามีส่วนร่วมในการกระทำในเรื่องที่ทำการสอบสวนนั้นด้วย ให้ประธานคณะกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้ง เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีโดยเร็ว   ความหมายคือ รายงานผู้สั่งแต่งตั้ง เพื่อให้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้นั้น หรือให้มีการเพิ่มเติมผู้ถูกกล่าวหาในคำสั่งเดิมที่ได้มีการสอบสวน 
            กรณีผู้สั่งแต่งตั้ง เห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือเป็นความผิดกรณีอื่นตามที่รายงาน ก็ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเป็นผู้สอบสวน หรือจะแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนใหม่ก็ได้ ฯในกรณีเช่นนี้ ให้ใช้พยานหลักฐานที่ได้สอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้ หมายความคือ กรณีนี้ เห็นว่าเป็นกรณีต่อเนื่องจากวรรคหนึ่ง ที่เมื่อได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบสวนว่ามีผู้อื่นมีส่วนรวมในเรื่องที่สอบสวน โดยผู้สั่งแต่งต้ังเห็นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำความผิดอย่างร้ายแรง หรือเป็นความผิดกรณีอื่นตามที่รายงาน ก็ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยจะแต่งตั้งคณะเดิมหรือคณะใหม่ก็ได้ และสามารถใช้พยานหลักฐานที่ได้สอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้  
            กรณีที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยแยกสำนวน ให้นำสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในสำนวนเดิมรวมไว้ในสำนวนใหม่ หรือบันทึกให้ปรากฎด้วยว่านำพยานหลักฐานใดจากสำนวนการสอบสวนเดิมมาประกอบในสำนวนใหม่
            ข้อ ๓๗ ในระหว่างการสอบสวน แม้จะมีการสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่นอกยังคับบัญชาของผู้สั่งแต่งต้ัง  ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วทำรายงานการสอบสวนและเสนอสำนวนต่อผู้สั่งแต่งต้ังฯ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๔๓ ข้อ ๔๔ ข้อ ๔๕ และข้อ ๔๖ และให้ผู้สั่งแต่งตั้ง ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อดำเนินการตามข้อ ๔๐ ต่อไป โดยให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ มีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๔๓ ข้อ ๔๔ ข้อ ๔๕ และข้อ ๔๖ ความหมายคือ ผู้สั่งแต่งต้ังไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวนเพื่อลงโทษ ทำได้เพียงตรวจสอบความถูกต้องของการสอบสวน แล้วส่งสำนวนและพยานหลักฐานไปให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่พิจารณา  ซึ่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ จะไม่พิจารณาสำนวนสอบสวนหรือสั่งให้สอบสวนใหม่ ก็ต้องสั่งการให้เป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีเหตุตามกฎหมายอย่างไรที่ทำให้สำนวนการสอบสวนที่่ส่งมาใช้พิจารณาลงโทษไม่ได้ หรือจะสั่งให้สอบเพิ่มเติม โดยแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ ก็ต้องสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีเหตุตามกฎหมายหรือมีประเด็นใดไม่ชัดเจน จึงสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพิจารณาได้ว่าผู้บังคับบัญชาคนใหม่ ใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

            ข้อ ๓๘ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆเสร็จแล้ว ให้ประชุมเพื่อพิจารณาสำนวนสอบสวน โดยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ทั้งข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการกระทำ ข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงวินิจฉัย ข้อพิจารณา และข้อเสนอในการใช้ดุลพินิจ 
            ในการพิจารณาลงมติ ให้ประธานฯ ถามกรรมการสอบสวนที่ละคน เพื่อให้ออกความเห็นทุกคนในทุกประเด็น โดยถ้าเห็นว่ากระทำผิดวินัย ให้ระบุว่าการกระทำเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด และสมควรได้รับโทษสถานใด  ถ้าเห็นว่ามิได้กระทำผิด หรือการกระทำไม่เป็นความผิด ก็ให้มีความเห็นยุติเรื่อง ถ้าเป็นกรณีหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ บกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม อย่างไร กรณีมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดร้ายแรง แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะรับฟังลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ถ้าให้รับราชการต่อไปจะเสียหายแก่ราชการหรือไม่ อย่างไรก็ให้มีความเห็นไป  ความหมายคือ ในการประชุมพิจารณาคณะกรรมการต้องครบองค์ประชุม ประธานถามความเห็นกรรมการที่ละคนแล้วลงมติว่าจะมีมติในภาพรวมของคณะกรรมการสอบสวนตามข้อกฎหมายที่กล่าวนั้นให้ครบถ้วน การชั่งน้ำหนักพยานจึงต้องพิจารณาให้รอบครอบว่าเป็นพยานหลักฐานที่ผ่านการสรุปข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบและใช้สิทธิโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานแล้ว (เป็นพยานที่แจ้งใน สว.๓) การแจ้งสรุปพยาน ไม่ใช่แค่สรุปแค่รายชื่อพยานบุคคล พยานเอกสาร แต่ต้องสรุปเนื้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในเอกสารหลักฐาน หรือถ้อยคำพยานบุคคลที่ชัดเจน จึงจะเป็นการแจ้ง สว.๓ ที่ชอบ
            ข้อ ๔๒ การพิจารณาพยานหลักฐานว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่อย่างไร ให้พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน และต้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้สรุปแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วเท่านั้น ความหมายคือ เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว สรุปข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในพยานหลักฐาน ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและใช้สิทธิโต้แย้ง ตามแบบบันทึกสาระสำคัญ สว.๓ แล้วผู้ถูกกล่าวหาไม่โต้แย้ง หรือโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนแล้ว จึงนำพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวน และที่ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งมาพิจารณาชั่งน้ำหนักพยาน เพื่อพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับความผิดและสถานโทษ การพิจารณาพยานหลักฐานนอกสำนวนถือเป็นการไม่ชอบ มีผลทำให้คำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาภายหลังจากที่แจ้ง สว.๓ เป็นต้น
advertisment

