วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563

ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน  

        ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน 

            ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน เป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 94 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานต้นสังกัดได้มีการกำชับกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามาตลอด เพื่อมิให้เกิดการกระทำความผิดในลักษณะอันเป็นการกระทำที่กระทบต่อร่างกาย จิตใจและความเจริญของนักเรียน แต่ก็ยังมีการกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวอยู่เนื่องๆ เช่น กรณีที่มีการนำเสนอข่าว ครูหลายคนร่วมกันกระทำชำเราเด็กนักเรียน อายุ 14 ปี เป็นการกระทำหลายครั้ง หลายช่วงเวลา กระทำต่อนักเรียนมากกว่าหนึ่งคน ทั้งกรณีครูชาย ปีนห้องน้ำนักเรียนหญิง ครูอมอวัยวะเพศนักเรียน เป็นต้น
          ลักษณะการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน เช่น การกระทำอนาจาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในเพศต่อผู้เรียน ที่มีลักษณะ กอด จูบ จับ ลูบคลำ ร่างกาย หน้าอก หรืออวัยวะเพศของนักเรียน หรือการใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศ หรือทวารหนักของนักเรียน (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 วรรคสอง 279 วรรคสี่)  หรือลักษณะการกระทำชำเรา ที่มีความหมายในทางอาญา คือ การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนักหรือช่องปากของผู้ถูกกระทำ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(18))
            การล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ครูที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ที่มีโทษไล่ออก หรือปลดออกจากราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 94 วรรคสาม บัญญัติให้ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียนหรือนักศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

            การล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เรียน เป็นการกระทำผิดอาญา
            บุคคลต้องรับผิดในทางอาญา เมื่อกระทำโดยเจตนา การกระทำที่ผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ถือเป็นการกระทำที่ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล การกระทำชำเราเด็กหรือการกระทำอนาจารเด็ก  ตามประมวลกฎหมายอาญา มีอัตราโทษจำคุก และปรับ ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ดังนี้
advertisement

            ความผิดเกี่ยวกับการกระทำชำเรา
            มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีตน ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท (โทษจำคุกและปรับ)(เด็กยินยอมให้กระทำชำเรา ก็ผิดตามมาตรานี้ แต่ถ้ากระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี จะรับโทษหนักขึ้น โดยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต)
            มาตรา 277 วรรคสี่ การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกัน ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต (โทรมเด็ก หมายถึงมีผู้กระทำผิดหลายคนร่วมกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำเราเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่มีโทษหนักที่สุด)
           มาตรา 317 วรรคหนึ่ง ผู้ใดปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท(โทษจำคุกและปรับ) (เป็นการกระทำผิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ดูแล ผู้ปกครอง)
มาตรา 317 วรรคสาม ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อการอนาจาร ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท (โทษจำคุกและปรับ) (เป็นบทความผิดที่หนักขึ้นตามเจตนาผู้กระทำ)

            มาตรา 285 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา...มาตรา 277... เป็นการกระทำแก่...ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล...ระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ นั้นหนึ่งในสาม (ข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำได้รับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงนั้น ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ตามแนวคำพิพากษาฎีกา คือ ศิษย์ที่ผู้กระทำมีหน้าที่สอน หรือกระทำผิดขณะที่สอนอยู่ หรือศิษย์ที่อยู่ในความควบคุม ดูแลของผู้กระทำความผิด ถ้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนที่ตนไม่มีหน้าที่สอน ไม่อยู่ในความหมายศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล)

        

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7477/2562   แม้จำเลยเป็นเพียงครูอัตราจ้าง แต่ก็มีฐานะเป็นครูมีหน้าที่อบรมและสอนนักเรียน จำเลยสอนวิชาการงานอาชีพนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 และสอนโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นอกจากนี้จำเลยยังเป็นครูซึ่งมีหน้าที่ฝึกสอนและดูแลโจทก์ร่วมที่ 1 และนักเรียนที่ไปแข่งขันประดิษฐ์โคมไฟอีกด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่อบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ร่วมที่ 1 และนักเรียนทุกคนที่จำเลยสอนให้อยู่ในระเบียบของทางราชการ โจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 285

