วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

การสอบสวนดำเนินการทางวินัย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

 บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

       การสอบสวนดำเนินการทางวินัย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามพระราชบัญญัตระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง ว่า"ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวันัย ป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การดำเนินการทางวินัย เริ่มเมื่อมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่กระทำผิดวินัย 
          กรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย  พิจารณาตาม มาตรา ๙๕ วรรคสี่  "เมื่อปรากฎกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัย โดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยทันที"  พยานหลักฐาน คือ พยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ ถ้ามีพยานหลักฐานในเบื้องต้นที่น่าเชื่อ ก็สามารถดำเนินการทางวินัยได้ทันที โดยไม่ต้องสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นอีก  แต่ผู้บังคับบัญชา สามารถใช้อำนาจสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความน่าเชื่อของพยานหลักฐานนั้นได้ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ผู้บังคับบัญชาจะไม่สืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยเชื่อพยานหลักฐานในเบื้องต้น แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการทางวินัยข้าราชการดังกล่าวทันที การแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน ก็ไม่เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด  เพราะคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย  ไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง เนื่องจาก ไม่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นในระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว... ตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙  
          การดำเนินการทางวินัย เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ตามความในมาตรา ๙๘ วรรคหนึ่ง ที่ให้ผู้บังคับบัญชาแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนให้ได้ความจริง และความยุติธรรมโดยไม่ชักช้า การดำเนินการทางวินัย จึงต้องทำการสอบสวน จะลงโทษตามสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง มี กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๔๙ ให้อำนาจดำเนินการโดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา การที่พิจารณาว่าเป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง ที่จะไม่สอบสวนหรืองดการสอบสวน ก็ควรที่จะแจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นมูลกล่าวหาที่เป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าว ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและใช้สิทธิโต้แย้งไว้ด้วย เพื่อป้องกันมิให้ขั้นตอนการดำเนินการวินัยถูกศาลเพิกถอนในภายหลัง


          การแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนไม่ถูกต้อง มีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด ซึ่งตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๕๐ การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ระบุว่าเป็นคำสั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง หรืออย่างร้ายแรง และให้แต่งต้ังจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือข้าราชการฝ่ายพลเรือน จำนวนอย่างน้อยสามคน แสดงว่าให้เห็นว่าผู้บังคับบัญชาสามารถแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายพลเรือนได้ ซึ่งสื่อให้เห็นว่าสามารถแต่งต้ังข้าราชการหน่วยงานอื่นได้ ปัญหาที่เป็นความสังสัยว่า ผู้บังคับบัญชาจะแต่งตั้งข้าราชการอื่นที่ไม่ได้เป็นข้าราชการในสังกัด หรือผู้ใต้บังคับบัญชามาเป็นคณะกรรมการสอบสวนได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ ถ้าเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดดังกล่าว โดยประสานขอบุคลากร และดำเนินการขอความอนุุเคราะห์ไปยังต้นสังกัด เพราะการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน ถือเป็นการมอบหมายอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา เพื่อสอบสวนรวบพยานหลักฐานตามข้อกล่าวหาที่มีผู้ร้องเรียนกล่าวหาผู้ใต้บังคับบัญชาในสังกัด ให้คณะกรรมการดำเนินการแทนผู้บังคับบัญชา เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม เป็นกลางกับการดำเนินการทางวินัย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสามารถที่จะคัดค้านผู้เป็นกรรมการสอบสวนได้
          คณะกรรมการสอบสวน ต้องสอบสวนตามข้ั้นตอนที่กำหนดไว้ใน กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๕๐ ขณะเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องทราบและเข้าใจ กฎ ดังกล่าวไว้ด้วยเพื่อป้องกันสิทธิประโยชน์ของตนเองจากการสอบสวน การสอบสวนที่มิชอบและบกพร่อง มีกำหนดไว้ในเรื่อง การแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนไม่ถูกต้องตามข้อ ๓ มีผลให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป ซึ่งการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง และอย่างร้ายแรง ตามข้อ ๓ กำหนดไว้ต่างกัน กล่าวคือ ถ้าเป็นการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นอกจากจะแต้งตั้งจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือข้าราชการฝ่ายพลเรือนแล้ว ประธานกรรมการต้องมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งถือวิทยฐานะของประธานขณะได้รับคำสั่งแต่งต้ังเป็นคณะกรรมการสอบสวน และกรรมการสอบสวนจะต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร หรือผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมาย หรือได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรการดำเนินการทางวินัยที่ ก.ค.ศ.กำหนดหรือรับรอง หรือผู้มีประสบการณ์ด้านการดำเนินการทางวินัยอย่างน้อยหนึ่งคน ดังนั้น ในการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่ร้ายแรง แม้ประธานมีวิทยฐานะต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือไม่มีกรรมการเป็นนิติกร หรือได้รับปริญญาทางกฎหมาย หรือตามที่กล่าว การแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง ยังมีความชอบอยู่ ไม่ทำให้การสอบสวนหมดเสียไป
          