    
        ข้อ๔๕ กรณีที่ปรากฎว่าคณะกรรมการสอบสวนไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา หรือไม่ส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือไม่มีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงหรือนัดมาให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ให้ผู้สั่งแต่งตั้ง...ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๑๐๔ ... อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ หรือ ก.ค.ศ.แล้วแต่กรณีสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะชี้แจงให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาด้วย ความหมายคือ ถ้าตรวจพบว่ายังไม่มีการแจ้ง สว.๓ หรือแจ้ง สว.๓ ไม่ชอบ หรือไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหา เท่ากับยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและยังไม่มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนต่อคณะกรรมการสอบสวน  ทำให้คณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่ยังไม่ผ่านการโต้แย้งไม่ได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและไม่สามารถนำความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนมาใช้พิจารณาลงโทษได้ หากพบในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นการพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา ๑๐๔ ก็สั่งให้มีการแก้ไขก่อนที่จะพิจารณาอุทธรณ์ หรือพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยได้  มิฉะนั้น การลงโทษทางวินัย จะเป็นการออกคำสั่งลงโทษโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถ้าแก้ไขเสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการพิจารณาอุทธรณ์ หรือพิจารณารายงานฯ ตามมาตรา ๑๐๔ แล้ว คำสั่งลงโทษนั้นยังคงมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายตลอดมา ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักของมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ที่บัญญัติว่า "คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่สมบูรณ์ (๓) การรับฟังคู่กรณีที่จำเป็นต้องกระทำได้ดำเนินการมาโดยไม่สมบูรณ์ ถ้าได้มีการรับฟังให้สมบูรณ์ในภายหลัง"
     
**************************
ขอขอบคุณ   ภาพจากเว็บไซต์  
 https://www.freepik.com/ 

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนออกจากราชการ และหลังจากออกจากราชการ

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี
          มีการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เป็นฉบับที่ 4 พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีการยกเลิกมาตรา 102 เดิม แล้วใช้ความตามที่มีการแก้ไขใหม่ มีรายละเอียดดังนี้
           “มาตรา 102 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดซึ่งออกจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตาย  มีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนออกจากราชการว่า  ขณะรับราชการได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ถ้าเป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวน สอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ  หรือเป็นการกล่าวหาของผู้บังคับบัญชา ของผู้นั้น  หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดอีาญาก่อนออกจากราชการว่าในขณะรับราชการได้ กระทำความผิดอาญาอันมิใช่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับราชการหรือความผิดลหุโทษ  ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณา  ดำเนินการทางวินัย  และสั่งลงโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายในสามปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
            กรณีตามวรรคหนึ่ง  ถ้าเป็นการกล่าวหา  หรือฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาหลังจากที่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดออกจากราชการแล้ว  ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจ ดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณา  ดำเนินการทางวินัย  และสั่งลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้ เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ  โดยต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้น ออกจากราชการ  และต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ  สำหรับกรณีที่เป็น ความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามมาตรา  ๙๘  วรรคเจ็ด  จะต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้น ออกจากราชการ
            นกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ  หรือองค์กรพิจารณา อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินยัหรือองค์กรตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยมีคำวินัยฉัยถึงที่สุดหรือมีมติให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง  เพราะเหตุกระบวนการดำเนินการทางวินัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการทางวินัยให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่ วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือมีมติ  แล้วแต่กรณี 

