วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ครูละเว้นไม่สอน เสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ (การดำเนินการทางวินัย)

 บทความโดย ก้องทภพ  แก้วศรี


        ครูละเว้นไม่สอน 

             เมื่อบุคคลได้รับการบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งตามกฎหมายที่ ให้อำนาจบรรจุและแต่งตั้ง บุคคลนั้นย่อมถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑(๑๖)เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้วย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการตามตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง อีกทั้งเมื่อไปประจำหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นจะมอบหมายหน้าที่ราชการให้ปฏิบัติ ดังนั้น เจ้าพนักงานจึงมีหน้าที่ราชการตามกฎหมายและตามที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ เมื่อเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีความผิดทางวินัยข้าราชการด้วยนี่คือ กฎหมายเบื้องต้นที่ผู้ที่เข้ารับราชการพึงต้องรู้ไว้เสมอ

            เมื่อบุคคลนั้นได้รับการบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ย่อมถือว่าครูเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้แล้วว่าครูมีหน้าที่อย่างไร และเมื่อได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาแห่งใด ผู้บริหารสถานศึกษาจะมอบหมายหน้าที่ราชการให้ครูรายนั้นปฏิบัติ ครูจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายและหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเช่นเดียวกัน เมื่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติให้คำนิยามของครูว่า “บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆในสถานศึกษา...” เมื่อครูถูกกล่าวหาว่าละเลยต่อการสอน ย่อมเกิดความเสียหายแก่ผู้เรียนและราชการ จะมีความผิดทางวินัยและอาจเป็นความผิดอาญาได้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป ในเรื่องนี้ มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของครูไว้อย่างน่าสนใจ ที่ครูพึงตระหนักไว้ เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างถูกต้อง เกิดประโยชน์แก่นักเรียนและราชการ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ คดีหมายเลขแดง ที่ อ.๑๖๔/๒๕๖๐



            ในคดีนี้ ข้าราชการครู ในโรงเรียนแห่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนวิชาเสริมทักษะคณิตวิทย์ ชั้นมัธยมศึกษา ถูกผู้ปกครองนักเรียน ร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่จะเป็นครู เพราะขาดจริยธรรม ทำให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ในห้องที่ครูนั้นสอนอยู่ ได้ผลสอบเป็น ๐ จำนวน ๒๑ คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด ๔๗ คน ทำให้ถูกดำเนินการทางวินัยและลงโทษตัดเงินเดือน ซึ่งครูที่ถูกลงโทษทางวินัยนำเรื่องมาฟ้องคดี เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว ในคดีดังกล่าวศาลวินิจฉัยที่เป็นประเด็นที่สำคัญของการทำหน้าที่ครูผู้สอนว่า “...การประเมินผลหลังเรียนเรื่องระบบจำนวนจริงที่มีผู้สอบได้คะแนนไม่ถึง ๕๐%(๑๕คะแนน)จำนวน ๓๙ คน ในจำนวนดังกล่าวมีผู้ได้คะแนน ๐ คะแนน จำนวน ๘ คน เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎอย่างชัดแจ้งว่า ผลการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวไม่เป็นไปตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง อันเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมเสริมผู้เรียนให้บรรจุผลการเรียนที่คาดหวัง การไม่ดำเนินการข้างต้นส่งผลโดยตรงกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา มีผลการเรียนเป็น ๐ จำนวน ๒๑ คน จากนักเรียนทั้งหมด ๔๗ คน จึงเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในเอกสารคู่มือการปฏิบัติงานครูงานวิชาการโรงเรียน ปีการศึกษา ๒๕๔๘-๒๕๔๙ ที่ใช้อยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้ปฏิบัติตามคู่มือแนะนำนักเรียนเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาของงานทะเบียนวัดผล นั้นไม่อาจรับฟังได้ การกระทำของผู้ฟ้องคดีถือได้ว่านักเรียนจำนวนดังกล่าวได้รับความเสียหายโดยตรงและเสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ(โรงเรียน) โดยส่วนรวม ทำให้สังคมเสื่อมศรัทธาต่อวิชาชีพครู พฤติการณ์เป็นการกระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการ...”

โฆษณา(คลิก)



              จากคำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าว จะเห็นว่าครูละเว้นไม่สอน  เสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ โดยละเว้นไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในเอกสารคู่มือการปฏิบัติงานครูงานวิชาการที่ใช้อยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท  ถือได้ว่านักเรียนจำนวนดังกล่าว(นักเรียนที่ได้รับคะแนน ๐ ) ได้รับความเสียหายโดยตรงและเสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ(โรงเรียน) โดยส่วนรวม เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดอาญาตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ หากมีการแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดในข้อหาดังกล่าว ครูจะต้องเหนื่อยในการพิสูจน์เจตนาของตนว่ามีเจตนาพิเศษ จากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นักเรียนและองค์การดังกล่าวตาม ข้อกฎหมายหรือไม่ ทางที่ดีเมื่อทราบแนวคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องนี้แล้ว ครูควรปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตามกฎหมายและที่ได้รับมอบหมายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดต่อไป เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกดำเนินการทางวินัยและถูกฟ้องคดีอาญา  


****************
ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น