วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

กลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นด้วยความเท็จ

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

 

    กลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นด้วยความเท็จ

        ปัญหาการร้องเรียนที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน มีความน่าเชื่ออย่างหนึ่งว่า ผู้ร้องเรียนเป็นบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งมีทั้งร้องเรียนด้วยความไม่พอใจ อิจฉาริษยา กลั่นแกล้งกล่าวหาให้เดือดร้อน หรือร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบ เพราะพบเห็นกระทำที่ไม่ชอบ เช่น การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับประโยชน์จากการปฎิบัติหน้าที่ การประพฤติมิชอบต่างๆ เป็นต้น 

        การร้องเรียนถือเป็นการแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นการกลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนให้ผู้อื่นเดือดร้อน โดยรู้ว่าเรื่องที่ร้องเรียนไม่เป็นความจริง(เป็นเท็จ)แม้เป็นการร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาก็ตาม นอกจากที่ผู้ร้องเรียนจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยแล้ว ผู้ร้องเรียนจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำหรือปรับ เช่น
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2498 นำความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวโทษว่าเขาลักตัดยางและเอาไฟเผาสวนยางด้วย โดยความจริงเขามิได้กระทำผิดดังข้อหานั้นเลย ดังนี้ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะมิได้จดข้อความที่แจ้งความนั้นไว้ในสมุดลงประจำวัน ผู้แจ้งก็มีความผิดแจ้งความเท็จ ร้องเรียนเท็จ(ฎีกานี้อธิบายถึงผู้แจ้งข้อความรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องเท็จขณะไปแจ้ง) 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2530 ผู้กำกับการตรวจภูธรจังหวัดมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ฉะนั้น ข้อความในหนังสือที่จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ดังกล่าวเป็นเท็จ จำเลยย่อมมีความผิดแจ้งความเท็จ ตามมาตรา 137 

                                                            ADVERTISEMENT (โฆษณา)คลิก

        ทั้งเป็นความผิดหมิ่นประมาทผู้ที่ถูกร้องเรียนไปในตัวด้วยเพราะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3252/2543 คำว่า "ใส่ความ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึงพูดหาเหตุร้าย กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความ เสียหาย 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2507 ข้อกล่าวหาของจำเลยที่ว่านายหิรัญผู้พิพากษาได้ร่วมรับประทานเลี้ยงกับนางนิภาโจทก์ซึ่งนายหิรัญตัดสินให้ชนะคดีที่ร้านข้างศาลในตอนเย็นวันตัดสินนั้นเป็นความเท็จและจำเลยได้ร้องเรียนความดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม และไปยืนยันให้ถ้อยคำต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค2ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานายหิรัญในการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่นายหิรัญเช่นนี้การกระทำของจำเลยเป็นการแจ้งข้อความเท็จโดยเจตนาซึ่งอาจทำให้นายหิรัญเสียหายเป็นความผิดตามมาตรา137 ยิ่งกว่านั้นข้อความที่จำเลยแจ้งเท็จดังกล่าว ยังมีความหมายไปในทางหาว่านายหิรัญประพฤติตนไม่สมควร เป็นไปในทำนองพิพากษาคดีความไปโดยไม่สุจริต เป็นการหมิ่นประมาทนายหิรัญผู้พิพากษาในการพิพากษาคดีความไปโดยไม่สุจริตเป็นการหมิ่นประมาทนายหิรัญผู้พิพากษาในการพิพากษาคดีอันเป็นความผิดตามมาตรา198และเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความแก่นายหิรัญตามมาตรา 326 อีกด้วย กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329(1) เพราะจำเลยมีเจตนาแกล้งกล่าวข้อความเท็จโดยไม่สุจริต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าผู้รับแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้น จะต้องเป็พนักงานสอบสวน แต่ย่อมหมายถึงเจ้าพนักงานโดยทั่วไป เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 เป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่สอบสวนความผิดทางวินัยกับนายหิรัญการที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 สอบสวนจำเลย จีงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 2ซึ่งอาจทำให้นายหิรัญเสียหาย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 137


        หากการร้องเรียนนั้นเป็นเรื่องจริง จะไม่มีความผิดแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่ความผิดหมิ่นประมาทในทางอาญานั้น ทั้งการแจ้งเรื่องเท็จและเรื่องจริง ก็มีความผิดหมิ่นประมาทในทางอาญา แต่มีข้อยกเว้นถ้าพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องจริง แม้เป็นความผิดหมิ่นประมาทในทางอาญา แต่ไม่ต้องรับโทษ เช่น

