วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ทางจำเป็น

บทความโดยก้องทภพ แก้วศรี

ทางจำเป็น


      ทางจำเป็น 

        เป็นปัญหาในทางคดีแพ่ง ซึ่งในตัวบทกฎหมายไม่ได้บัญญัติคำนี้ไว้ แต่เกิดขึ้นจากการพิจารณาวินิจฉัยและให้ความหมายของศาลในการพิจารณาวินิจฉัยคดี การที่จะนำปัญหาในทางแพ่งขึ้นสู่ศาลพิจารณาได้ จะต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล จึงสามารถเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ซึ่งสิทธิในทางจำเป็นย่อมเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตามสภาพความเป็นจริงของที่ดินในขณะยื่นฟ้อง(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13760/2556) เมื่อสิทธิทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงไม่ต้องจดทะเบียน การนำปัญหาทางจำเป็นขึ้นสู่การพิจารณาของศาล จึงต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย 
 
        ทางจำเป็น มีหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร์ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้น จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้” หรือเป็นกรณีตามวรรคสองที่บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันมีระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร์ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ” กรณีตามวรรคสองจึงให้สิทธิเจ้าของที่ดินจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้เช่นเดียวกัน ทางจำเป็นจึงเป็นปัญหาระหว่างที่ดินแปลงที่ไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะกับที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ ซึ่งบุคคลที่จะใช้สิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินคือเจ้าของที่ดินที่เป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนที่ดินที่เป็นในโฉนดที่ดิน เท่านั้น ผู้ครอบครอง ผู้อาศัย ผู้เช่า หรือเจ้าของโรงเรือนอย่างเดียว ไม่ใช่คนที่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นตามกฎหมายข้อนี้แต่อย่างใด แต่เมื่อเจ้าของได้สิทธิในทางจำเป็นแล้ว ผู้อยู่ในครอบครัว บริวาร ผู้อาศัย ผู้เช่าย่อมมีสิทธิใช้จำเป็นนั้นด้วย ปัญหาว่าที่ดินนั้นไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะจริงหรือไม่ ต้องตีความทางสาธารณะเสียก่อน


        ทางสาธารณะ หมายถึงกรณีใดบ้าง นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้ให้คำนิยามไว้ แต่ในประมวลกฎหมายอาญา มีนิยามไว้ใน มาตรา ๑ (๒) “ทางสาธารณ” หมายความว่า ทางบกหรือทางน้ำ สำหรับประชาชนใช้ในการจราจร และให้ความหมายรวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดิน สำหรับประชาชนโดยสารด้วย ทางบกหรือทางน้ำนั้นจะเป็นทางสาธารณหรือไม่ อยู่ที่ประชาชนใช้ในการจราจร ซึ่ง มีแนวคำวินิจฉัยของศาล เช่น 

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13760/2556 แม้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกจะติดกับแม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 แต่ปัจจุบันแม่น้ำท่าคอยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรไม่มีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าสัญจรผ่านไปมาคงมีแต่เรือหาปลาและในหน้าแล้งจะมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่นเช่นนี้ แม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 จึงหาใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดินโจทก์ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่หมายความว่าที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์และโจทก์เคยใช้ทางพิพาทที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13874/2557 คลองบางสี่บาทมีสภาพเป็นทางระบายน้ำ ตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม น้ำในคลองเน่าเสีย เรือไม่สามารถลอดใต้สะพาน สภาพเช่นนี้ประชาชนไม่สามารถใช้คลองสัญจรไปมาได้อย่างคลองสาธารณะอื่น จึงไม่ถือเป็นทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559 เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น 
โฆษณา(คลิก)
                                                


        สำหรับทางบกที่เป็นสาธารณะ มีแนวคำพิพากษาของ คำพิพากษาศาลฎีกา 5776//2562 เมื่อทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตั้งแต่ก่อนจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินมาจากเจ้าของเดิม ย่อมต้องยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) บุคคลใดย่อมไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในทางดังกล่าวได้... เมื่อพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่คัดค้านการใด ๆ ข้อความดังกล่าวมีความหมายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองยอมอุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 ให้เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันทีที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แม้จะเป็นการกระทำหลังวันฟ้องคดีนี้ และคดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องต่อศาลปกครองขอเพิกถอนเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาเฉพาะทางพิพาทส่วนที่ 2 อยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม

        ทางจำเป็น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน ทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุด และไม่ใช่จะผ่านที่ดินเขาฟรี ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ด้วย เพื่อความเสียหายที่มีทางผ่าน โดยนอกจากเป็นค่าเสียหายเพราะสร้างถนนแล้ว ยังสามารถกำหนดเป็นเงินรายปีสำหรับการใช้ทางจำเป็นนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13760/2556 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม จะพิจารณาแต่ในทางที่โจทก์มีความประสงค์ใช้เส้นทางแล้วพิพากษาให้ตามที่โจทก์ขอหาได้ไม่ ต้องพิจารณาคำนึงถึงฝ่ายจำเลยด้วยว่า การเปิดทางนี้ทำให้จำเลยเสียหายแต่น้อยที่สุดหรือไม่ และการที่จะให้โจทก์ใช้ทางสาธารณะ อันจะเป็นการกระทบสิทธิในที่ดินของบุคคลอื่นอีกย่อมไม่สมควรกระทำ ...เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ซึ่งจำเลยเจ้าของที่ดินที่มีทางพิพาทตั้งอยู่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิผ่านทางจำเป็นใช้ ค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปได้เอง... 
                                                                                                             
        แต่ถ้าที่ดินแปลงที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ เกิดขึ้นจากการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงเดียวกัน จนเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงที่แยกหรือโอนออกมามีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นจากที่ดินที่แยกหรือโอนมาได้ โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4150/2556 ... ส่วนการที่ที่ดินของโจทก์และจำเลยจะเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อนก็เป็นเรื่องผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน ดังนั้น มาตรา 1350 นั้น จึงไม่จำต้องบรรยายไว้ในคำฟ้องและเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นจากการพิจารณา กล่าวคือ หากที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ก็ไม่จำต้องเสียค่าทดแทน หากทางจำเป็นมิได้เกิดจากการแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันผู้ที่ขอใช้ทางจำเป็นก็จำต้องใช้ค่าทดแทน 

        เมื่อเป็นที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงที่มีทางออกถึงทางสาธารณแล้ว การฟ้องคดีต้องฟ้องกับเจ้าของที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมา จะเลือกฟ้องเจ้าของที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่เพื่อขอทางจำเป็นไม่ได้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 บัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน ดังนั้น การที่ที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงเดิมของ ข. และ ห. ทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จะฟ้องเรียกร้องทางเดินผ่านที่ดินของจำเลย ซึ่งมิใช่ที่ดินแปลงเดิมที่ถูกแบ่งแยกหรือแบ่งโอนหาได้ไม่

        
advertisment

        เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมอยู่มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นในที่ดินของผู้อื่นที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะได้ มีหน้าที่ต้องใช้ค่าทดแทนให้เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น เช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ 558/2563 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย มาตรา 1349 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ บัญญัติให้เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น โจทก์ขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นและยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสี่เข้ามาเป็นจำเลยร่วม แม้โจทก์ที่1 มิได้เสนอค่าทดแทนแก่จำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสี่และจำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสี่มิได้ฟ้องแย้งเรียกร้องค่าทดแทนจากโจทก์ที่ 1 แต่โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมอยู่มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยร่วมทั้งสี่ไปสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยร่วมทั้งสี่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น 

        ตามหลักกฎหมายที่นำเสนอไปแล้ว จึงเป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้สำหรับผู้ที่จะซื้อที่ดินที่ไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะหรือที่ดินตาบอด ซึ่งอาจมีราคาไม่สูงนัก สามารถใช้สิทธิต่อศาลขอทางจำเป็นกับเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่และเป็นแปลงที่ออกถึงทางสาธารณะโดยเสียค่าสินไหมทดแทนได้ แต่ก่อนใช้วิธีนี้จะมีอีกแนวทางหนึ่ง คือ เจรจากับเจ้าของที่ดินที่ติดทางออกสู่ทางสาธาณะขอใช้ที่ดินเป็นทางออกในลักษณะเป็นภาระจำยอม โดยทำสัญญากันไว้ โดยเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายตามที่ตกลงกัน หรือจะขอผ่านฟรีๆก็สุดแล้วแต่จะเจรจากัน ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ไม่ต้องเสียค่าทนาย ก็ได้เช่นเดียวกัน

*******************************
ขอบคุณ
           ๑.ภาพ จากเว็บไซต์  https://www.freepik.com/
           ๒.คำพิพากษาศาลฎีกา จากเว็บไซต์ https://deka.supremecourt.or.th/



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น