วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบที่ใช้เป็นข้อมูลการพิจารณาย้าย เปิดเผยได้หรือไม่ (ข้อมูลข่าวสารทางราชการ)

 บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี


     ข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบที่ใช้เป็นข้อมูลการพิจารณาย้าย เปิดเผยได้หรือไม่

           ในการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา หรือย้ายครูผู้สอน จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาย้ายโดยมีการกำหนดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการให้คะแนนไว้ในแต่ละองค์ประกอบ ผู้ที่ไม่ได้รับการพิจารณาย้ายทั้งที่มีตำแหน่งว่างตรงตามที่เขียนขอย้าย ย่อมมีความคับข้องใจและรู้สึกว่าเป็นการพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม จึงต้องการจะขอข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบที่ใช้พิจารณาย้ายของตนเอง กับของคนอื่นที่ได้รับการพิจารณาย้าย หน่วยงานราชการจะให้ได้หรือไม่ มีคำตอบ

            เรื่องนี้เกิดขึ้นกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาคนหนึ่งได้ยื่นคำร้องขอย้ายไว้แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ย้ายจึงยื่นคำร้องขอข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบทุกข้อที่มีการประเมินเป็นข้อมูลเกียวกับการพิจารณาย้ายของตนเองและของผู้ยื่นคำร้องขอย้ายคนอื่น แต่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแห่งนั้นได้ปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้นั้น จึงประเด็นว่าข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบทุกข้อที่มีการประเมินเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาย้ายเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้หรือไม่  

              โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๕๙ บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก” ตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย หน่วยงานของรัฐ จึงต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครอง ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่จำต้องเปิดเผย คือ ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ จากข้อกฎหมายดังกล่าวจึงถือเป็นหลักที่ว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”

                 ในเรื่องของข้อมูลข่าวสารราชการ มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งบัญญัติให้ราชการต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไว้แล้ว โดยกำหนดประเภท วิธีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไว้ แต่ก็บัญญัติให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ในบางประเภท เช่น ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๔ ที่ห้ามเปิดเผยโดยเด็ดขาด หรือข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนเกี่ยวข้องประกอบกัน มาตรา ๑๗ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้ใด เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งให้ผู้นั้นเสนอคำคัดค้านภายในเวลากำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และตามมาตรา ๒๔ หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้ เป็นต้น 

               แม้มาตรา ๒๕ ที่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ กำหนดให้บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน และเมื่อบุคคลนั้นมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทนบุคคลนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ซึ่งในการขอข้อมูลข่าวสารกับทางราชการ หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะปฎิเสธมิให้ข้อมูลข่าวสาร โดยมักอ้างเป็นข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๒๔  มาเป็นเหตุผลในการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ผู้นั้นยังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น โดยยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ

              ผู้บริหารสถานศึกษารายดังกล่าว ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามกำหนด ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาเห็นว่า “ ข้อมูลผลคะแนนรวมและคะแนนรายองค์ประกอบทุกข้อที่มีการประเมินเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด พิจารณาจากผลการปฏิบัติงาน วิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ คุณวุฒิ การรักษาวินัย ความอาวุโส ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งและนำมาให้คะแนน ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติที่การพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกประเมินรายอื่นที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติย้ายให้ผู้ร้องขอทราบนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ร้องขอแล้ว ยังจะแสดงให้เห็นถึงความถูกต้อง โปร่งใส ว่ามีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาหรือไม่ ดังนั้น ข้อมูลในส่วนของผลคะแนนของผู้ถูกประเมินรายที่ได้พิจารณาอนุมัติให้ย้ายจึงเปิดเผยให้ผู้ร้องขอทราบได้”(หนังสือคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๑๐๘/๔๙๗๖ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙...ที่มาบทความกฎหมายในหนังสือ วินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑ โดยนางสาวบุณยวีร์ อดิศัยเดชรินทร์ นิติกรชำนาญการพิเศษ)



             คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้เป็นที่สุด ตามมาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ และถือว่าเป็นการผูกพันเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐให้มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ครบถ้วนถูกต้องตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจะตัดทอนบางหน้าหรือบางข้อความไม่ได้ อีกทั้งต้องมีหน้าที่สำเนาซึ่งมีคำรับรองถูกต้องด้วย (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๘๙/๒๕๕๖ )

              แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด มีผลผูกพันคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติตามเท่านั้น ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนหรือเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ร้องขอ ผู้นั้นจำต้องยื่นอุทธรณ์ และฟ้องคดีตามลำดับ เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารนั้น  

****************
ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น