advertisement


            ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอนาจาร
            มาตรา 279 ผู้ใดกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(ถ้าเป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
            ถ้ามีการบันทึกภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือกระทำอนาจารไว้ หรือมีการเผยแพร่หรือส่งต่อ หรือการมีไว้ในความครอบครองซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็ก ย่อมมีความผิดอาญา โดยถือเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2562 ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จึงไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหวหรือควบคุมเด็กไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก การจะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร หากการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
        สำหรับการกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร
        ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายถีบรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายที่ 3 ขับมาจนทำให้ผู้เสียหายที่ 3 จำต้องหยุดรถ แล้วจำเลยจับแขนดึงผู้เสียหายที่ 3 เข้ามากอด หอมที่ซอกคอ จับนมของผู้เสียหายที่ 3 แล้วล็อกคอของผู้เสียหายที่ 3 ลากเข้าไปในป่ามันสำปะหลังข้างทาง เป็นเหตุให้ขาของผู้เสียหายที่ 3 เกี่ยวกับลวดหนามได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียหายที่ 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และโดยผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา เพื่อกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร 

           ความผิดเกี่ยวกับการบันทึกภาพการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจาร
           มาตรา 280 /1 วรรคหนึ่ง ถ้าผู้กระทำผิด...มาตรา 277..ได้บันทึกภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารนั้นไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ หนึ่งในสาม

            มาตรา 280/1 วรรคสอง ถ้าผู้กระทำผิดตามวรรคหนึ่ง เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งภาพหรือการกระทำชำเราหรือการกระทำอนาจารที่บันทึกไว้ ระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง (ข้อเท็จจริงตามข่าว ระบุว่าครูมีการบันทึกภาพการกระทำชำเราไว้ในมือถือ เป็นความผิดตามมาตรานี้)

            มาตรา 287/1 วรรคหนึ่ง ผู้ใดครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (สื่อลามกอนาจารเด็ก หมายถึงวัตถุหรือส่งอื่นใดที่แสดงให้รู้หรือเห็นการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสือไปในทางลามกอนาจารฯ)(ข้อเท็จจริงตามข่าว ระบุว่าครูมีการบันทึกภาพการกระทำชำเราไว้ในมือถือ เป็นความผิดตามมาตรานี้)

            มาตรา 287/1 วรรคสอง ถ้าผู้กระทำผิดตามวรรคหนึ่ง ส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กแก่ผู้อื่น ระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        คำพิพากษาศาลฎีก7469/2562 ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา 3 ให้เพิ่มความในมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราว่า จะต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้ถูกระทำ จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด อันเป็นการปรับปรุงนิยามคำว่า "กระทำชำเรา" ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการกระทำชำเราทางธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อคดีได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายรูดขึ้นลงแล้วใช้ปากของจำเลยดูดและอมอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยไม่ได้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องทางปากของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) อีกต่อไป ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) หรือเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะไม่ได้เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศอันเป็นการล่วงเกินผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการล่วงล้ำอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต เท่ากันกับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 23/2562)

        คำพิพากษาศาลฎีกา 7178/2562 คำว่า "อนาจาร" มีความหมายว่า การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ ซึ่งรวมถึงการแตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร ส่วนการกระทำชำเราหมายถึง การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยขู่บังคับให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 9 ปีเศษ นอนลงกับพื้น อ้าขาและใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ด้วย ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

advertisement
    

 
        การล่วงละเมิดทางเพศเป็นการกระทำละเมิด เป็นความผิดทางแพ่ง ที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่3285/2562ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนัก ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดต่างกรรมกัน ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ถูกข่มขืนใจอีกกระทงหนึ่ง ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและเมื่อลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีในความผิดฐานดังกล่าวนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
        เมื่อรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดและเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายโดยผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิด แต่ปรากฏว่าในคำร้องของผู้เสียหายที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ระบุว่าขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่เมื่อใด ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นต้นไป

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2560 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยังเป็นเด็กอายุ 13 ปีเศษ และพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม ที่จำเลยฎีกาในคดีส่วนแพ่งว่า เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา จึงไม่เป็นละเมิด จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษ..." แสดงว่า กฎหมายคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายยินยอม การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลย และมารดาผู้เสียหายย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายได้
       ดังนั้น ครูที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศของผู้เรียน ย่อมมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง มีความผิดในทางอาญา และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งด้วย


******************
ที่มา   คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น