วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ลงโทษวินัยตามมติชี้มูล ป.ป.ช.อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง หรือไม่

 บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



          บทความนี้ จะนำเสนอหลักจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่  อ.1413/2563  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ 

          ประเด็นคือ มติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ชี้มูลความผิดวินัย ส่งรายงานและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย  ถือเป็นการวินิจฉัยชึ้ขาดขององค์ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือไม่   

            ในประเด็นข้อนี้ มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดง ที่ อ.1413/2563 พิจารณาวินิจฉัยว่า เมื่อมาตรา 223 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติรวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และวรรคสองบัญญัติเป็นข้อยกเว้นอำนาจของศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น การพิจารณาว่าเรื่องใดถือเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรนูญซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญนั้น ต้องพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รวมทั้งลักษณะของการกระทำตามอำนาจหน้าที่ประกอบกัน กรณีที่รัฐธรรมนูญประสงค์จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรใดเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนั้น รัฐธรรมนูญต้องกำหนดบทบัญญัติให้อำนาจดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในส่วนของอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 250 วรรคหนึ่ง(3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดไว้แต่เพียงว่าให้มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไปร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม...ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประกอบกับเมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตราอื่นๆในรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ปรากฎว่ามีบทบัญญัติในมาตราใดให้อำนาจในการชี้มูลความผิดทางวินัย มีเพียงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (3) บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และมาตรา 91(1) เมื่อไต่สวนแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้ดำเนินการตามมาตรา 92 ซึ่งมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติในกรณีที่มีมูลความผิดทางวินัย เมื่อได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดได้กระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งต้ังคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก

คลิกโฆษณา



             ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่ารายงาน เอกสารและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ แล้วแต่กรณี  จึงเห็นได้ว่าการชี้มูลความผิดทางวินัยยังไม่ถึงกับเป็นที่สุด เพราะหากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ต้องการให้เป็นที่สุด ก็จะบัญญัติไว้ทำนองเดียวกับอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้งตามมาตรา 236 วรรคหนึ่ง (5) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามมาตรา 235 วรรคสอง และมาตรา 239 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว บัญญัติว่าในกรณีที่คณะกรรมการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์หรือสมาชิกวุฒิสภา ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นที่สุด  และโดยที่มาตรา 223 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชการอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติว่า อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรนูญซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาลตามที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว และเป็นบทบัญญัติที่จำกัดขอบเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า การใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองนั้น นอกจากจะต้องเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องเป็นการใช้อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดอีกด้วย ซึ่งคำว่าวินิจฉัยชี้ขาดย่อมมีความหมายว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เป็นข้อยุติ  เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เป็นคณะบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดแต่เพียงเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญประเภทองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และในขณะเดียวกันก็เป็นคณะบุคคลซึ่งมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรนูญให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่งหรือมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล จึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย เมื่อฐานอำนาจที่นำไปสู่การปฎิบัติหน้าที่มาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติมาตราใดที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลที่ได้รับการรับรองจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของบุคคลผู้ถูกลงโทษทางวินัยในการฟ้องคดีต่อศาล อีกทั้ง หากจะถือว่ากระบวนการตั้งแต่การไต่สวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยมูลความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จนกระทั่งมีการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยโดยผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา เป็นกระบวนการที่ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายขององค์กรใดๆแล้ว ย่อมทำให้เกิดความแตกต่างกับกรณีที่การดำเนินการทางวินัยเริ่มขึ้นและแล้วเสร็จโดยผู้บังคับบัญชา ซึ่งกรณีดังกล่าวผู้ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง  เช่นเดียวกับกรณีที่ชี้มุลความผิดทางอาญา แม้กฎหมายจะบังคับให้ถือว่ารายงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป้นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิะีพิจารณาความอาญา และให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม แต่ก่อนที่จะมีการลงโทษทางอาญาแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ย่อมต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมตามมาตรา 97 แห่งประราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 อันเป็นหลักประกันความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ) มีมติชี้มูลความผิดว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงเป็นเพียงการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 223 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 

            จากคำวินิจฉัยของศาลตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในดคีดังกล่าว จะพบหลักกฎหมายที่ศาลนำมาพิจารณา ที่สามารถสรุปได้คือ
            1.การใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง คือ  การวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้อำนาจองค์กรนั้น ในการใช้อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เป็นข้อยุติโดยองค์กรนั้น 

            2.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการไต่สวนและชี้มูลการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ การไต่สวนและชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ 

            จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีก ผู้เขียนจะขอนำเสนอในบทความต่อไป 

 

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ปรับเกินร้อยละสิบไม่บอกเลิกสัญญา ถือว่ามีส่วนผิดด้วย

