วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เพิ่มโทษหรือลดโทษทางวินัย ต้องยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิมหรือไม่ และเมื่อพ้นจากเป็นข้าราชการจะเพิ่มโทษหรือลดโทษได้หรือไม่

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

    เพิ่มโทษหรือลดโทษทางวินัย ต้องยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิมหรือไม่ 

        มีคำถามจากการพิจารณาดำเนินการทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า เมื่อมีการ เพิ่มโทษหรือลดโทษทางวินัย ต้องยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิมก่อนหรือไม่ และต้องคืนเงินหรือจ่ายเงินคืนให้ผู้กระทำผิดหรือไม่ และถ้าผู้กระทำผิดออกจากราชการไปก่อนแล้วจะมีคำสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษได้หรือไม่ จึงได้หาคำตอบในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

        เมื่อมีการเพิ่มโทษหรือลดโทษทางวินัยต้องยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิมก่อนหรือไม่ นั้น การออกคำสั่งลงโทษ นั้น มีระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยวิธีการออกคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2548 กำหนดให้การลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง ลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์ ห้ามมีคำสั่งย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง ถ้าเป็นการลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง การออกคำสั่งต้องปฏิบัติตามระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2548 โดยห้าม สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่มีเหตุตามกรณีที่ระบุในระเบียบดังกล่าว เช่น มีคำสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือเป็นกรณีละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินสิบห้าวันและไม่กลับมาปฏิบัติราชการอีกเลย หรือต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือหนักกว่าจำคุก เป็นต้น สรุปคือ การออกคำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรงและอย่างร้ายแรง ห้ามมีคำสั่งย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่งลงโทษ

        เมื่อมีการเพิ่มโทษหรือลดโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง ระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยวิธีการออกคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ7 ระบุว่า “การสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษเป็นลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์ ให้สั่งย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งเดิมมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ การสั่งย้อนหลังดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสิทธิและประโยชน์ที่ผู้ถูกสั่งลงโทษได้รับไปแล้ว”เมื่อการสั่งเพิ่มโทษ หรือลดโทษต้องสั่งย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งเดิมมีผลใช้บังคับ นั้น จึงต้องเพิกถอนคำสั่งเดิมด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักทั่วไปที่ว่าบุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 7/2557 หลักที่ว่าบุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวกัน เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามมิให้ลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำและโทษที่จะลง แก่บุคคลนั้นจะเป็นความผิดและโทษอาญา ความผิดและโทษทางปกครองหรือความผิดและโทษทางวินัย นอกจากนั้น การลงโทษบุคคลไม่ว่าโทษนั้นจะเป็นโทษทางอาญา โทษทางปกครองหรือโทษทางวินัย ถือได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลผู้ถูกลงโทษ การลงโทษบุคคลมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับการกระทำความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียว จึงเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายเกินความจำเป็นแก่การรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายฉบับที่ให้อำนาจจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นๆ มุ่งหมายจะให้ความคุ้มครองอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 29 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (บทความของ จิดาภามุสิกธนเสฏฐ พนักงานคดีปกครองชำนาญการ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง) การเพิ่มโทษหรือลดโทษโดยไม่เพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิม เท่ากับเป็นการลงโทษซ้ำในการกระทำความผิดครั้งเดียวกันซึ่งต้องห้ามตามหลักกฎหมายทั่วไปและบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชการอาณาจักรไทย คำสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

        เมื่อการเพิ่มโทษหรือลดโทษทางวินัย ต้องเพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิม โดยการสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษต้องสั่งย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งเดิมมีผลใช้บังคับ การสั่งย้อนหลังดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสิทธิและประโยชน์ที่ผู้ถูกสั่งลงโทษได้รับไปแล้ว เช่น การเลื่อนขั้นเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะ ค่าเช่าบ้าน ฯ ถ้าเป็นการเพิ่มโทษจากโทษภาคทัณฑ์เป็นโทษตัดเงินเดือนหรือลดเงินเดือน ย่อมไม่กระทบต่อสิทธิและประโยชน์ที่ผู้นั้นได้รับไปแล้ว แต่ถ้าเพิ่มโทษจากตัดเงินเดือนเป็นโทษลดเงินเดือน หรือลดโทษจากโทษลดเงินเดือนเป็นตัดเงินเดือน หรือภาคทัณฑ์ หรือลดโทษจากตัดเงินเดือนเป็นภาคทัณฑ์ เมื่อต้องเพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิม สิทธิและประโยชน์จากเงินที่ลดหรือตัดไปแล้วจากคำสั่งเดิม ต้องคืนให้แก่ผู้นั้นด้วย เพราะเป็นสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับ และถือว่าเป็นการที่ผู้นั้นได้รับการลงโทษซ้ำในความผิดครั้งเดียวกัน  และเงินที่จะต้องคืนให้นี้ ผู้ถูกลงโทษจะขอคิดดอกเบี้ยได้หรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า เงินที่จะต้องคืนเป็นเรื่องผิดสัญญา เป็นเรื่องเจ้าหนี้ลูกหนี้  เป็นเรื่องละเมิดหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยได้  