        คำพิพากาศาลฎีกาที่ 3/2508 จำเลยได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ปลัดจังหวัดอ่านด้วย จึงฟังได้ว่าบุคคลที่สามได้ทราบข้อความในเอกสาร จ.1 แล้ว ข้อวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อความใน จ.1 มิเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จุดประสงค์จำเลยมุ่งเป็นสาระสำคัญในการทำหนังสือร้องเรียนนี้ขึ้น ก็เพื่อจะกล่าวหาว่าโจทก์สมคบกับนางนพคุณ เบิกเงินค่าพาพหนะเดินทางเกินจากความเป็นจริง เป็นการททุจริตต่อหน้าที่ ส่วนข้อความในตอนต้นที่กล่าวหาโจทก์มีความประพฤติเลวร้ายก็มิได้กล่าวว่าเลวร้ายอย่างใด แต่ก็น่าจะเข้าใจได้ว่าการกระทำที่เป็นการทุจริตอย่างจำเลยกล่าวหาโจทก์มานี้ก็เป็นความประพฤติที่เลวร้ายได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าข้อกล่าวหาเช่นนี้เป็นการกล่าวเท็จ ก็ไม่มีปัญหาย่อมฟังได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ปลัดเทศบาล เพราะจะทำให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ได้ ในทางตรงกันข้าม หากการกระทำของโจทก์เป็นความจริงดังจำเลยร้องเรียน จำเลยก็มีสิทธิที่จะร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์ได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจำเลยแกล้งร้องเรียนเท็จหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์คำพยานโจทก์จำเลยแล้ว น่าเชื่อเป็นความจริงว่านางนพคุณได้เดินทางไปภูเก็ตคนเดียว ไม่ใช่ 5 คน ดังที่นางนพคุณตั้งฎีกาเบิกเงินค่าพาหนะ คำร้องเรียนของจำเลยตามเอกสาร จ.1 จึงฟังได้เป็นความจริงจำเลยต่อสู้ จำเลยจึงไม่มีความผิดดังโจทก์ฟ้อง เพราะได้รับยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ") 

โฆษณา(คลิก)


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537 โจทก์ร่วมถูกร้องเรียนว่ายักยอกเอาเงินโครงการอาหารกลาววันและอื่นๆ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น จำเลยซึ่งรักษาราชการแทนโจทก์ร่วมได้แจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ร่วมและได้พูดกับผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารว่า "ยักยอกตามตัวไม่พบ" คำพูดดังกล่าวของจำเลยทำให้สมุห์บัญชีธนาคารเข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของราชการและหนีไป จึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมแม้จำเลยกล่าวออกไปโดยถูกถาม แต่จำเลยย่อมสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำว่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อีกทั้งปรากฎว่าสาเหตุที่มีการระงับการจ่ายเงินเดือนเพราะโจทก์ร่วมไม่ยอมลงชื่อในหลักฐานการจ่ายเงินเดือน หาใช่เพราะโจทก์ร่วมยักยอกและตามตัวไม่พบไม่ และจำเลยกับโจทก์ร่วมก็มีเหตุขัดแย้งไม่พอใจในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการกันอยู่ การกล่าวข้อความของจำเลย จึงมิใข่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต แต่มีเจตนาใส่ความโจทก์ จำเลยจึงความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 10448/2553 ข้อความทั้งหมดตามบทความสรุปว่า โจทก์ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่กำกับดูแลกรมศาสนา ทำงานไม่เป็น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย ท่าดีทีเหลว โอบอุ้มพระ เนื่องจากรับเงินสินบนจากพระ 150,000,000 บาท เมื่ออ่านโดยตลอดแล้วมีลักษณะเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ลักษณะของการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอข้อเท็จจริงโดยสุจริต หรือติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยทั้งสาม จึงกระทำละเมิดต่อโจทก์


        ในทางแพ่ง การกลั่นแกล้งร้องเรียนกล่าวหาผู้อื่น โดยรู้ว่าเป็นความไม่จริงหรือเป็นความเท็จ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้อื่นด้วย เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแก่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าคามนั้นไม่เป็นจริง แต่หากควรจะรู้ได้ เช่น 

                                                     ADVERTISEMENT (โฆษณา)

  
        คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 21420/2556 ข้อเท็จจริงที่จะทำให้การกล่าวหาหรือไขข่าวแพร่หลาย เป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็คือการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้น ฝ่าฝืนต่อความจริง หากการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายความจริง ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
        (คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 700,000 บาท พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 ธันวาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
        ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวม 400,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ) 

        ในทางวินัยของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การกลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความจริง ถือเป็นการกระทำความผิดวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเหตุผู้อื่นได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ย่อมเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 88 วรรคสอง ทั้งเข้าข่ายเป็นการกระทำการอันชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ตามมาตรา 94 วรรคหนึ่ง


        ดังนั้น ถ้าข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษาในสังกัด เป็นผู้กลั่นแกล้งกล่าวหาหรือร้องเรียนเท็จ ทำให้ผู้บังคับบัญชาหรือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้อื่นเสียหาย หรือสถานศึกษาเสียหาย จะมีความผิดทางวินัย ความผิดในทางอาญา และในแพ่งด้วย

advertisement


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น