วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผู้มีอำนาจทำคำสั่ง จะฟ้องให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้หรือไม่ (วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง)

 บทความโดย ก้องทภพ  แก้วศรี


      ผู้มีอำนาจทำคำสั่ง จะฟ้องให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้หรือไม่ 

         การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต อนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ที่ผู้ใช้อำนาจจะต้องแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งนั้นไว้ด้วย ว่าจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาเท่าใดและยื่นต่อใคร รวมทั้งระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งนั้น

             ในกรณีกฎหมายที่ให้อำนาจออกคำสั่งทางปกครอง ไม่ได้กำหนดขั้นตอนอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้ ต้องถือปฏิบัติตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ นั่นคือ ต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นต่อผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่ง คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย ซึ่งการอุทธรณ์ไม่มีผลเป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง (หมายถึงคำสั่งทางปกครองยังมีผลในการบังคับจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ ยกเลิกหรือมีคำสั่งให้ทุเลาคำบังคับไว้) 

  

             เมื่อผู้ทำคำสั่งทางปกครองได้รับคำอุทธรณ์แล้ว ต้องพิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า กรณีผู้ทำคำสั่งไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ ให้รายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ชั้นเหนือขึ้นไปตามกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน หากพิจารณาไม่ทันให้แจ้งผู้อุทธรณ์ก่อนครบกำหนด มีผลให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดดังกล่าว (มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙)รวมระยะเวลาในการพิจารณาเป็นจำนวน ๙๐ วัน หากครบกำหนด ๙๐ วันแล้ว ผู้อุทธรณ์ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ย่อมเกิดสิทธิฟ้องคดีปกครองได้ภายในกำหนด ๙๐ วันนับแต่วันพ้นกำหนด ๙๐ วัน ตามมาตรา ๔๒ ประกอบมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง   พ.ศ.๒๕๔๒

        ในการพิจารณาอุทธรณ์ หากผู้ทำคำสั่งทางปกครองไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ แล้วรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์พิจารณา ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ ให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองของผู้มีอำนาจทำคำสั่งทั้งหมด ผู้มีอำนาจทำคำสั่งจะฟ้องคดีปกครอง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว โดยเห็นว่าคำสั่งทางปกครองของตนเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วได้หรือไม่



         ในกรณีนี้มีแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสุงสุดตามคำสั่งที่ ๖๘๓/๒๕๔๘  ว่า “...แม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์และไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นในการออกคำสั่งดังกล่าวก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ...ซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นการควบคุมตรวจสอบคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ชั้นต้น โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามกระบวนการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครองที่กฎหมายฉบับที่ให้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองบัญญัติไว้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นทั้งเรื่อง ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นที่ออกคำสั่งทางปกครองซึ่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์กลับ แก้ หรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของตน และโดยนิตินัยผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากคำวินิจฉัยอุทธรณ์...”

       ดังนั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ มีผลให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทำคำสั่งทางปกครองต้องปฏิบัติตาม ไม่สามารถฟ้องขอให้ศาลพิพากษาคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นได้ 

*********************

 ขอขอบคุณ

        ๑.ภาพจาก https://www.freepik.com/
        ๒.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจาก 
http://www.admincourt.go.th/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น