          การสอบสวนขั้นตอนใดไม่ถูกต้องตาม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวน ให้การสอบสวนตอนนั้นเสียไป คือ
          ข้อ๑ 
การประชุมของคณะกรรมการสอบสวน มาประชุมไม่ครบตามที่กำหนด  กล่าวคือต้องมีกรรมการสอบสวนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด เว้นแต่การประชุมพิจารณาข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามข้อ ๒๔ และการประชุมพิจารณาสำนวนการสอบสวน เพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและลงมติและจัดทำรายงานการสอบสวน ตามข้อ ๓๘ ที่ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสามคนและไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด ดังนั้น ถ้ามีการแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนสามคน การประชุมตามข้อ ๒๔ และข้อ ๓๘ ต้องครบสามคนจะใช้มติกรรมการกึ่งหนึ่งไม่ได้  การประชุมอื่นๆในการสอบสวน ใช้กรรมการกึ่งหนึ่งได้
           ข้อ๒
การสอบปากคำบุคคลไม่ถูกต้อง คือ ข้อ ๑๑ การสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้าร่วมฟังการสอบสวนก็ได้ แต่จะให้ถ้อยคำหรือตอบคำถามแทนผู้ถูกกล่าวหาหรือเสนอความเห็นใดแก่คณะกรรมการไม่ได้ ปัญหาคือถือเป็นสิทธิที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องทราบเอง หรือคณะกรรมการสอบสวนต้องแจ้งสิทธิก่อนสอบสวน  เพื่อเป็นการตัดปัญหาการตีความ ในเวลาที่เชิญผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวน ให้ระบุให้หนังสือเชิญว่ามีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้าร่วมฟังการสอบสวนก็ได้ และก่อนสอบปากคำให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งสิทธิให้ทราบอีกครั้งแล้วบันทึกไว้ในแบบสอบสวน ถ้าไม่ทำ และผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งประเด็นนี้ ถือว่าการบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหาไม่ชอบ รับฟังบันทึกถ้อยคำนั้นไม่ได้ และน่าจะต้องถือว่ายังไม่มีการบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหาด้วย


             ข้อ ๒๗ การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงจะสอบสวนได้  ดังนั้น กรรมการสอบสวนไม่ครบตามเกณฑ์มีผลทำให้ การสอบปากคำไม่ชอบ รับฟังบันทึกปากคำเป็นพยานหลักฐานไม่ได้  ต้องสอบสวนบันทึกปากคำใหม่
             ข้อ ๒๘ วรรคหนึ่ง ก่อนเริ่มสอบปากคำพยาน ให้คณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้พยานทราบก่อนว่ากรรมการสอบสวน มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การให้ถ้อยคำเป็นเท็จต่อคณะกรรมการสอบสวนอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย   
                       วรรคสอง ในการสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็ก
ให้สอบสวนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ และบุคคลที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจเข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นด้วย หากผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กต้ังข้อรังเกียจข้าราชการครูดังกล่าวข้างต้นให้เปลี่ยนตัวบุคคลนั้น
                       วรรคสาม ในกรณีที่
ผุู้เสียหายหรือพยานที่เป็นคนหูหนวก หรือเป็นใบ้ หรือทั้งหูหนวกและเป็นใบ้ หรือมีความพิการทางการกาย หรือไม่เข้าใจภาษาไทยและมีความจำเป็นต้องใช้ล่าม ให้คณะกรรมการสอบสวนจัดหาล่ามที่เป็นกลาง และเชื่อถือได้ให้แก่บุคคลดังกล่าว
                      คณะกรรมการสอบสวน มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีอธิบายไว้ว่าการเป็นเจ้าเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา จะเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนดำเนินการทางวินัยอย่างไร ใช้ในเรื่องใดได้บ้าง ก็ต้องไปดูประมวลกฎหมายอาญาว่าเจ้าพนักงานในที่นี้เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง เช่น ถ้าเป็นการกระทำที่ผู้เสียหาย พยานหรือผู้ร้องทำต่อเจ้าพนักงาน ก็จะมีที่เกี่ยวข้อง คือ การดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งการะทำตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำตามหน้าที่  แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน  แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าเป็นการกระทำของคณะกรรมการสอบสวนที่มิชอบ ก็จะมีที่เกียวข้อง คือ
 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และกรณีอื่นที่เกี่ยวข้อง