 ประเด็นตามวรรคหนึ่ง

            1.ใช้กับกรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใด ซึ่งออกจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตาย
            2.มีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนออกจากราชการว่า ขณะรับราชการได้กระทำหรือละเว้นการกระทำใดอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดอีาญาก่อนออกจากราชการว่าในขณะรับราชการได้ กระทำความผิดอาญาอันมิใช่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับราชการหรือความผิดลหุโทษ
            3.เป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาผู้นั้นหรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน หรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ หรือเป็นการกล่าวหาของผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาก่อนออกจากราชการว่า ในขณะรับราชการได้กระทำความผิดอาญาอันมิใช่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับราชการหรือความผิดลหุโทษ 

ประเด็นพิจารณา

            "ออกจากราชการอันมิใช่เพราะตาย"  อาจเป็นกรณีสมัครใจลาออกจากราชการ หรือจะออกจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุราชการ
            "มีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนออกจากราชการ" ลักษณะการกล่าวหาเป็นหนังสือ กรณีบุคคลเป็นผู้กล่าวหาต้องระบุตัวผู้ถูกกล่าวหาทีมีตัวตน ติดต่อได้ มูลกรณีที่กล่าวหามีพยานหลักฐานอ้างอิงที่สามารถตรวจสอบหรือชี้ช่องให้ตรวจสอบได้  กรณีการกล่าวหาเป็นหนังสือไม่ระบุตัวผู้กล่าวหา ต้องมีพยานหลักฐานเบื้องต้นที่สามารถตรวจสอบได้ หรือชี้ช่องให้ตรวจสอบได้  การกล่าวหาเป็นหนังสือ โดยไม่ระบุชื่อผู้กล่าวหา ไม่ระบุหลักฐาน แต่ระบุเฉพาะหัวข้อเรื่อง ไม่เข้าข่ายการกล่าวหาตามมาตรานี้   
               ข้อที่ว่า "ว่าขณะรับราชการได้กระทำหรือละเว้นการกระทำใด อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง"   เป็นดุลพินิจของผู้ใช้อำนาจ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐาน และมาตราฐานโทษของ สำนักงาน ก.ค.ศ.ประกอบ ทั้งนี้ ผู้ใช้อำนาจพึงระมัดการใช้ดุลพินิจที่เป็นการกระทำความผิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย 
            ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัย มีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณา  ดำเนินการทางวินัย  และสั่งลงโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายในสามปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ ในประเด็นนี้ ผู้มีอำนาจดำเนินการสืบสวน พิจารณา หรือดำเนินการทางวินัย ต้องเริ่มต้ั้งแต่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับการกล่าวหาข้าราชการในสถานศึกษา แล้วรายงานตามลำดับ จนถึงผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 เพื่อให้มีการดำเนินการทางวินัย และลงโทษให้ทันภายในกำหนดสามปี นับแต่ออกจากราชการ

ประเด็นตามวรรคสอง
            1.เป็นการกล่าวหา  หรือฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาหลังจากที่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดออกจากราชการแล้ว
            2.ต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้น ออกจากราชการ  และต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ  สำหรับกรณีที่เป็น ความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามมาตรา  ๙๘  วรรคเจ็ด  จะต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้น ออกจากราชการ

ประเด็นพิจารณา
            การกล่าวหาหรือฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาคดีอาญา หลังจากออกจากราชการ นั้น จะกล่าวหาภายในสามปี นับแต่วันออกจากราชการได้หรือไม่ ในประเด็นนี้ ตามตัวบทบัญญัติให้ต้องดำเนินการสอบสวนภายในหนึ่งปีนับแต่วันออกจากราชการ การกล่าวหาจึงไม่นับการกล่าวหาที่เกินหนึ่งปีนับแต่วันออกจากราชการ แต่ถ้าเป็นการกล่าวหาที่เป็นความผิดปรากฎชัดแจ้ง กฎหมายให้ลงโทษได้ภายในสามปีนับแต่วันออกจากราชการ ดังนั้น การกล่าวหาว่ามีความผิดปรากฎชัดแจ้งหลังหนึ่งปีนับแต่ออกจากราชการ แต่ไม่เกินสามปี ต้องดำเนินการลงโทษให้ทันภายในสามปีนับแต่วันที่ออกจากราชหาร เช่น ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในคดีความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ อันมิใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ  เป็นต้น ซึ่งความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับกับเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่ มีอยู่หลายมาตรา ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปของความผิดของเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ื 

ข้อสังเกต
            ถ้ามีการกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนออกจากราชการหรือภายหลังออกจากราชการ ว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ผู้มีอำนาจพิจารณาใช้ดุลพินิจสั่งการว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง  ก็จะไม่มีการดำเนินการทางวินัยในประเด็นนี้ แต่หากข้อกล่าวหามีพยานหลักฐานเบื้องต้น ระบุชื่อผู้กล่าวหา แต่ไม่มีการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือมีการสืบสวนข้อเท็จจริงไว้แล้ว และผู้กล่าวหาไม่พอใจการใช้ดุลพินิจของผู้ใช้อำนาจขณะนั้น อาจมีการร้องเรียนไปยังผู้มีอำนาจเหนือกว่า หรือหน่วยงานที่ตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ ผู้ใช้อำนาจอาจมีความผิดวินัยและความผิดอาญา มาตรา 157 ได้ หากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ช่วยเหลือกัน  

