วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

คดีอาญายกฟ้อง แต่ยังผิดทางวินัย (การดำเนินการทางวินัยข้าราชการ)

บทความโดย ก้องทภพ แก้วศรี

 

    คดีอาญายกฟ้อง แต่ยังผิดทางวินัย 

   เมื่อข้าราชการต้องหาคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย ให้รายงานให้ต้นสังกัดทราบโดยด่วน เพื่อทราบความเป็นไปของบุคคลดังกล่าว (หนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ น.๘๒๖/๒๕๘๒ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๒) การไม่รายงาน ถือเป็นการกระทำความผิดวินัย และอาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย เช่น ข้าราชการถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย (ภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย) ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา ๓๐ (๙) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๐ แต่เมื่อข้าราชการไม่ได้รายงาน ทำให้ราชการไม่ทราบว่าข้าราชการดังกล่าวขาดคุณสมบัติ ต่อมาเมื่อพ้นกำหนด ๓ ปี ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย จึงมาทราบข้อเท็จจริง ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการและตีความ และราชการเสียหายจากการที่มีการจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เป็นต้น

    หากข้าราชการต้องหาคดีอาญา ที่เป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แล้วมีการควบคุมขังระหว่างสอบสวนและฟ้องคดี โดยไม่ได้รับการประกันตัว (ไม่เกิน ๑๕ วัน) จะทำให้ข้าราชการคนนั้นไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาอนุญาตให้ลากิจหรือลาพักผ่อนในระหว่างการถูกควบคุมขังได้หรือไม่ นั้น มีหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร ๐๙๐๔/๕๖๖ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลาของข้าราชการและลูกจ้างไว้ว่า “เมื่อข้าราชการ ลูกจ้าง ถูกจับ ถูกควบคุม ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน ฟ้องคดี ไม่ได้รับการประกันตัวผู้บังคับบัญชาจะอนุญาตให้ลากิจหรือลาพักผ่อนไม่ได้ เนื่องจากมิใช่การลาประเภทใดๆตามระเบียบว่าด้วยการลาฯ จึงไม่มีกรณีที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาอนุญาต” “ในช่วงที่มีการควบคุมตัว คุมขัง ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา รอการจ่ายเงินเดือน เงินค่าจ้าง ระหว่างที่ถูกควบคุม หรือขังไว้ก่อน จนกว่าคดีจะถึงที่สุด (การพิจารณาจ่ายเงินเดือนจะจ่ายตาม พระราชบัญญัติเงินเดือนของข้าราชการผู้สั่งพักราชการ พ.ศ.๒๕๐๒)” จากหนังสือดังกล่าว ผู้บังคับบัญชา จึงไม่สามารถพิจารณาอนุญาตให้ลากิจหรือลาพักผ่อนให้แก่ข้าราชการรายที่ถูกควบคุมขังได้ และต้องรอการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างไว้ แล้วดำเนินการตามพระราชบัญญัติเงินเดือนของข้าราชการผู้สั่งพักราชการ พ.ศ.๒๕๐๒ 

โฆษณา(คลิก)


    เมื่อข้าราชการต้องหาว่ากระทำอาญา จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเกียรติของตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่หากตรวจสอบแล้วพบว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัย สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยไม่ต้องรอคดีอาญาถึงที่สุด

    กรณีเมื่อดำเนินการทางวินัยและมีคำสั่งลงโทษข้าราชการรายนั้นไปแล้วต่อมาคดีอาญาศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง จะทำให้ข้าราชการรายนั้น มีสิทธิยื่นคำขอต่อหน่วยงานขอให้พิจารณาเรื่องการลงโทษ ทางวินัยใหม่ และจะทำให้ ผู้นั้นพ้นจากการกระทำความผิดวินัย ที่ราชการจะต้องยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยหรือไม่นั้น มีคำวินิจฉัยจากศาลปกครองสุงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๗๕๕/๒๕๖๑ วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าเมื่อคู่กรณีมีคำขอ เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์ตามส่วนที่ (๕)ได้ ในกรณีต่อไปนี้...(๔) ถ้าคำสั่งทางปกครองได้ออกโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฏหมายใดและต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณี...ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โดยศาลจังหวัดราชบุรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ กรณีจึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีได้รู้ถึงเหตุที่จะขอพิจารณาใหม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี..พิจารณาทบทวนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการใหม่ จึงเป็นการยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาใหม่ได้ ตามมาตรา ๕๔ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ อย่างไรก็ตามผู้ฟ้องคดียื่นคำขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างเหตุว่า ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสาระสำคัญ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงเห็นว่าแม้พฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีอาญาและดำเนินการทางวินัยจะเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันพยายาฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนหรือกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้าน ชุมชน โดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน แต่โดยที่กฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการ...ได้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไว้เป็นส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา โดยโทษทางวินัยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เป็นผู้เหมาะสมและสมควรแก่ความไว้วางใจแก่สาธารณชนที่จะใช้อำนาจรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะ ส่วนการดำเนินคดีอาญา เป็นการดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำความผิด การลงโทษในคดีอาญาจึงต้องกระทำโดยมีพยานหลักฐานอันประจักษ์ หากมีความสงสัยตามสมควรว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้ผู้ถูกกล่าวหา การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี ผู้บังคับบัญชาจึงไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีอาญา เมื่อ...มีคำสั่ง...ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและอนุกรรมการ...เกี่ยวกับอุทธรณ์...มีมติยกอุทธรณ์ผู้ฟ้องคดี โดยรับฟังพยานหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง...ดังนั้นแม้ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องนั้น ก็เนื่องเห็นว่าพยานหลักฐานยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัยตามสมควรว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าตามฟ้องหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๒๒๗ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้การลงโทษผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาต้องกระทำโดยมีพยานหลักฐานอันประจักษ์แจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยเท่านั้น กรณีจึงมิได้หมายความว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นผลให้ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิจารณาออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้พิจารณายกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดี ในอันที่จะทำให้ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์ ตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙"



    จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ย่อมชัดแจ้งว่า คดีอาญายกฟ้อง แต่ยังผิดทางวินัย เนื่องจาก กฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการได้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไว้เป็นส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา โดยโทษทางวินัยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เป็นผู้เหมาะสมและสมควรแก่ความไว้วางใจแก่สาธารณชนที่จะใช้อำนาจรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะ ส่วนการดำเนินคดีอาญา เป็นการดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำความผิด การลงโทษในคดีอาญาจึงต้องกระทำโดยมีพยานหลักฐานอันประจักษ์ หากมีความสงสัยตามสมควรว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้ผู้ถูกกล่าวหา การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาจึงไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีอาญา
โฆษณา(คลิก)


 ****************

ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น