                     พยานบุคคล ตามข้อ ๒๘ ต้องให้น้ำหนักประจักษ์พยานก่อน เพราะเป็นพยานที่รู้ เห็น ทราบข้อความที่จะเป็นพยานด้วยตนเอง ขั้นตอนการสอบปากคำจึงต้องทำตามขั้นตอนในข้อ ๒๘ อย่างครบถ้วน มิเช่นนั้น การสอบปากคำพยานจะไม่ชอบ รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ ส่วนพยานแวดล้อม คือ พยานที่ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบข้อความด้วยตนเอง แต่ได้รับคำบอกเล่ามาจากผู้อื่น ซึ่งก็ต้องพิเคราะห์ว่ามาจากผู้อื่นที่ได้รู้ ได้เห็น หรือทราบข้อความนั้นมาด้วยตนเองหรือไม่ การใช้พยานแวดล้อม เป็นพยานหลักฐานในการลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ก็ถือว่าเสี่ยงที่อาจเป็นการลงโทษโดยไม่มีพยานยืนยันที่ชัดเจน อาจถูกเพิกถอนในภายหลังได้ 
                การสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็ก กำหนดให้ต้องมีข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ และบุคคลอื่นที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจ เข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นด้วย  คำว่า "เด็ก" กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๕๐ ไม่ได้ให้คำนิยามไว้ แล้วจะถืออายุเท่าไร ถ้าพิจารณาจาก พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาดคีเยาวชนละครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ นิยามเด็กว่า คือ บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส การกำหนดให้ต้องมีข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ และบุคคลอื่นที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจ เข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นด้วย สำนักงาน ก.ค.ศ.มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๒๐๖.๙/ว ๒ ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ออกมาให้ยึดถือแนวปฏิบัติการสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็ก ที่จำต้องปฏิบัติตาม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.๒๕๕๐ โดยเคร่งครัด โดยหนังสือดังกล่าวไม่ได้บอกว่า สามารถใช้ข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ เป็นบุคคลที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจได้ด้วย โดยถือเป็นบุคคลเดียวไปพร้อมกัน หนังสือ ก.ค.ศ.ดังกล่าวจึงไม่ได้ช่วยอธิบายอะไรให้ชัดเจน เพียงแต่ยกข้อกฎหมายมากล่าวไว้เท่านั้นเอง ดังนั้น การตีความ จึงต้องตีความอย่างกว้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสำนวนสอบสวน คือ ให้มีข้าราชการครูที่เป็นกลางและเชื่อถือได้  และต้องมีบุคคลอื่นที่เด็กร้องขอหรือไว้วางใจ เข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นด้วย จะมีอย่างละคน หรืออย่างละหลายคน ก็แล้วแต่คณะกรรมการ แต่อย่างน้อยต้องมีอย่างละหนึ่งคน จึงจะชอบด้วยกฎหมาย และรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้