ประเด็นตามวรรคสาม   มีความหมายชัดเจนในวิธีการปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมาย ดังกล่าว  


*********************

 ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
  


การขอเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



        สถานศึกษาในสังกัด จะจัดให้มีการทอดผ้าป่าสามัคคี จัดเดิน - วิ่ง  เพื่อนำเงินรายได้มาจัดทำ จัดสร้าง จัดให้มี หรือพัฒนาสิ่งต่างๆในสถานศึกษา ทำได้หรือไม่  ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายใด  ผู้เขียนมีคำตอบให้ดังนี้

       เรื่องดังกล่าวถือเป็นการเรี่ยไรของหน่วยงานขอรัฐ ที่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๔ โดยจะต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ หรือคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรระดับจังหวัด แล้วแต่กรณี    แต่มีข้อยกเว้น คือ การขอเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุมัติ ที่ต้องประกอบด้วย 
        ๑.เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐนั้นเอง (ระเบียบข้อ ๑๘(๑)) หรือ
        ๒.เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ (ระเบียบข้อ๑๘(๓))
        โดยการขอเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐตามข้อ ๑ หรือ๒  ต้องมีวงเงินหรือทรัพย์สินไม่เกินจำนวนเงินหรือมูลค่าที่ กคร.กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับล่าสุดคือเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีการเรี่ยไร โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.)หรือคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัดได้ (กคร.จังหวัด)สำหรับการเรี่ยไรตามข้อ ๑๘(๑) และ (๓) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้จำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สิน หรือจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สินรวมกันไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท” (แก้ไขจากประกาศเดิมปี ๒๕๔๔ ที่อนุมัติไว้ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท )
         ทั้งนี้มีมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.) เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑  ได้พิจารณามีมติให้การดำเนินการเหล่านี้เป็นการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ ตามระเบียบนี้ คือ
                     ๑. การเรี่ยไรโดยโครงการทอดผ้าป่า ทอดกฐิน  
                     ๒. การเรี่ยไรโดยการจัดกิจกรรมการแข่งขันเดิน-วิ่ง  
                     ๓. การจัดงานวันสถาปนา โดยขอเชิญชวนร่วมบริจาคเงินแทนกระเช้าแสดงความยินดี
         ารเรี่ยไรตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนี้ เป็นการเชิญชวนให้ผู้บริจาคเพื่อนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในประกาศ ไม่ได้เกิดจากผู้บริจาคแสดงความจำนงบริจาคให้ราชการด้วยตนเองเพื่อนำเงินไปใช้ในกิจการที่ผู้บริจาคระบุวัตถุประสงค์ไว้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ.๒๕๒๖

         สถานศึกษาที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่จะทำการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ที่มีวัตถุประสงค์ตามระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๔ ที่มีจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สิน หรือจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สินรวมกันเกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ต้องยื่นคำขออนุมัติก่อนจัดให้มีการเรี่ยไร หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนทำการเรี่ยไรโดยหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในเขตท้องที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ให้ยื่นต่อสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำขออนุมัติให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการเรี่ยไรหรือให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ประกาศ ณ วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘     
         ดังนั้น สถานศึกษาจะจัดให้มีการเรี่ยไร ทำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจาก กคร.จังหวัด หากกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรี่ยไร และกำหนดวงเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินรวมกันไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
         เงินรายได้จากการเรี่ยไรของสถานศึกษา ต้องออกใบเสร็จหรือหลักฐานการรับเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ผู้บริจาค จัดทำบัญชีรับจ่ายตามระบบบัญชีของทางราชการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สิ้นสุดการเรี่ยไร และถือเป็นเงินรายได้สถานศึกษา ไม่สามารถนำเข้าบัญชีส่วนบุคคลได้ ต้องนำเข้าบัญชีรายได้สถานศึกษา และใช้จ่ายเงินตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเงินรายได้สถานศึกษา 
         ตามระเบียบนี้ (ข้อ ๗) กำหนดให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ควบคุมดูแลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามระเบียบนี้โดยเคร่งรัด  ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าผืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการลงโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นตามควรแก่กรณี และในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าการกระทำนั้นอาจมีเหตุเกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ มีมูลความผิดทางอาญา หรืออาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอื่น ให้ผู้บังคับบัญชาแจ้งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

*********************

 ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/