วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563

ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี




      ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

        ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ บัญญัติว่า "ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
        ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เป็นความผิดอาญาแผ่นที่โดยปกติรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
        การกระทำ "ดูหมิ่น" หมายถึง การด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย ซึ่งมีแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่วินิจฉัยถึงลักษณะของการดูหมิ่นไว้ในค ดังนี้
     คำพิพากษาศาลฏีกา ที่ ๑๓๑๗๓/๒๕๕๘  ดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทหรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าวดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวหรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อพิเคราะห์ถึงถ้อยคำที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหายว่า "ก็ผู้หญิงชั่ว" และมองไปที่ผู้เสียหายนั้น ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า "ชั่ว" ว่า เลว ทราม ร้าย ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหาย จึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่า เป็นผู้หญิงเลว ผู้หญิงทราม ผู้หญิงร้าย ผู้หญิงไม่ดีจึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 
     ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ให้ดูลักษณะถ้อยคำดูหมิ่นว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดดูหมิ่นผู้อื่นที่เป็นบุคคลซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ตามมาตรา ๓๙๓
    คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๓๙๒๐/๒๕๖๒  ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า "เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล" นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ให้ความหมายของคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย ส่วนคำว่า "สถุล" ให้ความหมายว่า หยาบ ต่ำช้า เลวทราม (ใช้เป็นคำด่า) เช่น เลวสถุล เช่นนี้ แม้ถ้อยคำที่จำเลยด่าโดยการกล่าวว่าทนายเฮงซวย เป็นเพียงการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทโจทก์ อันเป็นการพูด  ดูหมิ่นเหยียดหยามให้อับอายเจ็บใจ แต่ยังไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับถ้อยคำตอนท้ายว่า "สถุล" แล้ว วิญญูชนทั่วไปจึงอาจเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดีและเป็นไปในทางหยาบ ต่ำช้า เลวทราม ถ้อยคำดังกล่าวจึงอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ 
    (คำพิพากาษาฎีกานี้ อธิบายว่าความหมายของลักษณะถ้อยคำพูดที่เป็นการดูหมิ่น )
    คำพิพากษาศาลฎีกา๘๙๑๙/๒๕๕๒ การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า "ตอแหล" ว่า เป็นการด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 


    สำหรับผู้ถูกดูหมิ่นจะเป็นเจ้าพนักงานขณะที่ถูกดูหมิ่น ที่จะเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงาน กระทำการตามหนัาที่หรือเพราะได้ทำการตามหน้าที่ หรือไม่ ซึ่ง คำว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ " (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑(๑๖))
    "ซึ่งกระทำตามหน้าที่" หรือ "เพราะได้ทำการตามหน้าที่ " หมายถึง หน้าที่ราชการตามกฎหมาย  หรือตามที่ได้รับแต่งต้ัง หรือตามที่ได้รับมอบหมาย  
    คำพิพากษาของศาลฎีกาที่เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหนัาที่หรือเพราะได้ทำการตามหน้าที่   เช่น 
    คำพิากษาศาลฏีกา ที่ ๘๔๒๒/๒๕๕๘ การที่จำเลยที่ ๑ พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า "ปลัดส้นตีน" ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ สำเร็จแล้ว 
    คำพิพากษาศาลฎีกา๑๐๖๗๔/๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ พูดต่อผู้เสียหายที่ ๒ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับสรรพสามิตว่า "พวกมึงเป็นข้าราชการรังแกประชาชน แกล้งจับกู" ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควร แต่เป็นถ้อยคำดูถูก สบประมาทผู้เสียหายที่ ๒ กับพวก จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๖
    คำพิพากษาศาลฎีกา ๕๐๑/๒๕๓๗ จำเลยจอดรถกีดขวางการจราจรและถูกผู้เสียหายซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ตำรวจจราจรทำการจับกุม จำเลยได้กล่าวต่อผู้เสียหายว่า เป็นนายจับอย่างไรก็ได้ และเรียกทำเย็ดแม่ ดังนี้ ที่จำเลยกล่าวว่า เป็นนายจับอย่างไรก็ได้เป็นเพียงคำกล่าวในทำนองตัดพ้อต่อว่า ไม่ได้กล่าวหาว่าผู้เสียหายกลั่นแกล้ง จึงไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่ที่จำเลยกล่าวว่า เรียกทำเย็ดแม่ เป็นคำด่าอันเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๖