                ข้อ ๒๙ ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ห้ามมิให้กรรมการสอบสวนกระทำหรือจัดให้กระทำการใดๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆเพื่อจูงใจให้บุคคลนั้นให้ถ้อยคำอย่างใดๆ หรือกระทำให้ท้อใจ หรือใช้กลอุบายอื่นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำหรือไม่ให้ถ้อยคำซึ่งอยากจะให้ด้วยความเต็มใจในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น  โดยปกติ ผู้ถูกกล่าวหาจะให้ถ้อยคำหรือไม่ก็ได้ หรือจะให้ถ้อยคำเท็จปฏิเสธกระทำอย่างไรก็ได้ ไม่ผิดแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่มีแนวคำพิพากษาตัดสินไว้  แต่เป็นหน้าที่คณะกรรมการสอบสวนที่จะหาพยานหลักฐานมายืนยันการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา แต่พยาน ถ้าเป็นบุคคลที่ได้รู้ เห็น และทราบข้อความด้วยตนเองโดยตรง แต่ไม่ให้ถ้อยคำที่ประโยชน์ต่อการสอบสวน ถ้าพยานนั้นเป็นข้าราชการอาจมีความผิดทางวินัยด้วย การสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน จึงห้ามคณะกรรมการสอบสวนทำตามข้อ ๒๙ มิฉะนั้น จะต้องห้าม รับฟังบันทีกปากคำมาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหา
                ข้อ ๓๐ วรรคหนึ่ง ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ซึ่งจะถูกสอบปากคำเข้ามาในที่สอบสวนคราวละหนึ่งคน และห้ามมิให้บุคคลอื่นอยู่ในที่สอบสวน เว้นแต่ทนายความหรือที่ปรึกษาของผู้ถูกกล่าวหา หรือบุคคลตามข้อ ๒๘ วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือบุคคลที่คณะกรรมการสอบสวนอนุญาตให้อยู่ในที่สอบสวนเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวน ในข้อนี้ ถ้าเป็นผู้จะถูกสอบปากคำก็คือผู้ถูกกล่าวหาและพยาน คณะกรรมการสอบสวนจะต้องเรียกมาคราวละหนึ่งคน สอบปากคำหลายคนพร้อมกัน ถือว่าไม่ชอบตามข้อนี้ รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เช่น พยานถ้าสอบปากคำที่ละหลายคน อาจได้ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ถูกกล่าวหาและพยาน จะเข้ามาหลายคนก็เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสอบสวน แต่ต้องตอบคำถามได้ว่าเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวนอย่างไร