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี



            บทความนี้นำเสนอหลักจากแนวคำพิพาษาศาลปกครองสุงสุด เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของส่วนราชการ เกี่ยวกับการปรับผู้รับจ้างจากการผิดสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่เกินร้อยละสิบของวงเงินที่จัดซื้อหรือจัดจ้าง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 แต่ก็สามารถนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่คือพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้ นั่นคือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.31 /2564 

           ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้รับจ้างทำถนนวงเงินจ้าง 1,476,000 บาท วันสิ้นสุดสัญญาคือ 18 กันยายน 2555 ผู้รับจ้างส่งมอบงานเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกยาน 255 ผู้ว่าจ้างให้แก้ไขงานจ้างให้เสร็จและแจ้งสงวนสิทธิปรับตามสัญญา แต่ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ จึงมีการปรับต่อไปโดยไม่บอกเลิกสัญญา ซึ่งเกินร้อยละสิบของวงเงินจ้าง โดยปรับเป็นจำนวน 276 วันๆละ 3,690บาท เป็นจำนวน1,018,440บาท

           หลักฎหมายในเรื่องนี้ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 138 ซึ่งกำหนดไว้ว่า "ในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือจ้าง ให้ส่วนราชการดำเนินการพิจารณาบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาการผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น "  สำหรับการบอกเลิกสัญญานั้น ข้อ 137 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า "ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด " วรรคสองกำหนดว่า "การตกลงกับคู่สัญญาที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงนั้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาได้เฉพาะกรณีที่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการโดยตรง หรือเพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของทางราชการในการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้นต่อไป "

            ในคดีนี้ ศาลพิจารณาว่า ระหว่างที่ผุู้ว่าจ้างยังไม่บอกสัญญาและมีการปรับผู้รับจ้างต่อไป แต่ในระหว่างที่แจ้งให้ผู้รับจ้างแก้ไขงาน ผู้ว่าจ้างปล่อยให้ประชาชนได้ใช้ถนนสัญจรใช้ประโยชน์ จากสิ่งที่จ้างนั้นแล้ว ในประเด็นนี้ ศาลถือว่าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างนั้นโดยปริยายแล้ว 

            สำหรับค่าปรับ ศาลพิจารณาว่าในทางกฎหมายถือว่าเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ถือเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ซึ่งให้อำนาจศาลลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ หากว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ในคดีนี้ ศาลพิจารณาถึงการปรับของส่วนราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไว้ว่า "...แม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องเสียค่าปรับตามสัญญาพิพาทก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของข้อกำหนดเรื่องค่าปรับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการบอกเลิกสัญญาแก่คู่สัญญาในกรณีที่จำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างนั้น เป็นการกำหนดไว้เพื่อให้งานจ้างตามสัญญาบรรลุวัตถุประสงค์ได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เพื่อประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐเป็นสำคัญ หาได้หามีเจตนาให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเรียกค่าปรับจากคู่สัญญาฝ่ายเอกชนในสัญญาที่จะเป็นการแสวงหากำไร โดยมิได้คำนึงถึงความล่าช้าจนทำให้เกิดความเสียหายต่อการจัดทำบริการสาธารณะอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่ คดีนี้  ปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดี(ส่วนราชการ) มีส่วนผิด ที่ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยโดยไม่ได้พิจารณาบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีภายในเวลาอันสมควร ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีจะต้องชำระค่าปรับมากถึง 276 วัน การปรับตามจำนวนดังกล่าว เมื่อพิจารณาทางได้เสียของผู้ถูกฟ้องคดีเกี่ยวกับการดำเนินกิจการบริการสาธารณะให้มีความต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักแล้ว เห็นได้ว่าผลได้เสียที่จะเกิดแก่ผู้ถูกฟ้องคดี เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่บอกเลิกสัญญานั่นเอง อีกทั้งผู้ฟ้องคดีทำงานแล้วเสร็จร้อยละ 93 แม้จะไม่ครบตามสัญญาแต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้ถนนให้ประชาชนสัญจรใช้ประโยชน์ ดังนั้น การปรับผู้ฟ้องคดีเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1,018,440บาท จึงเป็นค่าปรับที่สูงเกินส่วน " 

              ข้อเท็จจริงที่เป็นที่สังเกตุในคดีนี้ คือ ผู้รับจ้างไม่ได้ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับโดยไม่มีเงื่อนไข แม้จะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้าง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ดังนั้น เมื่อผู้รับจ้างไม่ยินยอมให้ปรับโดยไม่มีเงื่อนไข การปรับต่อไปเมื่อเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างก็จะเป็นไปตามแนวคำพิพาษาดังกล่าว ซึ่งก็เป็นข้อพิจารณาของหน่วยงานต่อไป