    คำพิพากษาศาลฏีกา๕๔๗๙/๒๕๓๖ เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าจำเลยมีพฤติการณ์น่าสงสัยโดยตอนกลางวันจะปิดบ้านและเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ตอนกลางคืนจึงออกจากบ้านไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและไม่ปรากฏว่าประกอบอาชีพอะไร สงสัยว่าภายในบ้านจะมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นเหตุให้ออกหมายค้นได้ จำเลยใช้มือผลักหน้าอกของร้อยตำรวจโทป. ขณะเข้าตรวจค้นตามหมายค้นอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ การที่จำเลยชี้นิ้วและพูดด่าร้อยตำรวจโทป. กับพวกในขณะเข้าทำการตรวจค้นว่า "ไอ้พวกอันธพาลไอ้พวกฉิบหายไอ้มือปืน" และยังได้ร้องด่าอีกว่า "ตำรวจหัวควย" ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามจึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที

    คำพิพากษาศาลฏีกา๙๓๐/๒๕๒๖ ผู้เสียหายจับกุมผู้ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าควบคุมออกนอกเขตควบคุมโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยมาดูของกลางแล้วพูดว่าของเหล่านี้ตำรวจคุมมาเองแล้วยังจับกุมผู้เสียหายถามว่าตำรวจที่คุมเป็นใคร จำเลยชี้หน้าผู้เสียหายและพูดว่ามึงนั่นแหละเป็นคนนั่งคุมที่หน้ารถไปแล้วมาจับกุม ดังนี้ เมื่อจำเลยรู้อยู่แล้วว่าผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังรถยนต์ที่บรรทุกของไป หาได้นั่งคุมที่หน้ารถยนต์ไม่ และผู้เสียหายก็ได้จับกุมผู้กระทำผิดตามหน้าที่ ข้อความที่จำเลยกล่าวจึงไม่เป็นความจริง ถือได้ว่าจำเลยกล่าวโดยเจตนาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวโดยสุจริตหรือไม่

    คำพิพากษาศาลฏีกา๑๕๔๑/๒๕๒๒ ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยตามหน้าที่ในข้อหาวางคานเหล็กกีดขวางทางเท้า และให้จำเลยไปสถานีตำรวจโดยผู้เสียหายไปรออยู่ที่นั่นเพื่อนำจำเลยส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีพอจำเลยมาถึงสถานีตำรวจก็กล่าวถ้อยคำดูหมิ่นผู้เสียหายว่า "ลื้อจับแบบนี้แกล้งจับอั๊วนี่หว่าไม่เป็นไรไว้เจอกันเมื่อไรก็ได้" ดังนี้เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เพราะการที่ผู้เสียหายให้จำเลยไปที่สถานีตำรวจเพื่อนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีก็อยู่ในระหว่างจำเลยถูกจับกุมนั่นเอง เมื่อจำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นผู้เสียหายในระหว่างนั้นจึงถือว่าจำเลยกล่าวขณะถูกจับกุม
   คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๖๓๓/๒๕๐๖ การที่จำเลยไม่หลีกทางให้รถยนต์ตำรวจ ซึ่งบีบแตรขอทาง เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังกล่าวว่า "รถยนต์ตำรวจกลัวแม่มันหยัง" ซึ่งหมายความว่า "รถยนต์ตำรวจ กลัวแม่มันทำไม" นั้น นอกจากเป็นคำหยาบคาย ไม่สมควรกล่าวต่อเจ้าพนักงาานผู้กำลังกระทำตามหน้าที่แล้ว ยังเป็นถ้อยคำกล่าวเหยียดหยามดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะกำลังกระทำตามหน้าที่ด้วย
    คำพิพากษาศาลฏีกา ที่ ๑๕๑๙/๒๕๐๐ "ผมผิดแค่นี้ใครๆ ก็ผิดได้ ทำไมมาว่าผม อย่างคุณจะเอาผมไป คุณถอดเครื่องแบบมาชกกับผมตัวต่อตัวดีกว่า" เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
    คำพิพากษาศาลฏีกา ที่ ๖๒๓/๒๕๐๘ จำเลยชี้หน้าและว่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ว่า "ปลัดนิกรนี้จะเป็นบ้าหรืออย่างไร มาขัดขวางกลั่นแกล้งจำเลย ทำงานไป โดยเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ให้ความเป็นธรรม พยายามกลั่นแกล้งจำเลยคนเดียว พยายามกลั่นแกล้งจำเลยมาหลายครั้งแล้ว " ถ้อยคำและกริยาเช่นนี้ เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๖
    ถ้อยคำไหนเป็นดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หรือเป็นการหมิ่นประมาท ไม่จำเป็นต้องแยกให้เห็น เช่น 
     คำพิพากษาศาลฎีกา ๑๐๐๖/๒๕๔๒โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๖, ๓๒๖, ๙๐และ๙๑ คำฟ้องที่โจทก์บรรยายไว้มีข้อความครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘ (๕)แห่ง ป.วิ.อ. แล้ว ทั้งฟ้องโจทก์ได้ระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ พร้อมทั้งถ้อยคำเบิกความอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาทและดูหมิ่นไว้เพียงพอ ที่จะทำให้จำเลยที่ ๒เข้าใจข้อหาทั้งสองได้ดี โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องแยกว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ ส่วนใดเป็นความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทและส่วนใดเป็นความผิดในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
       จำเลยที่ ๒ เบิกความเป็นพยานของจำเลยที่ ๑ ในคดีที่จำเลยที่ 1ฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาว่า ในขณะที่โจทก์ทำหน้าที่สืบสวนหามูลคดีในเรื่องที่จำเลยที่ 1และที่ ๒ ถูก ด. กับพวก ร้องเรียนกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ สมคบกันข่มขู่ให้จำเลยให้การปรักปรำ ด. โดยโจทก์ได้เรียกร้องเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท จากจำเลยที่ ๑ เพื่อเป็นการตอบแทนในการปั้นพยานอันเป็นการสร้างพยานหลักฐานที่ไม่เป็นความจริงให้แก่จำเลยที่ ๑ แต่ความจริงโจทก์ไม่เคยเรียกร้องเงินจำนวน  ๓๐,๐๐๐  บาทจากจำเลยที่ ๑ ตามที่จำเลยที่๒ เบิกความ การที่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ถูกสอบสวนเอาความผิดทางวินัยในเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นคดีนี้ เพราะกรณีเช่นนี้ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ อาจจะรอผลการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ก็ได้ ดังนั้น ถ้อยคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทโจทก์ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๙ ไม่
    ถ้อยคำที่ไม่เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เช่น 
    คำพิพากษาศาลฎีกา ๘๐๑๖/๒๕๕๖ จำเลยกล่าวถ้อยคำว่า "ตำรวจแม่ง...ใช้ไม่ได้" เพราะรู้สึกว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ความสำคัญต่อคำชี้แจงของตน ทำให้จำเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงกล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียบหยามหรือสบประมาทเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๖
      คำพิพาษาศาลฎีกา๓๖๕๔/๒๕๔๓ การที่จำเลยที่ ๒ นำข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลซึ่งเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ ๑ ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ และข้อความดังกล่าวล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนที่ฟ้องโจทก์ เท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา ๑๓๖ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ ๒ ก็เป็นการเผยแพร่คำฟ้อง ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ ๒จึงเป็นเพียงการรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริต จำเลยที่ ๒ จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๙(๔) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง

        คำพิพากษาศาลฎีกา๔๓๒๗/๒๕๔๐การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ คือ "ดูหมิ่น" ซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้อับอายถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อ ข. เจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ว่า "แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย" เป็นการกล่าวท้าทายให้ ข. ออกมาต่อสู้กับจำเลยเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่พอจะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้ ข. อับอายแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
 มาตรา ๑๓๖

    คำพิพากษาศาลฎีกา ๔๕๒๙/๒๕๓๖ หลังจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตยึดสุราของจำเลยไปแล้ว จำเลยตามไปที่ห้องเปรียบเทียบปรับกรมสรรพสามิต จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่าพวกมึงเก่งแต่จับเหล้าไปต่อยกับกูข้างนอกไหมเป็นคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเป็นการพูดเปรยขึ้นมาเพื่อประชดประชันผู้เสียหายโดยเจตนาท้าทายผู้เสียหายให้ออกไปชกต่อยกับจำเลยเท่านั้นหาใช่เป็นการเหยียดหยามดูหมิ่นผู้เสียหายไม่ จึงไม่ผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที

    คำพิพากษาศาลฏีกา๗๘๖/๒๕๓๒ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่เกิดเหตุได้ พบกลุ่มเยาวชนกำลังขัดขวางการปฏิบัติการตาม หน้าที่ และข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ปล่อยตัว อ. ผู้ต้องหา ให้คืนสุราแช่ของกลาง ให้มอบบันทึกการจับกุม และการตรวจ ค้นยึดสุราแช่จำเลยที่ ๑มิได้ทำการจับกุมในทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิด เหตุการณ์รุนแรงขึ้นนั้น ยังถือ ไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ ละเว้นการปฏิบัติการตาม หน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จำเลยที่๑ กล่าวแก่เจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่ง ทำการจับกุม อ.ผู้ต้องหาว่า "โคตรแม่มึงเวลาเขาลักขโมยควายไป ๒-๓ วัน ตาม หาไม่เจอเวลามีสุราทำไมจับเร็วนัก พวกคุณมาสร้างปัญหา คุณไม่ต้องมามองหน้าผมหรอก คุณเป็นหัวหน้าส่วนกระจอก ๆ ผมไม่กลัวคุณหรอก ใหญ่กว่านี้ผมก็ไม่กลัว" เป็นการพูดเปรย ขึ้นมาเพื่อประชดประชันว่า ทำไมเรื่องสุราจับเร็วนัก และเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ มิใช่เป็นการสบประมาทเหยียดหยามดูหมิ่น เจ้าพนักงานผู้กระทำการตาม หน้าที่.

        คำพิพากษาศาลฎีกา ๓๒๓๑/๒๕๓๑ เจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นรถของจำเลย ครั้งแรกจำเลยไม่ยอมให้ค้นเนื่องจากเกรงว่าตำรวจจะกลั่นแกล้งเพราะเหตุที่เคยมีสาเหตุกับตำรวจนั้นมาก่อนในที่สุดจำเลยยอมให้ค้นดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยขาดเจตนาต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๓๘
        การที่จำเลยว่าตำรวจจะเอาของผิดกฎหมายใส่รถจำเลย ตำรวจจะรุททำร้ายจำเลย ไม่แน่ใจว่าเป็นตำรวจ ตำรวจแต่งเครื่องแบบปล้นก็มี เป็นการกล่าวเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยถูกตำรวจกลั่นแกล้ง เนื่องจากตำรวจหาเหตุมาหยุดรถและค้นรถของจำเลยโดยเฉพาะ การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นจึงเป็นการปกป้องตนเอง มิให้ตำรวจกระทำการดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖
        ตำรวจรู้จักชื่อและที่อยู่จำเลยแล้วเพราะเคยไปค้นบ้านจำเลยมาก่อน ไม่มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องถามชื่อและที่อยู่จำเลยอีก การที่จำเลยมิได้แจ้งชื่อและที่อยู่ตามที่ตำรวจถาม จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๗ 

       คำพิพากษาศาลฎีกา๘๖๐/๒๕๒๑จำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดผู้หนึ่งได้ไปสอบถามผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอ ถึงเรื่องที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทางการปิดประกาศไว้ ผู้เสียหายให้ไปสอบถาม ป. ปลัดอำเภอซึ่งผู้เสียหายมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่เรื่องนี้ แต่จำเลยจะขอสอบถามผู้เสียหายเท่านั้น ผู้เสียหายก็ยืนกรานให้ไปถาม ป. จำเลยจึงพูดว่า "คุณเป็นนายอำเภอได้อย่างไรไม่รับผิดชอบ" ดังนี้เป็นการกล่าวถ้อยคำที่ไม่สุภาพต่อเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ (ประชุมใหญ่ครั้งที่๙/๒๕๒๑)

        แม้พูดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน แต่เจ้าพนักงานไม่ได้กระทำการตามหนัาที่หรือเพราะได้ทำการตามหน้าที่ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกา๒๒๕๖/๒๕๓๗ จำเลยและผู้เสียหายที่ ๑ ได้พบผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทเรื่องการกู้ยืมเงิน จำเลยได้พูดว่าผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าผู้เสียหายที่ ๒และบุคคลอื่นว่าผู้เสียหายที่ ๑ เป็นผู้หญิงต่ำ ๆ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาว่าผู้เสียหายที่ ๑ ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ ๑ เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งหน้าแล้ว หาใช่เป็นเพียงคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่ แต่ที่จำเลยพูดพาดพิงถึงผู้เสียหายที่ ๒ ว่า "มันก็เข้าข้างกัน" ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เพราะผู้เสียหายที่ ๒ มีหน้าที่ทางอาญาหาได้เกี่ยวกับกรณีพิพาททางแพ่งไม่ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะได้ทำการไกล่เกลี่ยเรื่องทางแพ่งให้และจัดการลงบันทึกประจำวันไว้ก็หาใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรงตามกฎหมายไม่


******************   
ขอขอบคุณ 
           ๑.คำพิพากษาศาลฏีกาจาก https://deka.supremecourt.or.th/search 
           ๒.ภาพจากเว็บไซด์ https://www.freepik.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น