             ข้อ ๓๒ วรรคหนึ่ง ในกรณีที่จะต้องสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งอยู่ต่างท้องที่ ประธานกรรมการจะรายงานต่อผู้สั่งแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการมอบหมายให้ห้วหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารหน่วยงานการศึกษา ในท้องที่นั้นสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานแทนก็ได้ โดยกำหนดประเด็นหรือข้อสำคัญที่จะต้องสอบสวนไปให้ ในกรณีเช่นนี้ให้หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารหน่วยงานการศึกษาที่ได้รับมอบหมายเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่เห็นสมควรอย่างน้อยอีกสองคนมาร่วมเป็นคณะกรรมการทำการสอบสวน
             ในข้อนี้ ลักษณะเป็นการส่งประเด็นที่จะต้องสอบสวนที่อยู่ต่างท้องที่ ถ้าคณะกรรมการสอบสวนไม่ตามไปสอบสวนเอง ก็ส่งประเด็นไปได้ โดยประธานกรรมการสอบสวนรายงานผุู้สั่งแต่งตั้ง แต่การสอบสวนก็ต้องทำในรูปคณะกรรมการสอบสวน จึงต้องมีการแต่งต้ังเป็นคณะกรรมการสอบสวนอีกชุดหนึ่ง เพื่อสอบสวนตามประเด็นและข้อสำคัญที่คณะกรรมการสอบสวนชุดแรกทำความเห็น ซึ่งน่าจะยุ่งยากพอสมควร ฉะนั้น ความไม่ชอบหรือบกพร่องของการสอบสวนตามประเด็นหรือข้อสำคัญในข้อนี้ ก็จะอยู่ที่การสอบสวนตามประเด็น ต้องทำในรูปคณะกรรมการสอบสวนที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้สั่งแต่งต้ัง และต้องทำการสอบสวนตามประเด็นที่ คณะกรรมการสอบสวนชุดแรกต้ังประเด็นให้สอบสวน และในการสอบสวนต้องทำตามข้อ ๒๗ ข้อ ๒๘ ข้อ ๒๙ และข้อ ๓๐ ด้วย 
ช้อปของดี การันตีของแท้
            ข้อ๓๔ กรณีการสอบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการครูและบุคลากรฯ ผู้อื่นว่ามีส่วนร่วมในการกระทำในเรื่องที่ทำการสอบสวนนั้นด้วย ให้ประธานคณะกรรมการรายงานไปยังผู้สั่งแต่งตั้ง เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีโดยเร็ว   ความหมายคือ รายงานผู้สั่งแต่งตั้ง เพื่อให้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้นั้น หรือให้มีการเพิ่มเติมผู้ถูกกล่าวหาในคำสั่งเดิมที่ได้มีการสอบสวน 
            กรณีผู้สั่งแต่งตั้ง เห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือเป็นความผิดกรณีอื่นตามที่รายงาน ก็ให้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเป็นผู้สอบสวน หรือจะแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนใหม่ก็ได้ ฯในกรณีเช่นนี้ ให้ใช้พยานหลักฐานที่ได้สอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้ หมายความคือ กรณีนี้ เห็นว่าเป็นกรณีต่อเนื่องจากวรรคหนึ่ง ที่เมื่อได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบสวนว่ามีผู้อื่นมีส่วนรวมในเรื่องที่สอบสวน โดยผู้สั่งแต่งต้ังเห็นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำความผิดอย่างร้ายแรง หรือเป็นความผิดกรณีอื่นตามที่รายงาน ก็ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยจะแต่งตั้งคณะเดิมหรือคณะใหม่ก็ได้ และสามารถใช้พยานหลักฐานที่ได้สอบสวนมาแล้วประกอบการพิจารณาได้  
            กรณีที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยแยกสำนวน ให้นำสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในสำนวนเดิมรวมไว้ในสำนวนใหม่ หรือบันทึกให้ปรากฎด้วยว่านำพยานหลักฐานใดจากสำนวนการสอบสวนเดิมมาประกอบในสำนวนใหม่
            ข้อ ๓๗ ในระหว่างการสอบสวน แม้จะมีการสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่นอกยังคับบัญชาของผู้สั่งแต่งต้ัง  ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วทำรายงานการสอบสวนและเสนอสำนวนต่อผู้สั่งแต่งต้ังฯ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๔๓ ข้อ ๔๔ ข้อ ๔๕ และข้อ ๔๖ และให้ผู้สั่งแต่งตั้ง ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อดำเนินการตามข้อ ๔๐ ต่อไป โดยให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่ มีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องตามข้อ ๔๓ ข้อ ๔๔ ข้อ ๔๕ และข้อ ๔๖ ความหมายคือ ผู้สั่งแต่งต้ังไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวนเพื่อลงโทษ ทำได้เพียงตรวจสอบความถูกต้องของการสอบสวน แล้วส่งสำนวนและพยานหลักฐานไปให้ผู้บังคับบัญชาคนใหม่พิจารณา  ซึ่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ จะไม่พิจารณาสำนวนสอบสวนหรือสั่งให้สอบสวนใหม่ ก็ต้องสั่งการให้เป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีเหตุตามกฎหมายอย่างไรที่ทำให้สำนวนการสอบสวนที่่ส่งมาใช้พิจารณาลงโทษไม่ได้ หรือจะสั่งให้สอบเพิ่มเติม โดยแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ ก็ต้องสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีเหตุตามกฎหมายหรือมีประเด็นใดไม่ชัดเจน จึงสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพิจารณาได้ว่าผู้บังคับบัญชาคนใหม่ ใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