        ถ้าเป็นการดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง ที่มีการลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง โดยลดเงินเดือน ตัดเงินเดือน หรือภาคทัณฑ์ ไว้ ต่อมาเพิ่มโทษเป็นปลดออกจากราชการหรือไล่ออกจากราชการ ระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยวิธีการออกคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2548ข้อ6 กำหนดว่าการสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษเป็นไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ...จะสั่งให้มีผลบังคับตั้งแต่วันใด ให้นำข้อ 5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามข้อ 5 กำหนดว่าการสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการตามมาตรา 100 วรรคสี่และวรรคห้า...ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา...” ระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2548 ข้อ 6 การสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ห้ามมิให้สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่..." ดังนั้น การเพิ่มโทษจากเดิมลดเงินเดือน ตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์ เป็นปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ห้ามสั่งย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง และเมื่อพิจารณาตามแนวคำพิพากษาศาลปครองสูงสุดดังกล่าว ก่อนมีคำสั่งเพิ่มโทษก็ต้องเพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิม และคืนเงินที่ได้ลดหรือตัดไปแล้วให้ผู้นั้นด้วย เพราะเป็นสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้ถูกลงโทษยังไม่ได้รับ  
 โฆษณา(คลิก)

 
        แต่ถ้าเดิมถูกลงโทษปลดออกจากราชการหรือไล่ออกจากราชการ ต่อมาลดโทษให้ลงโทษลดเงินเดือน ตัดเงินเดือนหรือภาคทัณฑ์ ระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยวิธีการออกคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ การสั่งลดโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ เป็นโทษลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน หรือภาคทัณฑ์จะสั่งให้มีผลบังคับวันใดให้นำข้อ 4 มาใช้บังคับ “ ซึ่งตามข้อ 4 ระบุว่า“ ห้ามสั่งย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่ ผู้นั้นถูกสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน” ถ้าไม่มีเหตุตามข้อยกเว้น คำสั่งลดโทษจึงต้องสั่งในวันที่ออกคำสั่ง โดยต้องเพิกถอนคำสั่งปลดออกหรือไล่ออก สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการ มีสิทธิและประโยชน์จากที่เคยได้รับไว้เดิมระหว่างที่ถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก แล้วออกคำสั่งลงโทษตามอัตราโทษที่ได้ลดให้

        กรณีจะมีคำสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษจากเดิม แต่ข้าราชการที่ถูกลงโทษได้พ้นจากราชการไปแล้ว เช่น ลาออกหรือเกษียณอายุราชการ หรือถูกปลดออกจากราชการ หรือไล่ออกจากราชการ จากกรณีกระทำความผิดในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่มูลกรณีวินัยเรื่องเดียวกันครั้งเดียวกัน จะสามารถลงโทษได้หรือไม่ มีแนวการพิจารณาของสำนักงาน ก.พ.คือ ถ้าเป็นการลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.นร 0709.2/ป 80 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2542 ซึ่งพิจารณาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 80 และมาตรา 100 ที่บัญญัติให้ข้าราชการพลเรือนต้องรักษาวินัยตามที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติ โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทางวินัย ผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดวินัยและจักต้องได้โทษทางวินัย ซึ่งหมายความว่า ผู้ซึ่งตกอยู่ในบังคับแห่งความข้างต้น จะต้องมีสภาพเป็นข้าราชการทั้งในขณะกระทำความผิดและในขณะถูกลงโทษ เว้นแต่กรณีตามมาตรา 106 บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสืบสวนและดำเนินการทางวินัย แก่ข้าราชการที่ออกจากราชการไปแล้ว หากมีกรณีกล่าวหาว่ากระทำหรือละเว้นการกระทำการใด ที่เห็นได้ว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนออกจากราชการ ดังนั้น ถ้าเป็นการดำเนินการทางวินัยไม่ร้ายแรง เมื่อผู้นั้นได้ออกจากราชการไปแล้ว จึงไม่มีสภาพเป็นข้าราชการอันจะต้องได้รับโทษทางวินัยอีกต่อไป จึงไม่อาจสั่งเพิ่มโทษกับข้าราชการผู้นั้นได้

โฆษณา(คลิก)



        แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนออกจากราชการ ยังสามารถลงโทษได้ตามบทบัญญัติกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ ซึ่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 102 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2562 บัญญัติให้กรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนออกจากราชการ ว่าขณะรับราชการได้กระทำหรือละเว้นการกระทำใดอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง สามารถดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษได้เสมือนว่าผู้นั้นยังไม่ได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายในกำหนดสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ ดังนั้น ถ้ามีการเพิ่มโทษหรือลดโทษ ต้องสั่งลงโทษภายในกำหนดสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ โดยปฎิบัติตาม ระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยวิธีการออกคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2548 ข้อ6 กำหนดว่าการสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษเป็นไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ...จะสั่งให้มีผลบังคับตั้งแต่วันใด ให้นำข้อ 5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามข้อ 5 กำหนดว่าการสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการตามมาตรา 100 วรรคสี่และวรรคห้า...ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา...” ระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2548 ข้อ 6 การสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ห้ามมิให้สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่(6) การสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะต้องถูกสั่งนั้นได้ออกจากราชการโดยถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก...ไปก่อนแล้ว ให้สั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออกย้อนหลังไปถึงวันออกจากราชการนั้น ดังนั้น ถ้ามีการเพิ่มโทษจากปลดออก เป็นไล่ออก หรือลดโทษจากไล่ออก เป็นปลดออก แม้ผู้นั้นจะไม่มีสภาพเป็นข้าราชการแล้ว ก็สามารถสั่งเพิ่มโทษหรือลดโทษได้ภายในกำหนดสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ โดยสั่งให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ผู้นั้นถูกปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ นั่นเอง

            จากเนื้อหาที่นำเสนอ ผู้อ่านเห็นว่าผู้เขียนยังเข้าใจไม่ถูกต้องสามารถส่งความเห็นมาเพื่อปรับปรุงได้ครับ ยินดีรับข้อแนะนำตามอิเมล์ที่ให้ไว้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น