            ข้อ ๓๘ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆเสร็จแล้ว ให้ประชุมเพื่อพิจารณาสำนวนสอบสวน โดยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ทั้งข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการกระทำ ข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงวินิจฉัย ข้อพิจารณา และข้อเสนอในการใช้ดุลพินิจ 
            ในการพิจารณาลงมติ ให้ประธานฯ ถามกรรมการสอบสวนที่ละคน เพื่อให้ออกความเห็นทุกคนในทุกประเด็น โดยถ้าเห็นว่ากระทำผิดวินัย ให้ระบุว่าการกระทำเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด และสมควรได้รับโทษสถานใด  ถ้าเห็นว่ามิได้กระทำผิด หรือการกระทำไม่เป็นความผิด ก็ให้มีความเห็นยุติเรื่อง ถ้าเป็นกรณีหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ บกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม อย่างไร กรณีมีเหตุอันควรสงสัยอย่างยิ่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดร้ายแรง แต่การสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะรับฟังลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ถ้าให้รับราชการต่อไปจะเสียหายแก่ราชการหรือไม่ อย่างไรก็ให้มีความเห็นไป  ความหมายคือ ในการประชุมพิจารณาคณะกรรมการต้องครบองค์ประชุม ประธานถามความเห็นกรรมการที่ละคนแล้วลงมติว่าจะมีมติในภาพรวมของคณะกรรมการสอบสวนตามข้อกฎหมายที่กล่าวนั้นให้ครบถ้วน การชั่งน้ำหนักพยานจึงต้องพิจารณาให้รอบครอบว่าเป็นพยานหลักฐานที่ผ่านการสรุปข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบและใช้สิทธิโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานแล้ว (เป็นพยานที่แจ้งใน สว.๓) การแจ้งสรุปพยาน ไม่ใช่แค่สรุปแค่รายชื่อพยานบุคคล พยานเอกสาร แต่ต้องสรุปเนื้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในเอกสารหลักฐาน หรือถ้อยคำพยานบุคคลที่ชัดเจน จึงจะเป็นการแจ้ง สว.๓ ที่ชอบ
            ข้อ ๔๒ การพิจารณาพยานหลักฐานว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่อย่างไร ให้พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน และต้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้สรุปแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วเท่านั้น ความหมายคือ เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว สรุปข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในพยานหลักฐาน ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและใช้สิทธิโต้แย้ง ตามแบบบันทึกสาระสำคัญ สว.๓ แล้วผู้ถูกกล่าวหาไม่โต้แย้ง หรือโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนแล้ว จึงนำพยานหลักฐานของคณะกรรมการสอบสวน และที่ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งมาพิจารณาชั่งน้ำหนักพยาน เพื่อพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับความผิดและสถานโทษ การพิจารณาพยานหลักฐานนอกสำนวนถือเป็นการไม่ชอบ มีผลทำให้คำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เป็นพยานหลักฐานที่ได้มาภายหลังจากที่แจ้ง สว.๓ เป็นต้น
advertisment

    
        ข้อ๔๕ กรณีที่ปรากฎว่าคณะกรรมการสอบสวนไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา หรือไม่ส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ตอบรับไปให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือไม่มีหนังสือขอให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงหรือนัดมาให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ให้ผู้สั่งแต่งตั้ง...ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๙๘ หรือมาตรา ๑๐๔ ... อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ หรือ ก.ค.ศ.แล้วแต่กรณีสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะชี้แจงให้ถ้อยคำและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาด้วย ความหมายคือ ถ้าตรวจพบว่ายังไม่มีการแจ้ง สว.๓ หรือแจ้ง สว.๓ ไม่ชอบ หรือไม่เรียกผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยหรือนำสืบแก้ข้อกล่าวหา เท่ากับยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและยังไม่มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนต่อคณะกรรมการสอบสวน  ทำให้คณะกรรมการสอบสวนจะพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่ยังไม่ผ่านการโต้แย้งไม่ได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและไม่สามารถนำความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนมาใช้พิจารณาลงโทษได้ หากพบในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นการพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา ๑๐๔ ก็สั่งให้มีการแก้ไขก่อนที่จะพิจารณาอุทธรณ์ หรือพิจารณารายงานการดำเนินการทางวินัยได้  มิฉะนั้น การลงโทษทางวินัย จะเป็นการออกคำสั่งลงโทษโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถ้าแก้ไขเสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการพิจารณาอุทธรณ์ หรือพิจารณารายงานฯ ตามมาตรา ๑๐๔ แล้ว คำสั่งลงโทษนั้นยังคงมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายตลอดมา ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักของมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ที่บัญญัติว่า "คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่สมบูรณ์ (๓) การรับฟังคู่กรณีที่จำเป็นต้องกระทำได้ดำเนินการมาโดยไม่สมบูรณ์ ถ้าได้มีการรับฟังให้สมบูรณ์ในภายหลัง"
     
**************************
ขอขอบคุณ   ภาพจากเว็บไซต์  
 https://www.freepik.com/ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น